อาคารที่คนเชียงใหม่จดจำด้วยชื่อ ‘อนุสาร’ มีอยู่ 2 หลัง ขณะเดียวกันก็มีตลาดชื่อเดียวกันอีก 1 แห่ง และโรงเรียนอีก 1 แห่ง ชื่อทั้งหมดมาจากคนคนเดียวกันคือ หลวงอนุสารสุนทร ชายผู้มีชีวิตเมื่อศตวรรษที่แล้ว (พ.ศ. 2410 – 2477) หนึ่งในผู้บุกเบิกสาธารณูปโภคของเมือง และเปลี่ยนให้เชียงใหม่เข้าสู่ความทันสมัย 

อาคารหลังแรกตั้งอยู่เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันตก ตรงข้ามวัดอุปคุต รู้จักในชื่อ ‘บ้านตึก’ กลุ่มอาคารบ้านพักและสำนักงาน บริษัท อนุสาร เชียงใหม่ จำกัด เจ้าของตลาดเก่าแก่ที่สุดของเมืองอย่างตลาดวโรรส (กาดหลวง) รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ทั่วเมือง ส่วนอาคารอีกแห่งห่างออกไปไม่ไกล ข้ามสะพานนวรัฐไปทางตะวันออก-ถนนเจริญเมือง ย่านสันป่าข่อย ตำบลวัดเกต 300 เมตรจากเชิงสะพาน เป็นอาคารเดี่ยวสไตล์โคโลเนียลสีขาว กว้างมากกว่า 10 คูหา ป้ายหน้าอาคารระบุชื่อ ‘บริษัท อนุสาร จำกัด’

ไม่เพียงเป็นอาคารโคโลเนียลที่สวยชะมัด อาคารทั้งสองยังเป็นแลนด์มาร์กทางประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อาคารหลังแรกสร้างระหว่าง พ.ศ. 2440 – 2475 ถูกใช้เป็นที่พักอาศัยและสำนักงาน (โดยแบ่งอาคารส่วนหน้าสำหรับเป็นแกลเลอรีศิลปะ) ส่วนอาคารอีกแห่งที่สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2477 ก็มีสีสันในฐานะสิ่งปลูกสร้างสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของเมืองเชียงใหม่ เริ่มต้นจากโกดังเก็บสินค้า ร้านขายเครื่องมือการเกษตร อู่ซ่อมรถ และอื่น ๆ ที่ล่าสุดทายาทหลวงอนุสารสุนทรได้บูรณะอาคารหลังนี้ให้กลายเป็นศูนย์การค้าเชิงไลฟ์สไตล์ขนาดย่อม ๆ แลนด์มาร์กร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่

แม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองเก่า แต่ก็มีเพียงไม่กี่ธุรกิจในเมืองที่สานต่อกิจการมาได้ถึง 5 รุ่นเช่นกิจการของหลวงอนุสารฯ ผู้เป็นเจ้าของตึกที่ว่านี้ และกล่าวได้ว่าอาคารอนุสารที่อยู่ในย่านสันป่าข่อยก็คล้ายเป็นภาพสะท้อนการปรับตัวอย่างมีชั้นเชิงโดยทายาทคหบดีใหญ่ของเมืองรายนี้ 

Share Location ตอนนี้จะพาไปย้อนรอยพร้อมสำรวจความเปลี่ยนแปลงของอาคารที่เชื่อมร้อยกับย่านการค้าดั้งเดิมสู่พื้นที่เศรษฐกิจร่วมสมัย อันเป็นอีกหนึ่งโฉมหน้าใหม่ของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน 

หลวงอนุสารสุนทร – โมเดิร์นนิสต์ยุคแรกของเชียงใหม่

“อาคารอนุสารหลังนี้สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่หลวงอนุสารสุนทรเสียชีวิต ท่านอยู่ไม่ทันได้ใช้ แต่เรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของท่านก็ได้” สมยศ นิมมานเหมินท์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของหลวงอนุสารสุนทรเล่า

แน่ล่ะ ก่อนทำความรู้จักอาคาร เราก็ควรรู้จักที่มา ผู้ดำริให้สร้าง และเจ้าของชื่ออาคารก่อน และคงไม่มีใครเล่าเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าหนึ่งในทายาทผู้รับมรดกของท่าน หลานทวดของหลวงอนุสารสุนทร คุณสมยศ นิมมานเหมินท์ 

คุณสมยศเกิด พ.ศ. 2493 16 ปีให้หลังอาคารแล้วเสร็จ แม้จะเกิดไม่ทัน หากเรื่องราวของหลวงอนุสารฯ จากปากคำของญาติผู้ใหญ่ก็ทำให้ความทรงจำของเขาแจ่มชัด 

เรานัดเจอกับเขาที่ร้านนะ-รัร-ฬา ค็อกเทลบาร์ หนึ่งในผู้เช่าพื้นที่อาคารอนุสารยุคใหม่ ซึ่งแต่เดิมตรงนี้เคยเป็นสำนักงานของอู่ซ่อมรถ อันเป็นกิจการของทายาทหลวงอนุสารฯ คุณสมยศหยิบหนังสือ ภาพถ่ายฟิล์มกระจกเมืองเชียงใหม่ โดย หลวงอนุสารสุนทรกิจ ติดมา ความประทับใจที่คุณสมยศมีต่อทวดของเขา หาใช่แค่การเป็นนักธุรกิจผู้มีส่วนบุกเบิกเศรษฐกิจใหม่ หากยังรวมถึงการเป็นช่างภาพคนแรกของเมืองอีกด้วย

“ผมรู้จักคุณหลวงทั้งจากเรื่องที่ได้ฟังมาจากพ่อแม่และภาพถ่ายเมืองเชียงใหม่ที่ท่านบันทึกไว้” คุณสมยศเล่า 

“คุณหลวงเรียนถ่ายรูปมาจาก พระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อำมาตยกุล) อธิบดีผู้พิพากษาและข้าหลวงพิเศษมณฑลพายัพ สมัยรัชกาลที่ 5 ก็เรียนทุกอย่าง ทั้งทำฟิล์ม ถ่ายรูป และล้างฟิล์ม ยอมรับว่าฝีมือท่านยอดเยี่ยมมาก” 

คุณสมยศเปิดหนังสือให้ดูภาพถ่ายบ้านเมืองเชียงใหม่ในศตวรรษที่แล้วให้ชม หลายภาพผมเคยคุ้นตาจากในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ หรือสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อน และถูก, ภาพส่วนใหญ่หาใช่แค่การบันทึกเหตุการณ์ แต่ยังแฝงไปด้วยความงาม ผมเห็นคล้อยกับคุณสมยศ 

ชื่อของหลวงอนุสารสุนทร เป็นชื่อตำแหน่งกรมการพิเศษเมืองนครเชียงใหม่ จากการที่ท่านมีส่วนร่วมกับราชการในการพัฒนาบ้านเมืองแห่งนี้ในศตวรรษที่แล้ว ส่วนชื่อจริงของท่านคือ สุ่นฮี้ ชุติมา เป็นคนเชื้อสายจีน เกิด พ.ศ. 2410 ที่จังหวัดลำพูน ก่อนจะย้ายตามครอบครัวมาตั้งรกรากที่ตำบลวัดเกต เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นช่างซ่อมจักรยาน ซ่อมตะเกียงลาน นาฬิกา และอาวุธปืน ก่อนที่ความสนใจในการถ่ายรูปทำให้ท่านเปิดร้านถ่ายรูปร้านแรกของเมืองที่บ้านของท่าน (บ้านตึก) ซึ่งถือว่าเป็นกิจการที่ล้ำสมัยมาก ๆ ในเวลานั้น 

และไล่เลี่ยกันนั้น ท่านเริ่มทำการค้าขายทางเรือระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

หลวงอนุสารสุนทร
Facebook : Baan Tuek Art Center

“สมัยนั้นยังไม่มีรถไฟ การคมนาคมและขนส่งหลักคือการล่องเรือจากแม่น้ำปิงลงกรุงเทพฯ ด้วยเรือหางแมงป่อง คุณหลวงท่านก็รับซื้อผ้าไหมของคาราวานจีนฮ่อ (ยูนนาน) ที่ขนสินค้ามาจากคุนหมิง และส่งลงเรือไปขายให้สำนักพระราชวังในกรุงเทพฯ ก่อน สินค้าอีกส่วนก็จะมีคนมารับไปขายที่ตลาดสำเพ็ง ส่วนขากลับ ท่านก็รับสินค้าจำพวกของอุปโภคบริโภคและยาแผนปัจจุบันมาขายที่เชียงใหม่ เวลาล่องเรือลงไปทีก็จะล่องไปพร้อมกับเรือของพ่อค้ารายอื่น ๆ เกือบ 20 ลำ พ่อค้าแต่ละคนมีสินค้าแตกต่างกัน ล่องเรือกันเกินเดือนกว่าจะถึงกรุงเทพฯ” คุณสมยศย้อนความหลัง

ในช่วงที่หลวงอนุสารฯ ทำการค้าขายทางเรือ ยังร่วมสมัยเดียวกับยุคสัมปทานค้าไม้ของอังกฤษที่ใช้แม่น้ำสายเดียวกันนี้ในการขนส่งไม้ซุง ชุมชนสองข้างแม่น้ำปิงจึงมีความเป็นสหประชาชาติ – อังกฤษ อินเดีย พม่า และจีน ผู้นำเข้าวัฒนธรรมต่าง ๆ มาผสมกันในละแวก

หลักฐานประจักษ์ชัดคือกลุ่มอาคารโคโลเนียลที่ผุดขึ้นมากมายทั้งในย่านชุมชนวัดเกตและถนนท่าแพ เช่นเดียวกับ ‘บ้านตึก’ ที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนท่าแพ-วิชยานนท์ เชิงสะพานนวรัฐ ของหลวงอนุสารสุนทร ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านของครอบครัวคุณสมยศ

จากช่างซ่อมเครื่องจักร ช่างภาพคนแรก และพ่อค้าทางเรือ พร้อมกับสร้างบ้านสไตล์โคโลเนียล ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารสมัยใหม่ยุคแรกของเมือง “ว่าไปแล้ว ท่านเป็นเหมือนผู้นำเข้าความทันสมัยให้กับเมืองเราเลยนะครับ” ผมตั้งข้อสังเกต 

“ครับ” คุณสมยศตอบ “จนราว พ.ศ. 2464 ที่มีการเปิดสถานีรถไฟเชียงใหม่ และรูปแบบการค้าเปลี่ยนไป คุณหลวงก็ปรับรูปแบบธุรกิจตาม โดยไปปลูกอาคารหลังใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงย่านสันป่าข่อย เพื่อรองรับการมาถึงของรถไฟ”

นั่นล่ะ ดูเหมือนคุณตาทวดของคุณสมยศจะไม่เคยตกสมัย 

และใช่, อาคารที่เขาว่าคืออาคารที่เราพูดคุยกับเขาอยู่ตอนนี้ 

ถนนเจริญเมืองกับชุมชนการค้าที่ร่วมสร้างเมือง

‘สันป่าข่อย’ เป็นชื่อของย่านการค้าในตำบลวัดเกต มีถนนเจริญเมืองเป็นถนนสายหลักพาดผ่าน ถนนสายนี้ทำหน้าที่เชื่อมสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ชุมชนสันป่าข่อยเริ่มมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่หมอสอนศาสนาหรือคณะมิชชันนารีจากโลกตะวันตกเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 6 ผู้ปกครองเชียงใหม่ในเวลานั้น (พ.ศ. 2399 – 2413) อนุญาตให้กลุ่มหมอสอนศาสนาวางรกรากที่ย่านวัดเกต ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง 

การเข้ามาของ ศาสตราจารย์แดเนียล แมคกิลวารี และ โซเฟีย บรัดเลย์ (ลูกสาวคนโตของ หมอบรัดเลย์) จากองค์กรคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2410 ไม่เพียงจะเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ในเมืองแห่งนี้ โดยมีหมุดหมายสำคัญคือ ‘โบสถ์คริสตจักรที่ 1’ โบสถ์คริสต์แห่งแรกที่อยู่บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ แต่นั่นยังเป็นการเข้ามาของศาสตร์ด้านการแพทย์และการศึกษาสมัยใหม่ นำมาสู่การเกิดขึ้นของโรงพยาบาล โรงเรียน และสาธารณูปโภคสมัยใหม่ต่าง ๆ ทั่วย่านวัดเกตและสันป่าข่อย ในเวลานั้น

จากคริสต์ศาสนา เมื่อบวกรวมกับอุตสาหกรรมค้าไม้และขนส่งทางเรือ สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ เปลี่ยนให้ชุมชนเล็ก ๆ อย่างสันป่าข่อยกลายมาเป็นย่านการค้าที่มีชีวิตชีวามากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ และเมื่อทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ตัดมาถึงเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2464 ความเจริญของย่านก็ได้ยกระดับไปอีกขั้น 

“คุณหลวงท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล พอทราบข่าวว่าจะมีสถานีรถไฟมาตั้ง และตระหนักดีว่าการขนส่งทางเรือแบบเดิมคงไม่ใช่ทางเลือกหลักอีกต่อไป ท่านเลยมาซื้อที่ดินริมถนนเจริญเมือง ในย่านสันป่าข่อย เพื่อปลูกอาคารสำหรับเป็นโกดังกระจายสินค้าที่ขนส่งมาทางรถไฟ อาคารหลังนี้จึงถูกสร้างขึ้น” คุณสมยศย้อนความ

“ผมฟังจากผู้ใหญ่มาว่าคุณหลวงท่านเป็นคนเลือกทำเลและออกแบบอาคารหลังนี้เอง โดยนำอิทธิพลสถาปัตยกรรมฝรั่งมาใช้ โดยจ้างสล่าพื้นเมืองปลูกสร้างให้ ที่เลือกตรงนี้ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นทางผ่านของถนนสายหลัก แต่มันยังเป็นที่สันดอน… เรียกกันว่าสันป่าข่อย เพราะตรงนี้เป็นสันดอนที่มีต้นข่อยขึ้น แต่เดิมช่วงไหนที่น้ำล้นจากแม่น้ำปิงขึ้นมา รอบ ๆ นี้น้ำท่วมหมดเลยนะครับ ยกเว้นย่านสันป่าข่อยนี้ที่สูงกว่าที่อื่น น้ำจึงไม่เคยท่วม เหมาะแก่การทำการค้า

“ส่วนการสร้างอาคารหลังนี้ รวมถึงอาคารพาณิชย์หลังอื่น ๆ ในย่านก็สอดคล้องกับการมาถึงของรถไฟ เพราะการจะสร้างตึกแบบนี้ได้ต้องใช้เหล็ก ใช้ปูนที่มีน้ำหนักมาก จึงต้องขนส่งมาทางรถไฟเท่านั้น การเกิดขึ้นของย่านการค้ากับการมาของรถไฟจึงเกื้อหนุนกัน” คุณสมยศเล่า

ความเกื้อหนุนที่ว่าหาใช่แค่การมีรถไฟขนปูนมาโบกตึกเท่านั้น แต่ยังสร้างลักษณะพิเศษของย่านที่ยังคงปรากฏจนทุกวัน

“พอมีสถานีรถไฟ โรงแรมแห่งแรก (โรงแรมรถไฟ) ของเมืองก็ตั้งขึ้น จากนั้นก็มีธนาคารสยามกัมมาจล (ไทยพาณิชย์) ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกด้วยเช่นกัน และสังเกตไหมว่าทำไมย่านสันป่าข่อยจึงเต็มไปด้วยธุรกิจขายอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องมือช่าง อะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ รวมถึงโรงกลึงหรือโรงเหล็ก เพราะพอมีสถานีรถไฟแล้ว คนจีนหัวการค้าจากกรุงเทพฯ ก็พากันย้ายมาตั้งรกรากที่เชียงใหม่ คนเหล่านี้เขามีเครือข่ายกับธุรกิจที่กรุงเทพฯ เลยให้คนจากกรุงเทพฯ ส่งของขึ้นรถไฟมาให้ พวกเขาก็เปิดร้านขายกันริมถนนเจริญเมืองกัน กลายเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งรองรับกับการเจริญเติบโตของเมืองหลังจากนั้นด้วยเช่นกัน” คุณสมยสเล่า

สอดคล้องกับงานวิจัย ล้านนาสร้างสรรค์: การบูรณาการทรัพยากรเมืองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ให้ข้อมูลว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในย่านสันป่าข่อย ส่งผลให้กลุ่มนักธุรกิจในย่านโดยเฉพาะตระกูลชุติมาและนิมมานเหมินท์ ทายาทของหลวงอนุสารฯ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนโครงการพัฒนาเมืองของรัฐในรูปแบบการบริจาคเงินและทรัพยากรเพื่อสาธารณประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน ครูบาศรีวิชัย สร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ. 2477 การบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ รวมถึงการเรียกร้องและร่วมสนับสนุนให้ภาครัฐก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแน่นอน การตัดถนนนิมมานเหมินท์ ถนนเศรษฐกิจสายสำคัญในวันนี้ก็ใช่ 

อาจด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของหลวงอนุสารฯ ดังที่คุณสมยศเล่า ในขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในย่านสันป่าข่อยเปิดร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการขยายตัวของเมือง หลวงอนุสารฯ ตั้งใจทำอาคารหลังนี้ให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพราะมองเห็นศักยภาพในการเป็นโกดังพักสินค้าที่ส่งมาจากรถไฟ เพื่อกระจายต่อไปจำหน่ายในภาคเหนือตอนบนด้วย

“ตอนนั้นครอบครัวเราทำตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกอยู่แล้ว พอไม่ได้ขนส่งทางเรือ คุณหลวงท่านก็หันไปทำพื้นที่พักสินค้าใกล้ ๆ สถานีรถไฟดีกว่า พอหลังจากคุณหลวงเสียชีวิต อาคารหลังนี้ก็ตกเป็นของลูกสาวคนโตของท่าน คือ คุณยายกิมฮ้อ ชุติมา คุณยายกิมฮ้อแต่งงานกับ คุณปู่กี นิมมานเหมินท์ มีลูก 6 คน พ่อผม นายเรือง นิมมานเหมินท์ เป็นลูกคนที่ 4 พอพ้นรุ่นคุณยาย ท่านก็ยกตึกหลังนี้ให้คุณพ่อและพี่ชายคนโตของคุณพ่อคือ คุณไกรศรี นิมมานเหมินท์ พวกท่านทำโกดังเก็บสินค้าต่อ กระทั่งมีการตัดทางหลวงมาถึงเชียงใหม่ และการขนส่งสินค้าเปลี่ยนมาเป็นทางรถบรรทุกเป็นหลัก คุณพ่อก็เปลี่ยนรูปแบบกิจการใหม่อีกครั้ง” คุณสมยศไล่เรียง 

เริ่มจากอู่ซ่อมรถพร้อมโกดังเก็บสินค้าและโรงกลึงบริเวณพื้นที่ด้านหลัง ส่วนพื้นที่ด้านหน้า คุณเรืองเปลี่ยนมาเป็นร้านจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร ก่อนที่คุณสมยสซึ่งเรียนจบจากสหรัฐอเมริกาและไปทำงานด้านธนาคารที่ต่างประเทศมาพักใหญ่ กลับมาสานต่อกิจการต่อจากคุณพ่อ 

“ผมกลับมารับช่วงกิจการต่อพักใหญ่ จนตัดสินใจยุติกิจการ พร้อมกับหันไปทำตลาดต้นไม้คำเที่ยง ส่วนภรรยา (คุณวิคตอเรีย นิมมานเหมินท์) ก็ใช้พื้นที่บางส่วนของตึกนี้ทำธุรกิจส่งออกเครื่องประดับ (บริษัท สยามรอยัลออคิด จำกัด) ต่อ และแบ่งพื้นที่บางส่วนให้เช่าเรื่อยมา ระหว่างนั้น มีกองถ่ายหนังเรื่อง สิ้นแสงฉาน (Twilight over Burma) (พ.ศ. 2558) มาขอเช่าชั้น 2 ของตึกเพื่อเป็นโลเคชันถ่ายหนังด้วยนะครับ (หัวเราะ) 

“นั่นคือช่วงทศวรรษหลังมานี้ ก่อนที่ลูกสาวของผมจะกลับมาเชียงใหม่เพื่อช่วยดูแลธุรกิจ” คุณสมยศกล่าว

Facebook : Baan Tuek Art Center

สันป่าข่อย Re-alive เมื่อย่านการค้าเก่าโอบอุ้มเศรษฐกิจใหม่

ลูกสาวที่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจคนที่คุณสมยศเล่าคือ คุณมิกกี้-อริษา นิมมานเหมินท์ ทายาทรุ่นที่ 5 ของหลวงอนุสารสุนทร ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฟื้นฟูอาคารอนุสารหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตเช่นปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้คุณมิกกี้เปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านภาษาในกรุงเทพฯ กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องปรับรูปแบบการทำงานเป็นออนไลน์มากขึ้น จังหวะนั้นเอง เธอจึงตัดสินใจย้ายกลับมาทำงานแบบรีโมตที่เชียงใหม่ 

“เรากลับมาดูแลผู้ใหญ่ที่บ้านและมาช่วยธุรกิจครอบครัวด้วย ตอนนั้นคือ พ.ศ. 2564 เชียงใหม่เงียบเหงามาก เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย แต่เราสังเกตเห็นว่าย่านสันป่าข่อยที่ตึกหลังนี้ตั้งอยู่กลับมีคนมาจับจ่ายใช้สอยตลอดเวลา เพราะย่านนี้เป็นย่านท้องถิ่น มันจึงแอคทีฟ ประกอบกับที่อยู่มาวันหนึ่ง คุณตี๋ (วศิน อุ่นจะนำ) เขาเข้ามาขอดูตึกหลังนี้แล้วชอบมาก เขาจึงขอเช่าชั้น 2 ไปทำร้านกาแฟ” คุณมิกกี้ เล่า

“เราถามเขาทันทีว่า แน่ใจหรือคะ เพราะชั้นล่างที่อยู่ติดถนนยังมีห้องว่างให้เช่า น่าจะขายดีกว่า แต่เขาก็ยืนยันว่าต้องเป็นชั้น 2 ของตึกหลังนี้ เขามีคอนเซปต์ธุรกิจค่อนข้างชัด เห็นแบบนั้นเราก็ตอบตกลง” 

และในระหว่างที่คุณตี๋กับคุณมิกกี้ช่วยกันเคลียร์พื้นที่ชั้น 2 ที่เคยเป็นสำนักงานเก่าเพื่อจะทำร้านกาแฟ คุณเหมา ที่เป็นผู้รับเหมาตามชื่อก็ผ่านมาเห็นโกดังเก็บเกลือที่ตั้งอยู่ด้านหลังตึกหลังนี้พอดี เขาเลยติดต่อคุณมิกกี้เพื่อจะขอเช่าทำร้านลาบ 

“เริ่มจากคุณตี๋ที่ทำร้าน Building A Café และมีคุณเหมาที่ทำร้านวิถีลาบ เจริญเมือง ก่อนหน้านั้นก็มีร้าน Praise Café มาเช่าอยู่ห้องริมชั้นล่างอยู่แล้วด้วย ทั้งหมดทั้งมวลจุดประกายให้เราเห็นว่าจริง ๆ มันไม่ใช่แค่พื้นที่ขายของริมถนน แต่เราปรับพื้นที่ทั้งตึกให้รองรับธุรกิจได้

“เราไม่ได้ต้องการให้หวือหวาเป็นแลนด์มาร์กนักท่องเที่ยว แต่อยากให้กลมกลืนไปกับย่าน และใช้ประวัติศาสตร์ของอาคารหลังนี้เป็นจุดขาย ซึ่งเราเองก็อยากฟื้นฟูให้ตึกกลับมามีชีวิตชีวาหรือมีประโยชน์กับคนในเมืองอยู่แล้ว เลยตัดสินใจรีโนเวตอาคารเกือบจะทั้งหลัง” คุณมิกกี้เล่า

แม้จะใช้คำว่ารีโนเวต แต่คุณมิกกี้แทบจะเปลี่ยนแปลงของเดิมน้อยมาก หลังคาดินขอยังคงเป็นวัสดุดั้งเดิม เช่นเดียวกับกำแพงอิฐมอญ การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเห็นจะมีแค่การแบ่งกั้นพื้นที่ ปูกระเบื้อง และทาสีใหม่ของร้านรวงเท่านั้น โครงสร้างทั้งหมดของอาคารอายุ 85 ปีหลังนี้ยังคงดั้งเดิม เช่นเดียวกับ กลุ่มอาคารโกดังด้านหลัง เครื่องจักรกล และของสะสม – หลักฐานที่บ่งบอกว่าอาคารหลังนี้เคยเป็นอะไรมาบ้าง 

ปัจจุบันอาคารอนุสารมีผู้เช่า 17 ราย ตั้งแต่คาเฟ่ ร้านลาบ ร้านยำ ค็อกเทลบาร์ ร้านขายชูครีม ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายเครื่องประดับ โรงเรียนสอนศิลปะ ไปจนถึงร้านขายผ้าพื้นเมือง ฯลฯ จะว่าไป เมื่อมองย้อนจุดเริ่มต้นของอาคารเมื่อศตวรรษที่แล้ว ในเปลือกสถาปัตยกรรมดั้งเดิม อาคารอนุสารก็ถือว่าเดินมาไกลมากทีเดียว

“เราไม่ได้มองว่าอาคารหลังนี้จะเป็นธุรกิจอย่างเดียว ด้วยจุดเด่นด้านสถาปัตยกรรมและพื้นที่ที่เอื้ออำนวย เราเลยพยายามเปิดรับกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นย่าน เราอยากให้ที่นี่เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีการผสมผสานระหว่างของเก่ากับของใหม่ และคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ซึ่งตรงนี้แหละคือปัจจัยที่ทำให้ไม่ใช่แค่เฉพาะธุรกิจเรา แต่เป็นย่านทั้งย่าน หรือเมืองทั้งเมืองมีความยั่งยืนอยู่ได้” คุณมิกกี้กล่าว

ในฐานะที่เราอยู่เชียงใหม่มาเกินกว่า 10 ปี อาจไม่นาน แต่ก็มากพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองมากมาย เราพบว่าช่วง 2 – 3 ปีหลังมานี้ ย่านสันป่าข่อยที่แต่เดิมจะคุ้นเคยกับการเป็นพื้นที่การค้าเก่าแก่ กลับมีชีวิตใหม่ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการผุดขึ้นของธุรกิจใหม่ ๆ แทรกตัวอยู่กับกิจการดั้งเดิมที่อยู่คู่ย่าน ร้านกาแฟสุดชิกที่ติดกับร้านซาลาเปา แกลเลอรีศิลปะที่อยู่ข้างร้านขายอะไหล่รถ ร้านเสื้อผ้าวินเทจเยื้องกับร้านสังฆภัณฑ์ หรือกระทั่งร้านขายผ้าพื้นเมืองในกลุ่มธุรกิจร่วมสมัยภายในอาคารอนุสารเอง ฯลฯ 

แน่นอน ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ใครล่ะจะปฏิเสธ เชียงใหม่มีเสน่ห์เพราะเหตุนี้

ขอขอบคุณ
  • งานวิจัย ล้านนาสร้างสรรค์: การบูรณาการทรัพยากรเมืองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • โครงการ Creative Lanna มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • Facebook : ไจสันป่าข่อย Jai San Pa Koi
อาคารอนุสาร
  • ที่ตั้ง : 94 – 120 ถ.เจริญเมือง ต.วัดเกต อ.เมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • อาคารอนุสาร – Anusarn Building Chiang Mai
  • วันที่ 16 – 17 กันยายน พ.ศ. 2566 อาคารอนุสารร่วมกับโครงการวิจัยล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงาน ‘ALIVE UP SANPAKOI ส่อง / สร้าง / สันป่าข่อย’ ภายในงานมีตลาดสร้างสรรค์โดยเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นิทรรศการภาพถ่ายและเรื่องราวเกี่ยวกับย่านสันป่าข่อย การแสดงบนเวที Art Projection กิจกรรมเดินสำรวจย่าน และอื่น ๆ ใครอยู่เชียงใหม่ เชิญเข้ามาแวะชมได้

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ