The Cloud x KBank Live

ชีวิตยามราตรีของชาวบางกอกในยุคแรกเริ่ม เกิดขึ้นหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่มีพระราชดำริให้ตัดถนนกว้างขวางอย่างตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2404 ชาวบ้านเรียกถนนนี้ว่า ‘ถนนใหม่’ ก่อนที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า ‘เจริญกรุง’

การสร้างถนนเส้นนี้ขึ้นทำให้ชาวตะวันตกทยอยมาอยู่ย่านบางรักมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการคมนาคมสะดวกสบาย บ้านเมืองก็เริ่มพัฒนา จากไม่มีไฟฟ้าก็กลับกลายเป็นเมืองที่สว่างไสว ตึกรามบ้านช่องผุดขึ้นมากมายตามความเจริญรุ่งเรือง เมืองหลวงจึงเริ่มครึกครื้นเต็มไปด้วยแสงไฟและกิจกรรมในยามราตรี ชาวบางกอกจึงเริ่มออกเที่ยวกลางคืนกันอย่างสนุกสนานบันเทิงใจบนถนนเส้นนี้

ปัจจุบันย่านเจริญกรุงเต็มเปี่ยมด้วยความทรงจำและวัฒนธรรมมากมาย แม้จะผ่านไปตามกาลเวลาแต่ก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันน่าหลงใหลอยู่ The Cloud และ KBank Live จึงจับมือกันจัด ‘Walk with The Cloud 18 : เที่ยวกลางคืน’ พาทุกท่านสวมรอยเป็นชาวบางรัก เรียนรู้วิถีชีวิตและหมุนทวนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนกัน 

บ้าน

อยู่อย่างชาวบางกอก

ก่อนออกไปเที่ยวกลางคืน ขอเริ่มต้นที่บ้านเป็นอันดับแรก เพราะหากพูดถึงวิถีชีวิตแล้ว คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงบ้าน แหล่งรวมวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม ตัวอย่างบ้านชาวเจริญกรุงแบบโบราณที่ยังสมบูรณ์มากคือ ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ หรือ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร’

แต่เดิมที่นี่เป็นของ คุณแม่สอาง สุรวดี ซึ่งยกที่ดินผืนนี้ให้กับ อาจารย์วราพร สุรวดี ผู้เป็นลูกสาว จากนั้นอาจารย์วราพรตั้งใจเปลี่ยนบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้คนรุ่นหลังเข้าใจวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อน โดยจัดเก็บข้าวของเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ และยกอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ที่นี่ดำรงอยู่ในย่านบางรักมานับร้อยปี ผ่านเหตุการณ์สำคัญอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวและร่องรอยของอดีตมากมาย นอกบ้านมีหลุมหลบภัยที่ใช้กันจริงในขณะที่กำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และบ่อน้ำที่แต่ก่อนบ้านสุรวดีเคยใช้สำหรับจอดเรือที่ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง

ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยบ้าน 3 หลัง

หลังแรกเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 ใช้งบในการสร้างรวมทั้งสิ้น 2,400 บาท เป็นบ้านหลังที่ครอบครัวสุรวดีเคยใช้อาศัยอยู่ในอดีต ทำให้ภายในเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกจัดวางอย่างเป็นธรรมชาติและหาชมได้ยากในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเปียโนงาช้างตัวเก่งของคุณแม่สอางค์ น้ำหอมในสมัยรัชกาลที่ 6 เครื่องเล่นแผ่นเสียงไขลาน และอีกมากมายที่ยังคงสภาพไว้ได้อย่างดีเยี่ยม 

ภายในห้องแต่ละห้องจะพบร่องรอยของวัฒนธรรมต่างชาติอยู่ เช่น ชุดดินเนอร์ฝรั่ง ถ้วยชามลวดลายจีน หรือหนังสือตำราภาษาอังกฤษนับสิบๆ เล่ม แต่จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมต่างชาติที่รับมานั้นถูกนำมาผสมผสานจัดวางเข้ากับวัฒนธรรมไทยได้อย่างลงตัว

สถาปัตยกรรมบ้านหลังนี้โปร่งโล่ง ทำให้มีลมพัดเข้าออกบ้านตลอดเวลา ห้องแต่ละห้องมีประตูทะลุหากันได้ นอกจากนี้บริเวณผนังฉลุเป็นลวดลายสวยงาม เพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก บ้านเรือนและห้องต่างๆ ออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนของบ้านเรา 

หากลองสังเกตห้องรับประทานอาหารให้ดี จะพบภูมิปัญญาที่น่ารักในสมัยก่อน นั่นคือการซ่อมกระจกที่ร้าว โดยการประยุกต์นำเหรียญสตางค์ในสมัยนั้นมาประกบทับกระจก และใช้ลวดร้อยเข้าหากันตามรอยร้าวเพื่อยึดกระจกให้สามารถใช้งานได้ต่อไป

บ้านหลังถัดมาเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นที่มีโถงกว้างขวางบริเวณชั้นล่าง แต่เดิมบ้านหลังนี้เป็นของ คุณหมอฟรานซิส คริสเตียน สามีคนแรกของคุณแม่สอางค์ แต่เดิมเปิดเป็นคลินิกและบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณทุ่งมหาเมฆ แต่ต่อมาคุณหมอฟรานซิสล้มป่วยและเสียชีวิต ทำให้บ้านหลังนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่ อาจารย์วราพรจึงเคลื่อนย้ายบ้านมาปลูกใหม่ที่บางรักโดยย่อขนาดลงเล็กน้อย และนำข้าวของเครื่องใช้ของคุณหมอมาจัดแสดง จะเห็นได้ว่าชั้นบนของบ้านมีอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์การทำงานมากมาย เช่น ตาชั่งกลับหัว รวมถึงโต๊ะทำงานของคุณหมอด้วย

หลังสุดท้ายเป็นตึกแถว 2 ชั้นจำนวน 8 คูหา ชั้นล่างจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และของสะสมของครอบครัวสุรวดีมากมาย ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวบางกอกได้อย่างดี มีทั้งอุปกรณ์ทำครัว เครื่องทำไอศครีมโบราณ ปิ่นโตโบราณ บัตรประชาชนและใบขับขี่ในยุคแรก รวมทั้งอุปกรณ์หัตถกรรมมากมาย

ส่วนชั้นสองจัดแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภายในเขตบางรัก บอกเล่าตั้งแต่ที่มาของชื่อบางรัก บุคคลสำคัญ วิวัฒนาการของเขตบางรัก สถานที่ที่น่าสนใจ รวมทั้งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบางกอกในสมัยนั้นด้วย

ห้าง

เที่ยวอย่างชาวบางกอก

ออกจากบ้านแล้วก็ได้เวลาเที่ยว ความเจริญรุ่งเรืองและเฟื่องฟูของย่านเจริญกรุงสมัยก่อนทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนและปักหลักอยู่ในประเทศไทยมากมาย ธุรกิจห้างสรรพสินค้าแสนโก้หรูผุดขึ้นเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็น ‘ห้างแบดแมน’ หรือ ‘Harry Badman & Co.’ ที่ก่อตั้งโดยนายแบดแมน ชาวอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2422 เป็นห้างที่หรูหรา และจำหน่ายสิ่งของที่ทันสมัยอย่างมากในสมัยนั้น เช่น สุรา ยารักษาโรคต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีห้าง Falck & Beidek Department Store ที่ก่อตั้งโดยชาวยุโรป เป็นอาคารที่เก่าแก่กว่า 1 ศตวรรษและยังคงสภาพไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อาคารปูนสีขาวที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตกอย่างอลังการนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ห้างสิงโต’ ที่ผู้คนเรียกกันอย่างนี้เพราะว่าตัวอาคารถูกประดับด้วยปูนปั้นรูปหัวสิงโตขนาดใหญ่ ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปัจจุบันยังคงเป็นห้างโบราณที่เปิดให้เข้าชมอยู่ในชื่อว่า O.P Place ภายในมีทั้งลิฟท์เก่าแก่ที่ยังคงโครงสร้างดั้งเดิมเอาไว้ โคมระย้าขนาดยักษ์ และมีงานฝีมือแขนงต่างๆ เช่น อัญมณี ผ้าไหม และโบราณวัตถุขายอีกด้วย

ส่วนห้างแรกของชาวไทยคือ ‘ห้างนายเลิศ’ ของ นายเลิศ เศรษฐบุตร คหบดีไทยเชื้อสายจีนที่สร้างห้างสูง 7 ชั้น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจของชาวบางกอกเป็นอย่างมาก นายเลิศนำเข้าสินค้าหรูหรามากมาย เช่น ลิ้นจี่กระป๋อง ผงกาแฟ จักรยาน จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจตกต่ำลง ทำให้ห้างซบเซาลงและปิดตัวไปในที่สุด ในปัจจุบันห้างนายเลิศยังคงตั้งเด่นอยู่บริเวณแยกสี่พระยาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมอยู่ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ห้างสูงระฟ้าของประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว

โรงแรม

พักอย่างชาวบางกอก

‘ทรอคาเดโร’ ชื่อสุดโก้นี้ถูกตั้งตามชื่อของจตุรัส Palais du Trocadéro ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามหอไอเฟลในประเทศฝรั่งเศส โรงแรมทรอคาเดโรขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนถนนสุรวงศ์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 โดยมี คุณฉวี บุนนาค เป็นผู้ก่อตั้ง ตัวโรงแรมมี 2 อาคาร แบ่งเป็นห้องพักจำนวน 45 ห้องพัก ซึ่งโรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมแห่งแรกที่มีการใช้ลิฟต์และเครื่องปรับอากาศ ทำให้นับว่าเป็นโรงแรมที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในขณะนั้น นอกจากเป็นที่พัก ยังเป็นแหล่งเต้นรำของชาวบางกอกอีกด้วย

ร้านอาหาร

กินอย่างชาวบางกอก

ร้านอาหารเก่าแก่สไตล์กวางตุ้งแห่งนี้ชื่อ ‘นิวเฮงกี่’ ร้านอาหารเก่าแก่ย่านบางรักที่สืบทอดความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น อาหารจีนเป็นเอกลักษณ์เด่นของพื้นที่แถบนี้ เพราะนอกจากมีชาวตะวันตกอาศัยอยู่มากมาย ชาวจีนยังพักอาศัยและเปิดร้านอาหารในย่านบางรักด้วย บรรยากาศร้านอบอวลไปด้วยบรรยากาศเก่าๆ ชวนให้นึกถึงอดีต มีเมนูเก่าที่อาหารยังราคาไม่กี่สตางค์ติดไว้บนผนัง ส่วนเมนูปัจจุบันมากมายหลากหลายให้เลือกทานทั้งอาหารจีนและอาหารไทย

ส่วนของหวาน ชาวบางกอกติดใจของหวานเย็นๆ ตั้งแต่ได้รู้จักน้ำแข็ง ซึ่งยุคแรกเป็นของนำเข้าจากสิงคโปร์ ต่อมาเมื่อนายเลิศ เศรษฐบุตร ตั้งโรงงานน้ำแข็ง อาหาร และเครื่องดื่มไทย ก็สนุกขึ้นเป็นกอง หนึ่งในเมนูของหวานยอดฮิตสมัยโบราณคือไอศครีมกะทิใส่เยลลี่ ขอแนะนำร้าน ‘ฮงฮวด’ ร้านไอศครีมเก่าแก่ในซอยเจริญกรุง 43 ที่ยังคงรสชาติดั้งเดิมของไอศครีมไว้อย่างเข้มข้น แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป กระบวนการผลิตบางขั้นตอนก็อาจถูกพัฒนาไปตามกาลเวลา แต่ร้านเก่าแก่อายุกว่า 70 ปียังคงใช้สูตรเดิมและวัตถุดิบคุณภาพ เพื่อรักษารสชาติไอศครีมเยลลี่ที่เป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ลิ้มลอง

โรงหนัง

ชมอย่างชาวบางกอก

อิ่มท้องแล้วก็ดูหนังช่วงกลางคืนต่อที่ ‘โรงหนังปรินซ์ รามา’ อาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2455 ที่นี่เคยเป็นโรงบ่อนหลวง ก่อนจะถึงยุคเฟื่องฟูที่พัฒนาจนกลายเป็นโรงภาพยนตร์ สมัยก่อนการดูหนังครั้งแรกของชาวบางกอกเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก และพากันมาดูกว่า 600 คนในคืนเดียว

ปัจจุบันโรงหนังสแตนด์อโลนนี้ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างเป็นโรงแรม Prince Theater Heritage Stay Bangkok โดยหลงเหลือการตกแต่งสไตล์ Art Deco ให้เราได้ชื่นชมบริเวณด้านหน้าของโรงหนัง คือกระจกสีที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงหนังปรินซ์ รามา บริเวณล็อบบี้ยังเป็นโรงหนังจอใหญ่ซึ่งจัดฉายหนังทุกวัน งานนี้ทางโรงแรมใจดีเปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปฉายหนังเงียบขาวดำสุดคลาสสิกที่นี่เพื่อรำลึกถึงอดีตกันด้วย

เต้นรำ

ลีลาอย่างชาวบางกอก

การรับอิทธิพลจากชาติตะวันตกในสมัยนั้นทำให้ดนตรีแจ๊สของชาวอเมริกาและแอฟริกันเข้ามายังประเทศไทย และเกิดเป็นกระแสนิยมสู่ชาวบางกอกในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ทำให้โรงแรมหรือร้านอาหารหลายแห่งในขณะนั้นนิยมเปิดดนตรีแจ๊สเพื่อให้แขกได้มาเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน อาทิ โรงแรมทรอคาเดโร โรงแรมโอเรียลเต็ล และกลายเป็นกิจกรรมฮอตฮิตมากๆ ของชาวบางกอก เราจึงปิดท้ายที่ The Hop คอมมูนิตี้ลับแสนอบอุ่นที่ซ่อนอยู่บนถนนสีลม ซึ่งพาคุณย้อนเวลาไปออกลีลาอย่างชาวบางกอก นอกจากจะชวนให้ซึบซับบรรยากาศเก่าๆ แล้ว ที่นี่ยังมีคลาสเปิดสอนการเต้นสวิงสำหรับทุกคนให้ได้มาขยับแข้งขยับขาออกลีลาไปพร้อมๆ กัน

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ