ค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2543 ผู้คนกว่า 40,000 ชีวิต มารวมตัวกันที่ ‘แดนเนรมิต’ เพื่ออำลาสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศ

เสียงพลุ ดอกไม้ไฟ ดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วบริเวณราวกับงานเฉลิมฉลอง แต่สำหรับใครหลายคนอาจรู้สึกใจหาย เพราะจากวันนี้ไป สถานที่ที่เคยผูกพันและเติบโตมาด้วยกันจะไม่มีอีกแล้ว

ภาพผู้คนยืนรอต่อคิวขึ้นรถไฟเหาะยาวเหยียด หญิงสาวตื่นตกใจจนลืมรองเท้าที่หล่นหายในบ้านผี หรือพ่อแม่ลูกพากันล่องแก่งอย่างเพลิดเพลิน จะเหลือเพียงแค่ความทรงจำ

19 ปีผ่านมา ใครผ่านไปริมถนนพหลโยธิน ฝั่งลาดพร้าว คงได้เห็น ‘ปราสาทเทพนิยาย’ ตั้งตระหง่าน เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าครั้งหนึ่งตรงนี้เคยเป็นดินแดนแห่งความสุขของเด็กๆ มากมายหลายรุ่น

พัณณิน กิติพราภรณ์ กรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา มีโอกาสพูดคุยกับสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกในตำนาน พัณณิน กิติพราภรณ์ กรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์ ถึงเรื่องราวและความเป็นมาของแดนเนรมิต ตลอดจนมุมมองที่มีต่อธุรกิจสวนสนุกในวันที่เด็กไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

01

ไม่มีใครไปสวนสนุกคนเดียว

จากย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ที่เคยเงียบเหงา แต่วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2519 ผู้คนกว่า 70,000 ชีวิต ต่างมุ่งตรงมายังถนนพหลโยธิน เพื่อร่วมงานเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ชื่อ แดนเนรมิต

“วันนั้นรถติดหนัก คนที่ไปสนามบินดอนเมืองตกเครื่องกันเป็นแถว เพราะคนตื่นเต้นไม่เคยเห็นสวนสนุกมาก่อน เนื่องจากเราเป็นสวนสนุกแห่งแรกของเมืองไทย ตอนนั้นเราเก็บค่าเข้าคนละสามบาท ห้าบาทเท่านั้น” คุณพัณณินเล่า

แดนเนรมิตเริ่มต้นเมื่อกลางปี 2518 หลังจาก ไมตรี กิติพราภรณ์ เจ้าของโรงหนังพาราเมาท์-ฮอลลีวู้ด-โคลีเซียม เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นและเห็นกิจการสวนสนุก บวกกับทราบมาว่าสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ของสหรัฐอเมริกามีนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเข้าเยี่ยมชม สร้างรายได้มหาศาล จึงเกิดไอเดียอยากสร้างสวนสนุกแบบนี้ในเมืองไทยบ้าง

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

พอกลับถึงกรุงเทพฯ ไมตรีจึงติดต่อขอเช่าที่ดินบริเวณทุ่งบางเขน จำนวน 33 ไร่ พร้อมเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท สั่งเครื่องเล่นแปลกๆ จากญี่ปุ่นและอิตาลีเข้ามาติดตั้ง

หลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่สักระยะ เป็นเวลาเดียวกับที่ลูกสาวคนกลางเรียนจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอดี พัณณินในวัย 23 ปี จึงถูกดึงตัวมาช่วยกิจการของครอบครัวในฐานะผู้จัดการสวนสนุกแดนเนรมิต

ก่อนหน้านั้นสวนสนุกที่คนไทยรู้จัก ถ้าไม่เป็นส่วนหนึ่งของห้างสรรพสินค้า เช่นห้างไดมารู ราชดำริ นำม้าหมุนมาติดตั้งที่ชั้นดาดฟ้า ก็เป็นสวนสนุกชั่วคราวอย่างสวนสนุกตามงานวัดที่จัดไม่กี่วันก็รื้อถอนแล้ว แต่แดนเนรมิตเป็นสวนสนุกเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย และไม่ใช่เพียงเด็กๆ เท่านั้นที่มาเล่นสนุก แต่พัณณิณตั้งใจให้สวนสนุกแห่งนี้เป็นพื้นที่ความสุขของทุกคนในครอบครัว

“ข้อดีอย่างหนึ่งของสวนสนุกคือ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะถ้าคุณพาครอบครัวไปห้างสรรพสินค้า พ่อไปทาง แม่ไปอีกทาง แล้วเอาลูกไปฝากไว้ที่สวนสนุก พอเสร็จก็ค่อยกลับมารับลูก แต่ถ้ามาเที่ยวสวนสนุกแบบแดนเนรมิตหรือดรีมเวิลด์ ทุกคนต้องเกาะกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ ไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน”

เครื่องเล่นจึงเป็นสิ่งที่แดนเนรมิตให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น นอกจากเล่นได้ทั้งครอบครัวแล้ว ยังต้องสนุกสนานและสร้างประสบการณ์ชนิดที่เก็บไปเล่าได้ไม่มีวันลืม

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย
ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

เครื่องเล่นชิ้นแรกที่เรียกเสียงฮือฮาสุดคือ รถไฟเหาะ หรือ Roller Coaster ซึ่งถือเป็นของแปลกในยุคนั้น โดยรถไฟจะพาผู้เล่นขึ้นไปท้าความกล้าบนอากาศด้วยความเร็ว ความแรง และความสูง ที่ทำเอาหลายคนหัวหมุน ยืนไม่อยู่ ว่ากันว่าคนสมัยนั้นต้องต่อคิวเป็นร้อยๆ เมตรกว่าจะได้ขึ้น

จากนั้นจึงมีการสั่งซื้อเรือไวกิ้งส์ เครื่องเล่นที่เหมือนโยนเราไปบนตึกสูง 10 ชั้น แล้วปล่อยให้ตกลงมาอย่างรวดเร็ว และรถไฟเหาะตีลังกา หรือ Corkscrew มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ที่เพิ่มดีกรีความระทึกขึ้นกว่าเดิมด้วยการตีลังกา ห้อยหัว จนคุณต้องร้องออกมาด้วยความหวาดเสียว

พัณณินเล่าว่า แต่ละปีจะต้องเดินทางไปตามสวนสนุกตามประเทศต่างๆ เพื่อทดลองเครื่องเล่นที่น่าสนใจ โดยเกณฑ์ในการเลือกนั้นประยุกต์จากประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ตั้งแต่ชั้น ป.4 เพราะพ่อเป็นเจ้าของโรงหนัง

“เราดูหนังตลอด แล้วก็ชอบคิดว่าทำไมหนังเรื่องนี้ได้ตังค์ ทำไมอีกเรื่องไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ได้มีเหตุผลตายตัว เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า เช่นหนังต่างประเทศที่มีฉากคุยกันเยอะๆ คนไทยไม่ดูแน่ แต่ถ้าเป็นหนังแอ็กชันมีโอกาสเกิดเยอะกว่า แต่ไม่ได้รับประกันทุกเรื่อง เพราะบางทีหนังแอ็กชันก็ตายเหมือนกัน พอมาทำสวนสนุก เราก็รู้ว่าคนไทยขี้กลัว ไม่ชอบเครื่องเล่นที่หวาดเสียวมากๆ พวกหมุนๆ เหวี่ยงๆ เขาไม่กล้าเล่น คราวนี้ก็เลือกง่ายแล้ว”

แต่หนึ่งในเครื่องเล่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดยุคเปิดแดนเนรมิตใหม่ๆ คือ ‘บ้านผี’ เครื่องเล่นสุดคลาสสิกที่ทำหลายคนขนหัวตั้ง

“บ้านผีแดนเนรมิตดังสุดฤทธิ์ คล้ายๆ บ้านผีงานวัด ตลอดยี่สิบปีในวงการสวนสนุก เราทำบ้านผีมาหกเจ็ดครั้ง ยังไงๆ ก็สู้บ้านผีที่ทำครั้งแรกไม่ได้ ตอนนั้นคนปั้นผีทำผีออกมาเจ๋งเลย เราเปิดไฟสว่าง เราอยากโชว์ผี แต่คนไม่ค่อยกลัว ก็เลยมานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้คนกลัว เมื่อไปเห็นบ้านผีที่ญี่ปุ่นว่าเขาปิดไฟ เราเลยปิดบ้าง แล้วก็หลอกให้ตกใจโดยเอาอะไรไปเคาะข้างฝา ลูกค้าก็ร้องกันกรี๊ดกร๊าด คนทำก็เริ่มสนุกแล้ว จากนั้นก็เริ่มพัฒนากันเรื่อยมา เช่นนำเทคนิคพิเศษจากฮอลลีวูดมาปรับใช้”

นอกจากเครื่องเล่นแล้ว การจัดโซนพื้นที่ตามธีมต่างๆ ก็เป็นอีกเสน่ห์ที่มัดใจผู้คนได้ไม่รู้ลืม พื้นที่หนึ่งซึ่งกลายเป็นภาพจำของแดนเนรมิตถึงปัจจุบันคงไม่พ้น ‘ดินแดนเทพนิยาย’ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2529

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

บนพื้นที่ 33 ไร่นั้นมีแลนด์มาร์กคือ ‘ปราสาทเจ้าหญิงนิทรา’ ซึ่งจำลองแบบมาจากปราสาทนอยชวานชไตน์บนเทือกเขาแอลป์ เยอรมนี และยังมีขบวนพาเหรดที่ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูน Walt Disney นำโดยคนแคระทั้งเจ็ดซึ่งจะพาเด็กๆ นั่งเล่นบนรถฟักทองของซินเดอเรลล่า พบมังกรสามหัว ดาบวิเศษเอกซ์แคลิเบอร์ของกษัตริย์อาเธอร์ ห้องศาสตราวุธที่รวบรวมอาวุธโบราณนับร้อยชิ้น สระเจ้าชายกบ ก่อนปิดท้ายด้วยการถ่ายภาพกับบ้านทรงรองเท้าบูต

รวมทั้งยังมี ‘พิพิธภัณฑ์สัตว์โลกล้านปี’ ซึ่งเป็นครั้งแรกๆ ของเมืองไทยที่มีการจัดแสดงไดโนเสาร์ แถมเจ้าสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้ยังมีเสียงและขยับตัวได้อีกต่างหาก และ ‘มูฟวี่เวิลด์’ ซึ่งจำลองฉากภาพยนตร์และตัวละครดังๆ ของฮอลลีวูด ทั้ง Superman, King Kong, Star Wars มาให้แฟนๆ ชาวไทยได้สัมผัสบรรยากาศการถ่ายทำแบบใกล้ชิด จนเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้ไม่น้อย

เพราะฉะนั้น ไม่แปลกเลยว่าเหตุใดแดนเนรมิตจึงกลายเป็นดินแดนแห่งความฝันที่เด็กๆ ในยุคนั้นอยากมาเยือนเพื่อสัมผัสความสนุกสักครั้งในชีวิต

02

ความท้าทายของสวนสนุก

“ไม่เคยมีความฝันอะไรเลยในชีวิต คิดแค่อย่างเดียวคือจะช่วยพ่อช่วยแม่ทำงานแบ่งเบาภาระได้อย่างไร”

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องโดดเข้ามาทำงานบริหารทั้งที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน และที่หนักยิ่งกว่าคือ ตอนนั้นธุรกิจนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย จึงแทบไม่มีตัวอย่างใดๆ ให้ศึกษา ทุกอย่างต้องอาศัยการลองผิดลองถูก การทำงานเป็นทีม และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเรียนรู้จนช่ำชอง

เรื่องหนึ่งที่พัณณินเคยเล่าไว้เมื่อ 35 ปีก่อน คือสวนสนุกมักคึกคักเฉพาะวันหยุด สวนทางกับวันธรรมดาที่เงียบเหงาถึงขั้นมีคนเดินมาถามว่า “วันนี้เปิดหรือเปล่า”

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

ทีมงานจึงต้องเติมเครื่องเล่นใหม่ๆ ปีละ 1 – 2 เครื่อง และอีกหมัดเด็ดที่ได้ผลอยู่เสมอคือการเสริมกิจกรรมใหม่ๆ เข้าไปเพื่อเพิ่มความหลากหลาย เพราะคู่แข่งของแดนเนรมิตไม่ได้มีเพียงสวนสนุกเกิดใหม่อย่างแฮปปี้แลนด์หรือสวนสยามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงห้างสรรพสินค้าที่ทยอยเปิดตัวตามความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจอีกด้วย

“สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้ทั้งครอบครัวพอใจ เพราะถ้าเด็กอยากไปสวนสนุก แต่พ่อแม่บอกเด็กว่า เดี๋ยววันนี้ไปห้างแล้วซื้อไอศกรีมให้ก็จบแล้ว เราจึงต้องทำให้พ่อแม่มีความสุขในการมาที่นี่ด้วย หรือทำให้สนุกจนลืมร้อนไปเลย เช่นมีเครื่องเล่นที่เขาเล่นกับลูกได้ มีที่ให้นั่งพัก ให้ถ่ายรูป การทำสวนสนุกก็เหมือนอาหาร จะทำอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนหนึ่งชอบอย่าง อีกคนอาจชอบอีกอย่าง เราก็ต้องทำอะไรที่มันกลางๆ ซึ่งทุกคนทานได้ ไม่แพงมาก

“ที่สำคัญคือ ต้องคิดถึงภาพรวมเป็นหลัก ถ้าคิดว่าเครื่องเล่นเป็นสิบเป็นร้อยล้าน เก็บครั้งละสิบยี่สิบบาท กว่าจะคืนทุนก็อีกห้าสิบหกสิบปี แบบนี้ไม่ต้องไปคิดเลย เพราะความจริงเรายังมีค่าบัตรผ่านประตู ค่าอาหารต่างๆ ที่เข้ามาช่วย”

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

สำหรับกิจกรรมในแดนเนรมิตนั้นมีตั้งแต่คอนเสิร์ตจากศิลปินดัง เช่น พุ่มพวง ดวงจันทร์, สายัณห์ สัญญา, นันทิดา แก้วบัวสาย รวมถึงโชว์ดีๆ อย่างกายกรรมเหิรเวหาท้ามฤตยู จากคณะ The Nerveless Nocks ประติมากรรมปราสาทน้ำแข็งจากประเทศจีน กายกรรมสะท้านโลกจากเวียดนาม และ ซูเปอร์ด็อก บ๊อก บ๊อก โชว์ จากสหรัฐอเมริกา

“โชว์หนึ่งที่ชอบมากคือเด็กที่เป็นนักบวกเลข วันหนึ่งไปนั่งดูทีวีในร้านอาหารที่ญี่ปุ่น เห็นเด็กอายุราวๆ สิบขวบคิดเลขหลักล้านคูณด้วยหลักแสน ใช้เวลาเพียงสองวินาทีเอง ตอนแรกก็คิดว่าเล่นกล ปรากฏว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องการศึกษาและการฝึกฝน”

แต่ไม่ใช่ทุกการแสดงจะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะมีหลายครั้งที่เดาใจลูกค้าผิด

“เราเคยจัดประกวดแดรกคูลาแล้วมีคนมาสมัครแค่หนึ่งถึงสองคน จนต้องไปบอกคนสมัครว่าขอยกเลิก แล้วก็เคยประกวดโนบิตะในเรื่อง โดราเอมอน เพราะช่วงนั้น โดราเอมอน ดังมาก ไม่มีคนสมัครเหมือนกัน คือไม่ได้คิดไงว่าโนบิตะเป็นเด็กดื้อ เด็กก็เลยไม่เข้าประกวด เพราะก่อนหน้านี้จัดประกวดเจ้าหญิง มากันเป็นร้อยเลย” อดีตผู้บริหารแดนเนรมิตกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

ไม่เพียงการสร้างพื้นที่ให้น่าเที่ยวที่สุด การตลาดเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้แดนเนรมิตประสบความสำเร็จ ตั้งแต่เพลงโฆษณาซึ่งมีเนื้อร้องที่ติดหู จำง่าย “…รอยยิ้มแจ่มใส เสียงหัวเราะนั้นแสนจะมีสุขเสรี เรามาพร้อมกัน… พร้อมใจไปเที่ยวไปในแดนเนรมิต แดนเนรมิต…” รวมถึงสโลแกน ‘สนุกสุดแสน เที่ยวแดนเนรมิต’ ซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์การเป็นพื้นที่สร้างความสุขของผู้คนเป็นอย่างดี

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

นอกจากนี้ แต่ละปีทีมครีเอทีฟยังต้องสร้างโปรโมชันใหม่ๆ มานำเสนอ เช่น คิดค่าผ่านประตูคนละบาทในวันเด็ก ซึ่งมีเด็กมาเที่ยวตั้งแต่เช้ายันเย็นเกือบแสนคน หรือ 12 สิงหาพาแม่เที่ยวฟรี ตลอดจนร่วมมือกับโรงเรียนต่างๆ พานักเรียนมาเที่ยวในวันธรรมดา ทำให้วันที่เคยเงียบเหงากลับมาคึกคักได้

เพราะสำหรับพัณณินแล้ว แดนเนรมิตไม่ได้เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่เด็กและครอบครัว ดังที่นิตยสาร Reader’s Digest เคยระบุว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กที่เด็กจดจำได้มากที่สุด คือการมาเที่ยวสวนสนุก

03

25 ปีแห่งความทรงจำ

หลังผ่านร้อนผ่านหนาว สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแก่ผู้คนมานานร่วม 2 ทศวรรษ ในที่สุดวันที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นก็มาถึง เมื่อสัญญา 25 ปี ที่ไมตรีทำไว้กับเจ้าของที่สิ้นสุดลง

ด้วยราคาที่ดินซึ่งขยับเพิ่มสูงขึ้นตามเวลาและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าซึ่งเกิดขึ้นเรียงรายเต็มไปหมด ทำเลของแดนเนรมิตคับแคบมาก แถมอยู่ติดกับหน่วยราชการอย่างกองทะเบียน กรมตำรวจ จึงขยับขยายหรือเพิ่มพื้นที่ไม่ได้

ที่สำคัญ ก่อนหน้านั้น 7 ปี ผู้บริหารได้ลงทุนซื้อที่ดินย่านคลองสามเพื่อพัฒนาสวนสนุกแห่งใหม่ ‘ดรีมเวิลด์’ ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2536 จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญา เท่ากับว่าตำนานสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของเมืองไทยต้องปิดฉากลงโดยปริยาย

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย
ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

“เราสู้ค่าเช่าของที่ดินในเมืองไม่ไหว เพราะตอนเริ่มสร้างแดนเนรมิตอยู่นอกเมือง แต่ตอนนั้นแถวลาดพร้าวกลายเป็นเมืองไปแล้ว เราเลยอพยพมาแถวรังสิตซึ่งที่ถูกหน่อย เราไม่อยากใช้ชื่อเดียวกัน เพราะมันคาบเกี่ยวกันอยู่ อีกอย่างคือแดนเนรมิตเรียกยาก ฝรั่งเรียกไม่ถูก บางคนถามว่าแดนเนรมิตกับ Magic Land เป็นที่เดียวกันหรือเปล่า เราก็เลยใช้ชื่อ Dream World เพื่อให้ทุกคนเรียกได้”

แต่ถึงจะรู้ว่าต้องปิดตัว แดนเนรมิตก็ยังพยายามนำเสนอเครื่องเล่นและการแสดงใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ปลาหมึกยักษ์ หรือโกคาร์ท เพื่อให้สวนสนุกแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เติมเต็มความสุขอย่างสมบูรณ์

และในเดือนสุดท้าย พฤษภาคม 2543 อำพล สุทธิเพียร หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ ได้คิดแคมเปญพิเศษ ‘แดนเนรมิต…ฉันจะคิดถึงเธอ’ เพื่อตอบแทนลูกค้าที่สนับสนุนสวนสนุกแห่งนี้ต่อเนื่องถึง 25 ปี โดยในวันอาทิตย์ที่ 28 ซึ่งเป็นวันปิดแดนเนรมิต มีลูกค้ามาเที่ยวตั้งแต่เช้ายันค่ำร่วม 50,000 คน เพื่อร่วมส่งท้ายดินแดนแห่งความทรงจำนี้ตลอดกาล

ความทรงจำ 25 ปีเรื่อง แดนเนรมิต ของสุภาพสตรีผู้บุกเบิกสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของไทย

“วันสุดท้ายคนมาเยอะมาก ไม่คิดว่าจะมากันขนาดนี้ แน่นอน ถึงจะเสียดาย แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป ที่ผ่านมาแดนเนรมิตเองก็ได้ทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้ว เราเป็นสวนสนุกแห่งแรกที่มีรถไฟเหาะ มีปราสาท มีอะไรที่ยูนิก ที่สำคัญ เราคิดเสมอว่าความสุขของเราคือการทำให้คนมาใช้บริการมีความสุข แค่นั้นก็พอแล้ว” พัณณินย้อนเรื่องราวอันน่าประทับใจ

04

ดรีมเวิลด์’ และวันต่อๆ ไป

แม้วันนี้แดนเนรมิตจะเหลือเพียงตำนาน แต่ครอบครัวกิติพราภรณ์ยังคงเดินหน้าทำสวนสนุกไม่เปลี่ยนแปลง

ดรีมเวิลด์ในวัยใกล้ 26 ปี ถึงไม่เหมือนแดนเนรมิตเสียทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารหญิงและทีมงานยังคงรักษาไว้ได้คือ เสน่ห์ของสวนสนุกที่เน้นการเปิดประสบการณ์แก่ผู้มาเยือน

“การทำสวนสนุกนั้นดีอย่างตรงที่ไม่ได้มีเทรนด์อะไรมากมาย และไม่ได้ถูกท้าทายในแง่ของ Technology Disruption มากนัก คุณสวมวีอาร์เล่นรถไฟเหาะอยู่กับบ้านก็ได้ แต่มันคงรู้สึกไม่เท่ามาเล่นที่สวนสนุก ซึ่งความเห็นของเราอาจผิดก็ได้ ดังนั้น เราต้องพยายามค้นหาสิ่งที่ลูกค้าชอบและสนใจต่อไปเรื่อยๆ

“สิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจคือเคยเจอชาวอเมริกันคนหนึ่ง อยู่ที่ฟลอริดา มาบอกว่า เขาชอบสวนสนุกของเรา พอถามว่าทำไม เพราะที่ฟลอริดาก็มีดิสนีย์แลนด์ เขาเลยบอกว่า ดรีมเวิลด์มีเสน่ห์ในตัวเอง ลูกชายเขาก็ชอบ แน่นอน ถึงที่นี่จะไม่ใช่สวนสนุกที่ดีที่สุดในโลก แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้มันเป็นสวนสนุกที่คนสนุกและชอบได้”

พัณณิน กิติพราภรณ์ กรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์

ตลอด 4 ทศวรรษของการทำสวนสนุก พัณณินบอกว่า แม้จะเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อยเพราะความเสี่ยงสูง ต้องบริหารบุคลากรมากมายหลายฝ่าย อีกทั้งยังต้องใช้งบลงทุนมหาศาลเพื่อซื้อเครื่องเล่นจากต่างประเทศ ซึ่งหากเสียหายขึ้นมาก็มีค่าไม่ต่างจากเศษเหล็กชิ้นหนึ่ง แต่เธอก็มีความสุข และไม่เคยคิดที่จะหยุดหรือเกษียณตัวเองเลย

“เคยคิดเหมือนกันว่าเราแก่แล้ว ไม่มีใครทำต่อจะเป็นยังไง โชคดีที่มีหลานๆ สนใจอยากทำต่อ แต่เราก็ยังปล่อยไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องจัดการ เนื่องจากดรีมเวิลด์ไม่ได้เน้นเรื่องโปรโมชันอีกแล้ว แต่เน้นการจัดการให้คนมีความสนุกสนานและประสบการณ์ที่แตกต่าง ทำให้อยากกลับมาเรื่อยๆ เพราะส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าเรามุ่งมั่นและพยายามใส่ใจดูแล ทำให้ดีทุกมิติ สุดท้ายสวนสนุกแห่งนี้ก็ไปต่อได้”

แม้วันนี้จะไม่มีใครรู้อนาคตว่าต่อไปธุรกิจสวนสนุกจะเป็นเช่นไร แต่เรื่องนี้ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ ประสบการณ์ที่ทุกคนได้รับจากสวนสนุก คือสิ่งพิเศษที่ไม่มีอะไรมาแทนที่ได้

ถ้าไม่เชื่อก็ลองกลับไปเที่ยวสวนสนุกกันอีกสักครั้ง

พัณณิน กิติพราภรณ์ กรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

  • สัมภาษณ์คุณพัณณิน กิติพราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จำกัด วันที่ 27 สิงหาคม 2562
  • นิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 14 ฉบับที่ 336 วันที่ 31 มกราคม 2549
  • นิตยสารมีเดีย ปีที่ 3 ฉบับที่ 33 เดือนมีนาคม 2530 
  • นิตยสารสเกล ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนตุลาคม 2529
  • หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9525 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2527
  • วิทยานิพนธ์ สวนสนุก: การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการพักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพ ปี พ.ศ.2470-2540 โดย ภาสวร สังข์ศร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วิทยานิพนธ์ การศึกษาปัญหาและแนวโน้มทางด้านการตลาดของสวนสนุกในกรุงเทพมหานคร โดย บุญธรรม สิริกุตตา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • หนังสือ Thailand Tourism: The Early Days การท่องเที่ยวไทยในวันวาน เขียนโดย สตีฟ แวน บีค และเรียบเรียงโดย รอย ฮาวเวิร์ด

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว