หากต้องเสียเวลาแนะนำตัวสักหน่อย เราคงบอกว่า พิ-พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน เป็นผู้ชายร่างเล็ก ใส่แว่น อารมณ์ดี คุยเก่ง ชอบดื่มชาเป็นชีวิตจิตใจ มากกว่าที่จะบอกว่าเขาเป็นคนหนุ่มทำงานหนัก ผู้อยู่เบื้องหลัง TEDxBangkok งานทอล์กระดับโลก หรือเป็นผู้ก่อตั้ง Glow Story เอเจนซี่แนวใหม่ที่เล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์

พิเป็นเด็กธรรมดา เรียนโรงเรียนวัด จบสาขาจีนศึกษา มีทักษะการพูดเป็นของขวัญจากพ่อที่ทำให้เขาดูพิเศษขึ้น 

โตขึ้นมาหน่อยถึงรู้ว่าอีกความโดดเด่นหนึ่งของตัวเองคือการเลือก ผู้คนยอมรับว่าเขาเป็น Story Curator ที่เก่ง คัดสรรทั้งคนและเรื่องมาสร้างแรงบันดาลใจจนเวที TEDx ประสบความสำเร็จ 

อย่าง TEDxBangkok ปีนี้ที่เพิ่งจบไป เขาเลือกชวนทุกคนมาเปิดหู เปิดตา เปิดใจ กับเรื่องที่สังคมมองไม่เห็น ภายใต้ธีม ‘SeeSoundSeen : See the Unheard, Hear the Unseen’ จัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พิให้สัมภาษณ์กับสื่อไปมากมายถึงความฝันที่จะเดินขึ้นสู่ยอดเขา เป็นพิที่เชื่อว่าทุกการเลือกของเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้

แม้ความเป็นจริงไม่ยิ่งใหญ่อย่างนั้น แต่เราเชื่อว่ามันเปลี่ยนแปลงชีวิตคนหนึ่งคนสำเร็จ อย่างน้อยก็เปลี่ยนให้คนที่เคยถูกบอกว่า ไม่มีความเป็นมนุษย์ ให้หันมาสนใจเรื่องเล่าระหว่างทางดูบ้าง

เลือกให้คนอื่นมามาก นี่คือการพูดคุยกับพิในวัยเลข 3 ผ่านการเลือกสำคัญในชีวิตตัวเอง 

พิ – ที่ไม่อยากเป็นนักเล่าเรื่องเปลี่ยนโลก 

พิ – ที่พร้อมจะวางมือแล้วออกไปเปิดร้านชาเล็ก ๆ ของตัวเอง 

พิ – ที่ขอแลกทุกอย่างกับการได้อยู่กับพ่อผู้เป็นที่รักได้มากขึ้น

หรือเรียกได้ว่าเป็นพิเวอร์ชันปัจจุบันที่สุดแล้ว

1. เลือกเป็นแบบพ่อ

ไม่รู้ตั้งใจเล่นคำหรือเอาจริง พิโปรยชีวิตวัยเด็กให้เราฟังด้วยประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “เรามีพ่อพิการ แม่พิจิตร”

เขามีเชื้อสายคนจีนไหหลำ เรียกพ่อว่า เด พ่อพิเป็นคนพิการ หลังค่อมแต่กำเนิด เขาเล่าติดตลกว่าที่บ้านทำธุรกิจขายน้ำยาแอร์ และเขาเรียนจนจบได้ด้วยน้ำยาที่ทำให้โลกร้อนนี่แหละ

เขาไม่ใช่เด็กรูปหล่อ ตัวไม่ใหญ่ ไม่เก่งกีฬา ร้องเพลงก็เพี้ยน

อาวุธเดียวที่พิมีคือทักษะการพูดจากพ่อที่ตัวเล็กกะเปี๊ยกยิ่งกว่าเขา

“จุดเปลี่ยนสำคัญคือพ่อเราโยนหนังสือเล่มหนึ่งให้ตอน ม.ต้น เดี๋ยวหยิบให้ดู” พิเอี้ยวตัวไปหยิบหนังสือสภาพเก่าเก็บบนชั้น ชื่อว่า How to Win Friends and Influence People ของ Dale Carnegie 

“พ่อบอกว่าเขาเป็นคนพิการ เรียนไม่เก่ง ตอนเข้าบัญชี จุฬาฯ ได้ก็ฟลุก หนังสือเล่มแรกที่เขาอ่านคือเล่มนี้ ทำให้เขาสร้างบริษัทและดูแลลูกชาย 2 คนได้”

หนังสือเล่มนี้สอนให้พิรู้ว่าการโน้มน้าวใจคนไม่ได้มีไว้เพื่อขายของเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้เด็กที่ไม่โดดเด่นอะไรสักอย่างชวนเพื่อนไปกินข้าวในร้านที่ต้องการได้ ชวนเพื่อนมาฟอร์มวงดนตรีด้วยได้แม้จะเล่นไม่เป็น จนกลายมาเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตและวิธีคิดของเขานับแต่นั้น – พิเรียนจบด้วยการเป็นประธานรุ่น

“มีบทหนึ่งที่เราชอบมาก คือคำที่สวยงามที่สุดในโลกสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่ใช่คำว่ารัก ไม่ใช่คำว่าขอบคุณ แต่คือชื่อเรา

“ใครที่เรียกชื่อเราบ่อย ๆ จะรู้สึกว่าคนนี้ใส่ใจ เขาไม่ได้เห็นเราเป็นแค่ฟันเฟืองตัวหนึ่ง”

เขาพักจิบชา มืออีกข้างยังคงประคองหนังสือไว้อย่างดี เราถามเขาต่อว่า นอกจากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ คิดว่าพ่อตั้งใจมอบอะไรให้

“สำหรับเรา พ่อเป็นฮีโร่ แต่สำหรับคนอื่น เขาเป็นแค่คนหลังค่อมที่จะมองด้วยหางตา เขาโดนตัดสินจากรูปลักษณ์มาโดยตลอด เขาคงอยากให้เราอยู่ในสังคมแล้วไม่ถูกมองด้วยสายตาดูถูกแบบที่เขาโดนมั้ง” พิคลี่ยิ้มพร้อมกับกลิ่นชาลอยฟุ้งในอากาศ

2. เลือกไปเมืองจีน

พอขึ้น ม.ปลาย การเลือกไปเรียนแลกเปลี่ยน AFS ที่ประเทศจีนเป็นการเลือกที่สำคัญครั้งแรกของเขา 

พิคิดว่าเป็นการดีหากฝึกภาษาที่ 3 ไว้ และนอกจากตัวเขาจะมีความผูกพันกับเมืองจีนเป็นทุนเดิม การไปครั้งนี้ก็ทำให้เขาเห็นว่าโลกนี้กว้างใหญ่กว่าแค่โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม

3. เลือกที่จะพูด

เขากลับมาเรียนต่อที่คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน ม.ธรรมศาสตร์ เลือกทำกิจกรรมอย่างบ้าคลั่ง เข้าชมรมโต้วาที เริ่มเป็นพิธีกร และเริ่มเข้าใกล้งานพูดมากขึ้นเรื่อย ๆ

4. เลือกทำงานไม่ตรงสาย

พิสั่งสมประสบการณ์การจากสนามโต้วาทีจนเก่งกล้า และหลุดเข้าไปในโลกของ TEDx ทอล์กโชว์ระดับโลกที่ถือว่าเจ๋งสุดในยุคนั้น

บัณฑิตจีนศึกษาที่กำลังรอเซ็นสัญญากับบริษัทโลจิสติกส์ชื่อดังแห่งหนึ่งไขว้เขวในทางที่เลือกเป็นครั้งแรก เมื่อพบกับโพสต์รับสมัคร Project Manager ของ TEDxChiangmai

“จำได้ว่าไม่ได้แค่ส่งเรซูเม่ไป แต่เขียนเรียงความยาวเฟื้อยว่า ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่ตั้งใจและเชื่อในการเปลี่ยนแปลง ให้โอกาสผมด้วยครับ”

แม้พ่อจะตั้งคำถามว่าอะไรคือ TEDx แม้คนมากมายจะขัดขวางทางที่เลือก พิกดส่งหา License Holder ของ TEDxChiangmai โดยไม่ลังเลใจแม้แต่น้อย

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากลายเป็นพิที่มีนามสกุลต่อท้ายว่า TEDx โดยปริยาย

5. เลือกเปิดบริษัทที่ใครก็ว่าเจ๊ง

พิริเริ่มบริษัท Glow Story ขึ้นมากับ ป่าน-ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ และ บี๋-นภัส มุทุตานนท์ โดยหวังจะเป็นเอเจนซี่คนรุ่นใหม่ที่ทำงานสร้างสรรค์แนวใหม่ คนแรก ๆ ที่เขาเสนอไอเดียนี้ให้ฟังไม่ใช่คนใกล้ตัวอื่นใด แต่เป็นรายการ SME ตีแตก

“เขาบอกว่าดี แต่เจ๊งแน่นอน” พิหัวเราะเมื่อย้อนความถึงอดีต แต่เขาก็เลือกที่จะไปต่อ

“เด็กมันดื้อ ยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ สิ่งที่อาจารย์วันนั้นพูดนับเป็นแรงผลักดันในช่วงเวลาต้น ๆ ของชีวิต เราพบว่ามันไม่ง่ายที่จะเชื่อในสิ่งที่คนรอบ ๆ ตัวเราบอกว่าอย่าเลย”

6. เลือกเป็นทหาร

ทำบริษัทที่เพิ่งตั้งไข่ได้ราว ๆ 1 ปี อยู่ดีไม่ว่าดี พิก็บอกป่านว่า เดี๋ยวช่วงปลายปีขอแวะไปเป็นทหารแป๊บหนึ่ง

ฟังไม่ผิด เขาเลือกเป็นทหารเกณฑ์โดยสมัครใจ

เหตุผลแรก พิไม่ได้เรียน รด. เขาอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้อง 

เหตุผลที่ 2 เขาต้องการเอาตัวเข้าไปศึกษา เพราะคำถามที่ขึ้นมาในหัวตลอดทั้งปี คือจะทำยังไงให้ TEDx เข้าถึงคนในวงกว้าง ไม่ใช่แค่คนจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา

พิพรั่งพรูถึงประสบการณ์ในค่ายทหารออกรสออกชาติ แบบที่ชาในแก้วไม่พร่องไปไหน 

“เราเข้าใจว่าถ้าสมัครจะเลือกเหล่าได้ แต่เราโดนจิ้มให้ไปอยู่ทหารบก พอเข้าไปก็เริ่มเห็นว่า ชีวิตที่เลือกไม่ได้ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เป็นยังไง

“เข้าไปวันแรก เขาให้ทุกคนโกนหัว นั่งเรียงกัน แล้วก็ถามประโยคหนึ่งว่า ใครเคยเสพยาบ้างยกมือขึ้น สำหรับเราเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่คนยกกันครึ่งหนึ่ง ไม่รวมที่โกหกแล้วไม่ยกมือ แล้วเขาถามต่อว่า ใครเคยขายบ้างยกมือ ซึ่งก็คืออีกเสี้ยวหนึ่งที่เหลือ

“เราไปนั่งคุยกับเขา กินนอนด้วยกัน ไปเห็นชีวิตว่าเขาไม่ใช่คนโง่ ไม่ใช่คนไม่ขยัน แค่เขาไม่มีโอกาส ไม่ได้ไปแข่ง Pitching Business เขาต้องหาเงินมาเลี้ยงน้อง ให้กู้ กยศ. แล้วรอเรียนจบแบบเรา น้องเขาอดตายไปแล้ว

“ปฏิเสธไม่ได้ว่างานแรกสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาวมาก เราได้ทำ TED เรามีสิทธิ์เข้าถึงองค์ความรู้ของคนเจ๋ง ๆ เขาพร้อมจะเปิดเรื่องราวชีวิตที่ลึกที่สุดให้เรา แต่งานแรกของคนเหล่านั้น คือมึงต้องก้มหัวต่ำ ต้องจำคำที่นายบอกไว้ สังคมทหารเป็นแบบนั้น”

หลังเอาตัวไปคลุกคลีกับคนที่ใครต่อใครเรียกกันว่า ‘ชายขอบ’ ได้อย่างที่คาดหวัง เราถามว่าประสบการณ์ 6 เดือนนั้นสอนอะไรพิบ้าง

“บทเรียนอย่างแรกคือเขาไม่ได้อยู่ชายขอบ เขาอยู่รอบ ๆ เราต่างหาก” เขาตอบทันควัน “เลยจากสยามไปนิดเดียวก็มีชุมชนแออัดอยู่ไม่ไกล เลยเอกมัย-ทองหล่อก็มีคลองเตยอยู่ไม่ไกล ในเมืองนี้เราอยู่เคียงข้างกันและกันมาตลอด เราแค่ทำเป็นไม่เห็น

“การเป็นทหารเปลี่ยนชีวิตเรามาก เป็นช่วงที่เลือกเข้าไปแล้วไม่เสียดาย เราเข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในวันที่เราถูกทำอย่างไม่เป็นมนุษย์มาก ๆ เข้าใจว่าการมีสิทธิ์ในร่างกายของตัวเองสำคัญมากขนาดไหน

“เราไม่ได้เป็นคนดีนะ” พิย้ำ “แค่เราไม่ได้รู้สึกว่ามนุษย์ที่อยู่บนมอเตอร์ไซค์หรืออยู่ในค่ายทหารมีคุณค่าความเป็นมนุษย์น้อยกว่าเราแค่นั้นเอง”

7. เลือกทำในส่วนที่ทำได้

พิกลับออกมาเป็นคนละคน ทิ้งการเล่าเรื่องเพ้อฝันแบบคนกรุงที่เฝ้าบอกว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้แค่มุ่งมั่นขยันอดทน 

เขายอมรับแบบเบียว ๆ ว่าช่วงแรกก็มีความเชื่อว่าการเล่าเรื่องจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้น แต่ ณ วันนี้ที่ทำมา TEDx เข้าปีที่ 9 ส่วน Glow Story ก็ 7- 8 ปี โลกหรือประเทศเราก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นขนาดนั้น

“เราเริ่มเข้าใจว่า เราแม่งอ่อนแอว่ะ งั้นก็เลือกโฟกัสในส่วนที่เราทำได้”

TEDx เริ่มมี Speaker เป็นคนมีชื่อเสียงอย่าง พี่อ้อย นภาพร, น้าต๋อย เซมเบ้ เป็นประตูบานแรกที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าในงานเดียวกันนั้นมีคนอย่าง แวน (วริทธิ์ธร สุขสบาย) จาก MAYDAY! ที่พูดเรื่องรถเมล์อยู่ด้วย

ส่วน Glow Story ที่ทำงานกับแบรนด์โดยตรงก็วิ่งเข้าหาการเล่าเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในกรอบเดิม ๆ ของสังคม เช่น แคมเปญ Limited Education ที่เล่าปัญหาการศึกษาแบบไม่ขยี้ซ้ำความยากจน ไม่มีภาพเด็กตาแป๋ว ใส่เสื้อขาด ไม่มีการช่วยเหลือโดยควักเอาเศษเงินในกระเป๋าหย่อนใส่ตู้ด้วยความสงสาร แต่เลือกเอาลายมือสะกดคำผิดของเด็ก ๆ ที่เข้าไม่ถึงการศึกษามาใช้กับแบรนด์ดังอย่าง ขนมปังเนยโสดของ After You หรือเสื้อยืด Greyhound 

เขยิบเข้ามาใกล้หน่อยคือแคมเปญ เสื้อธรรมดาที่ทำมาดี ของห่านคู่ ที่คิดต่างจากขนบของคนทำโฆษณาในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนพิเศษ โดยมักใช้คำว่า อภิสิทธิ์ สุขทุกระดับประทับใจ ทั้งที่แค่เป็นพนักงานบริษัทใช้เงินเดือนชนเดือนก็ยากมากแล้ว

พิเปิดเผยเบื้องหลังการทำงานนี้ของเขาที่ไม่ธรรมดาสมชื่อ

“มึงเคยรู้สึกกดดันกับการเป็นคนธรรมดาบ้างไหม” นี่คือคำถามที่พิใช้สัมภาษณ์เพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานาน

“เพื่อนตอบเราว่า มึงรู้เปล่า กู Unfollow มึงนานแล้ว เพราะทุกครั้งที่มึงโพสต์ว่าทำ TED Talks มีสื่อมาสัมภาษณ์ ทำแคมเปญประสบความสำเร็จ เพื่อนที่โตมาด้วยกันอดเปรียบเทียบไม่ได้หรอก”

ห่านคู่ปล่อยโพสต์ จดหมายถึงคนธรรมดา จนถูกแชร์ไปถล่มทลาย เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่แบรนด์ดังนับสิบเจ้าลุกขึ้นมาเป็นคนธรรมดากันทั่วทั้งโซเชียล สุดท้ายแคมเปญนี้คว้ารางวัลใหญ่จากเวที Adman 2022 ไปครองอย่างไร้ข้อกังขา

“เราหวังแค่อย่างน้อยทุกแบรนด์โอบรับความเป็นคนธรรมดาของลูกค้าคุณได้ นี่แหละโอกาสเล็ก ๆ ในตลาดโฆษณาอันยิ่งใหญ่ของเรา” 

พิจิบชาอีกครั้ง

8. เลือกเล่าในสิ่งที่เชื่อ

ป่านเคยพูดประโยคหนึ่งที่พิจำขึ้นใจว่า “พี่ อะไรที่ไม่อยากทำนะ อย่าดันไปทำให้ดีเชียว เพราะมันต้องทำอีกเรื่อย ๆ เช่น ถ้าต้องขายของจ๋า ๆ แล้วดันตั้งใจทำ อาจจะไม่ชอบนะ แต่ถ้าตั้งใจมันก็ทำได้”

พิทำบริษัทล้มลุกคลุกคลานในช่วงแรกก็จริง แต่เมื่อมีจุดยืนที่มั่นคงกับวิธีคิดที่หลักแหลม ทีมของเขาก็ประสบความสำเร็จเป็นพลุแตก นั่นย่อมมาพร้อมกับลูกค้าที่วิ่งเข้าหา และบรรดางานที่เขาหลีกเลี่ยง

“ต้องบอกว่า Glow Story ไม่ได้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เราอยากรวยจากการทำสิ่งนี้ เราอยากให้มันเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงคนรอบตัวที่มาเหนื่อยด้วยกันกับเราได้ เมื่อก่อนคนคุ้นชินภาพ Glow Story เป็นเอเจนซี่รุ่นใหม่สายคนดี วันนี้เราพูดได้เต็มปากว่า ที่นี่เป็นเหมือนวัฒนธรรม”

พิยกตัวอย่างให้เห็นงานที่ Humanize Brand ได้เจ๋งมาก คือ วัดจู๋ไม๊ ของ ONETOUCH แบรนด์ถุงยางอนามัยสัญชาติไทยที่เชิญชวนให้ชายไทยวัดขนาดน้องชายตัวเองให้พอดีกับถุงยางอนามัย ซึ่งฉีกทุกภาพลักษณ์ของ Glow Story กระจุย

“ทะลึ่งฉิบหาย” พิเล่า “เรา Parody คำว่า จู๋ ในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมอันดีงามและใช้ฟอนต์เดียวกับวัดท่าไม้ซึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนา แต่เซ็กซ์ควรเป็นเรื่องสนุกไม่ใช่เหรอ การพูดเรื่องความน่าเชื่อถือกับเซ็กซ์น่าเบื่อจะตาย แม้จะเป็นแคมเปญที่ซนมาก ๆ เพิ่มยอดให้ลูกค้าได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีกลิ่นของความเป็น Glow Story ที่เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในทุกการสื่อสาร

“บางงานโจทย์ดีมาก แต่งบน้อย คำถามคือทีมเชื่อในเรื่องนี้รึเปล่า อยากสร้างงานชิ้นนี้ด้วยกันรึเปล่า การเติมเต็มเรื่องเล่าที่เราเชื่อสำคัญมาก ต้องดันงานแบบนี้ออกให้น้องในทีมเราบ้าง ถ้าคนเราต้องเล่าในสิ่งที่ไม่เชื่อ ในฐานะบริษัทเล็ก ๆ เราก็จะทำงานเจ๋ง ๆ ออกมายาก

“สภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้คนรอบ ๆ เราเติบโตได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ให้ตัวเองไม่เฉาตายไปด้วย”

9. เลือกทีมงานที่ดี

พิเป็นคนบ้างาน หลังจากสัมภาษณ์กันเสร็จเขามีนัดต่อ วันที่ถ่ายภาพเขามีเวลาให้เก็บภาพแค่ครึ่งชั่วโมง เพราะวุ่นวายกับการเตรียมงานใหญ่

หากเปรียบงานเป็นสิ่งของ พิก็หอบหิ้ว TEDx ไว้เต็มมือขวา ส่วนมือซ้ายก็ต้องประคอง Glow Story อันหนักอึ้งไว้บนบ่า 

เขาบอกว่าตัวเองผ่อนปรนจากเมื่อก่อนมากที่ถ้าทำงานแล้วรู้สึกว่าคนนี้มือไม่ถึงก็จะกระชากออกทันที ยอมสูญเสียเพื่อนไปมากมายเพราะอยากได้ผลลัพธ์ที่ดี และใช้ชีวิตเพื่อเดินขึ้นสู่ยอดเขาสูงสุดเพียงเท่านั้น 

“แต่ก่อนเราเชื่อในตัวเองมาก กูเด็กวัดแต่ได้ไป AFS ที่มหาลัยกูก็เป็นประธานรุ่น เชื่อว่าตัวเองมีเส้นเรื่องที่ดีที่สุดให้ Speaker เสมอ ตอนนี้ยิ่งโตขึ้นเรายิ่งเชื่อมั่นในตัวเองน้อยลง แต่เชื่อในคนรอบตัวมากขึ้น เราไม่ใช่คนที่ฉลาดสุดเท่าแต่ก่อนอีกแล้ว ทั้ง TEDx และ Glow Story ทำให้เรา Trust the Process มาก ๆ”

งาน TEDx ปีนี้ พิไม่ได้เลือก Speaker ทุกคน แต่เขาเลือกทีมที่หลากหลาย ร่วมกันเสนอคนที่ใช่จากประเด็นสังคมมากมาย ระดมความคิดร่วมกันแล้วโหวตเพื่อหาข้อสรุป 

“เมื่อก่อนอ่านหนังสือธุรกิจแล้วเขาจะบอกให้เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ถือธงอยู่หน้ากองทัพ เราพยายามกระเสือกกระสนไปทุกงานที่รู้สึกว่าจำเป็น แต่เราพบว่าพอเป็นไอ้กระจอกคนหนึ่งที่บอกน้อง ๆ ถึงความห่วยแตกของตัวเอง เขาพร้อมที่จะซัพพอร์ตเรามากขึ้น 

“เวลาประชุมแล้วไม่เจอเรา ลูกค้าจะถามเสมอว่า อ้าว คุณพิไม่เข้าเหรอ แต่ถ้าเขาได้เจอหน้าของคนอื่น ๆ ในครอบครัวนี้ เขาจะพบว่า Glow Story ไม่ใช่แค่พิ TEDx ไม่ใช่แค่ไอ้แว่นคนนี้ที่กลายเป็นลุงชงชาแก่ ๆ มันมีคนที่เจ๋ง ๆ อีกเยอะแยะมาก”

10. เลือกใช้เวลา

ชีวิตช่วงนี้ของพิ ผิวเผินก็ดูจะเข้าที่เข้าทาง บริษัทเริ่มนิ่ง TEDx ก็อยู่ตัว แต่ช่วงชีวิตนิ่ง ๆ แบบนี้แหละที่เขามักจะครุ่นคิดเป็นพิเศษ

“เราให้สัมภาษณ์สื่อมากมาย ถูกภาพจำบางอย่างครอบไว้ พิต้องเป็นนักเล่าเรื่องเปลี่ยนโลกอยู่แน่เลย แต่ถ้าถามว่าเราตอนนี้ต้องการเปลี่ยนโลกรึเปล่า ไม่ใช่แล้วนะ เราอยากขอเปลี่ยนตารางชีวิตตัวเองให้กลับไปอยู่กับพ่อให้มากขึ้น

“พ่อเราป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แกเคยเป็นฮีโร่ของเรา แต่ตอนนี้เขาค่อย ๆ กลับไปเป็นเด็ก ดูแลตัวเองไม่ได้เต็มที่ เราอยากอยู่กับเขาในช่วงเวลานี้ให้ได้มากที่สุด”

นี่คือความท้าทาย ไม่สิ พิบอกว่ามันคือความฉิบหายของคนที่โตมากับคำสอนว่า คุณต้องทำอะไรตามแพสชัน แล้วคุณจะทำสิ่งนั้นได้ไปจนตาย นั่นไม่ใช่เรื่องจริงสำหรับพิ 

จากคนที่เคยเสิร์ชชื่อตัวเองในกูเกิลเป็นประจำ เพราะรู้สึกได้รับการยอมรับ พิในวันนี้กลายมาเป็นคนที่อยากเล่นกับหมาอยู่บ้าน เปิดร้านชาเงียบ ๆ เขามองเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ในชีวิต แบบไม่ต้องเป็นพิที่ควบคุมสั่งการใครอีก

พิมีหลายนามสกุลมากขึ้น ไม่ใช่แค่ TEDx อีกต่อไป เขาไปชิมลางงานแสดงทั้งในซีรีส์ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ หรือปรากฏตัวอยู่ในมิวสิกวิดีโอของ TangBadVoice หาเรื่องสนุกใส่ตัวแล้วกลับมาเติมเชื้อไฟให้งานประจำที่กำลังมอด

“เอาเข้าจริงไม่มีใครแคร์หรอกว่าเราจะถูกสัมภาษณ์แค่ไหน เป็นตัวเราเองที่นั่งเสิร์ชกูเกิลตัวเอง” พิเล่าเรื่องตลกที่เขาหัวเราะไม่ออก

11. เลือกดื่มชา

พิจิบชาตลอดการสนทนา ฝันอยากเปิดร้านชาเล็ก ๆ เราชวนคุยว่าชาแบบไหนที่พิจะเลือกเข้าบ้าน เขาตอบว่ามี 2 ประเภทด้วยกัน

ประเภทแรก คือชาที่มีเรื่องราว เขาเชื่อว่าทุกอย่างมีเรื่องราวหมด เพียงแต่เรื่องไหนที่ดึงดูดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเรา พิแนะนำชาที่เขากำลังจิบ

“ตัวนี้ชื่อว่า เจิ้งซานเสี่ยวจ่ง เราจะเรียกชาตัวนี้ว่า I Love Smoking เป็นชารมควันที่กลิ่นเหมือนบุหรี่ เรื่องราวของมันคือคนหมู่บ้านนี้กำลังทำชากันอยู่ แล้วก็มีทหารบุกรุกเข้ามา เลยต้องหนีไปหมด พอกลับมาชาก็ไหม้หมดแล้ว เป็นที่มาของกลิ่นที่ขมแบบบุหรี่ แต่ก็มีความหอมและประวัติศาสตร์อยู่ในนั้น”

ประเภทที่ 2 คือไม่ได้มีเรื่องมากมาย แต่สร้างความรู้สึกและกระตุ้นประสาทสัมผัสบางอย่าง พิแนะนำชาที่เขามักจะชงไปแจกเสมอ ๆ และเป็นชาที่อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสสักครั้งก่อนที่จะตาย

“ตัวนี้ชื่อ หลานกุ้ยเหริน เป็นชาจากเกาะไหหลำ ปกติชาจะคุยที่จมูกเรา ลิ้นเรา แต่ตัวนี้คุยกับต่อมรับน้ำลายเรา เหมือนเวลากินกระถินกับหอยนางรม น้ำลายเราจะหวาน เราเลยตั้งชื่อตัวนี้ว่า จูบหวานเจี๊ยบ”

พิบอกว่าทุกวันนี้ผู้คนต่างถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นฟันเฟืองที่ไร้คุณค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอย่างเขาต่อสู้อยู่ภายในมาโดยตลอด

“TEDx ทำให้เราเลิกกับแฟนหลายคนมาก ปีแรกเราเลิกกับเขาเพราะเรื่องหนึ่งที่ โห ไอ้พิเอ้ย” เขาเล่าอย่างละอายแก่ใจ “เขาอยากมาเชียร์เราที่งานมาก แทนที่จะดีใจ เรากลับบอกว่า แล้วเธอได้สมัครรึเปล่า ฉันเป็น Core Team ฉันต้องทำให้ถูกต้อง นักการเมืองโทรมาขอบัตรเรา เรายังไม่ให้เลย

“อีกคนหนึ่งที่เลิก วันจากกันวันสุดท้าย เขาพูดประโยคหนึ่งกับเราว่า พิเป็นมนุษย์ให้มากกว่านี้หน่อยนะ ทำให้เราตั้งคำถามมาตลอดว่า กูเป็น Change Maker ขนาดนี้ ยังไม่เป็นมนุษย์ที่ดีในสายตาคุณอีกเหรอ งั้นเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร”

เขาค้นพบว่าความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่โลกนี้ต้องการสุดในวินาทีนี้ เนื้องานของ TEDx คงเดิมทุกปี รูปแบบไม่ห่างไกลจากกันมาก สิ่งที่แตกต่างคือเหล่าอาสาสมัครและ Speaker ต่างหาก พันธกิจยิ่งใหญ่ของเขาจึงกลายเป็น “ถ้างานของเราคือคน เราจะทำให้คนเหล่านี้มีความเป็นมนุษย์แบบที่เขาชอบ”

พิปล่อยให้เราดื่มด่ำคำตอบลึกซึ้งจากชาเพียง 1 แก้วของเขา

รู้ตัวอีกทีการพูดคุยวันนี้ก็ลากยาวเกินกว่าที่ควรจะเป็นเสียแล้ว

12. หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้ พิตอบง่าย ๆ ว่า เขาจะไม่เลือก เพราะบางทีการหนีก็เป็นทางออกที่ดีเหมือนกัน

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล