24 ตุลาคม 2022
7 K

ถ้าอยากได้แค่วัตถุดิบ ให้ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ถ้าอยากได้เสื้อตัวเก่ง ให้ไปตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ถ้ามาที่ Good Goods คุณจะไม่ได้แค่กาแฟรสชาติดีหรือกระเป๋าหนึ่งใบกลับบ้านไป หากยังได้ซึมซับคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ชุมชนมีอาชีพ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โลเคชันที่เราอยากแชร์วันนี้ คือคอนเซ็ปต์สโตร์ที่รวมสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งงานหัตถศิลป์ไทย ของกินของใช้ อาทิ กาแฟ ขนม เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า เสื้อผ้า งานคราฟต์ต่าง ๆ รวมถึง บาร์กาแฟ ภายใต้แบรนด์ Good Goods เป็นหนึ่งในโครงการที่ เซ็นทรัล ทำ ให้การสนับสนุน

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

“เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน ตอนคิดโครงการนี้แรก ๆ เรายังไม่รู้จะทำยังไง รู้แค่อยากเก็บรักษาภูมิปัญญาไทยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์เดิม เรารู้สึกอยากช่วยชุมชน ให้โอกาส ในการเข้าถึงการสร้างอาชีพ รวมไปถึงการ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เลยคิดจะต่อยอดของพื้นเมือง เพราะเรากลัวมันจะสูญหายไปด้วย”

ความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าชุมชน และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ของ คุณเต้ง-พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เป็นความตั้งใจที่วนเวียนในจิตใจมานาน จนในที่สุดเมื่อทุกอย่างลงตัว จึงส่งออกมาให้ทุกคนรู้และประจักษ์ผ่านสินค้าและ ร้าน Good Goods

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

ภายในร้านแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ บาร์กาแฟ โซนอาหารและกาแฟ โซนแฟชั่น โซนคราฟต์ ของแต่งบ้าน และงานศิลปะ 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของทุกคน หนึ่งครอบครัวอาจเดินเข้ามา คุณพ่ออยากดื่มกาแฟ คุณแม่อยากช้อปปิ้ง ลูกสนใจศิลปะการออกแบบ ทุกคนก็สามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้ ส่วนสินค้าก็ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย

“เราต้องการทำให้มันอยู่ในตลาดด้วยตัวเองได้ และสุดท้ายมันจะไม่หายไป”

บาร์กาแฟ

ภาพแรกหลังประตูบานใหญ่เปิดออกคือบาร์กาแฟ เสาไม้ห้อมล้อมด้วยเส้นหวาย ปักหลักสี่มุมล้อมรอบจุดกำเนิดของกลิ่นกาแฟในพื้นที่แห่งนี้ เปรียบบาร์กาแฟเสมือนเป็นจานหลักของขันโตก แล้วแวดล้อมไปด้วยจานเคียงอย่างโซนอื่น ๆ ที่เหลือ 

ซึ่งเมื่อทั้งหมดอยู่รวมกัน คือความลงตัวที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครบครัน เหมือนขันโตกที่ขาดจานใดจานหนึ่งไปไม่ได้ ให้บรรยากาศการเลี้ยงรับรองต้อนรับหนึ่งในวัฒนธรรมของภาคเหนือ 

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น
Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

“เราเลือกบาร์กาแฟอยู่ตรงกลางเป็นหัวใจ เพราะเราอยากพูดถึงกาแฟ กาแฟเราเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำที่เราได้เข้าไปเจอปัญหา จนสุดท้ายรูปแบบของโร้ดแมพในการพัฒนาก็สมบูรณ์ สิ่งนี้จึงเป็นไฮไลต์ของโปรเจกต์ ความสำคัญคือเป็นซิงเกิ้ลออริจิน ยากที่จะทำให้ได้อย่างที่ต้องการ แต่เราทำได้”

คุณเต้งเริ่มแนะนำบาร์กาแฟ ไฮไลต์ของ Good Goods พร้อมเผยถึงเหตุผล

“เราอยากเฉลี่ยให้ชุมชนเล็ก ๆ ต่อยอดและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้วัฒนธรรมของเขาเข้ากับสมัยใหม่ได้” 

สำหรับเมนูที่อยากให้ทุกคนที่มาต้องชิมสักครั้ง คือ กาแฟภูชี้เดือน ให้รสชาติโทนผลไม้และดอกไม้ป่า เสิร์ฟแบบกาแฟดำอย่างอเมริกาโน หรือจะเป็นกาแฟนมที่มาพร้อมกับศิลปะในทุก ๆ แก้วอย่างลาเต้ร้อน นอกจากเมนูกาแฟแล้ว ยังมีรุ่งอรุณ เมนูที่ให้รสชาติสดชื่นจากเลมอนโซดา คู่กับสัมผัสที่แตกต่างจากแยมส้มสีทองออร์แกนิกจากจังหวัดน่าน และชาเย็นจากชาซีลอนชั้นดี ชงอย่างเข้มข้นหวานนัวกับนมสูตรพิเศษของทางร้าน

นอกจากนั้นยังมีมุม Slow Bar ที่เสิร์ฟกาแฟดริปทั้งแบบร้อนและเย็น แต่ละแก้วที่นำออกมาเสิร์ฟผ่านขั้นตอนการดริปอย่างพิถีพิถันจากเหล่าบาริสต้า ให้ได้กลิ่นหอมและรสชาติในแบบที่ลูกค้าแต่ละคนชอบมากที่สุด

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น
Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

ส่วนของผนังข้างหลังบาร์เป็นไม้แกะสลักรูปแผนที่ ภายในแฝงเรื่องราวของสินค้าในแต่ละจังหวัดที่ Good Goods ทำร่วมกับชุมชน ให้คนเข้าใจว่าพื้นฐานการพัฒนาสินค้านี้อยู่ในภูมิภาคไหน จังหวัดไหนทำอะไร และในอนาคตอาจมีการแบ่งกลุ่มสินค้าที่ต่างกันในแต่ละภูมิภาค

โซนอาหารและกาแฟ

ถ้าได้ลองชิมกาแฟภูชี้เดือนแล้วติดใจ ให้ตามมาที่โซนอาหารและกาแฟ เพราะมีเมล็ดกาแฟอราบิก้าคั่วบดละเอียดขายให้ซื้อกลับไปชงเองได้ที่บ้าน

สำหรับสินค้าในโซนนี้มีตั้งแต่ขนมขบเคี้ยวไปจนถึงอุปกรณ์กาแฟ อาทิ ดริปเปอร์เซรามิก ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ฯลฯ

หนึ่งในไฮไลต์นอกจากกาแฟ คือ มันหวานญี่ปุ่น 4 สีกรอบ รสคลาสสิกและรสซาวครีม ซึ่งจับจองพื้นที่ซุ้มหนึ่งในโซนนี้ เป็นมันหวานออร์แกนิกจากแม่ทา ที่หวานสมชื่อ นำมาสไลด์เป็นแผ่นกลมบางแล้วนำไปทอดแบบสุญญากาศ

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

เดิมทีพื้นที่โซนนี้วางจำหน่ายแค่กาแฟภูชี้เดือนกับมันหวานญี่ปุ่นจากแม่ทา ก่อนที่จะมีอีกหลายสิ่งตามมา ทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตของเกษตรกร ขนมรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากชุมชนอื่น ๆ และสินค้าภายใต้แบรนด์ Good Goods เอง ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานได้แบบไม่ต้องกังวล คล้ายเป็นมินิมาร์ทขนาดย่อมภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เรามองว่าแต่ละชุมชนมีองค์ความรู้ในการพัฒนาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะช่วยเขา คือเราให้โอกาส ให้พื้นที่ที่พาเขาเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคสมัยใหม่” แน่นอนว่าการทำให้เรื่องเก่าเข้ามาอยู่ในสมัยใหม่นั้นต้องปรับเปลี่ยนมากพอสมควร ของใช้อาจต้องเปลี่ยนแปลง ของกินอาจต้องแปรรูป

“สิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือการทำอาหารแปรรูปให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ในอนาคตเราจะพัฒนาคนให้สัมพันธ์กัน วิธีการอาจจะมีหลากหลาย แต่สุดท้ายแต่ละแนวคิดไม่ต่างกัน ปลายทางก็ไม่ต่างกัน”

ยังไม่หมดเท่านี้ สินค้าแต่ละชิ้นยังมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนเข้าไปอ่านเรื่องราวเบื้องหลัง ความเป็นมาของสินค้าชิ้นต่าง ๆ ทั้งในภาษาไทย อังกฤษ และจีน

โซนแฟชั่น

ถัดมาที่ด้านขวามือของบาร์กาแฟ คือ โซนแฟชั่น เต็มไปด้วยขบวนเสื้อยืด เสื้อแขนยาว หมวก และเครื่องประดับจากหลายชุมชน เรียงรายรอให้ทุกคนจับจ่าย

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

พาไปส่องสินค้าโซนนี้กันสักนิด หลากหลายสินค้าตรึงสายตาเราได้ตั้งแต่แรกเห็น มีสร้อยคอดินเผาแฮนด์เมดจากเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน มีหมวกนาหมื่นศรีใส่ได้ 2 ด้าน เป็นภูมิปัญญาการทอผ้าเก่าแก่กว่า 200 ปีในแบบฉบับชาวนาหมื่นศรีจากจังหวัดตรัง มีสินค้าแบบคอลเลกชัน เช่น กระเป๋ารูปแผ่นเสียง ทำจากป่านศรนารายณ์ ผสมกลิ่นอาย Disco ของยุค 70 ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Good Goods ไม่ยึดติดกับสินค้าและสไตล์ พร้อมเสาะแสวงหาไอเดียจากชุมชนใหม่ ๆ อีกทั้งพร้อมนำมาปรับดีไซน์ วางจำหน่ายให้คนทั่วไปเข้าถึงง่าย

และสินค้าแต่ละชิ้นก็มีกระบวนการเบื้องหลังที่ต่างกัน ก่อนจะออกของใหม่หนึ่งชิ้น เซ็นทรัล ทำ ต้องเข้าไปดูที่แหล่งผลิต ไปดูว่าเขาทำกันยังไง มีปัญหาอะไร แผนแก้ไขระยะยาวเป็นอย่างไร เช่น สินค้าบางชนิดแค่เข้าไปเปลี่ยนโทนสีนิด ๆ หน่อย ๆ ทั้งหมดทำเพื่อให้ Good Goods เข้ากับตลาดสมัยใหม่ได้

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้บนตัวสินค้าคือโลโก้รูปช้าง ซึ่งช้างคือสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นแบรนด์ Good Goods ได้อย่างดี เข้ากับสโลแกนของแบรนด์ ‘Good Design for Good Deeds’ 

“เราทำแบรนด์ที่ให้คนเข้าใจได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เงินรายได้เราจะคืนกลับสู่ชุมชน ก้อนเดิมคือเราช่วยพัฒนา แต่ก้อนกำไรคือส่งกลับให้เขา”

โซนคราฟต์ ของแต่งบ้าน และงานศิลปะ 

กระเป๋าหลากดีไซน์จากหลายภูมิปัญญาคือสินค้าหลักในโซนนี้

ประเดิมที่กระเป๋าสานจากฝีมือชุมชนคนพิการอุดรธานี ก่อนหน้านี้ชาวบ้านประสบปัญหาการหางานเพราะข้อจำกัดทางร่างกาย เมื่อ Good Goods เข้ามาช่วย ชาวบ้านจึงมีโอกาสการทำงานที่เปิดกว้างขึ้น ส่วนเรื่องหลัก ๆ ที่ Good Goods เข้ามาดูแล คือการออกแบบสี ปรับลดความฉูดฉาดลง ให้เหลือความสดใสที่ใช้งานได้ง่าย และฟังเสียงของลูกค้าว่าเวลาใส่ของหนักลงไปในกระเป๋าสานตัวจับจะบาดมือ จึงออกแบบให้มีหนังหุ้มด้ามจับ หุ้มทับด้วยพลาสติกอีกทีเพื่อความทนทาน และค่อย ๆ ปรับอีกหลายอย่างให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบัน

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

อีกหนึ่งใบที่โดดเด่นสะดุดตาออกมาจากมวลกระเป๋าทั้งหลาย คือ กระเป๋าผ้าทอนาหมื่นศรี โดดเด่นด้วยโครงสร้างผืนผ้า สี และลวดลาย ซึ่งปัจจุบันการทอผ้านาหมื่นศรีใกล้จะสูญหายไป เพราะคนทอน้อยลงมาก

“เราว่ามันต้องรักษาไว้ให้ได้” คุณเต้งเห็นคุณค่าของผ้าทอผืนนี้ จึงคิดทุกวิถีทางที่จะทำให้ผ้าทอนาหมื่นศรีอยู่ต่อไป เซนทรัล ทำ ได้ช่วยสนับสนุนปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ นำองค์ความรู้ที่ครบถ้วนมาขยายให้คนรุ่นใหม่ได้ชมและศึกษาต่อ เพราะพิพิธภัณฑ์คือแหล่งเรียนรู้ที่ไร้กฎเกณฑ์ เป็นที่ที่คนเข้าถึงได้ง่ายและจะได้ใช้เวลาซึมซับเรื่องราว และเราคิดภาพใหญ่ไว้แล้วอีกหนึ่งสเต็ป คือพิพิธภัณฑ์นี้จะดึงดูดนักวิชาการทั้งหลายมาเกี่ยวข้อง แล้วหลังจากนั้นองค์ความรู้นี้จะไม่สูญหายไป

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น

“ถ้าเราพูดแค่กระเป๋า คนอาจจะไม่ติดใจอะไรมาก แต่ถ้าเขารู้ว่ากว่ามันจะมาเป็นใบนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้างนี่มันว้าวเลยนะ” นี่คือที่มาจากกระเป๋าสู่พิพิธภัณฑ์ จากสิ่งเล็ก ๆ ไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่

ดังนั้น กว่า Good Goods จะเลือกของมาได้สักหนึ่งชิ้น ต้องคัดแล้วคัดอีก เน้นความยั่งยืนมาก่อน ผลที่ออกมาก็จะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่าย แต่เบื้องหลังละเอียดอ่อนมาก 

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น
Good Design for Good Deeds ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย ดีไซน์ร่วมสมัย และเบื้องหลังร้าน Concept Store ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น และบาร์กาแฟที่โดดเด่น

อีกชิ้นที่โดดเด่น คือ กระเป๋าเตยปาหนัน จากจังหวัดตรัง ดินแดนทะเลใต้ เตยปาหนันมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี ไม่เป็นเชื้อรา ขึ้นโครงได้ละเอียด นุ่มนวล ต่อยอดในการออกแบบได้เยอะ นำไปขึ้นรูปพิเศษ งอ บิด ดัดได้ และที่พิเศษสุดคือ สิ่งนี้มีแค่ที่นี่ Good Goods เข้าไปหาคน ไปช่วยชุมชน ไปขยายลูกค้า

Good Design for Good Deeds ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย ดีไซน์ร่วมสมัย และเบื้องหลังร้าน Concept Store ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น และบาร์กาแฟที่โดดเด่น

ในพื้นที่นี้ยังมีโซนขายผลงานศิลปะจากศิลปินไทยมากฝีมือ ซึ่งเซ็นทรัล ทำ ตั้งใจเชิญชวนให้ศิลปินมีประสบการณ์การออกแบบในรูปแบบใหม่ ๆ

ก้าวแรกและก้าวต่อไปของ Good Goods

เราค่อย ๆ ทำไปทีละขั้นบันได แต่ก่อนจะก้าวไปขั้นที่ต่อ ๆ ไปคุณเต้งมองว่าพื้นฐานต้องดีก่อน

Good Goods เป็น Concept Store ที่พัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้ดูทันสมัย เข้าถึงง่าย คุณภาพดี ราคาไม่แพง เราอยากให้คนซื้อเพราะดีไซน์ที่สวยและงานฝีมือแสนประณีต ไม่ใช่ซื้อเพราะสงสารชาวบ้าน

“เราให้ความสำคัญ ตั้งใจพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น และรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน ในอนาคตอยากต่อยอดเพิ่มมูลค่าของสินค้ามากขึ้น หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้แบรนด์เติบโตแข่งขันในตลาดสากลได้”

Good Goods : คาเฟ่และ Concept Store สินค้าคราฟต์ที่จุดประกายให้ท้องถิ่นมีชีวิตดีขึ้น
Good Design for Good Deeds ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย ดีไซน์ร่วมสมัย และเบื้องหลังร้าน Concept Store ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น และบาร์กาแฟที่โดดเด่น

ช่วงแรกที่เข้าไปคุยกับชาวบ้านและเชิญชวนให้ปรับวิธีการทำงาน การออกแบบ เป็นช่วงเวลาที่นิยามว่ายากได้อย่างไม่เกินจริง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อในวิถีดั้งเดิมของตน คุณเต้งและทีมจึงต้องใช้ทั้งเวลาและความรู้สึกเพื่อซื้อใจชาวบ้านจนสำเร็จมาถึงทุกวันนี้

“เราก็ลงพื้นที่ ไปคุยกับเขา อยู่ดี ๆ ไม่ใช่เขามาทำกับเราเลยนะ ผู้นำต้องแข็งแรง แรก ๆ เราไปนอนกับเขาเลย ไม่มีน้ำ ไม่มีแอร์ ซื้อใจ ไม่ใช่เราไปสอนเขา เราเองก็ไปเรียนรู้จากเขาด้วย เช่น กระเป๋าสานพลาสติกลองสานด้วยคู่สีแบบโทนแบบนี้ไหม ตอนแรกชุมชนก็ยังไม่เชื่อสิ่งที่เราแนะนำ แต่พอขายได้ มีออเดอร์เข้ามา ความคิดของชาวบ้านก็เปิดมากขึ้น”

Good Design for Good Deeds ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย ดีไซน์ร่วมสมัย และเบื้องหลังร้าน Concept Store ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น และบาร์กาแฟที่โดดเด่น

แน่นอนว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้นสั่งสมกันมาเป็นร้อย ๆ ปีตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้านยึดถือและทำกันมาแบบนั้นเรื่อยมา จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะไม่ยอมรับสิ่งที่เซ็นทรัลเข้าไปทำในช่วงแรก

แต่สุดท้าย ด้วยความจริงใจและตั้งใจจริงของคุณเต้งและทีม Good Goods ก็ซื้อใจชาวบ้านได้สำเร็จ เมื่อทุกคนเปิดใจพูดคุยและเห็นถึงปลายทางเดียวกัน การพัฒนาจึงเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดดแต่สม่ำเสมอ สมกับภาพที่ทุกคนปรารถนาให้เกิดขึ้น

“ภาพความสำเร็จของ Good Goods ที่เราวาดไว้ มีเพียงเรื่องเดียวและชัดเจนมาก นั่นคือ ทำให้ชุมชนนั้นความมีเป็นอยู่ที่ดี ให้เกษตรกรมีรายได้ที่เป็นธรรม เท่าเทียมกับแรงที่เขาลงไป ให้งานฝีมือของแต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชนเป็นที่รู้จักและยอมรับ ให้สมกับความประณีตของผลงานแต่ละชิ้น เราอยากให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีในแบบที่เราตั้งใจ และแบบที่เขาอยากให้เป็น”

Good Design for Good Deeds ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย ดีไซน์ร่วมสมัย และเบื้องหลังร้าน Concept Store ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น และบาร์กาแฟที่โดดเด่น

Good Goods

ที่ตั้ง : มี 2 สาขา ในกรุงเทพฯ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 และที่โครงการ จริงใจ มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ ใกล้กับตลาดต้นไม้คำเที่ยง บนถนนอัษฎาธร

วัน-เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ 09.00 – 18.00 น. | เสาร์-อาทิตย์ 07.00 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 0 5323 1520

Facebook : Good Goods

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์