เมื่อได้รับคำเชิญจากทีม The Cloud ให้เขียนแนะนำและพาชมร้านนิตยสารของตัวเอง ก็รู้สึกเป็นเกียรติและตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการกลับมาเขียนบทความให้ The Cloud ในรอบหลายปี
ก่อนอื่นขอแนะนำตัวเองกันสักนิด
เฟิม-เฟื่องฟู จิรัฐิติวณิชย์ พ่อค้ากาแฟที่อยากเป็นพ่อค้าขายหนังสือ มีความฝันที่จะพัฒนาทั้ง Hard Skills และ Soft skills เพื่อปรับตัวให้ทันตามโลก และพูดเก่งเหมือน ChatGPT
ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ อดีตเป็นแฟนตัวยงที่รักการเล่าเรื่องธุรกิจผ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และพอดแคสต์ ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า อนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ เลยลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัว
เราสองคนเปิดร้านนิตยสารเล็ก ๆ กลางสุขุมวิทซอย 39
ตอนแรกเราก็สงสัย ทำไมย่านนี้ไม่มีร้านหนังสือเลย พอได้มาทำเองจริง ๆ ตอนนี้พวกเรารู้แล้ว
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ‘Rock Paper Scissors Store’ ร้านนิตยสารอิสระที่คัดสรรและนำเข้านิตยสารเรื่องเล่าสนุก ๆ จากหลากหลายเมืองในโลก และเพื่อให้สมฐานะร้านขายนิตยสาร ขออนุญาตเปลี่ยนหน้าตาของ Rock Paper Scissors Store เป็นนิตยสารฉบับพิเศษเล่มโปรดของคุณ
พบกับนิตยสารอิสระทั้งเจ้าประจำและหน้าใหม่ที่แวะเวียนเปลี่ยนเวรกันมาเฝ้าแผงหนังสือทุก 3 เดือน 6 เดือน บางทีก็มารายปีและรายสะดวก นอกจากนิตยสารคอนเซปต์สนุกแล้ว ที่นี่ยังมีข้าวของที่ทำให้การอ่านรื่นรมย์ขึ้น อย่างแก้วเซรามิกที่ใช้ Waste จากโรงคั่วกาแฟมาทำน้ำเคลือบ ทำให้รสสัมผัสในการดื่มชาและกาแฟดีเลิศ ไปจนถึงโคมไฟดีไซน์สวยจากมิลาน ให้แสงสว่างเมื่อต้องการไฟ หรือถ้าอ่านหนังสือในที่แดดจ้าเกินไป ก็มีแว่นตากันแดดดีไซน์คลาสสิกสีสวยให้เลือกกันด้วย
ก่อนพบสิ่งที่น่าสนใจ ขอเชิญปักหมุดร้านของเราในแผนที่ของคุณ แค่พิมพ์ค้นหา ‘ร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร’ หรือ Rock Paper Scissors Store ในเครื่องมือนำทางของคุณ
Note : โปรดอ่านบทความนี้ด้วยน้ำเสียงของการเปิดหน้านิตยสาร
ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญพลิกหน้าถัดไป (พรึ่บ)
M A Y 2 0 2 3
SHARE LOCATION
ISSUE_
ROCK
PAPER
SCISSOR
STORE
EDITOR/SHOPKEEPER’S NOTE
ใคร ๆ ก็บอกว่า Print is Dead แต่พวกเราไม่เชื่อ
ในฐานะคนอ่านที่รักนิตยสาร พวกเราไม่ใช่กูรู ไม่เคยทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารแบบจริงจังมาก่อน เราตอบไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเหตุผลที่แท้จริงของการล้มหายตายจากนั้นคืออะไร ได้แต่คาดเดาเหตุผลแบบคนนอก เช่น คนอ่านหันไปสนใจสื่อรูปแบบอื่น ๆ เอเจนซี่และลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อพื้นที่โฆษณาที่อื่นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคน
หรือแม้แต่ต้นทุนการผลิตนิตยสารที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ (แต่ค่าแรงของคนทำงานนิตยสารยังเท่าเดิม) หรือเป็นเพราะเนื้อหาที่เล่าผ่านรูปเล่มสวย ๆ นั้นไม่น่าสนใจมากพอ หรือช้าเกินไป เพราะทุกอย่างหาได้จากอินเทอร์เน็ต
ใคร ๆ ก็บอกว่าเป็นธรรมดาของโลก มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ขณะที่นิตยสารเจ้าใหญ่ทยอยปิดตัวลง เรากลับพบและเห็นบรรยากาศงอกเงยและเบิกบานของนิตยสารอิสระบ้านอื่นเมืองอื่น
ไม่เพียงแค่สนุก แต่ยังเหนือชั้น ไร้กระบวนท่า Timeless และเปิดโลกมาก ๆ
เช่น มีนิตยสารแฟชั่นที่ทั้งเล่มมีแฟชั่นเซตจริง ๆ แค่ 6 หน้า นอกนั้นเป็นบทกวี รีวิวหนังสือ บทวิจารณ์หนัง มีนิตยสารไลฟ์สไตล์ที่เล่าเรื่องสีสีเดียวทั้งเล่ม เล่าผ่านภาพถ่าย บทความ งานศิลปะ และอื่น ๆ มีนิตยสารธุรกิจที่หน้าตาเหมือนนิตยสารแฟชั่นทุกประการ แต่เนื้อหาด้านในเป็นการชวนผู้ประกอบการคุยเรื่องงานแบบจริงจัง มีนิตยสารของค่ายหนังที่มอบโจทย์ให้ผู้กำกับมาทำหนังสืออะไรก็ได้โปรโมตหนังที่กำลังจะฉาย มี มี และมีอีกมากมายเต็มไปหมด
นับว่าเป็นโชคดีที่การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตทำให้เรายังพอหาซื้อนิตยสารเหล่านั้นได้ แม้ว่าต้องแลกมาด้วยค่าขนส่งทางอากาศราคาแพง และเมื่อในตำราธุรกิจแนะนำให้เริ่มต้นกิจการจาก Pain Point ของผู้บริโภคและตลาด เราสองคนก็คิดว่าน่าจะมีคนเหมือนเราอีกสัก 5 – 10 คนที่รู้จักและชอบนิตยสารเฉพาะทางจากต่างแดนแบบนี้เหมือนกัน
ซึ่งจริง ๆ พวกเราเปิดร้านขายบนออนไลน์ก็ดีอยู่แล้วนะ ประหยัดต้นทุนค่าเช่าที่ ค่าตกแต่งร้าน แต่สิ่งที่ทำให้เราคิดมีหน้าร้านจริงจังก็คือ ลึก ๆ แล้วเราเชื่อว่ายังมีคนชอบและอ่านนิตยสารอยู่ และในจำนวนเหล่านั้นก็เป็นคนที่มีความฝันอยากทำนิตยสารของตัวเองสักครั้ง อยู่ที่ไหนสักแห่ง การมีพื้นที่ที่เปิดรอจะพบคนเหล่านั้นจึงน่าตื่นเต้นและสูบฉีดออกซิเจนเติมเลือดผู้ประกอบการอย่างเรา
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา พวกเราตอบคำถามเรื่อง “ยังมีคนอ่านนิตยสารอยู่อีกเหรอ” พอ ๆ กับการเล่าที่มาของชื่อร้าน Rock Paper Scissors หรือ ร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ต่างกันแค่คำตอบของคำถามข้อแรก พวกเราแค่ผายมือไปที่จำนวนหัวหนังสือที่เรามี พร้อมบอกว่ายังมีนิตยสารที่รอให้เราพาเข้ามาอีกมากมาย
ส่วนคำตอบของคำถามข้อที่สอง มาจากการที่เราอยากได้คำว่ากระดาษอยู่ในชื่อร้าน และ Rock Paper Scissors ก็เป็นการละเล่นที่สากลและเต็มไปด้วยปรัชญา นั่นคือ แม้วันนี้คุณที่ออกกระดาษจะแพ้กรรไกร วันหน้าเราอาจจะชนะค้อนหรือก้อนหินก็ได้ แถมท่าทางสัญลักษณ์แทน ก้อนหิน กระดาษ และกรรไกร ยังให้ความหมายถึงพลังเชียร์ อย่างลุยเลย (กำหมัด) เก่งมาก (High Five) และสู้ ๆ (ชู 2 นิ้ว)
ในส่วนของการทำธุรกิจ ที่ผ่านมาเรามักจดจ่อกับคำถามเรื่องกลุ่มเป้าหมายมาก ๆ เพราะสำคัญไม่แพ้โจทย์ของการทำธุรกิจเลย เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้จักและรู้ใจลูกค้าของคุณดี ธุรกิจก็จะดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
แต่เมื่อผันตัวมาทำร้านนิตยสารตามความฝัน กลุ่มเป้าหมายของเรากลับไม่ได้เขียนได้ตามตำรา ไม่มีเรื่องอายุหรือเจเนอเรชันเข้ามากำหนด สิ่งที่เราให้ค่าคือความสนใจที่หลากหลายของคน มีลูกค้าทำงานสายการเงิน ชอบมาซื้อนิตยสารเล่าเรื่องศิลปะ ขณะที่ช่างภาพแฟชั่นก็สนใจนิตยสารที่ว่าด้วยเทคโนโลยี ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าคุณสนใจเรื่องเล่า ชอบคนเนิร์ด ๆ และรักสิ่งพิมพ์ ร้าน Rock Paper Scissors Store ยินดีต้อนรับคุณที่สุขุมวิท 39
Long Live Print!
Rock Paper Scissors Store
EDITORIAL TEAM
เฟื่องฟู จิรัฐิติวณิชย์ Founder / Managing Director / Art Director / Head Barista / Music Composer / Marketing / Logistic / Financial Adviser
นภษร ศรีวิลาศ Founder/ Editor-in-chief / Store Manager / Creative / Sales / Customer Service / Accountin
เด็กชายมูกิ Intern
DAY 1
เถ้าแก่น้อย (มี 2 คน)
เรื่อง : เฟื่องฟู จิรัฐิติวณิชย์
หลังจากที่อาย้วยชวนไปสัมภาษณ์เรื่องธุรกิจโรงคั่วกาแฟในรายการ Day 1 Podcast ก็มีประเด็นที่พูดถึงความตั้งใจที่เราไม่อยากทำหน้าร้านเพราะอยากโฟกัสที่การคั่วมากกว่า หลังจากนั้นไม่นาน แผนการทำร้านนิตยสารแห่งนี้ก็เกิดขึ้น เอ๊ะ! มันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
แรกเริ่มเดิมที ร้านนี้เริ่มต้นแบบจริงจังจากการขายออนไลน์ หลังจากที่ได้เงินทุนก้อนหนึ่งมาจากการขายหนังสือส่วนตัวของเราสองคน เมื่อเริ่มกิจการมาได้สักพัก มีลูกค้าอุดหนุนพอประมาณ และตัวร้านเริ่มมีเเนวทางที่ชัดเจนจากนิตยสารที่นำมาขาย เราสองคนก็คิดกันเล่น ๆ ว่า ถ้ามีหน้าร้านให้คนมาเลือกซื้อนิตยสารนั้น ๆ โดยที่เรามีโอกาสอธิบายถึงเรื่องราวภายในเล่มน่าจะสนุก และมีโอกาสที่จะทำให้คนรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น
เราเริ่มตามหาสถานที่ตั้ง หาไปเรื่อย ๆ อยู่ 2 เดือน ทั้งขับรถและเดินเข้าออกตามซอกซอยย่านทองหล่อ-พร้อมพงษ์ จนมาเจอที่ตั้ง ณ ปัจจุบันนี้ เหตุผลที่เลือกย่านนี้เพราะคุ้นเคยและใช้เวลาในย่านนี้ค่อนข้างมาก รู้สึกเสียดายที่ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองอย่างเอกมัย-ทองหล่อ ไม่มีร้านขายหนังสือเลยสักร้าน (เมื่อลงมือทำร้าน พวกเราจึงได้รู้ว่าทำไมธุรกิจร้านหนังสือจึงไม่เป็นที่นิยมเท่าร้านกาแฟ)
ด้วยความที่งบประมาณจำกัด เราจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะออกแบบร้านนี้ด้วยก้อนสมองของเราสองคน จากนั้นเราก็รวบรวม Reference ต่าง ๆ มาเเชร์ไอเดียกัน ตบตีเเลกหมัดกันอย่างเอาเป็นเอาตายคล้ายกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพียงเเต่เกิดขึ้นในรูปแบบของการยิงไอเดียและฆ่าทิ้ง สภาพของเราสองคนสะบักสะบอมจากการตบตีทางความคิด แต่ในโลกความเป็นจริง เราเขียนหนังสือชื่อ LOVEZINE เรื่องจริงหวังแต่ง หาซื้อตามร้านหนังสือได้แล้ววันนี้ (พื้นที่โฆษณา)
จนสุดท้ายก็ได้มา เป็นรูปเป็นร้าน
ในความเป็นร้านนิตยสาร เราก็อยากให้มีของที่ทำให้การอ่านรื่นรมย์ด้วย ก็เลยคิดว่ามันจะเป็นอะไรได้บ้าง
กาแฟต้องมีแน่นอนเพราะเราสองคนกินมันทุกวัน เราสองคนก็ลองหาสิ่งอื่น ๆ มาเติม จนมาจบที่โคมไฟ แก้ว แผ่นไวนิล แว่นกันแดด และถุงเท้า จนถึงตอนนี้เราก็ยังคงเปิดรับสิ่งของอื่น ๆ ที่จะมาวางในร้านให้เพิ่มขึ้นในอนาคต
เมื่อทุกอย่างพร้อม เราก็ได้เริ่มกิจการวันแรก…
ปลูกร้านตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจน้องนอน
เรื่อง : นภษร ศรีวิลาศ
- พื้น Epoxy สีแดง – เริ่มจากเราอยากได้พื้นร้านสีสด ๆ ผู้รับเหมาก็เลยแนะนำให้ทำพื้น Epoxy ที่นิยมใช้กันในโรงงานและโรงพยาบาล
- ตู้สีฟ้า – ดัดแปลงจากตู้เดิมที่มีอยู่แล้ว (เดิมที่นี่เป็นโรงเรียนสอนภาษา) เลือกทาสีฟ้า ตั้งใจให้ร้านมีสีตัดกันเยอะ ๆ
- โซฟาสีเขียว – ได้มาจากร้านขายเฟอร์นิเจอร์มือสองในอินสตาแกรม ตอนซื้อต้องฝากร้านไว้ก่อน 3 เดือนเพราะหน้าร้านยังไม่เสร็จ
- เคาน์เตอร์ขายหนังสือและเคาน์เตอร์บาร์สไตล์วินเทจ – สั่งโรงงานที่ชลบุรีทำขึ้นมา สวยถูกใจ ราคาไม่แพง เชิญที่อินสตาแกรมร้านบ้านโต๊ะอี้ได้เลย
- โต๊ะไม้สไตล์ Mid Century – เป็นของมือสองจากเดนมาร์ก ภูมิใจที่ต่อรองราคามาได้ ไม่เสียแรงที่เดินพกตลับเมตรติดตัวตลอด 3 เดือน
SHELF LIFE
8 THINGS YOU CANNOT MISS
Rock Paper Scissors Store คือร้านขายนิตยสารนอกกระแสที่คัดสรรหนังสือคอนเซปต์สนุก เสิร์ฟ Specialty Coffee และสิ่งละอันพันละน้อยที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน และนี่คือ 8 สิ่งสนุกของร้านที่เราอยากเล่าให้คุณฟัง
MAGAZINE
1 Science of the Secondary
นิตยสารจากสิงคโปร์ที่เล่าเรื่องสรรพสิ่งรอบตัว ผ่านการรวบรวมข้อมูลรองอันเป็นประโยชน์ เช่น Anotomy เอย พฤติกรรมที่เรามักทำแต่ไม่เคยสงสัยหรือหาคำตอบเอย เช่น ใส่ถุงเท้าด้วยท่าทางแบบนี้ส่งผลให้กล้ามท้องมัดไหนทำงาน เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่รู้จะรู้ไปทำไม แต่ถูกเส้นโดนใจสายเล่าเรื่องมาก ๆ ผลงานของ Atelier HOKO สตูดิโอวิจัยที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคน สรรพสิ่ง และพื้นที่
2 A24 Zine
หรือซีรีส์ซีนที่ชวนผู้กำกับ นักแสดง หรือนักเขียนบทของหนังเรื่องใหม่จากค่ายหนังอินดี้ A24 (ที่ไม่ได้แค่ทำหนังเก่ง แต่ยังขายของเก่งมาก ๆๆๆ) มานั่งแท่นเป็นบรรณาธิการ เพื่อเล่าข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ เบื้องหลังการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ เช่น Family Business Zine by Lee Isaac Chung & Steven Yeun ซีนที่ต่อยอดมาจากภาพยนตร์เรื่อง Minari เล่าเรื่องราวธุรกิจครอบครัวที่ให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์และความเป็นมนุษย์ ผ่านเรื่องเล่าสมัยก่อร่างสร้างตัว ความสำเร็จและบทเรียนจากความล้มเหลวในอดีต ตัดสลับกับความรู้สึกของทายาทผู้สืบทอดรุ่นปัจจุบัน ซึ่งภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่นั้นก็มาพร้อมความคาดหวังอันใหญ่ยิ่งจนกลายเป็นความกดดัน Tax Season Zine by Daniels ซีนจาก Everything Everywhere All At Once หนังจักรวาลมัลติเวิร์สสุดดังสุดฮิตเจ้าของรางวัลออสการ์ปีล่าสุด ว่าด้วยเรื่องเจ๊ร้านซักรีดที่ต้องเดินทางไปกอบกู้จักรวาล ขณะที่ตัวเธอในอีกโลกหนึ่งต้องมาปวดหัวเรื่องภาษี ดังนั้นถ้าหนังเรื่องนี้จะเป็นซีนคงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าคอนเซปต์ว่าด้วยทฤษฎีภาษี
3 Good Sport
นิตยสารกีฬาจากเมลเบิร์นที่เล่าเรื่องชีวิตและเกมกติกานอกสนาม นำเสนอ Subcultures ที่น่าสนใจของกีฬาแขนงต่าง ๆ ผ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และภาพถ่าย มีบทความเรื่องการออกแบบเสียงในสนามว่าทำยังไงให้คนทั้งสนามได้ยินสิ่งที่โฆษกประกาศ มีบทความเรื่องกลิ่น What does sport smell like? งานวิจัยแนวจริงจังแต่อ่านสนุก นอกจากนี้ยังพาไปดูการเติบโตของชุมชนคนเล่นสเกตบอร์ดในปาเลสไตน์ มีเรื่องเทรนด์กีฬาปีนผาและอื่น ๆ เป็นนิตยสารกีฬาที่คนไม่เล่นกีฬาอ่านแล้วเอนจอยมาก
4 MacGuffin
นิตยสารราย 6 เดือนจากอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ รอบตัว เป็นหนังสือที่ออกแบบวิธีการเล่าเรื่องได้คราฟต์ที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยรู้จักมาก ต้องใช้คำว่าเนิร์ดมาก เช่น เล่ม The Desk พาไปเจอเรื่องโต๊ะตั้งแต่โต๊ะตัวแรกในประวัติศาสตร์ โต๊ะในเกมโชว์ โต๊ะของประธานาธิบดี Anatomy ของโต๊ะ แฟชั่นโต๊ะ ของใต้โต๊ะ และอื่น ๆ หรือเล่ม The Rug ที่นอกจากจะรู้ว่าฟังก์ชันของพรมมีไว้เป็นผืนผ้าแทนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เล่มนี้ยังพาไปสำรวจพรมตั้งแต่แพตเทิร์นถักพรม ชุดภาพการทำความสะอาด ตัวไรในพรม อุปกรณ์ทำความสะอาดพรม พรมในวัฒนธรรมต่าง ๆ ศาสตร์การใช้พรมปูต้อนรับ ที่มาของการใช้พรม และอื่น ๆ
THINGS
5 SowdenLight – Portable Lamps
โคมไฟไร้สายจาก Sowden แบรนด์เครื่องครัวจากอิตาลี โดดเด่นด้วยดีไซน์และคู่สีที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งหลังจากวางขายโคมไฟตั้งโต๊ะแล้ว เราก็ยังนำ Sowden SoftBrew™ Coffee นวัตกรรม ‘กา’ สุดคิวท์ ของ Sowden ซึ่งโดดเด่นที่ตัวไส้กรอง กรรมวิธีการชงคล้าย ๆ เครื่อง French Press เพียงใส่กาแฟลงไปที่ตัว Filter แล้วเติมน้ำ แช่ ไว้หลังจากถึงเวลาที่ต้องการแล้วก็ยกตัวฟิลเตอร์ออก แล้วก็ดื่มได้เลย รวมถึงเรายังมีโคมไฟห้อย SowdenLight – Ceiling Lamps ที่ไม่วางขายที่ไหนมาก่อนด้วย
6 Collection ‘burn out’ Cup
แก้วกาแฟที่เราเสิร์ฟในร้าน เราก็มีขาย โดยแก้วนี้มีส่วนประกอบของกาแฟที่หมดอายุ แทนที่จะทิ้งเสียไป เราก็นำกาแฟไปปรึกษา aoon pottery ว่าเราทำอะไรกับมันได้บ้าง จนมาจบที่การนำเอามันมาเผาทำน้ำเคลือบซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการทำเซรามิก จนสุดท้ายได้มาเป็นแก้ว 3 ขนาด ไว้ใช้ดื่มอะไรก็ได้แล้วแต่สะดวก
7 Vinyl
เพราะเสียงเพลงช่วยทำให้บรรยากาศในการอ่านไหลลื่นพวกเราจึงถือโอกาสเปิดร้านเเผ่นเสียงในร้านนิตยสารของเราอีกทีหนึ่งชื่อว่า ‘502 records’ หากใครเป็นนักสะสมไวนิล ก็เรียนเชิญมาเลือกแผ่นกลับไปฟังที่บ้านได้
COFFEE
8 Coffee
เนื่องจากเราคือร้านนิตยสาร ใครไปใครมา ถ้ามาบอกว่าเราเป็นร้านกาแฟเราจะรีบปฏิเสธเสียงเเข็ง เราแค่เป็นร้านนิตยสารที่ชงกาแฟได้นิดหน่อย ส่วนกาแฟที่ใช้ก็จะเป็นกาแฟของโรงคั่ว Hands and Heart Coffee Roasters เสิร์ฟแบบ Filter และ Espresso กาแฟที่ใช้ก็สลับสับเปลี่ยนกันไปตามเเต่ละสัปดาห์ รับประกันความกลมกล่อมโดยมีเกียรติของอดีตลูกเสือที่เป็นแชมป์ Brewers Cup เมื่อหลายปีก่อนเป็นเดิมพัน
MEETING ROOM
ได้ครอบครองพื้นที่คอลัมน์ Share Location ทั้งที นอกจากพาชมกิจการเสมือนพาทุกท่านเดินทางมาถึงร้าน พวกเราขอเล่าประสบการณ์การเปิดร้านและกระบวนการขยับขยายจากร้านออนไลน์เล็ก ๆ สู่การมีหน้าร้านกลางพร้อมพงษ์ไปด้วย หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนที่กำลังคิดจะลงหลักปักฐานสานฝันเป็นผู้ประกอบการไม่มากก็น้อย แต่ถ้าน้อยไปก็ขออภัย
ในยุคที่ร้านหนังสือทยอยปิดตัวลงไป พวกคุณเอาความมั่นใจจากไหนมาเปิดร้านนิตยสาร
นภษร : เอาความมั่นใจจากพี่เฟิม เพราะถ้าทำคนเดียว ไม่มีทางทำไหวแน่นอน เป็นคนท้อง่าย ท้อตั้งแต่เขียนอีเมลภาษาอังกฤษแล้ว ตัดภาพมาตอนนี้ มีความสุขมาก ชอบตัวเองตอนเขียนเมลสั่งหนังสือมาก รู้สึกรวยดี กับพวกเราชอบไปร้านหนังสือกึ่งร้านขายของแบบนี้เวลาเดินทางไปต่างประเทศ อยากให้บ้านเรามีบ้างก็เลยทำเองเลย
เฟื่องฟู : (กระซิบ : พูดได้เลยใช่ไหม) มั่นใจเพราะว่าเรารวย ไม่รวยวันนี้พรุ่งนี้ก็รวย (หยิบลอตเตอรี่ใบล่าสุดที่เพิ่งซื้อขึ้นมาให้ดู) แบบจริงจังคิดว่านิตยสารเป็นสิ่งที่ยังมีคนสนใจ เเค่ขาดวิธีเล่าและวิธีขายที่ตรงกลุ่มเราเลยพยายามทำแบบนั้น นอกจากนี้เราก็ยังหาของหลากหลายรูปแบบมาขายในร้านเพื่อเพิ่มรายได้และเพื่อให้รวม ๆ เเล้ว มันจะสร้างรายได้ทดแทนกันได้
โจทย์ของการทำร้านนี้คืออะไร อะไรคือสิ่งที่ Rock Paper Scissors Store แตกต่างจากที่อื่น
นภษร : เราชอบเรื่องเล่าธรรมดาแต่เนิร์ด แพ้คนเนิร์ด แล้วในโลกนิตยสารอิสระมีกลุ่มคนเนิร์ดลุกมาทำหนังสืออยู่เยอะมาก อยากรวบรวมมาขายให้ได้มากที่สุด อันนี้โจทย์แรกเลย เวลาเลือกของเราดูก่อนว่าเขาเนิร์ดไหม เราอาจจะไม่ได้อินเรื่องนั้นมาก่อน แต่เวลาฟังเนิร์ดเล่าเรื่องแล้วมันสนุก ตอนนี้อาจจะยังเป็นร้านที่ไม่ได้แตกต่างอะไร แต่จะทำให้คนจดจำได้ว่าถ้าอยากได้เรื่องเล่าสนุก ๆ เนิร์ด ๆ มาหาที่นี่ได้เลยมีแน่นอน
พวกคุณมีวิธีตามหาและรวบรวมนิตยสารเนิร์ด ๆ ที่อยากได้อย่างไร และสิ่งนี้สำคัญยังไง
นภษร : เราใช้วิธีติดตามร้านหนังสือ ไปจนคนทำหนังสือ คนทำนิตยสาร แอบส่องไลฟ์สไตล์บรรณาธิการเขา มีหลายคนที่เราติดต่อขอซื้อหนังสือจนกลายเป็นเพื่อนกัน ตอนแรกเราแค่อยากทำให้ร้านนี้มันไปรอด แต่พอสานสัมพันธ์กับคนทำหนังสือเราก็เริ่มโลภ เราอยากให้คนที่มาร้านเรารู้จักหนังสือเหล่านี้แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจเข้ามาซื้อสักเล่ม แต่หลงเข้ามาเพราะคิดว่าเราเป็นคาเฟ่ก็ยังดี ขอโอกาสแค่ได้เล่าให้ฟังว่านิตยสารพวกนี้มาจากไหน เล่าเรื่องอะไรก็โอเคแล้ว เขาฟังแล้วจะไม่ซื้อก็ได้ อย่างน้อย ๆ เขารู้ว่ามีนิตยสารเล่มนี้อยู่ก็ดีใจ ซึ่งร้อยละ 80 ที่มาฟังเคลิ้มหมดเลยนะ ถูกป้ายยากันไปเป็นแถบ ขอบพระคุณลูกค้าทุกท่าน มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ในพาร์ตการทำร้านร่วมกัน พวกคุณแบ่งหน้าที่กันยังไง และประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคนช่วยในการทำร้านนี้ยังไงบ้าง
เฟื่องฟู : ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าการจะทำร้าน 1 ร้านได้เรียกร้องอะไร และควรจะมีอะไรบ้าง เพื่อให้คนที่เข้ามาแล้วรู้สึกดี และเราก็รู้ว่าเราไม่ถนัดทำอะไรในส่วนไหน ก็จะให้อาย้วยทำในสิ่งนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาถนัด นั่นก็คือการเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ลูกค้าฟัง เช่น ที่มาที่ไปของนิตยสารเเต่ละเล่ม เหมือนเราช่วยเสริมในสิ่งที่อีกคนไม่ถนัด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในวันนั้น ๆ
นภษร : ที่ผ่านมาเล่าเรื่องธุรกิจคนอื่นมาโดยตลอด ไม่เคยทำร้านมาก่อน สิ่งที่ถนัดอย่างเดียวคือเล่าเรื่องและสัมภาษณ์ ก็เลยสนุกกับงานขายมาก แต่ก็ต้องคอยบีบมือตัวเองไม่ให้เผลอสัมภาษณ์ลูกค้ามากเกินไปจนลืมขายของ
อะไรคือทักษะใหม่ที่ได้เรียนรู้
เฟื่องฟู : ทักษะในการเล่นกับเด็กแบบ 101
นภษร : ทำบัญชีร้าน และจัดการสต็อกต่าง ๆ
พวกเราต่างรู้กันดีว่าแค่ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจร้านนิตยสารของพวกคุณอยู่รอด
นภษร : ลูกค้า และเป้าหมายในชีวิตอย่างทริปท่องเที่ยว ทำงาน 7 เดือน เที่ยว 5 เดือน
เฟื่องฟู : และรองเท้าที่อยากซื้อ
จนถึงวันนี้ มีอะไรบ้างที่ทำให้รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว
เฟื่องฟู : ทำเเล้วแฮปปี้ ไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้เสียเวลาชีวิตเลย
นภษร : เสียงแจ้งเตือนเงินเข้าจากแอปฯ ธนาคาร
อะไรคือประสบการณ์ที่มีเฉพาะที่ร้าน Rock Paper Scissors
เฟื่องฟู : มีพนักงานสาวคอยป้ายยาและเล่าเรื่องของนิตยสารแต่ละเล่มให้ฟังอย่างเคลิบเคลิ้ม มีครั้งหนึ่งลูกค้าขอให้จัดโชว์เล่าหนังสือเป็นรอบ ๆ เพราะอยากฟัง เราที่ยืนอีกฟากฝั่งของร้านแอบฟัง และแอบเห็นความคล้อยตามของคนฟังอยู่บ่อยครั้ง
นภษร : มาเลยค่ะ ให้เล่าเรื่องเดิมซ้ำวันละ 10 รอบยังไหว มาเลย ๆ
1. เวลาเป่ายิ้งฉุบ คุณมักออก…
เฟื่องฟู : กระดาษ / นภษร : กรรไกร
2. สิ่งแรกที่ทำเมื่อมาถึงร้าน
เฟื่องฟู : ชงกาแฟให้ภรรยาดื่ม / นภษร : เปลี่ยนน้ำแจกันดอกไม้
3. นิตยสารเล่มโปรด
เฟื่องฟู : Good Sport / นภษร : The Skirt Chronicles
4. เมนูโปรดในร้าน
เฟื่องฟู : กาแฟ Filter / นภษร : กาแฟที่สามีทำ
5. ลูกค้าที่อยากให้มาสักครั้งหนึ่ง
เฟื่องฟู : เอริค เทน ฮาก / นภษร : NewJeans