รถไฟ (จะ) ไปโคราช

บอกเล่าก่อนเดินทาง เรื่องนี้เขียนจากความทรงจำของการนั่งรถไฟไปโคราช และภาพถ่ายบันทึกไว้ก่อนโควิดระบาด พร้อมแล้วก็เริ่มเลย

ตอนเด็กๆ เราเคยได้ยินเพลง “รถไฟจะไปโคราช ตดดังป้าดถึงราชบุรี” กันไหมครับ ซึ่งเราก็งงเหมือนกันว่าถ้ารถไฟที่มุ่งหน้าไปโคราชที่สายอีสาน ตดดังป้าดไปถึงราชบุรีที่อยู่สายใต้ได้ยังไง ถึงขั้นเอาแผนที่มากางเลยว่าตดอีท่าไหน ทำไมข้ามภาคไปได้ขนาดนั้น 

สมัยเด็กๆ (อีกแล้ว) เราก็ท่องจำว่าทางรถไฟสายแรกคือกรุงเทพฯ-ปากน้ำ แต่ถ้าทางรถไฟของรัฐบาลสายแรกของไทยคือกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งเปิดให้บริการช่วงแรกกรุงเทพฯ-กรุงเก่า (อยุธยา) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 การมาถึงของทางรถไฟรัฐบาลสายนี้ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวด้วยอยู่เนืองๆ 

ในตอนนั้นมีประเทศที่สร้างรถไฟนำเราไปแล้วหลายประเทศในละแวกเดียวกัน ไม่ว่าจะอินโดนีเซียที่มีก่อนชาวบ้านเขาเลย ตามมาด้วยพม่า มลายู เวียดนาม ซึ่งสยามตอนนั้นยังไม่มีรถไฟเลยแม้แต่สายเดียว 

รัฐบาลตัดสินใจสร้างเส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นสายแรก ด้วยเหตุผลทั้งการเมืองที่คุกรุ่นจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก รวมถึงภูมิประเทศที่เรียกได้ว่าใกล้กรุงเทพฯ แต่เดินทางยากเสียเหลือเกิน เพราะมีเทือกเขาดงพญาไฟตั้งขวางโคราชกับกรุงเทพฯ เอาไว้ แถมเส้นเดินทางธรรมชาติก็ได้แค่ทางเท้า ไม่ใช่ทางน้ำเหมือนทางเหนือ 

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง
ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถูกสร้างไปเรื่อยๆ จนเสร็จบางส่วน เปิดให้ใช้งานได้จากกรุงเทพฯ ถึงกรุงเก่า รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟเที่ยวแรก จากสถานีกรุงเทพ ถึงสถานีกรุงเก่า (สถานีอยุธยาในปัจจุบัน) ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 (ถ้านับตามปฏิทินปัจจุบันก็ตรงกับ พ.ศ. 2440) และเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟของรัฐบาลเป็นครั้งแรกในอีก 2 วันถัดมา ระหว่างนั้นทางรถไฟก็สร้างผ่านดงพญาไฟ เมืองปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน และถึงสถานีโคราช พร้อมเปิดใช้เต็มสายเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.​ 2443

ดูประวัติยาวนานใช่ไหมครับกว่าจะไปถึงโคราชได้ 

การสร้างรถไฟสมัยนั้นมันไม่ง่ายเลย เครื่องทุ่นแรงก็ไม่ค่อยมี แถมป่าดงก็ไม่ธรรมดา ทั้งสัตว์ร้าย ไข้ป่าสารพัด กว่ารถไฟจะสร้างเสร็จ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดเมืองโคราชให้เดินทางเข้าหากรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย เส้นทางเดินเท้าเข้าป่าก็เปลี่ยนไปเป็นรางเหล็ก 

ความน่าประทับใจของเส้นทางรถไฟสายโคราชสำหรับเนิร์ดรถไฟอย่างเรา คงเป็นการได้นั่งรถไฟผ่านภูเขาที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด ไปกลับวันเดียวกันได้ มีทัศนียภาพชวนมอง โดยเฉพาะตั้งแต่สถานีมาบกะเบาจนถึงสถานีคลองไผ่ แถมยังมีสถานที่สำคัญที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์กระจายอยู่ตามเส้นทางสายนี้ ระยะทางแค่ 200 กว่ากิโลเมตร ก็ถือว่าครบเครื่องไม่เบาเลยทีเดียว เหมือนชุดอาหารจานใหญ่ที่พร้อมเสิร์ฟให้อิ่มตาอิ่มใจ

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

ก่อนที่เส้นทางสายนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากการสร้างรถไฟทางคู่ เพื่ออัปเกรดคุณภาพการเดินทางให้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องเปลี่ยนไปหลายอย่าง เราจะพาทุกคนขึ้นขบวนรถไฟกันไปแบบอาหาร 3 คอร์ส ที่พร้อมเสิร์ฟตั้งแต่อาหารเรียกน้ำย่อย อาหารจานหลัก และของหวาน ทำให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

พร้อมแล้ว ออกเดินทางกันได้เลย

Appetizer : กรุงเทพฯ-แก่งคอย

ขบวนรถไฟที่เหมาะกับการนั่งไปโคราชมีหลายขบวน ซึ่งขบวนรถไฟสายอีสานที่ปลายทางสุรินทร์และอุบลราชธานีผ่านสถานีนครราชสีมาทุกขบวน สำหรับคนอยากเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ขบวนที่แนะนำคือรถเร็ว 135 กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ที่ออกจากสถานีกรุงเทพ 06.40 น. ผ่านจุดสำคัญตามเส้นทาง มีหน้าต่าง Open Air ให้สัมผัสอากาศข้างนอกตัวรถได้ รวมถึงไม่พลาดจะถ่ายรูปสถานีสำคัญที่รถไฟผ่าน ก่อนจะเทียบชานชาลาสถานีนครราชสีมาในช่วงเที่ยง 

ช่วงแรกนี้เหมือนเป็นแค่อาหารเรียกน้ำย่อย เส้นทางโดยทั่วไปไม่ได้มีอะไรหวือหวามากนักนอกจากการห้อตะบึงไปตามทุ่งนาของที่ราบภาคกลาง 

สถานที่แรกที่มีร่องรอยประวัติศาสตร์เหลืออยู่ตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ มา นั่นคือ ‘พลับพลาสถานีบางปะอิน’ 

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

พลับพลาที่ประทับแห่งนี้เป็นอาคารไม้สักชั้นเดียวสีเหลืองไข่ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันตก มีคลองต่อออกไปถึงพระราชวังบางปะอินได้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว ชายหลังคามีลวดลายฉลุประดับอยู่บนไม้ มีมุขหกเหลี่ยมยื่นมาทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ 

บานประตูของพลับพลารวมถึงหน้าต่างประดับกระจกสีลวดลายต่างๆ ทั้งดอกไม้ หญิงสาว นก เรือ กล้องส่องทางไกล ฯลฯ ส่วนด้านบนฝ้าเพดานตกแต่งลวดลายสวยงาม มีพระปรมาภิไธย จปร. ประดับอยู่ด้วยเช่นกัน พลับพลานี้ใช้เป็นที่ประทับ รับรองพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟมาบางปะอิน และยังเป็นอีกหนึ่งอาคารสวยงามของสถานีรถไฟที่เราเห็นได้จนถึงทุกวันนี้

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

ออกจากอยุธยา เส้นทางรถไฟก็จะวางตัวผ่านที่ราบภาคกลาง ผ่าน ‘สถานีชุมทางบ้านภาชี’ เป็นทางแยกระหว่างสายเหนือกับสายอีสาน เมื่อก่อนมีของขึ้นชื่อที่นี่นั่นคือไอติมกะทิบ้านภาชี เป็นไอศกรีมกะทิหวานเจี๊ยบสีขาวในแก้วพลาสติกขนาดพอดี ปักหลอดลงไปตรงกลางแล้วก็ดูดๆ เรียกว่าถ้ามาถึงภาชีแล้วไม่ได้ซื้อไอศกรีมถือว่าภารกิจไม่สำเร็จ 

พอออกจากสถานีบ้านภาชีแล้ว เราก็เข้าสู่เส้นทางสายอีสานอย่างสมบูรณ์ หลังจากวิ่งร่วมกับสายเหนือมาตั้งแต่กรุงเทพฯ เส้นทางผ่านเข้าตัวเมืองสระบุรีมาถึง ‘สถานีชุมทางแก่งคอย’ เป็นสถานีขนาดใหญ่ที่ยังเป็นจุดสุดท้ายของที่ราบภาคกลาง

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

แก่งคอยเป็นเมืองสำคัญที่เติบโตมาจากรถไฟ ชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเคยเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมก่อนวันที่รถไฟจะมาถึง พอการสร้างทางรถไฟเลยปากเพรียว (สระบุรี) มาถึงแก่งคอย ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของที่ราบภาคกลาง การสร้างสถานีต้องมีย่านขนาดใหญ่เพื่อรองรับการพักรถไฟ มีโรงรถที่คอยซัพพอร์ตการลากจูงขึ้นภูเขา ซึ่งจะว่าไปแล้ว พอรถไฟมาถึงก็เกิดเป็นแหล่งชุมชนขึ้น จากทั้งคนงาน คนรถไฟ ผสมกับคนที่ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ ทำให้แก่งคอยเป็นเมืองที่เรียกได้ว่า ‘เติบโตเพราะรถไฟ’ จริงๆ 

ที่สถานีชุมทางแก่งคอย เมื่อเรามองไปทางทิศตะวันออก จะเห็นแนวภูเขาที่ขวางทางรถไฟเอาไว้ นั่นคือเทือกเขาดงพญาเย็น กำแพงธรรมชาติที่เหมือนจะกั้นระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน และแน่นอนว่าทางรถไฟของเราต้องข้ามภูเขานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

Main Course : แก่งคอย ปากช่อง ดงพญาเย็น

ได้เวลาเสิร์ฟอาหารจานหลักแล้ว

จำภูเขาที่มองเห็นจากแก่งคอยได้ไหมครับ

นับย้อนไปก่อนที่รถไฟจะเกิดขึ้นในประเทศไทย การสัญจรจากเมืองโคราชเข้ามาที่กรุงเทพฯ ต้องเดินเท้าผ่านทางเกวียนเก่า แต่การผ่านเขานั้นก็มีช่องที่ผ่านได้แค่ไม่กี่ที่ ถ้าเน้นการค้าและมีเกวียนก็ใช้เส้นทางเข้าช่องตะโก ปราจีนบุรี แปดริ้ว แล้วเข้ากรุงเทพฯ ถ้าแค่เดินเท้าหรือช้างผ่านลงมาตามภูเขาที่สูงชัน ก็จะมีช่องสำราญที่ลำสนธิ ส่วนอีกที่คือช่องดงพญาไฟนี่แหละ แน่นอนว่าทางรถไฟเส้นนี้ใช้แนวเส้นทางช่องดงพญาไฟเพื่อตัดผ่านไปที่ปากช่อง และเป็นจุดสุดท้ายที่เราจะเจอภูเขาสูงของดงพญาไฟ ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็น เพื่อลดความดุดันของป่าซึ่งอุดมไปด้วยสัตว์ร้ายและไข้ป่า 

ล้อเหล็กค่อยๆ เคลื่อนออกจากสถานีชุมทางแก่งคอย พร้อมต้นไม้ที่เริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้จะรู้สึกว่ารถไฟวิ่งเร็วกว่าเดิม เพราะเป็นทางขึ้นๆ ลงๆ ตามเนินเขา แล้วอยู่ๆ ก็เหมือนรถไฟจะค่อยๆ ไต่สูงขึ้นไป พร้อมความเร็วที่เริ่มลดลงและเสียงคำรามของเครื่องยนต์รถจักรที่ดังขึ้นเรื่อยๆ 

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

เราอยู่กันที่ ‘เนินทับกวาง’

เนินทับกวาง หรือในปัจจุบันเรียกกันว่า เนินมาบกะเบา อยู่ระหว่างสถานีชุมทางแก่งคอยกับสถานีมาบกะเบา เป็นเนินทางตรงยาวหลายกิโลเมตร ถึงขนาดมองไปท้ายขบวนรถไฟจะเห็นเป็นทางเนินยาวขึ้นมาสูงเรื่อยๆ ที่ปลายเนินนั้นคือ ‘สถานีรถไฟมาบกะเบา’ สถานีที่เหมือนปากทางเข้าป่าของรถไฟ ซึ่งเราต้องบุกตะลุยเข้าดงไปอีกหลายกิโลเมตร 

การตัดทางรถไฟในยุคนั้นไม่ได้มีเทคโนโลยีเทียบเท่าปัจจุบัน การสำรวจต้องเดินเท้าหรือไปโดยช้างค่อยๆ ไล่ไปตามจุดที่ตัดทางผ่านได้ ไม่ชันมากเกินไป ช่วงนี้ใครนั่งรถไฟก็จะตื่นเต้นกันหน่อย เพราะการนั่งรถไฟขึ้นเขาที่มองดูรถไฟเข้าโค้ง จะเห็นทั้งขบวนซ้ายทีขวาที สนุกจะตาย

นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง
นั่งรถไฟไปโคราช ฝ่าดงพญาเย็นแสนงาม ชมเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

ผ่านไปราวๆ 5 กิโลเมตรจากสถานีมาบกะเบา สถานที่สำคัญแรกที่เราเจอคือ ‘ผาเสด็จพัก’

ผาเสด็จพักเป็นชะง่อนหินขนาดใหญ่ที่วางตัวซ้อนกัน อยู่ห่างจากทางรถไฟไปไม่กี่เมตร บนหินนั้นมีจารึกพระปรมาภิไธย จปร. (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) สผ. (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) และ ร.ศ.115 อันเป็นวันที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่ เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างทางรถไฟสายโคราช 

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

มีเรื่องเล่าอยู่ว่า การก่อสร้างทางต้องแผ้วถางต้นไม้และสกัดหินจากภูเขาไปตลอดทาง มีภูเขาหินช่วงหนึ่งที่ไม่สามารถระเบิดได้ คนที่ไประเบิดหินเจ็บป่วยบ้าง ล้มตายบ้าง ชาวบ้านก็ว่าที่นี่มีเจ้าป่าเจ้าเขารักษาอยู่ ถ้าไม่ขอเขาก็ทำอะไรไม่ได้ ความรู้ถึงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงให้เอาตราแผ่นดินไปตอกกับต้นไม้ใหญ่ แล้วอยู่ๆ ต้นไม้นั้นก็ยืนต้นตายไป และสร้างศาลเพียงตาไว้ที่ตรงนั้น ถึงได้ระเบิดหินต่อไปได้

นอกจากเรื่องเล่าแล้ว ยังมีเรื่องที่บันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

บันทึกของ ลูอิส ไวเลอร์ (Luis Weiler) อดีตผู้บัญชาการรถไฟชาวต่างชาติ สมัยที่ยังเป็นวิศวกรคุมงานก่อสร้างทางรถไฟสายโคราชนั้นได้บอกไว้ว่า

“เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1896 ได้มีการเตรียมพื้นที่เพื่อรอรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ตำบลหินลับ ไวเลอร์ได้ทำทางขึ้นลงแบบบันไดมีราวจับ ให้อยู่ใกล้กับหินก้อนใหญ่ที่ยื่นออกมาเพื่อให้พระพุทธเจ้าหลวงทรงจารึกข้อความ และในวันที่ 24 ธันวาคม 1896 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จมาเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ขบวนรถไฟพระที่นั่งความยาว 3 คันได้มาจอดที่หน้าพลับพลาที่สร้างขึ้นเฉพาะ ก่อนที่จะเสด็จต่อไปอีก 700 เมตรมาถึง กม.136.5 ตรงที่มีชะง่อนหินนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยชอล์ก และทรงตอกหินด้วยพระแสงสิ่วและค้อนทอง ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับวิศวกร เจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะเสด็จกลับในเวลา 6.30 นาฬิกา”

ซึ่งต่อมาสถานที่นั้นก็ได้ชื่อว่า ผาเสด็จพัก ตามเหตุการณ์สำคัญนั้นนั่นเอง

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ออกจากผาเสด็จพักและสถานีรถไฟผาเสด็จ รถไฟจะผ่านช่องเขาอยู่ช่องหนึ่ง ซึ่งเราจะเห็นได้ด้วยตาว่าก้อนหินนั้นมีเหลี่ยมคมและดูแข็งมากทีเดียว 

พื้นที่นี้ถูกเรียกว่า ‘ตำบลหินลับ’ 

หินลับที่ไม่ได้มาจากคำว่า ลึกลับ แต่มันเป็นหินที่แข็งและนำไปทำเป็นหินลับมีด นี่คือที่มาของชื่อหินลับ 

ไม่ใช่แค่ช่องเขานั้น ตั้งแต่สถานีผาเสด็จจนถึงสถานีหินลับ มีทัศนียภาพที่หากไม่ได้นั่งรถไฟมา เราจะไม่เห็นสิ่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโรงปูนบริษัท ทีพีไอ โพลีน ที่ซุกตัวอยู่ในหุบเขานั้น ไซโลปูนขนาดใหญ่สูงเด่นชัดจนเหมือนสถานีปล่อยจรวด ดูขัดกับสภาพแวดล้อมรอบข้างที่เป็นต้นไม้เขียว 

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่หินลับก็ยังเป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองอีกด้วย ที่นี่เคยเป็นพื้นที่ปะทะระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏ โดยมีรถไฟเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายกำลังพลด้วย และนายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ถูกฝ่ายทหารจากกองพันทหารราบที่ 6 ยิงเสียชีวิตในที่รบบริเวณจุดนี้ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

จากสถานีหินลับออกมาทางรถไฟ เริ่มเลาะออกไปทางขอบเขาและเห็นแอ่งขนาดใหญ่จากหน้าต่าง เราจะรู้สึกได้ว่ารถไฟค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นเหมือนกำลังลงเขา เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นแอ่งมวกเหล็กอยู่ด้านหน้านั้น

‘แอ่งมวกเหล็ก’ เป็นที่ตั้งของอำเภอมวกเหล็กและสถานีรถไฟมวกเหล็ก ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกระทะอยู่ระหว่างขอบสองขอบ ด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาดงพญาเย็น ด้านตะวันออกเป็นเนินกลางดงที่ยกตัวขึ้นแล้วค่อยๆ ลาดเอียงไปทางปากช่อง ด้วยความสูงของขอบแอ่งกระทะฝั่งกลางดงนั้น ทำให้ทางรถไฟยกข้ามไปตรงๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องวกไปตามห้วยมวกเหล็ก แล้วโค้งตวัดกลับมาจนเป็นรูปตัว U ก่อนจะค่อยๆ ไต่เขาขึ้นไปจนถึงขอบแอ่งกระทะนั้น ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้เปิด Google Maps แล้วหาสถานีรถไฟมวกเหล็ก ค่อยๆ ดูตามแผนที่ทางรถไฟ จะเห็นโค้งรูปเกือกม้านั้นได้อย่างชัดเจน

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ตรงนี้แหละเป็นจุดที่เราชอบมาก ทางรถไฟโค้งตวัดอยู่นานทีเดียว แล้วถ้าช่วงฤดูไหนที่ต้นไม้ไม่หนาทึบ เราจะมองเห็นสถานีรถไฟมวกเหล็กไกลๆ ผ่านพงไม้ค่อยๆ ต่ำลงไป ก่อนจะลับสายตาเมื่อขบวนรถไฟตีโค้งไปทางทิศตะวันออกสู่ขอบแอ่ง จากนั้นทางรถไฟก็จะพาดตัวยาวผ่านกลางดง ปางอโศก ไปถึงจุดสูงที่สุดของทางรถไฟสายโคราช และนับเป็นจุดที่สูงที่สุดของทางรถไฟสายอีสานทั้งเส้น

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ที่นี่คือมอหลักหิน’ ตั้งอยู่ระหว่างสถานีปางอโศกและสถานีบันไดม้า จุดสูงสุดนี้มีหลักหมุดศิลาตั้งไว้ มีข้อความจารึกว่า 

“ที่หมายในการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรปลายทางรถไฟทำถึงที่นี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก 117” 

มอหลักหินไม่ได้เป็นจุดหลักในการสังเกตเท่าไหร่ หลายครั้งที่รถไฟวิ่งผ่านไปแล้วเพิ่งสังเกตเห็นว่า มีทั้งศาลและพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ขนาดไม่ใหญ่มากตั้งอยู่ตรงนั้น หากเรายืนอยู่ที่มอหลักหินและมองไปที่ทางรถไฟ จะเห็นทางรถไฟจากทั้งสองฝั่งอย่างชัดเจน และเมื่อเลยจากจุดนี้ไปทางรถไฟจะลดต่ำลงเรื่อยๆ เพื่อเข้าสู่ ‘สถานีปากช่อง’ ก็ถือได้ว่าสิ้นสุดการบุกป่าฝ่าดงพญาเย็น

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

Dessert : จากลำตะคองสู่หัวรถไฟ

เราเดินทางมาถึงอาหารจานสุดท้ายแล้ว ของหวานเริ่มต้นขึ้นหลังรถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานีปากช่อง อาจจะยังไม่เห็นภาพเท่าไหร่ จนเมื่อรถไฟผ่านสถานีจันทึกไปแล้ว 

จากดงพญาเย็นที่เราอยู่ท่ามกลางขุนเขาและป่าไม้ ตรงนี้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นทุ่งกว้างขนาดใหญ่ เห็นภูเขารูปทรงเหมือนมีดอีโต้อยู่ไกลๆ และสิ่งที่ทำให้ทัศนียภาพตรงนี้แปลกตากว่าที่อื่นคือ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่คั่นระหว่างทุ่งหญ้าริมทางรถไฟกับภูเขารูปมีดอีโต้ มองเห็นได้ตั้งแต่สถานีซับม่วง จันทึก ถึงคลองขนานจิตร

ที่นี่คือ ‘ลำตะคอง’

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ทางรถไฟสายอีสานช่วงระหว่างสถานีจันทึกกับสถานีคลองไผ่นั้นตัดเลียบลำน้ำลำตะคองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ออกจากปากช่อง ฝั่งตรงข้ามของลำตะคองคือถนนสายสระบุรี-นครราชสีมา หรือต่อมาที่เรียกกันว่าถนนมิตรภาพ เส้นทางคมนาคมสู่โคราชทั้งสองมุ่งตรงไปที่โตรกช่องเขาแห่งหนึ่ง เพื่อเข้าสู่ตำบลคลองไผ่เพื่อเข้าสู่พื้นที่ราบโคราช

ต่อมาราวๆ ต้น พ.ศ. 2500 ได้มีโครงการสร้างเขื่อนลำตะคองขึ้น เมื่อมีการกั้นลำน้ำ จึงทำให้พื้นที่ระหว่างภูเขาสองลูกกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และแน่นอนว่าทั้งทางรถไฟสายอีสานและถนนมิตรภาพต้องจมอยู่ใต้น้ำแน่นอน

ทำให้ทั้งทางรถไฟและถนนต้องย้ายแนวกันยกใหญ่ ถนนมิตรภาพนั้นถูกยกขึ้นไปไว้บนฟากเขายายเที่ยง ส่วนทางรถไฟเปลี่ยนแนวเส้นทางตั้งแต่สถานีจันทึก ขึ้นไปบนเขาลูกตรงข้ามกับเขายายเที่ยง มีสถานีรถไฟหนึ่งแห่งบนนั้นชื่อว่า ‘สถานีคลองขนานจิตร’ เป็นสถานีที่ไม่ได้มีภารกิจด้านการโดยสารเลย แต่มีไว้เพื่อหลีกขบวนรถเท่านั้น 

สมัยเด็กๆ เราเคยนั่งรถไฟมาเที่ยวที่สถานีนี้ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ที่นั่นมีแค่นายสถานี เจ้าหน้าที่ และสุนัขฝูงหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่นั่นต้องใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และใช้น้ำจากตู้รถไฟขนน้ำที่มาจากสถานีปากช่อง ซึ่งความกันดารนั้นแตกต่างจากฝั่งถนนมิตรภาพอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของสถานีรถไฟคลองขนานจิตรก็คือ วิวเขื่อนลำตะคองที่สวยงามที่สุด สวยยิ่งกว่ามองเขื่อนจากฝั่งถนนเสียอีก

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ฝั่งตรงข้ามสถานีคลองขนานจิตร คือจุดพักรถสวนสุรนารี มองขึ้นไปเห็นกังหันลมเขายายเที่ยงขนาดใหญ่อยู่บนยอดเขานั้น มองไปทางซ้ายเราจะเห็นถนนที่ยกตัวสูงบริเวณคลองไผ่ แต่ถ้าหากมองไปทางขวา เราจะเห็นแนวเขาค่อยๆ เขยิบออกห่างไป มีท้องน้ำกว้างของลำตะคองแทรกอยู่ตรงกลาง มองไกลจนสุดสายตาสลับกับทุ่งหญ้าและต้นไม้ใหญ่ที่อยู่เป็นหย่อมๆ ยิ่งโดยเฉพาะช่วงบ่ายจนถึงเย็น วิวลำตะคองจะสวยที่สุดจากสีน้ำที่เป็นสีครามตัดกับภูเขาสีเขียว

เมื่อผ่านลำตะคองมาแล้ว ทางรถไฟไม่ได้มีอะไรที่ตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่ มันปุเลงไปตามที่ราบแอ่งโคราช ผ่านหลักหินอีกแห่งระหว่างสถานีสีคิ้วกับสถานีสูงเนิน ถ้ามองจากทางรถไฟจะสังเกตได้ค่อนข้างยาก ซึ่ง ณ จุดนี้เป็นที่ซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตรปลายรางตอนก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 มกราคม ร.ศ. 118 

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

จากนี้ไป สิ่งที่น่าสนใจและพร้อมเป็นของหวานจานสุดท้าย นั่นคือสถานีรถไฟ

สถานีรถไฟโดยทั่วไปในเส้นทางนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว นั่นเป็นอาคารในยุคหลังที่สร้างทดแทนอาคารดั้งเดิม ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ ตั้งแต่สถานีคลองไผ่ไปจนถึงนครราชสีมา จะมีอาคารสถานีที่แปลกตาอยู่ด้วยกัน 2 ที่
‘สูงเนิน’ และ ‘โคกกรวด’

ทั้ง 3 แห่งนี้คืออาคารสถานียุคดั้งเดิมตั้งแต่มีการสร้างรถไฟสายโคราช เป็นอาคารไม้สองชั้น มีหลังคาหน้าพร้อมหน้าจั่ว ราวระเบียงเป็นไม้ ด้านโถงรอการโดยสารเปิดโล่งให้อากาศถ่ายเท นับได้ว่าเป็น 3 อาคารทรงคุณค่าและดั้งเดิมที่สุดที่ยังเหลืออยู่จากอดีต ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานีสูงเนินที่มีถังเติมน้ำรถจักรไอน้ำยืนตระหง่านคู่กับสถานีอีกด้วย

เป็นเรื่องน่าดีใจที่สูงเนินมีเครือข่ายชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์อาคารสถานีแห่งนี้เอาไว้ให้เป็นหน้าประวัติศาสตร์ มีการบูรณะอาคารเก่าของสถานีรถไฟด้านหลัง พร้อมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่เจริญเติบโตขึ้นได้เพราะการมาถึงของรถไฟสายนี้

สำหรับโคกกรวด เป็นเพียงแค่สถานีย่อยระหว่างทาง ซึ่งเราเองก็ยังมองภาพไม่ออกว่า เมื่อมีการสร้างรถไฟทางคู่มาถึงจุดนี้แล้ว สถานีจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ จะมีการอนุรักษ์มันไว้ หรือรื้อทิ้งลงให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ทั้งที่ควรจะเก็บรักษาเอาไว้ในฐานะอาคารเก่าแก่สำคัญ

ราวๆ เที่ยง ทัศนียภาพนอกหน้าต่างเริ่มเปลี่ยนไป ตึกรามบ้านช่องเริ่มหนาตามากขึ้น รถไฟเดินทางมาถึง ‘สถานีนครราชสีมา’ โดยสวัสดิภาพ และจอดเทียบชานชาลาสถานี

ในตัวเมืองนครราชสีมามีสถานีรถไฟด้วยกัน 2 ที่

ที่แรกเป็นสถานีหลักประจำจังหวัด ชื่อว่าสถานีนครราชสีมา เป็นต้นทางของรถไฟท้องถิ่นหลายสาย มุ่งหน้าไปขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ลำชี และอุบลราชธานี รวมถึงเป็นสถานีพักระหว่างทางของรถโดยสารที่จะต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง เติมน้ำใช้ และตรวจเช็กความเรียบร้อยก่อนเดินทางต่อ

ที่ที่ 2 เป็นสถานีรองอยู่ใกล้กับศูนย์ราชการ ศาลากลาง และอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่สุด ชื่อว่าสถานีชุมทางถนนจิระ สถานีที่ทำหน้าที่เป็นจุดแยกระหว่างทางรถไฟสายอุบลราชธานีและสายหนองคาย
 

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

สถานีนครราชสีมาแต่ดั้งแต่เดิมมีชื่อว่า ‘สถานีโคราช’ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.​ 2443 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพร้อมการเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีนครราชสีมาใน พ.ศ. 2477 สถานีเดิมนั้นเป็นอาคารไม้ถูกทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสร้างอาคารคอนกรีตขึ้นมาทดแทนเพื่อใช้งานจนถึงปัจจุบัน

ที่นี่เป็นที่ตั้งของที่ทำการฝ่ายการเดินรถส่วนภูมิภาคนครราชสีมา เป็นที่ตั้งของโรงรถจักรใหญ่ที่สุดในสายอีสาน ซึ่งยังมีวงเวียนกลับรถและตู้รถไฟไม้สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้กับขนาดความกว้างทาง 1.435 เมตร ซึ่งเป็นขนาดความกว้างทางรถไฟแรกเริ่มของสายนี้

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

ตู้รถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 สำหรับทางกว้าง 1.435 เมตร และเป็นรถไม้ ปัจจุบันรักษาให้เป็นห้องประชุมในโรงรถจักรนครราชสีมา

สถานีนครราชสีมาถูกเรียกกันลำลองว่า ‘หัวรถไฟ’ เราก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุใดเขาถึงเรียกว่าหัวรถไฟ เป็นเพราะว่าที่นี่มีโรงเก็บหัวรถไฟ หรือเพราะหัวรถจักรไอน้ำที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสถานี

รถจักรไอน้ำฮาโนแมก หมายเลข 261 ตั้งอยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟนครราชสีมา คอยต้อนรับคนที่เดินทางมาขึ้นรถไฟหรือผ่านไปผ่านมา สร้างโดยบริษัทฮาโนแมก ประเทศเยอรมนี นำออกใช้การเมื่อ พ.ศ. 2471 และตัดบัญชีเมื่อ พ.ศ. 2511 

ในสมัยก่อนที่รถจักรดีเซลจะทำหน้าที่บนเส้นทางสายหลัก เจ้ารถจักรไอน้ำฮาโนแมกนี่แหละที่เคยเป็นเจ้าพ่อประจำสาย ก่อนจะเกษียณตัวเอง และมาอยู่เฝ้าดูลูกหลานทำงานบนรางเหล็กต่อไป

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

การเดินทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา บนเส้นทางรถไฟรัฐบาลสายแรกของไทยก็สิ้นสุดลงแล้ว ในวันนี้มันยังคงมีความขลัง เรื่องราวประวัติศาสตร์ และทัศนียภาพสวยงาม แม้ว่าเวลาที่เราใช้บนรถไฟนั้นจะมากถึง 5 ชั่วโมงก็ตาม

ทำไมเราถึงพาทุกคนมาในวันนี้ก่อน 

เพราะว่าตอนนี้มีการอัปเกรดทางรถไฟสายโคราชใหม่ ให้กลายเป็นรถไฟทางคู่ วิ่งสวนกันได้ไม่ต้องรอหลีก ซึ่งการมาถึงของรถไฟทางคู่นี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากกับทางรถไฟ ตั้งแต่ช่วงสถานีมาบกะเบาจนถึงสถานีนครราชสีมา จากที่เคยต้องลัดเลาะไปตามเขา ก็เปลี่ยนใหม่เป็นลอดอุโมงค์ ตรงไหนที่เป็นหุบเขาหรือเป็นแอ่งก็ทำสะพานข้ามไป ซึ่งจะทำให้เวลาในการเดินทางลดเหลือเพียง 3 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น

นอกจากนั้นแล้ว ยังรวมถึงการคืบเข้ามาของรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ มาถึงสถานีนครราชสีมาแห่งนี้ นั่นก็จะทำให้เส้นทางรถไฟประวัติศาสตร์สายนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทีเดียว

ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
ขึ้นขบวนรถไฟไปแบบอาหาร 3 คอร์ส พร้อมเสิร์ฟธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ให้การเดินทางไปโคราชครบเครื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

เกร็ดท้ายขบวน

  1. ในช่วงปลาย พ.ศ.​ 2564 การเดินทางด้วยรถไฟออกต่างจังหวัดจะใช้สถานีกลางบางซื่อ แทนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) อาจะทำให้อาหารเรียกน้ำย่อยอร่อยกว่าเดิมก็ได้
  2. หากใครอยากนั่งรถไฟมาโคราช เราแนะนำว่าให้นั่งรถไฟขามา และนั่งรถทัวร์ขากลับ จะช่วยพยุงร่างกายให้ไม่เหนื่อยล้าจนเกินไปได้

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ