ปี 2018 เป็นวาระครบรอบ 500 ปีสนธิสัญญาทางการค้าเเละไมตรีฉบับเเรกระหว่างโปรตุเกสเเละสยาม

แต่มิตรภาพระหว่างโปรตุเกสและไทยยืนยงมายาวนานกว่า 500 ปี โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เดินทางมาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ค.ศ.1511

สถานทูตโปรตุเกสเป็นสถานทูตแห่งแรกในกรุงเทพฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2

ทำเนียบทูต (บ้านพักทูต) ของโปรตุเกส เป็นอาคารทรงโคโลเนียลแบบโปรตุเกสอายุกว่า 150 ปี บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในวาระการเฉลิมฉลอง 50 ปีของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อ ค.ศ. 1984

เมื่อเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ฟรานซิสกู วาช ปาตตู (Francisco Vaz Patto) ทราบว่า The Cloud สนใจบ้านหลังนี้ ท่านก็ยินดีเปิดบ้านพาเราเยี่ยมชม

ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสฉบับย่อ

ค.ศ. 1511

ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ติดต่อกับสยามตั้งแต่ ค.ศ.1511 โดยทำสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรกใน ค.ศ. 1518 เนื้อหาหลักว่าด้วยพันธไมตรีด้านการค้าและการเผยแผ่ศาสนา จากนั้นก็มีทหารอาสาชาวโปรตุเกสมารับราชการสงครามในกองทัพไทย มีการนำวิทยาการแบบตะวันตกมาเผยแพร่ เช่น การใช้ปืนแบบยุโรป และการตัดถนนโดยใช้เข็มทิศส่องกล้อง สมเด็จพระไชยราชาธิราชพระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกสตั้งภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอยุธยา เรียกกว่า บ้านโปรตุเกส หรือ เกาะโปรตุเกส เพราะมีคลองล้อมรอบ มีการสร้างโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นครั้งแรกในสยาม และกลุ่มมิชชันนารีโปรตุเกสได้นำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาในราชสำนักอยุธยา เช่น วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และสาธารณสุข ชาวโปรตุเกสจำนวนมากแต่งงานกับคนไทย ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 มีประชากรในหมู่บ้านโปรตุเกสกว่า 3,000 คน

ค.ศ. 1760 – 1780

เมื่อเข้าสู่ยุคธนบุรี ทหารชาวโปรตุเกสก็เดินทางตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมาตั้งถิ่นฐานที่กรุงธนบุรี บนที่ดินพระราชทานย่านกุฎีจีนและโบสถ์ซางตาครู้สในปัจจุบัน

ค.ศ. 1820

ในยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมเด็จพระราชินี Maria แห่งโปรตุเกส เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับค้าขายและที่พักของกงสุลโปรตุเกส ปัจจุบันคือที่ตั้งของโกดังที่ปรับให้กลายเป็นสำนักงานของสถานทูตโปรตุเกสและทำเนียบทูต ซึ่งทำเนียบทูตหลังแรกเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ไผ่ แล้วก็มีชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ มีโบสถ์กาลหว่าร์ (ภาษาโปรตุเกสออกเสียงว่า กาลวาริอุ)

 
สถานทูตโปรตุเกส
ค.ศ. 1860

ทำเนียบทูตหลังปัจจุบันสร้างในช่วงกลางปี 1860 เป็นอาคารทรงโคโลเนียลแบบโปรตุเกสผสมกับความเป็นไทย เดิมทีวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทั้งหมดส่งตรงมาจากโปรตุเกส แต่เรือที่ขนส่งล่มระหว่างทาง จึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุท้องถิ่นแทน ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีการปรับปรุงอาคารหลังนี้หลายส่วน เช่น เพิ่มระบบไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ

สถานทูตในโกดังเก่า

สถานทูตโปรตุเกส

สำนักงานของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสอยู่ภายในอาคารปูนสองชั้นสีเหลืองอ่อนที่ดูมิดชิด เมื่อผลักประตูเข้าไปภายใน หลายคนคงรู้สึกว่า ที่นี่ดูเหมือนออฟฟิศของดีไซเนอร์รุ่นใหม่มากกว่าสถานทูต

อาคารหลังนี้เดิมคือโกดังเก็บสินค้าที่ขนส่งมาทางเรือ เมื่อการขนส่งเปลี่ยนรูปแบบไป โกดังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว สถานทูตชวนวิศวกรและสถาปนิกชาวโปรตุเกสมาดัดแปลงโกดังโครงไม้อายุกว่าร้อยปีหลังนี้ให้กลายเป็นสำนักงานสุดโมเดิร์น และย้ายสำนักงานของสถานทูตจากชั้นล่างของทำเนียบทูตมาอยู่ที่นี่

สถานทูตโปรตุเกส
สถานทูตโปรตุเกส

หากยืนตรงกลางโถง เราจะมองทะลุกระจกใสเข้าไปยังห้องทำงานได้ทุกห้องทั้งชั้นบนและชั้นล่าง รวมถึงห้องทำงานของท่านทูตที่อยู่ชั้นสอง ให้ความรู้สึกที่เป็นกันเองมาก

ท่านทูตฟรานซิสกู วาช ปาตตู ชวนเราขึ้นมานั่งคุยในห้องทำงาน ท่านเล่าว่า นี่คือโกดังไม้ยุคเก่าหลังท้ายๆ ที่ยังหลงเหลือบนถนนสายนี้ แล้วก็ออกตัวว่าที่นี่เป็นสถานทูตเล็กๆ มีเจ้าหน้าที่แค่ 7 คน แต่ก็ทำงานครบทุกด้าน ยิ่งไปกว่านั้นที่นี่ยังดูแลงานในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ด้วย

“อาคารหลังนี้เป็นอาคารเก่าที่สวย มีความสะดวกสบายและไม่สะดวกสบาย ตามประสาอาคารเก่า แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าบ่น เพราะการได้นั่งทำงานที่นี่ถือเป็นสิ่งที่พิเศษมาก” ท่านทูตเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ข้ามกำแพง

สถานทูตโปรตุเกส

ถ้าพูดถึงสถานทูตโปรตุเกส สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นงานสตรีทอาร์ตบนกำแพงหน้าสถานทูต ซึ่งกล้าหาญขนาดเจาะกำแพงปูนให้เป็นภาพใบหน้าคน

“ไอเดียของผมเอง” ท่านทูตตอบอย่างอารมณ์ดี “เราทำเมื่อต้นปี 2017 ศิลปินชื่อวีลส์ (Vhils) เขาเป็นศิลปินชื่อดังของโปรตุเกส งานสตรีทอาร์ตของเขาใช้วิธีเจาะกำแพง ดังนั้น มันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่หายไป พอเขามาถึงเขาก็ตระเวนถ่ายรูปคนท้องถิ่น แล้วก็เอามาทำเป็นภาพบนกำแพง เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไทยกับโปรตุเกส”

ความคิดนี้มาจากท่านทูตรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของโปรตุเกสในสายตาคนทั่วไปคือ อนุรักษ์นิยม แต่ตอนนี้โปรตุเกสไม่ใช่แบบนั้นแล้ว วิธีแสดงให้คนเห็นว่าโปรตุเกสโมเดิร์นก็คือเอาศิลปินโมเดิร์นของโปรตุเกสมาสร้างงานศิลปะโมเดิร์น

“เป็นการมอบของขวัญจากเราให้กรุงเทพฯ ด้วย มีนักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายภาพตลอดทั้งวันเลย”

ท่านทูตเล่าต่อว่า ในปี 2561 ซึ่งครบรอบ 500 ปีสนธิสัญญาทางการค้าเเละไมตรีฉบับเเรกระหว่างโปรตุเกสเเละสยาม จะเชิญวีลส์กลับมาสร้างงานอีกครั้งในเทศกาล Bukruk รวมถึงเชิญศิลปินโปรตุเกสรุ่นใหม่ทั้งนักเขียน นักดนตรี และนักออกแบบ มาร่วมงานต่างๆ ในเมืองไทย

ในส่วนของการค้าและการลงทุน จะมีการจัดประชุมเพื่อให้นักธุรกิจจากโปรตุเกสได้แสดงให้เห็นว่าโปรตุเกสไม่ได้มีแค่อาหารกับไวน์ แต่ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีอุตสาหกรรมกระดาษ มีสตาร์ทอัพซึ่งเติบโตเร็วมาก เมืองลิสบอนถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสตาร์ทอัพของยุโรป เพราะเป็นเมืองที่ค่าครองชีพถูก จึงดึงดูดหนุ่มสาวมากมายให้มาเริ่มต้นธุรกิจ

รู้จักกันผ่านภาษา

สถานทูตโปรตุเกส

เมื่อถามถึงคำศัพท์ภาษาไทย ท่านทูตส่ายหน้าแล้วบอกว่า เคยเรียนเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ แต่ค่อนข้างยาก จึงพูดได้แค่คำศัพท์พื้นฐานไม่กี่คำ ท่านทูตเล่าว่า คำศัพท์ภาษาไทยหลายคำเป็นคำยืมมาจากภาษาโปรตุเกส อย่างเช่น ศาลา มาจากคำว่า sala (สาลา) ซึ่งในภาษาโปรตุเกสหมายถึง ห้องนั่งเล่น คำว่า สบู่ ก็มาจากคำว่า sabão (ซาเบา) คำว่า ขนมปัง ก็มาจากคำว่า pão (เปา)

แล้วก็ยังมีอีกหลายคำที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่ามาจากภาษาโปรตุเกส เช่น กะละแม มาจาก caramelo (การาเมลุ) คำว่า กัมประโด (ผู้ทําหน้าที่หาลูกค้าให้บริษัทหรือธนาคาร) มาจาก comprador (กอมปราดอร์) แปลว่า คนซื้อ และ เลหลัง มาจากคำว่า leilão (เลย์เลา) แปลว่า ประมูล

เห็นคำภาษาโปรตุเกสที่กลายเป็นคำภาษาไทยแล้ว ก็ชวนให้สงสัยว่า มีคำภาษาโปรตุเกสคำไหนที่ไม่มีคำแปลในภาษาอื่น

“โซแดด (saudade)” ท่านทูตตอบทันที “มันเป็นความรู้สึกคล้ายๆ เวลาที่คุณคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว คิดถึงเพื่อน แต่เป็นความรู้สึกที่ลึกมากๆ เพลงยุคเก่ามักจะพูดถึงความรู้สึกนี้ เป็นความรู้สึกที่ผสมกันทั้งความเศร้าและความสุขที่นึกถึงความทรงจำที่สวยงามของมิตรภาพหรือบ้าน มันเป็นความรู้สึกที่โปรตุเกสมาก”

ท่านทูตอธิบายที่มาของคำนี้ว่า โปรตุเกสอยู่ริมฝั่งตะวันตกของยุโรป ด้านขวาติดสเปนซึ่งทำสงครามกันมายาวนาน จึงเดินทางผ่านสเปนไปเชื่อมต่อกับยุโรปไม่ได้ ส่วนทางซ้ายติดมหาสมุทรก็เลยต้องนั่งเรือเดินทางไปทั่วโลกแทน ในช่วงศตวรรษที่ 16 โปรตุเกสมีประชากร 4 ล้านคน แต่ประชากร 1 ล้านคนกำลังเดินทางอยู่นอกประเทศ การเดินทางของชาวโปรตุเกสที่ไปพบวัฒนธรรมที่แตกต่างทำให้โปรตุเกสเป็นประเทศในยุโรปได้รับอิทธิพลจากเอเชีย อเมริกา อเมริกาใต้ และแอฟริกา เยอะมาก แล้วก็เกิดคำศัพท์คำนี้

เดินทางอย่างโปรตุเกส

สถานทูตโปรตุเกส

“ในอดีตเราเป็นประเทศยากจน แล้วก็ต้องสู้กับสเปน เราต้องหาเงิน การค้าเป็นสิ่งหนึ่งที่ดี เราจึงเดินทางไปหาพื้นที่ใหม่ เช่น ไปอินเดียเพื่อควบคุมการค้าเครื่องเทศ เพราะตอนนั้นเครื่องเทศแพงเหมือนทองหรือเพชร ประเทศอื่นขนส่งเครื่องเทศจากเอเชียมายุโรปทางบก เราคิดว่าถ้าขนส่งทางน้ำน่าจะเร็วกว่า เมื่อเราควบคุมการค้าเครื่องเทศเราก็ทำเงินได้มาก โปรตุเกสจึงมีอำนาจมากในช่วงนั้น” ท่านทูตเล่าประวัติศาสตร์การเดินเรือของโปรตุเกสให้ฟัง

โปรตุเกสไม่ได้คิดจะยึดสยามเป็นเมืองขึ้น เพียงแค่ทำธุรกิจค้าอาวุธพวกปืนใหญ่และปืนยาวกับสยามเท่านั้น แต่โปรตุเกสก็ทำสงครามเพื่อยึดครองหลายประเทศ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสยังคงมีสัมพันธ์ที่ดีกับโปรตุเกส เช่น บราซิล มาเก๊า หรือโมซัมบิก

ท่านทูตผู้เกิดที่โมซัมบิกเล่าว่า “ในยุคนั้นกษัตริย์ที่ส่งคนโปรตุเกสไปทั่วโลกมีคำสั่งให้เราใช้วิธีสร้างสัมพันธ์แล้วก็สร้างครอบครัวกับคนท้องถิ่น แทนที่จะไปยึด เพราะเรามีประชากรนิดเดียว จะไปสู้กับเขาได้ยังไง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมชุมชนชาวโปรตุเกสในอยุธยาถึงมี 3,000 คน เพราะเขามีครอบครัวชาวไทย ตอนนี้คุณก็ยังเห็นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส วิธีการแบบนี้มีพลังมากกว่า เพราะเราจะกลายเป็นเพื่อนกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน”

สวนโปรตุเกส

สวนโปรตุเกส
สวนโปรตุเกส

ท่านทูตพาพวกเราเดินจากอาคารสำนักงานไปยังทำเนียบทูต จุดแรกที่เดินผ่านคือ สวนโปรตุเกส ซึ่งเป็นพื้นที่ของสถานทูตแต่ให้โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน เช่า โดยมีข้อตกลงร่วมกับโรงแรมว่า ให้โรงแรมสร้างสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส และเป็นผู้ดูแลพื้นที่ โดยที่ท่านทูตและแขกของสถานทูตสามารถใช้บริการได้ ข้อตกลงนี้ทำให้สถานทูตมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เล่นกีฬาโดยที่ไม่ต้องลงทุนและจ่ายค่าดูแลรักษา

สนามหญ้า

สถานทูตโปรตุเกส
สถานทูตโปรตุเกส

ท่านทูตพาเราเดินมาที่สนามหญ้าริมแม่น้ำ มุมหนึ่งเป็นที่ตั้งของศาลาซึ่งกำลังบูรณะ ท่านทูตบอกว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบโปรตุเกสกับช่างไม้จากเชียงใหม่ ถ้าทำเสร็จแล้วจะเอาไว้ใช้จัดเลี้ยงรับรองในยามค่ำคืน

“ในสวนของเรามีสัตว์เลื้อยคลานที่มาจากแม่น้ำ มีงูมาบ้าง มีอีกา ค้างคาว นกนางนวล แล้วก็นกที่ชอบร้องเพลงตอนบ่ายสาม ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ไม่ได้วุ่นวาย ไม่มีเสียงรถยนต์ มีเสียงเรือบ้าง แต่กลางคืนเงียบสงบมาก” ท่านทูตเล่าถึงสิ่งมีชีวิตอื่น แล้วชวนให้เราหันกลับไปมองทำเนียบทูต

“บ้านหลังนี้มีระเบียงใหญ่ด้านหน้า หันหน้าเข้าหาแม่น้ำ เพราะเมื่อก่อนเราเดินทางทางน้ำ ไม่ใช่ทางถนนเจริญกรุง”

ตลอดร้อยห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา บ้านหลังนี้ผ่านการปรับปรุงครั้งสำคัญเมื่อ ค.ศ. 2013 ซึ่งพยายามปรับให้กลับไปคล้ายบ้านในยุคแรกมากที่สุด รื้อกระจกที่เคยติดบริเวณระเบียงออก เพื่อเปลี่ยนจากการใช้เครื่องปรับอากาศมาเป็นอากาศธรรมชาติ รวมถึงปรับปรุงพื้นไม้ ประตูไม้ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ด้วย

เปิดประตูบ้าน

สถานทูตโปรตุเกส
สถานทูตโปรตุเกส

ท่านทูตเปิดประตูบ้านเดินนำเราเข้ามาด้านใน

“คุณจะเห็นว่าพื้นบ้านอยู่ต่ำ เพราะบ้านทรุดลงเล็กน้อย แล้วเราก็ถมสวนให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ประตูไม้อันนี้พิเศษมาก มาจากบ้านของครอบครัวโปรตุเกสในอยุธยา ส่วนหนึ่งเป็นลายแบบไทย แล้วก็มีลายแบบโปรตุเกส” ท่านทูตชี้ให้ดูประตูไม้โบราณ

สถานทูตโปรตุเกส

เดิมพื้นที่ชั้นล่างของทำเนียบใช้เป็นสำนักงานของสถานทูต แล้วก็มีคุกอยู่ชั้นใต้ดิน เพราะยุคก่อนหากคนโปรตุเกสที่เดินทางมากับเรือทำผิด ท่านทูตจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าต้องติดคุกก็จะขังไว้ชั้นใต้ดิน แล้วค่อยส่งใส่เรือส่งกลับไปโปรตุเกส แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว

สถานทูตโปรตุเกส

“ห้องนี้ใช้เลี้ยงรับรอง” ท่านทูตพาเดินมาดูอีกห้อง “เมื่อวานเพิ่งมีงานเลี้ยงคริสต์มาสของชาวโปรตุเกสที่อยู่ในเมืองไทย เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก คนรุ่นก่อนเป็นคนที่มีอายุ แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวที่มาทำธุรกิจ และทำงานที่นี่”

ชั้นบน

สถานทูตโปรตุเกส

“ในอาคารนี้ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เพราะเชื่อมถึงกันหมด บันไดเป็นศูนย์กลางของบ้านที่เชื่อมถึงทุกส่วน ทุกห้องติดบันได เป็นโครงสร้างบ้านแบบเก่าเหมือนวังของยุโรป” ท่านทูตพาเดินขึ้นบันไดไม้มาที่ชั้นสอง ซึ่งมีห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องอาหารขนาดเล็ก และห้องอาหารขนาดใหญ่ซึ่งมีภาพวาดของศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ประดับอยู่ 2 รูป

สถานทูตโปรตุเกส
สถานทูตโปรตุเกส
สถานทูตโปรตุเกส

ระเบียง

“นี่คือส่วนที่ผมชอบที่สุดในบ้าน” ท่านทูตเปิดประตูพาเราเดินออกมาที่ระเบียงซึ่งมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา “เรากินอาหารเช้าตรงนี้ ตอนเช้าอากาศดีมาก ส่วนตอนเย็น เมื่อก่อนมองออกไปจะเป็นพระอาทิตย์ตกที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ตอนนี้กลายเป็นไอคอนสยามแล้ว มันคืออนาคตของกรุงเทพฯ”

สถานทูตโปรตุเกส
สถานทูตโปรตุเกส
สถานทูตโปรตุเกส

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้อยู่ในบ้านที่เต็มด้วยประวัติศาสตร์หลังนี้ ท่านทูตตอบว่า

“ที่นี่เป็นเหมือนอนุสาวรีย์ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เราจะดูแลมันอย่างดีที่สุด พยายามไม่เปลี่ยนแปลงมัน ไม่ใช่เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เรา แต่เพราะมันคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยด้วย”

ฟรานซิสกู วาช ปาตตู Francisco Vaz Patto
 

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan