ท่ามกลางตรอกซอยพหลโยธินที่ครึ้มทึมด้วยเมฆฝน เราก้าวผ่านประตูเข้าไปพบสีเขียวชอุ่ม บรรยากาศชวนให้พูดว่า “ถึงบ้านแล้ว”
ที่นี่คือ The Yard Hostel โฮสเทลสไตล์บ้านๆ ขนาดเล็ก ที่บริหารโดยสองวิศวกรเก่า ส้ม (เล็ก)- อติพร สังข์เจริญ เป็นคนคิดวางแผน ส่วนส้ม (ใหญ่) -อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์ เป็นคนจัดการเนรมิตสิ่งต่างๆ ตามแผน พร้อมความช่วยเหลือของทีมงานที่ยิ้มแย้มแจ่มใสท้าอากาศขมุกขมัว ต้อนรับคนแปลกหน้าอย่างฉันราวกับเป็นญาติมิตรที่ไม่ได้เจอมานาน
The Yard เป็นความฝันของสองสาวตั้งแต่ตอนทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในบริษัทใหญ่ ซึ่งต้องเข้าออฟฟิศทุกวันและใช้ชีวิตไปตามปกติ จนวันหนึ่งมีเพื่อนชาวต่างชาติมาเที่ยวและขอพักอาศัยที่บ้าน ทำให้ความคิดที่จะทำที่พักสำหรับนักเดินทาง ก่อนจะกลายเป็นโฮสเทลขนาดอบอุ่นในเวลา 6 เดือนต่อมา
จากที่เริ่มต้นทำอย่างมือสมัครเล่น ลองผิดลองถูกเรื่อยมา นับจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว
The Yard Hostel ประกอบด้วยห้อง 10 ห้อง แต่รองรับแขกได้เต็มที่ถึง 50 คน แต่ละห้องมีชื่อเรียกตามญาติมิตร เช่น ห้องพี่สาว น้องชาย คุณตา คุณยาย และกำลังจะมีห้องลูกหลานเหลนตามมาในเร็วๆ นี้ ทั้งสองส้มตั้งใจออกแบบให้ห้องทุกห้องและทุกมุมของโฮสเทล มอบความรู้สึกสบายๆ ทั้งแขกที่มานอนสบายกาย ธรรมชาติสบายใจ แถมเจ้าของกิจการก็สบายกระเป๋า
เมื่อปีที่ผ่านมา ทีม The Yard ตัดสินใจส่งส้มเล็กเข้าร่วมโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ด้วยเป้าหมายเริ่มแรกเพียงแค่อยากไปรับพลังบวกจากธุรกิจที่มีเป้าหมายคล้ายกัน แต่กลับได้หลักคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจมามากมาย ช่วยให้เธอเจอกับความพอที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีได้ง่ายขึ้น เราจึงขอแบ่งปันความรู้บางส่วนที่เธอนำมาใช้กับโฮสเทลแห่งนี้
เข้ามาก่อน ดื่มน้ำอะไรไหม นั่งสบายแล้วเนอะ เอาล่ะ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง
01
รู้จักเสน่ห์ของตัวเอง : บ้านนี้อยู่แล้ว…
ส้มเริ่มต้นนิยามธุรกิจโฮสเทลโดยทั่วไปให้เราฟัง ผ่านคีย์เวิร์ดคำว่า ‘ร่วมกัน’ นั่นคือ แขกผู้มาพักอาศัยจะได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น รวมถึงมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทริปหรือเทศกาลดูหนัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการเป็นโฮสเทลที่ดี เตียงต้องนุ่ม แอร์ต้องเย็น เพื่อให้ผ่านมาตรฐานก่อนเป็นอันดับแรก
ทีนี้ ในกรุงเทพฯ มีธุรกิจที่เรียกตัวเองว่าเป็นโฮสเทลอยู่มากถึง 1,400 แห่ง แล้วเราจะแยกแต่ละแห่งออกจากกันอย่างไร?
ส้มชี้ให้เราดูคำว่า Hostel ที่ซ่อนคำว่า Host หรือ ‘เจ้าบ้าน’ เอาไว้
“ทุกๆ ที่มันไม่มีทางเหมือนกัน เพราะทุกที่ต่างมีเอกลักษณ์ของโฮสต์ เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ใช่คู่แข่งกัน” เธอบอกกับเรา ก่อนย้อนกลับถึงโจทย์สำคัญที่ต้องตีให้แตกเมื่อคิดทำธุรกิจโรงแรม
จะทำบ้านให้น่าอยู่ได้ เจ้าบ้านต้องเริ่มจากการรู้จักเสน่ห์ของตัวเองให้ดีเสียก่อน แล้วเสน่ห์ของ The Yard คืออะไร? คำตอบง่ายๆ ตามชื่อ ที่นี่เป็นเหมือนบ้านญาติที่พร้อมจะต้อนรับทุกคนด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ไม่ว่าใครมาอยู่ก็สบายใจ อยากได้อะไรแบบไหนก็คุยกันได้ ไม่ต้องคิดมาก หากใครป่วยมาก็คอยดูแล พร้อมช่วยเหลืออย่างคนในครอบครัว นั่นอาจเป็นสาเหตุให้ส้มเรียกที่แห่งนี้ว่า ‘บ้านเรา’ อยู่ตลอด เพราะเธอเองก็เชื่อว่าที่แห่งนี้เป็นเสมือนบ้านของเธอ
นอกจากนี้ The Yard ยังมีอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือ สนามหญ้าที่กว้างใหญ่ เขียวชอุ่ม และล้อมรอบด้วยต้นไม้ที่ส้มทั้งสองตั้งใจปลูก และแน่นอนว่าต้องมีต้นส้มด้วยนะ ซึ่งความ ‘เขียว’ นี้แทรกซึมไปอยู่ในทุกๆ ส่วนโฮสเทลด้วย โดยเฉพาะการคิดถึงธรรมชาติ
“ในหลักการคิดทั้งห่วง 3 ห่วงของปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง อธิบายในเชิงธุรกิจง่ายๆ ก็คือ การตอบคำถามตัวเองว่า เรารักที่จะทำอะไร ทำอย่างไรให้สิ่งนั้นอยู่ได้และยั่งยืน สำหรับ The Yard ห่วงแรก หรือ การรู้จักตนประมาณตน นั้นใหญ่ที่สุด”
02
ลำดับญาติให้ถูก : วางแผนด้วยความรู้และเหตุผล
จากการรู้จักตัวเองอย่างชัดเจนทำให้การตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นไปได้โดยง่าย
“ตอนทำงานบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เราเคยไปประชุมเรื่องจะทำคอนโดฯ ซึ่งนำเสนอรูปกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการจำลองภาพคนของที่เรากำลังสร้างบ้านให้ว่าจะเป็นคนลักษณะไหน แต่งตัวอย่างไร พอเริ่มทำ The Yard เราก็ใช้วิธีนี้ตั้งตุ๊กตากลุ่มเป้าหมายของเราขึ้นมาบ้าง ซึ่งทั้งหมดกลั่นกรองและร้อยเรียงจากตัวเราเองนั่นแหละ” ส้มเล่าวิธีการเลือกกลุ่มเป้าหมาย
“เมื่อรู้กลุ่มเป้าหมาย เราก็จะรู้ว่าผังของโรงแรมควรเป็นแบบไหน ตู้คอนเทนเนอร์สีอะไร” เมื่อคิดเชื่อมโยงเหตุและผลเข้าด้วยกัน สิ่งที่ต้องทำต่อมา ทั้งการออกแบบ วิธีให้บริการ การทำการตลาด และทุกอย่างจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้น
อาจฟังดูเป็นธรรมชาติ แต่นี่แหละคือวิธีการวางแผนอย่างมีเหตุมีผลตามหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง ส้มมักพูดซ้ำๆ ว่า หลักคิดนี้คือการใช้สติ คิดไตร่ตรองให้มากขึ้น
“ตอนแรกเราคิดว่า เราคงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ นะ เพราะตอนสัมภาษณ์เราบอกกรรมการว่า เราเริ่มธุรกิจนี้จากการกู้ยืมเงินเกือบทั้งหมด ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการไม่สร้างหนี้สิน แต่หากเรารู้ว่าเงินกู้ยืมนั้นเกิดขึ้นอย่างมีเหตุมีผลและมีความสามารถใช้คืน การเป็นหนี้กู้ยืมก็เป็นสิ่งที่ทำได้” ส้มเล่าตามที่ได้ยินจาก พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการนี้มาอีกที แล้วบอกอีกว่า พี่หนุ่ยไม่ได้ตื่นเต้น หรือบอกว่าสิ่งที่เธอเลือกทำนั้นผิด แต่เป็นเธอเองที่กลับมาพิจารณาด้านการเงินของธุรกิจให้หนักกว่าเดิม
03
อยู่บ้านญาติอย่านิ่งเดียวดาย : พอดีได้ด้วยการพัฒนาต่อ
ความพอดี หมายถึงสภาวะที่ไม่มากไป และไม่น้อยไป โดยปกติแล้วเราอาจชินกับคำสอนที่ว่า ต้องอดออม ไม่ใช้เยอะ ไม่ทำเยอะ ทั้งที่ความจริงแล้วเราอาจลืมไปว่า การทำน้อยเกินไปก็อาจไม่พอดีเหมือนกัน
ส้มยกตัวอย่างการเรียนรู้ด้านความพอดีของธุรกิจนี้ให้ฟังผ่านเรื่อง ‘ขนาด’
พวกเธอเริ่มต้นธุรกิจจากความฝันเล็กๆ ที่คิดไว้ว่า หากทำไม่ได้ก็จะล้มเลิกและไปทำอย่างอื่นแทน แม้ส้มใหญ่จะชวนให้เริ่มจากขนาดใหญ่กว่านี้ แต่ส้มเล็กกลับคิดว่า ความพอประมาณของตัวเองอยู่ที่การรองรับแขกประมาณ 40 คน “ตอนแรกเรามีกันแค่ส้ม 2 คน แล้วก็พี่อีกคน เราทำความสะอาดกันเอง ทำห้องเอง เป็นรีเซปชันนิสต์กันเองอยู่ประมาณเกือบปี”
การตัดสินใจเช่นนั้นอาจถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะพวกเธอยังไม่มีความรู้หรือความพร้อม หากจะทำโรงแรมที่ใหญ่กว่านั้นก็คงไม่พอดี
แต่วันนี้ จุดที่เคยพอดีกลับเปลี่ยนไป
การเข้าร่วมโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ สอนเธอให้มองเห็นธุรกิจของตัวเองในมุมที่กว้างขึ้น และเรียนรู้ที่จะวางแผนระยะยาวมากขึ้น “เมื่อเราเริ่มอยู่ตัว ดูแลแขกของเราได้ดีแล้ว เราจึงขยายตัว”
“เราคิดจะต่อเติมทำชั้น 3 ตั้งใจทำเป็นห้อง Grandchild หรือห้องที่ประหยัดพลังงานมากขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะอยากสื่อสารเรื่องที่เราจะเก็บรักษาโลกใบนี้ให้ถึงลูกหลานอย่างไร” การขยายขนาดของ The Yard จึงไม่ใช่การขยายที่ใหญ่ล้นจนกินพื้นที่เต็มแน่นไปหมด แต่ยังคงแก่นเรื่องตัวตนเดิม อย่างความเป็นกันเอง อบอุ่น และรักธรรมชาติ ไว้
“เรามีสิทธิ์ที่จะขยายเพิ่มได้ถ้าเรามีเหตุผล” ส้มย้ำอีกครั้งว่า ความพอดีไม่ใช่การหยุด แต่คือการพร้อมจะขยับในวันที่เหมาะสม
04
ญาติดี : ภูมิคุ้มกันที่มาจากการไม่เบียดเบียน
“คำว่าญาติ ไม่ใช่แค่แขกที่เราอยากนับญาติด้วย แต่ญาติของเราหมายรวมถึงทีมงานของเรา แขกของเรา และแม้แต่เพื่อนบ้านเราจากอพาร์ตเมนต์ข้างๆ ซึ่งแวะมาบ้านเราหลังเลิกงานเพื่อจิบเบียร์สักขวด ก่อนทำงานก็แวะมาดื่มกาแฟสักแก้ว สุดสัปดาห์ก็หอบผ้ามาซัก เราอยู่กันเป็นบ้านญาติจริงๆ”
เมื่อมีแก่นแนวคิดเช่นนี้ ทรัพยากรหลักที่ต้องเลือกอย่างพิถีพิถัน คือทรัพยากรคน หมายถึงเหล่าทีมงานที่จะมาคอยดูแลญาติๆ ของพวกเธอนั่นเอง
ช่วงแรก ส้มประกาศหาทีมงานผ่านเว็บไซต์สมัครงานโรงแรม และพบว่าเมื่อชวนใครมาสมัครงาน กลับถูกถามเรื่องยูนิฟอร์ม สวัสดิการ และกฏระเบียบ จนเกิดความสงสัยว่าธุรกิจของเธอเล็กเกินไปหรือเปล่า โชคดีที่การรู้จักตนจากปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยให้พวกเธอมั่นใจขึ้น เพราะสำคัญคือ ธุรกิจจะต้องประมาณตนให้ถูกต้อง ไม่ใหญ่เกินไป ไม่เล็กเกินไป
“เราต้องการคนที่อยู่ทำงานยาวๆ เพราะอยากให้แขกได้เจอคนเก่าๆ เมื่อเขากลับมาที่นี่อีกครั้ง ในการทำงาน เรารู้สึกว่าไม่ต้องมีประสบการณ์มากก็ได้ สมมติถ้ามีคนมาอยู่บ้านเรา เราแค่ดูแลและปูที่นอนให้ ทีมงานบางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ซึ่งเราไม่ได้คิดว่าภาษาจำเป็นกว่าความจริงใจ เพราะพออยู่กันไปเขาก็สื่อสารกับแขกได้เองว่าเขารู้สึกเป็นห่วง” ส้มทบทวนคุณสมบัติของพนักงานที่นี่ ซึ่งยิ่งสะท้อนถึงตัวตนของ The Yard Hostel อย่างชัดเจน
“เราก็เลยเปลี่ยนวิธีการไม่ประกาศรับสมัครงานอย่างนั้น แต่ทำกูเกิลฟอร์มแล้วประกาศในเพจเฟซบุ๊กของเราเอง มีชุดคำถามของเราเอง ถามถึงเพลงไทยที่ชอบ หนังสือที่ชอบ เราเลยได้คนประเภทที่ใกล้เคียงกับเรา หลังจากนั้นก็คุยกันง่ายขึ้น” นี่คือที่มาของพนักงาน 8 คน ของ The Yard ที่มีความเชื่อและสไตล์คล้ายกัน
ในทางกลับกัน ส้มก็ดูแลทีมงานทุกคนราวกับญาติ ใส่ใจความต้องการที่แตกต่าง และเลือกเสนอข้อตกลงที่ถูกใจทุกฝ่าย อย่างนโยบายให้ทำงาน 4 วัน และหยุด 4 วันสลับกันไป ซึ่งทุกคนจะได้หยุดอย่างชุ่มปอดจนอยากมาทำงาน ส่วนที่โฮสเทลก็จะมีพนักงานอารมณ์ดีสลับกันประจำการอยู่ทุกวันไม่ขาดสาย โดยที่ค่าใช้จ่ายไม่ได้แตกต่างกับการจ้างงานแบบเดิม
“สำคัญคือ เราคิดถึงความสุขของคนรอบข้าง ว่าการมีเราอยู่ในโลกธุรกิจนี้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหรือเปล่า” ส้มเล่าที่มาของคุณธรรมประจำ The Yard ให้ฉันฟัง
05
ครบวงศาคณาญาติ : ดีต่อทุกคนอย่างยั่งยืน
เมื่อเรียนรู้ที่จะพอแล้ว ทำให้เกิดผลดีอย่างไร?
ส้มตอบคำถามเรื่องนี้กับเรา โดยเสนอหลักคิดอีกหลักคิดหนึ่งขึ้นมาประกอบ “นอกจาก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขของหลักปรัชญาเศรษฐกิจแห่งพอเพียงแล้ว ในด้านความยั่งยืนก็มีอีก 3 ห่วง 3 P ได้แก่ Profit, People และ Planet ถ้าธุรกิจคิดถึง 3 ห่วงนี้ก็จะอยู่ได้ยาวนานขึ้น”
ห่วงทั้ง 3 นี้เข้าใจได้ไม่ยากเพียงคิดตามหลักเหตุผล เริ่มจากการเลือกทำสิ่งต่างๆ ด้วยความพอดี จะทำให้เราไม่ใช้ทรัพยากรมากไป (ดีต่อโลก) ในขณะเดียวกันก็เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการ (ดีต่อลูกค้า) และที่สำคัญ เมื่อพอดี เราก็ไม่ต้องลงทุนมากเกินความจำเป็นด้วย (ดีต่อธุรกิจ)
หากยังไม่เห็นภาพ ส้มก็ยกตัวอย่างจากหนึ่งในหลายสิ่งที่เธอทำจริงในโฮสเทล นั่นคือเรื่องน้ำดื่ม จากตอนแรกที่เธอคิดอยากสร้างแบรนด์ด้วยการทำน้ำดื่มของตัวเองแจกแขก แต่เมื่อคิดถึงจำนวนขวดพลาสติกที่ต้องกลายเป็นขยะทิ้งในแต่ละเดือน รวมถึงเงินที่ละลายไปกับการผลิต ส้มก็เปลี่ยนใจและหันกลับมามองความต้องการของแขก ที่แค่อยากได้น้ำดื่ม จึงเลือกสนองความต้องการนั้นด้วยการให้แขกทุกคนยืมขวดแก้วหนึ่งใบสำหรับกรอกน้ำ โดยมีที่กรอกน้ำตามจุดต่างๆ ในโฮสเทล ประหยัดทั้งเงิน ทั้งทรัพยากร และตอบโจทย์ลูกค้าได้ด้วย
จากตัวอย่างนี้ ส้มบอกว่าหากเธอแก้ปัญหาด้วยการไม่ทำเลย ก็จะเป็นการเอาเปรียบลูกค้า ขณะที่หากเอาใจแขก นำเสนอความสะดวกสบายทุกอย่างมากเกินไป ก็อาจจะเบียดเบียนธรรมชาติและธุรกิจโดยไม่จำเป็น หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การรู้จักประมาณตนให้ ‘พอดี’ นั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น การดำเนินธุรกิจโดยยึดแนวคิดความพอดีและยั่งยืนเป็นศูนย์กลาง ยังส่งผลดีต่อการสร้างแบรนด์ในระยะยาวอีกด้วย “พอเราทำแบบที่เราคิดและเชื่อก็ทำให้เราเจอแขกที่ดี คนที่เข้ามาด้วยความเคารพ ที่นี่จึงมีแต่แขกน่ารักๆ” เพราะรู้จักและดูแขกทุกคนเป็นอย่างดี ทั้งสองส้มและ The Yard จึงได้รับความสุขกลับมา
“เวลาเราทำอะไรดีๆ อย่างตั้งใจ ความรู้สึกดีๆ ก็จะกลับมาสู่เราด้วย” ส้มกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
The Yard Hostel
ประเภท : ธุรกิจโรงแรม
ที่ตั้ง : 51 พหลโยธิน 5 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
เจ้าของกิจการ : อติพร สังข์เจริญ, อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์
Website : www.theyardhostel.com
พอแล้วดี The Creator
Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com