ที่มาของ The Entrepreneur ตอนนี้เริ่มต้นจากเราสนใจ ‘ของเล่นดูแลต้นไม้ (คิวท์ๆ)’ ของ Uncle Ree’s Farm

คุยไปคุยมาเรากลับประทับใจองค์รวมของฟาร์มลุงรีย์ทั้งหมด ร้อนถึงโครงสร้างเนื้อหาคอลัมน์นี้ แต่โปรดจงมั่นใจในเรดาร์ความเป็นผู้ประกอบการและแผนธุรกิจ ฟาร์มลุงรีย์วันนี้ สนุกและมีเรื่องเล่ามากกว่าเดิม

เปลี่ยนภาพลุงรีย์ชายเลี้ยงไส้เดือนฮิปสเตอร์ ให้เป็นแค่ลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ เจ้าของฟาร์มลุงรีย์ผู้ตั้งใจ ทดลองและสนุกกับการต่อยอดและพัฒนาฟาร์มอยู่ทุกวัน กลายเป็นเกษตรกรแบบเต็มเวลาและเป็นที่ปรึกษาพิเศษบริษัทออกแบบผ้าแบบชั่วคราว

แม้เวลาจะผ่านไปถึง 5 ปี โจทย์ของการเริ่มทำฟาร์มลุงรีย์ Uncle Ree’s Farm ก็ยังคงไม่เปลี่ยน ใครจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของฟาร์มลุงรีย์คือ “ขยะกรุงเทพมันเยอะจังนะ”

“แล้วเราจะแปลงขยะให้กลายเป็นต้นทุนการเกษตรได้ไหม?”

เมื่อไม่ได้เป็นเกษตรกรตั้งแต่กำเนิด แล้วอะไรทำให้เขาต้องศึกษาและเอาจริงเอาจังกับการทำฟาร์มขนาดนี้ เราถาม

“ความรู้สึกของการปลูกต้นไม้แล้วต้นไม้ไม่ตาย แต่กลับงอกงามและเติบโต ยิ่งทำให้เราอยากปลูก อยากรู้ อยากศึกษา”

ปัจจุบันฟาร์มลุงรีย์เป็นทั้งฟาร์มและฮับ (hub) ของเพื่อนๆ บ้างเป็นเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม บ้างเป็นเชฟและคนรักในการทำอาหาร บ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ แต่สนใจการทำเกษตร ฮับที่นี่เป็นทั้งพื้นที่ช่วยกันวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเป็นจุดจำหน่าย

‘พ.ศ. 2504 ลุงชื่อรีย์ตีกลองประชุม ชาวบ้านก็มาชุมนุม มาประชุมที่ฟาร์มลุงรีย์’

ฟาร์มลุงรีย์ กับการลากเส้นต่อจุดของแบรนด์ที่เปลี่ยนการทำฟาร์มให้เป็นเรื่องเท่

เกษตรศาตร์-สาระ-สน-เท่

หลายคนจำเขาได้จาก ฮิปสเตอร์หนุ่มเลี้ยงไส้เดือนกับชีวิตสโลว์ไลฟ์

“ความตั้งใจของผมคือ ‘เกษตรต้องเท่’ เพราะถ้าวัยรุ่นเข้ามาสนใจเราก็จะเห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเลย แล้ววัยรุ่นสมัยนี้เก่งๆ ทั้งนั้น ผมอาจจะใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าที่ผมจะได้บอกว่าทำไม ผมเมื่อ 5 ปีที่แล้วถึงต้องทำอย่างนั้น มันต้องเท่ก่อน มันต้องเข้าถึงคนจำนวนมากก่อน จนถึงวันนี้ที่ผมมีผลิตภัณฑ์จริง ทำฟาร์มได้จริง และอยู่ได้”

ในช่วงแรก ลุงรีย์เริ่มจัดการเศษผัก ข้าวที่หุงเสร็จ กากถั่วเหลือง เปลือกไข่ จนเริ่มค้นพบแนวทาง และไส้เดือนเป็นหนึ่งในเครื่องมือจัดการเศษผักทิ้งเหลือ ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนไส้เดือน เรียนรู้และต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เปิดวิชาเรียน เปิดให้เยี่ยมชมฟาร์มฟรี สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ จัดการขยะได้ปริมาณมากขึ้นและหลากหลายประเภทมากขึ้น

ลุงรีย์เริ่มต้นฟาร์มของเขาจากพื้นที่ขนาด 1 ช่องจอดรถให้กลายเป็นพื้นที่ขนาด 1 งานในช่วงเวลา 5 ปี และจากการเลี้ยงไส้เดือน วันนี้ที่นี่มีหมู เห็ด เป็ด และไก่

เป้าหมายของฟาร์มลุงรีย์ไม่ใช่การเปิดฟาร์มใหม่ที่ใหญ่ขึ้นแต่เป็นการกระจายแนวคิดการเปลี่ยนขยะเป็นสินค้าเกษตร หรือโครงการในอนาคตที่ลุงรีย์แอบเล่าให้เราฟังอย่าง Farm to Fitness ให้การทำฟาร์มที่ได้ทั้งเหงื่อได้ทั้งแรงสามารถสร้างรายได้เป็นผลผลิต

“แต่ตอนนี้กำลังสนใจเรื่อง smart farming เรื่องนี้กำลังเป็นที่พูดถึง แต่ความเข้าใจในเรื่องนี้ยังมีไม่มากนัก เราจึงอยากลงมือศึกษาและพิสูจน์ดูว่าเทคโนโลยีจะมาอยู่ร่วมการทำเกษตรอย่างไร”

เทคโนโลยี-สาระ-สน-เท่

“สิ่งแรกหากคุณจะทำ smart farming คุณต้องเริ่มจากการทำเกษตรแนวตั้ง

“สิ่งต่อมา คุณต้องรู้จักการรวมพื้นที่ สิ่งที่ใช้ความชื้น แสง อุณภูมิใกล้เคียงกัน จับมาไว้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่นเกษตรหลังเลิกงานที่ผมทำ การทำต้นอ่อนทานตะวัน เห็ด ไส้เดือน การเลี้ยงกุ้งก้ามแดง นำละอองน้ำที่เกิดจากการเลี้ยงกุ้งมาเพาะเห็ด เอาก้อนเห็ดเก่ามาเลี้ยงไส้เดือน หรือเอาก้อนเห็ดเก่าและมูลไส้เดือนมาเพาะต้นอ่อนทานตะวัน วนเวียนอยู่อย่างนี้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างการจัดการรวมพื้นที่

“สิ่งที่สาม คุณต้องรู้จักฤดูกาล รู้จักจังหวะของการทำเกษตร เพื่อผ่อนสิ่งนี้มาเพิ่มสิ่งนั้นเพื่อที่จะไม่กลายเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว”

มาถึงตรงนี้ ลุงรีย์บอกเราว่าเขาไม่สามารถเล่าทุกอย่างให้เราฟังโดยไม่พาเราเดินชมได้

แล้วเราจะรออะไรล่ะ

ถ้าคุณเห็นเสื้อผ้าและหน้าผมของผู้เขียน คุณจะเข้าใจว่าเราพร้อมมากแค่ไหน

Uncle Ree's Farm ฟาร์มลุงรีย์ กับการลากเส้นต่อจุดของแบรนด์ที่เปลี่ยนการทำฟาร์มให้เป็นเรื่องเท่ Uncle Ree's Farm ฟาร์มลุงรีย์ กับการลากเส้นต่อจุดของแบรนด์ที่เปลี่ยนการทำฟาร์มให้เป็นเรื่องเท่ Uncle Ree's Farm ฟาร์มลุงรีย์ กับการลากเส้นต่อจุดของแบรนด์ที่เปลี่ยนการทำฟาร์มให้เป็นเรื่องเท่

ฟาร์มรัก ฟาร์มรักเจ้าขา จู่ๆ ก็มาไม่ทันตั้งตัว

ฟาร์มอะไร ทำไมสนุกจัง

ทุกพื้นที่ในฟาร์มแห่งนี้เป็นพื้นที่ทดลองให้ลุงรีย์พบนวัตกรรมใหม่ๆ เขาย้ำกับเราหลายครั้งทุกการผสมผสานไม่ได้เกิดจากตัวเขา แต่เป็นเพราะการรู้ทฤษฎี ผสมผสานความสงสัยแล้วลองปรับใช้เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม

ลุงรีย์เดินนำเราไปที่ Aquaponics ขนาดย่อมของเขา ตัวอย่างแรกของการรวมพื้นที่ปลูกพืชกับบ่อเลี้ยงปลาไว้ด้วยกัน

กลางบ่อ มีภาชนะปลูกพืชด้วยดินเผาลอยน้ำตั้งเรียงในระดับความสูงต่างกัน เกิดเป็นน้ำตกขนาดย่อมให้น้ำที่ไหลเวียนมีออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา

ในน้ำ มีขี้กุ้งและขี้ปลาที่ลุงรีย์จะใช้จุลินทรีย์จัดการให้เหลือชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ซึมเข้าสะสมในเม็ดบอลเซรามิกหรือเม็ดดินเผาลอยน้ำกลายเป็นสารอาหารให้พืชและเป็นที่ให้รากพืชเกาะ

นอกบ่อ มีแหนแดงที่ใครอาจมองว่าเป็นวัชพืชน้ำนิ่ง แต่จริงๆ เป็นอาหารอันโอชะของปลาสลิดในบ่อ และเมื่อปลาสลิดกินแหนมันก็จะไม่รังแกปลาตัวเล็กหรือกุ้งที่อยู่ร่วมบ่อเดียวกัน

“หลายครั้งที่การเลี้ยงปลาในบ่อนี้ไม่ได้เลี้ยงตั้งแต่เป็นตัวเล็กๆ เพื่อหวังจะกินเมื่อตัวโตใหญ่ แต่เป็นปลาที่รอพักน้ำจากบ่อของเพื่อนๆ ที่ทำฟาร์มปลา โดยที่ผมไม่ได้คิดค่าเช่าบ่อจากเพื่อนเพราะขี้ปลาที่เกิดขึ้นมีส่วนในการสร้างธาตุอาหารให้พืชที่ปลูกด้วย เรียกว่าเป็นการทำเกษตรแบบรู้จังหวะมากกว่าหวังผลทางตัวเงินเพียงอย่างเดียว”

เห็นแล้วก็คิดเหมือนกับลุงรีย์ว่าถ้าเปลี่ยนจากบ่อปลาคราฟต์มาเป็นบ่อ Aquaponics แบบนี้ก็คงสนุกดี

ฟาร์มที่มีจุลินทรีย์ดับกลิ่น

อยู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ ทำไมฟาร์มที่นี่ไม่มีกลิ่น และเหมือนลุงรีย์จะอ่านใจได้ เขาจึงชี้ชวนให้เราดูน้ำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่เขาภูมิใจนำเสนอ

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงหรือจุลินทรีย์ที่ชอบแดด เป็นสิ่งที่ช่วยระงับกลิ่นจากสิ่งปฏิกูลโดยจุลินทรีย์จะช่วยย่อยให้โมเลกุลเล็กลง นอกจากชอบแดดมากๆ แล้ว จุลินทรีย์ชนิดนี้ยังเติบโตอย่างไม่จำกัด เพียงแค่กินไข่ขาวได้สารโปรตีน กินเปลือกไข่ได้แคลเซียมแล้วเติมน้ำส้มสายชูลงไปได้แคลเซียมคาร์บอร์เนต กินหอมแดงได้ซัลเฟอร์ นอกจากจะใช้ในการเกษตรแล้ว ยังสามารถดับกลิ่นส้วมได้ดีด้วย

“ผมเรียนเซรามิกมา ผมจึงท่องตารางธาตุและสูตรเคมีได้แม่นยำ” ลุงรีย์รีบตอบเมื่อเราทำหน้าสงสัย ว่าทำไมเกษตรกรอย่างเขาไม่เพียงพูดชื่อสูตรสารการทำจุลินทรีย์คล่องปาก ยังรู้จักประโยชน์จากสารเคมีเหล่านี้เป็นอย่างดี

Uncle Ree's Farm ฟาร์มลุงรีย์ กับการลากเส้นต่อจุดของแบรนด์ที่เปลี่ยนการทำฟาร์มให้เป็นเรื่องเท่ Uncle Ree's Farm

คนนี้มาแรงสัญชาตญาณบอก

ก่อนจะพาเดินไปดูที่เลี้ยงไส้เดือน ลุงรีย์แนะนำเราให้รู้จักกับไส้เดือน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน กินเก่ง หนีเก่ง เพราะนอกจากจะกินเศษผัก กินมูลสัตว์ กินปุ๋ยคอก ยังสามารถกินเปลือกกล้วยทั้งหวีหมดภายใน 1 สัปดาห์ ไส้เดือนพันธุ์ Blue Worms เป็นสายพันธุ์ที่มีกลิ่นตัวหอมดอกไม้ มูลที่ได้จะละเอียดมากมีมูลค่าสูงถึงขีดละ 600 บาท และสุดท้ายไส้เดือนพันธุ์ลายเสือ จะมีหางเป็นลายเสือ มูลของมันเหมาะกับการเป็นอาหารสัตว์น้ำ

ระหว่างที่กำลังกล้าๆ กลัวๆ แอบมองการชอนไชของไส้เดือนตัวเรียวยาวอยู่นั้น ลุงรีย์ก็ชี้ชวนให้ดูบ่อปุ๋ยคอกอาหารอันโอชะของเหล่ากองทัพไส้เดือน ที่ไม่ส่งกลิ่นหอมลาเวนเดอร์ให้หงุดหงิดใจแม้เพียงนิดเดียว เพราะได้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงช่วยดับกลิ่น ก่อนเล่าถึงภาชนะการเลี้ยงไส้เดือนแบบวางตั้งเป็นแนวกำแพง ที่ควบคุมการให้น้ำและค่าความชื้นสัมพัทธ์ด้วยระบบสั่งการเซนเซอร์ที่เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ พร้อมเล่าจำนวนปุ๋ยจากไส้เดือนที่ผลิตได้ครึ่งตันในพื้นที่จำกัด อย่างพื้นที่ด้านหนึ่งของกำแพงบ้าน

อีกด้านหนึ่งของบริเวณเลี้ยงไส้เดือน เป็นห้องว่างขนาดหอพักที่ลุงรีย์ใช้เป็นห้องเลี้ยงกุ้งก้ามแดง

จากมูลไส้เดือนที่เต็มไปด้วยสารอาหารชั้นดีสำหรับต้นไม้แล้ว เมื่อนำมาอัดเม็ดให้มีหนักเพื่อที่ใส่น้ำแล้วจมลงไปเป็นอาหารกุ้ง เป็นมูลไส้เดือนอัดเม็ด ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าต่อยอดผลิตภัณฑ์ แล้วเปิดตลาดใหม่ ขายไส้เดือนตัวเล็กเป็นอาหารกุ้งโดยเฉพาะให้กุ้งตั้งท้องออกไข่ได้ดี ขณะที่สารอาหารจากมูลไส้เดือนช่วยให้กุ้งลอกครอบได้ดี

“ที่สำคัญเลย 80% ของวงการไส้เดือน เขาเลี้ยงไส้เดือนเพื่อส่งเป็นอาหารเลี้ยงกุ้ง แต่เรามองเห็นว่ามูลจากกุ้งจะช่วยทำให้น้ำในบ่อเป็นสีเขียวเพราะเต็มไปด้วยแพลงก์ตอนให้กุ้งไม่กัดกัน”

Uncle Ree's Farm

เห็ดในสิ่งเชื่อ เชื่อในสิ่งที่เห็ด

มาถึงห้องว่างไฮไลต์ของฟาร์มลุงรีย์อย่างห้องเพาะเห็ด

ทันทีที่เปิดประตูเข้าไป เรารู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในแกลเลอรี่จัดแสดงงานศิลปะรูปเห็ดมากกว่าที่จะรู้สึกว่ากำลังอยู่ในเรือนเพาะชำเห็ดทั่วไป ลุงรีย์เรียกเจ้าเห็ดสีขาวโพลนดอกใหญ่นี้ว่าเห็ดหิมาลัย แค่ชื่อก็เผลอกลืนน้ำลายอย่างไรรู้ตัวแล้ว เห็ดหิมาลัยนี้เกี่ยวกับไส้เดือนอย่างไรเราจะเล่าให้ฟัง

หลังจากที่ลุงรีย์ทำน้ำหมักมูลไส้เดือน เขาเอากากมูลไส้เดือนที่เหลือมาใส่ผิวหน้าก้อนเห็ด เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์เราก็จะได้เห็ดหิมาลัยซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในเชฟ รสชาติออกนมๆ ถ้านำไปต้มจะให้รสสัมผัสเหมือนเนื้อไก่ แต่ถ้านำไปย่างจะให้รสสัมผัสที่เหมือนปลาหมึก

“ห้องเห็ดเป็นตัวอย่างของการทำ smart farming หรือใช้เทคโนโลยีกับเกษตรมากที่สุดเลย ผมจะตั้งค่าระดับความชื้น มีเซนเซอร์ที่จะปล่อยหมอกความชื้น มีเซนเซอร์ระดับความสูงดอกเห็ดที่จะทำให้ไฟ LED ทั้งหมดจะติดเพื่อคุมรูปทรงของเห็ดในแบบที่ต้องการไม่ว่าจะแบบอวบอ้วนหรือแบบสูงยาว เชฟบอกผมได้เลย

“จุดที่ยากคือ การเปิดไฟเพื่อควบคุมรูปทรงนี้จะต้องเปิดไฟให้แสงวันละ 10 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที ดังนั้นเทคโนโลยีที่เข้ามาจะช่วยทุ่นแรงงานส่วนนี้ได้มาก แล้วยังเป็น reality marketing เพราะผมสามารถส่งรูปรายงานการเติบโตของเห็ดให้แก่เชฟได้ตลอดเวลาด้วย เป็นการเชื่อมเกษตร คนทำครัว และเทคโนโลยี เข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญ เราทำฟาร์มเห็ดแบบไม่นึ่งก้อนเห็ด ซึ่งเกษตรกรต้องมีความรู้เรื่องจุลินทรีย์ เอาจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมาระงับการเน่า เอามูลไส้เดือนมาระงับการขึ้นรา ควบคุมด้วยชีวภาพจริงๆ”

จำนวนผลผลิตของฟาร์มลุงรีย์เพียงพอต่อความต้องการของตลาดไหม เราถาม

“อยู่ที่ว่าตลาดนั้นคือใคร ถ้าเป็นเชฟที่อยากได้วัตถุดิบชั้นดีส่วนนี้เพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าตลาดคือคนหมู่มาก ส่วนนี้เราก็ต้องสร้างกันเพิ่ม ฟาร์มของเราเป็นเพียงโมเดลต้นแบบที่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสามารถทำและต่อยอดได้จริง ก่อนหน้านี้มีปัญหาว่าเกษตรกรไม่รู้ว่าจะเลี้ยงไส้เดือนแล้วไปขายใคร คำตอบก็คือไม่ต้องขายใครน่ะดีที่สุด แต่ต้องรู้จักและเข้าใจสิ่งนั้นมากพอที่จะต่อยอดด้วยตัวเอง อย่างการทำเห็ดถ้าไม่เป็นมูลไส้เดือน เห็ดหิมาลัยไม่มีทางออกดอกใหญ่ขนาดนี้ได้

“ใครจะเรียกผมว่าเป็นคนเลี้ยงไส้เดือนเหมือนเดิมก็ได้ เพราะผมก็แค่เป็นคนเลี้ยงไส้เดือนที่รู้ว่าจะเอามูลไส้เดือนไปต่อยอดทำอะไรได้อีกบ้าง และผมก็จะไม่หยุดแค่นี้”

เห็นลุงรีย์เล่นสนุกอย่างนี้ รายได้หลักจากฟาร์มลุงรีย์มาจาก หนึ่ง รายได้จากการเรียนการสอนทำเกษตรในแบบลุงรีย์

สอง ผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนเพื่อการทำฟาร์ม เช่น ดินและปุ๋ย

สาม เป็นที่ปรึกษาแก่ฟาร์มหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีพื้นที่และตั้งใจพัฒนาให้เกิดฟาร์มแบบบูรณาการ

และสี่ ผลิตภัณฑ์กินได้จากฟาร์มลุงรีย์และเพื่อนลุง เช่น ปลาสลิด ไข่ไก่ ผักสลัด ส่งตรงถึงบ้านในชื่อ Uncle Drive

“แม้เราจะเป็นฟาร์มเล็กๆ แต่เราใช้วิธีชวนเพื่อนๆ ลุงมาร่วมกัน เป็นการชวนปลูกและชวนกิน เรามีลุงในเครือข่าย 10 – 20 คน แต่ละคนเป็นหัวหน้าในแต่ละส่วน บ้านทุกคนคือสต็อกสินค้า รถทุกคนคือรถส่งของ”

Uncle Ree's Farm Uncle Ree's Farm Uncle Ree's Farm

Garden Accessories

เดิมทีที่เราอยากคุยกับลุงรีย์ก็เพราะเรื่องอุปกรณ์ทำสวนน่ารักๆ สินค้าใหม่ของฟาร์มลุงรีย์นี่แหละ เพียงแต่เมื่อพูดคุยเรื่องราวการเติบโตที่ผ่านมาตลอด 5 ปี ที่เปลี่ยนภาพจำจากหนุ่มติสท์เลี้ยงไส้เดือนเก๋ๆ เป็นลุงรีย์ที่เอาจริงเอาจังกับไส้เดือน รักการทดลองและสร้างสรรค์กฎเกณฑ์การทำเกษตรใหม่ๆ จากทฤษฎีที่มีผสมผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ในพื้นฐานความเป็นไปได้จนออกมาเป็นฟาร์มที่เชื่อมโยงออกไปและโยงทุกอย่างกลับเข้ามาด้วยไส้เดือน โจทย์แรกโจทย์กับวันที่เริ่ม

“ผมรู้สึกและอยากสื่อสารว่าเป็นเกษตรกรแต่ก็อย่าหารายได้ทางเดียว และส่งที่ผมทำได้มีไม่กี่อย่าง ดินปลูกกับดินปั้น”

จากพื้นฐานนักเรียนออกแบบเซรามิกและเครื่องเคลือบดินเผา ลุงรีย์นำสองสิ่งที่เขารักมาเจอกัน ด้วยประโยชน์ของเซรามิกในการดูดซับสารอาหารจากมูลไส้เดือนและเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ เริ่มจาก Walnut เซรามิกในรูปทรงลูกวอลนัตที่เราใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือนอัดเม็ดลงไปแล้วนำไปแขวนในตำแหน่งเหนือต้นไม้ที่ปลูก เมื่อรดน้ำแร่ธาตุในปุ๋ยจะค่อยๆ ละลายให้อาหารต้นไม้อย่างช้าๆ เพิ่มมูลค่าให้ปุ๋ยและเปลี่ยนทัศนคติที่คนเคยมีต่อมูลไส้เดือนไปในคราวเดียวกัน

ชุดใบไม้น่ารักหลากหลายขนาดที่เห็นตรงหน้ามีชื่อเรียก Oak Leaf ทำมาจากดินพื้นบ้านที่เผาในหลากหลายอุณหภูมิ วิธีการใช้คือนำน้ำหมักมูลไส้เดือนผสมน้ำแล้วแช่ใบไม้เซรามิกไว้ 15 นาที ใช้วางบนหน้าดินกระถางต้นไม้ให้ทั้งสารอาหาร รักษาความชุ่มชื้นที่หน้าดิน และให้ความสวยงาม

Uncle Ree's Farm ฟาร์มลุงรีย์ กับการลากเส้นต่อจุดของแบรนด์ที่เปลี่ยนการทำฟาร์มให้เป็นเรื่องเท่

ทำนะ ย่อมชนะอธรรม

คำแนะนำจากลุงรีย์สำหรับทุกคนไม่ว่าคุณจะทำเกษตรหรือไม่ก็ตาม

“ไม่มีอะไรชัดเจนตั้งแต่แรก คุณต้องลงมือทำก่อน และในตอนที่คุณคิดว่าสิ่งนี้น่าจะใช่ อยากให้ค่อยๆ คิดให้ดี ว่าคุณทุ่มเทกับสิ่งนั้นไปมากเท่าไหร่ หรือถ้าคุณอยากสโลว์ไลฟ์ หรือใช้ชีวิตในสไตล์แบบนี้ คุณต้องรู้จักคุมความเร็วของมันให้ได้ในจังหวะที่คุณอยากและจำเป็นต้องเร็วหรือช้า

“จริงๆ ของเล่นดูแลต้นไม้ที่ผมทำมันพูดแทนผมเยอะมากนะ อยากน้อยก็ช่วยบอกตัวตนของผมออกไปว่าศิลปะและเรื่องงานออกแบบเซรามิกยังอยู่ในตัวผมเสมอไม่ได้หายไปไหน”

ก่อนที่ลุงรีย์ทิ้งท้ายเรื่องมุมมองความรักชอบในออร์แกนิกและการตัดสินคนอื่นเพียงเพราะไม้บรรทัดมาตรฐานที่มาจากตัวเรา

“อย่าไปยึดติดมาก ถ้าจะอยู่ร่วมกับคนอื่น เขาจะทำออแกนิกส์ 100% หรือไม่ เราก็ต้องเข้าใจเขา เกษตรกรบางคนยังใช้เคมีไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากเปลี่ยน แต่เขาอาจจะยังมีพันธะหรือภาระที่เขาจำเป็น อย่าตัดสินคนอื่นโดยมองเพียงผิวเผิน เขาอาจจะมีความคิดที่ดีมากแต่วันนี้เขายังต้องทำแบบนี้”

Rules

  1. ในหนึ่งวันต้องมีทั้งงานที่ปวดตัวและปวดหัว
  2. ลองขยายโต๊ะทำงานให้ใหญ่ขึ้น ทำงานที่ไหนก็ได้
  3. ไอเดียมันมักจะมาไม่รู้เวลาเสมอ ถ้าคิดออกให้รีบจดมันซะ

ฟาร์มลุงรีย์เปิดให้เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้การทำฟาร์มสไตล์ลุงรีย์ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10:00-12:00 น. ที่อยู่ 19/29 เพชรเกษม 46 แยก 11 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ Line ID: uncleree หรือโทร 061-414-5242

Facebook: Uncleree Farm

Instagram: @Uncleree Farm

 

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2