“จะนั่งรถไฟไปเชียงใหม่ ขึ้นรถไฟที่ไหน”

“ก็ไปหัวลำโพงสิ ต้นสายเลย”

“เย่ๆ วันนี้จะนั่งรถไฟแล้ว ตอนนี้อยู่สถานีหัวลำโพง”

เราคุ้นเคยกับคำพูด หรือประโยคเช่นนี้เมื่อพูดถึงการเดินทางด้วยรถไฟในประเทศไทย สถานีรถไฟต้นทางที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีสัณฐานเป็นอาคารทรงยุโรปประกอบหลังคาครึ่งวงกลมโค้งทรงกระบอกผ่าซีก ประดับด้วยนาฬิกาเรือนมโหฬารอยู่ด้านหน้าสถานีที่ประดับด้วยกระจกสี คนส่วนใหญ่ในประเทศจะเรียกสถานีนี้ว่า ‘หัวลำโพง’ แต่ในความเป็นจริงนั้น สถานีรถไฟที่เราเห็นและเรียกกันว่าหัวลำโพงนั้นไม่เคยชื่อว่า หัวลำโพง มาก่อนเลย

ไม่เชื่อก็ลองดูป้ายที่อยู่ข้างรถไฟ จะเห็นข้อความว่า ‘กรุงเทพ-เชียงใหม่’ ‘กรุงเทพ-อุบลราชธานี’ ไม่ได้เขียนว่า ‘หัวลำโพง-เชียงใหม่’ หรือ ‘หัวลำโพง-อุบลราชธานี’ แต่อย่างใด

รถไฟ

รถไฟสายแรกของไทย

ทางรถไฟสายแรกของไทยคือ เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพ-สมุทรปราการ มีชื่อเรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก เปิดเดินรถในวันที่ 11 เมษายน 2436 มีสถานีต้นทางอยู่ที่ริมคลองหัวลำโพงตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม สถานีนี้มีชื่อว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ ตามชื่อคลองที่ทางรถไฟขนานไป

ทางรถไฟสายปากน้ำมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านสามย่าน ศาลาแดง คลองเตย บ้านกล้วย เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านบางนางเกรง พระโขนง สำโรง และสิ้นสุดที่เมืองปากน้ำสมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เดิมทีใช้รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถไฟโดยสาร (และสินค้าอีกเล็กน้อย) ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน 2469 ได้เปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ รถไฟสายปากน้ำนับเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยก่อนรถไฟฟ้า BTS อีกด้วย

สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ

รถไฟหลวงสายแรกของไทย

รถไฟของรัฐบาลสยามเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการให้หลังจากการเปิดเดินรถไฟสายปากน้ำเพียง 3 ปี โดยมีพิธีเปิดอย่างใหญ่โต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ทรงเป็นประธานในการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ในวันที่ 26 มีนาคม 2439 จากกรุงเทพ-กรุงเก่า (ปัจจุบันคือสถานีอยุธยา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีบางปะอิน นับเป็นการเริ่มต้นรถไฟของรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เดินทางด้วยรถไฟในวันที่ 28 มีนาคม 2439

สถานีรถไฟต้นทางนั้นตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามกับโรงเรียนสายปัญญา เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นสำหรับเป็นสำนักงานและส่วนบริการ สถานีนี้ชื่อว่า ‘สถานีกรุงเทพ’ ต้นทางของรถไฟสายหลักของประเทศ และยังเป็นสถานีประจำพระนครอีกด้วย

สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ

เมื่อทั้งสองสถานีเริ่มขยับมาอยู่ใกล้กัน

ทางรถไฟทั้งสองสายและสถานีรถไฟทั้งสองแห่งทำหน้าที่รับใช้ประชาชนเรื่อยมา แต่แรกนั้นอยู่ห่างกันเกือบครึ่งกิโลเมตร ทางรถไฟสายปากน้ำไม่ได้มีการขยายเส้นทางออกไปแต่อย่างใด แต่รถไฟหลวงนั้นได้ทอดยาวไปตามมณฑลต่างๆ มากมาย ทำให้ปริมาณรถไฟเพิ่มขึ้นจนสถานีกรุงเทพเริ่มคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กรมรถไฟหลวงขยายสถานีรถไฟกรุงเทพให้ใหญ่โต เพื่อรองรับการเดินรถโดยสารและสินค้าที่มีมากขึ้น

การสร้างสถานีใหม่เริ่มต้นขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีหัวลำโพงห่างกันเพียงแค่ข้ามถนน เพื่อหวังว่าจะได้เป็นการเชื่อมต่อของระบบรถไฟ 2 สายอย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มาจากปากน้ำเมื่อเดินทางมาถึงหัวลำโพงแล้วก็ข้ามฝั่งไปสถานีกรุงเทพเพื่อต่อรถไปมณฑลทางเหนือหรือเมืองโคราชได้อย่างสะดวกสบาย

การก่อสร้างดำเนินเรื่อยมา จนในวันที่ 25 มิถุนายน 2459 เวลา 17.00 น. สถานีรถไฟกรุงเทพอาคารหลังปัจจุบันได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเป็นสัญญาณให้รถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสู่สถานีกรุงเทพ ส่วนสถานีกรุงเทพหลังเดิมหลังจากใช้งานมา 20 ปีก็ปิดตัวลง

สถานีกรุงเทพหลังใหม่ถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรเนซองส์ ออกแบบโดยมิสเตอร์มาริโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้ออกแบบอาคารที่สวยงามหลายแห่งในประเทศไทย เช่น สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระที่นั่งอนันตสมาคม วังปารุสกวัน เป็นต้น แปลนของสถานีเป็นแบบปลายชานชาลาตัน มีตัวอาคารสถานีขวางไว้สุดปลายทางรถไฟ ซึ่งมีเพียงแค่สถานีกรุงเทพและสถานีเชียงใหม่เท่านั้นที่มีรูปแบบการวางทางรถไฟแบบนี้ ตัวสถานีประกอบด้วยโครงหลังคาโค้งแบบทรงกระบอกผ่าซีกตามแบบฉบับสถานีรถไฟสำคัญๆ ในยุโรป สถานีกรุงเทพนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับสถานีแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt Hauptbahnhof)

สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ

สองพี่น้อง หัวลำโพง-กรุงเทพ

สถานีกรุงเทพและหัวลำโพงตั้งอยู่คู่กันมาแบบสถานีพี่-สถานีน้องตั้งแต่ปี 2459 โดยมีสถานีหัวลำโพงเป็นพี่ สถานีกรุงเทพเป็นน้อง เป็นสถานีเชื่อมต่อของระบบรางในสมัยนั้นที่มีประสิทธิภาพมาก นอกจากจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟสองสายแล้ว ยังมีรถราง เรือ รวมถึงถนนเจริญกรุงในพื้นที่ใกล้เคียงกันนั้น ถือได้ว่าเป็นย่านที่สำคัญของพระนคร การเรียกขานสถานีรถไฟนั้นมักจะนิยมเรียกกันว่า ‘สถานีหัวลำโพงสายปากน้ำ’ และ ‘สถานีรถไฟหลวงที่หัวลำโพง’ น่าจะเป็นที่มาของการเรียก ‘สถานีหัวลำโพง’ แทนสถานีรถไฟทั้งสองมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

สถานีกรุงเทพ

หัวลำโพง-วัวลำพอง???

ชื่อของหัวลำโพง สันนิษฐานตามตำนานว่าบริเวณทุ่งนี้มีการเลี้ยงวัวอยู่มากมาย วัววิ่งเล่นคึกคะนองร้องมอๆ กันอย่างสนุกสนาน จึงเรียกว่า ‘ทุ่งวัวลำพอง’ ก่อนจะเพี้ยนเป็นหัวลำโพง แต่ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าหัวลำโพงก็คือหัวลำโพงเนี่ยแหละไม่ใช่วัวลำพอง ซึ่งลำโพงที่ว่าคือชื่อต้นลำโพง มีดอกใหญ่เหมือนลำโพงซึ่งขึ้นมากมายอยู่ริมคลองหัวลำโพงนั้น (บริเวณตำบลคลองเตยก็ได้ชื่อมาจากมีกอเตยขึ้นริมคลองหัวลำโพง ซึ่งเป็นคลองเส้นเดียวกันเนี่ยแหละ)

รวมถึงอีกประเด็นในการออกเสียงไม่ชัดเจนของชาวต่างชาติที่มีอยู่มากในช่วงรัชกาลที่ 4 – 5 นั้น เกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า ‘หัวลำโพง’ ผิดเพี้ยน และคนไทยเราก็ไปเรียกตามการออกเสียงเพี้ยนของฝรั่งมังค่า ซึ่งในหนังสือ ประมวลพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีปรากฏความเกี่ยวกับการเรียกชื่อไม่ชัดตามแบบฝรั่งว่า “….การเช่นนี้มีจนกระทั่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง นี่เป็นเรื่องที่ควรฟาดเคราะห์จริงๆ…”

สถานีกรุงเทพ

ลาก่อนหัวลำโพง

เมื่อการเดินทางด้วยถนนจากพระนครไปปากน้ำมีความสะดวกมากขึ้น ประกอบกับกิจการรถไฟสายปากน้ำก็เริ่มลดความสำคัญลง ในวันที่ 1 มกราคม 2503 ได้มีการยกเลิกกิจการของรถไฟสายนี้ และได้รื้อถอนทางรถไฟตั้งแต่สถานีหัวลำโพงถึงสถานีปากน้ำออกเสียหมด พร้อมขยายถนนพระรามที่ 4 สิ่งที่ยังคงเป็นอนุสรณ์จากทางรถไฟสายปากน้ำนั้นก็คือ ‘ถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ’ ที่สร้างทับไปบนแนวเส้นทางรถไฟสายปากน้ำนั่นเอง

ส่วนสถานีหัวลำโพงก็ต้องเป็นอันยุติบทบาทลง และหายไปจากสารบบสถานีรถไฟในไทย แถมยังถูกเอาชื่อไปเรียกสถานีกรุงเทพว่าสถานีหัวลำโพงเสียอีก คนในรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันรถไฟสายปากน้ำจึงเข้าใจไปโดยอัตโนมัติว่าสถานีรถไฟรูปทรงตะวันตกมีหลังคาโค้งครึ่งวงกลมนั้นคือ สถานีหัวลำโพง

สถานีกรุงเทพ
*หมายเหตุ ถนนพระรามที่ 4 สร้างทับทางรถไฟสายปากน้ำเดิม

เป็นมากกว่าสถานีรถไฟ

พื้นที่ของสถานีกรุงเทพส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นโรงแรมดำเนินกิจการโดยกรมรถไฟ เปิดกิจการเมื่อปี 2470 มีชื่อว่า ‘โรงแรมราชธานี’ มีห้องพักจำนวน 10 ห้อง มีความทันสมัย (ในขณะนั้น) มีระเบียงโดยเฉพาะ รวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย จุดประสงค์เพื่อการพักผ่อนระหว่างต่อรถไฟเนื่องจากสมัยก่อนนั้นรถไฟตู้นอนยังไม่มีให้บริการ จึงมีโรงแรมรถไฟอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ภายหลังได้ยุติกิจการลงในปี 2512

ร่องรอยที่ยังคงเหลือความสวยงามให้เห็นอยู่คือโถงบันไดกลางหน้าห้องน้ำ ซึ่งในอดีตเคยเป็น Lobby โรงแรม สิ่งที่ยังคงอยู่คือเสาหินอ่อนสลักหัวเสาเป็นตัวอักษร RSR (กรมรถไฟหลวง) และฝ้าเพดานไม้ ส่วนห้องพักและระเบียงทางเดินได้ปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการของการรถไฟฯ

สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ

101 ปี สถานีกรุงเทพ

นับตั้งแต่สถานีกรุงเทพเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459 จนถึงวันนี้ผ่านไป 101 ปีแล้ว สถานีรถไฟกรุงเทพยังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด มีรถไฟเข้า-ออกตลอดตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึกดื่นกว่า 100 ขบวน ทั้งรถไฟชานเมืองในระยะทางใกล้ๆ หรือรถไฟทางไกลมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ อุบลราชธานี หนองคาย หาดใหญ่ หรือแม้แต่ประเทศมาเลเซีย สถานีกรุงเทพจึงเป็นไอคอนของการเดินทางด้วยรถไฟอย่างแท้จริง เมื่อเราพูดถึงรถไฟไทย ภาพแรกที่แวบเข้ามาในหัวต้องไม่พ้นสถานีรถไฟกรุงเทพแห่งนี้

ระยะเวลาที่ผ่านมา สถานีกรุงเทพมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง จากแรกเริ่มนั้นมีเพียง 4 ชานชาลาในโถงสถานี ปัจจุบันนั้นเพิ่มมาอีกหลายเท่าตัวคือ 14 ชานชาลา มีการติดเครื่องปรับอากาศลดความร้อนจากอากาศที่ร้อนระอุของประเทศไทย มีร้านรวงมากมายให้เลือกซื้อของ มีห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าและห้องจำหน่ายตั๋วของชาวต่างประเทศโดยเฉพาะ แต่กระนั้นแล้วขนาดของสถานที่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณผู้โดยสารในแต่ละวัน

สถานีกรุงเทพ

อนาคตของสถานีกรุงเทพ

จังหวะชีวิตของสถานีกรุงเทพนั้นยังคงดำเนินต่อไป มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่ มันอาจจะเป็นต้นทางของใครหลายๆ คน และอาจจะเป็นปลายทางของใครบางคน แต่อย่างไรแล้วหน้าที่ของสถานีกรุงเทพก็กำลังจะยุติบทบาทลงในเร็วๆ นี้ พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟครั้งใหญ่เรียกได้ว่าพลิกกิจการรถไฟของไทยที่ล่าช้าและอืดอาดยืดยาดในสายตานักเดินทางไปได้ทีเดียว นั่นคือการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟแห่งใหม่ที่รวมรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูงเข้าด้วยกัน โดยมีแผนเปิดใช้งานในปี 2563 ใครจะนั่งรถไฟไปต่างจังหวัดต้องมาใช้สถานีแห่งนี้ หลงไปที่สถานีกรุงเทพไม่ได้แล้ว

เมื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นคลื่นลูกใหม่ สถานีกรุงเทพก็เหมือนคนแก่ใกล้เกษียณ บทบาทจะถูกลดลงเป็นเพียงแค่สถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (มีส่วนต่อขยายไปถึงมหาชัยและปากท่อ) รวมถึงการเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟอีกด้วย

สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ

อีกนิดอีกหน่อย

  1. สถานีกรุงเทพ ไม่ต้องใส่ไปยาลน้อย (ฯ) เพราะเป็นชื่อเฉพาะ ไม่ได้ย่อมาจากคำว่ากรุงเทพมหานครแต่อย่างใด
  2. สถานีหัวลำโพงนั้นไม่ได้จากเราไปไหน นางกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นสถานีรถไฟสายสีน้ำเงิน (MRT) หัวลำโพง โดยตัวสถานี MRT นั้นอยู่ในตำแหน่งเดียวกับสถานีรถไฟหัวลำโพงสายปากน้ำเลย เพียงแต่ย้ายจากบนดินลงไปอยู่ใต้ดินเท่านั้นเอง (กว่าจะกลับชาติมาเกิดใหม่ก็หลายสิบปีแฮะ)
  3. สถานีกรุงเทพมีการเชื่อมต่อกับสถานี MRT หัวลำโพง ระหว่างทางเดินนั้นก็จะมีนิทรรศการวิวัฒนาการขนส่งให้อ่านไปตลอดทาง
  4. มีห้องจัดแสดงอุปกรณ์เก่าๆ ของรถไฟ โดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ อยู่ด้านหน้าสถานีกรุงเทพ เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ 08.00 – 17.00 น. (ปิดพักเที่ยง) นอกจากการแสดงของใช้เก่าแล้วยังมีของที่ระลึกจำหน่ายอีกด้วย
  5. ปลายชานชาลาที่ 11 และ 12 นั้น จะมีอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงตั้งอยู่ ซึ่งตรงนั้นแหละเคยเป็นตำแหน่งของสถานีกรุงเทพหลังแรกก่อนจะเป็นสถานีใหญ่โตให้เราใช้อย่างทุกวันนี้
  6. วงเวียนน้ำพุด้านหน้าสถานี เดิมเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ อีกนัยหนึ่งนั้นคือสัญลักษณ์ กม.ที่ 0 ของทางรถไฟในประเทศไทย