สยามได้ส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิศาลวาจาเป็นตรีทูต

ใครดูละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส คงจะรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่มีมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา หรือราวศตวรรษที่ 17

หลายร้อยปีผ่านไป ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในสถานเอกอัครราชทูตที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งยังคงตั้งอยู่ที่เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นรองก็แต่เพียงสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 เท่านั้น

เราได้รับโอกาสพิเศษให้เข้าไปชมทำเนียบหรือบ้านพักเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ก่อนก้าวเข้าไปสำรวจอาคารเก่าแสนสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยา เราขอพาไปชมประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ฉบับย่อระหว่างทั้งสองประเทศ และเรื่องราวในอดีตของสถานเอกอัครราชทูต ที่หวุดหวิดจะย้ายออกจากเจริญกรุงไปหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยืนหยัดรักษามรดกสถาปัตยกรรมนี้ไว้ได้อย่างสง่างาม

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

มิชชันนารีเยือนสยาม โกษาปานไปฝรั่งเศส

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสเดินทางมาถึงสยามตั้งแต่ ค.ศ. 1662 (พ.ศ. 2205) โดยนั่งเรือมาขึ้นฝั่งที่บางกอก ก่อนจะเดินทางไปถึงอยุธยา ด้วยการสนับสนุนจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวฝรั่งเศสจึงได้ตั้งสามเณราลัยในราชอาณาจักรสยาม และบาทหลวงปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (Pierre Lambert de la Motte) ได้กลายเป็นทูตทางศาสนาและเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคนแรกของสยาม มีที่พักเป็นอาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกลายเป็นสถานทูตแบบไม่เป็นทางการ

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

คริสตศาสนาได้รับความคุ้มครองจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้ความพยายามเปลี่ยนให้พระมหากษัตริย์มาเข้ารีตจะไม่สำเร็จ แต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีราชพระประสงค์จะพัฒนาความสัมพันธ์กับจักรวรรดิฝรั่งเศส จึงทรงส่งคณะทูตลงเรือไปฝรั่งเศส

ครั้งแรกทรงส่งเครื่องราชบรรณาการ 50 หีบ ช้าง 2 เชือกและแรดตัวเล็กๆ 2 ตัวลงเรือซอเลย เดอ ลอรีย็อง (Soleil de l’Orient) หรือ ดวงอาทิตย์แห่งตะวันออก แต่เพราะบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป เรือเลยอับปางที่มาดากัสการ์ แต่ในที่สุดคณะทูตของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็เดินทางไปขึ้นฝั่งที่เมืองแบร็สต์ (Brest) ได้สำเร็จ และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้มีฉายาว่าสุริยกษัตริย์ ในห้องโถงกระจกของพระราชวังแวร์ซายใน ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2227)

เพื่อเป็นการตอบแทน ฝรั่งเศสจึงส่งคณะทูต นำโดยราชทูตเชอวาลีเย อาแล็กซ็องดร์ เดอ โชมง (Chevalier Alexandre de Chaumont) มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ในปีถัดมา ผลคือฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากับสยามเรื่องให้อิสรภาพในการเผยแผ่ศาสนา และให้สิทธิพิเศษทางกฎหมายและเศรษฐกิจบางประการแก่ชาวฝรั่งเศส

แต่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็สิ้นสุดลง สมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ และไม่มีพระราชประสงค์จะผูกสัมพันธ์กับชาวยุโรปอีกต่อไป

หลังจากนั้น ความผันผวนทางการเมืองในราชอาณาจักรสยามและการเปลี่ยนเมืองหลวงหลายครั้ง ทำให้สยามแทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชาติตะวันตกอีก ยกเว้นโปรตุเกสเพียงชาติเดียวเท่านั้น

ผูกมิตรอีกครั้ง

ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและไทยถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเล็งเห็นว่าหากต้องการรักษาอธิปไตยของสยาม จำเป็นต้องผูกสัมพันธ์กับชาติตะวันตก และดำเนินนโยบายเปิดประเทศ

หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษใน ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) และสนธิสัญญาที่คล้ายคลึงกันกับสหรัฐอเมริกาในปีถัดมา สยามก็ได้ทำสนธิสัญญาฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสนับเป็นประเทศที่ 4 หลังจากโปรตุเกส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่ได้ตั้งสถานกงสุลในสยาม

ช่วงแรกกงสุลโปรตุเกสเป็นผู้แทนประเทศฝรั่งเศสให้ชั่วคราว ก่อนท่านเคานต์แห่งกัสแตลโน (Comte de Castelnau) จะได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำสยามคนแรกอย่างเป็นทางการรัชกาลที่ 4 พระราชทานพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีอาคารที่ทำการศุลกากรที่ถูกทิ้งร้าง ให้ประเทศฝรั่งเศสเช่าเป็นสถานกงสุล ใกล้กับสถานกงสุลโปรตุเกส อังกฤษ และอเมริกา

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้พระราชทานที่ดินผืนนี้รวมถึงตัวอาคารให้ประเทศฝรั่งเศสตั้งสถานกงสุลอย่างถาวร

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ที่ทำการศุลกากรร้าง กลายเป็นสถานกงสุล

ทำเนียบหรือบ้านพักเอกอัครราชทูตปัจจุบันเคยเป็นอาคารหลักของสถานกงสุล เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นใต้ถุนใช้เป็นสำนักงานการทูต และชั้นบนเป็นห้องทำงานและที่พักของกงสุล ส่วนอาคารที่ยื่นออกไปใช้เป็นที่คุมขังนักโทษและที่พักเจ้าหน้าที่

ลักษณะอาคารเป็นแบบโคโลเนียลที่ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา ผสมสไตล์นีโอ-ปัลลาเดียน (Neo-palladian) ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกในสยามยุคแรกๆ ข้อมูลระบุว่าที่นี่เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกใต้ถุนสูง สร้างบนดินเหนียวสีเขียวที่น้ำท่วมถึง ชั้นล่างก่อด้วยอิฐฉาบปูนสีขาวตามกรรมวิธีไทยโบราณ พื้นเป็นดินอัดแน่นขัดมัน ชั้นบนมีเพดานสูง มีหน้าต่างแบบฝรั่งเศสยาวจรดพื้น 5 บาน และหน้าต่างธรรมดา 2 บาน เหนือหน้าต่างแบบฝรั่งเศสมีช่องลมไม้ฉลุลายสำหรับระบายอากาศ ส่วนหลังคามุงปีกไม้สักได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมฮอลแลนด์ ทำเป็นทรงมะนิลา บลานอร์ (Manila Blanor) มี 4 ด้าน และมีหน้าบันทรงสามเหลี่ยมเล็กๆ ไม่มีฝ้าเพดาน เพื่อให้อากาศร้อนถูกดูดขึ้นไปด้านบนหลังคาและพัดออกไปทางช่องลมได้ง่าย

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

สันนิษฐานว่าก่อนกงสุลฝรั่งเศสย้ายเข้ามาพำนัก อาคารหลังนี้เป็นที่พักสินค้าของกรมศุลกากร และรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านศุลกากรชาวตะวันตก แม้ไม่ทราบวันก่อสร้างแน่ชัดและชื่อสถาปนิก แต่อาคารหลังนี้น่าจะถูกสร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 หรือต้นรัชกาลที่ 4

ต่อเติมทำเนียบ

ช่วง ค.ศ. 1875 – 1894 (พ.ศ. 2418 – 2437) อาคารหลังนี้ได้รับการบูรณะต่อเติมหลายครั้ง คู่มือนำเที่ยว Exploring Bangkok ของโรบิน วอร์ด (Robin Ward) บรรยายทำเนียบหลังนี้ว่ามีลักษณะผสมระหว่างโคโลเนียลและนีโอคลาสสิก มีบันไดประดับบัวลูกแก้วสวยงามโอ่อ่าเชื่อมระหว่างใต้ถุนกับชั้นบน เฉลียงรองรับซุ้มประตูโค้งแบบโรมัน ด้านบนอาคารประดับไม้ฉลุลายขนมปังขิงอย่างอาคารแบบวิกตอเรีย มีขื่อคานและเสาดอริกทำมุมกับผนังปูนที่ดุนลายสวยงาม

ส่วนที่ต่อเติมในภายหลังคือเฉลียงและหลังคาคลุมเฉลียงสำหรับป้องกันฝน และบริเวณชั้นสามซึ่งสร้างด้วยไม้ทั้งหมด ล้อมด้วยลูกกรงและไม้ระแนงสาน

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ใน ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435) สถานกงสุลได้รับการเลื่อนขั้นเป็นสถานอัครราชทูต หลังจากนั้นมีผู้คนมากมายแวะเวียนมาเยือน ไม่ว่าจะชาวเวียดนาม กัมพูชา และลาว ที่มายื่นขอเป็นคนในอาณัติฝรั่งเศส และตัวทำเนียบยังเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงวันชาติฝรั่งเศสอย่างอลังการ

ต่อมาในปี 1901 (พ.ศ. 2444) มีการอนุมัติทุนให้บูรณะสถานอัครราชทูตครั้งใหญ่ จึงเกิดการสร้างเรือนไม้สักหลังใหม่เพื่อใช้เป็นสำนักงานการทูต มีการสร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่ ห้องรับประทานอาหารใหญ่บนทำเนียบ ท่าเรือ โป๊ะเหล็ก ตลอดจนระบบระบายน้ำในสวน และซ่อมแซมทางเดินจนเรียบร้อยสวยงาม

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

สำนักงานการทูตในอดีต

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

บ้านพักเจ้าหน้าที่

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ด้านหลังทำเนียบ มองเห็นห้องรับประทานอาหารที่สร้างจากไม้สักทั้งหลัง

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ห้องรับประทานอาหารใหญ่

คิดจะย้ายอยู่หลายครั้ง

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ชาวฝรั่งเศสและชาวตะวันตกชาติอื่นๆ เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยและพัฒนาพื้นที่บนถนนเจริญกรุงอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการบูรณะครั้งใหญ่ แต่ตัวอาคารหลักก็เริ่มทรุดโทรม สถานอัครราชทูตฝรั่งเศสมีขนาดเล็กเกินกว่าจะรองรับเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ที่พักบนตึกสงวนให้อัครราชทูตเท่านั้น นักการทูตคนอื่นๆ ต้องออกไปเช่าพื้นที่นอกเมืองด้วยราคาแพง

อัครราชทูตและผู้ว่าการอินโดจีนฝรั่งเศสหลายคนลงความเห็นว่าควรย้ายสถานอัครราชทูตใหม่ แรกเริ่มเดิมทีเลือกที่ดินจัดสรรใหม่ย่านบางรัก แต่เกิดการโต้เถียงขัดแย้งในหมู่ข้าราชการฝรั่งเศส ยิ่งเวลาผ่านไป งบประมาณที่ต้องใช้ในการก่อสร้างสถานอัครราชทูตแห่งใหม่ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ โครงการนี้จึงถูกพับเก็บไปหลายปี

ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ต้นศตวรรษที่ 20 สถานอัครราชทูตประเทศอื่นๆ เริ่มย้ายออกจากพื้นที่ริมน้ำ ไปตั้งที่ทำการใหม่ติดถนนหน้ากว้างอย่างถนนสาทรและถนนวิทยุ เช่น สถานอัครราชทูตเบลเยียม สถานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ สถานอัครราชทูตบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง สถานอัครราชทูตอังกฤษ และ สถานอัครราชทูตอเมริกา ก็ทยอยย้ายออกไป ตัวสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสก็ได้เล็งพื้นที่ย่านเพลินจิตตัดถนนสุขุมวิทไว้ เนื่องจากทนปัญหาความแออัดของย่านเจริญกรุง อากาศร้อน มลพิษทางเสียงจากเรือที่ดังตลอดเวลา และกลิ่นจากโรงสีข้าวและเมรุวัดที่อยู่ติดกันไม่ไหว

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

มีเพียงอัครราชทูตปอล มอรองต์ (Paul Morand) ซึ่งได้เป็นอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามเพียง 2 เดือนก่อนถูกเรียกตัวกลับ ได้บันทึกความชื่นชมต่อตัวทำเนียบไว้ และเศร้าเสียดายที่ดินริมน้ำที่เริ่มถูกขายทิ้งไปทีละส่วน

“ต่อไปข้างหน้า สถานอัครราชทูตหลายแห่งจะต้องลาจากริมฝั่งแม่น้ำนี้ ฝั่งที่จะร้างลาจากเสียงอึกทึก เสียงคลื่นกระทบฝั่ง และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ที่ดินมีราคาแพงอักโขและจะต้องอพยพไปยังย่านเกิดใหม่แต่แออัดน้อยกว่า ช่างน่าเศร้าเมื่อต้องอำลาสถานอัครราชทูตของเราไป…”

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ตอนนั้นมีผู้เสนอซื้อที่ดิน 3 ราย ได้แก่ เจ้ากรมโรงภาษี นายเลิศ และนายนานา ทั้งสามให้ราคาสูสีกัน โดยเฉพาะนายนานา นายหน้าที่ดินเชื้อสายอินเดีย เสนอให้แลกเปลี่ยนโฉนดที่ดินถนนสุขุมวิทขนาด 84,964 ตารางเมตร กับที่ดินแปลงน้อยขนาด 7,544 ตารางเมตรของสถานอัครราชทูตฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี โครงการย้ายที่นี้ก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐบาลประจำอินโดจีน ปัญหางบการเงิน และการเปลี่ยนตัวอัครราชทูตอยู่บ่อยๆ อัครราชทูตบางคนอยากย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่เงียบสงบ แต่บางคนเห็นว่าสถานที่ใหม่ห่างไกลเกินไป ชอบที่ดินในตรอกโรงภาษีที่รายล้อมด้วยโบสถ์ ธนาคาร โรงแรม ไปรษณีย์ และความเจริญสารพัดมากกว่า อัครรราชทูตชาร์ลส-อาร์แซน อ็องรี (Charles Arsène-Henry) ถึงขั้นลงความเห็นว่า

“เป็นความสุขอย่างยิ่งที่ได้เห็นภาพชีวิตผู้คนมากมายคอยสร้างสีสันบนแม่น้ำสายนี้ ได้หลงใหลทัศนียภาพที่ปรับเปลี่ยนทุกเช้าค่ำไม่หยุดหย่อน…ส่วนตัวข้าพเจ้าเห็นว่าการย้ายทำเนียบทูตไปจากริมน้ำ เพื่อไปซ่อนตัวอยู่กับความเบื่อหน่ายน่าอึดอัดกลางสวนกล้วย นับเป็นหายนะอย่างหนึ่ง”

สงครามโลกครั้งที่ 2 สวนทำเนียบต้องปลูกผัก

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น มิชชันนารีฝรั่งเศสจำต้องออกจากประเทศไทย สถานอัครราชทูตฝรั่งเศสปฏิบัติงานอย่างไม่สะดวกนัก และต้องย้ายไปทำการที่คลองเตย ตัวทำเนียบถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดเพื่อปลูกผักสวนครัวในสวน

ใน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสทั้งหมดถูกเรียกตัวกลับประเทศ สถานอัครราชทูตถูกทิ้งร้างไป 2 – 3 ปี เมื่อกลับมาเปิดประจำการก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ผนังทำเนียบผุพัง หลังคาเฉลียงรั่ว โต๊ะ เก้าอี้ และของประดับตกแต่งทั้งหมดผุพังสูญหาย อาคารบริวารทั้งหมดกลายเป็นซากปรักหักพัง สถานอัครราชทูตต้องดูแลซ่อมแซมอาคารทั้งหมดใหม่ เพื่อให้กลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง

สถานเอกอัครราชทูตในวันนี้

ใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) สถานอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ประกาศยกระดับขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต ประเด็นการประมูลที่ดินย่านเพลินจิตถูกยกขึ้นมาอีกครั้ง และได้ล้มเลิกไปในที่สุด

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีการบูรณะสถานเอกอัครราชทูตใหม่ทั้งหมด ทำเนียบประสบปัญหาเรื่องความชื้นและการระบายอากาศ เนื่องจากการบูรณะในยุคก่อนหน้าได้ดัดแปลงสถาปัตยกรรมเมืองร้อนให้ผิดเพี้ยนไป เช่น ปิดพื้นที่ด้านล่าง อุดช่องลม และต่อเติมอาคารให้สูงขึ้น ทำให้ภายในอาคารร้อนและอับชื้น จึงต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้ใกล้เคียงกับลักษณะเดิม

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ก่อนการบูรณะ ปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504)

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

หลังการบูรณะ ปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)

ใน ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) สมาคมสถาปนิกสยามได้มอบรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นให้ทำเนียบเอกอักครราชทูตฝรั่งเศส และปัจจุบัน ที่นี่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

หากเดินเข้ามาในเขตทำเนียบเอกอัครราชทูตตอนนี้ เราจะพบอาคารที่หันหน้าไปแม่น้ำเจ้าพระยา เบื้องหน้ามีสวนต้นไม้เขตร้อนที่ตัดแต่งตามสไตล์สวนฝรั่งเศส ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกคือชั้นใต้ถุนเดิม ปัจจุบันล้อมด้วยกระจก จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ‘ประมุขเยือนมิตร เชื่อมไมตรีจิตการทูต’ ซึ่งรวบรวมภาพประวัติศาสตร์ที่หาชมได้ยากของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ชั้นบนเมื่อขึ้นบันไดไปสู่เฉลียงที่ถูกต่อเติมตั้งแต่การบูรณะยุคแรก จะพบตั่งสีแดงน่านั่งบนพื้นกระเบื้องหินอ่อนลายหมากฮอสสีแดง ในอดีตเฉลียงนี้เคยเป็นห้องรับรองแขกและห้องรับประทานอาหาร ปัจจุบันกลายเป็นมุมพักผ่อนของแขกทำเนียบเอกอัครราชทูต

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

เข้าไปด้านในจะพบห้องรับแขกใหญ่ ห้องที่เก่าแก่ที่สุดในบ้านปูพื้นด้วยไม้สักหน้ากว้าง เพดานสูงเป็น 2 เท่าของห้องอื่นๆ ห้องนี้ประดับด้วยเครื่องเรือนเก่าแก่จำนวนมาก เช่น เปียโนสำหรับเมืองร้อนที่อัครรราชทูตชาร์ล-อาร์แซน อองรี สั่งจากบริษัทวิอาร์ (Wiart) ในกรุงปารีส แจกันกระเบื้องเคลือบจากเมืองแซฟวร์ (Sèvres) ในฝรั่งเศส

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ด้านหลังห้องรับแขกคือห้องรับประทานอาหารใหญ่ซึ่งสร้างจากไม้สักทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ 5 ผนังด้านบนมีช่องลมฉลุลายละเอียดยิบสำหรับระบายอากาศ ห้องนี้จะใช้เมื่อมีงานเลี้ยงรับรองแขกในทำเนียบ

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

หากไม่มีแขก เอกอัครราชทูตและครอบครัวจะใช้ห้องรับแขกเล็กและห้องรับประทานอาหารเล็กที่อยู่ด้านข้าง สองห้องนี้ตกแต่งแบบสมัยใหม่ แต่ประดับด้วยข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่จากทั่วเอเชีย เช่น ตุ๊กตาไม้จากพม่า และกระจกคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากเมืองจีน

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ส่วนชั้นสามของบ้านเป็นโซนพักผ่อนส่วนตัวของเอกอัครราชทูตและครอบครัว ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม

ชมบ้านอย่างละเอียดไปแล้ว ก็ได้เวลาคุยกับเจ้าของบ้านในห้องรับแขก ก่อนท่านทูตจิลส์ การาชง (Gilles Garachon) จะพ้นจากหน้าที่เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับทูตฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านทูตเรียนจบปริญญาเอกด้านโบราณคดีอินเดียและพุทธศาสนา ก่อนจะผันตัวมาทำงานด้านการทูต เคยปฏิบัติหน้าที่ที่อินเดีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ในช่วงปี 1999 – 2003 ลูกชายทั้งสองคนของเขาก็เกิดที่เมืองไทยในตอนนั้น ท่านทูตจึงผูกพันกับประเทศไทยมากทีเดียว

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

บัณฑิตที่เรียนจบด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์อย่างคุณรู้สึกอย่างไรที่ได้อยู่ในทำเนียบเอกอัครราชทูตอายุ 100 กว่าปี และทำงานที่ Rue de Brest

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เมื่อได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส เห็นความสวยงามของประเทศและสถานที่ต่างๆ ผมก็ฝันว่าจะได้กลับมาทำงานที่นี่อีกครั้งในฐานะเอกอัครราชทูต และได้อยู่ในบ้านหลังนี้ ผมโชคดีมากที่ความปรารถนาของผมเป็นจริง

ในฐานะเอกอัครราชทูตและตัวแทนของที่นี่ พวกเรารู้สึกยินดีกับของขวัญนี้มาก ที่นี่เป็นอาคารมรดกและพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ผมรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของราชวงศ์ไทยและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่พระราชทานพื้นที่และบ้านนี้ให้เราใน ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) เพราะ 1 ปีก่อนหน้าเราได้ลงนามทำสนธิสัญญาการค้ากับราชอาณาจักรสยาม

ผมทราบว่ารัชกาลที่ 4 เคยผนวชเป็นระยะเวลานาน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระทัยกว้างมาก พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาบ้านเมืองและทำการค้ากับต่างประเทศ จึงทรงติดต่อกับต่างชาติและทำให้เกิดสถานกงสุลขึ้นมาหลายแห่งในย่านเจริญกรุง รวมถึงที่นี่ พระองค์พระราชทานบ้านหลังนี้ให้แล้วภายหลังเราก็ต่อเติมส่วนอื่นๆ เช่น ห้องรับประทานอาหาร เฉลียงที่คุณเดินเข้ามา และชั้นบนที่เป็นไม้ เราไม่แน่ใจว่าถูกต่อเติมในปีไหน แต่น่าจะอยู่ในช่วงปี 1880

พวกเราโชคดีที่ได้เก็บบ้านหลังเดิม อยู่อาศัย และใช้บ้านหลังนี้จนถึงปัจจุบัน มันเป็นหลักฐานการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ดีมาก

ทุกวันนี้เวลาผมรับประทานอาหารเช้ากับครอบครัว ปกติเราจะไม่รับประทานอาหารด้านในบ้าน เราชอบรับประทานอาหารที่เฉลียงและมองแม่น้ำที่สวยมาก เรามองเห็นชีวิตของกรุงเทพฯ และเมืองไทยผ่านแม่น้ำ ผมได้ดูวิวนี้ทุกมื้อเช้า บางทีก็มื้อกลางวันและมื้อเย็น ภาพที่เห็นแตกต่างกันเสมอ ไม่ว่าจะสี แสง หรือดวงอาทิตย์ที่ต่างออกไปในทุกชั่วโมง ผมรู้สึกโชคดีทุกครั้งที่เห็นวิวนี้

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

คุณเคยเป็นทูตในหลายประเทศ ปกติแล้วทำเนียบเอกอัครราชทูตจะเป็นบ้านเก่าแบบนี้รึเปล่า

แล้วแต่ประเทศครับ บางประเทศก็เก่าแก่ อย่างลิสบอนและโรม สถานเอกอัครราชทูตที่โรมเป็นวังเก่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มีภาพปูนเปียกเฟรสโก้เต็มผนังฝีมือไมเคิลแองเจโล สวยมาก (ถอนหายใจ) เหมือนอยู่ในวิหารซิสตินที่วาติกันเลย เราเลยเปิดอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูตให้คนทั่วไปได้เข้าชม น่าจะประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์

ทำเนียบเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ ก็เป็นบ้านเก่าที่สวยงาม แต่บางประเทศก็เป็นอาคารใหม่ เช่น นิวเดลี ปักกิ่ง เป็นอาคารโมเดิร์นที่ออกแบบโดยสถาปนิกฝรั่งเศส ทั้งหมดเป็นสมบัติของกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลฝรั่งเศส เนื่องจากอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูตแสดงภาพลักษณ์ของประเทศ เราจึงใส่ใจดูแลคุณภาพอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูตมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบเก่าหรือใหม่ก็ต้องเป็นการออกแบบที่ดีและสวยงามเสมอ

เรามีวัฒนธรรมการสร้างวังและปราสาทมาเนิ่นนาน คนฝรั่งเศสชอบความงาม ผมว่าคนไทยก็มีสุนทรียะความงามคล้ายๆ กัน ที่นี่ถึงมีวังสวยๆ มากมาย

ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสแบบใหม่ๆ ออกแบบโดยชาวฝรั่งเศสเสมอใช่รึเปล่า

ใช่ครับ อย่างที่นิวเดลี อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูตออกแบบโดยคุณลูแวล (Louvel) เขาเป็นสถาปนิกที่ออกแบบอาคารทั่วโลก เขาใช้หินจากอินเดียมาสร้างอาคารโมเดิร์นที่ผสมสไตล์ท้องถิ่น ส่วนที่ปักกิ่งเป็นอาคารใหม่มาก เพิ่งสร้างเมื่อราวๆ 10 ปีก่อนนี้เอง

ส่วนที่กรุงเทพฯ อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตเพิ่งสร้างใหม่เสร็จในปี 2015 เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2012 ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกฝรั่งเศสที่ออกแบบสนามบินที่ปารีส (บริษัทสถาปนิกและวิศวกรรม ADPI) ตัวอาคารลักษณะเหมือนเรือ

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตใหม่มาก ส่วนทำเนียบเอกอัครราชทูตก็เก่ามาก ทำไมสถานเอกอัครราชทูตทำให้ 2 อาคารที่ตั้งใกล้กันนี้ดูแตกต่างกันมาก

เราชอบความแตกต่างแบบนี้ครับ เราคิดว่านี่คือชีวิต อาคารเก่าๆ ควรจะมีชีวิตชีวา มันไม่ควรเป็นแค่พิพิธภัณฑ์หรืออนุสรณ์สถานที่ขาดสีสันปัจจุบัน เราชอบผสานอาคารเก่ากับอาคารใหม่

อย่างพีระมิดฝีมือสถาปนิกจีน I. M. Pei ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ตั้งอยู่กลางจัตุรัสพระราชวังเก่าของพระมหากษัตริย์เลย สิ่งนี้ดูเป็นฝรั่งเศสมากๆ และเป็นเรื่องสำคัญครับ ศิลปะไม่ควรมาจากอดีต แต่ควรมาจากปัจจุบัน และมีเพื่ออนาคต

ที่นี่เราโชคดีที่มีทั้งอาคารเก่าและอาคารใหม่ มีทั้งตัวตนของไทยและฝรั่งเศส เราชอบการผสมผสานเพราะชีวิตคือการผสมผสาน

ส่วนไหนในทำเนียบเอกอัครราชทูตที่เป็นมุมโปรดของคุณ

ผมชอบที่ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ ห้องรับแขกนี้คือหัวใจของบ้านที่สร้างตั้งแต่แรก เห็นช่องลมฉลุรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Claustra) รอบๆ ห้องมั้ยครับ ผมชอบช่องลมฉลุเหล่านี้มาก ปัจจุบันมันมีเพื่อการตกแต่ง ไม่ได้เปิดอีกต่อไปแล้ว สมัยก่อนจะเปิดเพื่อรับลมจากภายนอกให้เข้ามาลดความร้อน และบนเพดานก็เคยมีพัดชัก (Punkah) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เพราะในช่วงปี 1850 พัดลมยังไม่ถูกประดิษฐ์ขึ้น เราเลยใช้ผ้าหนักๆ ห้อยลงมาจากเพดาน แล้วผูกเชือกดึงไปหลังช่องลม ให้คนด้านหลังดึงเชือกให้พัดแกว่งไปมา

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ที่สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรยังมีพัดชักแบบนี้อยู่

ใช่ครับ เราใช้พัดแบบนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ภายหลังเราถอดพัดออกเพราะมีเครื่องปรับอากาศใช้แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าพัดชักมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่ก็คงดีกว่าไม่มีอะไรเลย

ของตกแต่งบ้านชิ้นไหนในทำเนียบที่คุณชอบมากที่สุด

ขอบอก 3 ชิ้นได้มั้ย ผมชอบของเก่าแก่ในบ้านนี้ บอกชิ้นเดียวไม่ได้จริงๆ

อย่างแรก เก้าอี้ไม้ 3 ตัวนั้นเป็นเฟอร์นิเจอร์ Art Deco สไตล์เซี่ยงไฮ้จากช่วงปี 1920 ทำจากไม้เนื้อแข็งที่หนักมากจนยกคนเดียวไม่ขึ้น แล้วผมก็ชอบช่องลมไม้ฉลุรอบห้องนี้ สุดท้ายคือโถยักษ์จากเมืองจีนที่ทำในศตวรรษที่ 19 มันเคยเป็นโถใส่ขิงดองจากเมืองจีน แต่ไม่มีฝาปิดแล้ว อาจจะหายไปตอนเปลี่ยนเป็นโคมไฟ เป็นโถที่สวยมากๆ และผมชอบมองมาก

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ใครเป็นคนนำของตกแต่งเหล่านี้มา

ผมไม่แน่ใจเพราะข้อมูลเก่าๆ หายไป แต่คิดว่าโถเหล่านี้น่าจะได้มาราว 35 ปีที่แล้วจากเอกอัครราชทูตอาชิลล์ คลารัก (Achille Clarac) ในตอนนั้น ส่วนเก้าอี้ไม่มีข้อมูลเลย และช่องลมอาจจะอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรกเริ่ม

ในฐานะเอกอัครราชทูต คุณมีส่วนในการตกแต่งทำเนียบอย่างไร แล้วเมื่อพ้นจากหน้าที่ ของที่คุณใช้ตกแต่งทำเนียบจะไปอยู่ที่ไหน

แต่ละประเทศมีระบบที่ต่างกัน สำหรับประเทศฝรั่งเศส ทำเนียบเอกอัครราชทูตได้รับการออกแบบมาดีอยู่แล้ว เอกอัครราชทูตสามารถตกแต่งเพิ่มเติมได้บางส่วนด้วยของที่เคลื่อนย้ายได้ ของอื่นๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ เป็นของสถานเอกอัครราชทูต อย่างตัวผมชอบเซรามิกเอเชียมาก โดยเฉพาะเซรามิกไทย เซรามิกบนตู้นั้นก็มาจากผม และผมก็ซื้อหัวโขนพญาครุฑ 2 หัว หัวยักษ์ และชฎานางสีดามาประดับที่นี่ เราคิดว่าการจัดแสดงของไทยๆ ที่นี่เป็นเรื่องที่ดี และจะเก็บไว้ที่นี่สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป  

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสมีหน่วยเก็บข้อมูลของทุกชิ้นที่อยู่ในสถานเอกอัครราชทูตทุกแห่งทั่วโลก เราต้องส่งข้อมูลไปให้ว่าซื้อของอะไร และรายละเอียดของสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไร พอผมบอกว่าซื้อชฎามาให้ทำเนียบ ทางนั้นรีบถามมาเลยว่าลักษณะของมงกุฎเป็นอย่างไร และมีมูลค่าสูงขนาดไหน ผมต้องอธิบายกลับไปว่าชฎาเป็นของนางรำ ไม่ใช่ของชนชั้นสูงอย่างที่เข้าใจ

โดยปกติเมื่อเอกอัครราชทูตจะพ้นจากหน้าที่ เราต้องลงนามในเอกสารเรื่องสิ่งของตกแต่งสถานเอกอัครราชทูตว่าของทั้งหมดมีครบถ้วน แล้วส่งมอบให้เอกอัครราชทูตคนถัดไป นี่เป็นหนึ่งในวิธีการดูแลมรดกสิ่งของของทำเนียบ เราใส่ใจเรื่องนี้มาก

ทำไมประเทศฝรั่งเศสใส่ใจภารกิจด้านศิลปะวัฒนธรรมมาก จนมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ให้ศิลปินไทยมากมาย

ทุกประเทศมีธรรมเนียมต่างกันไป ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับศิลปะมาก ทั้งศิลปะในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราใส่ใจการสร้างสรรค์และเคารพศิลปิน แน่ล่ะว่าเราควรเคารพนักวิทยศาสตร์ นักวิชาการ นักการเมือง นักข่าว และอาชีพอื่นๆ ที่สร้างประโยชน์ให้สังคม เรามอบเครื่องอิสริยาภรณ์หลายตระกูลแก่ผู้ที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย หรือผู้ที่ส่งเสริมแวดวงการศึกษา

แต่เราก็ต้องดูแลศิลปินด้วยนะครับ บางครั้งพวกเขาต้องเจ็บปวดจากการสร้างงานเพื่อสังคมในสภาวะที่ยากลำบาก เราต้องการการสร้างสรรค์ของพวกเขา เราจึงต้องเคารพพวกเขา เราเลยมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ตระกูล l’Ordre des Arts et des Lettres (Arts and Letters) ให้ศิลปิน เช่น นักเขียน นักเต้น จิตรกร หรือตอนนี้ก็มีนักสร้างวิดีโอด้วย

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

เรารักผลงานศิลปะ เรารักศิลปิน และเราก็ชอบแสดงความขอบคุณต่อพวกเขา ผมคิดว่ามันอยู่ใน DNA ของคนฝรั่งเศสครับ ยกตัวอย่างในยุคเรอแนซ็องส์ ประมาณศตวรรษที่ 15 – 16 กษัตริย์ฝรั่งเศสชื่อพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 (François I) เชิญเลโอนาร์โด ดา วินชี มาสร้างผลงานศิลปะที่ฝรั่งเศส มันเป็นวัฒนธรรมของเราที่มีมานาน

ศิลปินเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากในสังคม บางครั้งพวกเขาไม่ได้รับการจดจำอย่างที่สมควรได้รับ เราเลยมอบรางวัลให้พวกเขาอย่างเป็นทางการโดยไม่จำกัดหมวดหมู่ อย่างสวนของสถานเอกอัครราชทูตนี้เป็นของขวัญจากสวนนงนุช คุณกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุชพัทยาตกหลุมรักสวนแบบฝรั่งเศส ซึ่งตัดแต่งต้นไม้แบบเรขาคณิต เขาส่งคนมาช่วยดูแลและตัดแต่งต้นไม้ในสวนของเราทุกๆ เดือน เราจึงมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ให้เขา เพราะการตัดแต่งสวนระดับนี้เป็นศิลปะ และเรารู้สึกขอบคุณเขาจริงๆ

คุณมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ให้คนไทยกี่คนแล้ว

ผมจำตัวเลขไม่ได้ 3 ปีที่ผ่านมา ผมมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ไปเยอะมากให้ผู้คนหลากหลายสาขา นักเขียน นักออกแบบท่าเต้น จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ นักจัดสวน พวกเขาล้วนเป็นนักสร้างสรรค์ ผมดีใจที่ได้เจอคนที่เก่งมากๆ เหล่านี้

ศิลปินที่คุณมอบรางวัลให้ ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศสเสมอเลยรึเปล่า

ไม่ครับ จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับฝรั่งเศสก็ได้ เพราะความรักศิลปะไม่มีพรมแดน ในฐานะสถานเอกอัครราชทูตที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากราชอาณาจักรไทย เราเลยใส่ใจทั้งศิลปะไทยและศิลปะฝรั่งเศส

ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมด้วย มันเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เราดำเนินนโยบายนี้ทั่วโลก ดังนั้นจึงมีการมอบรางวัลให้ศิลปินทุกประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เป็นการทูตด้านศิลปะ และก็ต้องมีการทูตด้านกีฬา การทูตด้านอาหารด้วย

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ

ผมคิดว่าการทูตไม่ควรเน้นแค่ความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น มันควรจะกว้างกว่านั้น เพราะชีวิตยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก เราเคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในศตวรรษที่ 19 ชื่อ ตาแลร็อง (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord) เขาเป็นนักการทูตที่ไม่ธรรมดา เขาเอาตัวรอดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ผ่านยุคสมัยของนโปเลียน จนถึงช่วงที่ฝรั่งเศสกลับมามีราชวงศ์อีกครั้ง โดยอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศตลอดมา

เขาเคยกล่าวว่าผู้ช่วยคนสำคัญของเขาคือพ่อครัว เพราะการเจรจาจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่เสิร์ฟอาหารในบ้าน ยิ่งถ้าอาหารอร่อย ตอนจบก็จะเจรจาสำเร็จ

ผมคิดว่าศิลปินเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของการทูตด้านวัฒนธรรม หน่วยงานที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสคือหน่วยงานที่ดูแลด้านวัฒนธรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกประเทศที่เราไปต้องมีที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม มีหน่วยงานด้านภาษาและวัฒนธรรมอย่างสมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française) มันทำให้การทูตของเรามีชีวิตและมีความสร้างสรรค์

ความทรงจำที่มีค่าที่สุดของคุณในฐานะเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่คนจะคิดถึงที่สุดเมื่อพ้นจากหน้าที่ในประเทศนี้

มีความทรงจำมากมายเกิดขึ้นที่นี่ แต่ความทรงจำที่มีค่าที่สุดของผมเกิดขึ้นหลังจากเหตุโจมตีในปารีส มีคนเสียชีวิตมากมายในวันที่ 13 พฤศจิกายน ปี 2015 ผมเพิ่งมาถึงประเทศไทยในเดือนตุลาคม คือมาอยู่เพียงเดือนเดียวเท่านั้น เราได้รับข่าวร้ายในเช้าวันเสาร์ และผมก็ได้เห็นน้ำใจของคนไทยทันที

พวกเขามาที่หน้าประตูสถานเอกอัครราชทูตพร้อมดอกไม้และเทียน ไม่ได้จัดการอย่างยิ่งใหญ่หรือมีการจัดเตรียมล่วงหน้า พวกเขามาทันทีที่รู้เรื่อง และมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาด้วย ผมไม่ทราบยศของเขา เขามาพร้อมกับตำรวจที่หน้าประตู เพื่อแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปารีส และสัญญาว่าจะดูแลสถานเอกอัครราชทูตอย่างดี

ผมออกไปที่หน้าประตู และจะไม่มีวันลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเลย นายตำรวจท่านนั้นพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ และผมก็พูดไทยไม่เก่งพอ แต่เมื่อเขาเห็นผมก็เข้ามากอด แล้วผมก็กอดกลับ เป็นการกอดที่มีความหมายมาก นี่เป็นเหตุการณ์ที่ผมซาบซึ้งใจที่สุด

ถ้ากลับไปแล้ว ผมคงไม่คิดถึงอาหารไทยมากนัก เพราะที่ปารีสมีร้านอาหารไทยมากมายครับ และบางร้านก็อร่อยใช้ได้เลย สิ่งเดียวที่ผมจะคิดถึงอาหารไทยที่นี่คือราคาอาหารไทยในกรุงเทพฯ เพราะราคาที่ปารีสแพงกว่า 3 เท่า 5 เท่า บางทีก็ 10 เท่า

สิ่งที่ผมจะคิดถึงจริงๆ คือความใจดีของคนไทย ความสุภาพของคนไทยเป็นเอกลักษณ์ การพูดคุยแสดงออกของคนไทยนุ่มนวลเสมอ ดังนั้นคำตอบของคำถามนี้คือคนไทยครับ

สถานทูต, สถานทูตฝรั่งเศส,ทำเนียบทูตฝรั่งเศส,บ้านริมน้ำ
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ La Résidence de France à Bangkok ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพมหานคร

หากสนใจเข้าชมทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสด้วยตัวเอง วันมรดกวัฒนธรรมยุโรป คือวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2018 นี้ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมฟรีเพียงวันเดียวเท่านั้น ติดตามรายละเอียดได้ที่นี่

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล