ไหน ๆ ก็มาถึงเดือนสิงหาคมที่มีวันดาราศาสตร์ไทยทั้งที ก็เลยอยากจะชวนไปชมวัดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดาราศาสตร์ไทยสักหน่อย ซึ่งเมื่อจะพูดถึงเหตุการณ์สำคัญในวงการดาราศาสตร์ไทย ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงเหตุการณ์สุริยุปราคาที่หว้ากอ พร้อมกับภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามลอยมา แต่รู้หรือไม่ครับว่ามีอยู่อีกวัดหนึ่งที่เขียนฉากที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเหมือนกัน นั่นก็คือ ‘วัดเสนาสนาราม’ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับผม
จาก ‘เสื่อ’ สู่ ‘เสนาสนะ’
วัดเสนาสนารามแห่งนี้ไม่ใช่วัดที่เพิ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 นะครับ แต่มีอายุเก่าแก่กว่านั้น เดิมมีชื่อว่า ‘วัดเสื่อ’ เสียดายที่ไม่มีใครรู้ว่าทำไมถึงได้ชื่อนี้ แต่ที่รู้คือวัดนี้สร้างขึ้นพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมหรือวังหน้าในสมัยอยุธยา โดย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดนี้ก็เลยตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของวังหน้า ดังนั้น ในสมัยอยุธยาวัดนี้จึงไม่มีพระภิกษุจำพรรษาแบบเดียวกับวัดพระแก้วเลย
วัดแห่งนี้ร้างลงพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมและการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 และร้างมาอย่างยาวนาน จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ ในโปรเจกต์การผาติกรรมพระนารายณ์ราชนิเวศน์เมื่อ พ.ศ. 2406 โดยในโปรเจกต์นี้ยังมีอีก 2 วัด คือวัดกวิศรารามและวัดชุมพลนิกายาราม ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น นอกจากการซ่อมสร้างอาคารต่าง ๆ พระองค์ทรงยังเปลี่ยนชื่อวัดเป็น ‘วัดเสนาสนาราม’ หรือ ‘วัดเสนาสน์’ ด้วย ซึ่งชื่อใหม่นี้ก็มีที่มาจากชื่อเดิม คือ ‘วัดเสื่อ’ นั่นแหละ และการบูรณะในครั้งนั้นใช้เงินมากถึง 300 ชั่งเศษเลยทีเดียว
ด้วยความที่เป็นหนึ่งในวัดที่พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ด้วยตัวเอง ทำให้วัดนี้ถูกออกแบบอย่างประณีตและพิถีพิถันมาก บางอย่างที่เกิดขึ้นที่วัดนี้จึงอาจหาดูที่วัดอื่นไม่ได้หรือหาดูได้ไม่ง่ายนัก
พระอุโบสถครั้งกรุงศรีอยุธยากับการดัดแปลงโดยในหลวงรัชกาลที่ 4
ด้วยความที่เป็นวัดเก่าแก่ครั้งกรุงเก่า แผนผังของวัดจึงยังคงคลาสสิก ทุกอย่างวางในแนวเดียวกันหมด ตั้งแต่พระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และพระวิหารพระอินทร์แปลง เรียงตัวกันอย่างสวยงาม และหลายอย่างยังคงหลงเหลือเค้าโครงความเป็นกรุงศรีอยุธยาอยู่
ชัดเจนที่สุดหลังหนึ่งคือพระอุโบสถของวัด เพราะถ้ามองจากด้านหน้า จะรู้สึกว่าอาคารหลังนี้ดูคล้ายกับพระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ แต่ถ้าดูรายละเอียดดี ๆ จะรู้ว่าอาคารหลังนี้แปลงไปเป็นงานแบบรัตนโกสินทร์เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน้าบันที่เป็นตราพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎเหนือช้างสามเศียรของรัชกาลที่ 4 ซึ่งตราพระราชลัญจกรนี้ยังพบบนซุ้มประตูกับซุ้มหน้าต่างด้วย ซึ่งการใช้ตราพระราชลัญจกรนี้ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4
เมื่อเราเดินเข้าไปข้างในก็จะพบกับพระสัมพุทธมุนี พระประธานดั้งเดิมครั้งกรุงเก่าของวัดที่ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วและซุ้มต้นโพธิ์ มีการใส่คำจารึกอักษรขอมเป็นคาถาพุทธานุสติ ซึ่งถือเป็นลักษณะการออกแบบซุ้มเรือนแก้วแนวใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ เพราะพระพุทธรูปองค์อื่น ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่วิหารทิศตะวันออก วัดพระปฐมเจดีย์ หรือแม้แต่พระอินทร์แปลงที่วัดแห่งนี้ก็มีซุ้มแบบเดียวกัน
พระราชพิธีสิบสองเดือนกับภาพเหมือนสตรีชั้นสูง
คราวนี้ลองมองไปรอบ ๆ บ้าง เราจะเจอกับภาพจิตรกรรมฝาผนังสไตล์ใหม่ที่ได้อิทธิพลจากตะวันตกวาดอยู่บนผนังทุกด้าน ซึ่งถ้าใครเคยไปที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมาก่อน จะพบว่าภาพจิตรกรรมของทั้ง 2 วัดเป็นเรื่องเดียวกันแบบเป๊ะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทพบันเทิง กลุ่มเทวดาที่เหาะไปมาอย่างเป็นอิสระ ภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน หรือแม้กระทั่งภาพการทอดพระเนตรสุริยุปราคาของในหลวงรัชกาลที่ 4 ก็มี
แต่ใช่ว่าทั้ง 2 วัดจะเหมือนกันไปซะหมด เพราะแม้เนื้อเรื่องจะเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน แต่ทั้งโทนสี หรือรายละเอียดบางอย่างแตกต่างกันอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นฉากทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่แม้ฉากหลังจะเป็นพระบรมมหาราชวังเหมือนกัน แต่ฉากของวัดเสนาสน์นี้ใหญ่กว่าเยอะ เพราะวัดนี้ไม่มีประตูตรงกลาง แต่ใช้ประตูข้าง 2 บาน ต่างจากวัดราชประดิษฐ์ฯ ที่มีประตูตรงกลางประตูเดียว
แต่ผนังที่ผมอยากให้เข้าไปชมเป็นพิเศษ คือฉากพระราชพิธีเดือน 12 หรือพระราชพิธีลอยประทีปครับ เพราะมีความพิเศษที่ผนังด้านอื่นไม่มี นั่นคือภาพเหมือนของ สมเด็จฯ กรมพระสุดารัตนราชประยูร เจ้านายฝ่ายใน ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกพระนามว่า ‘เสด็จยาย’ ด้วยความเคารพ เนื่องจากมีศักดิ์เป็นพระราชปิตุจฉา (อาหญิง) ของพระราชมารดาของพระองค์
ถามว่าพิเศษตรงไหน นี่คือพระสาทิสลักษณ์หรือภาพเหมือนของสุภาพสตรีฝ่ายในที่เก่าแก่ที่สุดที่พบอยู่ในวัด เพราะก่อนหน้านี้มีแต่ภาพวาดพระมหากษัตริย์หรือบุคคลสำคัญซึ่งเป็นผู้ชายเท่านั้น และนี่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่า แม้ฝีมือจะต่างกัน แต่ช่างเขียนที่วัดเสนาสน์แห่งนี้เป็นช่างหลวงจากกรุงเทพฯ แน่นอน
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์กับพระเจ้าพยาบาลภิกษุอาพาธ
พระวิหารหลังถัดมาก็คือพระวิหารพระพุทธไสยาสน์หรือพระวิหารพระนอน ซึ่งตั้งอยู่หลังพระอุโบสถถัดจากเจดีย์ประธานทรงระฆังสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีเจดีย์รายทรงเครื่องที่มีองค์ระฆังเป็นริ้ว ๆ ขนาบทั้ง 2 ฝั่ง โดยพระวิหารหลังนี้ตั้งขวางอยู่ด้านหลังพระวิหารพระอินทร์แปลง ทำให้อาคาร 2 หลังนี้วางตัวเป็นรูปตัว T พอดีเป๊ะ
แล้วก็ตามชื่อเลยครับ เมื่อเป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ด้านในจึงประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือพระนอนนั่นเอง ซึ่งพระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้เดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุในสภาพแตกหักเป็นชิ้น ๆ แต่ได้เคลื่อนย้ายและนำมาประกอบใหม่ที่นี่ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 พร้อมกับปฏิสังขรณ์ให้กลับมาสวยงามตามสไตล์ของพระองค์ ดังนั้นพระพุทธรูปองค์นี้จึงมีจีวรยับย่นเป็นริ้วตามแนวทางสัจนิยมซึ่งกำลังได้รับความนิยมในงานช่างหลวงสมัยนั้น
นอกจากพระพุทธรูปปางไสยาสน์แล้ว ในพระวิหารหลังนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปยืนที่ในพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างกำลังประคองพระภิกษุรูปหนึ่งเอาไว้ นี่คือพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางพิเศษที่หาชมได้ยาก บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติเมื่อพระพุทธองค์ทรงพยาบาลพระภิกษุซึ่งกำลังอาพาธอยู่ ซึ่งพระพุทธรูปปางนี้ปกติจะอยู่ในอิริยาบถนั่ง ณ วัดเสนาสน์น่าจะเป็นที่เดียวที่แสดงพระพุทธรูปปางนี้ด้วยพระพุทธรูปยืน
พระเจ้าล้านช้างจากเวียงจันทน์สู่อยุธยา
อาคารหลังสุดท้ายในแนวแกนหลักคือพระวิหารพระเจ้าอินทร์แปลง พระวิหารหลังนี้มีหน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎคล้ายกับพระอุโบสถ แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือการมีมุขขวาง อาคารที่วางตัวขวางด้านหน้าอาคารที่ตกแต่งด้วยซุ้มโค้งอย่างตะวันตก ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่เจอได้ในวัดบางแห่งที่สร้างหรือซ่อมในช่วงเวลานี้เท่านั้น เช่น วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี
พอเข้าไปด้านในก็จะเจอพระประธานในซุ้มเรือนแก้วที่มีการตกแต่งด้วยซุ้มต้นโพธิ์ แทรกจารึกคาถาพุทธานุสติด้วยอักษรขอมแบบเดียวกับพระอุโบสถเลยครับ แต่ซุ้มของพระพุทธรูปองค์นี้มีพระสาวกปูนปั้นขนาบ 2 ฝั่งด้วย ที่สำคัญ ด้านหลังซุ้มพระประธานองค์นี้ยังมีห้องขนาดเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปดั้งเดิมที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลังนี้มาแต่เดิมด้วย สิ่งนี้ถือเป็นของแปลกที่ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าเคยเห็นอะไรแบบนี้ที่ไหนรึเปล่า
ส่วนพระประธานของพระวิหารหลังนี้ก็ตามชื่อเลยครับ ‘พระเจ้าอินทร์แปลง’ ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อ พ.ศ. 2401 และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่อัญเชิญมาจากประเทศลาวข้ามมาประดิษฐานในประเทศไทย ซึ่งพบทั้งในกรุงเทพมหานคร เช่น พระเสริมและพระสายน์ วัดปทุมวนาราม หรือในพื้นที่ปริมณฑล เช่น พระพุทธอินแปลง วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี
เรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ก็คือชื่อของท่านครับ ‘พระเจ้าอินทร์แปลง’ พระพุทธรูปที่มีชื่อประมาณนี้มักมีตำนานเล่าว่าสร้างเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จ จนกระทั่งมีชีปะขาวมาช่วยหล่อจึงเสร็จ และชีปะขาวนี้ก็มักหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เลยเชื่อว่าชีปะขาวที่ว่าน่าจะเป็น ‘พระอินทร์’ ที่ ‘แปลง’ กายลงมาช่วย ซึ่งชื่อพระพุทธรูปแบบนี้มักพบอยู่ในพื้นที่ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของชาวลาว ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง วัดมหาวนาราม หรือพระอินแปง วัดอินแปง นครเวียงจันทน์ เป็นต้น
ตำนานพระอินทร์กับภาพวัดเสนาสน์บนผนังวัดเสนาสน์
นอกจากความพิเศษของพระประธานและซุ้มแล้ว จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลังนี้ก็มีความพิเศษเช่นกัน ตั้งแต่เนื้อเรื่องที่เขียนไปจนถึงฉากหลังเลย เพราะเนื้อเรื่องหลักในจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้เป็นเรื่องราวของ ‘มฆมาณพ’ นั่นเอง
มฆมาณพเป็นใคร มฆมาณพนี้คือ ‘ท้าวสักกะ’ พระอินทร์องค์ปัจจุบัน ฟังมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งงงนะครับ พระอินทร์ในคอนเซปต์ของพุทธศาสนาจะไม่เหมือนในศาสนาฮินดู เพราะพระอินทร์แบบพุทธนั้นเป็นชื่อของ ‘ตำแหน่ง’ ไม่ใช่ชื่อ ‘บุคคล’ ดังนั้นตำแหน่งพระอินทร์จึงเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งได้ แต่ใช่ว่าใครจะเป็นพระอินทร์ก็ได้ เพราะคนคนนั้นจะต้องทำบุญอย่างมากจึงจะได้เป็นพระอินทร์
อย่างมฆมาณพผู้นี้ สมัยยังเป็นคนอยู่นับว่าเป็นสุดยอดจิตอาสาเลย เพราะเป็นคนดีมีศีลธรรม รักความสะอาด ชอบทำความสะอาดในที่ชุมชน และร่วมมือกับเพื่อน ๆ อีก 32 คนเป็นกลุ่มคณะจิตอาสา ร่วมสร้างศาลาที่พักคนเดินทางและทำถนนหนทางให้ดี แม้แต่บรรดาภรรยาของมฆมาณพก็มาร่วมด้วย หลังจากที่มฆมาณพและคณะหมดอายุขัย จึงได้ขึ้นไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ แต่บนนั้นมีพระอินทร์อยู่แล้ว มฆมาณพและสหายเลยมอมเหล้าพระอินทร์เดิมจนเมาแล้วโยนลงจากสวรรค์ พระอินทร์เดิมจึงกลายเป็นท้าวเวปจิตติ ราชาของพวกอสูร ซึ่งคือบรรดาบริวารเดิมนั้นแหละที่สาบานตนว่าชีวิตนี้จะไม่ดื่มเหล้าอีกแล้ว (อ + สุร = ผู้ไม่ดื่มเหล้า)
แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้นสิครับ เพราะในคณะของมฆมาณพ มีอยู่คนหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นมาด้วย นั่นคือนางสุชาดา ภรรยาคนที่ 4 ของมฆมาณพ ซึ่งในขณะที่คนอื่นไปช่วยทำโน่นทำนี่ แต่เธอไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะคิดว่าสามีทำบุญ ตัวเองก็ต้องได้บุญด้วย เลยไม่ได้ขึ้นไปบนสวรรค์ จนพระอินทร์ต้องไปตามหานางสุชาดาในชาติต่าง ๆ ไปช่วยให้เธอได้ทำบุญเพื่อจะได้กลับมาครองรักกันเหมือนเดิม
ปัญหาก็คือชาติสุดท้ายของเธอดันไปเกิดเป็นลูกสาวของท้าวเวปจิตติ อดีตพระอินทร์ที่ตัวเองไปแย่งมา เลยเกิดเรื่องอิรุงตุงนังกันอีกกว่าจะได้กลับมาครองรักกันในที่สุด ซึ่งฝาผนังของพระวิหารหลังนี้ได้เล่าเรื่องนี้เอาไว้ละเอียดพอสมควร
ส่วนเหตุผลที่จิตรกรรมฝาผนังเรื่องนี้ถูกเขียนที่พระวิหารหลังนี้ก็ไม่ยากครับ ในเมื่อพระประธานคือ ‘พระเจ้าอินทร์แปลง’ ที่มีตำนานเชื่อว่าพระอินทร์มาสร้าง งั้นก็เขียนจิตรกรรมให้สอดคล้องกับพระประธานซะเลย ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่ที่เดียว หลายวัดก็เลือกใช้ไอเดียแบบนี้เหมือนกัน เป็นต้นว่า วัดนางนองที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง จิตรกรรมฝาผนังเลยเขียนเรื่อง ชมพูบดีสูตร ที่เป็นตำนานพระพุทธรูปทรงเครื่องซะเลย
และเนื่องจากจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้น่าจะเขียนขึ้นไล่เลี่ยกับจิตรกรรมในพระอุโบสถ ในภาพจึงมีความสมจริงตามแนวสัจนิยมแบบเดียวกัน แต่ในเมื่อเป็นเรื่องราวแนวปรัมปราคติ ความสมจริงคราวนี้จึงไม่ใช่เรื่องภาพสวรรค์ ไม่ใช่ภาพพระอินทร์ ไม่ใช่ท้าวเวปจิตติ แต่เป็นการนำเอาสถานที่จริงมาใช้เป็นฉากหลัง โดยหนึ่งในรูปที่เก๋ที่สุด คือรูปของวัดเสนาสนารามทั้งวัดที่ถูกนำมาใช้เป็นฉากหลัง และมีภาพของพระภิกษุรูปหนึ่งที่ดูสมจริงมากจนผิดสังเกตวาดเอาไว้ด้วย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าอาจเป็นภาพของ พระพรหมเทพาจารย์ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดก็เป็นได้
ความหรูหราล้ำสมัยนอกพระนคร
วัดเสนาสนารามนี้ถือเป็นตัวอย่างของวัดที่ตั้งอยู่นอกเมืองหลวงใหม่อย่างกรุงเทพมหานคร แต่มีการใช้ช่างจากส่วนกลางมาสร้างหรือซ่อมในแทบทุกองค์ประกอบ ดังนั้นความหรูหราในรายละเอียดหลายอย่างเลยอยู่ในระดับเดียวกันกับงานช่างหลวงแบบเป๊ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในวังหลวง เพราะถ้าไปดูในงานจิตรกรรมฝาผนังที่อุปถัมภ์โดยชาวบ้านในยุคสมัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกับวัด จะไม่มีทางเจอเรื่องราวแบบนี้แน่ ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวัดนี้เป็นวัดที่ราชสำนักโดยในหลวงรัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นผู้นำในการปฏิสังขรณ์ด้วยพระองค์เอง
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ส่วนกลางในเมืองหลวงมุ่งเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ ออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะเราต้องไม่ลืมว่าการเดินทางในสมัยก่อนไม่ได้สะดวกสบาย จะไปอยุธยาไม่ใช่ว่าขับรถไป ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ถึง แต่ต้องนั่งเรือหรือขี่สัตว์เข้าไป ดังนั้นการจะเผยแพร่ความเจริญก้าวหน้าผ่านทางความรู้ยังไม่สะดวกสบายเหมือนในยุคนี้ แถมในยุคที่ผู้คนไม่ได้แตกฉานในการอ่าน การนำเสนอความรู้ใหม่ ๆ ในรูปแบบของภาพวาดฝาผนังนั้นน่าจะเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า โดยมีตัวกลางสำคัญของพระภิกษุ บุคคลผู้เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ผูกพันกับชาวบ้านเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวแทน
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่เราคนในยุคใหม่จะใช้ภาพวาดเหล่านี้ในการมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อจะได้เข้าใจและเข้าถึงความคิด รวมถึงความเจริญในยุคกก่อน อันเป็นรากฐานที่ทำให้เรามีเราในทุกวันนี้ด้วยเหมือนกัน
เกร็ดแถมท้าย
- การเดินทางไปวัดเสนาสนารามโดยสะดวกที่สุดคือรถส่วนตัวครับ ภายในวัดมีพื้นที่สำหรับจอดรถกว้างขวางพอสมควร หรือถ้าใครจะปั่นจักรยานหรือนั่งรถสองแถวไปลงตรงแถวหัวรอแล้วเดินเข้ามาในวัดก็ได้เหมือนกัน แต่ปกติแล้วทั้งพระอุโบสถและพระวิหารของวัดจะปิด เปิดเฉพาะช่วงทำวัตรหรือช่วงที่วัดมีการจัดกิจกรรมเท่านั้น ถ้าอยากเข้าไปชมก็ต้องลองไปขอพระดูนะครับ
- ส่วนถ้าใครสนใจเรื่องของการทอดพระเนตรสุริยุปราคาในงานจิตรกรรม นอกจากวัดราชประดิษฐ์ฯ และวัดเสนาสน์แล้ว ที่วัดเบญจมบพิตรฯ ก็มีเหมือนกัน อยู่ในพระที่นั่งทรงผนวช และนั่นเป็นที่เดียวที่เขียนฉากหว้ากอแบบหว้ากอจริง ๆ แต่พระที่นั่งทรงผนวชจะเปิดเฉพาะวันปิยมหาราชเท่านั้น ถ้าอยากไปชมก็ต้องไปให้ตรงวันนะครับ
- ถ้าสนใจพระพุทธรูปแบบล้านช้าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่หลายองค์เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นพระเสริมกับพระสายน์ที่วัดปทุมวนาราม พระแสนเมืองเชียงแตงที่วัดหงส์รัตนาราม หลวงพ่อสุก วัดราชผาติการาม หรือวัดที่ผมยังไม่เคยเขียนถึง เช่น พระพุทธอินแปลง วัดเขมาภิรตาราม หรือพระพุทธรูปยืนในพิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง วัดเทวราชกุญชรก็มีเหมือนกัน ใครสนใจลองไปตามหากันดูได้นะครับ