ท่ามกลางการจราจรติดขัดจากรถคันเล็ก คันใหญ่สองฟากฝั่งถนน ชายหญิงหลากเชื้อชาติเดินขวักไขว่ใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท-นานา หากไม่กระซิบบอกคงไม่ทราบว่ามีโฮสเทลขนาดกำลังพอดีซ่อนอยู่บนชั้นสูงสุดของศูนย์การค้านานาสแควร์
ตามเวลานัดหมาย ฉันเดินลัดเลาะไปยังบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า กดลิฟต์ตรงดิ่งขึ้นไปชั้น 4 เพื่อสนทนากับ ตูน-ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี เจ้าของ ‘หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ’ เธอนั่งยิ้มหวานอยู่กลางสเตชันครัวขนาดใหญ่มาก พร้อมอุปกรณ์ทำครัวครบมือ หากมองออกไปจะเห็นดาดฟ้าของอาคาร สามารถเดินไปรับลมชมสีเขียวจากแปลงพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ
จากอดีตวิศวกรแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ตะลุยน่านน้ำมาหลายประเทศทั่วโลก เธอค้นพบความสุขของตนเองจากการเข้าครัวทำอาหารขณะทำงานกลางท้องทะเล จนเวลาล่วงเลยร่วม 10 ปี เธอตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาเปิดกิจการขนาดย่อม โดยมีสารตั้งต้นเป็นความชอบ-ชอบพบเจอคนและชอบทำอาหาร
เธอเนรมิตความชอบให้จับต้องได้ด้วยการเปิด หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ โฮสเทลที่เชื่อมโยงผู้คนรอบโลกผ่านเรื่องราวของการทำอาหาร จนสำนักข่าว The Telegraph ยกให้เป็น 1 ใน 10 ที่พักที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ และได้รับผลโหวตยอดเยี่ยมด้วยคะแนนสูงถึง 9.6 คะแนน จาก HotelsCombined เว็บไซต์ที่รวบรวมราคาโรงแรมชั้นนำของโลก ทว่าเธอยังน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างหอมหวนและชวนสงสัยว่าเธอหยิบจับเครื่องปรุงอะไรใส่ลงไปในธุรกิจนี้บ้าง
รสชาติของอาหารจานนี้จะเป็นอย่างไร ไปชิมรสมือของเธอพร้อมๆ กัน
01
อาหารเชื่อมโยงผู้คน และทำให้รู้จักตน
วินาทีไหนทำให้เชื่อว่าการทำอาหารสามารถคอนเนกต์กับคนได้ ฉันถาม
“มันเกิดตอนอยู่บนแท่น เราอยากกินช็อกโกแลตมากเลย ก็เดินไปถามพ่อครัวว่ามีช็อกโกแลตไหม เขาบอกว่ามี งั้นเราขอทำบราวนี่ได้ไหม” เธอเข้าครัวไปสอนพ่อครัวประจำแท่นทำบราวนี่และคุกกี้นิ่ม
“หลังจากทำครัวเขาพูดกับเราประโยคหนึ่งว่า ไม่เคยมีใครเข้ามาหาเขาในครัวเลย เพราะเหมือนโดนดูถูกว่าเป็นคนชั้นล่าง พอเราเข้าไปเขามีความสุขมาก ซึ่งอยู่ดีๆ เราก็ไปคอนเนกต์กับเขาได้”
คำถามเพียงหนึ่งคำถาม ทำให้เธอพรั่งพรูคำตอบออกมามากมาย ด้วยการย้อนกลับไปคิดว่าเธอเชื่อมโยงผู้คนด้วยอาหารอย่างไม่รู้ตัวมาตั้งนานแล้ว
“ตอนเราเรียนปริญญาโทแล้วจะต้องสอบธีสิส เขาแจ้งว่าให้เตรียมอาหารมาให้กรรมการด้วย นั่นทำให้เราไม่สนใจธีสิสเลย นั่งทำข้าวเหนียวหมูปิ้งและชาเย็นกับเพื่อน หลังจากนำเสนอจบ อาจารย์ไม่ถามคำถามเลยสักข้อ แต่ถามเราว่า ‘ทำข้าวเหนียวหมูปิ้งอย่างไร’ แล้วทิ้งท้ายว่า ‘ฉันคิดว่าเธอคงไม่ได้เป็นนักปิโตรเลียมที่ดีนะ แต่เธอคงเปิดร้านอาหารเข้าสักวันหนึ่ง’”
หอมเชื่อมอาหารกับผู้คนเข้าด้วยกันผ่านคุกกิ้งเดโม หรือการสาธิตการทำอาหารทุกวันในเวลา 6 โมงเย็นโดยเชฟมากประสบการณ์ หลังจบการสาธิต แขกที่เข้าร่วมกิจกรรมจะลองชิม ลงมือทำ หรือร่วมแบ่งปันสูตรประจำครัวของประเทศตนเองก็ย่อมได้ จนตูนนึกสนุกชวนทุกคนบันทึกสูตรลับร่วมกัน ทำเป็นหนังสือรวมสูตรอาหารและขนมจากแขกทั่วโลก ก่อนจะนำเรื่องราวน่าสนใจจากแขกที่มาพักบันทึกลงใน People of Hom บนเว็บไซต์ของหอมด้วย
“มีแขกเป็นคนอินเดียมาเรียนมวยที่ไทยแล้วคิดถึงบ้านมาก เขาทำอาหารไม่เป็น จึงไปซื้ออาหารและวัตถุดิบในร้านที่เป็นแหล่งอินเดีย แล้วลองผิดลองถูกพร้อมกับนั่งไลฟ์กับแม่เพื่อให้แม่สอน มันก็น่ารักดี จริงๆ มีตัวอย่างหลายแนวมาก และทุกอย่างเป็นเรื่องของอาหาร บางทีเราทำเมนูแกงไตปลา ทำส้มตำแบบไล่ระดับเลเวล ส้มตำไทย ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำซั่ว เราอยากให้แขกรู้จักอาหารไทยมากขึ้นและกลับไปทำที่ประเทศเขาได้” เรายิ้ม เพราะจินตนาการภาพบรรยากาศตามสิ่งที่ตูนเล่า
หลังจากเธอค้นพบความสุขและรู้จักตนเองจากความชอบ-ชอบพบปะผู้คน ชอบการทำอาหาร
ตูนศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการลงเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนต่อยอดเป็นธุรกิจโฮสเทลอย่างจริงจัง เพราะพบว่าโฮสเทลตอบโจทย์ความชอบของเธอได้ลงตัวพอดี
02
เพราะความไม่รู้ ก่อเกิดความรู้
เพราะรู้จักตนเองเป็นอย่างดีจึงลงเอยเป็น หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ แต่ก็ยังมีบางคนเข้าใจหอมผิด เดินเข้ามายังโฮสเทลเพื่อถามเธอว่า มีอาหารขายหรือเปล่า ซึ่งทำให้เธอรู้ว่าแบรนด์ของเธอยังไม่ชัดเจนพอ จนเริ่มเข้าโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล แนะนำให้เธอเปลี่ยนจาก ‘อาหาร’ เป็น ‘การทำอาหาร’ จาก Connecting People Through Taste เป็น Connecting Lives by Cooking ฉันคิดว่าพี่หนุ่ย เธอ และฉัน คงมองเห็นความมีชีวิตชีวาในคำนิยามขนาดสั้นของหอม
“เมื่อก่อนเราไปเน้นว่าเราเป็นโฮลเทลเดียวที่มีครัวขนาดใหญ่ แต่ความจริงมันคือการทำอาหารมากกว่า ไม่เราทำให้เขา เขาก็ทำให้เรา จนเราต้องมีสมุดเก็บสูตรอาหารของเพื่อนแต่ละชาติ”
“เมนูอาหารขึ้นชื่อของแขกที่มาพักคงเป็นไข่เจียวสเปน ทำกันได้แทบทุกคน หรือมีแขกที่มาพักทำฟอกัชช่ามะเขือเทศ (Focaccia with Tomatoes) เขาใช้มะเขือเทศ มะกรูด และใบมินต์ จากแปลงผักสวนครัวของหอม และใช้น้ำมันมะกอก เกลือปรุงรส ของแขกต่างชาติที่มาพัก
“อาหารทำให้ต่างคนต่างคอนเนกต์กัน เชื่อไหมว่าตั้งแต่เปิดมามีแขกที่มาพักสมหวังไปหลายคู่ นี่คือการพิสูจน์ว่าอาหารได้เชื่อมคนสองคนเข้าด้วยกัน การที่เรานั่งกินอาหารแล้วคุยกันในเรื่องลึกๆ ถือเป็นอีกความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่าการเดินเข้าร้านกาแฟ แล้วไปนั่งทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า” เธอขยายความนิยามใหม่ของ ‘หอม’
03
มีเหตุมีผล ลดความเสี่ยง เปลี่ยนการให้
จากนักวิศวกรประจำแท่นขุดเจาะผู้ผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการ
เมื่อรู้ว่าตนเองไม่ได้เก่งกาจด้านธุรกิจ เธอศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจโฮสเทลในยุคนี้ ทั้งพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากลาออกจากงานประจำเงินเดือนดี และด้วยเหตุผลเรื่องครอบครัวและลูกจึงไม่คิดลงทุนเกินตัว โดยเลือกทำจากโฮสเทลขนาดเล็กก่อน ถ้าผลตอบรับดีค่อยขยับขยายต่อไป โดยเงินลงทุนทั้งหมดมาจากการเก็บเล็กผสมน้อยจากงานประจำ
“เรารู้สึกดีใจที่เลือกทำขนาดเล็ก จึงไม่เหนื่อยมาก และทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวและตัวเองมากขึ้น” ฉันเห็นด้วยกับตูนทุกอย่าง
“ตอนเข้าโครงการพอแล้วดี พี่หนุ่ยถามว่า ธุรกิจเราเหมือนจะดีหมด แต่ทำไมถึงยังอยากมาที่นี่ เราตอบว่า เพราะที่ผ่านมาเรา ‘ให้’ คนไม่เป็น ให้แล้วเจ็บกลับมาตลอด เราอยากเรียนรู้และอยู่ในสังคมที่เขารู้จักการให้”
คำแนะนำจากเหล่าเทรนเนอร์เรื่อง ‘การให้’ ทำให้ตูนเริ่ม ‘ให้เป็น’ ควบคู่ไปกับการสร้างฐานความรัก ลูกน้องรักหอม คนในตึกรักหอม และลูกค้ารักหอม
“หอมมีโมเดลอาสา ใน 1 เดือนจะมีอาสาสมัคร 2 – 3 คน ช่วยทำความสะอาด 2 ชั่วโมงต่อวันเพื่อแลกกับที่พักฟรี เคยมีเหตุการณ์ไฟไหม้ตอนตี 3 ซึ่งอาสาเข้าไปช่วยดับไฟ ช่วยทุกอย่างเลย บางคนติดใจอยู่กับเราเป็นปี จนตอนนี้เราหางานในเมืองไทยให้เลย เพราะว่าเขาเองผูกพันกับเรา และเราก็ผูกพันกับเขา
“ส่วนการให้แล้วเราไม่เจ็บเอง เราต้องดูว่าคนที่เราให้เขาเป็นคนที่สมควรจะได้รับหรือเปล่า ต้องให้อย่างมีเหตุและผล เมื่อก่อนกำไรเรายังไม่มีเลย แต่เราให้เขาแบบเกินตัว” ตูนเล่า
04
(ค)รอบ + ครัว คือ ภูมิคุ้มกัน
“ทำอะไรเราต้องนึกถึงคนอื่นเสมอ” ตูนบอกกับฉัน
เธอไม่มองว่าพนักงานเป็นเพียงแค่พนักงาน แต่มองว่าพวกเขาเป็นเสมือนคนในครอบครัว
“เรามีหุ้นส่วนถือหุ้นอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ และเราถือหุ้น 80 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็อยากให้น้องพนักงานมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการมากว่าเป็นพนักงาน ปีที่ผ่านมาเราเลยยื่นข้อเสนอให้พนักงานเลือกระหว่างโบนัสประจำปีกับหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนไหนเลือกหุ้นเราก็แบ่งให้ตามกำไร” พอแล้ว…เธอจึงแบ่งปัน
นอกจากพนักงานและผู้ด้อยโอกาส เธอยังคิดถึงธุรกิจเพื่อนบ้านเรือนเคียงจากโครงการพอแล้วดี
“เรานำผลิตภัณฑ์ครีมทามือออร์แกนิกจาก Hug มาตั้งบริเวณส่วนกลางเพื่อให้แขกทดลองใช้ และถ้าติดใจเราก็มีจำหน่าย นอกจากนี้เราร่วมทำแผนที่ชุมชนกับ พี่โทน (กิตติพจน์ อรรถวิชเชียร) จาก CreativeTone คุยกับฟาร์มลุงรีย์ชวนให้มาสอนวิธีการนำไส้เดือนมาย่อยขยะจากเศษอาหาร คุยกับ น้องเฟรม (รัตมา เกล้านพรัตน์) และ น้องบอส (ชัยพร เวชไพรัตน์) จากแบรนด์ miNATURE_c ว่าดินปลูกผักสวนครัวลอยฟ้าของหอมน่าจะนำมาเวิร์กช็อปได้
“ช่วงสาธิตการทำอาหาร เราลองนำมังคุดจากสวนบ้านแม่มาให้แขกชิม เพื่อบอกว่ามังคุดที่ดีเป็นแบบนี้นะ หรือแม้แต่กิน-ได้-ดี ที่ทำอาหารเกี่ยวกับคนแพ้ เราก็ชวนเขามาทำขนมกับแขกญี่ปุ่นที่กำลังสนใจเรื่องขนมปังไร้กลูเตน อย่างเก้าอี้ตรงดาดฟ้าเป็นของ ปิ่น (ศรุตา เกียรติภาคภูมิ) จาก PiN Metal Art ที่ทำไว้สำหรับงานแต่งงาน แต่ลูกค้าไม่ได้ใช้ต่อก็เลยยกให้เรา เราว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นการส่งต่อแบรนด์ซึ่งกันและกัน จากน้องสู่พี่ จากพี่สู่น้อง และจากเพื่อนสู่เพื่อน” ตูนเล่าพลางชี้ชวนให้ดูความร่วมมือร่วมใจของธุรกิจจากครอบครัว ‘พอแล้วดี The Creator’
05
หอม ทำโฮสเทสน้อยแต่พอตัว
สำหรับตูนและหอม ความพอของเธอเปรียบเสมือนนกตัวน้อยที่เลือกจะทำรังแต่พอตัว
เธอเลือกจะไม่ขายแฟรนไชส์ เพราะหากต้องเปิดสาขาในต่างประเทศ แน่นอนว่า เธอไม่มีเวลาดูแลกิจการได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญ ตูนไม่อยากให้หอมเป็นเพียงธุรกิจ แต่ขาดความเป็นตัวตนของหอม ขาดความชอบและความรักในการทำอาหาร ซึ่งถ้าหัวใจของหอมต้องหล่นหายไป เธอเลือกที่จะไม่ทำดีกว่า
แต่หากใครรักจริงหวังหอมไปครอบครอง เธอไม่หวงแนวคิดธุรกิจของตนเองเลย ขอเพียงเข้าใจและมีใจรักในสิ่งเดียวกันกับหอมและนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ เธอจะยินดีเป็นอย่างมาก
06
จากชอบ เป็นพอ จากพอ เป็นดี
ความพอของเธอมีต้นทางมาจากความชอบ แล้วทำความชอบให้กลายเป็นความจริงด้วยการทำอย่างไม่เกินตัว
ตูนทำโฮลเทลขนาดกำลังดี พอให้ตัวเองมีความสุข คนรอบข้างมีความสุข
ตูนทำโดยคิดถึงคนอื่น ไม่ได้ต้องการกำไร หรือสิ่งอื่นใดมากมาย เกินไปกว่าต้องการให้ทุกคนที่อยู่กับหอมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของการคิดทำธุรกิจ เริ่มจากการรู้จักตนเอง เมื่อเรารู้ว่าเราชอบอะไร ต่อให้เจอปัญหาเราก็พร้อมจะสู้เพื่อมัน ในส่วนที่ต้องตัดสินใจ เราก็เพียงทบทวนว่าสิ่งที่คิดจะทำนั้นเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ สถานการณ์ทางการเงินและชีวิตเราเหมาะสมกับเงินลงทุนนับสิบ นับร้อยล้าน หรือเปล่า
“ขณะที่เงื่อนไขความรู้ เราจำเป็นต้องศึกษาตลาดหรือทำวิจัยอย่างจริงจังเสมอ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปิดโฮสเทลแล้วหวังให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น สำหรับเรา สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือความรู้ทางการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำ และเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสังคม ต่อให้ถึงวันที่หมดลมหายใจเราก็รู้สึกภูมิใจ โดยไม่ต้องบอกว่าชีวิตนี้เราทำอะไรมาแล้วบ้าง และเมื่อทั้งหมดนี้ประกอบรวมกับความสัมพันธ์อันดีที่คนรอบข้างมอบให้เรา มันกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี จนทำให้เราค้นพบจุดที่พอ…แล้วดี” ตูนทิ้งท้าย