The Cloud x The Hero Season3

 

ท้องถนนพลุกพล่านไปด้วยรถบรรทุกและฝุ่นควัน เสียงคำรามของเครื่องจักรดังแว่วมาเป็นระยะ สัญญาณการก่อสร้างเพื่อพัฒนาพื้นที่ดินปรากฏอย่างข้างชัดเจนตลอดสองฟากฝั่งถนนกัลปพฤกษ์

ฉันเดินลัดเลาะทางเท้าแคบๆ ขนาดกว้างแค่พอให้คนเดินสวนปะทะไหล่กัน ลึกเข้าไป ลึกเข้าไป

ไอร้อนของท้องถนนค่อยๆ เปลี่ยนเป็นไอเย็นจากแมกไม้เขียวครึ้ม เสียงจอแจวุ่นวายถูกแทนที่ด้วยเสียงไก่ขัน เสียงนกน้อยกระดกคอจีบกัน และเสียงลูกมะพร้าวตกกระทบพื้น

ตุบ! น่าเหลือเชื่อว่าฉันยังอยู่ในกรุงเทพฯ

ตุบ! ที่นี่คือคลองบางประทุน

บางประทุนเป็นหนึ่งในย่านชุมชนชาวสวนดั้งเดิมของธนบุรีท่ีมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ‘ประทุน’ แปลว่า หลังคา สื่อถึงต้นไม้สองข้างคลองที่ใหญ่โค้งเข้าหากันจนปิดเป็นหลังคา แสดงความเป็นชุมชนเกษตรกรรมท่ีอุดมสมบูรณ์

รักษ์บางประทุน, ศูนย์เรียนรู้บางประทุน, บ้านริมน้ำ, ชุมชนริมน้ำ, The Hero Season3

ปัจจุบัน การขยายตัวของสังคมเมือง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มรุกคืบเข้ามา เรือกสวนถูกแบ่งขายให้นายทุน ลำคลองสายสำคัญของชุมชนไม่ได้ถูกใช้เป็นทางสัญจรอีกต่อไป จึงกลายเป็นเพียงที่ปล่อยน้ำทิ้งและสิ่งปฏิกูล

วิถีชาวสวนค่อยๆ เลือนหายไป ความเจริญที่ผู้คนถวิลหาคืบคลานเข้ามาพร้อมกับพัดพาวิถีชีวิตแบบเก่าให้หายสาบสูญไปตลอดกาล

กลุ่มรักษ์บางประทุนจึงถือกำเนิดขึ้นจากชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่รักในพื้นที่ ซึ่งประกอบไปด้วยคนมากมายหลายอาชีพ ส่วนใหญ่เริ่มรวมกลุ่มจากเพื่อน พี่น้อง และญาติๆ ที่คิดเห็นตรงกัน

โดยมีพันธกิจ 2 ข้อ ที่ต่อยอดไปสู่อีกมากมายหลายสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อรักษาความเป็นบางประทุนไว้ หนึ่งคือ การสร้างจิตสำนึกภายในชุมชน และสองคือ การบอกเล่าคุณค่าของคลองและชุมชนชาวสวนดั้งเดิม ให้คนภายนอกรับรู้

ฉันเองก็เป็นคนนอกชุมชนคนหนึ่งที่อยากฟังเรื่องราวการลุกขึ้นยืนหยัดของพวกเขา จึงมานั่งยิ้มเขินๆ อยู่ในศูนย์เรียนรู้บางประทุนศาลาไม้ไผ่รูปทรงเก๋ไก๋หลังใหม่เอี่ยมที่พวกเขาร่วมคิด ร่วมแรง และร่วมใจ กันสร้าง โดยมีทีมสถาปนิกชุมชนจากสถาบันอาศรมศิลป์เข้ามาช่วยออกแบบและก่อสร้าง จากการเข้าใจชุมชนอย่างลึกซึ้ง

บทสนทนาของคนตัวเล็กข้างท้องร่องจึงเริ่มต้นขึ้น

 

เริ่มต้นจากสายน้ำ

พี่ปอง (นาวิน มีบรรจง) พี่ปิง (ปุญโญ มีบรรจง) และพี่หน่อย (พงพันธ์ นิ่มมา) 3 ตัวแทนกลุ่มรักษ์บางประทุน ล้อมวงเล่าให้ฟังว่าผู้คนส่วนใหญ่ในคลองบางประทุนแต่อดีตเป็นชาวสวนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อาศัยสายน้ำในการเกื้อกูลต่อการดำรงชีวิต

คลองบางประทุนมีวัดริมคลองเป็นศูนย์รวมจิตใจในชุมชน 2 วัด คือวัดบางประทุนในหรือวัดแก้วไพฑูรย์ และวัดบางประทุนนอก ทำให้เกิดประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มช่างของคาวและของหวานในงานบุญต่างๆ จนมีชื่อดังเสียงโด่งดังในย่านบางขุนเทียน ถึงขั้นมีคำพูดติดปากกันว่า ขนมตระกูลทองต้องคลองบางประทุน  

บรรยากาศสงบร่มเย็นสองฟากฝั่งคลอง เป็นใจให้เกิดศิลปินแห่งชาติและราชบัณฑิตด้านดนตรี ช่างหัตถกรรมและศิลปกรรมในคลองแห่งนี้ เช่น อาจารย์บุญยงค์ อาจารย์บุญยังค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) อาจารย์สมใจ นิ่มเล็ก (ราชบัณฑิตด้านสถาปัตยกรรมไทยและกลุ่มช่างแทงหยวก บ้านกลองยาว บ้านทำงานจักสาน รวมถึงงานฝีมือสำคัญที่ได้รับการยอมรับคือ การเย็บงอบ          

ถ้าย้อนกลับไปช่วง พ.. 2500 ในยุคที่ตลาดน้ำวัดไทรรุ่งเรือง คลองบางประทุนเป็นแหล่งผลิตงอบแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี ทุกๆ บ้านยามค่ำคืนชาวบ้านจะเย็บงอบเป็นรายได้เสริม หลังจากทำสวนมาทั้งวันพี่ปิงเล่า

ในพื้นที่ตลอดแนวคลองบางประทุนชาวบ้านจะปลูกพืชหลัก เช่น กล้วย ลิ้นจี่ ส้ม มะพร้าวละมุด และส้มโอ โดยมีแหล่งค้าส่งเป็นตลาดน้ำวัดไทร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือวิถีของชาวบางประทุน

พี่ปองอธิบายเพิ่มเติมว่าตลาดน้ำวัดไทรเป็นตลาดน้ำที่โด่งดังมาก ระดับเดียวกับอัมพวาและดำเนินสะดวก แต่เมื่อเริ่มขยายใหญ่โตก็ควบคุมทิศทางการพัฒนาไม่ได้ ทำให้ต้องเลิกกิจการกันไปในที่สุด

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป หลายๆ บ้านก็เปลี่ยนวิถีชีวิต ส่งลูกไปเรียนยังภายนอกบ้าง แต่หลายบ้านก็ยังรักษาวิถีชาวสวนให้คงอยู่ จึงทำให้บางประทุนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักหากเทียบกับที่อื่นในกรุงเทพฯ

ความสุขและความความอบอุ่นเหล่านี้อยู่กับเรามาตลอด ทำให้เราไม่เคยตระหนักถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเลยพี่ปองเอ่ยขึ้น


หลั่งไหลไปตามกาลเวลา

พี่ปองเล่าต่อว่าวิกฤตมหาอุทกภัย พ.. 2554 คือเหตุการณ์แรกที่ทำให้เราเริ่มหันกลับมามองบ้านตัวเอง คนคลองอยู่กับคลองไม่ได้ หลายบ้านกลัวน้ำจากสื่อต่างๆ ที่ประโคมข่าว  

น้ำที่มากับน้ำท่วมปีนั้นมีการเน่าเสีย ต่างจากน้ำท่วมเมื่อ พ.. 2526 สมัยพวกเรายังเด็กๆ คนทำสวนในพื้นที่เริ่มน้อยลง ทำให้เราเริ่มวิเคราะห์ถึงปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดปัญหา เราพบว่า ปัญหาหลักๆ คือวิถีชีวิตชาวสวนที่ไม่มีการถ่ายทอดอาชีพสู่รุ่นลูก

เมื่อรุ่นลูกทำสวนไม่เป็นจึงขายถิ่นที่อยู่ทิ้ง คนพื้นที่ต้องย้ายออกไปข้างนอก ผังเมืองเปลี่ยนแปลง ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนไป ทั้งโครงการบ้านจัดสรร โครงการตัดถนนของรัฐ ทำให้มีผู้คนต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่มากมาย

พี่ปองอธิบายว่าทุกๆ ครั้งที่ถนนตัดผ่าน มีการวางท่อระบายน้ำเสียขนาดใหญ่เพื่อปล่อยลงคลอง การตัดถนนเพื่อสร้างความสะดวกสบาย ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนริมคลอง จากผู้คนสองฝั่งคลอง ก็กลายผู้คนสองฝั่งถนน

เหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นเหมือนสัญญาณอันตราย ที่ทำให้ชาวบางประทุนเริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง และรับรู้ถึงคำว่านิเวศวัฒนธรรม ความล่มสลายของวิถีชีวิตชาวสวนที่มีผลต่อระบบนิเวศ ร่วมถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่มีผลกระทบต่อวิถีชาวสวน  

สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือ เมื่อเวลาผ่านไป อนาคตสายน้ำคลองบางประทุนจะกลายเป็นคลองแสนแสบแห่งใหม่” พี่ปองพูดขึ้น

กลุ่มรักษ์บางประทุนจึงเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของลูกหลานและคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลางในการพูดคุยถึงปัญหาและปรึกษากันถึงแนวคิดในการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบางประทุน ให้คงอยู่ร่วมไปกับการพัฒนาในยุคสมัยใหม่ได้

ตลอด 5 ปีนับจากวันแรกของการก่อตั้ง กลุ่มรักษ์บางประทุน สร้างแรงกระเพื่อมเหมือนหยดน้ำเล็กๆ ที่ขยายรัศมีออกไปสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่ ด้วยกิจกรรมและการอุทิศตัวมากมายทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

เพจเฟซบุ๊กชื่อ คลองบางประทุน (Khlong Bang Prathun Bangkok) คือพื้นที่กลางระหว่างคนในและคนนอกชุมชน ในการบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันของสายน้ำคลองบางประทุน รวมถึงปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ ได้ต่อยอดสู่การจัดนิทรรศการขึ้นถึง 3 ครั้ง

นิทรรศการชุมชน 2 ครั้งแรก คือ “บางประทุนสายน้ำและความร่มเย็น” และ “ภาพเก่าเล่าเรื่องบางประทุน” จัดแสดงภาพถ่ายความงดงามของวิถีชีวิตชาวบางประทุนที่กำลังค่อยๆ เลือนหายไปฝีมือพี่ปอง และภาพเก่าแก่พร้อมข้อมูลในอดีตหาดูยากที่พี่ๆ ทั้ง 3 คนรวบรวมจากผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่

สำหรับคนในพื้นที่ๆ อาจหลงลืม และเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ประวัติความเป็นมาของพื้นที่บางประทุน เพื่อกระตุ้นความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากภาพในอดีต และสิ่งที่พบในปัจจุบัน เพื่อรวบรวมข้อมูลเตรียมทำพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ในอนาคต

และนิทรรศการครั้งล่าสุดที่นำมาสู่การก่อสร้าง ‘ศูนย์เรียนรู้บางประทุน’ คือ ‘เปิดประทุน‘ กิจกรรมสรุปผลงานของนักศึกษาในเวิร์กข็อป ‘อยู่ กับ น้ำ Place Making: Living with Water’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดร่วมกันระหว่างกรรมาธิการเพื่อสังคมและเมืองสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA-CAN) สถาบันอาศรมศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับนักศึกษาสถาปัตย์จากหลากหลายสถาบัน

โดยมีที่ปรึกษาเป็นสถาปนิกชุมชนระดับโลก Nabeel Hamdi ในการสำรวจ วิเคราะห์ และร่วมออกแบบชุมชนเพื่อความยั่งยืน และจัดนิทรรศการในมุมมองของนักศึกษาร่วมกับชาวบางประทุน

 

"ASA-CAN Workshop 2016 “Place-Making: Living with Water”, with…

"การที่เราทำงานแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราเป็นผู้ใจบุญหรืออะไร พูดง่ายๆ ก็คือ มันไม่ใช่ว่าเราต้องการแสดงความเมตตาหรือเป็นคนดีกับสังคม แต่เป็นเพราะเรารู้ว่ามันมีวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในการก้าวไปข้างหน้า เมื่อคุณทำงานกับโปรแกรมเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองโดยมีชุมชนเป็นเป้าหมายความสนใจสำคัญ หน้าที่ของเราในการทำงานในชุมชนจึงเป็นเรื่องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในฐานะหุ้นส่วนที่เข้าไปช่วยพัฒนา" (Prof.Nabeel Hamdi, 2016)……………………………………………………………….ASA-CAN Workshop 2016 “Place-Making: Living with Water”, with Prof.Nabeel Hamdi จัดโดย: “กรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง” สมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA-Community Act Network หรือ ASA-CAN)ร่วมด้วย Guest Mentor พิเศษ Prof.Nabeel Hamdi สถาปนิก ที่ปรึกษา และอาจารย์พิเศษจาก University College London, Harvard University และ Oxford Brookes University ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านงานพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมระดับโลกด้วยความร่วมมือจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร, ม.เกษตรศาสตร์, สถาบันอาศรมศิลป์ เครือข่ายชาวชุมชนคลองบางหลวงและบางประทุน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง พื้นที่: ชุมชนคลองบางหลวงและชุมชนคลองบางประทุนวันที่: 10-19 มิถุนายน 2559เนื่องจากวิถีชีวิตริมน้ำของคนไทยในยุคปัจจุบันดูจะมีความท้าทายในหลายด้านจากการพัฒนาของเมืองและนโยบายรัฐต่างๆ พื้นที่ที่ทางคณะทำงานเลือกเป็นพื้นที่ศึกษาและเรียนรู้นั้นมี 2 ชุมชนริมคลอง ซึ่งทั้งสองชุมชนอยู่ในโครงการฟื้นฟูเมืองและย่านชุมชนเก่า (City and Community Rehabilitation Program หรือ CCRP) เวิร์กช็อปนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ หากแต่เป็นการต่อยอดการทำงานของคนในพื้นที่ต่างๆ ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปมีทั้งนิสิต นักศึกษา และสถาปนิกจบใหม่จากหลากหลายสถาบัน ผลลัพธ์จากเวิร์กช็อปคือ“โครงการจุดประกาย / Catalyst Project” ของแต่ละกลุ่ม ได้แก่1.) โครงการ “หลง(ไหล)…ในบางหลวง” โดยมีการทำแผนที่และติดสติกเกอร์ที่พื้นในชุมชนเพื่อนำพาไปยังพื้นที่ต่างๆ นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ ที่คุ้นกันดีอยู่แล้ว โดยในบางจุดตั้งใจให้นักท่องเที่ยวเกือบจะหลงทาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับชาวชุมชน และโครงการ “เด็กเดินนำ…หนังสือเดินตาม” การออกแบบและผลิตคู่มือต้นแบบสำหรับการเป็นมัคคุเทศก์น้อย สำหรับให้โรงเรียนในพื้นที่และเด็กๆ ในชุมชนลองฝึกหัดเป็นมัคคุเทศก์ได้ด้วยตนเอง2.) โครงการ “เปิดประทุน” โดยมีการจัดนิทรรศการ และเล่าเรื่องผ่านเพลงฉ่อยที่แต่งและร้องเองโดยผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของชุมชน และกิจกรรม Participatory Mapping หรือการร่วมกัน “ปักหมุด” สร้างแผนที่ของดี ความรู้ และภูมิปัญญาในชุมชนแบบมีส่วนร่วม ที่กระจัดกระจายอยู่ในบุคคลและสถานที่ต่างๆ ตลอดสายคลอง เพื่อฟื้นฟูให้คลองบางประทุนกลับมาเป็นย่านเรียนรู้ด้านวิถีเกษตร และภูมิปัญญาในการใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติที่สำคัญของฝั่งธนบุรีต่อยอดสู่โครงการในปัจจุบัน: ชาวชุมชนคลองบางหลวง โรงเรียนในละแวก และเครือข่ายได้ร่วมกันลงมือทาสีที่พื้นชุมชนและกำลังร่วมกันวางแผนพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางอย่างต่อเนื่อง ส่วนคลองบางประทุนนั้นได้เดินหน้าต่อ ปัจจุบันกำลังเริ่มก่อสร้างศูนย์ชุมชนคลองบางประทุนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรด้วยโครงสร้างไม้ไผ่ที่สวยงาม

Dikirim oleh ASA CAN : Community Act Network pada Kamis, 29 Desember 2016


ก่อสร้างข้างท้องร่อง

ลืมบอกไปว่าวงสนทนาในศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางประทุนมีทีมสถาปนิกชุมชนจากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบก่อสร้างศาลาไม้ไผ่ข้างท้องร่องแห่งนี้อยู่ด้วย

พี่แป้ง (กิติพร พรหมเทศน์) พี่ดิว (รชา ถาวระ) และพี่กิต (กิตติ์ บุญเย็น) คือผู้จะมาเล่าถึงที่มาที่ไปและขั้นตอนสุดคราฟต์ของกระบวนการทั้งหมดให้ฉันฟัง

จากการจัดเวิร์กช็อปและนิทรรศการในครั้งนั้น นักศึกษาได้เสนอแนวความคิดในการสร้างศูนย์ชุมชนขึ้นที่บริเวณซุ้มขายก๋วยเตี๋ยวริมสวนในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่รวมตัวของชาวชุมชนอยู่แต่เดิม ให้เป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนอย่างมั่นคงถาวรพี่แป้ง ผู้จัดการโครงการ เริ่มอธิบาย

ต่อมาชาวชุมชนได้ต่อยอดแนวความคิดดังกล่าวไปสู่การสร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางประทุนขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างบางส่วนจากโครงการฟื้นฟูเมืองและย่านชุมชนเก่า (CCRP) เพื่อเป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้กับเยาวชนในพื้นที่ รวมถึงเป็นพื้นที่รวมตัวในการจัดกิจกรรมต่างๆ รองรับการจัดตลาดนัดผลผลิตการเกษตรของชาวชุมชน

และเป็นสัญลักษณ์ในการสืบสานภูมิปัญญาและชีวิตของชุมชนชาวสวนริมคลอง ให้คงอยู่คู่กับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนด้วย

พี่ดิวและพี่กิต สถาปนิกชุมชน ผู้ดูการออกแบบก่อสร้างไปพร้อมกับชุมชน อธิบายเสริมว่ากระบวนการออกแบบและก่อสร้างโครงการนี้จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การพูดคุยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ โปรแกรม และวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการ

การออกแบบโครงการพยายามจะรักษาสภาพของร่องสวนเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยออกแบบอาคารในรูปแบบของศาลาเปิดโล่งบนแนวคันดินของร่องสวน เช่นเดียวกับศาลาทำบุญสวนในอดีต และเว้นที่ว่างด้านหน้าบริเวณจุดตัดระหว่างตรอกทางเดินเท้ากับคูน้ำเดิมเอาไว้ เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางบกและทางน้ำเดิม

ขั้นตอนการออกแบบสถาปัตยกรรม ไปจนถึงการลงแขกก่อสร้างร่วมกัน เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นตรงกับความต้องการของชาวชุมชนมากที่สุด ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ชาวชุมชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

“ในขั้นตอนการก่อสร้าง ชาวบ้านต่างแปลงกายเป็นนายช่าง ทั้งการตัดไม้ไผ่ ทำหลังคา เตรียมพื้น และอื่นๆ อีกสารพัด ผู้มีอายุหน่อย ช่วยงานเบาๆ ที่ไม่ต้องใช้เรี่ยวแรงมากแต่อาศัยความประณีต อย่างการมุงจากหลังคา

ไม่เพียงสร้างสเปซสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาของชุมชน ตัวสถาปัตยกรรมเองก็เป็นการสร้างการเรียนรู้เช่นเดียวกัน โดยเลือกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ ซึ่งต่อยอดมาจากภูมิปัญญาในการผูกเรือนดั้งเดิมของชาวชุมชน

กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้นและถ่ายทอดภูมิปัญญาต่างๆ ในการปลูกเรือนจากคนรุ่นก่อนที่ทำให้ฉันทึ่งที่สุด คือวิธีทำพื้นแบบชาวสวนโบราณโดยที่ไม่ต้องใช้ซีเมนต์ ขั้นตอนแสนง่ายเริ่มจากการขุดลอกเลนออกจากร่องสวน เมื่อแห้งหมาดๆ แล้วเอาเกลือโรย จากนั้นก็ทุบและอัดดินเพิ่มอีกหนเป็นอันเสร็จพิธี

พี่แป้งอธิบายทิ้งท้ายว่า “มองในระดับชุมชน โครงการนี้มีความสำคัญในแง่การเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน แต่เมื่อมองในระดับเมือง โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ชุมชนชาวสวนริมคลอง ซึ่งเป็นรูปแบบการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของธนบุรี

“ซึ่งพวกเราที่อาศรมศิลป์กำลังพยายามรื้อฟื้นความสำคัญของคลองและชวนสังคมตั้งคำถามว่า คลองและชุมชนริมคลองเหล่านี้จะคงอยู่ร่วมกับการพัฒนาเมืองต่อไปอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนได้อย่างไร”


หยดเล็กๆ รวมเป็นแม่น้ำ

ศูนย์การเรียนรู้เปิดใช้งานเป็นที่เรียบร้อย ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ พี่ปิงรับหน้าที่คุณครูพาเด็กๆ ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ตั้งแต่องค์ความรู้ทั่วไปจนถึงการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักคุณค่าวิถีชีวิตดั้งเดิม หวงแหนและรักษาธรรมชาติรอบตัว

ทุกๆ ปี กลุ่มรักษ์บางประทุนจะจัดกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูลำคลองและพื้นที่สองฟากฝั่ง ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจะทำให้พื้นที่สะอาดเรียบร้อยแล้ว ยังเป็นกิจกรรมเชิงกุศโลบายให้ผู้คนได้รู้จักรักและสามัคคี

นอกจากนี้ยังร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ในการศึกษาพื้นที่ และทำแผนที่เชิงนิเวศน์และแผนที่วัฒนธรรม รวมถึงแผนป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ในอนาคต เพื่อนำแนวทางการแก้ปัญหา การพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตคนชาวคลอง ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เป็นจริงในอนาคต

“เราทำความรู้จักภาคีเครือข่ายคนทำงานที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะคลองย่านฝั่งธนบุรี เพื่อนำทักษะความรู้และความสามารถจากที่ต่างๆมาปรับใช้ให้เหมาะกับการทำงานในพื้นที่  เพราะเรารู้ดีว่าสายน้ำเราจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยถ้าสายคลองอื่นไม่ร่วมด้วย” พี่ปองอธิบาย

และตอนนี้ พี่ปิงกำลังดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรในท้องที่ นำร่องโดยใช้ภูมิปัญญาแพทย์แผนโบราณของบางประทุนในชื่อแบรนด์ ‘เป็นทุน’ ฟื้นฟูความรู้การเกษตรพื้นบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านนำทรัพยากรในท้องที่มาใช้ให้เกิดสูงสุดเพื่อลดการขายที่ดินของชาวบ้านที่ไม่นำมาเป็นประโยชน์แล้ว

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวการลุกขึ้นยืนหยัดของเหล่าคนตัวเล็กๆ สองฟากฝั่งสายน้ำแห่งชีวิต

เสียงกระดิ่งดังกรุ๊งกริ๊งมาตามทางแคบๆ ซึ่งโอ้บล้อมไปด้วยเรือนยอดไม้ ไม่กี่อึดใจถัดมา ชาวต่างชาติบนจักรยานนับสิบคันทยอยปั่นมาจอดหน้าศาลาไม้ไผ่หลังน้อย พร้อมทักทายเซย์ เฮลโหล อย่างเป็นมิตร ก่อนจะเดินเข้ามานั่งด้วยกัน

ชาวบ้านเฉาะมะพร้าวสดๆ จากต้น หอมหวานชื่นใจ ส่งให้เหล่านักท่องเที่ยวดื่มดับกระหาย บางประทุนเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนด้วยการปั่นจักรยานที่ชาวต่างชาติสนใจมาก

ในแต่ละวันชาวบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนหลายสิบคน โดยที่ยังสามารถรักษาเสน่ห์ชาวสวนของบางประทุนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

การอนุรักษ์และพัฒนาเกิดขึ้นพร้อมกันที่นี่

ตุบ! ที่นี่คือคลองบางประทุน

รักษ์บางประทุน, ศูนย์เรียนรู้บางประทุน, บ้านริมน้ำ, ชุมชนริมน้ำ, The Hero Season3

ภาพ: สถาบันอาศรมศิลป์, นาวิน มีบรรจง, ศุภกร​ ศรี​สกุล   และ ภาวี ทรงกิจธนโชต

 

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบางประทุนได้รับรางวัล Honorable Mention ในประเภท Social Responsible Architecture หรือสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนที่งาน ARCASIA Awards for Architecture ประจำปี 2018 

โดยรางวัลนี้จัดขึ้นโดย Architects Regional Council Asia (ARCASIA) เพื่อสนับสนุนบทบาทของสถาปนิกและสถาปัตยกรรมในทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ในประเทศในเอเชีย และแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมที่ดีเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนากายภาพและจิตใจของผู้คน

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน