ถ้าพูดถึงวัดที่เกี่ยวข้องกับ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ละคนน่าจะมีวัดในใจแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวัดลุ่มมหาชัยพล จังหวัดระยอง วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพลับ จังหวัดจันทบุรี หรือจะเจาะจงเป็นกรุงเทพมหานครก็อาจจะเป็นชื่อของวัดอรุณราชวราราม หรือ วัดอินทาราม แต่อีกหนึ่งวัดที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากและอยู่ในกรุงเทพฯ ก็คือ ‘วัดหงส์รัตนาราม’

วัดหงส์รัตนาราม : วัดที่ข้ามเวลาจากอยุธยา ธนบุรี สู่รัตนโกสินทร์
วัดหงส์รัตนารามแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ว่ากันว่า ผู้สร้างวัดนี้คือ เจ้าขรัวหง เศรษฐีชาวจีนที่อาศัยอยู่ในย่านกุฎีจีน ดังนั้น ชื่อแรกสุดของวัดนี้จึงเป็น วัดเจ้าขรัวหงส์ ก่อนที่ต่อมาในสมัยธนบุรี วัดแห่งนี้จะร้างลง แต่ด้วยอานิสงส์จากการที่วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมาปฏิสังขรณ์วัดนี้ และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดหงษ์อาวาสวิหาร’
วัดแห่งนี้ยังได้รับการอุปถัมภ์มาอย่างต่อเนื่องในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมาพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อวัดอีกหลายครั้ง อย่างในสมัยรัชกาลที่ 1 เปลี่ยนชื่อและวิธีสะกดชื่อวัดเป็น ‘วัดหงส์อาวาสบวรวิหาร’ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดหงส์อาวาสวรวิหาร’ จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น ‘วัดหงส์รัตนาราม’ และชื่อนี้เองคือชื่อสุดท้ายที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพียงแค่เติมคำสร้อย ‘ราชวรวิหาร’ เข้าไปในสมัยรัชกาลที่ 6 เท่านั้น
และไม่ใช่แค่เพียงแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเท่านั้นที่ปฏิสังขรณ์วัดหงส์รัตนาราม ยังมีเจ้านายพระองค์อื่นที่มาปฏิสังขรณ์วัดนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชชนนีของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็มาเป็นผู้สานต่อโครงการการปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ของพระราชมารดาจนแล้วเสร็จ
วัดหงส์รัตนาราม : พระเจ้าเดิมคู่วัดกับพระเจ้าใหม่จากต่างแดน

วัดหงส์รัตนารามมีพระอุโบสถหลังใหญ่เป็นอาคารประธาน แม้จะระบุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่อาคารหลังปัจจุบันน่าจะผ่านการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว แต่หน้าบันของพระอุโบสถหลังนี้ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะมีการประดับด้วยรูปหงส์ ทั้งหงส์แกะสลักไม้และหงส์ปูนปั้นสมชื่อวัดหงส์รัตนาราม
พอเข้าไปข้างในพระอุโบสถจะพบกับเสากลมต้นใหญ่รับเครื่องบน บังคับสายตาให้เรามุ่งไปยังพระประธานองค์ใหญ่ปางมารวิชัยศิลปะอยุธยา เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า วัดหงส์รัตนารามสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจริง ๆ ตรงตามประวัติของวัด


แต่พระพุทธรูปที่น่าสนใจกลับเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน พระพุทธรูปที่มาพร้อมกับพุทธศิลป์ที่แปลกแตกต่างจากพระประธานอย่างสิ้นเชิง มีนามว่า ‘หลวงพ่อแสน’ หรือ ‘พระแสนเมืองเชียงแตง’ พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างอีกองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงแตงเมื่อ พ.ศ. 2401 แต่พอพูดชื่อเชียงแตงหลายคนอาจจะไม่รู้จัก เพราะปัจจุบันชื่อ ‘เชียงแตง’ ไม่ปรากฏในแผนที่แล้ว คงเหลือเพียงชื่อ ‘สตึงเตรง’ เท่านั้น เพราะในอดีต เมืองเชียงแตงยังอยู่ในความปกครองเมืองจำปาศักดิ์ แต่ปัจจุบันผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชาใน พ.ศ. 2477
พุทธศิลป์ของหลวงพ่อแสนองค์นี้จัดเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ในแบบที่เรียกว่าเป็นพระพุทธรูปแบบล้านช้างอย่างแท้จริง มาพร้อมกับรอยยิ้มแบบล้านช้างและสัดส่วนอาจจะดูไม่ค่อยสมส่วนเท่าไหร่แต่ก็เป็นเอกลักษณ์ดีทีเดียว แถมรูปแบบเช่นนี้ยังถือเป็นรูปแบบมาตรฐานที่นิยมกันอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ด้วย

วัดหงส์รัตนาราม : ภาพเล่าเรื่องพระแก้วมรกตหนึ่งเดียวในไทย
ภายในพระอุโบสถหลังนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังด้วยนะครับ ซึ่งมีทั้งที่เป็นของโบราณอย่างลายดอกไม้ร่วงบนพื้นสีดำ ทั้งของใหม่อย่างภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติบนผนังระหว่างหน้าต่าง (แต่เดิมเคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณมาก่อน แต่น่าจะมีการลบแล้วเขียนใหม่เป็นอย่างในปัจจุบัน)
นอกจากบนฝาผนังแล้ว ภายในพระอุโบสถหลังนี้ยังมีจิตรกรรมภายในกรอบที่แขวนเอาไว้เหนือประตูหน้าต่างด้วย ซึ่งตามปกติแล้ว ภาพในกรอบลักษณะนี้มักเป็นภาพสไตล์จีน เช่น เครื่องตั้งเครื่องโต๊ะ ดอกไม้พันธุ์พฤกษา หรือวรรณกรรมจีน เพราะเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากจีน แต่ที่วัดหงส์รัตนารามไม่ใช่แบบนั้น เพราะเรื่องที่เขียนในกรอบนั้นคือเรื่อง รัตนพิมพวงษ์ หรือ ตำนานพระแก้วมรกต ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ภาพในกรอบเหนือประตูหน้าต่างมีทั้งสิ้น 57 ภาพ แบ่งเป็น 19 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ภาพ เล่าเรื่องตำนานพระแก้วมรกตตั้งแต่การสร้าง ณ เมืองปาตลีบุตร จนถึงตอนที่อัญเชิญมาประดิษฐานยังนครลำปาง ถึงสมัยพระเจ้านรินทร ซึ่งเป็นเนื้อหาตามที่ปรากฏใน รัตนพิมพวงษ์ วรรณกรรมที่แต่งขึ้นในดินแดนล้านนาเพื่อบอกเล่าตำนานของพระแก้วมรกต หรือ พระรัตนปฏิมา อีกหนึ่งพระพุทธรูปสำคัญในเมืองเหนือคู่กับพระพุทธสิหิงค์ ส่วนสาเหตุที่เนื้อหาของ รัตนพิมพวงษ์ มาจบที่เมืองลำปางนั้น สันนิษฐานว่าเป็นเพราะวรรณกรรมเรื่องนี้แต่งขึ้นในช่วงเวลาที่พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดลำปางแล้วนั่นเอง
ทว่า แม้ภาพในกรอบนี้จะเขียนขึ้นโดยช่างหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ช่างเลือกะวาดภาพตามแนวไทยประเพณีดั้งเดิม ไม่ได้วาดตามแนวคิดสัจนิยมที่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้ ทำให้ภาพอาจขาดความสมจริงไปบ้าง แต่ก็หยิบจับเหตุการณ์สำคัญ ๆ เอาไว้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระแก้วมรกต หรือแม้แต่การค้นพบพระแก้วมรกตจากเจดีย์วัดป่าเยี้ยะ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระแก้วก็ถูกนำมาวาดเอาไว้ที่วัดแห่งนี้ด้วย


วัดหงส์รัตนาราม : พระวิหารวางขวางกับพระเจ้าสุโขทัย
ด้านหลังพระอุโบสถมีพระวิหารซึ่งตั้งในแนวขวางกับพระอุโบสถ และมาพร้อมกับประตูที่อยู่ทางด้านยาวต่างจากอาคารทั่วไปที่ประตูจะอยู่ทางด้านกว้างของอาคาร แต่แม้ว่าประตูจะอยู่คนละตำแหน่ง แต่หน้าบันของพระวิหารเหมือนกับพระอุโบสถแบบเป๊ะ ๆ ราวกับลอกแบบกันมาเลย

เพราะพระวิหารหลังนี้หันด้านยาวออก ฐานชุกชีข้างในก็เลยยาวตามแนวอาคาร เพียงแต่พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่นั้นส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ ยกเว้นก็แต่องค์ตรงกลางที่ตั้งอยู่ตรงกับประตูทางเข้าพอดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพระพุทธรูปสำคัญนามว่า หลวงพ่อสุข

หลวงพ่อสุข หรือ หลวงพ่อทองคำแห่งวัดหงส์รัตนาราม เคยถูกพอกด้วยปูนจนกลายเป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์มาก่อน จนใน พ.ศ. 2499 พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามในเวลานั้นพบรอยกะเทาะบริเวณพระอุระ เห็นเนื้อในของพระพุทธรูปเป็นสีทองสุกปลั่ง จนนำมาสู่การกะเทาะปูนออก เผยให้เห็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยองค์งามข้างใน และด้วยความสุกปลั่งของทองคำ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘หลวงพ่อทองคำ’ ส่วนชื่อ ‘หลวงพ่อสุข’ นั้น สันนิษฐานว่ามาจากการที่พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัยนั่นเอง
อีกหนึ่งความสำคัญของหลวงพ่อสุข คือการเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีจารึกที่ฐาน (อาจจะสังเกตยากสักหน่อย เพราะเรามองท่านในมุมเงย) ความสำคัญของจารึกหลักนี้มีทั้งการเป็นจารึกที่ระบุศักราชที่สร้างพระพุทธรูปเอาไว้ คือ พ.ศ. 1967 รวมถึงระบุชื่อผู้สร้าง คือ พระยาศรียศราช ซึ่งพอเราเอาชื่อนี้ไปหาในเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่น พบว่าพระยาศรียศราชคือบุตรของ พระยาเชลียง ผู้ครองเมืองสวรรคโลกด้วย จึงเป็นไปได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นที่เมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัย
วัดหงส์รัตนาราม : ศาลพระเจ้าตากที่ (น่าจะ) เก่าที่สุด

อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของวัดหงส์รัตนารามที่อาจจะไม่ได้เก่าแก่เท่าพระอุโบสถหรือพระวิหารของวัด แต่สถานที่นี้ก็สำคัญและเป็นที่รู้จักไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ ศาลพระเจ้าตาก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีที่มาจากตำนานถึงเหตุการณ์หลังจากสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพผ่านวัดหงส์รัตนาราม ขณะนั้น หนึ่งในคนในขบวนที่ถือพานรองพระโลหิตหันไปเห็นพระเจ้าตากไร้พระเศียรยืนอยู่ที่พระอุโบสถของวัดจนทำพานรองพระโลหิตในมือหล่น จากนั้นจึงนำดินที่มีพระโลหิตมาปั้นเป็นพระรูป แล้วตั้งไว้ภายในศาลไม้ที่ตำแหน่งนั้น และตำแหน่งที่ว่าก็คือบริเวณต้นโพธิ์ใกล้กับศาลปัจจุบันนั่นเอง
ส่วนศาลหลังปัจจุบันซึ่งเป็นอาคารทรงไทยสมัยใหม่นั้น สร้างขึ้นโดยความร่วมมือของกองทัพเรือและคณะผู้ศรัทธาแทนที่หลังเดิมซึ่งเป็นไม้ในตำแหน่งของศาลไม้นั้นเมื่อ พ.ศ. 2527 ภายในประดิษฐานพระบรมรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดเท่าพระองค์จริง
วัดหงส์รัตนาราม : ความงามที่อยู่ในทุกอณู
วัดหงส์รัตนารามแห่งนี้เป็นอีกวัดที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวมามากมาย และทิ้งริ้วรอยแห่งอดีตเอาไว้ผ่านตำนาน เรื่องเล่า และสิ่งที่มองเห็น-จับต้องได้ อย่างงานศิลปกรรมที่ทำให้เราเห็นถึงความเก่าแก่และความสำคัญของวัดได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งสัมผัสได้เพียงแค่ลองเดินเข้ามาเท่านั้น เราก็จะมองเห็นและสัมผัสถึงเรื่องราวของวัดได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญก็คือ การเปิดใจเดินเข้ามา ปล่อยให้เรื่องราวที่ฟังผ่านหู ความงามที่ไหลผ่านตา เราก็จะซาบซึ้งไปกับทุกสิ่งในวัดนี้ได้ไม่ยากเลยครับ ถ้าไม่เชื่อ ขอเชิญมาพิสูจน์ด้วยตัวเองสักครั้งครับ
เกร็ดแถมท้าย
- วัดหงส์รัตนาราม ตั้งอยู่ในย่านพระราชวังเดิม มีศาสนสถานสำคัญหลายแห่งอยู่ไม่ไกล ทั้งวัดอรุณราชวราราม วัดโมลีโลกยาราม รวมถึงไปมัสยิดต้นสน เดินทางมาถึงได้ทั้งรถส่วนตัวและขนส่งสาธารณะ เช่น รถกระป๋อง เรือข้ามฟาก หรือจะเดินจาก MRT อิสรภาพ มาก็ได้เช่นกัน
- วัดหงส์รัตนาราม เป็นแรงบันดาลใจให้สถานี MRT อิสรภาพ ตกแต่งภายในสถานีด้วยรูปหงส์บนเสาอีกด้วย
- วัดหงส์รัตนาราม เป็นหนึ่งในหลายวัดในกรุงเทพฯ ที่มีพระพุทธรูปศิลปะลาวประดิษฐานอยู่ นอกจากที่นี่ก็ยังมีอีกหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม หรือ วัดราชผาติการาม ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปแล้ว ไปอ่านย้อนหลังได้นะครับ 4. ถ้าสนใจจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องประวัติของพระพุทธรูปแทนที่จะเป็นพุทธประวัติหรือชาดก ยังมีอีกวัดหนึ่ง นั่นคือ วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า แต่ที่วัดนั้นเขียนถึงพระพุทธสิหิงค์ อีกหนึ่งพระพุทธรูปสำคัญของชาวล้านนา ซึ่งผมก็เขียนถึงไปแล้วเช่นกัน ถ้าสนใจลองไปอ่านได้กันนะครับ