‘ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ’ เป็นหนึ่งในอาคารเรียนรวมหลังแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นอาคารที่ผู้บริหารตัดสินใจอนุรักษ์เอาไว้ ด้วยตระหนักในคุณค่าของอาคารหลังนี้

“ตึกสุวรรณฯ อาจแตกต่างจากอาคารอนุรักษ์อื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยกัน เพราะตัวอาคารไม่ได้จำหลักลายหรือตกแต่งประดับประดาด้วยศิลปกรรมอ่อนช้อยและงดงามอย่างวัดวัง แต่กลับโดดเด่นในเรื่องการออกแบบที่เรียบง่าย เหมาะสมกับบริบทในขณะนั้น และยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของสถาปนิกที่สร้างอาคารสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้งบประมาณน้อยมาก ๆ เรียกว่าต้องคิดแล้วคิดอีกเพื่อให้ตอบโจทย์ทุกประการ”

ย้อนอดีตอาคารเรียนรวมยุคแรกที่สร้างด้วยราคาสุดประหยัด จนถึงการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมที่ช่วยเก็บความทรงจำแก่ลูกนนทรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี ชี้ให้เห็นประเด็นความแตกต่างของอาคารหลังนี้ เมื่อเทียบกับอาคารอนุรักษ์อื่น ๆ ที่เคยปรากฏอยู่ในคอลัมน์ Heritage House ของผม อาจารย์ฐิติวุฒิเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังเป็นสถาปนิกผู้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจมาตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2564

ย้อนอดีตอาคารเรียนรวมยุคแรกที่สร้างด้วยราคาสุดประหยัด จนถึงการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมที่ช่วยเก็บความทรงจำแก่ลูกนนทรี

“ที่สำคัญคือตึกสุวรรณฯ ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคารเรียนในยุคแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยเมื่อราว ๆ 60 ปีก่อน และถ้าหากเราพิจารณารายละเอียดดี เราจะเห็นภาพชีวิตนิสิตเกษตรฯ ในยุคนั้นด้วย”

เมื่อ พ.ศ. 2566 สมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทยฯ ได้ประกาศให้โครงการอนุรักษ์ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับรางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดีมาก ด้วยพิจารณาแล้วว่าเป็นโครงการที่ซ่อมแซมและรักษาองค์ประกอบสำคัญทางสถาปัตยกรรมที่เคยเสื่อมสภาพจนกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และยังปรากฏอยู่เคียงคู่กับอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ได้อย่างกลมกลืน

“ราว ๆ พ.ศ. 2556 ทางมหาวิทยาลัยมีดำริจะสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ โดยเป็นอาคารสูง 12 ชั้นบนพื้นที่หลังตึกสุวรรณฯ ในตอนนั้นจึงได้รวบรวมทีมงานเพื่อทำการศึกษาและประเมินคุณค่า แล้วนำเสนอผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้รักษาตึกสุวรรณฯ เอาไว้ ทั้งนี้การออกแบบอาคาร 12 ชั้นและการอนุรักษ์ตึกสุวรรณฯ ต้องดำเนินควบคู่กันไป เพื่อให้ทั้งอาคารเก่าและอาคารใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว” 

“สำหรับโครงการอนุรักษ์ครั้งนี้ ผมได้นำนิสิตเข้ามาช่วยงานตั้งแต่ต้น เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลงมือทำจริง ๆ และหวังว่าจะสร้างบุคลากรที่สนใจงานอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต ที่สำคัญคือโครงการอนุรักษ์ตึกสุวรรณฯ ได้จุดประกายให้เกิดกระบวนการศึกษาอาคารประวัติศาสตร์อื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ต่อไปอีกด้วย” อาจารย์ฐิติวุฒิเอ่ยอย่างดีใจ

วันนี้คอลัมน์ Heritage House จึงขอพาทุกท่านออกจากวังและวัด แล้วจับรถไฟมุ่งสู่ทุ่งบางเขน เพื่อไปศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการอนุรักษ์อาคารสำคัญหลังนี้ไปพร้อมกัน

จากทุ่งสู่ทุ่ง

“ก่อนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะสถาปนาขึ้น ณ บริเวณทุ่งบางเขนแห่งนี้ เราเคยตั้งอยู่ที่วังกลางทุ่งมาก่อน” อาจารย์ฐิติวุฒิเริ่มเล่า วังกลางทุ่งหรือวังใหม่เป็นวังที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทาน สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย พระราชโอรสผู้เสด็จพระราชสมภพแต่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยความที่วังแห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมพ้องกับวังวินด์เซอร์ในอังกฤษ คนทั่วไปจึงเรียกขานกันว่าวังวินด์เซอร์อีกด้วย ตำแหน่งที่ตั้งของวังคือสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว

ย้อนอดีตอาคารเรียนรวมยุคแรกที่สร้างด้วยราคาสุดประหยัด จนถึงการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมที่ช่วยเก็บความทรงจำแก่ลูกนนทรี
วังกลางทุ่ง วังใหม่ หรือวังวินด์เซอร์ 
ภาพ : www.intania.com/winsor-palace

“เมื่อสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีฯ เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระตำหนักและพื้นที่โดยรอบให้เป็นที่ทำการของโรงเรียนสำคัญ เช่น โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเกษตราธิการ ซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ถ้าเราสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าพื้นที่เขตปทุมวันมีการแบ่งซอยออกเป็นตาราง (Grid) เพราะในอดีตเคยเป็นพื้นที่ทำการทดลองปลูกพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นการทดลองตามแนวทางของการเกษตรแผนใหม่ในยุคนั้น”

ใน พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม อธิบดีกรมช่างไหม กระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้ง โรงเรียนช่างไหม ขึ้น ณ เขตปทุมวัน โดยทรงว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า (Dr.Kametaro Toyama) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้เข้ามาทดลองปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามวิถีของญี่ปุ่น ด้วยทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าไหมจะกลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของชาติในอนาคต

ต่อมาใน พ.ศ. 2449 โรงเรียนช่างไหมได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เนื่องจากมีการเรียนการสอนวิชาการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ อีกหลายต่อหลายชนิดนอกจากหม่อน จน พ.ศ. 2451 ได้เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเกษตราธิการ สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ ร่วมกับโรงเรียนแผนที่และโรงเรียนกรมคลอง เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านการเกษตรแบบครบวงจรเพื่อป้อนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตราธิการในสมัยนั้น

ย้อนอดีตอาคารเรียนรวมยุคแรกที่สร้างด้วยราคาสุดประหยัด จนถึงการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมที่ช่วยเก็บความทรงจำแก่ลูกนนทรี
โรงเรียนเกษตราธิการ ณ วังกลางทุ่ง 
ภาพ : www.ku.ac.th/th/history-ku

“ราว ๆ พ.ศ. 2478 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้น ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอ พ.ศ. 2481 กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นที่อำเภอบางเขน กรุงเทพฯ และได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมาที่ทุ่งบางเขน โดยมี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผู้อำนวยการ และ พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาปนาขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

ย้อนอดีตอาคารเรียนรวมยุคแรกที่สร้างด้วยราคาสุดประหยัด จนถึงการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมที่ช่วยเก็บความทรงจำแก่ลูกนนทรี
ทุ่งบางเขน ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2493 มองเห็นวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ด้านหน้าวัดคือแนวถนนพหลโยธินเป็นถนนแคบ ๆ
ขอขอบคุณภาพถ่ายทางอากาศ ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน ข้อมูลโดย ณรงค์ หวังโซ๊ะ กลุ่มภาพเก่าในอดีต

ทุ่งบางเขนมีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต มีถนนประชาธิปัตย์ซึ่งตัดขึ้นเพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ กับทุ่งดอนเมืองก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นถนนพหลโยธินอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี

“การเดินมาทุ่งบางเขนนั้น นอกจากถนนแล้วก็มีรถไฟที่วิ่งจากสถานีหัวลำโพงไปทุ่งรังสิต โดยแวะจอดที่ทุ่งบางเขน สมัยนั้นรุ่นพี่ก็จะขี่จักรยานกันไปเป็นขบวน ไปชะเง้อคอยรอรับน้องใหม่กันที่สถานีรถไฟ แล้วพาเดินกลับมาด้วยกัน นับเป็นความอบอุ่นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องของชาวเกษตรฯ ในยุคแรก ๆ” 

อาจารย์ฐิติวุฒิเริ่มเล่าภาพชีวิตนิสิตเกษตรให้ฟัง ผมเคยอ่านบันทึกเกี่ยวกับการรับน้องเกษตรศาสตร์ในอดีต แล้วพบว่าบางปีพี่ ๆ ถึงกับมีขบวนรถแทรกเตอร์ ขบวนรถอีแต๋น หรือขบวนม้าเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับขบวนรถจักรยานเพื่อไปรอรับและพาน้อง ๆ กลับมหาวิทยาลัยด้วยกันอย่างสนุกสนาน

ย้อนอดีตอาคารเรียนรวมยุคแรกที่สร้างด้วยราคาสุดประหยัด จนถึงการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมที่ช่วยเก็บความทรงจำแก่ลูกนนทรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พุม ขำเกลี้ยง อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้บรรยายถึงบรรยากาศการรับน้องในช่วง พ.ศ. 2498 ไว้ว่ารุ่นพี่จะเฮโลไปรับน้องด้วยความตื่นเต้นยินดี แต่จะไม่ ‘โอ๋’ น้อง ๆ โดยเด็ดขาด เพราะรู้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังจะสร้างนักวิชาการการเกษตรที่ต้องอดทน งานเกษตรคืองานกลางทุ่งกลางป่ากลางเขากลางทะเล ไม่ใช่งานสบายในออฟฟิศ รุ่นน้องต้องรู้จักการใช้ชีวิตแบบเกษตรกรตั้งแต่วันแรก คำกล่าวที่ติดปากรุ่นพี่เสมอคือ ขี้วัวหรือขี้ไก่ยังต้องหอม และ ใครสำรวยจะอยู่ทุ่งบางเขนไม่ได้ 

อาคารเรียนก็เช่นกัน ทุ่งบางเขนไม่ต้องการความเลิศหรู ขอให้ตอบโจทย์ประโยชน์ใช้สอย เรียบง่าย และประหยัด เป็นพอ

สุวรรณวาจกกสิกิจ

ถ้าเราไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราจะพบเห็นคำว่าสุวรรณวาจากกสิกิจปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชื่อของถนน ตึก อาคาร ห้องประชุม ห้องเรียน สวน ฯลฯ รวมทั้งฟาร์มไก่ “หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อแรกก่อตั้ง ต่อมาเมื่อสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีคนแรก ๆ ด้วย” อาจารย์ฐิติวุฒิกล่าว

ย้อนอดีตอาคารเรียนรวมยุคแรกที่สร้างด้วยราคาสุดประหยัด จนถึงการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมที่ช่วยเก็บความทรงจำแก่ลูกนนทรี
หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ
ภาพ : Facebook สมาคมนิสิตเก่าคณะเกษตร กำแพงแสน

ราชทินนาม ‘สุวรรณวาจกกสิกิจ’ มีความหมายว่าการนำความรู้เรื่องการเกษตรไปสานต่อให้ออกดอกออกผลเป็นเงินเป็นทอง ซึ่งท่านคือบุคคลผู้ทำหน้าหน้าที่เช่นนั้นได้จริง และสร้างคุณูปการให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง ท่านคือผู้บุกเบิกให้เกษตรกรไทยทดลองเลี้ยงโคนม เพื่อผลิตนมสดอย่างที่เรารู้จักกันดีว่า ‘นมเกษตร’ ท่านช่วยยกระดับการเลี้ยงไก่ให้กลายเป็นอุตสาหกรรม มีการนำนวัตกรรมอย่างตู้ฟักไข่มาใช้ รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคในหมู่ประชาชนด้วยคำขวัญว่า กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องไปหาหมอ นอกจากนี้ท่านยังส่งเสริมการปลูกพืชสายพันธุ์ใหม่หลายชนิด เช่น ถั่วลันเตา บรอกโคลี มะเขือเทศ ฯลฯ จนกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“ที่เกษตรฯ มีสถานที่ที่ตั้งชื่อตามราชทินนามของท่านหลายที่ แต่ผมอยากให้จำถนนสุวรรณวาจกกสิกิจกันไว้ให้ดีนะครับ” อาจารย์ฐิติวุฒิรีบชี้ประเด็นสำคัญให้จดจำ 

“ความที่ทุ่งบางเขนนั้นมีพื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ จึงเป็นที่ตั้งของทั้งภาคการศึกษา นั่นคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ตั้งของหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งประกอบไปด้วยกรมกองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยาน กรมหม่อนไหม ฯลฯ ต่อมาได้มีดำริว่าควรจะแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างมหาวิทยาลัยกับกระทรวงเกษตรฯ ออกจากกันให้เป็นสัดเป็นส่วน ดังนั้นจึงมีการตัดถนนสายสำคัญขึ้นใน พ.ศ. 2500 นั่นคือถนนสุวรรณวาจกกสิกิจ และเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลต่อลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย” 

รวมทั้งตึกสุวรรณวาจกกสิกิจด้วย

ศูนย์เรียนรวมที่ (เคย) ใหญ่ที่สุดของชาวเกษตร 

ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรวม โดยเป็นอาคารที่จุนิสิตได้ถึง 300 คน เรียกได้ว่าใหญ่โตโอ่โถงที่สุดในขณะนั้น จึงมีชื่อเล่นว่าอาคารสามร้อยด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองพันธุ์ พูลสุวรรณ ผู้ออกแบบตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ

“สถาปนิกผู้ออกแบบตึกสุวรรณฯ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองพันธุ์ พูนสุวรรณ ท่านเป็นทั้งอาจารย์และสถาปนิกเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยในขณะนั้น เมื่อ พ.ศ. 2564 ทีมงานได้มีโอกาสสัมภาษณ์และขอให้ท่านเขียนบันทึกเพื่อเล่าถึงประวัติตึกสุวรรณฯ และท่านได้กรุณาเขียนเล่าด้วยลายมือเป็นจำนวน 4 หน้า ในขณะนั้นท่านมีอายุ 99 ปีแล้ว ดังนั้นจึงนับได้ว่าเราได้รับข้อมูลโดยตรงจากสถาปนิกเลยทีเดียว” อาจารย์ฐิติวุฒิเล่าถึงบุคคลที่สำคัญที่สุด

คราวนี้อาจารย์ฐิติวุฒิหยิบแผนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2493 พร้อมลายเส้นที่ระบุตำแหน่งถนนและตึกสุวรรณวาจกกสิกิจมาประกอบการอธิบาย

“ถนนสุวรรณฯ แบ่งพื้นที่เกือบจะกึ่งกลางออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ทางด้านบน ค่อนไปทางถนนวิภาวดีรังสิต และส่วนกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งอยู่ทางด้านล่าง ค่อนมาทางถนนพหลโยธิน”

จากนั้นอาจารย์ฐิติวุฒิหยิบแผนที่ฉบับ 2 มาให้ดูประกอบอีกฉบับ มาจากงานการศึกษาการวางผังแม่บทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนและกำแพงแสน พ.ศ. 2516

“แผนที่นี้แสดงให้เห็นอาคารที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในมหาวิทยาลัยมาแต่ต้น จะเห็นว่าส่วนมากเป็นอาคารแคบยาว เรียงตัวกันขนานไปเรื่อย ๆ โดยหันไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือหันในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อรับลมที่พัดมาจากทิศใต้พร้อมทั้งหลบแดดทางทิศตะวันออกและตก อาคารเรียนหรือหอพักนิสิตในสมัยนั้นไม่ใช่อาคารใหญ่ ส่วนมากจะเป็นอาคารไม้สูงราว ๆ 2 ชั้น ใต้ถุนโล่ง ซึ่งการก่อสร้างอาคารสาธารณะในช่วงนั้นต้องเน้นให้สอดรับกับสภาพอากาศในภูมิภาคร้อนชื้นเพราะยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ”

“ทีนี้มาพิจารณาดูเฉพาะตึกสุวรรณฯ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสุวรรณฯ เราจะเห็นว่าเป็นอาคารแคบยาวเช่นกัน แต่หันคนละทิศกับอาคารอื่น ๆ นั่นคือหันทิศขวางตะวัน เป็นแนวตะวันออก-ตก ซึ่งนอกจากจะไม่รับลมแล้วยังรับแดดอ้อมใต้อีกด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะถนนสุวรรณฯ เพิ่งตัดขึ้นมาใหม่ จึงต้องวางอาคารให้ขนานกันไปกับตัวถนน เรียกได้ว่าการสร้างตึกสุวรรณฯ นั้นให้ความสำคัญกับบริบทของผังมหาวิทยาลัยมากกว่าบริบทของดินฟ้าอากาศ” 

คราวนี้อาจารย์ฐิติวุฒินำหุ่นจำลอง (Model) ที่ทำขึ้นอย่างประณีตออกมาเพื่อใช้อธิบายอะไรบางอย่าง

ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอาคารแคบยาว สูง 2 ชั้น ใต้ถุนโล่ง ด้านบนเป็นศูนย์เรียนรวมสำหรับนิสิต 300 คน ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุด หลังคามีช่องรับแสงธรรมชาติ เป็นสถาปัตยกรรมของอาคารเรียนรวมเมื่อ 60 ปีก่อน

“หุ่นจำลองนิสิตได้ทำขึ้นตอนที่สำรวจตึกสุวรรณฯ และประมวลคำสัมภาษณ์ของอาจารย์ทองพันธุ์ผู้เป็นสถาปนิกไปพร้อม ๆ กันด้วย จากหุ่นจำลองที่เห็นอยู่ ผมรู้สึกว่าตึกนี้ไม่ธรรมดาเลย และความไม่ธรรมดานั้นเกิดจากข้อจำกัดที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้” อาจารย์ฐิติวุฒิเล่า

โจทย์ที่อาจารย์ทองพันธุ์ได้รับนั้นคือการสร้างตึกเรียนรวมสำหรับนิสิต 300 คน ซึ่งจะกลายเป็นตึกที่ใหญ่ที่สุด ณ เวลานั้น โดยเป็นตึกที่เน้นการใช้แสงและลมตามธรรมชาติ และยังต้องแก้ปัญหาอันเกิดจากการวางตัวตึกในทิศที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของดินฟ้าอากาศอีกด้วย โดยอาจารย์ได้รับงบประมาณเพียง 200,000 บาทไม่ขาดไม่เกิน ซึ่งอาจารย์ได้เขียนเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับงบประมาณการสร้างตึกสุวรรณฯ เอาไว้ในบันทึกข้อที่ 6 ว่า ราคาประมูลก่อสร้างคือ 190,000 (แสนเก้าหมื่น) บาท รอดตัว! ซึ่งแสดงว่าท่านทำโครงการให้อยู่ในงบได้สำเร็จและโล่งใจเป็นอย่างยิ่ง

บันทึกที่เขียนด้วยลายมืออาจารย์ทองพันธุ์ในวัย 99 ปี

“อาจารย์ทองพันธุ์เล่าว่าขณะนั้นนิสิตเกษตรขี่จักรยานกว่า 90% ใต้ถุนต้องเปิดโล่งเลยเพื่อให้เป็นที่จอดจักรยานนับร้อย ๆ คัน ถ้าไม่มีที่จอดจักรยานเดี๋ยวนิสิตหาย หาเรื่องโดดเรียนได้นะ (หัวเราะ) แล้วช่วงไหนที่ไม่มีชั่วโมงเรียน ใต้ถุนอาคารก็จะกลายเป็นพื้นที่ตลาด เมื่อก่อนมีฟาร์มไก่อยู่ด้านหลังตึก พอใต้ถุนโล่ง ก็ขนไข่ไก่กับผักสดต่าง ๆ มาขาย กลายเป็นพื้นที่พาณิชย์และสังสรรค์ของชาวเกษตรฯ กันไป”

“ส่วนชั้นบนเป็นศูนย์เรียนรวม ต้องจัดสรรเป็นห้องขนาดใหญ่ราว ๆ 12 x 28 เมตร และต้องโล่งมาก ๆ จึงไม่มีเสากลางที่อาจบดบังและสร้างความเกะกะสายตาเวลามีชั่วโมงเรียน ดังนั้นสถาปนิกจึงเลือกใช้ โครงสร้างหลังค้าไม้ถัก (Wooden Truss) พาดตลอดความกว้างของห้องแทน ซึ่งการนำไม้มาใช้ร่วมกับคอนกรีตในขณะนั้น ช่วยประหยัดงบค่าก่อสร้างแทนการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่นิยม”

“ตึกนี้เป็นตึกที่เน้นความประหยัดโดยใช้แสงธรรมชาติแทนการใช้ไฟฟ้า สถาปนิกได้จึงออกแบบช่องนำแสงธรรมชาติโดยเจาะเป็นช่วง ๆ เรียงตัวไปตามความยาวตลอดอาคาร ซึ่งต้องมีเทคนิคในการป้องกันฝนสาดลงมาด้วย ความที่ตึกสุวรรณฯ ไม่ได้วางตัวอยู่ในทิศรับลม จึงต้องหาวิธีจัดการกับความร้อนด้วยเช่นกัน สถาปนิกเลยออกแบบให้มีหน้าต่างบานเปิดคู่เรียงรายไปตามความยาวของอาคารเพื่อช่วยระบายความร้อน เหนือหน้าต่างยังเจาะเป็นช่อง ๆ แล้วกรุด้วยตาข่ายเหล็กสานเพื่อช่วยระบายความร้อนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น อย่าลืมว่าเมื่อก่อนไม่มีเครื่องปรับอากาศนะครับ พัดลมติดเพดานก็อาจไม่มีในระยะแรก ๆ ด้วยซ้ำ”

“โจทย์อีกอย่างคือการจัดการเรื่องแสง ความที่ตึกจะต้องเจอแสงแดดอ้อมใต้ซึ่งค่อนข้างแรง จึงมีการยื่นชายคาออกไปประมาณ 2 เมตร รวมทั้งใช้แผงกันแดดทำจากโครงไม้เนื้อแข็งกรุกระเบื้องใยหินร่วมด้วย โดยด้านที่มีแสงอ้อมใต้ส่องแรงกว่าจะมีแผงกันแดดยาวกว่า สำหรับตึกฝั่งที่เลียบไปกับถนนสุวรรณฯ สถาปนิกได้สร้างระเบียงทางเดินไว้ยาวตลอดตัวอาคารเพื่อไม่ให้ผนังอาคารรับแสงแดดโดยตรง แต่ให้แสงแดดตกกระทบลงบนพื้นทางเดินแทน นอกจากนี้การสร้างระเบียงทางเดินยังช่วยลดเสียงรถราที่วิ่งไปมาบนถนนไม่ให้ดังเข้าไปก่อกวนภายในห้องเรียนด้วย”

 ผนังตีซ้อนเกล็ดแนวตั้งเพื่อใช้บังแดดที่ปลายตึกทั้ง 2 ด้าน ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของตึกไป

“หลังคาเป็นหลังคาจั่ว ความชันประมาณ 15 องศา ปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์ใยหินหรือกระเบื้องลอนคู่ สำหรับปลายตึกทั้ง 2 ด้าน สถาปนิกออกแบบเป็นผนังไม้สักตีซ้อนเกล็ดแนวตั้งเพื่อใช้บังแดดเช่นกัน และกลายเป็นเอกลักษณ์อันสวยงามโดดเด่นของตึกที่ใคร ๆ ก็พูดถึงอีกด้วย”

“บันไดตึกสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นบันไดที่กล่าวกันว่าขึ้นลงสบาย ไม่เมื่อยเลย เพราะสถาปนิกมีหลักการออกแบบที่กล่าวกันว่าดีที่สุด”

เรียกว่าสถาปนิกเอาใจนิสิตและอาจารย์กันสุด ๆ เลยในตอนนั้น ตึกก็สวย มีห้องที่โล่ง กว้าง และสว่าง ไร้เสาระเกะระกะมาบดบังสายตา ระบายความร้อน กันแดด มีที่จอดรถจักรยานพร้อมตลาด แถมเดินขึ้นเดินลงได้โดยไม่เมื่อย ทั้งหมดราคาไม่เกิน 200,000 บาท คุณพระ! (อุทานพร้อมเอามือทาบอก) 

โครงการอนุรักษ์ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ

“ประมาณ พ.ศ. 2526 ตึกสุวรรณฯ ก็เปลี่ยนจากศูนย์เรียนรวมไปเป็นที่ตั้งสำนักงานธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ รวมทั้งร้านค้าและร้านอาหารจำนวนหนึ่ง พอ พ.ศ. 2554 ตึกก็เสียหายหนักมากจากเหตุการณ์น้ำท่วม สภาพทรุดโทรมลงจนไม่ได้ใช้งานอีกเลย พอ พ.ศ. 2556 ที่มหาวิทยาลัยมีดำริเรื่องสร้างอาคารใหม่ของสูง 12 ชั้นขึ้นด้านหลัง จึงมีการประเมินคุณค่าและโครงการอนุรักษ์ตึกสุวรรณฯ จึงเริ่มขึ้น”

พ.ศ. 2559 อาจารย์ฐิติวุฒิได้นำนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งเข้าทำการสำรวจ รางวัด และประเมินสภาพตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ พร้อมทั้งสัมภาษณ์อาจารย์ทองพันธุ์ ผู้เป็นสถาปนิก เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาจัดสร้างแบบจำลองขึ้นให้ตรงตามตึกต้นฉบับที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2506

“การที่มีธนาคารหรือสำนักงานไปรษณีย์มาตั้งอยู่เป็นเวลาหลายปีย่อมเกิดผลกับตึกแน่นอน เพราะต้องมีการก่อสร้าง ปรับปรุง และต่อเติมตึกไปพอสมควร เช่น มีการทำห้องนิรภัยเพื่อเก็บรักษาเงินสด ฯลฯ ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าตึกสมัยแรกสร้างนั้นเป็นอย่างไร และพยายามหาทางอนุรักษ์ให้ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด” 

สำหรับวิธีการอนุรักษ์นั้น อาจารย์ฐิติวุฒิเลือกใช้วิธีรื้อและสร้างใหม่ (Reconstruction) โดยการอนุรักษ์วิธีนี้จะต้องประเมินการใช้สอยตึกในอนาคต จะได้นำมาออกแบบหรือเสริมโครงสร้างใหม่ ๆ เพื่อให้รองรับน้ำหนักได้เพียงพอกับการใช้งานในอนาคต โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับขนาดและรูปแบบดั้งเดิมอย่างเด็ดขาด

“เราก็สรุปกันว่าชั้นล่างที่เคยเป็นลานโล่ง ๆ นั้น เราจะปรับให้เป็นพื้นที่ร้านกาแฟที่ใคร ๆ ก็มานั่งเล่นได้ ที่เลือกเป็นร้านกาแฟเพราะเป็นพื้นที่สำหรับพบปะชุมนุมสังสรรค์กัน หากย้อนไปในอดีต บริเวณใต้ถุนก็เคยเป็นที่สำหรับจอดจักรยานและตลาดขายไข่ไก่และผักสด ซึ่งก็เป็นพื้นที่พบปะชุมนุมสังสรรค์ของชาวเกษตรฯ มาก่อนเช่นกัน ร้านกาแฟที่มาเช่าพื้นที่นั้นต้องเช่าเต็มพื้นที่ แบ่งซอยให้เล็กลงไปไม่ได้ เพื่อรักษาบรรยากาศความเป็นใต้ถุนโล่ง ๆ แบบเดิมเอาไว้ และต้องใช้เฉพาะเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเท่านั้น เพื่อไม่สร้างความเสียหายให้พื้นที่”

ใต้ถุนด้านล่าง ปรับปรุงให้เป็นร้ากาแฟขนาดใหญ่ 

ส่วนชั้นบนจะให้เป็นหอประวัติคณะวิทยาศาสตร์ (Inspiration Center Faculty of Science KU) ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงผลงานวิจัยและประวัติของคณะวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้ง ซึ่งจะมีทั้งพื้นที่นิทรรศการถาวร หมุนเวียน รวมทั้งมุมเสวนาและกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เพราะในอดีตบริเวณนี้คือศูนย์เรียนรวมอันเป็นแหล่งความรู้ ณ วันนี้ก็ควรกลับไปเป็นพื้นที่ที่สร้างคุณูปการในลักษณะเดิม

ชั้นบนที่เคยเป็นศูนย์เรียนรวมจะกลายเป็นหอประวัติคณะวิทยาศาสตร์ที่ประกอบไปด้วยนิทรรศการ มุมเสวนา ฯลฯ

การรื้อตึกทั้งหลังนั้นเกิดขึ้นโดยมีหลักการการทำงานที่พอจะอธิบายสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแยกสิ่งแปลกปลอมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอาคารต้นฉบับออกมาให้หมด จากนั้นก็คัดเลือกและจัดจำแนกวัสดุตามคุณภาพเพื่อนำไปจัดการอย่างเหมาะสม เช่น วัสดุที่อยู่ในสภาพดี ก็เพียงแต่นำไปทำความสะอาดและรักษาไว้อย่างเป็นระบบ วัสดุใดต้องซ่อมบำรุง ก็นำมาจัดการเสีย เพื่อจะได้นำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนวัสดุใดที่เสื่อมสภาพ ก็แยกเก็บไว้ต่างหาก เพื่อพิจารณาว่าจะรักษาต่อไปหรือจะนำไปทำอย่างอื่น และสุดท้ายคือพิจารณาว่าวัสดุเดิมนั้นเหมาะสมกับการใช้สอยอาคารแบบใหม่หรือไม่ หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปใช้วัสดุที่แข็งแรงกว่า ทนกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ การอนุรักษ์แต่ละส่วนอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป

“อย่างโครงสร้างหลังคาไม้ถัก หรือ Wooden Truss เราพยายามรักษาไว้ตามลักษณะเดิม เพียงแต่เสริมโครงเหล็กให้แข็งแรงขึ้น แล้วก็ตัดสินใจว่าจะเปิดให้เห็นโครงสร้างไม้ชุดนี้ เพราะเป็นหนึ่งในเทคนิคที่สถาปนิกเลือกใช้เพื่อทำให้พื้นที่โล่ง ไม่ต้องมีเสากลาง และยังเป็นโครงสร้างไม้ที่มักพบได้ตามโรงสีหรือโกดังโบราณริมแม่น้ำ ซึ่งนับวันจะหายากเพราะเหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงควรเปิดให้ได้ชมกัน”

“หรืออย่างหลังคา เดิมเป็นหลังคาลอนคู่ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นหลังคาเหล็กชุบสังกะสีมีฉนวนกันความร้อนแทน เพราะอาคารนี้จะต้องติดเครื่องปรับอากาศตามสภาพการใช้งานใหม่ ทีนี้ช่องรับแสงธรรมชาติที่เคยมีในอดีตก็จะหายไป เราจึงรักษาบรรยากาศของช่องรับแสงเหล่านั้นไว้โดยใช้หลอดไฟแทน และกำหนดให้ส่องแสงในลักษณะใกล้เคียงอาคารต้นฉบับ การอนุรักษ์เช่นนี้เป็นการอนุรักษ์เส้นแสงตามวิถีเดิม”

“บริเวณระเบียงทางเดินเราก็รักษาไว้ตามแบบเดิม พร้อมหน้าต่างบานเปิดคู่ด้วย เพราะทั้งระเบียงและหน้าต่างคือวิธีง่าย ๆ ในการจัดการเรื่องแสงและความร้อนที่สถาปนิกนำมาใช้ พื้นระเบียงจะช่วยรับแสงให้ตกกระทบแทนผนังอาคาร ช่วยลดความร้อนที่จะเข้าไปในห้อง และยังช่วยลดเสียงรบกวนจากรถยนต์ที่วิ่งไปมาบนถนนสุวรรณฯ ไม่ให้เข้ามากวนในห้องเรียนอีกด้วย ส่วนหน้าต่างเปิดบานคู่ก็ช่วยระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว” 

“แผงกันแดดที่เดิมเป็นใยหินก็ต้องรักษาไว้ เพราะนี่คือการจัดการเรื่องแสงและความร้อนที่สถาปนิกเลือกใช้ซึ่งทั้งประหยัดและได้ผลดีมาก ๆ โดยจะเห็นว่าด้านหลังเป็นแผง 5 ชั้น เพื่อกันแสงจากแดดอ้อมใต้ ส่วนด้านหน้าตึกมีเพียง 3 ชั้นพอ”

หน้าต่างบานเปิดคู่และแผงกันแดด ด้านหลังตึกมี 5 ชั้น เพื่อกันแดดอ้อมใต้

“แน่นอนว่าบันไดเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่เราต้องรักษาของเดิมไว้ให้ได้ ซึ่งผมถึงกับทำแบบขยายพิเศษเพื่อศึกษารายละเอียดกันเลยทีเดียว บันไดนี้เป็นบันไดที่อาจารย์ทองพันธุ์ออกแบบตามแนวพระดำริของสมเด็จครู”

สมเด็จครู คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับพระสมัญญาว่านายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม และมีผู้ยกย่องว่าทรงออกแบบบันไดที่ขึ้น-ลงได้สบาย แทบไม่เมื่อยเลย สำหรับสัดส่วนที่ทรงใช้ออกแบบบันไดนั้นปรากฏในลายพระหัตถ์ถวาย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 ความว่า 

การทำกระไดต้องพิจารณาเนื้อที่ว่ามีจะทำได้ยาวเท่าไร ถ้ามีที่ยาวมากก็ควรทำขั้นให้กว้าง ถ้ามีที่ยาวน้อยก็ควรทำขั้นให้แคบ แต่ถึงจะบีบขั้นให้แคบก็ไม่ควรให้แคบกว่าส่วนยาวแห่งเท้าคน คือ 25 เซนติเมตร ไม่เช่นนั้นก็จะขึ้นลงลำบาก ตามปกติแห่งกระไดเรือนแล้วทำขั้นกว้าง 30 เซนติเมตรเป็นพอดี ถ้าขั้นกว้างทางส่วนสูงก็ต้องให้เตี้ยลง ถ้าขั้นแคบทางส่วนสูงก็ต้องให้สูงขึ้น เขากำหนดส่วนให้ทำดังนี้

เอา 60 เซนติเมตรอันเป็นขนาดย่างก้าวของมัชฌิมบุรุษตั้งลง เอาขนาดกว้างแห่งขั้นหักออกเสีย เหลือเท่าใดเอา 2 หาร ลัพธ์นั้นเป็นบังขั้น คือขนาดสูงแห่งขั้นกระได

ตัวอย่าง 60 – 30 = 30 / 2 = 15 เป็นต้น หรือยักย้ายให้ขั้นแคบเป็น 60 – 26 = 34 / 2 = 17 ก็ได้เหมือนกัน

อาจารย์ฐิติวุฒิกล่าวว่า “ตอนผมทำแบบขยายบันไดที่อาจารย์ทองพันธุ์ออกแบบไว้ เมื่อลองนำมาคำนวณกับสูตรที่สมเด็จครูทรงกำหนด ผมพบว่าผลออกมาใกล้เคียงกันมาก ต่างกันแค่ 1 เซนเท่านั้น บันไดของตึกสุวรรณฯ จึงเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญที่ควรรักษาไว้เพื่อศึกษาต่อไปในอนาคต”

บันไดสำคัญ
แบบขยายบันไดตึกสุวรรณฯ ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ

และแน่นอนว่าส่วนสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของตึก นั่นคือผนังตีซ้อนเกล็ดแนวตั้งที่ใช้บังแดดที่ปลายตึกทั้ง 2 ด้าน ก็ต้องอนุรักษ์ไว้ด้วยเช่นกัน

“น่าเสียดายว่าโครงไม้และผนังไม้เดิมเสียหายทั้งหมด และนำกลับมาใช้ไม่ได้ จึงต้องใช้โครงเหล็กและผนังไฟเบอร์ซีเมนต์แทน นำมาติดตั้งโดยยึดตามรูปแบบเดิมทุกประการ เชื่อว่าผนังตีซ้อนเกล็ดแนวตั้งนี้จะยังคงใช้บังแดด และเป็นเอกลักษณ์ของตึกสุวรรณฯ ต่อไปเช่นที่ผ่านมาตลอด 60 ปี”

เก่า-ใหม่อยู่ร่วมกันได้

วันนี้เราทุกคนไปเยี่ยมชมตึกรางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดีมาก หลังนี้ได้ในนามหอประวัติคณะวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ 60 พรรษาที่สูงตระหง่านอยู่ด้านหลัง นอกจากจะมาสังเกตลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารเรียนรวมในสมัยก่อนแล้ว ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจในหอประวัติแห่งนี้ด้วย เช่น นิทรรศการอันเกี่ยวเนื่องกับพระจริยวัตรใน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ขณะทรงศึกษาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเคยทรงเป็น สมเด็จอาจารย์ ของนิสิตเกษตรฯ ในสมัยก่อน

นิทรรศการอันเกี่ยวกับพระราชจริยวัตรของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการจัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาตั้งแต่ก่อคณะที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในเชิงวิทยศาสตร์ตั้งแต่เริ่มแรกซึ่งน่าดูมาก ๆ

การจัดแสดงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ในอดีตซึ่งน่าดูมาก

“อย่าลืมดูต้นจามจุรีต้นใหญ่ซึ่งเป็นต้นเดิมที่อยู่ตรงนี้มานานมาก และก็เป็นอีกสิ่งที่พวกเราตั้งใจอนุรักษ์ไว้ด้วยเช่นกันนะครับ” อาจารย์ฐิติวุฒิบอกใบ้สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ห้ามพลาด

วันนี้ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี ทอดตัวรับกับกลุ่มอาคารใหม่ได้อย่างงดงามและลงตัว สมดังความตั้งใจที่กำหนดไว้แต่แรกของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและสถาปนิก

อาจารย์ทองพันธุ์ได้เขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับตึกสุวรรณวาจกกสิกิจไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า

กระผมขอคารวะต่อคณะผู้บริหารและสถาปนิก วิศวกร ของมหาวิทยาลัย ที่มองเห็นคุณค่าประวัติศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย โดยทำการอนุรักษ์ตึกหลวงสุวรรณฯ ไว้อย่างสวยงาม เป็นอนุสรณ์แก่ชาวเกษตรศาสตร์ให้อุ่นใจ ระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ให้กำเนิดสถาบันนี้ชั่วกาลนาน

ผมขอเอาใจช่วยให้โครงการดี ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นกับตึกประวัติศาสตร์อื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทุก ๆ ที่ เพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการ ประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจของเราทุกคน

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาปนิกผู้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ

เอกสารอ้างอิง
  • สำเนาบันทึกลายมือเรื่องประวัติอาคารหลวงสุวรรณฯ และศูนย์เรียนรวม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทองพันธุ์ พูลสุวรรณ
  • ป้าป้อนหลาน พระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์
  • ก้าวเข้าสู่ควอร์เตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต – ควอร์เตอร์ที่หนึ่ง โดย หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์
  • www.ku.ac.th/th/history-ku
  • Facebook : สมเด็จครู จากโพสต์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ข้อมูลอ้างถึงเรื่อง บันไดในงานสถาปัตยกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ