ห้างสรรพสินค้าเล็กๆ แห่งหนึ่งถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 2000
หลังจากนั้น 8 ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น
ด้วยกระแสช้อปปิ้งออนไลน์ คนเดินห้างลดน้อยลงเรื่อยๆ ห้างใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นต้องควบกิจการเข้าด้วยกัน เช่น ห้างอิเซตันรวมกับห้างมิตสึโคชิ หรือบางแห่งก็ปิดตัวลงเนื่องจากยอดขายไม่ดี เช่น ห้างมารุอิอิไม ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในฮอกไกโด
ท่ามกลางความฝืดเคืองของวงการห้างสรรพสินค้าเช่นนี้ ห้างสรรพสินค้าที่ดิฉันกำลังจะเล่าต่อไปนี้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีสาขาทั้งหมด 10 สาขาในญี่ปุ่น 2 สาขาในต่างประเทศ (จีนและเกาหลี)
ห้างนี้ชื่อ ‘D & Department’
จุดกำเนิด D & Department
เคนเม นากาโอกะ (Kenmei Nagaoka) เคยเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังมาก่อน เขาตั้งบริษัทของตนเองตั้งแต่อายุ 31 ปี และออกแบบกราฟิกสมัยใหม่มาโดยตลอด
วันหนึ่งนากาโอกะเดินผ่านร้านมือสองขนาดใหญ่ เขาเห็นเก้าอี้ใหม่เอี่ยมที่ดีไซเนอร์ชื่อดังออกแบบเมื่อปีก่อน ถูกวางขายในราคาต่ำมาก
“คุณค่าของเก้าอี้ คุณค่าของดีไซน์ หมดเร็วขนาดนี้เลยหรือ” นากาโอกะตกใจ
ในโลกทุนนิยมที่เราชินกับการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากและบริโภคเป็นจำนวนมาก นากาโอกะต้องการทำสิ่งที่แตกต่าง เขาเรียกแนวคิดนี้ว่า ‘Long Life Design’
Long Life Design คือดีไซน์ดีๆ ที่คนสามารถใช้ได้เป็นระยะเวลายาวนาน ในทางกลับกัน สินค้าที่คนใช้มาเป็นระยะเวลานาน เป็นสัญลักษณ์ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ดี
หากผู้ผลิตไม่ใส่ใจในการออกแบบสินค้า สินค้าก็จะถูกวางในร้านที่ไม่ได้ใส่ใจที่จะขาย ผู้บริโภคก็ซื้อสินค้าที่ไม่ได้ดีนัก ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไม่ค่อยดีตามไปด้วย
แน่นอน หากสินค้าไม่ได้ทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อใช้สินค้าไปไม่นานคนก็จะเบื่อ แล้วก็ทิ้งของชิ้นนั้นไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมก็จะแย่ลง คนในสังคมก็จะรู้สึกไม่สบายตัว ไม่สบายใจ กลายเป็นวงจรไม่ดี เช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ซ้ำร้าย สินค้าที่ไม่ได้ถูกดีไซน์มาอย่างดีก็จะถูกเลียนแบบได้ง่าย บริษัทหลายแห่งก็ได้แต่ออกสินค้าคล้ายๆ กันออกมา คนในสังคมก็ต้องทนใช้สินค้าเหมือนๆ กัน คุณภาพกลางๆ
นากาโอกะต้องการสร้างสถานที่ที่นำเสนอสินค้าที่มีความเป็น Long Life Design เหล่านี้
และ D & Department เป็นสถานที่แห่งนั้น
ร้านสรรพสินค้าที่เข้าใจสินค้าดีไซน์ดีๆ…รวบรวม…และนำเสนอให้แก่ผู้คน

วิธีหาสินค้า
ห้างสรรพสินค้าทั่วไปตระเวนหาสินค้าเก๋ๆ ทั่วโลกมาจำหน่าย
D & Department ไม่ได้เพียงคัดเลือก แต่เดินทางไปพบผู้ผลิตโดยตรง
ทีมงานจะเดินทางไปถึงโรงงาน ไปพบช่างฝีมือ ไปดูขั้นตอนการทำ ไปดูความยากลำบากในการถัก ทอ สาน ตอก หรือปั้น สินค้านั้นๆ
พวกเขาดูถึงประวัติบริษัท ช่วงเวลาที่สินค้าถือกำเนิดขึ้นมา ความตั้งใจของบริษัทนั้น ผู้ผลิตใส่ใจแค่ไหน รักและภูมิใจในสินค้าที่ตนเองทำหรือเปล่า พวกเขาตั้งใจปรับปรุงสินค้าตนเองให้ดีขึ้นไหม หรือแค่ทำไปวันๆ
สินค้าที่ D & Department เลือกต้องเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตใส่ใจในรายละเอียด ทำด้วยความประณีต และหมั่นพัฒนาปรับปรุงสินค้าบริษัทตนเสมอๆ ที่สำคัญ ผู้ผลิตต้องรักงานของตนเอง หากผู้ผลิตรัก พวกเขาก็จะใส่ใจในรายละเอียด และต้องการปรับปรุงสินค้าตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก
ยกตัวอย่างกระบอกชาจากร้าน Kaikado


“Kaikado เป็นร้านทำกระป๋องใส่ใบชาเก่าแก่จากเกียวโต ก่อตั้งปี 1875 ด้านในมีช้อนตักใบชา เหมาะกับการเก็บใบชาและเมล็ดกาแฟ ตัวกระป๋องดีบุก เคลือบอย่างดี ไม่เป็นสนิม สามารถใช้ได้ยาวนาน
“ยิ่งใช้ สีกระป๋องจะยิ่งเข้มขึ้น พื้นผิวสัมผัสก็จะเปลี่ยนไป เมื่อใช้นานเป็นสิบปีกระป๋องจะเป็นสีดำคล้ายสีถ่าน เงางาม สวย ให้ความรู้สึกเหมือนท่านกำลังดูการเติบโตของอุปกรณ์”

นี่คือสินค้า Long Life Design ในแบบของ D & Department
วิธีเลือกสินค้า
ทุกเดือน D & Department จัดการประชุมสินค้าเพื่อคัดเลือกสินค้ามาจำหน่ายในร้าน พนักงานแต่ละคนที่รับผิดชอบสินค้าหมวดของตนเอง จะไปลองใช้สินค้าประมาณ 6 เดือน พวกเขาลองใช้ ลองเป็นลูกค้า พวกเขาดูรายละเอียดแม้แต่ว่าสวิตช์พังหรือเปล่า และที่สำคัญ สังเกตความรู้สึก พวกเขาดูว่าตนเอง ‘รัก’ สินค้านั้นไหม
หากพนักงานไม่รัก ไม่อิน ในสินค้านั้น พวกเขาคงไม่สามารถนำเสนอสินค้าที่ดีได้
เกณฑ์สำคัญอีกเกณฑ์หนึ่งคือ สินค้านั้นสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่
เมื่อลูกค้าใช้สินค้าไปเป็นระยะเวลานาน สินค้าอาจเสียหรือสกปรกได้ D & Department จะพยายามเลือกสินค้าที่ผู้ผลิตสามารถซ่อมแซมให้ลูกค้าได้ และไม่สนับสนุนให้ลูกค้าซื้อสินค้าใหม่เมื่อสินค้าเดิมพัง

วิธีขายสินค้า
แทนที่จะตั้งร้านอยู่แถวชินจูกุ ชิบูย่า หรือย่านช้อปปิ้งชื่อดัง ร้าน D & Department ในโตเกียวนั้นเป็นตึก 2 ชั้นเล็กๆ

สถานีที่ใกล้ที่สุดคือ สถานี Kuhombutsu (สถานีที่คนญี่ปุ่นเองยังอ่านชื่อลำบาก) แต่ก็ต้องเดินจากสถานีไป 8 นาทีอยู่ดี
ข้างร้าน D & Department เป็นร้านจำหน่ายยางรถยนต์ อีกฝั่งเป็นบ้านคนเล็กๆ ด้านหลังเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีร้านช้อปปิ้งร้านอื่น ไม่มีร้านอาหาร ไม่มี…อะไรเลย
“ผมตั้งใจเลือกทำเลร้านที่ไม่ดีครับ หากทำเลดี คนเดินผ่านเยอะ ลูกค้าอาจซื้อสินค้าทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากซื้อนัก หรือซื้อโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อนก็ได้
“ตัวผมเองก็ชอบเดินช้อปปิ้งนะครับ และมักจะเผลอซื้อของทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะซื้อ แต่ถ้ามีสินค้าอะไรที่ผมอยากได้จริงๆ ผมก็จะตั้งอกตั้งใจเดินทางไปที่ร้านนั้น หากทำเลดี พวกเราอาจไม่ใช้ความพยายามในการขายนักก็ได้”
…เพราะยังไงลูกค้าก็เดินผ่านเยอะอยู่แล้ว
ด้วยทำเลที่ไม่เป็นใจ พนักงาน D & Department จึงต้องตั้งใจขายมาก
พวกเขาพยายามจัดร้านให้สวยงาม

สินค้าทุกชิ้นจะมีเรื่องราว เช่น

พนักงานจะเขียนคำอธิบายด้วยลายมือตนเอง ทั้งคุณสมบัติสินค้า และประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใช้สินค้านั้น แน่นอน หากลูกค้าถาม พวกเขาสามารถอธิบายสตอรี่ได้
สินค้าทุกชิ้นในร้านจะมีเรื่องราวหมด
“ในร้าน D & Department สินค้าที่ขายไม่ได้ไม่ใช่สินค้าไม่ดี แต่เพราะพวกเรายังพยายามไม่พอ” นากาโอกะกล่าว
อนาคตของ D & Department
ปัจจุบัน D & Department มีทั้งหมด 12 สาขาในญี่ปุ่น ได้แก่ ฮอกไกโด ไซตามะ โตเกียว โทยาม่า ยามานาชิ ชิสึโอกะ เกียวโต คาโกชิม่า และโอกินาวา


แต่ละสาขาจำหน่ายสินค้า Long Life Design และมีสินค้าดีๆ ของท้องถิ่นนั้นๆ
นากาโอกะตั้งใจจะขยายร้านจนครบ 47 สาขา เท่ากับจำนวนจังหวัดในญี่ปุ่น
“หากมีสินค้าที่ดีไซน์ไม่ดีออกมาในตลาด ผู้บริโภคก็ต้องทน ต้องซื้อสินค้าไม่ดี
“บริษัทผู้ผลิตก็กลายเป็นบริษัทที่เอาแต่คิดถึงขนาดตลาดกับต้นทุน คอยลอกเลียนสินค้ากัน และผลิตสินค้าเหมือนๆ กันเต็มตลาดไปหมด
“สุดท้ายลูกค้าจะรู้สึกเบื่อสิ่งของ ทิ้งของ และกลายเป็นขยะจำนวนมากที่เกิดขึ้น
“เราจึงพยายามสร้างบริษัทที่ ‘ตั้งใจ’
“ทั้งดีไซเนอร์ที่ตั้งใจออกแบบสินค้า
“ห้างร้านที่ตั้งใจขาย
และมีผู้บริโภคที่ตั้งใจซื้อ”
Makoto Lesson
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และพฤติกรรมลูกค้าที่หันไปช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ร้านค้าทั่วไปลำบากในการปรับตัว ปรับราคา หลายร้านต้องปิดตัวไป
ท่ามกลางอุตสาหกรรมที่กำลังหดตัวเช่นนี้ นากาโอกะและบริษัทของเขากำลังเติบโต
นั่นเป็นเพราะ ‘แก่นธุรกิจ’ ของเขาแตกต่างจากแก่นของธุรกิจค้าปลีก
แก่นของธุรกิจค้าปลีก คือการคัดสรรสินค้าและนำเสนอให้ลูกค้า
แต่แก่นของ D & Department คือการสร้างและรักษา Long Life Design นั่นเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครนำเสนอมาก่อน
เมื่อแตกต่าง ก็เติบโต