นี่คือครั้งแรกที่เราเปลี่ยนสถานที่ถ่ายภาพ 3 แห่ง ภายในเวลา 3 ชั่วโมง
เพราะช่างภาพของเราบอกว่า การจะหาฉากหลังให้เหมาะสมกับ เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพสถาปัตยกรรม เจ้าของเพจรวมภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ Foto_momo และนักเขียนคอลัมน์ Something Still Remains ไม่ใช่เรื่องง่าย
Something Still Remains เล่าเรื่องอาคารสไตล์โมเดิร์น ทั้งที่ยังตั้งอยู่และถูกทุบทิ้งไปแล้ว ในมุมมองของ ‘นักอ่านสถาปัตย์’ ผู้พิจารณาตั้งแต่รายละเอียดบนกำแพง จนถึงความทรงจำที่ฝังอยู่ในโครงสร้าง และเรื่องเล่าจากผู้คนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่
แต่เรื่องท้าทายของการพูดคุยครั้งนี้ คือเราเคยได้ยินชื่อเบียร์ในฐานะคอลัมนิสต์ของ The Cloud แต่ตัวเราเองไม่ช่ำชองมุมมองสถาปัตยกรรมเสียเลย แล้วจะคุยกันสนุกไหม
โชคดีที่เบียร์เผยให้เห็นความน่าสนใจในสิ่งที่เขาทำตั้งแต่ประโยคแรก ๆ
“7 ปีที่ผ่านมา ผมน่าจะถ่ายตึกโมเดิร์นมากว่า 1,000 แห่งแล้ว ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย” จำนวนนั้นบ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญและความทุ่มเททั้งกายใจของคนที่เรียกตัวเองว่า ‘นักสืบสถาปัตย์’ ได้เป็นอย่างดี หรือจะเรียกว่าเขาบ้าตึกก็คงไม่ผิดนัก
เราเปรยให้เขาฟังต่อว่าบ้านของเราก็เป็นบ้านเก่าในเขตพระนคร อายุกว่า 70 ปี ต่อเติมตั้งแต่รุ่นอากง จนตอนนี้มีบันไดเชื่อม 2 ตึก ตึกละ 6 ชั้น และเคยจะได้เป็นโลเคชันถ่ายหนังผี
“ประเภทตึกที่ผมไม่ค่อยได้เข้าไปถ่ายคือ บ้าน เพราะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ถ้าสะดวก ผมขอเข้าไปเก็บภาพได้ไหม เป็นบันทึกประวัติศาสตร์น่ะ” เขาส่งสายตาสนใจ
แต่บ้านของเราจะเป็นถึงบันทึกประวัติศาสตร์เลยเหรอ
เบียร์พยักหน้าก่อนเริ่มเล่าความบ้าตึกและเป้าหมายของคอลัมน์ Something Still Remains ให้ฟัง
Something Still Missing
สถานที่แรกที่เราไปถ่ายภาพคือ ตึกศรีเฟื่องฟุ้ง ซึ่ง The Cloud เคยนัดสัมภาษณ์เบียร์ที่นี่เมื่อปี 2017 ก่อนที่ปี 2018 เขาจะได้มาเป็นนักเขียนเจ้าของคอลัมน์ Something Still Remains หลังได้รับคำชวนจาก ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารของเรา
“ผมไม่เคยมั่นใจเลยว่าตัวเองเขียนได้” คนสำคัญของวันนี้เอ่ยอย่างถ่อมตัวแล้วเดินไปหยุดอยู่หน้ากล้องของ วงศกร ที่กำลังกดชัตเตอร์รัว ๆ
ไม่แปลกใจที่เขาดูไม่ถนัดเป็นนายแบบ เพราะถ้านับตั้งแต่มัธยมปลาย จนเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาล้วนเป็นคนหลังเลนส์และมีนายแบบนางแบบเป็นอาคารเสียส่วนใหญ่
อะไรคือความได้เปรียบของนักเรียนสถาปัตย์เมื่อถ่ายภาพอาคาร
เราอ่านสถาปัตยกรรมได้ ในทฤษฎีเรียกว่า Architectural Language เช่น เห็นหน้าต่างเรียงขึ้นไปแล้วเดาได้ว่าข้างในคงเป็นบันได ลักษณะชายคานี้อยู่ในภูมิประเทศเขตร้อน เพราะใช้ป้องกันแดดและฝน
นอกจากความสวยงามและการใช้งาน ลึกไปกว่านั้นคือเราเห็นแนวคิดในการออกแบบ สัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ เช่น สีที่สะท้อนสถานะทางสังคมของเจ้าของ จนถึงหน้าต่างที่บอกยุคสมัย
ภาพตึกกับภาพแลนด์สเคปต่างกันอย่างไร
วิวเมืองก็นับเป็นภาพถ่ายทางสถาปัตยกรรม เพียงแต่โฟกัสภาพรวม ส่วนเราถ่ายแบบเจาะจง เช่น บ้าน ต้องเห็นภาพว่าบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ตรงไหน รูปทรงเป็นอย่างไร พื้นที่ภายในใช้สอยอย่างไร เทคนิคการก่อสร้าง จนถึงพื้นผิวของวัสดุที่ใช้ เพราะแต่ละพื้นผิวก็ให้ความรู้สึกคนละอย่าง
ถ้าอย่างนั้น อะไรคือหลักของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
ต้องถ่ายทอดตัวอาคารให้ถูกต้อง-สมจริงตามหลักของสถาปัตยกรรมที่สุด เช่น เส้นเสาที่ควรตรงก็ต้องตรง แสงเงา บรรยากาศภายนอกก็ต้องถ่ายให้ชัด เพราะไม่ใช่แค่ถ่ายเพื่อนำไปใช้งานต่อ แต่การบันทึกให้ถูกต้องที่สุดก็เหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วย
ยิ่งกรณีที่ถ่ายแล้วตึกนั้นโดนทุบทิ้งอะนะ (หัวเราะ)
โถ่ แล้วเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยไหม
ก็บ่อยอยู่ พูดแล้วเศร้า เหมือนอกหักไปเรื่อย ๆ แต่หลัง ๆ กลับชิน
มันเป็นไปตามกาลเวลา ตั้งคำถามได้แค่ว่า เราในฐานะคนที่สนใจจะทำอะไรได้บ้าง
สิ่งที่คุณทำแล้วภูมิใจที่สุดคืออะไร
เพจ Foto_momo คลังข้อมูลกลุ่มอาคารที่ผมถ่ายเอง เพราะตอนนั้นผมเริ่มเห็นความสำคัญของอาคารเหล่านี้มากขึ้น จากตอนเด็กเราคิดแค่ว่าได้จับกล้องแล้วสนุก เหมือนเด็กผู้ชายได้ของเล่นใหม่ ตอนนี้กลายเป็นผมบันทึกทั้งความสวยงามและความทรงจำไปพร้อมกัน ซึ่งช่วง 6 – 7 ปีก่อน คนอื่นยังไม่ค่อยพูดถึงกลุ่มอาคารโมเดิร์น คนจะพูดถึงแค่วัด วัง ซึ่งคนทำเยอะแล้ว ผมเลยหันมาทางนี้แทน
คุณหวังให้คลังภาพของตัวเองมีที่ทางในอนาคตอย่างไร
เวลาไปค้นภาพเก่าที่หอสมุดแห่งชาติ เห็นภาพขาวดำของอาคารที่ทุบทิ้งไปแล้ว ผมก็คิดว่าอยากให้ภาพของตัวเองเป็นแบบนั้นบ้าง
ต่อให้ผมตายไปแล้ว ภาพก็จะยังอยู่ ลูกหลานคงได้เห็นว่ารุ่นปู่รุ่นย่าเขาอยู่กันในอาคารแบบไหน
ภาพตึกกว่า 1,000 แห่งก็คงสะท้อนอดีตได้มากมายแล้ว
แต่ในจำนวนกว่า 1,000 สถานที่ที่ผมไปถ่ายมา พวกตึกสำคัญ-ตึกสวย มีประมาณ 300 แห่ง ที่เหลือคือตึกธรรมดาที่หน้าตาไม่ต่างกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร มันก็คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง
คิดว่าอาคารเก่าควรได้รับการอนุรักษ์ทั้งหมดไหม
ไม่ทั้งหมด บางแห่งควรอนุรักษ์ไว้ในฐานะแม่แบบให้สถาปนิกหรือนักประวัติศาสตร์เรียนรู้ โดยเฉพาะพวก ‘สิ่งแรก’ เช่น โรงแรมแห่งแรก โรงหนังแห่งแรก
หรือบางอาคารอาจมีดาษดื่นแล้ว เช่น ตึกแถว อาจมีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเมือง แต่ถ้าทุบ เรื่องราวมันก็หายไป ใจผมเลยอยากเก็บไว้หมดเลย (หัวเราะ)
ส่วนที่ไม่ควรเก็บคือพวกที่โครงสร้างพัง ห่วงเรื่องความปลอดภัย ถ้าไม่ทุบก็ต้องรีบปรับปรุงด่วน
Something Still Remains
เราขับรถจากตึกอื้อจือเหลียงฝ่ารถติดไปต่อกันที่อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ
พอเดินเข้าไปด้านใน เราและช่างภาพต่างก็คิดว่าที่นี่แหละเหมาะสมกับเบียร์ที่สุด
เขาพบ ทรงกลด บางยี่ขัน ในทริป ดุสิตธานี กรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ยังมีโอกาสได้คุยกันเพิ่มเติม จนทรงกลดชวนให้เขามาเป็นนักเขียนประจำคอลัมน์ Something Still Remains ที่ทรงกลดช่วยตั้งชื่อให้ และเบียร์ก็ชอบเป็นที่สุด
“ความหมายดีครับ คนสร้างไม่อยู่ ตึกก็ยังอยู่ หรือตึกไม่อยู่ ความทรงจำก็ยังอยู่”
ก่อนเขียนบทความแรก คุยเรื่องคอนเทนต์ในคอลัมน์อย่างไรบ้าง
อยากให้เป็นคอลัมน์ที่เล่าเรื่องด้วยภาพ อาศัยความรู้สึกของผมเองในการเขียน ไปเจออาคารได้อย่างไร รู้สึกอะไร เห็นอะไร คลำทางจนออกมาเป็นเรื่องแรก คือสกาลา เขียนเมื่อปี 2018 นี้เอง
จากที่รู้สึกว่าตัวเองไม่น่าเขียนได้ ตอนนี้ยังรู้สึกเหมือนเดิมอยู่ไหม
เหมือนเดิมครับ (หัวเราะ)
(หัวเราะ) แต่งานของคุณทั้งกระชับและอ่านง่าย เราชอบมากเลย
ขอบคุณมากเลยครับ แต่ละชิ้นใช้เวลาเขียนนานด้วยนะ เพราะผมมึนอยู่ (หัวเราะ)
อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเขียนงานแต่ละชิ้น
เรียกว่า จุดไม่ติด คิดไม่ออก แต่ถ้าจุดติดเมื่อไหร่ ผมก็สบายแล้ว เพราะรูปไม่ยากเลย มีอยู่แล้ว ที่ยากคือการเรียบเรียงออกมาเป็นตัวหนังสือ ไหนจะข้อมูลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจาย แถมยังน้อยมากในการเอามาเล่า มันเลยทำให้บางครั้งผมแทบไม่มีข้อมูล บ้านเรายังขาดระบบการสืบค้นข้อมูลด้านนี้อยู่ด้วย
แล้วการพูดคุยกับผู้คนช่วยเพิ่มข้อมูลได้ไหม
ได้บ้าง แต่น้อยมากที่เราจะมีโอกาสได้เจอเจ้าของอาคารโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นคนเฝ้าตึก พนักงาน หรือคนรอบนอกที่อยู่มานาน เห็นตึกนี้มานาน
คุณชวนพวกเขาคุยเรื่องอะไรบ้าง
เป็นความใคร่รู้ของผมเอง สร้างยุคไหน ปีอะไร ใครออกแบบ สมัยเพิ่งเปิดมีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง พวกโรงแรมเขาก็จะเล่าความคึกคักในอดีตได้ดี
แต่ที่สนุก ๆ คือการได้คุยกับเจ้าของโดยตรง เช่น เจ้าของโรงหนังตะพานหินรามา จังหวัดพิจิตร ผมสุ่มขับรถไปถ่ายแล้วบังเอิญได้เจอเขา หรือเจ้าของโรงแรมเลิศนิมิตร ชัยภูมิ ผมมีแนวคิดว่าจะพยายามเข้าไปพักโรงแรมที่ยังเปิดอยู่ ก็บังเอิญว่าเข้าไปแล้วได้เจอพอดี
ส่วนอีกคนที่ประทับใจคือ พี่บุ๋ม บุษบา เป็นพนักงานต้อนรับที่ดุสิตธานี พี่เขามาคุยแล้วก็เอาภาพเก่า ๆ มาโชว์ให้ดู เขามีเรื่องราวและข้อมูลเยอะ
คุณเลือกอาคารที่จะเขียนในคอลัมน์นี้อย่างไร
ผมมีลิสต์รายชื่อสถานที่ วันถ่าย ที่อยู่ เขียนเอาไว้อย่างละเอียด เราก็เลือกจากในนั้นดูความสวย ความแปลก ต้องมีคุณค่าบางอย่าง หรืออยู่ในกระแส เช่น สกาลาที่กำลังจะโดนทุบ สนามม้านางเลิ้ง ตึกหุ่นยนต์ ซึ่งจริง ๆ ผมชอบทุกสไตล์นะ แต่อยากให้มีลายเซ็นของตัวเองอยู่ในนั้น เลยเลือกตึกโมเดิร์นเป็นส่วนใหญ่ คำว่าโมเดิร์นก็ไม่มีขอบเขตที่ตายตัว อาจสร้างในปี 1930 – 1980 ก็ได้
ก่อนหน้าที่จะทำออกมาเป็นลิสต์ คุณไปหาตึกเหล่านี้มาจากไหน
ทำตัวเป็นนักสืบหน่อย (หัวเราะ) ช่วงแรกหาตามเฟซบุ๊ก คนรู้จักที่จบสถาปัตย์ถ่ายรูปตึกลงบ้าง แต่ตอนหลังเริ่มค้นหาตามจดหมายเหตุ หอสมุด ภาพยนตร์เก่า มิวสิกวิดีโอ เพราะบางซีนจะมีถ่ายติดบ้านเก่า หรือหนังสืองานศพก็อ่าน เช่น งานศพของสถาปนิก อาจารย์ยุคก่อน มีรวมผลงานไว้เป็นเล่ม
อาคารธนาคารก็น่าสนใจ ดูว่ามีสาขาอะไรบ้าง แล้วไปหาก่อนว่าสวยไหม ถ้าสวยก็ไป บางทีก็ซื้อหนังสือวาระครบรอบมา เขาจะมีภาพอาคารเก่า ๆ อยู่
มันสนุกนะ เป็นความอยากเอาชนะส่วนตัวด้วย ถ้าเห็นแล้วไม่รู้ว่าตึกอะไร ผมก็จะไปสืบมาจนได้
ตอนนี้ไปครบทุกจังหวัดแล้ว แต่ถ้าผมว่างมากก็จะมาเปิดดูทีละอำเภอว่ามีตึกไหนหลงหูหลงตาเราไป ก็ค่อยไปตามต่อ
ก่อนลงพื้นที่ คุณต้องเตรียมตัวอย่างไร
ส่วนใหญ่คือวางแผนว่าจะถ่ายเช้าหรือถ่ายเย็น เพราะเป็นเรื่องทิศทางแดดเพื่อไม่ให้ไปเสียเที่ยว แต่ก็ไม่ค่อยได้ไปสำรวจก่อนหรอก เพราะประหยัด
เคยมีพลาดบ้างไหม
มี เช่น ไปทริปพอดี รู้ว่าต้องผ่านอำเภอนี้ จะได้ถ่ายบ้านหลังนี้ เรารู้ว่าแดดที่สวยคือตอนบ่าย แต่ยังไงเราก็ต้องขับผ่านตอนเช้า ผมอาศัยว่าถ่ายไปก่อน เดี๋ยวค่อยไปถ่ายซ้ำ
เคยโดนไล่บ้างหรือเปล่า
เคย หลายคนถามผมว่าเข้าไปในบางอาคารได้ยังไง คือผมใช้ความสาระแนของตัวเองไปทำความรู้จักคนนู้นคนนี้จนได้เข้าไป (หัวเราะ)
แต่ก็มีทั้งความโชคดีและโชคไม่ดี บางทีผมสุ่มไปตามต่างจังหวัด เจอเจ้าของโดยตรงบ้าง โดนไล่บ้าง เพราะเขาไม่เข้าใจว่างานของเราคืออะไร
ตึกไหนที่คุณไม่ได้ถ่ายแล้วรู้สึกเสียดายที่สุด
อาคารใหม่สวนอัมพร ตรงลานพระบรมรูปทรงม้า เพราะเป็นอาคารราชการ เข้ายาก
ที่เสียใจอีกอันคือ โรงแรม Siam InterContinental Hotel เพราะเราทันเห็นก่อนจะมาเป็นสยามพารากอน แต่ตอนนั้นยังเรียนมหาวิทยาลัย เลยยังไม่ได้สนใจตึกพวกนี้ ไม่ได้ถ่ายเก็บไว้เลย สำคัญคือตอนวัยรุ่นไม่กล้าเข้าไปเดินเล่นหรือกินข้าวหรอก เพราะไม่มีตังค์ (หัวเราะ)
Something Still Reminds
เสร็จจากโรงงานยาสูบ 5 เราย้ายรถไปจอดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชวนเบียร์สั่งเครื่องดื่มแก้วที่ 2 ของวัน แล้วคุยเรื่องอาคารที่กำลังรอวันทุบทิ้งต่อ
แม้บางตึกจะสวยและเป็นแม่แบบที่ดี แต่เมืองก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
เบียร์ไม่อยากอกหักบ่อย ๆ แม้ปากจะบอกว่าชิน ความเจ็บทุกครั้งที่ตึกหายไปจึงยังคงย้ำเตือนสิ่งที่เขาควรทำในปัจจุบันเสมอ
คุณอยากเก็บอาคารที่สวยเอาไว้ คำว่า ‘สวย’ ของคุณแปลว่าอะไร
เป็นเรื่องปัจเจกมากเลย แต่ในความเห็นของผม คือถ้าซ้ำกันอาจไม่ได้อยากถ่ายขนาดนั้น เพราะไปดูที่อื่นก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นต้องสวยแปลก รูปทรงน่าสนใจ เห็นแล้วว้าว เช่น ตึกฟักทอง ซึ่งสวยจนผมประทับใจ ยกให้เป็นที่ 1 ตลอดมา
อาคารแปลกตาที่สุดตั้งแต่เขียนมาคืออาคารไหน
เอาเป็นอันล่าสุดแล้วกัน DNA Resort ถือเป็นอาคารที่ค่อนข้างใหม่ ไม่ได้เก่าแบบอาคารโมเดิร์นยุคอื่น เพียงแต่รูปทรงประหลาดดี ผมเข้าไปแล้วว้าว มันแฟนตาซีไปหมดเลย
มีประเภทอาคารที่คุณอยากถ่าย แต่ไม่ค่อยได้ถ่ายไหม
อย่างที่บอกเลยว่า บ้าน
ใครมีที่ไหนก็บอกผมได้นะ (หัวเราะ)
ลิสต์ถัดไปที่เราจะได้อ่านคือที่ไหน
ก็โรง… ไม่สิ ผมขออุบเอาไว้ก่อนดีกว่า (ยิ้ม)
เมื่อเจอคนที่ไม่สนับสนุนการอนุรักษ์อาคารเก่า คุณทำอย่างไร
รับฟังไว้ด้วยความเข้าใจ แล้วคิดว่าเราจะโน้มน้าวยังไงให้เขากลับมามองคุณค่าของตึกเหล่านี้ มันต้องใช้เวลา ปัจจุบันเรายังไม่รู้สึกเสียดาย แต่พอเวลาผ่านไปแล้วคนกลับมาเสียดายและโหยหาอดีตกัน
ทำไมจังหวะที่ยังพอมีแรงจะทำอะไรสักอย่าง เราถึงไม่ได้ทำล่ะ
ผมไม่อยากเสียดาย เลยพยายามทำอย่างเต็มที่
อะไรคือความพยายามสูงสุดของคุณในตอนนี้
ผมพยายามเขียนให้เร็วเท่าที่อาคารต่าง ๆ ถูกทุบทิ้งไป
แต่ยังไงก็… ช่วยทุบทิ้งกันช้า ๆ หน่อยนะครับ