“Welcome to Wat Phumin of Nan ค่ะ”

ประโยคดังจากโฆษณาผงซักฟอกยี่ห้อโอโม่ ที่ถึงแม้จะยาวเพียงแค่ไม่กี่วินาที แต่กลับติดหูใครหลายคน และเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครหลายคนเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อตามหาวัดในโฆษณาเป็นแน่ แต่เอาจริง ๆ ก่อนหน้าที่โฆษณานี้จะออกมา วัดแห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักมาก่อนจากหนึ่งในภาพจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดทั้งในจังหวัดน่านและอาจจะรวมในระดับประเทศด้วย ผมกำลังพูดถึง ‘วัดภูมินทร์’ จังหวัดน่านครับ

วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก

จากวัดพรหมินทร์ถึงวัดภูมินทร์

เมื่อแรกสร้าง วัดแห่งนี้มีชื่อว่า ‘วัดพรหมินทร์’ ในราชวงษปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านเล่าเอาไว้ว่า เกิดสงครามระหว่างเมืองน่านกับพม่า ซึ่งสุดท้ายน่านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และทำให้ เจ้าบ่อน้ำ พระอนุชาของ เจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ เจ้าผู้ครองนครถูกสังหารและพระศพถูกนำไปทิ้งในบ่อน้ำที่วัดเมื่อ พ.ศ. 2146 แสดงว่าวัดต้องมีอายุเก่ากว่านี้อย่างแน่นอน แต่จะเป็นปีไหนและใครเป็นผู้สร้างยังไม่แน่ชัด

ต่อมา วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยของ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนคร ในครั้งนั้นมีการก่อสร้างวิหารจัตุรมุขหลังปัจจุบันขึ้นใน พ.ศ. 2410 – 2418 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเลื่องชื่อของวัด

วิหารและอุโบสถรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า 4 พระองค์

สิ่งแรกที่เราเห็นเมื่อเดินทางมาถึง คือพระวิหารจัตุรมุขที่มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน แต่อีกจุดเด่นคือนาคขนาดใหญ่ที่พาดไปตามแนวบันไดในแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ คล้ายกับกำลังแบกวิหารหลังนี้เอาไว้บนหลัง โดยส่วนหัวของนาคอยู่ทางทิศเหนือ ส่วนหางอยู่ทางทิศใต้ พิเศษไปมากกว่านั้นคือ วิหารจัตุรมุขหลังนี้มีสถานะเป็นทั้งอุโบสถและวิหารในตัวแบบ 2 In 1 สังเกตได้จากการมีใบเสมาปักอยู่เหนือพื้นดินมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เหตุที่ยังเรียกอาคารหลังนี้ว่าวิหาร อาจเป็นเพราะในวัฒนธรรมล้านนาให้ความสำคัญกับวิหารมากกว่าอุโบสถนั่นเอง

วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก

เมื่อเข้ามาภายในจะพบกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งมีถึง 4 องค์ด้วยกัน แต่ละองค์หันหน้าออกไปทางประตูในแต่ละทิศ พระปฤษฎางค์ (หลัง) ของทุกพระองค์ชนกัน โดยมีแกนกลางของอาคารที่มีเจดีย์ขนาดเล็กอยู่บนยอด ซึ่งขนบของการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์หันหลังชนกันแบบนี้ถือเป็นของแปลกที่พบได้น้อยในประเทศไทย แต่กลับพบได้มากพอสมควรในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นงานในรุ่นโบราณสมัยพุกามอย่างอานันทเจดีย์ หรืองานในสมัยหลังลงมาอย่างไจก์ปุ่นที่เมืองพะโคก็มีเหมือนกัน แสดงว่าวิหารหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่เมืองน่านตกอยู่ใต้การปกครองของพม่านั่นเอง

ส่วนแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์นี้ มาจากแนวคิดเรื่องพระอดีตพุทธเจ้า 4 พระองค์ในกัลป์ปัจจุบันที่ตรัสรู้และปรินิพพานไปแล้ว ประกอบด้วย พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ และองค์ล่าสุด พระพุทธเจ้าโคตมะหรือพระพุทธเจ้าศากยมุนี นั่นเอง

(แอบกระซิบนิดหนึ่งว่า ในพระนครศรีอยุธยาเองก็มีนะครับ ที่วัดวรเชษฐ์เทพบำรุงหรือวัดวรเชษฐ์นอกเมือง ผมเคยเขียนเรื่องนี้มาแล้วลองย้อนกลับไปอ่านกันดูได้นะครับ)

คัทธณะกุมารชาดกหนึ่งเดียวในสยาม

วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก

แน่นอนว่า ไฮไลต์สำคัญของวัดภูมินทร์อยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนเต็มพื้นที่โดยรอบอาคารทุกด้าน เชื่อกันว่าวาดโดย หนานบัวผัน จิตรกรชาวไทลื้อผู้วาดจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ซึ่งมีลักษณะภาพคล้ายคลึงกับวัดภูมินทร์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโทนสีที่ใช้ หรือแม้แต่ฉากบางฉากที่ราวกับคัดลอกมาจากที่เดียวกันเป๊ะ ๆ หรือตัวอักษรที่ปรากฏก็ยังคล้ายกัน จนดูยังไงก็เป็นช่างคนเดียวกันเขียนแน่ ๆ

วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก
วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก

ไม่เพียงแต่ผู้เขียนเท่านั้น เนื้อหาที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเนื้อหาเกือบทั้งหมดเขียนชาดกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘คัทธณะกุมารชาดก’ ชาดกท้องถิ่นของล้านนาที่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชาดกเรื่องนี้เขียนอยู่เพียงแค่วัดเดียว นั่นคือวัดภูมินทร์ ไม่มีที่วัดอื่นเลย กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกอย่าง

คัทธณะกุมารชาดก เป็นเรื่องราวของ คัทธณะ ลูกชายของหญิงหม้าย ส่วนพ่อเป็นพระอินทร์แต่ไม่ได้เลี้ยงดู เมื่อโตขึ้นเป็นหนุ่ม คัทธณะจึงออกเดินทางตามหาพ่อ ระหว่างการเดินทางเกิดเหตุการณ์มากมาย ทั้งช่วยเหลือผู้คน สั่งสอนศีลธรรม ปราบยักษ์และสัตว์ร้าย จนคัทธณะได้เจอพ่อในที่สุด ในตอนท้ายยังมีเหตุการณ์ที่ลูก ๆ ของคัทธณะได้แสดงความสามารถเพื่อไปช่วยพ่อรวมถึงสู้กันเอง สุดท้ายพระอินทร์ก็ได้สถาปนาคัทธณะเป็นพระยาจันทจักรพรรดิราช ปกครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรมจนสิ้นอายุขัย

หากดูเนื้อเรื่องแล้ว จะเห็นว่าชาดกเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างจากชาดกท้องถิ่นหลายเรื่องที่มักมีความแฟนตาซี ผจญภัย ใช้ของวิเศษ ทำดีช่วยเหลือผู้คน แล้วทำไม คัทธณะกุมารชาดก ถึงถูกเลือกมาเขียนที่วัดภูมินทร์แห่งนี้ล่ะ

การจะถอดรหัสเรื่องนี้ได้เราต้องย้อนกลับไปดูว่าจิตรกรรมนี้เขียนขึ้นเมื่อไหร่ พบว่าวาดขึ้นในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ซึ่งถ้าเจ้าเมืองน่านพระองค์นี้เป็นผู้คัดสรรเรื่องนี้มาวาดจริง การเลือกชาดกเรื่องนี้อาจสะท้อนเรื่องราวของพระองค์เองก็เป็นได้ เพราะพระองค์ทรงเป็นลูกกำพร้าเช่นเดียวกับคัทธณะ และแม้จะโตมาโดยไม่มีพ่อ แต่ก็ยังทำความดี ขจัดทุกข์ บำรุงสุข ไม่ต่างจากพระราชกรณียกิจของพระองค์เลย และยังสะท้อนความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมได้อีกด้วย

วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก
วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก

นอกจากนี้ สถานการณ์ในชาดกเรื่องนี้ยังสัมพันธ์กับเหตุการณ์ของเมืองน่าน เพราะในเวลานั้นมีสถานะเป็นประเทศราชของสยาม และกำลังเผชิญหน้ากับการรุกรานของฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองเมืองที่อารักขาของน่านโดยที่สยามไม่อาจช่วยอะไรได้ เมืองน่านจึงเป็นเสมือน ‘ลูกกำพร้า’ ที่ถูกทิ้ง ไม่มีพ่อดูแล เจ้าเมืองน่านจึงอาจเลือกเรื่องนี้เพื่อระบายความคับแค้นใจนี้ด้วยก็เป็นได้

คัทธณะกุมารชาดก ที่วัดภูมินทร์แห่งนี้เริ่มที่ผนังด้านทิศเหนือ (ฝั่งที่มีหัวพญานาคเป็นบันได) ซึ่งน่าจะเป็นประตูทางเข้าหลัก เป็นภาพหญิงหม้าย แม่ของคัทธณะกำลังทอผ้า แล้ววนไปทางขวาเรื่อย ๆ แล้วไปถึงฝั่งตะวันตกที่ภาพการสถาปนาคัทธณะขึ้นเป็นกษัตริย์ ก่อนจะไปต่อด้วยภาพ เนมิราชชาดก ตอนพระเนมิราชเสด็จไปชมนรกและขึ้นสวรรค์ และฉากพุทธประวัติตอนปรินิพพานด้วย

วัดภูมินทร์ ออฟ น่าน วัดกลางเวียงน่านอายุกว่า 400 ปีที่มีมากกว่าภาพกระซิบรักบันลือโลก

อนึ่ง ถ้าใครอ่านอักษรธรรมล้านนาได้ จะดูจิตรกรรมฝาผนังที่วัดนี้สนุกมาก เพราะหลายฉากมีคำบรรยายภาพกำกับเอาไว้ด้วย

กระซิบรักบันลือโลก หมอชีวก และเจ้าเมืองน่าน

หนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุดของวัดภูมินทร์ หนีไม่พ้นภาพที่ขนาบประตูด้านทิศตะวันตก นั่นคือ ‘กระซิบรักบันลือโลก’ แต่จริง ๆ แล้วถ้าดูจากคำบรรยายภาพที่เขียนเอาไว้ ภาพนี้น่าจะมีชื่อว่า ‘ปู่ม่านญ่าม่าน’ มากกว่า ดูจากชื่อภาพนี้น่าจะเป็นภาพชายหญิงชาวพม่า เพราะคำว่า ‘ม่าน’ นั้นหมายถึง ‘พม่า’ โดยฝ่ายชายขมวดผมไว้กลางกระหม่อม มีผ้าพันขมวดผม นุ่งซิ่นลุนตยา และสักยันต์สีแดงตามลำตัว คล้ายการแต่งกายของชาวเงี้ยวหรือไทใหญ่ ส่วนฝ่ายหญิงไว้มวยสูงกว่าปกติตามแบบคนไทยวน สวมเสื้อแขนยาวสีดำแบบไทลื้อเมืองน่าน ทับผ้ารั้งอกสีแดง และนุ่งลุนตยาปล่อยชายยาวแบบพม่า พร้อมกับสวมแหวน กำไล และสอดแผ่นทองม้วนไว้ที่ติ่งหูแบบชนชั้นสูง

เราจะเห็นการผสมผสานการแต่งกายจากหลายเชื้อชาติ ซึ่งอาจเป็นภาพชาวพม่าจริง ๆ ก็ได้ แต่เป็นชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในเมืองน่าน ดังนั้น จึงมีการผสมผสานเครื่องแต่งกายและทรงผมแบบคนพื้นเมืองเข้ามาด้วย

นอกเหนือจากภาพกระซิบรักฯ แล้ว ยังมีอีกหลายภาพน่าสนใจที่อยากแนะนำ เริ่มจากภาพชายหญิงที่อยู่ขนาบประตูด้านทิศใต้ก่อนเลย 2 ภาพนี้ถึงจะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องจิตรกรรมใด ๆ แต่กลับแสดงให้เห็นการแต่งกายของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยฝ่ายหญิงนั่งเก้าอี้สูบบุหรี่ขี้โย มวยผมแบบไทลื้อ รัดด้วยเครื่องประดับทองคำและมีปิ่นทองเสียบผม คล้องสไบสีเขียวโดยไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าซิ่นแบบไทลื้อ ไม่สวมรองเท้า ในมือยังคีบบุหรี่ขี้โย ส่วนฝ่ายชายไว้ผมทรงมหาดไทย กำลังยืนเท้าเอวสูบบุหรี่ขี้โยเหมือนฝ่ายหญิง มีดอกไม้ประดิษฐ์สอดติ่งหู สวมเสื้อแขนยาวขอจีน มีผ้าคล้องสีแดง นุ่งผ้าลุนตยาทับรอยสักสีดำ พกมีดสั้นเอาไว้ด้วย และเช่นเดียวกัน ฝ่ายชายก็ไม่สวมรองเท้า

ใช่ว่าภาพคนขนาดใหญ่เหล่านี้จะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องเสมอไป ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องก็มีเหมือนกัน อย่างภาพ ‘สีไวย’ หรือ ‘นางสีเวย’ ลูกสาวเศรษฐีเมืองจำปานคร ซึ่งได้ครองคู่กับคันธณะ ก็วาดเป็นภาพใหญ่เช่นกัน แสดงภาพหญิงสาวที่แต่งกายคล้ายกับภาพสาวไทลื้อ แต่เปลี่ยนอิริยาบถเป็นกำลังมัดผมและเพิ่มดอกไม้ทัดผมด้วย หรือภาพ ‘กุมาลเป๊ก’ หรือ ‘หมอชีวกโกมารภัจจ์’ ซึ่งถวายการรักษาพระพุทธเจ้า ก็ปรากฏบนฝาผนังในฉากปรินิพพานเช่นกัน แต่หมอชีวกฯ ที่วัดภูมินทร์ หนานบัวผันกลับวาดคล้ายกับหมอมิชชันนารีชาวตะวันตก ดูได้จากการสวมหมวกสีดำและเสื้อคลุมแขนยาวสีแดง ซึ่งหมอมิชชันนารีเหล่านี้เดินทางเข้ามารักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ พร้อมกับเผยแผ่คริสต์ศาสนาในดินแดนล้านนาในช่วงเวลานั้น

แต่ภาพที่ส่วนตัวคิดว่าพิเศษที่สุดภาพหนึ่งที่วัดภูมินทร์ กลับเป็นภาพบุคคลที่อยู่ที่ผนังด้านทิศตะวันตก เป็นภาพชายคนหนึ่งยืนไว้ผมทรงหลักแจวแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 มีดอกไม้เสียบที่ติ่งหู สวมเสื้อหลายชั้น โดยชั้นนอกสุดเป็นสีแดง มือซ้ายกำมีดสั้นไว้แน่น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้

แต่อย่าคิดว่าภาพนี้เป็นภาพเหมือนบุคคลนะครับ เพราะถ้าดูจากช่วงเวลาที่วาดจิตรกรรมฝาผนัง อายุของท่านน่าจะเข้าหลัก 60 ไปแล้ว ในขณะที่ภาพนี้ยังดูหนุ่มแน่น จึงอาจเป็นการเขียนภาพเจ้าอนันตวรฤทธิเดชในความทรงจำของหนานบัวผันเมื่อครั้งยังหนุ่มอยู่แทน เพื่อระลึกถึงเจ้าเมืองน่านผู้เป็นองค์อุปถัมภ์วัด

วัดภูมินทร์ กลางเวียง จ.น่าน ที่มีภาพวาดกระซิบรักบันลือโลก และคัทธณะกุมารชาดก ชาดกล้านนา แห่งเดียวในประเทศ

นอกจากภาพเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ที่นี่ยังมีภาพซึ่งน่าจะเป็นเจ้าเมืองน่านอีกพระองค์หนึ่งอยู่ด้วย โดยอยู่ร่วมผนังเดียวกันกับภาพเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเลยครับ แต่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง เป็นภาพชายสูงวัย จมูกมีสันโด่ง รูปปากบาง หน้าผากกว้าง นั่งชันเข่า ไว้หนวดเครารุงรัง กำลังนั่งตำหมาก นุ่งผ้าขาวโดยไม่สวมเสื้อ และสวมลูกประคำ ซึ่งลักษณะใบหน้าเช่นนี้ไปละม้ายคล้ายกับภาพถ่ายของ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ที่ในเวลานั้นมีสถานะเป็นว่าที่เจ้าผู้ครองนคร อีกหนึ่งเจ้านายพระองค์สำคัญในเวลานั้น

วัดภูมินทร์ กลางเวียง จ.น่าน ที่มีภาพวาดกระซิบรักบันลือโลก และคัทธณะกุมารชาดก ชาดกล้านนา แห่งเดียวในประเทศ

ยิ่งกว่ากระซิบรัก คือความพิเศษที่ซ่อนอยู่

วัดภูมินทร์ออฟน่านแห่งนี้จึงไม่ได้มีแต่ภาพกระซิบรักเมืองน่านเท่านั้น ยังมีภาพที่น่าสนใจซ่อนเอาไว้อีกมากมายบนฝาผนัง กำลังรอให้เราไปค้นหา เพ่งมอง และสอดส่อง ใครจะรู้ วันหนึ่งเราอาจเป็นคนถอดรหัสอื่นที่ซ่อนอยู่ที่วัดภูมินทร์ก็ได้ เพราะที่ผมเล่าให้ฟังเป็นแค่ความสนุกสนานเสี้ยวเดียวบนฝาผนังเท่านั้น ที่เหลือผมจะให้ผู้อ่านไปลองตามหาดูแทนครับ ขืนเล่าหมดมันจะไม่สนุก

วัดภูมินทร์ กลางเวียง จ.น่าน ที่มีภาพวาดกระซิบรักบันลือโลก และคัทธณะกุมารชาดก ชาดกล้านนา แห่งเดียวในประเทศ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดภูมินทร์เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเวียงน่าน ล้อมรอบด้วยวัดสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุช้างค้ำ วัดหัวข่วง วัดมิ่งเมือง รวมถึงคุ้มเจ้าหลวงเมืองน่าน ที่ปัจจุบันดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน รวมถึงกลางคืนยังเป็นที่ตั้งของกาดข่วงเมืองน่านด้วย
  2. สำหรับใครที่สนใจเรื่องวัดภูมินทร์แบบเจาะลึกเฉพาะวัดนี้ ขอแนะนำหนังสือ ถอดรหัสวัดภูมินทร์ ของ สมเจตน์ วิมลเกษม เลยครับ แต่ถ้าใครสนใจจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดน่าน ก็ต้องเป็นหนังสือชื่อ จิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน ของ วินัย ปราบริปู เล่มนี้มีทั้งจิตรกรรมโบราณและจิตรกรรมร่วมสมัย หรือถ้าอยากรู้เรื่องจิตรกรรมล้านนา ต้องนี่เลย จิตรกรรมล้านนา พุทธประวัติ ทศชาติชาดก ชาดกนอกนิบาต ของ ชาญคณิต อาวรณ์ สนใจเล่มไหนลองไปตามหาตามอ่านกันได้ครับ
  3. แต่ถ้าใครอยากได้ลายแทงจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดน่าน ถ้าเป็นจิตรกรรมฝาผนังรุ่นเก่าอาจมีไม่เยอะแต่ยังพอเหลืออยู่บ้าง เช่น วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผ่า หรือวัดหนองแดง อำเภอเชียงกลาง ส่วนจิตรกรรมสมัยใหม่ ไปดูที่วัดมิ่งเมืองในตัวเมืองน่านได้เลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ