27 มิถุนายน 2019
12 K

เราเดินทางมายังเขตเมืองเก่าแถวนางเลิ้งเพื่อจะมายังวัดโสมนัสราชวรวิหาร

เปล่า เราไม่ได้จะมาทำบุญ แต่เรามาเพื่อตามหาสถานที่ลับๆ เล็กๆ แห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่อย่างถ่อมตัวในบริเวณวัดแห่งนี้ หลังจากเดินทะลุผ่านกุฏิพระหลังเล็กหลังน้อยพร้อมกับเลี้ยวซ้ายและขวาอีกหลายที จนเหมือนกับว่าเรานั้นหลงทางอยู่ภายในวัดซะแล้วก็พลันเห็นประตูเหล็กสีแดงล้วนที่ตั้งอยู่ด้านหน้า บอกเราว่าเรามาถึงจุดหมายในวันนี้แล้ว

ภาพตรงหน้าเราคือ อาคารเหล็กสีแดงที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ว่างระหว่างกุฏิพระ 2 หลัง พื้น ผนัง หลังคา ประตู วงกบ ชั้นวางของ ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นสีแดงชาดไปซะทั้งหมด แหม ก็ใครมันจะไปรู้ว่าในตรอกเล็กๆ ระหว่างกุฏิพระสองหลังในวัดโสมนัสราชวรวิหารนั้นมันจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์กันได้

นี่คือพิพิธภัณฑ์สีแดงชาด เป็นที่เก็บวัตถุโบราณที่เจอในย่านสุวัณณภูมิ ลักษณะเป็นดินอัดแผ่นผสมยางกระบก มีลวดลายขีดเขียนอยู่ในพื้นผิว เรียกกันว่า กเบื้องจาน (เป็นคำที่ทางมูลนิธิบัญญัติขึ้นมาจากงานวิจัยที่ทำ ซึ่งคำนี้หมายถึง กระเบื้องจาน)

และเพราะคำว่า ‘สุวรรณภูมิ’ ที่เราคุ้นเคยกันนั้นเป็นคำที่สะกดกันตามแบบสันสกฤต แต่ในทางพุทธศาสนาล้วนใช้ภาษาบาลีบันทึกคัมภีร์และเอกสารต่างๆ ทางวัดจึงใช้คำว่า ‘สุวัณณภูมิ’

กลับมาที่ Tiny Museum ที่ถึงมีขนาดเล็ก แต่ภายในนั้นมีประวัติศาสตร์เก่าแก่บรรจุอยู่ เมื่อเราเดินเข้าไปด้านในตัวอาคารสีแดงไซส์ XS และเห็นพื้นที่และกเบื้องจานด้านในทั้งหมดแล้ว ก็เกิดเป็นคำถามไซส์ XL มากมายโผล่ขึ้นมาในหัวแทน

ทำไมถึงมีพิพิธภัณฑ์เล็กจิ๋วแบบนี้เกิดขึ้น? ทำไมพิพิธภัณฑ์ของโบราณนั้นกลับต้องมาอยู่ในวัด? กเบื้องจานนี่คืออะไร? ทำไมต้องตั้งอยู่อย่างลับๆ แบบนี้? แล้วทำไมถึงใช้พื้นที่ซอกแคบๆ ระหว่างกุฏิทำเป็นพิพิธภัณฑ์? และอีกมากมายหลายต่อหลายคำถาม

Tiny Museum

แน่นอนว่าหลายคำถามนั้นคิดเองก็คงไม่มีทางได้รับคำตอบ เราจึงนัดหมายกับผู้ดูแลและจัดทำพิพิธภัณฑ์ ‘Tiny Museum’ แห่งนี้ อันประกอบไปด้วย คุณวรรณฤทธ์ ปราโมช ณ อยุธยา ฐานข้อมูลกเบื้องจาน มูลนิธิพระราชกวี ผู้ริเริ่มผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น คุณวัชรพงษ์ธร ยังดำรง รองเลขธิการ มพอ. และยังเป็นบุตรชายคุณวรรณฤทธ์  และ คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกรางวัลศิลปาธร สถาปนิกของโครงการ และที่ขาดไมไ่ด้เลยก็คือ พระสิริปัญญามุนี (เจ้าคุณเต็ม เจ้าคณะ ๑ วัดโสมนัสราชวรวิหาร) ผู้ที่สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นมาได้

และนี่คือเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์เล็กจิ๋วสีแดงชาดที่ซ่อนตัวอยู่ลับๆ ในวัดโสมนัสราชวรวิหาร

01

ไทยนี่

และก่อนจะพูดเรื่องอื่นใด เราควรต้องพูดถึงสิ่งของจัดแสดงในมิวเซียมนั้นกันก่อน เพราะหัวใจหลักของพิพิธภัณฑ์ใดๆ นั้นคือของที่จัดแสดง หาใช่ตึกภายนอก ซึ่งของที่บรรจุอยู่ด้านในมิวเซียมแห่งนี้นั้นก็คือกเบื้องจาน สำหรับบางคนที่ไม่รู้จักสิ่งนี้ก็โปรดอย่าได้แปลกใจเลย เพราะเราเองก็ไม่รู้จักเหมือนกัน (ฮา)

กเบื้องจานนั้นเป็นเหมือนกับหนังสือหรือจดหมายในสมัยโบราณที่ใช้บันทึกเรื่องราว ไปจนถึงส่งข้อความถึงกัน โดยใช้ดินอัดแผ่นผสมกับยางของต้นกระบกจนมีหน้าตาเหมือนแผ่นอิฐแผ่นปูน แล้วจึงขีดเขียนจดบันทึกลงไปบนพื้นผิวของแผ่นดินนั้น

หลายๆ แผ่นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้เคยถูกส่งพิสูจน์ตรวจหาอายุโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ผลลัพธ์ออกมาว่ามีอายุกว่า 2,000 ปีขึ้นไปทั้งนั้น นั่นแปลว่าตัวอักษรในกเบื้องจานเหล่านี้ก็อาจจะเป็นการสร้างตัวอักษรตัวแรกๆ เพื่อเอามาใช้สื่อสารกันระหว่างมนุษย์ในละแวกแถบดินแดนสุวัณณภูมิก็เป็นได้

ส่วนการที่กเบื้องจานเหล่านี้มาอยู่ที่วัดโสมนัสนี้ได้ ก็ต้องเล่าย้อนไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องของเรื่องมันเริ่มมาจากในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชลยชาวตะวันตกจำนวนมากถูกกองทัพญี่ปุ่นจับตัวเพื่อมาเป็นแรงงานในการสร้างทางรถไฟข้ามไปพม่าหรือทางรถไฟสายมรณะที่กาญจนบุรี

นึ่งในนั้นมี ดร.เอช อาร์ แวน เฮเกอเร็น (H.R. Van Heekeren) ชาวเนเธอร์แลนด์ ที่ในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟได้พบเจอหลักฐานโบราณคดีจากยุคหินใหม่ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ดร.เอช อาร์ แวน เฮเกอเร็น ก็นำวัตถุโบราณที่เจอไปตรวจสอบ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นหลักฐานจากยุคหินใหม่จริงๆ

หลังจากนั้น ดร.เอช อาร์ แวน เฮเกอเร็น เลยทำเรื่องขอทุนจากสถาบันทางโบราณคดีและนำไปสู่การขุดสำรวจทางโบราณคดีของไทยเป็นครั้งแรกที่ตำบลบ้านเก่าใน พ.ศ. 2499  จึงเกิดการตื่นตัวด้านการขุดค้นทางโบราณคดีของไทยในอีกหลายจังหวัด ทั้งเพชรบุรี ลพบุรี ราชบุรี และจังหวัดอื่นๆ ในแถบนั้น โดยการตื่นตัวนี้ไม่ใช่เพียงแค่จากภาครัฐอย่างเดียว แต่ก็มีชาวบ้านธรรมดาขุดเจอด้วยเช่นกัน

Tiny Museum

และการที่กเบื้องจานเหล่านี้มาอยู่ที่วัดโสมนัสฯ ได้ก็เนื่องมาจาก เจ้าคุณอ่ำ (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) หรือพระราชกวีแห่งวัดโสมนัสวรวิหาร ที่เป็นพระนักค้นคว้า นักการศึกษา นักโหราศาสตร์ และกวี ท่านเป็นคนราชบุรีและมีโอกาสเดินทางไปยังวัดแถวราชบุรี เพชรบุรีลพบุรี อยู่บ้าง ได้ไปเห็นกเบื้องจานที่ชาวบ้านขุดพบขึ้นมา จึงเกิดความสนใจ อยากค้นคว้า และซื้อจากชาวบ้านไว้

พอลูกศิษย์หลายคนเห็นว่าท่านชอบจึงหามาถวายให้เรื่อยๆ ไปจนถึงวัดอื่นๆ ในละแวกนั้น เมื่อมีการขุดพบเจอก็จะส่งมาให้ท่านเจ้าคุณอ่ำเช่นเดียวกัน โดยท่านเจ้าคุณอ่ำก็ใช้พื้นที่ในวัดโสมนัสฯ นี่แหละเป็นที่เก็บและค้นคว้าวิจัย จนทุกวันนี้มีกเบื้องจานอยู่ในครอบครองทั้งหมด 847 แผ่น

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึง พ.ศ. 2510 ก็ยังมีนักวิชาการหลายฝ่ายที่ไม่ยอมรับในตัวกเบื้องจาน โดยถือกันว่าเป็นวัตถุโบราณปลอมและไม่นับว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีของไทย ทำให้เราไม่คุ้นชื่อกเบื้องจานเหล่านี้เลยในปัจจุบัน

02

จากกเบื้องจานสู่พิพิธภัณฑ์

หลังจากเจ้าคุณอ่ำมรณภาพใน พ.ศ. 2535 บรรดากเบื้องจานทั้งหมด 847 แผ่น ก็ถูกย้ายมาอยู่ในความดูแลของ พระสิริปัญญามุนี (เจ้าคุณเต็ม) เจ้าคณะ ๑ วัดโสมนัส และให้ทางคุณวรรณฤทธ์ที่ช่วยงานเจ้าคุณอ่ำอยู่ก่อนหน้านี้ในเรื่องกเบื้องจานอยู่แล้วมาทำการวิจัยสานงานต่อ

และเพื่อให้สามารถดำเนินการด้านวิชาการต่อไปได้ คุณวรรณฤทธ์กับเจ้าคุณเต็มก็ช่วยกันผลักดันก่อตั้งให้เกิดเป็นมูลนิธิพระราชกวีใน พ.ศ. 2555 ซึ่งเป้าหมายถัดมาก็คือการดำเนินงานทางวิชาการ หรือก็คือการเปิดให้นักวิชาการและประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาได้นั่นเอง

คุณวรรณฤทธ์เล่าว่า การจะให้คนเข้ามาดูแผ่นกเบื้องจานที่วางระเกะระกะอยู่กับพื้นก็คงไม่เหมาะสม ควรมีพื้นที่ที่สามารถให้คนมาศึกษาได้อย่างจริงจัง คุณวรรณฤทธ์จึงเป็นทั้งผู้ริเริ่ม ผลักดัน และดูแล ให้เกิดโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์กเบื้องจานแห่งนี้ขึ้นมา

และคำถามที่สำคัญก็คือ ทั้งวัดไม่มีใครเคยทำพิพิธภัณฑ์มาก่อนเลย แล้วจะให้ใครมาช่วยออกแบบดี?

ก็บังเอิญว่าในช่วงเวลาที่คุณวรรณฤทธ์หาสถาปนิกนักออกแบบอยู่นั้น มีกำหนดการให้เหล่าศิลปินผู้ได้รับรางวัลศิลปาธรในปีนั้นมาเล่าให้คนทั่วไปฟังถึงกระบวนการทำงาน และคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกที่ได้รางวัลปีนั้นก็มาพูดถึงเรื่องวิธีคิด ความเชื่อ และวิธีทำงานออกแบบ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินพอดี และก็บังเอิญอีกเช่นกันที่คุณวรรณฤทธ์เดินทางไปฟังในงานวันนั้น

“ผมบรรยายถึงเรื่องของวิธีคิด ความเป็นพุทธ และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติผ่านงานออกแบบที่ผมทำ ซึ่งหลังจากที่พูดจบคุณวรรณฤทธ์ก็เดินมาหาและแนะนำตัวให้รู้จัก” สถาปนิกโครงการเล่าถึงความหลังตอนที่เจอกันครั้งแรก

“ผมไม่เคยรู้จักกเบื้องจานมาก่อนเลย แล้วผมก็นึกภาพว่าต้องเป็นจานกินข้าวอะไรแบบนั้น (หัวเราะ) ตอนจบงานที่ได้เจอกัน คุณวรรณฤทธ์ทิ้งชื่อและเบอร์โทรศัพท์ให้ผมไว้ แล้วบอกว่าว่างแล้วให้โทรมา หลังจากงานวันนั้นสักพักหนึ่งพอผมเริ่มมีเวลาว่างก็เลยได้โทรคุยกับทางคุณวรรณฤทธ์และนัดมาดูกเบื้องจานด้วยกันที่นี่ แล้วหลังจากนั้นก็เลยตกลงเริ่มทำงานโปรเจกต์นี้กัน”

ผมถามคุณสุริยะว่า อะไรทำให้ตัดสินใจรับทำงานนี้

“ต้องเล่าแบ็กกราวนด์นิดหนึ่ง พ่อผมเป็นคนก่อสร้างโรงเรียน และบั้นปลายชีวิตของท่านก็สร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเช่นเดียวกัน เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นแห่งหนึ่งในพัทลุง การได้ทำพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวของเราอยู่แล้ว เหมือนเป็นจุดสูงสุดอันหนึ่งของวิชาชีพ ยิ่งด้วยอาชีพการเป็นสถาปนิกที่ไม่ได้มีโอกาสทำพิพิธภัณฑ์กันได้บ่อยๆ และยิ่งครั้งนี้ที่คุณวรรณฤทธ์ให้โอกาสให้ผมทำงานที่ถือว่ายิ่งใหญ่และสำคัญต่อชาติ ผมก็เลยสนใจอยากทำจริงๆ” สุริยะอธิบายถึงเหตุผลในการตกลงรับงานนี้

Tiny Museum

03

ไทนี่ มิวเซียม / มิวเซียมที่หาไม่เจอ

ของจัดแสดงก็มีแล้ว สถาปนิกคนออกแบบก็มีแล้ว คำถามถัดมาก็คือ สถานที่ก่อสร้างล่ะจะเป็นที่ไหนดี?

โดยส่วนมากเวลาที่มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เราจะคิดถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์ใหญ่โตอลังการ เพราะจะได้สร้างความโดดเด่นแก่ของที่จัดแสดงอย่างเต็มที่ แต่ท่านเจ้าคุณเต็มกลับเห็นต่างออกไป และเป็นคนเลือกสถานที่สร้างพิพิธภัณฑ์ให้ตั้งอยู่ในซอกระหว่างกุฏิ 2 หลังภายในวัดนั่นเอง

“หลังจากที่เราและท่านเจ้าคุณเต็มได้คุยปรึกษากับคุณสุริยะ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าพิพิธภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นมานั้นควรจะให้เป็นขนาดเล็กที่สุด ไม่ใช่แบบใหญ่โตที่สุดหรืออลังการที่สุด เพราะด้วยการมีอยู่ของกเบื้องจานที่ยังไม่มีการรองรับจากนักวิชาการในกระแสหลัก การไปสร้างมิวเซียมใหญ่ๆ มันอาจจะอธิบายต่อผู้มาเข้าชมยาก

“และซอกระหว่างกุฏิ 2 หลังของเจ้าคุณเต็มนั้นเดิมทีก็เป็นที่เก็บกเบื้องจานตั้งแต่สมัยเจ้าคุณอ่ำอยู่แล้ว เราเลยคิดว่ามันเหมาะที่จะใช้พื้นที่นี้ทำพิพิธภัณฑ์เล็กจิ๋วแห่งนี้ขึ้นมา ส่วนชื่อว่า ‘ไทยนี่’ หรือ ‘ไทยที่นี่’ และ ‘Tiny’ มันพ้องเสียงกัน คือทั้งเล็กแต่มีคุณค่ามหาศาล เพราะเป็นประวัติที่ถูกบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรโบราณของแถบนี้ เลยใช้ชื่อนี้เป็นชื่อของพิพิธภัณฑ์” วรรณฤทธ์อธิบาย

“ภาพแรกสุดที่ผมคิดขึ้นมาเลยก็คือพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในซอกตรงนี้แหละ เพราะของที่ดีที่สุดต้องอยู่ในที่ๆ เล็กที่สุด” สถาปนิกโครงการเสริม “ความเล็กสำหรับผมจึงไม่ใช่ปัญหา แล้วในการก่อสร้างอาคารนั้นมันจะเกิดเสียงดังขึ้นตลอดเวลา ถ้าเป็นสถานที่อื่นที่ไม่ใช่กุฏิของเจ้าคุณเต็มที่รับช่วงต่อดูแลกเบื้องจานการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็อาจจะไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้”

และนั่นคือที่มาของการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กในซอกกุฏิที่ถ้าไม่มีคนพาเดินไปนั้น ผมมั่นใจว่าไม่มีทางหาเจอได้อย่างแน่นอน

04

Tiny Museum พิพิธภัณฑ์สีแดงชาด

หลังจากตัดสินใจเลือกพื้นที่ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว ก็มาถึงปัญหาข้อต่อมา นั่นคือวัดโสมนัสฯ นั้นเป็นอาคารอนุรักษ์ที่ขึ้นทะเบียนของกรมศิลป์ ทำให้ไม่สามารถรื้อถอนหรือดัดแปลงอาคารได้เลย แล้วการก่อสร้างอาคาร 1 หลังให้อยู่ระหว่างกุฏิ 2 หลังที่เป็นอาคารอนุรักษ์นั้นจะใช้วิธีอะไรกัน

“มันเหมือนกับเราทำทุกอย่างมาในชีวิตเพื่อทำงานชิ้นนี้” สุริยะเล่าถึงวิธีการออกแบบอาคารที่มีข้อจำกัดเยอะมาก แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานสถาปัตยกรรมในหลากหลายข้อจำกัดที่ผ่านมาในชีวิต ก็ทำให้สามารถหาทางออกให้กับเงื่อนไขแบบนี้ได้ โดยสุริยะเลือกหยิบเอาวัสดุอย่างเหล็กมาเป็นองค์ประกอบหลักในการก่อสร้างอาคารแห่งนี้

“คอนเซปต์ในการออกแบบของผมคือหีบสมบัติ เพราะสิ่งของข้างในมันเป็นของล้ำค่า เราเอาหีบสมบัติมาขยายให้ใหญ่เป็นอาคาร โดยใช้เหล็กมาเชื่อมต่อกันเป็นทั้งโครงสร้างและอาคาร ซึ่งการเป็นโครงสร้างเหล็กแบบนี้ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องขุดพื้นทำฐานราก และไม่จำเป็นต้องเอาโครงสร้างอาคารใหม่ไปฝากไว้กับอาคารกุฏิเดิมที่เป็นอาคารอนุรักษ์ แล้วหลักๆ ตัวอาคารจะช่วยดูแลในแง่ของความปลอดภัย ความยั่งยืน และการเผยแพร่ตัวกเบื้องจาน”

ผมมองตามที่สุริยะอธิบายเข้าไปในอาคารตรงหน้า ลานด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์จะเป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับตัวท่านเจ้าคุณอ่ำผู้เป็นคนรวบรวมและค้นคว้ากเบื้องจาน และมีส่วนนิทรรศการกเบื้องจานแบบหมุนเวียนตามโอกาสต่างๆ ส่วนในอาคารสีแดงด้านในเป็นส่วนจัดเก็บ

เมื่อเดินผ่านลานจัดแสดงด้านหน้าเข้าไปยังตัวอาคารก็จะเห็นถึการใช้เหล็กรูปพรรณหลายๆ อย่างมาผสมกัน และหยิบเอาข้อได้เปรียบของเหล็กแต่ละประเภทมาใช้ นอกจากชั้นวางกเบื้องจานมากมายแล้ว ก็มีเพียงแค่เหล็กฉากเส้นบางๆ ที่ช่วยค้ำยันโครงหลังคาด้านบนอยู่ เราจึงยังคงสามารถเห็นถึงผนัง หน้าต่าง และคิ้วบัว ของอาคารเดิมทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน

แม้จะใช้คอนเซปต์หีบสมบัติ แต่การออกแบบอาคารนี้ก็ไม่ได้เป็นแค่กล่องเหล็กธรรมดาแต่อย่างใด เพราะรายละเอียดๆ มากมายที่ซ่อนอยู่ภายในนั้นมันถูกคิดและออกแบบมาน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการยกพื้นของอาคารให้สูงขึ้นจากพื้นในระยะที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความชื้นและช่วยระบายน้ำฝน แต่เป็นระยะที่หนูหรือสัตว์ต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ข้างใต้

หรือแม้แต่การเลือกความหนาของเหล็กที่ถ้าต้องการให้อาคารแข็งแรง เราก็มักจะต้องใช้เหล็กแผ่นที่มีความหนามากกว่าซึ่งก็ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นเช่นกัน แต่สุริยะเลือกใช้เหล็กแผ่นที่บางลง ผสมกับเทคนิคการพับเหล็กเพื่อช่วยให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น และด้วยเทคนิคการพับทำให้ผนังของตัวพิพิธภัณฑ์เกิดเป็นคิ้วบัวลักษณะเหมือนกับอาคารหลังอื่นๆ ในวัดด้วย

นอกจากผนังแล้วสุริยะยังใช้เทคนิคการพับแบบเดียวกันนี้กับส่วนหลังคา ซึ่งทำให้หลังคาจากเหล็กแผ่นชิ้นเดียวนั้นทำหน้าที่เป็นทั้งหลังคา รางน้ำ และเป็นตัวรางน้ำนี่แหละที่เมื่ออยู่ด้านในก็จะกลายเป็นรางติดไฟภายในอาคาร ทั้งหมดนี้เกิดจากการพับหลังคาชิ้นเดียวกันนี่เอง

หรือแม้แต่ตัวองศาของมุมหลังคาก็ได้ไอเดียมาจากคุณวรรณฤทธ์ที่ค้นคว้าและเห็นว่าหลังคาของเรือนไทยและทุกอาคารในวัดโสมนัสฯ นั้นทำมุม 45 องศากันทั้งหมด จึงได้นำเอามุมหลังคามาใช้กับอาคารนี้ ซึ่งทำให้กลมกลืนกับอาคารทั้งหมดภายในวัด ส่วนสีแดงชาดก็เป็นสีที่ใช้กันในวัดอยู่แล้ว จึงนำมาใช้เป็นสีหลักของพิพิธภัณฑ์

05

อุปสรรคนี่

สำหรับผมเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าทึ่งมากในแง่ของการรีโนเวต ที่สามารถเก็บใช้และเคารพผนังภายนอกอาคารเดิมให้กลายมาเป็นผนังภายในของอาคารใหม่แบบนี้ เพราะสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดในการก่อสร้างแบบนี้ก็คือคิ้วบัวและปูนปั้นหน้าต่างนั่นเอง

“เราใช้วิธีทำอาคารเหล็กโดยทำการตัดเหล็ก ขึ้นรูป และเชื่อมกันไว้เป็นส่วนๆ ก่อนจะยกมาและประกอบเข้าด้วยกันที่หน้างานด้วยเวิร์กช็อปของตัวผมเอง ไม่ได้สั่งผลิตจากโรงงานเหล็ก เพราะด้วยความละเอียดของชิ้นงานที่ต้องการการใส่ใจมากๆ สิ่งที่เป็นเรื่องยากที่สุดของการทำแบบนี้ก็คือคิ้วบัวและปูนปั้นที่วงกบหน้าต่างเดิมของอาคาร ซึ่งพอเป็นอาคารเก่าตำแหน่งของบัวเหล่านี้แม้แต่ในอาคารเดียวกันก็จะไม่ได้อยู่เป็นแนวเดียวกันตลอด และเราก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเสียหายด้วย

“การวัดพื้นที่หน้างานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผมและทีมงานวัดพื้นที่หน้างานอยู่หลายรอบและต้องวัดพื้นที่ทุกจุดจริงๆ แม้แต่ในการออกแบบลงรายละเอียด ผมต้องใช้หน่วยมิลลิเมตรในการออกแบบอาคารนี้ทั้งหลังเลยนะ เหล็กทุกแผ่นก่อนนำมาประกอบนั้นถูกวัดระยะและเช็กอย่างดีก่อนจะส่งให้โรงงานตัดด้วยเลเซอร์คัต เพราะความละเอียดของระยะต่างๆ ที่ต้องการความพอดีอย่างมาก แล้วจึงนำมาเชื่อมเป็นชิ้นงานแยกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ประกอบติดตั้งที่หน้างานได้ง่าย ก่อนนำมาประกอบรวมกันที่หน้างาน” สถาปนิกโครงการเล่าความยากในการรีโนเวต

Tiny Museum

Tiny Museum

รอบๆ ตัวพิพิธภัณฑ์นี้ก็ยังคงเป็นกุฏิพระที่มีพระอาศัยอยู่จริงๆ เลยต้องวางแผนและปรับปรุงอาคารรอบๆ ด้วย อย่างการมาของพิพิธภัณฑ์แบบนี้ก็อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อกุฏิพระได้ ก็เลยต้องทำรั้ว คุณวรรณฤทธ์และคุณสุริยะจึงช่วยกันหาทางออกโดยการสร้างรั้วกระจกขึ้นมาแทนที่จะเป็นรั้วทึบ เพื่อให้งานโดดเด่นและกลมกลืนกับภาพรวมมากขึ้น

06

อนาคตของกเบื้องจาน

ทั้งสามท่านเล่าให้ผมฟังต่อว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะหลังจากนี้ส่วนจัดแสดงแบบหมุนเวียนที่ด้านหน้าอาคารเหล็กสีแดงนั้นจะมีการจัดทำ Virtual Museum คนที่สนใจสามารถสแกน QR CODE ของกเบื้องจานที่จัดแสดงและค้นคว้าหาข้อมูลต่อได้เอง ส่วนหนึ่งคือเรื่องของพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก และเพื่อให้การเผยแพร่ออกไปทำได้ง่ายและเหมาะกับคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น

“อนาคตเราอยากจะผลักดันกเบื้องจานสู่การศึกษาของชาติ นี่คือองค์ความรู้ของดินแดนสุวัณณภูมิ และองค์ความรู้ของโลก นี่คือเป้าหมายหนึ่งของมูลนิธิพระราชกวี” วรรณฤทธ์ทิ้งท้ายถึงอนาคตของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

เราได้แต่สัญญากับตัวเองว่า เมื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการจะได้มีโอกาสเข้ามาดู และศึกษาว่าเนื้อหาที่อยู่บนกเบื้องจานเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

Tiny Museum

ทีมสถาปนิกและผู้จัดทำ 

WALLLASIA

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์

ปรีณาพร แสงศรี

ศศิประภา รสจันทร์

พนมพร พรมแปง

ณรงค์ชัย ใจใส

ชัชวาล ตุลยนิษย์

จิรวัฒน์ พลสามารถ

Charlotte Matias

ประวิทย์ พูลกำลัง

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan