13 พฤศจิกายน 2023
2 K

เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เกดได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ เหล่าบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญและรักษาไว้ โดย อาจารย์โคจิ ซากาโมโต้ อาจารย์ผู้วิจัยเรื่องธุรกิจขนาดเล็กและกลาง 

หนังสือเล่มนี้รวบรวมเคสบริษัทในญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจคิดดี กล่าวคือ ดูแลพนักงาน ดูแลลูกค้า 

จำได้ว่า เป็นหนังสือ Non-fiction ธุรกิจเล่มแรกที่อ่านแล้วน้ำตาไหลพราก ๆ 

อ่านไปคิดในใจไปว่า มีบริษัทที่ทำธุรกิจดี ๆ ขนาดนี้ในโลกนี้ด้วยเหรอนี่ 

เช่น บริษัทที่เดิมทำถุงมือ แต่จากเสียงเรียกร้อง เลยลองหันมาทำรองเท้าเพื่อผู้สูงอายุ พวกเขาตั้งใจพัฒนารองเท้าเพื่อคุณตาคุณยาย ทำลายสวย ๆ ปรับวิธีใส่ให้ใส่-ถอดรองเท้าได้ง่าย จนคุณยายบางคนที่นั่งเก้าอี้รถเข็นมาตลอด พยายามหัดลุก หัดเดิน เพราะอยากใส่รองเท้าสวย ๆ ของบริษัทนี้ 

หรือบริษัทแท็กซี่ในจังหวัดนางาโนะที่ยอมเสียเวลาลงไปกดกริ่งและเปิดประตูรถรอลูกค้า เคยมีลูกค้าที่ป่วย ต้องไปโรงพยาบาลทุกวัน และไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่ออีก แต่พอได้รับการดูแลที่ดีมากจากคนขับ ก็หันมาตั้งใจรักษาตัวเองมากขึ้น เป็นบริษัทที่ประธานบริษัทบอกว่า เราไม่ใช่แค่ขับแท็กซี่ แต่เราอาจกำลังช่วยชีวิตคน ช่วยทำให้ผู้คนมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น 

บริษัทที่ไม่ได้คิดถึงแค่กำไร การเติบโต ความร่ำรวย แต่ตั้งใจทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทมีความสุข

จากหนังสือเล่มนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนหนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น และหลักสูตร ‘ริเน็น’ กับ The Cloud หลักสูตรอบรมวิธีการทำธุรกิจและค้นหาปรัชญาธุรกิจตลอด 4 – 6 สัปดาห์ 

ในคลาสริเน็น ผู้เรียนทุกคนจะอิ่มเอมใจไปกับเคสธุรกิจดี ๆ จากญี่ปุ่น จนมีหลายเสียงบอกว่า อยากไปเห็นของจริง อยากไปสัมผัสของจริงที่นั่น 

ส่วนตัวเกดเองก็คิดว่าดี จนเริ่มวางแผน เริ่มจัดตารางเคลียร์คิว เตรียมจัดทริปไปญี่ปุ่น ทว่าก็ติดช่วงโควิดไปเสียก่อน 

ตารางทริปเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง 

เมื่อย่างเข้าเดือนสิงหาคม ปี 2023 เราเริ่มนัดบริษัทต่าง ๆ จนได้มาทั้งหมด 5 บริษัท กับ 1 สถาบันการศึกษา ได้แก่ 

D&DEPARTMENT บริษัทที่คัดสรรสินค้าที่ผู้ใช้จะรักและอยากใช้สินค้านั้นไปนาน ๆ เป็นบริษัทที่กว่าจะนำสินค้าชิ้นไหนมาขาย พนักงานต้องลองใช้เองก่อน 6 เดือนจนมั่นใจว่าสินค้าดีจริง จึงค่อยนำมาจำหน่ายในร้าน 

Rehaprime ศูนย์ดูแลและกายภาพผู้สูงอายุ ปกติบริษัทที่ทำธุรกิจเหล่านี้มักมีสาขาแค่ 1 – 2 สาขา เนื่องจากบริหารยาก หาพนักงานที่เชี่ยวชาญมาทำงานยาก คนลาออกบ่อย แต่ที่บริษัทแห่งนี้แทบไม่มีปัญหาเช่นนั้น และขยายสาขาไปได้เกือบ 200 สาขา 

Advantec Refuse บริษัทกำจัดและรีไซเคิลขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นบริษัทที่ตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้พนักงานมีความสุขที่สุด ก่อนที่จะคิดถึงยอดขายหรือกำไร บริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงานสูงกว่าบริษัทอื่น ๆ ในวงการกว่า 1.6 เท่า และมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

Pan Akimoto ร้านขนมปังเบเกอรีเล็ก ๆ แต่วันหนึ่งพยายามพัฒนาขนมปังกระป๋อง เพื่อส่งไปช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว จนในที่สุดธุรกิจขนมปังกระป๋องกลายมาเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ให้บริษัท ลูกค้าพวกเขาคือใคร เติบโตอย่างไร

Saiboku Ham บริษัทแปรรูปเนื้อหมูและแฮมชั้นดี เป็นบริษัทที่ประธานบริษัทโดนทัดทานไม่ให้ทำอะไรใหม่ ๆ จากผู้บริหารอาวุโสและคุณพ่อตนเอง แต่สุดท้ายก็ผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ในบริษัทตนเองได้ ทั้งในรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 

GLOBIS สถาบัน MBA ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เป็นหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ แต่กลับเน้นไปที่ให้ผู้อบรมหา Kokorozashi หรือ Personal Mission ของตนเอง เราเกิดมาทำไม และเราตั้งใจจะสร้างอะไรให้กับโลกนี้ 

ความใส่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ 

ทริปนี้เป็นทริปไปศึกษาดูงาน เพื่อนำไอเดียมาใช้กับบริษัทตนเอง มิได้เป็นทริปท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น เราไม่มีช่วงเวลาให้ผู้ร่วมทริปได้ช้อปปิ้งเลย ไปบริษัทเช้า-บ่าย ตอนเย็นเข้าที่พัก (พอถึงจุดแวะพักรถบัสใหญ่ ผู้ร่วมทริปพวกเราเหมือนได้รับการปลดปล่อย ลงไปช้อปขนมกันอย่างสนุกสนาน ถึงจะมีเวลาให้แค่ 15 นาทีก็ตาม) 

ทีม The Cloud ผู้น่ารัก ออกแบบ Booklet ทริปให้เป็นมากกว่าตารางแผนการเดินทาง เรามีข้อมูลย่อ ๆ ของทุกบริษัทที่จะไปดูงาน มีพื้นที่ว่างอย่างน้อย 4 หน้าสำหรับแต่ละบริษัท เผื่อให้ทุกคนจด เราแจกปากกาเจลอย่างดี เพื่อให้ทุกคนจดได้คล่อง (เราดีใจที่เห็นผู้อบรมหลายท่านใช้สมุดเล่มนี้จดทุกวัน)

อีกสิ่งที่เราแอบทำให้ผู้ร่วมทริป คือไปรษณียบัตรสีแดง ด้านหลังเป็นภาพกราฟิกของแต่ละบริษัทที่พวกเราไปดูงาน เผื่อผู้ร่วมทริปอยากแบ่งปันประสบการณ์ในทริปนี้กับคนที่บ้าน ก็เขียนเล่า ติดแสตมป์ และส่งไปได้เลย (แน่นอนว่าพวกเราเตรียมแสตมป์ญี่ปุ่นไปแจกทุกคนด้วย) 

วันปฐมนิเทศ 

พวกเราไปพบกันที่โตเกียวเลย ต่างคนต่างไม่รู้ว่ามีใครร่วมทริปบ้าง 

เรามีกันทั้งหมด 42 คน เป็นผู้ร่วมทริป 36 ท่าน และพวกเราทีม The Cloud 6 คน 

บ่ายวันแรก เราไปใช้ห้องประชุมที่ชิบูย่า ให้ทุกคนนั่งล้อมวงเป็นตัว U และให้ทุกคนแนะนำตัวกันรอบวง นำโดย โค้ชณัฏฐ์ เพิ่มทรัพย์ โค้ชผู้บริหารมืออาชีพ และเป็นกระบวนกรที่ดีเยี่ยม ทำให้ทุกคนได้รู้จักกันในเวลาอันรวดเร็ว 

เราแบ่งกลุ่มทุกท่านเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน เพื่อให้แต่ละกลุ่มเป็นตัวแทนพรีเซนต์ 6 สถานที่ที่ไปดูงาน (บอกแล้ว เราไม่ใช่ทริปเที่ยว แต่เราดูงานกันจริงจังจริง ๆ) 

ในวันแรกนี้ เราพบว่ามีบางท่านถูกเพื่อนหลอกให้มาทริปนี้เป็นเพื่อนด้วย! และยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเราจะดูอะไรกัน บางคู่ถูกลูกส่งมาแบบงง ๆ หลายคนคิดว่า The Cloud เป็นบริษัททัวร์ (ฮือ ๆ​ เราเป็นสื่อค่ะ เราไม่มีมาม่าต้มยำกุ้งให้นะคะ ขอโทษค่ะ) 

ผู้ร่วมทริปของเรา ตั้งใจตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย เดินไกลแค่ไหนก็สู้ค่ะ
ฟังบรรยาย ณ บริษัท Advantec Refuse บริษัทรีไซเคิลขยะที่ออฟฟิศสวยมาก ๆ มีห้องโยคะ ห้องดนตรี และยิม ในออฟฟิศ

วันสุดท้าย

ขออนุญาตกระโดดข้าม 4 วันที่ไปดูงาน 6 แห่ง ไปที่วันสุดท้าย เนื่องจากจะทยอยเล่าเนื้อหาบางส่วนของบางบริษัทในตอนถัด ๆ ไป 

ในวันสุดท้าย เราไปเช่าห้องเล็ก ๆ เหมือนห้องนั่งเล่น มีโซฟาสบาย ๆ มีเคาน์เตอร์บาร์เล็ก ๆ มีห้องครัว เพื่อให้ทุกคนล้อมวง Reflection กัน มาทบทวนกัน ตกผลึกกันว่าเราได้อะไรจากทริปนี้กันบ้าง 

คุณ อ. ชายหนุ่มที่ช่วยงานที่บ้านอาสายกมือเป็นคนแรก และเล่าว่าเขาได้บทเรียนดี ๆ ทั้งจากบริษัทและผู้ร่วมทริป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่คนหนึ่งที่ทำให้เขาเห็นว่าทุกคนล้วนมีความสมบูรณ์แบบในแบบของตนเอง 

มีพี่ ๆ หลายคนในทริปนี้บอกว่ากลับไปจะไปตั้งใจฟังลูกน้องมากขึ้น จะแบ่งเวลามาฟังลูกน้อง พวกเราได้แรงบันดาลใจจากประธานบริษัทแห่งหนึ่งที่กันเวลามาคุยกับลูกน้อง 150 คนของท่านทุกเดือน 

มีผู้ร่วมทริปท่านหนึ่งโทรกลับไปขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ตนเอง ขอบคุณที่ให้อิสระตนในการทำสิ่งต่าง ๆ ขอบคุณที่ไม่เคยบังคับและสนับสนุนเส้นทางเสมอมา บทเรียนนี้มาจากท่านประธานบริษัทหนึ่งที่คุยให้พวกเราฟังเรื่องการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น เวลาพ่อแม่กับลูกจะเปิดใจคุยกัน เราควรเริ่มจากการขอบคุณกัน ลูกควรขอบคุณพ่อแม่ที่สร้างธุรกิจมาได้ขนาดนี้ มันไม่ง่ายเลย ส่วนพ่อแม่ก็ควรขอบคุณลูกที่ลูกสนใจ กลับมาทำที่บ้าน แทนที่จะไปทำที่อื่น ควรให้อิสระเขา ให้อำนาจเขาเต็มที่ อย่าเข้าไปแทรกแซง 

มีอยู่ 2 ท่านที่บอกว่าจะกลับไปกล้าตัดสินใจทำอะไรมากขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากประธานบริษัทแห่งหนึ่ง ท่านประธานเล่าให้พวกเราฟังว่าสมัยหนุ่ม ๆ ท่านเสนอพ่อให้ทำไอเดียธุรกิจใหม่ ท่านเตรียมเขียนซองลาออกพกไว้ในกระเป๋าเสื้อ หากธุรกิจล้มเหลวจริงจะลาออกเพื่อรับผิดชอบ ท่านบอกว่า เวลาเราตัดสินใจจะทำอะไรบางอย่าง เราต้องเด็ดเดี่ยวขนาดนั้น และเรา (คนที่เป็นประธานบริษัท) ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของตนเอง 

ในวงสนทนาครั้งนี้ มีหลายท่านที่เล่าไป น้ำตาไหลไป พวกเราตื้นตันกับสิ่งที่ประธานบริษัทญี่ปุ่นทุกแห่งทำและสอนพวกเรา เราซาบซึ้งกับเรื่องราวของเพื่อน ๆ ร่วมทริป สมาชิกบางท่านนึกถึงสิ่งดี ๆ ที่เราตั้งใจทำเพื่อพนักงาน เพื่อลูกค้า แต่ไม่รู้เรียกว่าอะไร จนมาทริปนี้ เหมือนได้กำลังใจ ได้แรงสนับสนุนให้เราทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไป

ทริปนี้อาจไม่ได้เป็นแค่ทริปดูงาน แต่เป็นทริปที่สมาชิกทริปทุกคนเปิดใจกัน เรียนรู้จากกัน และเติมพลังให้กัน 

ขอบคุณ The Cloud ที่เป็นผู้ริเริ่มทริปนี้ และช่วยทำให้ทริปอิ่มเอมที่สุด 

ขอบคุณโค้ชณัฏฐ์ที่ออกแบบให้ทุกคนได้รู้จักกัน ได้คุยกัน และให้ไอเดียชวน Reflect วันสุดท้าย ทำให้จบทริปแบบทรงพลังมาก ๆ (น้ำตาท่วมทริป) ครั้งหน้าเราจะเตรียมกล่องทิชชูไปด้วย

ที่สำคัญที่สุด ขอบคุณผู้ร่วมทริปที่น่ารักทั้ง 36 ท่านที่ลงชื่อสมัครทริปมากับพวกเรา ขอบคุณที่เปิดใจกัน สนุกกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน คิดถึงทุกท่าน คิดถึงบรรยากาศทริปจริง ๆ ค่ะ

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photographer

ธนพัต กิมทรงชนาสิน

ธนพัต กิมทรงชนาสิน

หนุ่มคนจันทบุรี ที่หลงใหลในการถ่ายภาพพอๆ กับรองเท้าที่ใส่