ใบของหูกวางต้นใหญ่ที่แผ่ปกคลุมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง บ้างร่วงหล่นปกคลุมหน้าดินที่ยังชื้นจากการฝนตกติดต่อกันหลายวัน เป็ดตัวหนึ่งเดินตัดหน้าพวกเราไป มีเสียงหัวเราะสนุกสนานจริงใจไหลออกมาจากบริเวณครัว

วันนี้ The Cloud กลับมาหาฟาร์มขนาดกะทัดรัดแต่อัดแน่นไปด้วยความอบอุ่นอีกครั้ง

ที่ฟาร์มลุงรีย์ พื้นที่เล็กๆ ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยการพัฒนาวิธีทำฟาร์มแบบใหม่ๆ ผ่านการเปิดฟาร์มให้คนเข้ามาเรียนรู้วิถี Smart Farmer เกษตรกรที่เน้นการใช้ความคิดมากกว่าลงแรง และการจัดอบรมเพื่อสร้างเครือข่ายของคนที่อยากทำฟาร์มสไตล์เดียวกัน

เรื่องสำคัญที่ลุงรีย์และฟาร์มของเขาตั้งใจจะบอกแก่เราคือ ชาวสวนก็เป็นอาชีพที่เท่ได้

ในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้จึงอัดแน่นไปด้วยพื้นที่ทดลองขนาดย่อม ทั้งมุมเลี้ยงสัตว์ มุมบ่อน้ำ ห้องเพาะเห็ด คอนโดฯ ไส้เดือน ครัวเล็กๆ ร้านขายของออร์แกนิก และพื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป

“ก่อนเข้าโครงการพอแล้วดี ผมเป็นคนที่ครีเอทีฟมาก ชอบคิด คิดแบบไม่มีกรอบ ตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย คิดทำนู่นทำนี่ ทำไปๆ มาๆ แป๊บเดียวก็ 3 ปีแล้ว คือเราโตได้ดีนะ มีเงินเยอะกว่าตอนนี้อีก แต่พอคนถามว่า ทำธุรกิจอะไร เรากลับตอบไม่ได้ เงินเข้าฟาร์มมาจากส่วนไหนบ้าง เราก็ตอบไม่ได้ ตั้งเป้าไว้ยังไง ตอบไม่ได้ ตอบอะไรไม่ได้เลย” ลุงรีย์ หรือ ชารีย์ บุญญวินิจ เล่าย้อนอดีตให้ฟัง

อาจจะฟังเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับลุงรีย์ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เขาหันกลับมาทบทวนตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือของโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ที่ทำให้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้จริงกับการทำธุรกิจ

ต่อไปนี้คือสิ่งที่ลุงรีย์ได้ประจักษ์โดยตรงกับธุรกิจฟาร์มแสนเก๋ของตัวเอง

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

01

ฟาร์มที่เริ่มจากความรู้ แล้วออกผลเป็นความรู้

ฟาร์มของลุงรีย์เริ่มต้นมาจากการรู้ว่าขยะเศษอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง และเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และทำให้รู้ว่าหากนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นโจทย์หลัก ธุรกิจจะได้เปรียบเชิงทรัพยากร เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว ลุงรีย์ก็ออกไปขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศษอาหารนี้ จนงอกเงยออกมาเป็นทั้งความรู้ในการเลี้ยงไส้เดือน เพาะเห็ดหิมาลัย และทำสวน แบบที่แน่นพอจนเปิดเวิร์กช็อปให้คนข้างนอกเข้ามาศึกษาต่อได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

“วัตถุดิบมันมีอยู่แล้ว รูปแบบก็เปลี่ยนแปลงได้ ความรู้ต่างหากคือส่วนสำคัญ และเมื่อนำความรู้เข้าไปจับกับแก่นของแบรนด์จะก่อเกิดอะไรก็ได้อีกมาก” ลุงรีย์บอก

“ฟาร์มนี้คนไม่ได้มาเพราะของหรอก แต่คนมาเพราะอยากรู้”

เมื่อมีความรู้แล้ว สิ่งธรรมดาสามัญที่หาที่ไหนก็ได้ อย่างไส้เดือนและเศษอาหารก็กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าได้ เพราะประดับด้วยความรู้

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

02

เริ่มต้นจากดิน คืนคุณค่าสู่ดิน

ก่อนจะเป็นลุงรีย์ ผู้ตั้งใจฟูมฟักฟาร์มลุงรีย์ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้การทำเกษตรสำหรับคนเมือง ในอดีต เขาคือนักเรียนออกแบบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ตลอดเวลา 5 ปี ฟาร์มลุงรีย์จึงเติบโตและแตกต่างจากฟาร์มทั่วไป โดยความเป็นไปได้ที่ไร้ที่สิ้นสุดของเขา มาจากโจทย์ง่ายๆ คำเดียว อย่าง ‘ดิน’  

ที่ฟาร์มของลุงรีย์ ไม่ว่าจะเป็นหมู เห็ด เป็ด ไก่ แพะ ไส้เดือน พืชผักผลไม้ และคน ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกับดิน ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง ขณะที่ดินเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นก็ช่วยบำรุงให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นด้วย

เมื่อนำคำว่าดินและลูกบ้ากล้าสร้างสรรค์ของเขามารวมกัน ลุงรีย์จึงได้นิยามให้ตัวเองว่ากำลังทำธุรกิจสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากดิน ภายใต้ตำแหน่ง Earth Creator หรือ ‘นักสร้างดิน’ ซึ่งมีหน้าที่เพิ่มคุณค่าให้แก่ดิน ผ่านสายตาที่มองเห็นความเป็นไปได้ และสองมือที่พร้อมจะลงมือทดลองทำ

“พอชัดตรงนี้ ก็ตอบได้สักทีว่าทำไมเราต้องมีภาพลักษณ์ใส่เอี๊ยม ใส่ยีนส์ เพราะเราเปื้อนได้ เราพร้อมจะลงไปคลุกกับดินและติดกับดิน เพื่อนำสิ่งใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมันออกมา” ลุงรีย์อธิบายที่มาของคอสตูมสีตุ่นอย่างภูมิใจ

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

03

กลุ่มเป้าหมายที่ใช่จะพาธุรกิจไปให้ไกลกว่าเดิม

เมื่อฟาร์มลุงรีย์เริ่มรู้จักตัวตนและมีทิศทางของสิ่งที่ทำชัดเจนขึ้น เขาก็เริ่มวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าตามลำดับขั้น

“ผมเคยคิดว่า ถ้ากลุ่มเป้าหมายเราไม่ชอบฟาร์มลุงรีย์ เขาก็คงจะชอบไร่รื่นรมย์ แต่พอลองดูข้อมูลหลังบ้านในเพจเฟซบุ๊ก กลับพบว่าไม่ใช่เลย คนที่สนใจล้วนเป็นคนเมืองที่ชอบดูหนังบู๊ทั่วๆ ไป เป็นคนธรรมดาๆ อย่างเรานี่แหละ มีตั้งแต่ยังเรียนอยู่ไปจนถึงเกษียณอายุแล้ว แต่ทุกคนมีจุดร่วมความสนใจที่เหมือนกันคือ อยากผันตัวมาทำฟาร์มแบบเรา อยากก่อร่างสร้างสิ่งใหม่จากผืนดินที่เขามี” ลุงรีย์เล่าข้อมูลที่ทำให้เขาประหลาดใจ ซึ่งต่างไปจากสิ่งที่เขาคิดเมื่อนานมาแล้ว

ที่ผ่านมา ฟาร์มลุงรีย์เข้าถึงง่ายและมีชื่อเสียงเพราะได้รับความสนใจจากสื่อมากมาย ทั้งรายเล็กรายใหญ่ จนหลายครั้งไม่อาจพาทุกคนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจ เพื่อให้เรื่องราวของฟาร์มส่งตรงถึงคนกลุ่มที่จะสนใจอยากเรียนรู้แนวคิดของเขา และเอาไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดดอกผลในวงกว้าง จากที่เคยรับสัมภาษณ์ทุกสื่อ เขาจึงเลือกรับเฉพาะสื่อที่เหมาะกับธุรกิจ

เมื่อกลุ่มลูกค้าชัดเจนและมีฟาร์มลุงรีย์มีทิศทางที่ชัดยิ่งขึ้น นั่นหมายถึง คนที่จะเข้ามาในฟาร์มจะน้อยลง แต่เข้ามาแล้วได้องค์ความรู้และแรงบันดาลใจกลับไปอย่างครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งช่วยให้งานของฟาร์มเบาลงด้วย “แต่ก่อนเราทำเยอะ ต่อยพันหมัดเข้าแปดหมัดก็ดีใจแล้ว แต่พอรู้ตัวเอง เราต่อยสิบหมัดก็เข้าแปดหมัด เข้าเป้าง่ายขึ้นโดยที่ทำน้อยลง แล้วแม่นขึ้น” ลุงพูด พร้อมยิ้มเท่ๆ อย่างจอมยุทธ์

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

04

แผนที่ตั้งอยู่อย่างสมเหตุสมผลเป็นเสาที่ทำให้แบรนด์แข็งแกร่ง

นอกจากรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์และจัดอบรมที่ช่วยเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้แล้ว อะไรคือเหตุผลที่เขาตั้งใจทำฟาร์มนี้ให้เติบโตต่อไป เราถาม ก่อนที่ชายหนุ่มอารมณ์ดีจะหันหลังไปหยิบกระดานสีขาวขนาดใหญ่ แล้วลงมือเขียน 4 เสาหลักของฟาร์ม พร้อมอธิบายแผนงานของเขาให้ฟัง

เริ่มจากจักรวาลไส้เดือน การใช้นวัตกรรม การผลิตองค์ความรู้ใหม่ และความใส่ใจสิ่งแวดล้อม

จักรวาลไส้เดือนนั้นแท้จริงแล้วคือวิธีการสร้างเครือข่ายคนที่จะร่วมพัฒนาสร้างสรรค์ดินไปกับเขา ส่วนการใช้นวัตกรรม หมายถึงวิธีการทำงานในฟาร์มที่จะต้องนำนวัตกรรมมาช่วยให้การทำเกษตรกรรมง่ายขึ้น ตามมาด้วยการผลิตองค์ความรู้ ซึ่งก็คือผลลัพธ์ที่เขาหวังให้ฟาร์มแห่งนี้สร้างสรรค์ออกมา และเสาสุดท้าย ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเป็นภาพลักษณ์แบรนด์ฟาร์มลุงรีย์ที่จะซึมอยู่ในทุกขั้นตอนกระบวนการ

นี่คือแผนการเพิ่มคุณค่าให้แบรนด์ฟาร์มลุงรีย์ ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ แต่ธุรกิจนี้จะมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งเกิดเครือข่าย สร้างวิธีคิดวิธีทำใหม่ๆ และดีต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อลุงรีย์คิดอยากทำสิ่งใหม่อะไร เขาจะกลับมาดูโร้ดแมพนี้ เพื่อคอยตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำยังมีค่าอยู่หรือไม่

แผนที่วางอย่างเป็นระบบ และสะท้อนสู่แก่นหลักของธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ตอบได้ว่า นี่แหละ คือเหตุผลที่ควรมีฟาร์มลุงรีย์ต่อไป

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

05

โลกหมุนไปก็ต้องหมุนตามด้วยฟาร์มคิดสร้างสรรค์

ในพื้นที่เล็กๆ ของฟาร์มลุงรีย์อัดแน่นไปด้วยการทดลองพัฒนาเล็กๆ มากมาย ทั้งมุมเลี้ยงสัตว์ มุมบ่อน้ำ ห้องเพาะเห็ด คอนโดฯ ไส้เดือน ครัวเล็กๆ ร้านขายของออร์แกนิก และพื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป แม้จะดูรกไปบ้าง แต่ก็เป็นระเบียบตามสัดส่วนของมัน

แม้การทำงานหนักและประสบการณ์ท่วมท้นของลุงรีย์จะช่วยให้ฟาร์มมีชื่อเสียงมาก แต่ลุงกลับไม่ขยายฟาร์มตามกระแส เขายังคงยืนยันว่าฟาร์มลุงรีย์จะมีแค่สาขาเดียว และมีขนาดเพียงแค่นี้ เพราะจุดนี้คือความพอดีของฟาร์มที่ไม่เบียดเบียนตัวเขาเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนโลกด้วย

เมื่อไม่ขยายที่ขนาดฟาร์มในแนวขวาง จึงต้องขยายในแนวตั้งแทน ลุงรีย์บอกกับเราว่า ในโลกใบนี้ที่หมุนเปลี่ยนไปอยู่เสมอ หากไม่เรียนรู้ทำความเข้าใจและไม่สร้างสิ่งใหม่ที่เหมาะสมตาม จุดที่เคยพออาจจะกลายเป็นไม่พอไปได้

นี่คือเหตุผลที่ฟาร์มลุงรีย์ต้องมีนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ทำงานน้อยลงแต่ทำอย่างชาญฉลาดขึ้น เช่น การประดิษฐ์เครื่องกรองไส้เดือนออกจากดินเองแบบบ้านๆ เพื่อลดต้นทุนในการซื้อเครื่อง หรือการทำห้องเห็ดอัตโนมัติ ที่สภาพแวดล้อมในห้องควบคุมด้วยเทคโนโลยี เพียงกดไอแพดก็ตั้งปัจจัยให้ตรงตามที่เห็ดต้องการได้

สิ่งที่ขยายไม่ใช่พื้นที่ฟาร์ม แต่คือหัวใจ ที่ขยายออกไปเพื่อทำงานให้เกิดสิ่งใหม่ ผู้อื่น และให้สิ่งแวดล้อม “ใจเราต้องใหญ่ก่อน ถ้าใจเราไม่ใหญ่ แค่ทำเพื่อเงินก็จบ แต่ถ้าใจเราใหญ่ เราก็จะอยากทำมากกว่านั้น” ลุงบอกยิ้มๆ

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

06

ฟาร์มที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากคนที่เชื่อเหมือนกัน

ระหว่างการสนทนา เราได้กลิ่นผัดพริกแกงและกลิ่นทอดเห็ดหอมฟุ้งออกมาจากครัว ถามถึงที่มาจึงรู้ว่าเป็นฝีมือของ พี่นัท-กิตติพงศ์ กีรติเตชะนันท์ Mushroom Man ผู้ร่วมทำงานเพาะเห็ดคุณภาพกับลุงรีย์ และ พี่อัฐ-อรรถพล ไชยจักร เจ้าของ Farm Behind the Barn ฟาร์มน้อยในจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ควบตำแหน่งที่ปรึกษาฟาร์มแห่งนี้่ด้วย

ทั้งคู่เป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมชีวิตของลุงรีย์มาตลอดช่วง 5 ปีของฟาร์ม

เสียงหัวเราะและการหยอกล้อกันของพวกเขาทำให้เรารู้ว่าคนเหล่านี้แหละที่ทำให้ฟาร์มมีชีวิต

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

ลุงรีย์เล่าว่า เขาเจอทั้งคู่รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีเป้าหมายคล้ายกัน จากการจัดอบรมกว่า 60 ครั้งของที่ฟาร์ม ซึ่งจัดโดยคาดหวังว่าในรุ่นหนึ่ง น่าจะเจออย่างน้อยสักคนที่มีเป้าหมายคล้ายกัน เพื่อรวบรวมคนเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดสมาพันธ์คนที่สนใจงานเกษตรแบบตั้งใจคิดตั้งใจทำ มาแลกเปลี่ยนความรู้ และช่วยกันพัฒนา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ฟาร์มลุงรีย์นี่เอง

อีกด้านหนึ่ง ลุงรีย์ยังร่วมงานกับธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ อยู่เสมอ แทบทุกแบรนด์ที่ The Cloud ไปพูดคุยด้วย ต่างต้องพูดถึงลุงรีย์ด้วยความรัก เช่น The Yard Hostel ที่ได้เมลอนจากสวนเครือข่ายลุงมาฝากแขกที่พัก miNATURE_c ที่คุยปรึกษากับลุงเรื่องการทำดินเพื่อปลูกต้นไม้ หรือ Hom Hostel and Cooking Club ที่ชวนลุงมาสอนเรื่องการใช้ไส้เดือนย่อยขยะจากเศษอาหาร และอีกมากมาย

07

โตไปด้วยกันกับชุมชนรอบข้าง

คนอีกกลุ่มที่ต้องใส่ใจอย่างขาดไม่ได้ คือชุมชนที่อยู่รอบฟาร์มนั่นเอง

ลุงรีย์บอกว่า สำหรับธุรกิจนี้ เขาเลือกใช้วิธีคิดแบบ CSV (Creating Shared Value) นั่นคือการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงชุมชนรอบตัวไปพร้อมกันนั้นเลย สิ่งที่ธุรกิจได้ ชุมชนก็จะได้ด้วย ซึ่งต่างจาก CSR (Corporate Social Responsibility) ตรงที่ธุรกิจไม่ได้หยิบยื่นสิ่งใดมอบให้ชุมชนโดยรอบ แต่เป็นการสร้างสิ่งนั้นไปด้วยกันมากกว่า

ยกตัวอย่างเช่นกระเป๋าจากกระสอบดินที่ลุงรีย์ให้บ้านข้างๆ ช่วยกันเย็บ หรือที่จอดรถสำหรับผู้มาเยี่ยมชม ลุงก็ให้เจ้าของที่บริเวณเยื้องกันเป็นคนคอยรับ รวมถึงระหว่างทางจากรถไฟฟ้ามา ในซอยมีผลหมากรากไม้วางขายเต็มไปหมด ชุมชนเติบโตมีรายได้ขึ้นมาได้เพราะฟาร์มแห่งนี้ ยิ่งฟาร์มลุงรีย์โต ชุมชนรอบๆ ก็จะยิ่งโตไปด้วย และคอยสนับสนุนปกป้องฟาร์มไว้ นี่เองคือภูมิคุ้มกันที่ใหญ่ที่สุด หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

“ตอนนี้ไม่ใช่แค่ควรแล้วนะ แต่เรา ‘ต้อง’ คำนึงถึงชุมชนรอบๆ เพราะถ้าไม่ทำ แล้ววันหนึ่งชุมชนปฏิเสธเราขึ้นมา เราก็จะไม่รอด” ลุงรีย์พูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง

08

ในฟาร์มลุงรีย์มีความพอเพียง

“พอหาตัวเองเจอ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ตอนนี้ตารางงานก็เต็มวันเหมือนเดิม แต่เป็นเต็มวันแบบตามแผน มีทิศทาง แล้วมีความสุขมาก” ลุงรีย์สรุปผลของการเปลี่ยนแปลง เมื่อลองมองไปรอบๆ แล้วเห็นรอยยิ้มของลุงและพี่ๆ ได้กลิ่นหอมของอาหารซึ่งทำจากวัตถุดิบที่ปลูกเอง และได้ยินเสียงเพลงสบายๆ ลอยมาจากในครัว ทุกอย่างดูเรียบง่าย ธรรมดา และติดดิน สมตามความฝันของลุงรีย์ ทำให้เราเข้าใจความสุขแบบพอดีๆ ของลุงอย่างชัดเจน

“เกษตรกรรมไม่ใช่ความสโลว์ไลฟ์เสมอไป ความสุขในการเป็นเกษตรกรจะเกิดขึ้นได้ มันมาจากความลงตัวต่างหาก” เกษตรกรหัวใจใหญ่เอ่ยทิ้งท้าย

ฟาร์มลุงรีย์, พอแล้วดี The Creator

Uncleree Farm

ประเภท : ธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร
ที่ตั้ง : 19/29 เพชรเกษม 46 แยก 11 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160
เจ้าของกิจการ : ชารีย์ บุญญวินิจ
Facebook : Uncleree farm

 

พอแล้วดี The Creator

Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ