The death and life of the great Gotham Metropolis
จุดจบ-จุดเริ่มต้น ของมหานครก็อตแธม
เงามืดดำของตึกสูงระฟ้าซ้อนทับกันอย่างคลุ้มคลั่ง ทอดยาวลงตามตรอกซอกซอย เรียงตัวกันตามเส้นตะแกรงกริดของผังเมือง เมื่อมองจากยอดตึก ซอกซอยเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการทางเดินในเขาวงกต ที่ไม่รู้ว่าหากเดินตามความมืดลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จะมีสิ่งเลวร้ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ตำนานเมืองแห่งเงามืดของอาชญากรรมและแก๊งอาชญากรสุดบ้าคลั่ง คือฝันร้ายที่กัดกินความหวังของผู้คนในเมือง
มหานครก็อตแธม (Gotham) เมืองในจักรวาลของดีซีคอมมิค (DC Comics) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว ในหนังสือการ์ตูน Batman No.4 ปี 1940 โดยนักเขียนชื่อ Bill Finger ผู้หวังว่ามันจะช่วยให้ผู้อ่านสร้างภาพในจินตนาการของเมืองร่วมกันได้ โดยเป็นที่รู้กันว่าจุดกำเนิดของอัศวินรัตติกาล เริ่มต้นขึ้นจากโศกนาฏกรรมในตรอกอาชญากรรม การสูญเสียพ่อแม่กระตุ้นให้บรูซ เวย์น ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยต่อกรกับอาชญากรในเมือง
ตลอดเวลาที่ผ่านมา รูปลักษณ์เมืองก็อตแธมเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ผ่านมือนักเขียน ผู้กำกับ นักออกแบบ และนักวาดภาพประกอบฉาก ซึ่งแต่ละยุคสมัย ต่างเสกสรรภูมิทัศน์ของเมืองก็อตแธมขึ้นมาในบริบทและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมในช่วงนั้น กลิ่นอายของเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กซิตี้ ลอสแอนเจลิส เวสต์ลอนดอน ชิคาโก พิตต์สเบิร์ก โตเกียว ไปจนถึงฮ่องกง คือรากฐานที่นำมาใช้เชื่อมโยงการออกแบบเมืองก็อตแธม
บทความนี้อยากชวนผู้อ่านมาแกะรอยวิวัฒนาการของเมืองนี้ จากกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมาในยุคของผู้กำกับ Tim Burton (ค.ศ. 1989 – 1992), Joel Schumacher (ค.ศ. 1995 – 1997) และ Christopher Nolan (ค.ศ. 2005 – 2012) จนมาถึงในเวอร์ชันล่าสุดของ Matt Reeves (ค.ศ. 2022) ที่ไม่ว่ารูปลักษณ์ของเมืองจะเปลี่ยนไปมากน้อยเท่าไร สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คืออาชญากรรมและความโกลาหล ซึ่งคอยหลอกหลอนชาวเมืองกว่า 12 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้

The City
ผังเมืองก็อตแธมออกแบบขึ้นโดย Eliot R. Brown ในปี 1998 อ้างอิงจากเขตเมืองแมนแฮตตันของนิวยอร์กซิตี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะที่มีแม่น้ำ 4 สายล้อมรอบ ตัวเมืองแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
Uptown โซนที่ไม่ปรากฏในฉากภาพยนตร์เท่าไหร่
Midtown ใจกลางเมืองที่รายล้อมด้วยตึกสูงมากมาย และเป็นที่ตั้งของธุรกิจในเมืองนี้เกือบทั้งหมด
และ Downtown ย่านที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางการเงินของเมือง และมีพื้นที่จำนวนมากที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ส่วนตัวเมืองเชื่อมต่อกับเมืองอื่น ๆ ด้วยสะพานและอุโมงค์ ซึ่งถ้าระเบิดจุดเชื่อมเหล่านั้นออก Gotham ก็จะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปโดยปริยาย


01
Tim Burton‘s Gotham City (1989 – 1992)
เมืองก็อตแธมเริ่มเผยให้เห็นถึงเค้าโครงเส้นขอบฟ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของตึกสูงระฟ้าครั้งแรกในภาพวาดของ แฟรงค์ มิลเลอร์ (Frank Miller) ในหนังสือการ์ตูนจากปี 1986 และต่อมา 3 ปีให้หลัง ในช่วงระหว่างปี 1989 – 1992 ในภาพยนตร์ Batman เวอร์ชันผู้กำกับ Tim Burton เอกลักษณ์ของเมืองถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค อาร์ตนูโว และโกธิก โดดเด่นด้วยผนังกำแพงอิฐหนาทึบ ยอดแหลมอันวิจิตรของตัวอาคาร โค้งโครงสร้างและการตกแต่งลวดลายประตูหน้าต่าง องค์ประกอบเหล่านี้บอกเล่าความอันตรายและความน่าสะพรึงกลัวของเมืองได้เป็นอย่างดี
Burton ต้องการสร้างก็อตแธมให้เหมือนกับว่า นรกปะทุขึ้นมาตามท้องถนน และผู้คนต่างใช้ชีวิตกันต่อมาหลังจากนั้น
จากภาพสเก็ตช์ของ Anton Furst ผู้ออกแบบงานสร้างใน Batman ของ Burton สะท้อนให้เมืองก็อตแธมปกคลุมไปด้วยความมืด รูปทรงสถาปัตยกรรมของตึกอาคารเต็มไปด้วยยอดแหลมและซุ้มประตูแบบโกธิก ตระหง่านอยู่เหนือถนนที่มืดมิด ความดิบของรูปทรงยิ่งถูกขับให้เด่นชัดขึ้นบนเส้นขอบฟ้าในเวลากลางคืน การไม่มีแสงอุปมาอุปมัยถึงเมืองที่ขาดการบำรุงรักษา หรืออาจจะสื่อถึงสภาวะเมืองที่อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรอาชญากรมาเป็นเวลานาน เป็นเมืองที่ปราศจากการวางผังเมือง โดยมีรูปปั้นการ์กอยล์ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์ คอยเฝ้ามองและปกป้องชาวเมืองจากยอดตึก


02
Joel Schumacher’s Gotham City (1995 – 1997)
ต่อมา ความมืด ฟิลเตอร์ดำ ๆ และความขมุกขมัวของเมือง ได้ถูกลดทอนลงไปในเวอร์ชันของ Joel Schumacher ที่ทำร่วมกับนักออกแบบงานสร้างอย่าง Barbara Ling ในช่วง ปี 1995 – 1997
ในภาคนี้ มีการผสมผสานสไตล์ต่าง ๆ ทางสถาปัตยกรรมและเฉดสีนีออนเหนือจริงสว่างไสวไปทั่วเมือง ทำให้ก็อตแธมมีกลิ่นอายของความแฟนตาซีล้ำยุค แตกต่างจากภาคที่ผ่านมา สถาปัตยกรรมโกธิกถูกทับซ้อนด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอันบ้าบิ่นแบบ Modern Expressionism เพื่อสื่อสารวิธีคิด ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกประหนึ่งประติมากรรม เช่น ใช้รูปทรงที่บิดเบี้ยว เพื่อสื่อเชิงสัญลักษณ์ถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับนวัตกรรมการก่อสร้างแบบใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นใน Claw Island ภาค Batman Forever และตรงกันข้ามกับเวอร์ชันของ Burton โดยสิ้นเชิง

03
Christopher Nolan‘s Gotham City (2005-2012)
เกือบ 1 ทศวรรษต่อมา กว่าไตรภาคของหนัง The Dark Knight โดยผู้กับกำกับชื่อดังอย่าง Christopher Nolan เข้าฉายในช่วงปี 2005 – 2012 ฉากเมืองก็อตแธมในแบบฉบับของเขา ก้าวข้ามรูปลักษณ์ของ 2 เวอร์ชันก่อน ก้าวออกจากสถาปัตยกรรมแฟนตาซีฉูดฉาดในภาคของ Schumacher และความมืดมนของสถาปัตยกรรมโกธิกแบบ Burton มาสู่ความธรรมดาสมจริง โดยใช้สถานที่จริงในเมืองใหญ่ อย่างชิคาโกและมหานครนิวยอร์กในการถ่ายทำ ถือเป็นก้าวสำคัญของเมืองก็อตแธมที่เข้ามาเชื่อมกับโลกภายนอกเป็นครั้งแรก ราวกับว่าก็อตแธมซิตี้นั้น เป็นเมืองที่คุณก็อาศัยอยู่ได้ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่าอาชญากรรมซ่อนอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
มากไปกว่านั้น เหตุการณ์จริงในแต่ละยุคก็เหมือนจะถูกสะท้อนเข้าไปอยู่ในฉากภาพยนตร์ของเมืองก็อตแธม สภาพแวดล้อมในเมืองที่ผู้คนหวาดกลัวกับการก่อการร้าย ซึ่งภาพยนตร์ Batman ฉบับของ Nolan นั้นถ่ายทำหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ที่ตึก World Trade ถล่มจากการก่อการร้ายในปี 2001
ความธรรมดาของเมืองก็อตแธมในแบบฉบับ Nolan สร้างความหวาดกลัวและเงามืดให้กับเมืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับรูปแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ เข้าไป เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงทรงโมเดิร์นร่วมสมัย เรียงตัวกันเป็นเส้นตรง และต่างชี้ขึ้นบนท้องฟ้าอย่างเป็นระเบียบ เป็นก็อตแธมในอุดมคติ ก่อนที่โจ๊กเกอร์จะก่อความโกลาหล
ความสะอาดสะอ้านและความเจริญของเมืองไม่แตกต่างกับเมืองที่เราใช้ชีวิตปกติทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็แอบซุกซ่อนความยุ่งเหยิงไว้ในตรอกซอกซอยและชั้นใต้ดินที่เสื่อมโทรม เป็นเมืองดิสโทเปียที่ซ่อนรูปและซับซ้อนอยู่บนความแตกต่างชนชั้น ความสูงของระดับชั้นที่อยู่อาศัย ความมืดและความสว่าง ความชั่วและความดี


04
Matt Reeves ‘s Gotham City (2022)
ใครจะเชื่อว่าอีกทศวรรษต่อมา ในเดือนมีนาคมปี 2022 เมืองก็อตแธมจะได้เติบโตขึ้นอีกครั้ง ในฉบับของผู้กำกับ Matt Reeves และผู้ออกแบบงานสร้าง James Chinlund ที่นำประวัติศาสตร์ของเมืองอายุกว่า 80 ปี มาประสานกันได้อย่างแปลกประหลาดและสมจริงในคราวเดียวกัน
เขานำสถาปัตยกรรมโกธิกในเวอร์ชันของ Burton กลับมาใช้ถ่ายทอดสภาพแวดล้อมบ้านเมืองที่ใกล้จะล่มสลาย ถูกความมืดครอบงำ ถนนตรอกซอกซอยเต็มไปด้วยขยะ สิ่งสกปรก และสุสาน มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นร่วมสมัยในโลกความเป็นจริง อย่างแลนด์มาร์กของเมืองนิวยอร์ก เพื่อสร้างเมืองที่มีกลิ่นอายความเสมือนจริงในรูปแบบเดียวกันกับ Nolan
ยิ่งไปกว่านั้น ก็อตแธมของ Reeves ยังขับเน้นความขัดแย้งที่น่ามหัศจรรย์ของสถาปัตยกรรม โดยนำรางรถไฟยกระดับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งจากภาพร่างในแบบฉบับของ Burton เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของเมืองด้วย ทำให้ในภาคนี้ ผู้ชมมีโอกาสได้เห็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมยุคโกธิกกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ซึ่งยากที่จะเห็นในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะตึกจากช่วงยุคโกธิกส่วนมากถูกทำลายไปในช่วงสงครามโลก
Chinlund ต้องการให้ฉากของเมืองบอกเล่าเรื่องราวทั้งขาขึ้นและขาลง ทั้งช่วงเวลายากลำบากและช่วงเวลารุ่งโรจน์ เมืองที่ผ่านเหตุการณ์ความวุ่นวายมามากมาย โดยมีตึกระฟ้าที่ยังสร้างไม่เสร็จและถูกปล่อยให้รกร้างเป็นจำนวนมาก สลับกับมีโครงการก่อสร้างที่เสร็จสมบูรณ์ ฉากของเมืองบางส่วนเสื่อมโทรม แต่ขณะเดียวกันก็มีตึกสูงระฟ้าเบียดเสียดแออัด ความไร้ระเบียบแบบแผนขององค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้รู้ว่าความไม่ปลอดภัยนั้นแทรกซึมอย่างลึกซึ้งในเมืองนี้

“ตราบใดที่เขายังทำให้คนเลวรวยต่อไป และทำให้คนดีหวาดกลัว คนดีเช่นพ่อแม่ของคุณที่จะลุกขึ้นต่อต้านกับความอยุติธรรมนั้น พวกเขาจากไปโลกนี้ไปแล้ว ก็อตแธมยังมีความหวังเหลืออยู่ไหม เมื่อคนดีต่างนิ่งเฉยไม่ทำอะไร”
คำคมจากภาพยนตร์ Batman Begins สะท้อนให้เห็นถึงเอฟเฟกต์ลูกโซ่ของเมือง ที่ส่งผลต่อความคิดของชาวเมืองกับคำถามว่า แล้วอะไรเกิดก่อนกัน เมืองหรืออาชญากรรม พระเอกหรือคนร้าย สถาปนิกหรือเมือง
สถาปนิกผู้คลั่งไคล้ศาสนาต้องการวางผังเมืองในอุดมคติ เพื่อวางรากฐานเมืองที่จะสร้างพลเมืองที่มีศีลธรรม ในขณะเดียวกัน ด้วยรูปแบบที่บิดเบี้ยวของเมืองและความเหลื่อมล้ำ ก็ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม และปัญหานั้นเป็นจุดกำเนิดของ Batman ผู้พิทักษ์เมือง ซึ่งการคงอยู่ของเขาเป็นตัวดึงดูดและสร้างสุดยอดวายร้ายที่เป็นอันตรายขึ้นมาด้วย
Gotham City จะยังคงเป็นเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นเมืองที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบวนลูปไปเรื่อย ๆ ในแต่ละเวอร์ชันของภาพยนตร์ล้วนถ่ายทอดรูปแบบของฝันร้าย ความอันตราย ความไม่ปลอดภัย ผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างออกไปในแต่ละฉบับ
ท้ายที่สุดแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่ Gotham City จะเป็นเหมือนกระจกเงาถ่ายทอดความล้มเหลว ความฝัน ความสุข และความโหดร้ายของเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง
เป็นดิสโทเปียที่เราไม่ควรได้สัมผัส
ข้อมูลอ้างอิง
- Burton, Tim. Batman. Warner Bros., 1989.
- Schumacher, Joel. Batman Forever. Warner Bros., 1995.
- Nolan, Christopher. The Dark Knight. Warner Bros., 2008.
- www.theringer.com
- arq.ink
- www.archdaily.com/300958/films-architecture-batman
- screenrant.com/the-batman-movie-concept-art-gotham-city
- twitter.com/JaimeJonesart
- lifewithoutbuildings.net/2014/06/the-map-maker-of-gotham-city.html