เช้าวันหนึ่งในกรุงเทพฯ ร้อนระอุและเต็มไปด้วยฝุ่นควัน เราต่อสายตรงถึงเจ้าของที่พักในคอลัมน์ Have a Nice Stay คราวนี้ 

มาร์ค-ดิษย์ฐา จิราศิริวรภัทร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แกรนด์ ทรีนีตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รับสายเราในบรรยากาศเย็นฉ่ำใจ 

เบื้องหลังของเขาคือหมู่บ้านสะปัน หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางหุบเขาในอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นที่ตั้งของ ‘อุ่นไอมาง’ อีกหนึ่งที่พักในเครือบริษัทอสังหาริมทรัพย์

แต่ที่นี่ไม่ใช่โรงแรมหรือบ้านเดี่ยวหลังโตอย่างที่มาร์คเคยทำ อุ่นไอมางเป็นที่พักหรูสไตล์โมเดิร์นล้านนาหนึ่งเดียวที่ราคาห้องพักเริ่มต้นที่ 8,500 บาทแต่ลูกค้าแข่งกันจองห้องล่วงหน้ากันข้ามปี 

หลังสนทนากันเราก็รู้เหตุผลว่าทำไม 

เพราะความน่าสนใจของอุ่นไอมางไม่ใช่แค่ดีไซน์สวยเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่คือการสัมผัสวิถีชีวิตชาวน่านในคุณภาพเดียวกันกับโรงแรมประดับดาว

อุ่นไอลำน้ำมาง

บริษัท แกรนด์ ทรีนีตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ฟังแค่ชื่อก็รู้แล้วว่าเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 

มาร์คทำธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายในเชิง Residential แต่เขาก็สนใจโรงแรม เพราะเห็นครอบครัวบริหารงานโรงแรมในเมืองมาก่อน จุดอ่อนที่เด็กหนุ่มรับรู้คือเมื่อบริหารงานอย่างไร้แบรนดิ้งก็จะไร้ทิศทาง เมื่อไร้ทิศทาง คนทำงานก็จะหมดแพสชัน 

หากได้มีโรงแรมเป็นของตัวเองสักที่ มาร์คคิดจะปั้นแบรนด์โรงแรมนั้นให้มีเอกลักษณ์ 

ความฝันน้อย ๆ ของเขาเริ่มต้นในปี 2019 หลังโลกเผชิญกับสถานการณ์โควิด 

อ่านถึงตรงนี้แฟนคลับอุ่นไอมางคงตะหงิดใจ เพราะโฮมสเตย์แห่งนี้ไม่ได้มีอายุเพียง 5 ปีเท่านั้น นั่นเพราะมาร์คไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดอุ่นไอมาง 

เขาเล่าให้เราฟังว่าแบรนด์อุ่นไอมางก่อตั้งมาแล้ว 14 ปี เดิมทีอยู่ในตัวอำเภอบ่อเกลือ ติดกับลำน้ำมาง ต่อมาจึงย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านสะปัน ติดกับลำน้ำว้า นับเป็นโฮมสเตย์แห่งแรกและแห่งเดียว ณ ตอนนั้น

ด้วยพื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร อากาศเย็นทั้งปี หน้าร้อนเดือนเมษายนอาจมีอุณหภูมิต่ำสุดที่ 15 องศาเซลเซียสได้ หน้าหนาวอุณหภูมิก็มีโอกาสลงไปที่เลขตัวเดียว คาแรกเตอร์ของอุ่นไอมางยุคแรกจึงเป็นโฮมสเตย์พื้นถิ่น ราคาต่อคืนเริ่มต้นที่ 3,000 บาท

เขารู้ความจริงเหล่านี้เพราะรู้จักกันกับเจ้าของเดิม เมื่อแวะมาตรวจโครงการอสังหาฯ ที่จังหวัดน่านในช่วงล็อกดาวน์และต้องการที่พักผ่อนหย่อนใจก่อนกลับบ้าน จึงขออนุญาตเข้าพักเป็นการส่วนตัว

“หมู่บ้านสะปันปิดเงียบ ไม่มีแสงไฟ มีแค่อุ่นไอมาง” มาร์คเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาตกหลุมรักที่นี่

พวกเขาแลกเปลี่ยนบทสนทนากันจนรู้ว่ามีความเชื่อและวิสัยทัศน์ธุรกิจคล้ายกัน มาร์คอยากทำโรงแรมเป็นทุนเดิม กอปรกับเจ้าของเดิมก็อยากปลีกตัวไปตามหาความสนใจใหม่ ๆ จึงตัดสินใจส่งไม้ต่อให้มาร์คอย่างไม่ลังเลใจ เพราะคำมั่นสัญญาที่นักธุรกิจรับปากไว้ว่าจะไม่ทำลายอุ่นไอมางและหมู่บ้านสะปัน

“ผมต้องบอกเขาว่าผมจะทำอะไรต่อ เพราะอุ่นไอมางสะสมชื่อเสียงมานาน ถ้าวันนี้ผมทำตึกสูงขึ้นมา คนทั้งหมู่บ้านคงไม่แฮปปี้

“อุ่นไอมางเป็นเพชรน้ำดีอยู่แล้ว แต่เราจะเอามาเจียระไนเพิ่มให้กลายเป็น Localized Luxury Hotel เชื่อไหมว่าผมเห็นภาพนี้ตั้งแต่คืนนั้น”

ไม่ใช่แค่ความสวยงามและบทสนทนาถูกคอเพียงอย่างเดียวที่ต้องใจมาร์ค แต่อุ่นไอมางเป็นโฮมสเตย์ที่มีลูกค้า Royalty สูงมาก 

ตามหลักของ Hotel Chain โรงแรมควรอยู่ห่างจากสนามบินไม่เกิน 1 ชั่วโมงเพื่อความสะดวกสบายและโอกาสในการขายสูงสุด แต่อุ่นไอมางอยู่ห่างออกไป 2 ชั่วโมง เดินทางบนหุบเขาคดเคี้ยว แต่ลูกค้าก็ดั้นด้นมาหา บางคนจองล่วงหน้าถึง 1 ปี

“เพื่อนฝูงที่ทำธุรกิจอสังหาถามผมว่าทำไมถึงลงทุนในจังหวัดน่านที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักด้วยซ้ำ ทำไมผมถึงกล้าขายห้องพัก High-end คืนละ 10,000 บาทในหมู่บ้านสะปัน 

“ถ้าได้ลองมาพักจะเข้าใจว่าทำไมผมถึงหลงรักที่นี่” 

ลำพังแค่ได้ยินเสียงลำน้ำว้าดังลอดในจอก็ชวนให้เราอยากไปได้ยินเองกับหู เพราะคงเทียบไม่ได้กับประสบการณ์เมื่อเท้าเหยียบดิน

โมเดิร์น-ประยุกต์-ล้านนา

มาร์คเปิดบริการอุ่นไอมางในอีก 2 ปีต่อมาหลังมาตรการโควิดเพิ่มผ่อนปรน เขาเห็นภาพโฮมสเตย์ในฝันมากขึ้น รู้จักหน้าตาและความต้องการของลูกค้าที่เดินทางมาถึงอำเภอบ่อเกลือ ทำให้มองออกว่าจะรีโนเวตมันไปในทิศทางไหน

“เราต้องไม่เป็นเอเลียน” นี่คือความตั้งใจแรกของมาร์ค ก่อนก่อร่างนิยามอุ่นไอมางขึ้นมาใหม่

เขาไม่อยากได้บ้านทรงไทยจ๋าหรือโมเดิร์นเกินงาม แต่อยากได้บ้านเหนือกาลเวลาที่ผสมผสานความโมเดิร์นและความพื้นเมืองเข้าด้วยกัน โดยไม่ทำลายวัฒนธรรมพื้นถิ่น ไม่ยิ่งใหญ่เอิกเกริก อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดี และมีการบริการได้มาตรฐานสากล เพราะการปรับราคาสูงขึ้น 2 เท่า ความคาดหวังของลูกค้าย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนได้ออกมาเป็นบ้านสไตล์ล้านนาประยุกต์ที่กลมกลืนกับหมู่บ้าน แต่ก็มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

ที่พักนี้แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ๆ โซนแรกคือ Reception รีโนเวตจากห้องพักยุคแรก มีคาเฟ่ให้บริการลูกค้าภายนอก โซนต่อมาคือลำน้ำ มีสะพานไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นมาชั่วคราว เมื่อเข้าหน้าฝนสะพานนี้จะถูกน้ำซัดไป ในช่วงฤดูน้ำหลากจะข้ามไปฝั่งตรงข้ามไม่ได้ พอเข้าฤดูหนาวก็จะกลับมาสร้างสะพานใหม่ ซึ่งมาร์คตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น เพราะเขาอยากรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของหมู่บ้านเอาไว้ และอีกโซนคือที่พักสำหรับลูกค้า 

การออกแบบของที่นี่ใช้สัจจะวัสดุเป็นหลัก แม้ดีไซเนอร์จะแนะนำให้มาร์คเลือกใช้ไม้ไผ่โรงงานที่ยืดอายุได้นานถึง 5 ปี แต่เขาก็เลือกไม้ไผ่ท้องถิ่นในจังหวัดน่าน ด้วยกรรมวิธีดูแลธรรมดา แลกมากับอายุงานที่สั้นลงเพียง 2 ปีเท่านั้น ไม่ต้องตกใจหากมาพักแล้วจะเห็นมอดหรือความผุพังตามระยะเวลาของไม้ไผ่บ้าง 

ส่วนด้านหลังของอุ่นไอมางเป็นภูเขาสูงใหญ่ มาร์คบอกว่านั่นคือป่าสงวน เป็นวิวที่ไม่มีใครทำลายได้ ที่พักของเขาจึงโอบล้อมด้วยความเขียวขจีของพรรณไม้โดยปราศจากการปรุงแต่ง นอกจากนี้ยังมีแปลงผักสวนครัวออร์แกนิก ที่นี่เสิร์ฟอาหารพื้นถิ่นที่คนเมืองหลวงอาจไม่เคยทาน เช่น ไข่ป่าม ผัดผักแม้ว หรือไก่ทอดมะแขว่น

ไม่เพียงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือวัฒนธรรม อุ่นไอมางยังสร้างให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้าน เพราะพนักงานทุกคนเป็นคนสะปัน คนอำเภอบ่อเกลือทั้งหมดมีรายได้พอจุนเจือครอบครัวจากการทำงานที่พวกเขารัก โดยทุกคนได้รับการฝึกฝนจากพนักงานมืออาชีพจนมีศักยภาพได้มาตรฐาน รับประกันฝีมือ

บ้านไม้ในไออุ่น

บ้านไม้สไตล์ล้านนาประยุกต์ของอุ่นไอมางมีทั้งหมด 4 หลัง ประกอบด้วย บ้านไอดาว บ้านไอดิน บ้านไอว้า บ้านไอหมอก 

บ้านไอดาว เป็นห้องชุด 2 ห้องนอนสำหรับครอบครัวขนาดกลาง เช่น พ่อแม่ 2 คน ลูก 2 คน โดยมีระเบียงส่วนตัวขนาดใหญ่ให้เชื่อมต่อถึงกันได้

บ้านไอดิน เปิดให้พักแบบเหมาหลัง มี 4 ห้องนอน เน้นครอบครัวใหญ่ รับแขกได้ประมาณ 10 คน มีสเปซกลางบ้านไว้ทำกิจกรรมร่วมกัน 

บ้านไอว้า เป็นห้องชุดจำนวน 2 ห้อง ขนาดพอเหมาะสำหรับคู่รักหรือคู่เพื่อนซี้

บ้านไอหมอก ห้องชุดจำนวน 2 ห้องเช่นกัน การตกแต่งคล้ายคลึงกับบ้านไอว้า แต่จะเป็นวิวที่สูงที่สุดของที่นี่

มาร์คคลุกคลีกับการทำโรงแรมในเมือง เขารู้ว่าลูกค้าที่เลือกเข้าพักที่นี่ไม่ได้ต้องการความเย็นเฉียบจากกำแพงปูน 4 ด้านหรือเปิดแอร์นอนสบาย แต่อยากมาสัมผัสบรรยากาศ สัมผัสกลิ่นของดิน กลิ่นของป่า กลิ่นของลำน้ำ ซึมซับวัฒนธรรมชาวบ้าน ห้องพักของอุ่นไอมางจึงไม่มีทีวีและตู้เย็น สอดรับกับกฎระเบียบของหมู่บ้านที่ต้องงดใช้เสียงหลัง 3 ทุ่มเป็นต้นไป

“มันไม่ใช่สิ่งที่ผมตกหล่น แต่คือความตั้งใจ การที่ผมมี Wi-Fi ให้นี่ถือว่าโอเคแล้วนะ” มาร์คเล่าด้วยเสียงหัวเราะ

ความพิเศษของทุกห้องคือมีพื้นที่ให้ดื่มด่ำบรรยากาศธรรมชาติ มีระเบียงไว้นั่งจิบกาแฟ รับลม ดูหมอกยามเช้า และมีอ่างอาบน้ำจากไม้โอ๊กสำหรับแช่เกลือสินเธาว์จากอำเภอบ่อเกลือ ผสมสมุนไพร ใช้บำรุงผิว

ที่สำคัญคือไม่ว่าอยู่มุมไหนของอุ่นไอมางก็จะมองเห็นลำน้ำว้า ภูเขาฝั่งขวาคือเขาสันปันน้ำกั้นระหว่างประเทศไทย-ลาว และได้ยินเสียงลำน้ำจากการกระทบหินก้อนใหญ่-เล็กสลับกัน เกิดเป็นเสียงดนตรีจากธรรมชาติ 

นอกจากนี้ เรื่องกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมก็โดดเด่นไม่แพ้ดีไซน์ ที่นี่มีกิจกรรมหมุนเวียนเป็นประจำทุกเดือนสำหรับลูกค้าหลากหลาย เช่น การสานตาแหลวด้วยไม้ไผ่ หัดเขียนตั๋วเมือง (อักขระล้านนา) เพนต์กระเป๋าผ้า กิจกรรม Chef’s Table ด้วยวัตถุดิบพื้นเมือง ล่องแก่งน้ำว้าแบบแอดเวนเจอร์ มีกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายอย่างการทำสปาด้วยการนวดแผนไทย โยคะ รำไทชิ หรือใช้ศาสตร์การบำบัดเชิงจิตวิญญาณด้วย Crystal Bowl Sound Healing 

หรือถ้าไม่อยากทำกิจกรรมภายในโรงแรมก็สัมผัสวัฒนธรรมใจกลางชุมชนบ้านสะปันได้ ตื่นเช้าใส่บาตรพระ ปั่นจักรยานทักทายผู้คน และเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขา เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้

บ้าน-เกิด-เมือง-นอน

หลังคุยกันมาเนิ่นนาน มาร์คเปิดเผยเอาตอนท้าย ๆ ว่าเขาเป็นคนเมืองน่านโดยกำเนิด ก่อนไปเรียนมัธยมในกรุงเทพฯ และไม่ค่อยมีโอกาสได้กลับบ้านเกิดเท่าไรนัก

เขาเข้ามามีส่วนร่วมกับหมู่บ้านได้ไม่กี่ปีก็จริง ปัจจุบันมาร์คกลายเป็นประธานชมรมท่องเที่ยวหมู่บ้านสะปัน แม้ตำแหน่งหน้าที่ในชีวิตจริงจะทำให้เขาจัดสรรเวลาลำบาก แต่เขาให้ความสำคัญกับการประชุมประชาคมหมู่บ้านเสมอ

“ผมพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดกับชุมชน กับชาวบ้าน ผมอยากให้หมู่บ้านนี้เกิดความยั่งยืน ควบคุมอารยธรรมและสถาปัตยกรรมได้ อยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่บุบสลาย” เขาแสดงวิสัยทัศน์

ในฐานะนักธุรกิจอสังหาฯ ควบประธานชมรม เขามองเห็นว่าจังหวัดน่านแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวได้อย่างไม่อายใคร อาจไม่เผ็ดร้อนเท่าภูเก็ต ไม่มีร้านชิก ๆ ให้ตามรอยเยอะเท่าเชียงใหม่ แต่ความดั้งเดิมที่ยังไม่ถูกกลืนกินไปนี่แหละคือแต้มต่อของจังหวัดเล็ก ๆ ที่เพิ่งแจ้งเกิด 

เริ่มจากการเดินทางขึ้นเขา 2 ชั่วโมงมาอุ่นไอมาง สัมผัสบรรยากาศสองข้างทางเหนือการบรรยาย ดื่มด่ำวิถีชีวิตชาวบ้านกลางหุบเขา นอนฟังเสียงลำน้ำว้า แม้ช่วง Low Season นี้จะไม่หนาวจับใจ แต่ได้ไออุ่นสมชื่ออุ่นไอมางแน่นอน 

3 Things

you should do

at อุ่นไอมาง

01

ลงเครื่องมาเยี่ยมชมโบสถ์และวิหารสไตล์ล้านนาที่วัดภูมินทร์

02

ขับรถปะทะหมอกบนถนนลอยฟ้าที่โค้งพับผ้า ระหว่างทางมาหมู่บ้านสะปัน

สัมผัสวิถีชาวน่านที่ อุ่นไอมาง จากที่พักแห่งแรกในสะปันสู่โฮมสเตย์สไตล์โมเดิร์นล้านนา

03

แวะหย่อนใจและพักกายท่ามกลางธรรมชาติ ที่ น้ำตกสะปัน ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน

อุ่นไอมาง

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

พัชรินทร์ กะรัตน์

พัชรินทร์ กะรัตน์

ออกไปเจอโลกกว้าง บันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย เรียนรู้และเติบโต ออกแบบชีวิตของเราเอง