หลังกลับมาเมืองไทย ดิฉันสมัครอีเมลรับข่าวสารธุรกิจของญี่ปุ่นมาโดยตลอด วันหนึ่งเห็นอีเมลฉบับหนึ่งแจ้งเรื่องงานสัมมนา ‘ทำไมบริษัทนี้ถึงมีแต่คนอยากมาทำงานด้วย : วิธีดูแลคนฉบับบริษัทกำจัดขยะ’ 

คำอธิบายเขียนว่า บริษัทรับจัดการขยะอุตสาหกรรมในจังหวัดกุนมะที่ไม่มีพนักงานลาออกเลย มีแต่คนอยากมาสมัครทำงานที่นี่ ทั้งที่เป็นบริษัทขนาดกลาง เนื้องานต้องดูแลและจัดการกับสิ่งสกปรกหรือขยะจากโรงงาน

หัวข้องานทำให้ดิฉันสะดุดตามาก และไล่หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนี้เพิ่มเติม ยิ่งไล่อ่านก็ยิ่งน่าสนใจ อะไรทำให้คนอยากมาทำงานที่นี่กันนะ 

ผู้ก่อตั้ง 3 คนที่มีความเห็นตรงกัน

ชื่อบริษัท Advantec Refuse มาจากคำว่า Advanced Technology (เทคโนโลยีที่ทันสมัย) รวมกับคำว่า Refuse (ของเสีย) 

ผู้ก่อตั้ง คือ คุณเคนคิชิ โฮริคิริ ในอดีตเคนคิชิเคยทำงานอยู่บริษัทรถยนต์นิสสัน และเคยดำรงตำแหน่งผู้ดูแลสหพันธ์แรงงาน เมื่อบริษัทจะให้เขาย้ายไปประจำบริษัทนิสสันในภาคใต้ เคนคิชิปฏิเสธ และถูกส่งไปดูแลโรงงานกำจัดขยะโรงงานในเครือแทน 

เคนคิชิเห็นโอกาสและตัดสินใจลาออกมาสร้างกิจการของตนเอง บริษัท Advantec Refuse ทำทั้งกำจัดขยะโรงงาน ตลอดจนให้คำที่ปรึกษาเรื่องการจัดการขยะ ตัวอย่างงานที่ทำ เช่น การส่งรถบรรทุกไปรับขยะจากโรงงานโยเกิร์ตแล้วนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือการนำโคลนหรือเศษที่เหลือจากน้ำทิ้งในโรงงานมาทำเป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้ 

Advantec Refuse บริษัทจัดการขยะที่ปลูกฝังให้พนักงานเห็นครอบครัวสำคัญกว่างาน อบรมด้วยวิธี Customized และไม่เคยไล่ใครออก
ภาพ : www.atr-eco.co.jp 

สิ่งที่เคนคิชิกำหนดข้อตกลงกับเพื่อนผู้ก่อตั้งบริษัทอีก 3 คน คือจะสร้างบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคน

จากประสบการณ์สมัยดูแลสหพันธ์แรงงาน เคนคิชิรู้ดีว่าหากบริษัทดูแลพนักงานไม่ดี พนักงานอาจรวมตัวกันฟ้องร้อง ประท้วง หรือสร้างความเสียหายแก่บริษัทได้ ขณะเดียวกัน เขาเห็นความยากลำบากของคนในสหพันธ์แรงงานที่บ่นเรื่องโดนบริษัทเอาเปรียบจากนายจ้าง เมื่อสร้างบริษัทของตนเอง เขาจึงตั้งใจให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด

ที่นี่ส่งเสริมให้พนักงานให้ความสำคัญกับครอบครัวก่อนงานบริษัท (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับบริษัทญี่ปุ่น) พนักงานอยากลาไปดูลูกแข่งกีฬาสี ลาเพื่อพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลก็ย่อมได้ บริษัทยังส่งเสริมให้พนักงานลาพักร้อน 2 เดือนครั้ง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ

บริษัท Advantec Refuse ให้โบนัสพนักงานปีละ 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษหรือรางวัลให้พนักงานที่ทำงานได้ดี ซึ่งมีแจกทุกเดือน 

ส่วนเงินเดือนพนักงานนั้นให้สูงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันถึง 1.6 เท่า

ด้านรายได้ สวัสดิการ วันหยุด-วันลา บริษัท Advantec Refuse จัดว่าทำได้โดดเด่นกว่าบริษัทอื่น ๆ ในวงการเป็นอย่างมาก บริษัทอื่นที่จ่ายเงินเดือนให้พนักงานสูง ๆ แต่ก็มีปัญหาพนักงานลาออกเช่นกัน แล้วอะไรทำให้บริษัท Advantec Refuse ยังคงรักษาพนักงานไว้ได้ 

วิธีให้เงินเดือนพนักงาน

เมื่อบริษัท Advantec Refuse ดำเนินการมาได้ 30 กว่าปี ยูชิน โฮริคิริ ลูกชายของเคนคิชิก็เข้ามาช่วยกิจการของพ่อต่อ 

ยูชินมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทให้แข็งแกร่งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การกำหนดปรัชญาองค์กร การให้พนักงานถือหุ้นบริษัทและแบ่งเงินปันผลให้ ตลอดจนทำให้พนักงานสื่อสารกันมากขึ้น 

ปรัชญาหลักของบริษัท คือเป็นบริษัทที่สร้างความสุขโดยรวมเป็นอันดับ 1 และขยายวงล้อมแห่งการขอบคุณแก่คนทั่วโลก ผ่านความสุขของพนักงาน พันธกิจของบริษัท คือการบริหารธุรกิจด้วยหัวใจเพื่อพนักงานและครอบครัวของพนักงาน 

เวลาคัดเลือกพนักงาน ผู้บริหารจะสัมภาษณ์และคัดเลือกเฉพาะคนที่มีความเห็นสอดคล้องกับปรัชญาของบริษัทด้วย 

ในวันเงินเดือนออก ยูชินมิเพียงแจกเงินเดือนให้พนักงาน แต่เขายังจัดเวลาคุย 1 ต่อ 1 กับพนักงานทุกคน รวมถึงพนักงานของบริษัทในเครือรวม 240 คน ตัวเขาเองอยากรู้จักพนักงานมากขึ้น และอยากให้พนักงานก็รู้จักตัวเขามากขึ้นเช่นกัน หัวข้อที่คุยเป็นเรื่องสบาย ๆ เช่น สิ่งที่ทำสำเร็จช่วงนี้ ความกังวล สิ่งที่อยากให้บริษัทมี 

หลังพูดคุยเสร็จ ยูชินจะมอบจดหมายให้พนักงาน เนื้อหาเป็นเรื่องผลประกอบการของบริษัท ทิศทางบริษัท สิ่งที่ยูชินคิดอยู่ 

พนักงานจะได้เข้าใจภาพลักษณ์องค์กร รวมถึงรู้สึกใกล้ชิดประธานบริษัทมากยิ่งขึ้น 

ไม่ไล่พนักงานออกเลยสักคนเดียว

ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา Advantec Refuse ยังไม่เคยไล่พนักงานออกแม้แต่คนเดียว หากมีพนักงานที่ขี้เกียจหรือทำงานได้ไม่ดี บริษัทจะพยายามฝึกอบรมและดูแลพนักงานเจ้าปัญหาคนนั้นอย่างถึงที่สุด 

การฝึกอบรมที่นี่จะเป็นแบบ Customized กล่าวคือ แต่ละคนมีแผนการอบรมที่แตกต่างกัน โดยออกแบบให้เหมาะกับเจ้าตัวมากที่สุด และยังมีระบบรุ่นพี่ประกบรุ่นน้อง คอยช่วยสอนงานต่าง ๆ ทำให้พนักงานที่เข้าใหม่ไม่รู้สึกว้าเหว่หรือโดนสั่งงานเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ พนักงานทุกคนของที่นี่ถูกฝึกให้คิดและทบทวนตนเองเสมอ ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การ์ดความคิด’ โดยในการ์ดนี้ พนักงานเขียนไอเดียตนเอง สิ่งที่ตนเองสังเกต ไอเดียปรับปรุงการทำงาน ตลอดจนความรู้สึกขอบคุณในวันนี้ได้ โดยต้องเขียนส่งทุกวัน 

Advantec Refuse บริษัทจัดการขยะที่ปลูกฝังให้พนักงานเห็นครอบครัวสำคัญกว่างาน อบรมด้วยวิธี Customized และไม่เคยไล่ใครออก
ตัวอย่างการ์ดความคิด ด้านบนเขียนวันเดือนปี ด้านล่างเขียนชื่อ
ภาพ : marunokai.co.jp

การเขียนการ์ดนี้ช่วยให้พนักงานฝึกคิด ฝึกทบทวนตนเอง และแสดงความรู้สึกของตนเองเป็นคำพูดได้ ทำให้พนักงานเติบโตขึ้น ส่วนทางบริษัทเองก็จะเข้าใจสิ่งที่พนักงานคิด ตลอดจนได้ไอเดียดี ๆ ไปพัฒนาบริษัทอีกด้วย 

สร้างสถานที่ให้เกิดบทสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ

เมื่อมีการรีโนเวตออฟฟิศใหม่ ยูชินตั้งใจสร้างพื้นที่เพื่อพนักงานมากขึ้น ทั้งขยายพื้นที่โรงอาหาร ตลอดจนสร้างห้องพักผ่อนของพนักงาน

ในห้องพักผ่อนนี้เป็นพื้นที่อิสระ มีโต๊ะเก้าอี้วางไว้ และพนักงานยังช่วยกันเสนอให้เตรียมขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ฟรี การแบ่งพื้นที่สูบบุหรี่กับไม่สูบบุหรี่ออกจากกัน ตรงบอร์ดที่ประดับก็เป็นฝีมือพนักงานช่วยกันเขียน ช่วยกันทำ 

Advantec Refuse บริษัทจัดการขยะที่ปลูกฝังให้พนักงานเห็นครอบครัวสำคัญกว่างาน อบรมด้วยวิธี Customized และไม่เคยไล่ใครออก
พื้นที่พักผ่อนของพนักงาน
ภาพ : marunokai.co.jp

โฮชินตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่รีแลกซ์ของพนักงาน ช่วงเวลาพักก็มาจับกลุ่มคุยกัน ทานขนมกัน ยิ่งคุยก็ยิ่งรู้จักกัน สนิทกันมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดียิ่งขึ้น 

โฮชินเล่าว่าบริษัทเขาไม่เคยประกาศรับสมัครพนักงานเลย เพราะพนักงานบอกต่อกันและชวนเพื่อนหรือญาติตนเองมาทำงาน กรณีคนขับรถบรรทุก มีบริษัทขนส่งต่าง ๆ ต้องการตัวคนขับค่อนข้างมาก และมักแย่งพนักงานกัน แต่กรณีของ Advantec Refuse มีแต่พนักงานบริษัทอื่นหรือเพื่อนของคนขับปัจจุบันสมัครกันเข้ามา 

เมื่อสอบถามว่ารู้จักบริษัทได้อย่างไร คนขับเล่าให้ฟังว่าเวลาขับรถมักมีวิทยุสื่อสารพูดคุยกันเสมอ ๆ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีคนขับของบริษัท Advantec เล่าให้ฟังว่าบริษัทนี้ดี ดูแลพนักงานดี ทำงานแล้วมีความสุข จึงสนใจมาสมัคร 

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญในการบริหาร คือทำอย่างไรให้พนักงานและครอบครัวของพวกเขามีความสุข เราคำนึงถึงค่าตอบแทน สวัสดิการ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน มากกว่าการสร้างยอดขายให้ได้มาก ๆ หรือการหาทางเพิ่มกำไร 

“เราไม่ได้ทำยอดขายได้ดีแล้วถึงค่อยดูแลพนักงานเราดี แต่เพราะเราให้ความสำคัญกับพนักงาน ดูแลพนักงานดี ผลลัพธ์คือยอดขายบริษัทเราถึงเติบโตและทำกำไร” ยูชิน โฮริคิริ ประธานบริษัทคนปัจจุบันกล่าว 

ปัจจุบันบริษัท Advantec Refuse ทำกำไรได้เฉลี่ยปีละ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ทุกปี และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

บทสรุป

บางบริษัทดูแลพนักงานเท่าที่จำเป็น จ่ายเงินเดือน จ่ายสวัสดิการเท่า ๆ กับที่อื่น ทำให้พนักงานลาออกบ่อย ต้องเหนื่อยกับการหาคน การฝึกอบรมพนักงานใหม่อีก 

บางบริษัทพยายามดูแลพนักงานเป็นอย่างดี ให้รางวัล ให้โบนัส จูงใจด้วยเงินเดือนและสวัสดิการ แต่กลับรั้งพนักงานไว้ได้ไม่นานนัก 

Advatec Refuse เป็นบริษัทที่ตั้งใจดูแลพนักงานเป็นอย่างดี ตั้งใจมาก ๆ จนถึงขั้นตั้งเป้าหมายเป็นความสุขของพนักงาน 

รูปแบบการดูแลมิได้มีเพียงเงินเดือนและสวัสดิการ แต่ดูแลไปถึง ‘การใช้เวลา’ ที่นี่สนับสนุนให้พนักงานลา ให้ใช้เวลากับครอบครัวเต็มที่ ซึ่งส่งผลต่อความสุขด้านจิตใจของพนักงาน

บริษัทยังดูแลพนักงานใหม่ โดยอบรมพนักงานตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละคน 

ที่สำคัญ บริษัทให้พนักงานได้มีโอกาสคิดและแสดงความเห็นเสมอ ๆ ทั้งผ่านการ์ดความคิดและการพูดคุยกับประธานบริษัท เป็นบริษัทที่รับฟังความเห็นพนักงาน และตั้งใจนำความเห็นนั้นไปปรับปรุงจริง ๆ 

ความมุ่งมั่นตั้งใจดูแลพนักงานถึงที่สุดเพราะเห็นว่าพนักงานสำคัญนี้เอง ทำให้พนักงานทุกคนสัมผัสได้และรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานบริษัทนี้ จนพวกเขาบอกต่อและไปชวนเพื่อน ๆ มาทำงานที่นี่

หากท่านใดเป็นเจ้าของกิจการและอยากรู้ว่าบริษัทเราดูแลพนักงานดีแล้วหรือยัง ลองถามพนักงานของเราง่าย ๆ ว่าอยากชวนใครมาทำงานที่เดียวกันนี้ไหม หากพนักงานมีสีหน้าอิดออดหรือคิดหนัก นั่นอาจเป็นสัญญาณให้เราต้องกลับมาทบทวนอะไรบางอย่างในบริษัทแล้ว

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย