เนื่องจากสถานการณ์โรค COVID-19 ที่กำลังระบาดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านตอนนี้น่าจะ Work from home หรืออยู่บ้านกันเป็นหลัก ไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน ไม่ได้ออกไปกินข้าวนอกบ้าน ไม่ได้ออกไปสังสรรค์ เพราะการแพร่ระบาดของโรคนี้ วันนี้เลยจะมานำเสนอปางของพระพุทธรูปที่น่าจะเข้ากับช่วงเวลานี้มากที่สุด ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อพระพุทธรูปปางนี้ แต่ส่วนใหญ่น่าจะไม่เคยเห็น นั่นก็คือ ‘พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ’ หรือเรียกง่ายๆ ก็พระพุทธรูปปางรักษาพระป่วยนั่นเอง

ทีนี้ เรามาทำความรู้จักพระพุทธรูปปางนี้กันสักเล็กน้อยก่อน

พระพุทธรูปปางนี้สร้างขึ้นโดยอ้างอิงพุทธประวัติตอนหนึ่ง เล่าถึงพระภิกษุที่อาพาธด้วยโรคท้องร่วง เมื่อพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรจึงได้ตรัสถามถึงโรคของภิกษุรูปนั้น และทรงทราบว่าไม่มีผู้ใดพยาบาลภิกษุรูปนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสให้พระอานนท์ไปตักน้ำมา เมื่อนำน้ำมาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงประคองภิกษุรูปนั้นทางศีรษะแล้วทำความสะอาดร่างกายภิกษุผู้อาพาธโดยมีพระอานนท์คอยช่วยเหลือ เมื่อเรียบร้อยแล้ว พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์และได้สอบถามภิกษุทั้งหลายถึงสาเหตุที่ไม่มีผู้ใดพยาบาลภิกษุรูปนี้ จนได้คำตอบว่า เพราะพระภิกษุรูปนั้นไม่เคยอุปการะดูแลภิกษุใด จึงไม่มีใครพยาบาลภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า 

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาลดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฎ”

หรือก็คือ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนว่า หากภิกษุไม่ดูแลกันเองแล้วใครจะมาดูแล พร้อมกับตั้งกฎว่าหากผู้ใดไม่พยาบาลจะต้องอาบัติทุกกฎ ซึ่งถือเป็นอาบัติสถานเบา ไม่ได้ถือเป็นอาบัติหนักอย่างปาราชิกหรือสังฆาทิเสสนะครับ

เอาล่ะ ทีนี้เราลองมาชมของจริงกันบ้าง เพราะพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธถือเป็นปางที่ค่อนข้างแปลกและน่าสนใจ ด้วยเหตุที่ว่าไม่ใช่ปางที่มีมาแต่โบราณ ปางที่มีมาแต่ดั้งเดิมในประเทศอินเดียมีเพียงแค่ 6 ปางเท่านั้น ได้แก่ ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางประทานอภัย ปางประทานพร ปางแสดงธรรม และปางปฐมเทศนา เท่านั้น ก่อนจะมีการพัฒนาปางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นมา 40 ปางตามพุทธประวัติตอนต่างๆ ก่อนจะมีการกำหนดปางพระพุทธรูปเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายเซ็ต ทั้ง 55 ปางของ ศาสตราจารย์หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จากหนังสือ พระพุทธรูปปางต่างๆ 72 ปางของ พิทูร มะลิวัลย์ จากหนังสือ ประวัติพระพุทธรูปปางต่างๆ หรือ 66 ปาง ของ พระพิมลธรรม จากหนังสือ ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ

 แต่ปางพยาบาลภิกษุอาพาธนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มเดียว นั่นก็คือ พุทธประวัติฉบับพระพุทธรูป 80 ปาง เรียบเรียงโดย เทพพร มังธานี โดยปางนี้เป็นปางลำดับที่ 51 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่กล่าวถึงพระพุทธรูปปางนี้ พร้อมกับภาพประกอบแสดงลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้ด้วยครับ

พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย
ภาพ : www.pantip.com

พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธเท่าที่ผมทราบ (ย้ำอีกครั้งว่าเท่าที่ผมทราบ อาจจะมีวัดอื่นหรือที่อื่นมากกว่านี้ก็ได้ครับ) มีอยู่ 5 วัด และมีอยู่ที่โรงพยาบาล สถานปฏิบัติธรรมบางแห่งเท่านั้น โดยรูปแบบของพระพุทธรูปปางนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 อิริยาบถ ได้แก่ อิริยาบถยืนและอิริยาบถนั่ง

พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธในอิริยาบถยืนนั้นพบอยู่เพียงวัดเดียว นั่นก็คือ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ด้านหลังพระวิหารพระอินทร์แปลง โดยตั้งอยู่ใกล้กับพระเศียรของพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนในรูปแบบที่เราพบได้ทั่วไป ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัย ศิลปะที่ถือกันว่างามที่สุด โดยสิ่งที่ทำให้ท่านต่างจากพระพุทธรูปยืนองค์อื่นๆ ก็คือ แทนที่จะยื่นพระหัตถ์ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างออกมาข้างหน้าตรงๆ พระหัตถ์ทั้งสองข้างของพระพุทธรูปองค์จะอยู่ในท่าอุ้มพระภิกษุแทน 

พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย

ในขณะที่พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธในอิริยาบถนั่งนั้น ถือว่าเจอมากกว่า โดยอีก 4 วัดที่เหลือ ได้แก่ ข้างอุโบสถ วัดสุทธาราม กรุงเทพมหานคร ภายในพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปาง วัดกระทุ่มเสือปลา กรุงเทพมหานคร หลังอุโบสถ วัดขนอนเหนือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ภายในหอสวดมนต์ วัดน้ำริดเหนือ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งผมเคยไปมา 2 วัด วัดน้ำริดเหนือและวัดกระทุ่มเสือปลาผมยังไม่เคยไป แต่ไม่เป็นไร ในยุคที่โลกเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต แม้ผมจะไม่เคยไป แม้ผมจะไม่มีรูป ผมก็หารูปมาให้ชมได้ครับผม

พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย
'พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ' พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย
ภาพ : www.facebook.com
'พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ' พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย
'พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ' พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย
ภาพ : www.tatcontactcenter.com

แม้ทั้งสี่องค์จะมาจาก 3 จังหวัด แต่เราจะเห็นว่า พระพุทธรูปทั้งสี่องค์นี้มีจุดร่วมกันอยู่หลายอย่างเลย อย่างแรก พระเศียรของพระพุทธรูปมีอิทธิพลจากศิลปะคันธาระของอินเดียอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระเกศาหยักศก ต่างจากพระพุทธรูปในศิลปะไทยทั่วไปที่จะมีลักษณะเป็นขมวดก้นหอย (เทียบกับองค์ที่วัดเสนาสนารามฯ ได้เลยครับ) บางองค์มีอุณาโลมด้วย 

อย่างที่สอง อิริยาบถ พระพุทธเจ้าอยู่ในอิริยาบถนั่งชันพระชานุขวา มีพระภิกษุนอนอยู่ที่พระเพลา โดยที่พระหัตถ์ขวาประคองหัวของภิกษุอาพาธ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายประคองมือซ้ายของภิกษุเอาไว้ บางองค์พระพุทธเจ้าจะหันพระพักตร์ไปทางหัวของภิกษุด้วยครับ

จะว่าไป มีใครรู้สึกเหมือนผมรึเปล่าครับว่า ท่าทางลักษณะของพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธในอิริยาบถนั่งดูคุ้นตา คล้ายกับรูปปั้น ประติมากรรม หรือภาพเขียนชิ้นไหนสักชิ้นหรือเปล่า เอาเป็นว่า ถ้านึกไม่ออก ผมมีภาพประกอบมาให้ชม

'พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ' พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย
ภาพ: www.wikipedia.org
'พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ' พระพุทธรูปปางประดิษฐ์ใหม่ที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในไทย
ภาพ : www.wikipedia.org

งานศิลปะนี้มีชื่อว่า Pieta เป็นประติมากรรมรูปพระแม่มารีย์กำลังประคองร่างของพระเยซูที่เพิ่งอัญเชิญลงจากไม้กางเขน ซึ่งถือเป็นฉากสำคัญในชุด ‘พระทรมานของพระเยซู’ (Passion of Christ) และ เป็น 1 ใน 7 ฉากในชุด ‘แม่พระระทมทุกข์’ (Our Lady of Sorrow) ซึ่งมีทั้งที่เป็นประติมากรรม อย่างในภาพประกอบผลงานของมีเกลันเจโล (Michelangelo) ประติมากร จิตรกร และสถาปนิกชาวอิตาลี ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ (St. Peter’s Basilica) นครรัฐวาติกัน และมีที่เป็นจิตรกรรม ในภาพประกอบผลงานของโจวันนี เบลลีนี (Giovanni Bellini) จิตรกรรมชาวอิตาลี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์ Gallerie dell’Accademia เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี 

แต่ถ้าใครไม่อยากเดินทางไปชมไกล ในประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน โดยอยู่ในภาพชุดพระทรมานของพระเยซูที่ประดับอยู่บนผนังของโบสถ์หรือกระจกสีภายในโบสถ์ ลองไปชมกันได้ 

ซึ่งพอลองเอาท่าทางของพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธในอิริยาบถนั่งและ Pieta มาเทียบกัน จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก เป็นไปได้ว่า เมื่อมีการออกแบบพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นในครั้งแรก ผู้ออกแบบอาจจะได้แรงบันดาลใจจากประติมากรรมในคริสต์ศาสนาชิ้นนี้มาบ้างไม่มากก็น้อยครับ

นอกจากพระพุทธรูปปางนี้แล้ว ในเมืองไทยเองจริงๆ ยังมีพระพุทธรูปปางแปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็นหรือไม่ค่อยจะได้เห็นกันสักเท่าไหร่ เช่น พระเจ้าเข้านิพพาน หรือพระพุทธเจ้าประทับอยู่ภายในโลง พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ไว้ถ้ามีโอกาสและจังหวะจะมานำมาเล่าสู่กันฟังครับ 

สุดท้ายนี้ ช่วงนี้โรค COVID-19 กำลังระบาด มีข่าวกันไม่เว้นวัน อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว และล้างมือนะครับผม 

เกร็ดแถมท้าย

  1. สำหรับใครที่สนใจหนังสือ พุทธประวัติฉบับพระพุทธรูป 80 ปาง ยังหาซื้อได้นะครับ ลองไปดูตามร้านหนังสือ เว็บไซต์ขายหนังสือดูได้ครับผม
  2. ถ้าใครสนใจเรื่อง Pieta หรืออยากเห็น Pieta ในแบบต่างๆ ลองค้นหาดูในกูเกิลได้เลยครับผม หรือจะลองดูในวิกิพีเดียที่เป็นข้อมูลที่ผมนำมาใช้อ้างอิงก็ได้ครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ