เมื่อพูดถึงเวิ้งในจังหวัดเชียงใหม่ หลายคนคงนึกออกไม่มากก็น้อยตามแต่ที่เคยไป หรือนักศึกษารั้วม่วงอย่างผมคงหนีไม่พ้นเวิ้งคุณนลี อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนมานี้มี Community Space แห่งใหม่สำหรับคนเชียงใหม่เกิดขึ้นในทำเลใกล้กับสถานีรถไฟ

เฮงสเตชั่น (Heng Station) เชียงใหม่ เวิ้งพบปะที่ปลุกโกดังของอากงปี 1960 ให้มีชีวิต

สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่าHeng Station (เฮงสเตชั่น)’ เวิ้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟชนิดที่ระหว่างกำลังดื่มกาแฟอาจยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปรถไฟเป็นฉากหลังได้ หรือถ้ามาทานอาหารมื้อหนักก็มีร้านรองรับ พร้อมด้วยของหวานตบท้าย จบด้วยร้านเครื่องหอมไว้เป็นของติดไม้ติดมือกลับบ้าน

เฮงสเตชั่น (Heng Station) เชียงใหม่ เวิ้งพบปะที่ปลุกโกดังของอากงปี 1960 ให้มีชีวิต

วันนี้ คิม-วโรดม สหชัยเสรี เขาคือชายหนุ่มผู้เกิด เติบโต และศึกษาเล่าเรียนที่เชียงใหม่ ก่อนต้องโยกย้ายตัวเองไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี พร้อมกับเดินทางไปญี่ปุ่นทุกปี จนซึมซับวัฒนธรรมเหล่านั้นมาสั่งสมเอาไว้ แล้วจึงนำกลับมาประยุกต์ใช้เพื่อสานต่อธุรกิจที่บ้าน พร้อมกับเล่าเรื่องราวการรื้อฟื้นสถานที่ซึ่งมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี 1960 ให้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่งในปี 2023 

เปิดประตูเวิ้งใหม่เอี่ยมมาเยี่ยมเยียนสถานที่เก่าแก่ 62 ปีพร้อมกันเลย

เสี่ยมเฮงพืชผล

สถานที่นี้มีเรื่องราวเริ่มต้นน่าสนใจ และต้อนย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรุ่นอากงของคิม เพราะแรกเริ่มเดิมทีตามคำบอกเล่าของเขา อากงข้ามน้ำข้ามทะเลหนีสงครามมาจากประเทศจีน ระหกระเหินมายังกรุงเทพฯ จากนั้นเดินเท้าตามรางรถไฟมาเรื่อย ๆ จนถึงจังหวัดเชียงใหม่ และลงหลักปักฐานด้วยการสมัครเข้าทำงานกับบริษัทเชลแล็กสยามในช่วงปี 1960

เฮงสเตชั่น (Heng Station) เชียงใหม่ เวิ้งพบปะที่ปลุกโกดังของอากงปี 1960 ให้มีชีวิต

แล้วเรื่องราวก็กระโดดข้ามมายังช่วงเวลาประมาณปี 1977 (พ.ศ. 2520) บริษัทเชลแล็กสยามปิดตัวลง โดยไม่แน่ใจว่าย้ายมายังสถานที่ ณ ปัจจุบันนี้อยู่ก่อนแล้วหรือเปล่า

เฮงสเตชั่น (Heng Station) เชียงใหม่ เวิ้งพบปะที่ปลุกโกดังของอากงปี 1960 ให้มีชีวิต

ถึงอย่างนั้นอากงของคิมก็ซื้อที่ดินแปลงนี้แล้วเปิดกิจการของตัวเองในชื่อ ‘เสี่ยมเฮงพืชผล’ นับตั้งแต่ปี 1971-1992 (เสี่ยม มีความหมายว่า สยาม และเป็นที่มาของชื่อ เฮง สเตชั่น ในปัจจุบัน) โดยเปลี่ยนมาค้ากระเทียมเป็นหลัก แต่ก็ยังมีเชลแล็กและพืชผลทางเกษตรกรรมอื่น ๆ ซึ่งรับมาจากชาวสวนในภาคเหนือ และส่งขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ สถานที่ตรงนี้ที่ติดกับสถานีรถไฟ จึงเป็นทำเลอันเหมาะสมอย่างไร้ข้อโต้แย้ง

เฮงสเตชั่น (Heng Station) เชียงใหม่ เวิ้งพบปะที่ปลุกโกดังของอากงปี 1960 ให้มีชีวิต

ช่วงปี 1991 อากงเสีย เหลือเพียงอาม่า ซึ่งแบกรับธุรกิจนี้ด้วยตัวคนเดียวไม่ไหว ส่วนคุณพ่อของคิมอยู่ในเส้นทางสายอาจารย์ และไม่มีความสนใจสานต่อสถานที่แห่งนี้ เสี่ยมเฮงจึงปิดตัวลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1992 ซึ่งเป็นปีเกิดของคิมพอดี และถูกทิ้งเป็นโกดังร้างนับแต่นั้นมา

เฮงสเตชั่น

เวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งคิมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ 3 เขาค่อย ๆ รื้อฟื้นสถานที่แห่งนี้อีกครั้งด้วยการเปิดห้องแถวเชิงพาณิชย์เล็ก ๆ อยู่ด้านหน้าติดกับถนน อีกทั้งยังได้เรียนรู้และซึมซับการลงทุนจากคุณลุง และเมื่อถึงวัยทำงาน เขาจึงเริ่มฉุกคิดได้ว่า น่าจะเอาสถานที่ตรงนี้มาใช้ประโยชน์แทนที่จะไม่ปล่อยให้ทิ้งร้าง

คิมคิดแล้วคิดอีกว่าจะใช้ที่ดินตรงนี้ทำอะไรดี แต่ทุกครั้งก็มีคำถามพ่วงท้ายเสมอว่า พื้นที่นี้เป็นทางลึก หน้าแคบ และคุณพ่อตั้งเงื่อนไขเอาไว้ 1 ข้อ คือ ทุกอย่างต้องคงรูปร่างเดิมให้มากที่สุด การทุบเพื่อประกอบร่างใหม่หลายครั้งอาจนำมาซึ่งปัญหากับคุณพ่อได้ จุดนี้เองที่คิมต้องนำความรู้ด้านวิศวกรรมที่เขาร่ำเรียนมาใช้อย่างเต็มที่ ในการรีโนเวตโกดังแห่งนี้ไม่ให้เป็นแค่ห้องแถวต่อ ๆ กัน

“ผมเริ่มก่อสร้างจริง ๆ คือมีนาคม ปี 2022 ใช้เวลารีเสิร์ชนานมาก ออกแบบ วางแปลน สลับแปลน จะมีสวนตรงไหนเพื่อให้ดูไม่อึดอัด พร้อมกับดูบริบทพื้นที่โดยรอบ”

สเตชั่น Community Space ในสวนหลังบ้าน จ.เชียงใหม่ ที่ปลุกโกดังปี 1960 ของอากงให้มีชีวิต
สเตชั่น Community Space ในสวนหลังบ้าน จ.เชียงใหม่ ที่ปลุกโกดังปี 1960 ของอากงให้มีชีวิต

คิมสร้างตึกหลังหนึ่งข้างในโกดังอีกที เทคานส่วนที่เป็นกำแพง วางตอม่อเสาใหม่ และก่อกำแพงขึ้นมาด้านใน แต่ด้านนอกยังคงทุกอย่างไว้เหมือนเดิม จากเดิมที่เป็นหลังคาเต็ม เขารื้อหลังคาออกครึ่งหนึ่ง และปรับพื้นที่ตรงนั้นออกเป็นสวน เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดให้คนเดินเข้าไปด้านใน

“ผมเพิ่มพื้นที่ด้วยการขยายเข้ามาในพื้นที่ของเราเอง สร้างคอมมูนิตี้ให้คนมาใช้เวลาวันหยุดกับเพื่อน” ประโยคนี้เห็นจะเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายที่ทำให้การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

Community Space

“ผมว่าการใช้คำว่า คอมมูนิตี้ ดูเป็นสถานที่ที่ให้คนมาพบปะกันมากกว่าเป็นพื้นที่ขายของ ผมอยากให้คนมานั่งเล่น มาคุยกัน ใช้เวลานั่งเม้ากับเพื่อนในช่วงวันหยุด ก็เลยใช้คำนี้”

ในตอนนี้ เฮงสเตชั่น เปิดทำการตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

คิมไม่ได้ต้องการให้ที่นี่กลายเป็นผับหรือบาร์ สาเหตุมาจากส่วนหนึ่งของพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว เขาขอแค่ให้คนที่มาได้นั่งเล่น พูดคุย พบปะ ไม่จำเป็นต้องรับประสบการณ์ คิดเสียว่าที่นี่คือ ‘สวนหลังบ้าน’ ซึ่งทุกคนเข้ามาเดินเล่นได้อย่างผ่อนคลาย อีกทั้งยังมี 1 ร้านข้าว 1 ร้านกาแฟ 1 ร้านเครื่องหอม และ 2 ร้านเบเกอรี่ คอยรองรับความต้องการของเหล่าผู้คนที่เข้ามาเยือน

แล้วคิมก็พาเราทัวร์ตามร้านต่าง ๆ อย่างเป็นมิตร และให้พวกเขาอธิบายถึงจุดเด่นที่อยากนำเสนอ เราเริ่มต้นกันที่…

School Coffee

ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่หน้าสุดของโครงการ เปรียบเสมือนพื้นที่รับแขกให้ผู้คนเข้ามาซื้อกาแฟหรือเครื่องดื่มก่อนเดินสำรวจ ร้านกาแฟแห่งนี้มีคอนเซปต์ว่า สร้างความสุขให้ทุกภาคส่วน เริ่มต้นจากธรรมชาติ แหล่งปลูกกาแฟ ต้นกาแฟสายพันธ์ุต่าง ๆ การแปรรูปกาแฟที่เป็นผลไม้ให้กลายเป็นสารกาแฟ ส่วนถัดมาเป็นบาริสต้า และจบลงที่ลูกค้าทุก ๆ ท่านได้รับผลิตภัณฑ์ดี ๆ จากทางร้าน

สเตชั่น Community Space ในสวนหลังบ้าน จ.เชียงใหม่ ที่ปลุกโกดังปี 1960 ของอากงให้มีชีวิต
สเตชั่น Community Space ในสวนหลังบ้าน จ.เชียงใหม่ ที่ปลุกโกดังปี 1960 ของอากงให้มีชีวิต

เมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกคนในทุกภาคส่วนมีความสุข วงล้อแห่งการพัฒนาก็จะเริ่มเป็นไปตามแนวทางที่ทางร้านตั้งใจ และขับเคลื่อนได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ก็ใส่พลังเข้าไปได้ในบางจังหวะ (ตามที่ทางร้านได้บอกกับเรา) เมื่อมาถึงร้าน School Coffee ลูกค้าเลือกกาแฟที่อยากจิบได้ตามต้องการ ตั้งแต่เมล็ด ระดับการคั่ว และกระบวนการชงกาแฟ ซึ่งเมนูซิกเนเจอร์ที่พวกเขาไม่เคยทอดทิ้งและยังคงมีตลอดไป นั่นคือ ยาคูลท์ปีโป้ปั่นและโอริโอ้ปั่น เพื่อเป็นเกียรติให้แก่บาริสต้าคนแรกผู้คิดค้น 2 เมนูนี้ที่อยู่คู่กับร้านมาตั้งแต่ยังเปิดอยู่ที่กรุงเทพฯ อ้อ ขอกระซิบดัง ๆ ว่าร้านนี้เจ้าของเดียวกับ ร้านสุขพอดี นะ

KLĀY concept

ร้านเครื่องหอมที่เน้นเล่าเรื่องราวผ่านงานเซรามิก

เทียนหอมในถ้วยเทียนเซรามิกมาจากเทศบาลเมืองแม่โจ้ เนื่องจากทางร้านพยายามสนับสนุนผู้ประการรายย่อยให้ได้มากที่สุด สินค้านิยมคือเจ้าก้อนสี่เหลี่ยม วิธีใช้ง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน หยดน้ำมันหอมระเหยลงบนก้อนเซรามิก แล้วรอให้ดูดซึมน้ำหอม ซึ่งทางร้านดีไซน์ให้มีความกลมอยู่ภายใน จึงเกิดการถ่ายเทเข้า-ออกของอากาศผ่านเนื้อเซรามิก เป็นการกระจายกลิ่นหอมเบา ๆ

เวิ้งเฮงสเตชั่น (Heng Station) จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนโกดังร้างรุ่นอากงเป็น Community Space สำหรับนั่งเล่น-พบปะในบรรยากาศสวนหลังบ้าน
เวิ้งเฮงสเตชั่น (Heng Station) จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนโกดังร้างรุ่นอากงเป็น Community Space สำหรับนั่งเล่น-พบปะในบรรยากาศสวนหลังบ้าน

ขณะเดียวกัน ทางร้านยังมีการจัดเวิร์กช็อปให้แก่ผู้ที่สนใจ เป็นการผสมกลิ่มน้ำหอม ทำเทียนหอม และทำเครื่องหอม เน้นเรื่องของการพยายามให้ผ่อนคลายทุกประสาทสัมผัสผ่าน Therapy

เวิร์กช็อปเป็นกลุ่มได้ไม่เกิน 6 คน หากใครสนใจสอบถามหน้าร้านได้เลย 

The Dorm Bakery

หนึ่งในร้านเบเกอรี่ประจำ เฮงสเตชั่น ที่เปิดหน้าร้านเป็นของตัวเองครั้งแรกพร้อมกับโครงการ โดยภายในร้านประกอบด้วยเมนูเบเกอรี่ปกติและเมนูวีแกน (ทางร้านเรียกว่า สูตรเจ) ในราคาไม่แพง 

ทุกเมนูต่างประกอบด้วยความโฮมและแฮนด์เมด เมนูที่ทางร้านแนะนำว่าต้องลองลิ้มให้ได้ ได้แก่ เค้กแคร์รอต พายแอปเปิล และกราโนล่าบาร์ (ปราศจากกลูเต็น อัดแน่นด้วยคุณประโยชน์)

เวิ้งเฮงสเตชั่น (Heng Station) จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนโกดังร้างรุ่นอากงเป็น Community Space สำหรับนั่งเล่น-พบปะในบรรยากาศสวนหลังบ้าน

Circle.Pound

ร้านเค้กวันเกิดที่ขายเค้กแบ่งชิ้นสำหรับลูกค้าที่ไม่อยากทานเยอะมาก เมนูแนะนำ ได้แก่ โยเกิร์ตชีสเค้ก ซึ่งเป็นเมนูที่มีทุกวัน ส่วนเมนูพิเศษ ทางร้านขอแนะนำ เครมบรูเล่ ชีสเค้กท็อปด้วยน้ำตาลเผา เวลากินต้องใช้ช้อนเคาะด้านบน ลูกค้าสนุกด้วย อร่อยด้วย

เวิ้งเฮงสเตชั่น (Heng Station) จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนโกดังร้างรุ่นอากงเป็น Community Space สำหรับนั่งเล่น-พบปะในบรรยากาศสวนหลังบ้าน

POHSOP local-rice eatery

ร้านอาหารจานข้าวที่ให้ความสำคัญกับการใช้ข้าวอย่างแท้จริง เพราะร้านโพสพเลือกคัดสรรข้าวแต่ละชนิดตามแต่ฤดูกาล เพื่อยกระดับและเชิดชูข้าวให้กลายเป็นพระเอกของร้าน โดยทางร้านบอกว่าทุกเมนูปลอดเนื้อสัตว์ เพราะอยากให้ลูกค้าได้พักท้องจากการย่อยอาหารมื้อหนัก ๆ ที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ และหวังว่าอาหารของทางร้านจะเป็น Comfort Food สำหรับใครหลายคน

เวิ้งเฮงสเตชั่น (Heng Station) จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนโกดังร้างรุ่นอากงเป็น Community Space สำหรับนั่งเล่น-พบปะในบรรยากาศสวนหลังบ้าน

นอกจากนี้ทางร้านยังไม่ได้เจาะจงสัญชาติหรือประเภทอาหารของตน เพราะด้วยความต้องการที่จะก้าวข้ามการถูกจำกัดความ อาหารของร้านโพสพจึงมีอาหารหลายสัญชาติ และผสมผสานจนเกิดเป็นอาหารหน้าใหม่ได้อย่างลงตัว เช่น พิซซ่าดอย ใช้ผักดองเป็นหน้าพิซซ่า และแป้งทำจากข้าวปุกงา หรือ ข้าวแต๋นทาปาส เป็นการผสมผสานอาหารทานเล่นของสเปนกับไทย

เวิ้งเฮงสเตชั่น (Heng Station) จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนโกดังร้างรุ่นอากงเป็น Community Space สำหรับนั่งเล่น-พบปะในบรรยากาศสวนหลังบ้าน

ตามที่บอกไว้ตอนต้น คิมซึมซับเอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาไม่มากก็น้อยจากการเดินทางไปแดนอาทิตย์อุทัยหลายต่อหลายครั้ง แนวคิดในการสร้างสถานที่แห่งนี้จึงพยายามให้กลายเป็นสวนญี่ปุ่นที่ผู้คนมาเดินเล่น นั่งคุย หย่อนใจ รวมไปถึงพักเหนื่อยจากการเดินห้างสรรพสินค้าหรือท่องเที่ยวในช่วงที่นักท่องเที่ยวหนาแน่นระดับไหล่นชนไหล่ ศอกชนศอก 

แม้เฮงสเตชั่น จะเปิดมาเพียง 2 เดือน แต่ก็มีคนแวะเวียนมาสร้างสีสันให้พื้นที่คึกคักไม่ขาดสาย และคิมเองก็อยากขยับขยายพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงวางแผนจะรีโนเวตโกดังอีกหลังที่อยู่ติดกัน เพื่อเพิ่มจำนวนร้านค้า ขยายพื้นที่สีเขียว ลดจำนวนพื้นปูน และใกล้ความเป็นสวนที่สุด 

เวิ้งเฮงสเตชั่น (Heng Station) จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนโกดังร้างรุ่นอากงเป็น Community Space สำหรับนั่งเล่น-พบปะในบรรยากาศสวนหลังบ้าน
Heng Station
  • 142 ซอยรถไฟ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
  • 08 3765 0940
  • Heng Station

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ