Something Still Remains กลับมาอีกครั้ง ก่อนทุกอย่างจะเลือนหาย คราวนี้ขอบันทึกภาพถ่ายที่กำลังจะกลายเป็นความทรงจำของ ‘ตึกหุ่นยนต์’ ตึกที่เคยสูงโดดเด่นย่านสาทร แถมยังเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ ยุค 80 ด้วยหน้าตาที่ถอดแบบมาจากหุ่นยนต์ของเล่น มีดวงตากลมโต 2 ดวงที่ส่วนหัว และลำตัวเป็นกล่องสี่เหลี่ยมลดหลั่นกัน ดูยังไงก็เหมือนหุ่นยนต์ของเล่นไม่มีผิด

ในยุค 1980 บรรยากาศการแข่งขันทางธุรกิจในกรุงเทพฯ กำลังตื่นตัว บรรดานักธุรกิจโดยเฉพาะนักการเงินการธนาคารรุ่นใหม่จึงต้องพยายามสร้างความแปลกใหม่ให้ธุรกิจของตัวเอง เป็นที่มาของการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารเอเชียที่แตกต่างไปจากอาคารธรรมดา เพื่อสะท้อนความคิดก้าวหน้าที่ก้าวเข้าสู่ยุคของการให้บริการทางการเงินโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นกลจักรสำคัญ อาคารสำนักงานใหม่แห่งนี้จึงเสมือนประตูบานใหม่ของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในประเทศไทย

ตึกหุ่นยนต์ 1 ใน 50 อาคารแห่งศตวรรษ ไอคอนแห่งยุค 80 ที่กำลังจะถูกปรับโฉม

คุณสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา สถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร เรียกอาคารนี้ว่าเป็นแบบ Post High-tech เป็นปฏิกิริยาของ Post Modern ที่มีต่อเครื่องจักรกล ไม่ใช่การนำเครื่องจักรมาใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างตรงไปตรงมา แต่นำมาแฝงไว้ในภาพสมมติของการเป็นเครื่องมือมนุษย์ นั่นก็คือการนำหุ่นยนต์และชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบเป็นอาคาร เพื่อเชื่อมโยงความรู้สึกของการบริการที่ทันสมัยแก่ผู้คน

หัวนอต (ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น) ทำด้วยคอนกรีตเสริมใยแก้ว เป็นชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงาน นำมาประกอบแล้วติดตั้งในสถานที่ก่อสร้าง มี 2 ขนาด ตัวใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลางรอบนอก 3.80 เมตร รอบใน 2 เมตร

ตึกหุ่นยนต์ 1 ใน 50 อาคารแห่งศตวรรษ ไอคอนแห่งยุค 80 ที่กำลังจะถูกปรับโฉม
ตึกหุ่นยนต์ 1 ใน 50 อาคารแห่งศตวรรษ ไอคอนแห่งยุค 80 ที่กำลังจะถูกปรับโฉม
ตึกหุ่นยนต์ 1 ใน 50 อาคารแห่งศตวรรษ ไอคอนแห่งยุค 80 ที่กำลังจะถูกปรับโฉม

จักษุ หรือดวงตาที่มองลงมายังถนนสาทร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ทำด้วยกระจกสะท้อนแสง เปลือกตาเป็นบานเกล็ดโลหะ ส่วนที่อยู่ด้านหลังคือห้องรับรองระดับผู้บริหาร เมื่อมองจากจุดนี้จะเห็นทิวทัศน์กว้างไกลของกรุงเทพฯ

“ถึงเวลาแล้วที่ควรจะลุกขึ้นมาขจัดความนิยมของเครื่องจักรที่เรารู้จักกันในศตวรรษนี้ อย่าให้มันเข้ามามีบทบาทเหนือมนุษย์ และตึกหุ่นยนต์นี้จะเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ที่ได้นำเครื่องจักร เครื่องกลทุกชิ้นเข้ามาประกอบกันเป็นเครื่องมือธรรมดาที่อยู่ภายใต้อำนาจมนุษย์ จะเป็นเพื่อน เป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ โดยลักษณะความเป็นเพื่อนดังกล่าวจะทำให้มันมีสภาพคล้ายกับมนุษย์ไปได้ในอนาคต…” คุณสุเมธกล่าว

ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังเคยบัญญัติกฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ในนวนิยาย I, Robot เอาไว้ว่า

1. หุ่นยนต์ไม่อาจกระทำอันตรายต่อมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตราย

2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งจากมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นขัดแย้งกับกฎข้อแรก

3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง

แน่นอนว่าตึกหุ่นยนต์คงไม่ใช่หุ่นยนต์จริง ๆ แต่ด้วยแนวความคิดการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ตึกหุ่นยนต์นี้ได้รับการเลือกให้เป็น 1 ใน 50 อาคารแห่งศตวรรษ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยลอสแอนเจลิส (Museum of Contemporary Art, Los Angeles) รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ หลายคนมีความฝันในเส้นทางอาชีพสถาปนิก ฝันอยากออกแบบตึกสักหลัง คงไม่มากเกินไปที่จะกล่าวว่า ตึกหุ่นยนต์เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมของสถาปนิกรุ่นหลังนับไม่ถ้วน

ภาพถ่ายและเรื่องราวที่กำลังจะกลายเป็นความทรงจำของ ‘ตึกหุ่นยนต์’ อาคารแห่งศตวรรษที่บันดาลใจให้เด็กไทยอยากเป็นสถาปนิก

หุ่นยนต์ที่ยืนตระหง่านมาร่วม 37 ปี กลายเป็นตึกรุ่นเก่าที่แลดูเล็กลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับตึกสูงระฟ้าในสมัยปัจจุบัน สัญญาณของความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏชัดเมื่อมีนั่งร้านและผ้าใบก่อสร้างทยอยห่อคลุมจากชั้น 1 2 3 4 จนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงชั้นที่ 20 และเราก็ไม่เห็นดวงตาคู่นั้นอีก ดวงตาที่สถาปนิกอยากให้มันกะพริบได้ในยามกลางคืน มีสัญญาณไฟวาบเป็นจังหวะ สอดประสานกับ The Robot Symphony หรือดนตรีที่แต่งขึ้นเพื่อตึกนี้… แต่งานติดตั้งส่วนนี้ไม่บรรลุผล เราจึงไม่เคยเห็นมันกะพริบหรือเคยได้ยินบทเพลงบทนี้ น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้ฟังบทเพลง The Robot Symphony จึงคาดเดาไม่ได้ว่าเพลงนั้นจะให้ความรู้สึกอย่างไร สุข เศร้า เคล้าน้ำตา? แต่ที่แน่ ๆ ซิมโฟนีบทใหม่ของตึกหุ่นยนต์กำลังถูกประพันธ์ขึ้นภายใต้ผ้าใบก่อสร้างทั้งหมดนั้น คงต้องมารอลุ้นกันต่อไปว่าดวงตาคู่หนึ่งบนยอดตึกนั้น จะโศกเศร้าหรือสดใสกว่าเดิม

ข้อมูลสถาปัตยกรรม

ตึกหุ่นยนต์ ก่อสร้าง พ.ศ. 2527 – 2529 ออกแบบโดย สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา 

The Robot Building | 1984 – 1986 | Sumet Jumsai

Design Team : Kwanchai Laksanakorn, Vichai Chitseri, Weeraphan Shinawatra

ตึกหุ่นยนต์เริ่มปรับปรุงอาคารเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566

แหล่งข้อมูล : Chadanuch Wangrungarun. (1996). Sumet Jumsai. Bangkok: The Key Publisher.

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO