“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง”

พอเข้าเดือนพฤศจิกายน เราก็เตรียมเข้าสู่เทศกาลลอยกระทง เทศกาลที่เราจะนำดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของ ใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ ดอกบัว แล้วลอยไปในน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์และความเชื่อ 

วันนี้จึงจะพาไปชมวัดที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลลอยกระทงกันสักหน่อย แต่ไม่ใช่วัดที่จัดงานลอยกระทงนะครับ เพราะงานนี้มีเป็นร้อยวัดแน่นอน แต่เพราะเทศกาลนี้เกี่ยวข้องกับน้ำ ผมจึงจะขอพาไปชมวัดที่นำยานพาหนะที่ลอยน้ำได้อย่างเรือมาทำเป็นเจดีย์ แถมวัดแห่งนี้ยังมีการวาดกระทงเอาไว้ในวัดอีกด้วย 

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาไปมากกว่านี้ เราไปชมวัดยานนาวากันดีกว่าครับ

วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา

วัดยานนาวาเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดคอกควาย เพราะชุมชนรอบวัดเป็นที่ที่ชาวทวายอาศัยอยู่และน่าจะมีการซื้อ-ขายควายกันในบริเวณนี้ (ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา) ต่อมาวัดแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น วัดคอกกระบือ และเมื่อถูกยกสถานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็สร้างพระอุโบสถขึ้น ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นวัดญาณนาวาราม ซึ่งมีความหมายว่า ญาณอันเป็นพาหนะดังสำเภาข้ามโอฆสงสาร เมื่อมีการสร้างพระสำเภาเจดีย์ หรือเจดีย์ทรงเรือสำเภา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นวัดยานนาวาในเวลาต่อมา จนถึงปัจจุบัน

ส่วนเหตุผลที่ต้องทำเจดีย์แบบเรือสำเภานั้นมีคำอธิบายอยู่ครับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงให้เหตุผลว่า แต่ก่อนมา เวลาไปค้าขายกับต่างประเทศ เราใช้สำเภาจีนเป็นหลัก แต่เวลานั้นได้เกิดเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งขึ้น ซึ่งดีกว่าสำเภาจีน จนมีการใช้งานกันมากขึ้น 

พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ว่าเรือสำเภาจะสูญไป และทรงระลึกถึงพระเวสสันดร จึงโปรดให้สร้างเจดีย์อุปมาดั่งสำเภายานนาวาในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ขนาดเท่าเรือสำเภาจีน เพื่อให้คนในอนาคตได้เห็นว่าสำเภาจีนหน้าตาเป็นอย่างไร แถมยังทรงเชื่อมโยงกับการบำเพ็ญบารมีของพระเวสสันดรเพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารดุจดังสำเภาที่พาข้ามห้วงแห่งวัฏสงสารอีกด้วย

เรียกได้ว่ารัชกาลที่ 3 ทรงมองการณ์ไกล แล้วก็เป็นจริงตามนั้น เพราะเรือสำเภาไม่ถูกใช้งานจริงแล้ว และกลายเป็นของหาดูยาก (เว้นเสียแต่คุณจะซื้อสำเภาจีนมาเสริมฮวงจุ้ยบ้าน) 

ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าพระสำเภาเจดีย์ของวัดยานนาวาแห่งนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา

พระสำเภาเจดีย์แทบจะเป็นสิ่งแรกที่เราเห็นเมื่อเดินเข้าประตูวัด เป็นเรือสำเภาขนาดเท่าจริง ซึ่งเรือสำเภาจีนจะต้องมีลูกตาอยู่บริเวณหัวเรือ ไม่เชื่อลองดูในจิตรกรรมฝาผนังตามวัดได้เลยครับ สีอาจจะแตกต่าง แต่รับรองว่าหน้าตาไม่แตกต่างแน่นอน เรือลำน้ำใช้เจดีย์ 2 องค์ เป็นเหมือนเสากระโดงเรือ เจดีย์องค์ใหญ่อยู่กลางลำเรือ และองค์เล็กอยู่ที่หัวเรือ โดยทางขึ้นพระสำเภาเจดีย์จะอยู่ที่ท้ายเรือ 

พระสำเภาเจดีย์ ลอยกระทง

พอเข้าไปจะเจอบันไดสำหรับขึ้นไปยังเจดีย์ตรงกลาง เชื่อมต่อไปยังส่วนท้ายเรือ หรือห้องท้ายบาลี ภายในห้องนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทจำลอง 4 รอย รวมถึงมีจารึกภาษาไทยและภาษาจีน อย่างไรก็ดี มีการกล่าวถึงการประดิษฐานรูปพระเวสสันดรกับรูปของกัณหาและชาลีในห้องนี้ด้วย แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าอยู่ ณ ที่ใด คงเหลือเพียงข้อความในจารึกภาษาไทยที่กล่าวถึงพระเวสสันดรเท่านั้น ผมจึงขอนำภาพจากหนังสือที่อธิบายเรื่องวัดยานนาวามาให้ชมแทนครับ

วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา
วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา
พระสำเภาเจดีย์ ลอยกระทง

อย่างไรก็ตาม แม้พระสำเภาเจดีย์จะถือเป็นจุดเด่นที่สุดของวัดนี้และมีการกล่าวว่าเป็นสำเภาเจดีย์แห่งเดียวในประเทศไทย แต่จริงๆ แล้วในวัดอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดมอญ (วัดประดิษฐาราม) ที่ปรากฏการสร้างเจดีย์ทรงเรือสำเภาเช่นกัน เนื่องจากเรือสำเภาเป็นสัญลักษณ์ของการมาถึงของพุทธศาสนาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ เพราะมีคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรือสำเภาในฐานะของพาหนะที่อัญเชิญพระไตรปิฎกจากดินแดนพุทธภูมิ (อินเดีย) สู่รามัญประเทศพร้อมกับพระโสณะและพระอุตตระ 

ดังนั้น ในการสร้างเรือสำเภาจึงมักจะมีพระเจดีย์ 3 องค์ แทนพระไตรปิฎกอยู่บนเรือ ต่างจากพระสำเภาเจดีย์ของวัดยานนาวาที่มี 2 องค์ แต่เดี๋ยวจะหาว่าผมพูดขึ้นมาลอยๆ ผมมีตัวอย่างจากวัดบางพระ จังหวัดนครปฐม มาให้ชมว่าเจดีย์บนเรือสำเภานอกเหนือจากที่วัดยานนาวานั้นมีอยู่จริงๆ นะครับ 

อย่างไรก็ตาม ขนาดของเจดีย์ทรงเรือสำเภาอื่นๆ มักจะมีขนาดเล็ก เทียบกับของวัดยานนาวาที่มีขนาดเท่าจริงไม่ได้แม้แต่น้อยครับ ดังนั้น ถ้าพูดถึงความโดดเด่น เรื่องนี้วัดยานนาวายังกินขาดครับ

นอกจากพระสำเภาเจดีย์แล้ว ถ้าได้มาวัดแห่งนี้ก็ควรไปชมพระอุโบสถด้านหลังพระเจดีย์ด้วย พระอุโบสถเป็นอาคารแบบไทยประเพณี หน้าบันเป็นลายเทพนม แต่ที่น่าสนใจคือพระอุโบสถนี้ทำโครงเหล็กครอบเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งช่วยรักษาพระอุโบสถไว้ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากฝน และช่วยรักษาสภาพเดิมๆ ของอาคาร เราพบวิธีการแบบนี้ที่อื่นเช่นกัน เช่นที่วัดโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ที่คลุมพระพุทธรูปประธานด้านในเอาไว้

วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยร่วมกับพระพุทธรูปอื่นๆ อีกหลายองค์ทั้งเก่าและใหม่ แต่ที่น่าสนใจจนต้องขอพูดถึงก็คือภาพบนประตูและหน้าต่างครับ บนบานหน้าต่างทุกบาน ช่างได้วาดรูปโถยาคู ซึ่งเป็นโถที่ใช้สำหรับเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารท ส่วนบนบานหน้าประตูทั้งหน้าและหลังเขียนภาพกระทงใหญ่ตามแบบที่ใช้ในพระราชพิธีลอยพระประทีป หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน โดยด้านล่างมีการวางภาพกระทงขนาดทั่วไปเอาไว้ ถือเป็นของที่หาชมได้ยาก แทบจะมีวัดนี้แห่งเดียวที่เขียนภาพกระทงใหญ่แบบนี้

วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา
วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา
วัดยานนาวา วัดที่มีกระทงเป็นจิตรกรรมประดับบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถและมีเจดีย์เป็นเรือสำเภา

ดังนั้น หากใครอยากรู้ว่าเรือสำเภาจีนหน้าตาเป็นอย่างไร เหมือนเรือสำเภาจีนจำลองที่บ้านเราหรือเปล่า ลองมาชมที่วัดนี้ดูได้ครับ หรือถ้าใครมีกระทงแล้วอยากรู้ว่ากระทงของเรากับกระทงบนประตูพระอุโบสถเหมือนกันไหม ก็ลองมาเทียบดูที่วัดนี้ได้เช่นกัน 

แต่วัดยานนาวาแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงแต่พระอุโบสถและพระสำเภาเจดีย์ ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่บริเวณหน้าพระสำเภาเจดีย์ และอาคารมหาเจษฎาบดินทร์ที่น่าไปชมด้วยนะครับ ฉะนั้น ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะไปลอยกระทงที่ไหนก็ขอเชิญที่วัดยานนาวาครับ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน


เกร็ดแถมท้าย

1. วัดยานนาวาเปิดทุกวัน ทั้งพระอุโบสถและพระสำเภาเจดีย์ มาได้ทั้งรถส่วนตัวและขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หลายสาย เช่น 1 15 75 หรือเรือ โดยนั่งมาลงที่ท่าเรือสาทร หรือแม้แต่รถไฟฟ้า BTS นั่งมาลงสถานีสะพานตากสินได้เลยครับผม เรียกได้ว่าสะดวกสบายมากๆ

2. หากใครมาแถววัดยานนาวาแล้วอยากเที่ยววัดต่อ ใกล้ๆ มีวัดอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดสุทธิวราราม วัดสวนพลู หรือวัดบรมสถล (วัดดอน) ถ้าใครอยากเดินซื้อของก็มีห้างโรบินสันบางรักอยู่ไม่ไกล หรือถ้าหิวก็มีร้านอาหารมากมายให้เลือกชิมกันได้ตามอัธยาศัยครับ

3. สำหรับใครที่สนใจอยากเห็นภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน ช่างโบราณได้บันทึกเอาไว้บนฝาผนังวัด 2 แห่ง คือวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

4. ส่วนถ้าใครสนใจเจดีย์ทรงสำเภาเรือในวัดมอญ ก็มีอยู่หลายวัดครับ เช่นที่วัดลาดกระบัง กรุงเทพฯ วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ วัดฉิมพลี จังหวัดนนทบุรี หรือวัดตาลปากลัด จังหวัดราชบุรี ครับ 

สำหรับคนที่สงสัยว่าข้อความในจารึกที่ผมบอกว่าเกี่ยวข้องกับพระเวสสันดรเขียนว่าอะไร ผมขอยกข้อความจาก ชุมนุมพระนิพนธ์ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มานะครับ

“รูปขัตติยดาบสพระองค์นี้ ทรงพระนามว่าพระเวสสันดร เป็นพระบรมโพธิสัตว์อันประเสริฐ ยังชาติเดียวจะได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า พระราชบิดาทรงพระนามพระเจ้าสญไชยราชครองกรุงเชตุอุดร พระผุสดีเป็นพระมารดา เมื่อพระมหาสัตว์ประสูติจากครรภ์พระราชมารดานั้น ออกพระวาจาขอทรัพย์พันกหาปนะให้ทานแล้วได้เปลื้องเครื่องประดับพระกายประทานให้พระนมถึง 9 ครั้ง เมื่อทรงคิดจะบำเพ็ญอัชฌัติทางกายใจอันยิ่งภริยา และมังษโสหิตชีวิตร์ของพระองค์เป็นทาน แผ่นดินไหวถึงพรหมโลกย์”

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ