The Cloud x Qatar Airways
เพื่อนฝรั่งรายแรกของสยามคือโปรตุเกส ชนชาติที่อยู่ริมฝั่งตะวันตกสุดของยุโรป ความห่างไกลจากดินแดนอื่นๆ ทำให้โปรตุเกสเป็นชาตินักเดินเรือที่ล่องมหาสมุทรไปทั่วโลก
มิตรภาพระหว่างสยามและโปรตุเกสจึงเกิดขึ้นมานานกว่า 500 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ตั้งสถานเอกอัครราชทูตในบางกอกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติก็เจริญงอกงามตลอดมา
เดือนกรกฎาคมนี้ The Cloud และ Qatar Airways จัดทริป Walk with The Cloud 19 : Portuguese Passage เชิญผู้สนใจไปแกะรอยเส้นทางโปรตุเกสในบางกอก
เริ่มจากเยี่ยมสถานเอกอัครราชทูตแห่งแรกของกรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมวัดกาลหว่าร์ ชม ‘รูปพระตาย’ รูปไม้แกะสลักพระศพของพระเยซูเจ้า พร้อมฟังเรื่องราวการสืบประวัติรูปไม้เก่าแก่จากไอบีเรีย ที่ปกติจะนำออกมาให้สาธารณชนเห็นเพียงปีละครั้งเท่านั้น
จากนั้นล่องเรือไปชมวัดซางตาครู้สและชุมชนกุฎีจีน ชุมชนชาวโปรตุเกสที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา เยี่ยมพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนและรับประทานอาหารสไตล์สยามโปรตุเกส ก่อนจะชิมขนมฝรั่งแสนอร่อยแกล้มประวัติศาสตร์ที่ร้านขนมฝรั่งธนูสิงห์
โดยมีวิทยากรหลักๆ ได้แก่ เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ อาจารย์สอนภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกส และผู้หลงรักวัฒนธรรมของประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์ นักประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาผู้โตมากับวัดกาลหว่าร์ เจ้าของคอลัมน์ ครุ่นคริสต์ ใน The Cloud และ รัฐนันท์ เจียมปัญญารัช มัคคุเทศก์ภาษาโปรตุเกส
เนื่องจาก Qatar Airways เพิ่งเปิดเส้นทางบินใหม่ไปลิสบอน เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศโปรตุเกส หนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของโลกนี้ เคยเป็นศูนย์กลางของยุโรปในการค้าขายกับทั่วโลก ทั้งแอฟริกา ตะวันออกไกล รวมถึงราชอาณาจักรสยาม ผู้ร่วมทริปที่มางานนี้จึงได้สิทธิลุ้นตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางไปสัมผัสประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโปรตุเกสที่ลิสบอนด้วยตนเองด้วย
กลับจากการแกะรอยโปรตุเกสในกรุงเทพฯ มาหมาดๆ เราจึงขอเก็บเรื่องราวการสัมผัสร่องรอยวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวโปรตุเกส พร้อมทำความรู้จักเพื่อนฝรั่งรายแรกของสยามอย่างลึกซึ้งมาฝาก
จากโปรตุเกสถึงสยาม
หลังจาก วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือมาอินเดีย 13 ปีต่อมาใน พ.ศ. 2054 ชาวโปรตุเกสกลุ่มแรกก็เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา อะฟงซู ดือ อัลบูแคร์คือ (Afonso de Albuquerque) ได้ส่ง ทูตดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) มาที่ราชสำนักสยามเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ว่าการเข้ามายังประเทศราชของสยาม มิได้มีเจตนาอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์แห่งไมตรีจิตระหว่างโปรตุเกสและสยามจึงเริ่มต้นขึ้น
ชาวโปรตุเกสหลายคนเริ่มตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยา บ้างเป็นพ่อค้า บ้างแบ่งปันความรู้เรื่องการทหาร โดยเฉพาะเรื่องปืนไฟซึ่งสำคัญในยุคสงคราม บ้างเผยแผ่ศาสนา โดยมิชชันนารีโปรตุเกสได้สร้างโบสถ์ขึ้น 3 หลัง และที่บ้านโปรตุเกสมีผู้คนอยู่รวมกันถึง 3,000 คน
ถึงกรุงศรีอยุธยาจะเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 แต่ชาวโปรตุเกสก็ยังรักษาความสัมพันธ์กับชาวสยามมาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยชาวโปรตุเกสดั้งเดิมได้อพยพมาสร้างชุมชนในบางกอก แม้เวลาผ่านมากว่า 500 ปี แต่ร่องรอยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจากยุโรป ยังคงหลงเหลืออยู่ในทุกวันนี้ที่กรุงเทพมหานคร
สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสคือสถานทูตแห่งแรกในบางกอกก่อตั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สถานที่แห่งนี้ยังคงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี แม้เวลาจะผ่านมากกว่า 150 ปี
กำแพงด้านนอกของสถานทูตมีภาพสตรีทอาร์ตหน้าคน ฝีมือศิลปินสตรีทอาร์ตชาวโปรตุเกสรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง วีลส์ (Vhils) ที่ลงมือตระเวนถ่ายรูปคนในชุมชน และนำมาเจาะบนกำแพงจนเป็นภาพจำสวยๆ ของย่านเจริญกรุง


ทำเนียบทูตโปรตุเกสที่ตั้งเด่นอยู่ด้านหลังกำแพงก็สวยเด่นไม่แพ้กัน อาคารทรงโคโลเนียลอย่างโปรตุเกสผสมผสานความเป็นไทยได้อย่างลงตัว เดิมทีวัสดุที่ตั้งใจนำมาก่อสร้างเป็นวัสดุที่ส่งตรงมาจากโปรตุเกส แต่เรือขนส่งล่มเสียก่อน ทำเนียบโปรตุเกสจึงก่อสร้างขึ้นด้วยวัสดุในท้องถิ่น กลมกลืนเข้ากับชุมชนโดยรอบเป็นอย่างดี
ภายในอาคารถูกออกแบบและจัดวางได้อย่างดีจนคาดไม่ถึงว่าในอดีตของอาคารที่สวยงามสะดุดตาแห่งนี้ถูกใช้งานมาหลากหลายรูปแบบ เป็นทั้งคุกและอาคารเก็บอาวุธ ทำให้ในปัจจุบันอาคารแห่งนี้ยังคงมีปืนใหญ่เก่าแก่ที่เต็มไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์ประดับไว้ให้ชม
หากสังเกตให้ดี บนปืนใหญ่แต่ละกระบอกจะมีตราประทับของกษัตริย์และแผ่นดินโปรตุเกสอยู่ ภายในอาคารก็ตกแต่งได้อย่างสวยงาม ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทำให้ภายในอากาศถ่ายเท ลมพัดเย็นสบายตลอดวัน


สำนักงานทูต และบรรยากาศสวนร่มรื่น
อาคารปูน 2 ชั้นสีเหลืองนวลนี้ เดิมเป็นโกดังเก่าอายุกว่า 100 ปี สำหรับเก็บสินค้าที่ขนส่งมาทางเรือ เมื่อการขนส่งทางบกและยุคสมัยเปลี่ยนไป โกดังเก่าที่เคยอัดแน่นไปด้วยสินค้าหลากหลายประเภทจึงถูกทิ้งให้ว่างเปล่า
ก่อนที่สถานทูตจะจับมือกับสถาปนิกและวิศวกรชาวโปรตุเกสร่วมกันเปลี่ยนโกดังร้างให้กลับมามีสีสันอีกครั้ง จนกลายเป็นสำนักงานทูตสุดทันสมัยอย่างทุกวันนี้


ไม่เพียงแต่สถาปัตยกรรมที่สวยงาม บรรยากาศโดยรอบสถานทูตก็ร่มรื่นน่ามองไม่เป็นรอง เพราะแวดล้อมไปด้วยทิวทัศน์อันสงบร่มเย็นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต้นไม้เขียวขจีและสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะนกยูงที่เดินเฉิดฉายอวดความสวยงามได้อย่างอิสระ นับเป็นสถานที่แสนพิเศษในย่านเจริญกรุง
ที่ตั้ง : ซอยถนนเจริญกรุง 30 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ สำหรับผู้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตเท่านั้น
เวลา 08.30 – 12.30 น. และ 13.30 – 16.30 น.
วัดกาลหว่าร์

โบสถ์งดงามที่ตั้งตระหง่านอยู่ภายในชุมชนตลาดน้อย เป็นอีกร่องรอยที่แสดงถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวโปรตุเกสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ชาวโปรตุเกสผูกพันกับคริสต์ศาสนาอย่างลึกซึ้ง ในอดีตมิชชันนารีโปรตุเกสได้รับอภิสิทธิ์ ‘ปาโดรอาโด’ (Padroado) ให้เผยแผ่คำสอนต่างๆ ในต่างแดน ต่อมาเกิดปัญหาระหว่างโปรตุเกสกับมิชชันนารีประเทศอื่น สันตะสำนักแห่งกรุงโรมทราบถึงความขัดแย้งนี้ จึงจัดตั้งสมณกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อ ‘โปรปากันดา ฟีเด’ (Propaganda Fide) เพื่อทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมโดยตรง และแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสเป็นประมุขมิสซังสยาม ทำให้ชาวโปรตุเกสรู้สึกไม่พอใจที่ชาวฝรั่งเศสมาเป็นผู้ปกครอง
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่อพยพมายังบางบอก และเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ชาวโปรตุเกสจึงได้มาอาศัยรวมกัน ณ ค่ายซางตาครู้ส แต่ด้วยความขัดแย้งที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่าวัดซางตาครู้สจะถูกปครองโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่งจึงแยกตัวออกมาตั้งชุมชนใหม่และนำของมีค่าอย่างยิ่งมาด้วย นั่นคือรูปแม่พระลูกประคำและรูปพระศพของพระเยซูเจ้า
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกสสร้างวัด และสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2330 ด้วยโครงสร้างไม้ เพื่อให้ชาวคริสตังได้ประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมกับนำรูปแม่พระลูกประคำและรูปพระศพของพระเยซูเจ้าจากกรุงศรีอยุธยามาประดิษฐานไว้ที่นี่ โดยตั้งชื่อว่า ‘วัดกาลหว่าร์’ ตามชื่อรูปพระตาย


นอกจากนี้ยังมีห้าง Falck & Beidek Department Store ที่ก่อตั้งโดยชาวยุโรป เป็นอาคารที่เก่าแก่กว่า 1 ศตวรรษและยังคงสภาพไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อาคารปูนสีขาวที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตกอย่างอลังการนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ห้างสิงโต’ ที่ผู้คนเรียกกันอย่างนี้เพราะว่าตัวอาคารถูกประดับด้วยปูนปั้นรูปหัวสิงโตขนาดใหญ่ ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปัจจุบันยังคงเป็นห้างโบราณที่เปิดให้เข้าชมอยู่ในชื่อว่า O.P Place ภายในมีทั้งลิฟท์เก่าแก่ที่ยังคงโครงสร้างดั้งเดิมเอาไว้ โคมระย้าขนาดยักษ์ และมีงานฝีมือแขนงต่างๆ เช่น อัญมณี ผ้าไหม และโบราณวัตถุขายอีกด้วย
อาคารโบสถ์ของวัดกาลหว่าร์ได้รับการสร้างใหม่ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นโบสถ์ไม้ ตลอดระยะเวลา 50 ปีแรกไม่มีมิชชันนารีมาปกครองดูแลที่นี่ เนื่องจากชาวโปรตุเกสไม่ยอมรับชาวฝรั่งเศส แต่หลังจากนั้นก็เริ่มปรับตัวและยอมรับในที่สุด ต่อมาโบสถ์ไม้แห่งนี้ทรุดโทรมลง ใน พ.ศ. 2380 บาทหลวงอัลบรังค์ (Albrand) มิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศประจำกรุงปารีสองค์แรกที่ได้เข้ามาปกครองวัดกาลหว่าร์จึงได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และทำพิธีเสกขึ้นในวันฉลองแม่พระ ที่นี่จึงได้รับชื่ออีกหนึ่งชื่อว่า ‘วัดแม่พระลูกประคำ’

ต่อมาใน พ.ศ. 2433 คุณพ่อแดซาลส์ (Dessalles) เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์คนสำคัญได้รื้อโบสถ์หลังที่ 2 และระดมทุนสร้างโบสถ์หลังปัจจุบันขึ้นจนเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2440 คุณพ่อได้บันทึกไว้ในจดหมายระหว่างก่อสร้างโบสถ์หลังนี้ว่า
“โบสถ์หลังใหม่จะกลายเป็นอนุสรณ์สถานที่น่าจดจำ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวสยาม”
โบสถ์สไตล์โกธิครีไวเวิล (Gothic Revival) ที่ใหญ่โตโอ่อ่าและสวยงาม มีลักษณะเป็นยอดสูงขึ้นสู่ฟ้า โครงสร้างภายในโอ่โถง เพดานโค้งสัน ยอดหลังคาแหลม พร้อมระฆังกังวานจากประเทศฝรั่งเศสที่เรียกผู้คนให้มาร่วมพิธี
แม้โบสถ์หลังนี้จะมีอายุกว่าร้อยปี แต่คริสตศาสนิกชนวัดกาลหว่าร์ก็ดูแลรักษาวัดไว้อย่างดี ทำให้มีหลายส่วนที่นับได้ว่าเป็นของเก่าแก่หลงเหลือให้คนรุ่นใหม่ได้เชยชม ไม่ว่าจะกลไกการตีระฆังแบบดั้งเดิม พื้นกระเบื้องหรือว่ากระเบื้องหลังคาที่มีส่วนผสมของทองแดงทำให้มีความสวยงามและทนทานผ่านสภาพอากาศและกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน

ประติมากรรมและจิตรกรรมภายในโบสถ์ ทุกองค์ประกอบล้วนเต็มไปด้วยความหมาย ไม่ว่าจะฝ้าเพดานที่มี 8 ช่อง ซึ่งมีความหมายในทางดาราศาสตร์โบราณถึงดาวศุกร์ที่เป็นดาวประจำรุ่งของแม่พระลูกประคำ ต้นและเถาองุ่นซึ่งหมายถึงพระเยซูกับพระศาสนจักร หน้าต่างประดับกระจกสีที่แสดงเรื่องราวต่างๆ ของข้อรำพึงแห่งสายประคำ

รูปพระตายของพระเยซูเจ้าและรูปแม่พระลูกประคำเป็นสิ่งที่อยู่กับคริสตชนวัดกาลหว่าร์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจวบจนปัจจุบัน วัดกาลหว่าร์ยังคงนำรูปพระตายที่อายุกว่า 300 ปีมาประกอบพิธีใน ‘คืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์’ ของทุกปี โดยเชิญรูปพระตายที่ประดิษฐานอยู่ในบุษบกประดับด้วยดอกไม้ และแห่ออกไปรอบวัดกาลหว่าร์ ส่วนรูปแม่พระลูกประคำก็ยังคงประดิษฐานไว้ภายในโบสถ์ ให้คนสวดภาวนาจวบจนทุกวันนี้
ที่ตั้ง : ซอยวาณิช 2 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน
เวลา 08.30 – 16.30 น.
0 2266 4849
วัดซางตาครู้ส
ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบรรยากาศสงบร่มเย็น เป็นที่ตั้งของวัดเก่าอันมีสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เป็นที่พักพิงใจของผู้คนมากหน้าหลายตา แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปแต่ผู้คนก็ยังคงแวะเวียนมาที่วัดนี้เสมอ

หลังกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 ชาวคริสตังหลายชนชาติที่ยอมรับการปกครองของชาวฝรั่งเศสได้อพยพมายังบางกอกพร้อมกับ คุณพ่อกอร์ (Corre) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอพระราชทานเงินและเรือพายสำหรับดำรงชีพ
ต่อมาวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานที่ดินให้คุณพ่อกอร์ เนื่องจากวันนั้นตรงกับวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขนและเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงตั้งชื่อวัดและที่ดินผืนนี้ว่า ‘ซางตาครู้ส’ หมายถึงไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ในภาษาโปรตุเกส วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของคริสตชนหลากหลายเชื้อชาติ
ในขณะนั้นวัดซางตาครู้สเป็นเพียงวัดเล็กๆ ไม่มีแม้แต่ข้างฝา มีเพียงแค่เสาและหลังคา ก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะพระราชทานเงินช่วยเหลือ เวลาผ่านมากว่า 65 ปีในสมัย พระสังฆราช ฌอง ปอล กูร์เวอซี (Jean Paul Courvezy) ได้มอบหมายให้ คุณพ่อฌอง บัปติส ปัลเลอกัวส์ (Jean Baptiste Pallegoix) สร้างวัดหลังใหม่ขึ้นแทนที่วัดหลังเดิม โบสถ์หลังนี้จึงสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2379 ด้วยสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 รูปทรงประยุกต์ไทยจีนและผสมผสานศิลปะฝรั่ง วัดแห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘วัดกุฎีจีน’

ใน พ.ศ. 2456 คุณพ่อกูเลียลโม กิน ดา ครู้ส (Gulielmo Kinh Da Cruz) เห็นว่าวัดหลังนี้ทรุดโทรมมากแล้ว จึงดำริสร้างวัดหลังใหม่ขึ้น ทำให้ทั้งภายในและภายนอกของวัดซางตาครู้สเป็นสถาปัตยกรรมเรเนสซองส์ผสมนีโอคลาสสิก ใช้ประกอบศาสนกิจเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้

โบสถ์ซางตาครู้สมีโถงสูงโปร่ง โครงสร้างแบบอาคารโบราณ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือวิธีการใช้ผนังทั้งสองด้านเป็นจุดรับน้ำหนังจากหลังคาและใช้เสาลอยเป็นส่วนรับน้ำหนังของฝ้าเพดาน ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีแสดงถึงเหตุการณ์ต่างๆของศาสนาคริสต์รวมถึงภาพพระเยซูเจ้าในอิริยาบทต่างๆ มียอดโดมรูปแบบอิตาลีคล้ายกับโดมแห่งมหาวิหารฟลอเรนซ์ ดูหรูหราและสวยงามตระการตา
ที่ตั้ง : 1 ซอยกุฎีจีน ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
เปิดเวลาประกอบพิธีมิสซา
0 2472 0153
พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน

แม้พิพิธภัณฑ์จะซ่อนตัวอยู่ภายในซอยชุมชนกุฎีจีน แต่ผู้คนก็หลั่งไหลกันเข้ามาชมบ้านหลังนี้อย่างสม่ำเสมอ เพราะชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวสยามเชื้อสายโปรตุเกส ที่เก็บวัฒนธรรมและวิธีชีวิตแบบผสมผสานไว้เต็มเปี่ยม ภายในชุมชนยังมีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดกันมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประดับตกแต่งบุษบกด้วยดอกไม้ การร้อยตาข่ายดอกไม้สำหรับห่มรูปพระตาย การแสดงละครในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือแม้แต่สูตรอาหารโปรตุเกสต่างๆ ที่หากินได้ยากในปัจจุบัน ชุมชนกุฎีจีนยังคงเก็บงำสูตรลับความอร่อยไว้อย่างดี

บ้านไม้ 3 ชั้นถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานจากบ้านที่ถูกทิ้งให้ว่างเปล่า กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลของชาวโปรตุเกสไว้มากมาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเข้ามาของชาวโปรตุเกส วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมอาหาร คำศัพท์โปรตุเกสที่ประเทศไทยรับมาใช้ การแต่งกาย รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้น แถมยังคงขายขนมปังสัพแหยกสูตรดั้งเดิมที่ชวนให้คนรุ่นใหม่ได้มาลิ้มลองความอร่อยด้วย

บนชั้น 3 ของพิพิธภัณฑ์ตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน ทั้งสำหรับการดำรงชีวิต เครื่องครัว อุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมรวมถึงกุศโลบายอันเฉียบแหลมของชุมชนด้วย นั่นคือ ‘ผีหัวพริก’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ผีหนูเลี้ยบ’ ผีเด็กประจำหมู่บ้านกุฎีจีนที่มักถูกใช้เป็นกุศโลบายในการกำชับให้เด็กๆ ที่ออกไปวิ่งเล่นในชุมชนรีบกลับบ้านให้ทันก่อน 6 โมงเย็น เพราะไม่อย่างนั้นจะถูกผีหนูเลี้ยบจับตัวไป
ชั้นบนสุดถูกออกแบบให้ขึ้นไปชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและชุมชนโดยรอบได้อย่างสุดลูกหูลูกตาอีกด้วย
ที่ตั้ง : ซอยวัดกัลยาณ์ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
เปิดวันอังคาร-อาทิตย์
เวลา 09.30 – 18.00 น.
08 1772 5184
ขนมฝรั่งธนูสิงห์

ในสมัยก่อนผู้คนนิยมใช้ไข่ขาวในการรีดผ้า ทำให้มีไข่แดงเหลือใช้เป็นจำนวนมาก จึงนำมาประยุกต์ทำเป็นขนมมากหน้าหลายตาสีสันเหลือนวลน่ากินตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ขนมจากโปรตุเกสที่ตกทอดมายังแดนสยามก็ไม่ได้มีเพียงแค่ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทองเท่านั้น แต่ยังมี ‘ขนมฝรั่ง’ แสนอร่อย เนื้อเนียนนุ่ม กลิ่นหวานหอมนี้อีกด้วย
หากเดินเข้ามาภายในชุมชนกุฎีจีนจะพบ ‘ร้านธนูสิงห์’ ร้านขนมฝรั่งสูตรเก่าแก่ของชุมชนโปรตุเกสที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานกว่า 200 ปี ในอดีตขนมฝรั่งเป็นขนมที่นิยมกินพร้อมน้ำชาหลังจากเสร็จสิ้นพิธีในโบสถ์ จึงนับเป็นขนมที่ช่วยสร้างและกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้น
ร้านแห่งนี้ยังคงยึดมั่นใช้สูตรโบราณ สูตรต้นตำหรับแท้ๆ ความพิเศษของขนมฝรั่งเนื้อเนียนนุ่มนี้คือการใช้วัตถุดิบที่บรรจงคัดสรรมาเป็นอย่างดีแค่ 3 อย่างเท่านั้น นั่นคือ แป้ง น้ำตาล และไข่ นำมาตีให้ขึ้นฟู ทำสดใหม่วันต่อวัน ทำให้ได้ขนมฝรั่งกรอบนอกนุ่มในที่ติดอยู่ในใจของผู้คนชุมชนกุฎีจีนและนักท่องเที่ยวหลายชนชาติมานับร้อยปี
ความพิเศษของร้านขนมร้านนี้ไม่ได้มีเพียงแค่วัตถุดิบเท่านั้น แต่พวกเขาบรรจงและตั้งใจในทุกอณู ทั้งทำพิมพ์ใส่ขนมขนาดพิเศษที่ขึ้นรูปและจับจีบด้วยมือเองทุกชิ้น เตาที่ถูกออกแบบมาอย่างพิเศษให้เหมาะกับเนื้อขนมฝรั่งสูตรพิเศษนี้เท่านั้น รวมทั้งไม้พายไม้สักที่ตกทอดมารุ่นสู่รุ่น
ปัจจุบันร้านธนูสิงห์จำหน่ายขนมฝรั่ง 2 รูปแบบ ทั้งแบบดั้งเดิมที่เป็นขนมเค้กเนื้อนุ่ม และแบบโรยหน้าด้วยลูกเกดหรือฟักเชื่อม ซึ่งเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของชาวจีน แสดงถึงความผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนกุฎีจีนไว้ด้วย
ที่ตั้ง : ซอยกุฎีจีน 7 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน
เวลา 09.00 – 17.00 น.
0 2465 5882 / 08 1483 0303

