แต่ก่อน เมื่อพูดถึงประเทศจีน (หรือที่หลายคนเรียกจนติดปากว่าจีนแผ่นดินใหญ่หรือจีนแดง) เรามักพูดเป็นเสียงเดียวกันในทำนองว่า เป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกและมีแรงงานราคาถูก จนพลอยตั้งคำถามถึงคุณภาพสินค้าที่เขาผลิตได้อยู่ร่ำไป

แต่เดี๋ยวนี้ จากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาเกี่ยวกับความไฮเทคของจีน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงที่รวมๆ กันแล้วยาวที่สุดในโลก สร้างรถยนต์ไฟฟ้าได้เองหลายสิบยี่ห้อจนวิ่งกันเกลื่อนเมือง และล่าสุด ใช้หุ่นยนต์ AI มาอ่านข่าวแทนคนแล้ว ตลอดจนการมีถนน เขื่อน ตึก ฯลฯ ที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก หากใครยังมองจีนเหมือนเดิมก็เรียกได้ว่า เอาต์ไม่มีที่ติแล้ว

แต่ระบบต่างๆ ที่จีนมีได้ในวันนี้ ประชาชนเขาไม่ได้มาลอยๆ ครับ หากแต่มาพร้อมกับ ‘ภาษี’ ที่ต้องจ่ายมากขึ้นด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ เท่าที่สังเกตดูทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองของไทยเรา รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันสักเท่าไหร่ครับ โดยเราจะพูดกันมากก็แต่ว่า เขาเจริญอย่างโน้นแล้ว เขาเจริญอย่างนี้แล้ว

ในปีหนึ่งๆ จีนเก็บภาษีได้ตัวเลขกลมๆ ก็ประมาณ 80 – 90 ล้านล้านบาทครับ ขณะที่ไทยเก็บได้ประมาณ 2.5 – 3 ล้านล้านบาท พูดให้เห็นภาพคือ เมื่อเปรียบเทียบว่าจีนมีประชากรมากกว่าไทยประมาณ 20 เท่าแล้ว ดังนั้น จีนจึงเก็บภาษีได้มากกว่าไทยทั้งในแง่สัดส่วนและปริมาณ  กล่าวคือ หากคำนวณจาก 2.5 – 3 ล้านล้านบาท (ภาษีที่ไทยเก็บได้) คูณ 20 เท่า (จำนวนประชากรโดยประมาณที่จีนมีมากกว่าไทย) จะเท่ากับว่า จากฐานและวิธีเก็บภาษีแบบที่เป็นอยู่ ไทยจะเก็บภาษีได้ไม่เกิน 60 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบได้เพียง 2 ใน 3 ของภาษีที่จีนเก็บได้ในปัจจุบัน บนสมมติฐานว่าไทยกับจีนมีประชากรเท่ากัน

ในฐานะข้าราชการคนหนึ่งที่เคยไปใช้ชีวิตเป็นนักการทูตอยู่ในเมืองทางตอนใต้ของจีนเมื่อ 7 – 8 ปีมาแล้ว ผมไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงมีเงินทำอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ได้แบบที่เราอึ้งกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะได้เห็นกับมาตาแล้วว่าจีนเป็นประเทศที่มีฐานภาษีกว้างมากประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะภาษีตรงหรือภาษีแฝง (เช่น ค่าผ่านทางระหว่างเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งของจีน เชื่อหรือไม่ว่าสูงถึงกิโลเมตรละเกือบ 2 บาทเลยทีเดียว ลองนึกภาพตามครับ ก็เหมือนกับคนกรุงเทพฯ จะขับรถส่วนตัวสี่ล้อไปเชียงใหม่แล้วต้องจ่ายค่าใช้ถนนหลวง ไป-กลับก็ร่วมๆ 3,000 บาทเท่านั้นเอง!)

ฐานภาษีเขากว้างขนาดไหน ก็คิดเอาว่าขนาดรถเข็นขายน้ำเต้าหู้ที่ผมซื้อกินทุกเช้าในวันทำงานยังอยู่ในระบบภาษีอะครับ!

หวยขูด, ประเทศจีน

ฟังแล้วอย่าเพิ่งตกใจครับว่ารัฐบาลเขารีดเลือดกับปู เพราะสิ่งที่ผมเห็นและทึ่งกับของรัฐบาลเขาคือ ‘วิธีคิด’ ของเขาที่เขาดึงดูดให้คนมาอยู่ในระบบภาษีครับ โดยเขาไม่ได้ใช้มาตรการบีบบังคับและออกกฎหมายให้คนมาอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น หากแต่เขายังสร้าง ‘ดีมานด์’ เพื่อให้ผู้ซื้ออยากได้ใบเสร็จทางการ และผู้ขายอยากเข้าไปอยู่ในระบบภาษีเพื่อยอดขายที่ดีขึ้น

วิธีสร้างดีมานด์นี้เองครับที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ และน่าจะถูกกับ ‘จริต’ ของคนไทยที่อาจนำเอามาปรับใช้ได้

แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว แต่ผมยังจำได้ถึงความ ‘อึ้ง’ ในวันนั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมเดินเข้าไปซื้อน้ำเต้าหู้ที่อาอี๋เข็นมาขายใกล้ๆ ที่ทำงานได้อยู่เลยครับ (อาอี๋เป็นคำที่คนจีนใช้เรียกคนขายที่เป็นผู้หญิง ถ้าเทียบกับคำไทยๆ ก็ประมาณเจ๊หรือป้านี่แหละครับ)

ที่อึ้งนั้นไม่ใช่เพราะน้ำเต้าหู้เขาอร่อยมากนะครับ แต่เป็นเพราะเมื่อยื่นเงินสด 2 หยวน (ประมาณ 10 บาท) ให้อาอี๋เพื่อแลกกับน้ำเต้าหู้ 1 แก้ว อาอี๋ก็เอา ‘ฟาเพี่ยว’ หรือใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยสำนักงานภาษีในท้องถิ่นยื่นให้ผมด้วย

น่าอึ้งไหมล่ะครับ รถเข็นขายน้ำเต้าหู้แบบนี้ยังมีใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยทางการด้วย เพราะมันแปลว่าอาอี๋เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี!

ระหว่างที่ดูดน้ำเต้าหู้พลางเดินไปที่ทำงาน ในหัวผมมีคำถามขึ้นมากมายเลยครับ เช่น ทำไมอาอี๋ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายขนาดจิ๋วแบบนาโนเช่นนี้จึงอยู่ในระบบภาษี แล้วให้ใบเสร็จมาทำไมกับสินค้าแค่ 2 หยวน นี่มันไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อของบ้านเรา (ที่ไม่รู้ว่าจะสะดวกกันไปถึงไหน!) นะ

พอถึงออฟฟิศจึงไปเล่าเรื่องนี้ให้น้องที่เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นฟัง ปรากฏว่าคำตอบที่ได้ยิ่งพาให้อึ้งยกกำลังสองขึ้นไปใหญ่ เพราะใบเสร็จนั้นน่ะมันไม่ใช่แค่ใบเสร็จธรรมดา แต่เป็น ‘หวยขูด’ ด้วยครับ โดยผู้ที่ถือครองมีสิทธิ์ถูกรางวัลจากสำนักงานภาษีท้องถิ่นตั้งแต่ 1 หยวนไล่ไปจนถึง 1 แสนหยวน (5 แสนบาท) โดยทางการออกหวยขูดแบบนี้มาก็เพื่อจูงใจให้คนขอใบเสร็จ และให้พ่อค้าแม่ขายมาอยู่ในระบบภาษีครับ

หวยขูด, ประเทศจีน
ใบเสร็จหวยขูด (สำหรับราคาสินค้า 10 หยวน หรือ 50 บาท) ใบนี้ ถูกรางวัล 100 หยวน

สำนักงานภาษีแต่ละท้องที่จะตั้งรางวัลไม่เท่ากัน สำนักงานไหนมีคนอยู่ในระบบภาษีน้อย ก็จะตั้งรางวัลสูงๆ สำนักงานไหนมีคนอยู่ในระบบภาษีจำนวนหนึ่งแล้ว ก็อาจตั้งรางวัลไม่มากนัก แปรเปลี่ยนกันไปตามสถานการณ์

อ่านไม่ผิดหรอกครับว่า เป็นรัฐบาลจีนเองที่ออก ‘หวยขูด’ เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับระบบภาษีของประเทศ ทึ่งเหมือนผมไหมครับ

ที่ผมบอกไว้ข้างต้นว่าเรื่องนี้น่าจะถูกกับจริตของคนไทย เพราะอะไรน่ะหรือครับ ก็อย่างที่รู้กัน คนไทยเราชอบเล่นหวยกันมากๆ

หวยขูด, ประเทศจีน
ใบเสร็จหวยขูด (ที่ขูดอยู่มุมขวาบน) โดยใบนี้ก็ถูกรางวัล 100 หยวน (500 บาท)

จากสถิติของ TMB Analytics 1 ใน 4 ของคนไทยซื้อลอตเตอรี่และหวยรวมเป็นเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาทในแต่ละปี โดยเฉลี่ย คนที่เล่นหวยจะซื้อประมาณ 12 – 14 ครั้งต่อปี คิดเป็นเงินต่อคนระหว่าง 4,500 – 10,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ ผมไม่แน่ใจว่าสถิติข้างต้นรวมถึงหวยขูดที่อาจมีเจ้ามือแอบๆ ออกด้วยแล้วหรือยัง เพราะหวยขูด (ยัง) ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไทย

และก็ไม่แน่ใจอีกเหมือนกันครับว่าหากเรานำวิธีคิดของรัฐบาลจีนมาใช้กับจริตข้างต้นของคนไทย มันจะทำให้ทั้งคนซื้อและคนขายยินยอมพร้อมใจกันอยู่ในระบบภาษีเพื่อให้รัฐบาลของเรามีเงินไปลงทุนพัฒนาประเทศและสร้างสวัสดิการต่างๆ เพื่อประชาชนมากขึ้นหรือไม่ (เพิ่มจากปัจจุบันที่จากจำนวนประชากรหย่อนๆ 70 ล้านของไทย เรามีผู้ที่ยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาแค่ 11 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้เสียภาษีจริงไม่ถึงครึ่ง ที่เหลือไม่เสียเนื่องจากมีเงินได้ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ขณะที่มีบริษัทห้างร้านจ่ายภาษีแค่ 6 แสนแห่ง)

แต่แค่คิดก็สนุกแล้วครับ จะไม่สนุกได้ไงล่ะครับ เพราะทุกการใช้จ่ายคนซื้อจะได้ใบเสร็จมาขูดหวย ได้ทั้งของที่ต้องการและได้ทั้งโอกาสการเสี่ยงโชค ขณะที่คนขายก็น่าจะเลือกเข้าอยู่ในระบบภาษีเพื่อให้ร้านหรือแผงของตนเองแข่งกับร้านอื่นที่สามารถให้ใบเสร็จลูกค้าไปขูดหวยได้

แว่วๆ มาว่ารัฐบาลจีนยุติการออกใบเสร็จหวยขูดไปสักสองสามปีแล้ว โดยเปลี่ยนมาเป็นการออกรางวัลเลขที่ใบกำกับภาษีแทน (แต่ครอบคลุมเพียงบางจุดเท่านั้น ยังไม่ทั่วประเทศ) ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลจีนมุ่งไปที่การใช้ IT เพื่อช่วยจัดเก็บและอำนวยความสะดวกในการเสียภาษีครับ สะดวกสบายขนาดที่ว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถจ่ายเงิน-รับเงินและขอใบกำกับภาษีออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวได้เลย

ใบกำกับภาษีแบบใหม่ที่ขอได้ทางโทรศัพท์

หันกลับมาดูทิศทางการเก็บภาษีของเรากันบ้าง พอดีวันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์อธิบดีกรรมสรรพากรท่านใหม่ในเว็บไซต์ ThaiPublica เลยได้รับทราบว่าท่านกำลังใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะ Big Data (การเก็บ เชื่อมโยง และวิเคราะห์ข้อมูล) เข้ามาเป็นฐานในการวางระบบภาษีของประเทศ โดยจะทำให้ข้อมูลของกรมสรรพากรเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในภาครัฐและธนาคารด้วย เพื่อสร้าง ‘ข้อมูลเชิงลึกด้านภาษี’  (Tax Intelligence) ที่จะช่วยแก้ไขทั้งเรื่องการแจ้งรายได้เป็นเท็จและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ โดยท่านมั่นใจว่าถ้าระบบนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่เม็ดเงินภาษีก็จะมากขึ้น และประชาชนก็จะได้รับการบริการที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือผู้ประกอบการ

อ่านบทสัมภาษณ์ของท่านแล้วรู้สึกดีใจลึกๆ ครับว่าเรายังมีข้าราชการรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีวิสัยทัศน์ที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศ แต่แค่จะขอฝากแนวทางหวยขูดข้างต้นเพื่อสร้างดีมานด์และแรงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบภาษีไว้ครับ เพราะเป็นธรรมชาติของคนอยู่แล้วที่ไม่ชอบการถูกบังคับ แต่จะยอมทำสิ่งนั้นเมื่อเห็นว่าตัวเองได้ประโยชน์ด้วย

ไม่แน่นะครับ กรมสรรพากรอาจมีฐานภาษีที่กว้างขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงมากมาย ขณะเดียวกัน ก็ลดโอกาสที่จะผิดใจกับประชาชนตาดำๆ เพราะไม่ได้ใช้มาตรการบังคับโดยตรง

พูดถึงตรงนี้ เพลงดังในอดีตของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็แว่วมาเข้าหูเลยครับ…“ฉัน (กรมสรรพากร) เปล่า (บังคับ) นะ เขามา (เข้าระบบภาษี) เอง ฉันเปล่าชวนนะ เขามาเอง”

Writer & Photographer

Avatar

โกศล สถิตธรรมจิตร

นักการทูตไทยที่มีความตั้งใจว่าอยากผลิตงานเขียนที่สะท้อนเรื่องราวดีๆ ที่ได้พบได้เห็นในขณะไปประจำการในต่างประเทศ เพื่อจุดประกายให้ใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ นำไปใช้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศไทย จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ อดีตพนักงานบริษัททัวร์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทย และเคยประจำการในฐานะนักการทูตในสหรัฐฯ (นิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส) และเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของจีน