จบกิจกรรม Earth Appreciation : Behind the Zoo ไปแล้ว The Cloud, มูลนิธิโลกสีเขียว และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนกลับบ้านแบบใจฟู หลังไปเยี่ยมเยียนบ้านของเหล่าสัตว์ป่าแห่งเขาเขียวถึงในกรง พร้อมศึกษาการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด อิ่มเอมกับเรื่องราวความรักความผูกพันของ Zookeeper จนถึง Zoo Educator และทีมแพทย์เบื้องหลังที่ไม่เคยเล่าที่ไหน

สิ่งสำคัญของกิจกรรมนี้ไม่ใช่การเพิ่มความรักในสวนสัตว์ แต่เป็นการเพิ่มความเข้าใจในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนตั้งใจทำ เพราะสวนสัตว์ไม่ใช่แค่พื้นที่จัดแสดงสัตว์ แต่ยังเป็น Living Museum ศูนย์อนุรักษ์ วิจัย และเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิดไม่ให้สูญหายไปจากโลก โดยองค์ความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดอัดแน่นให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสตลอด 3 วัน 2 คืน ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเวลาที่ประตูสู่โลกของสิ่งมีชีวิตยามค่ำคืนเปิดออก

ใครที่พลาดงานนี้ไม่ต้องเสียใจ เรานำเรื่องราวสุดพิเศษมารวมไว้เรียกน้ำย่อยให้ทุกท่านเตรียมบริหารมือรอกดเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไปแล้ว

วันที่ 1
สวนสัตว์นัดพิเศษ

เช้าตรู่ เราพบกันที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ต่างคนต่างวางบทบาทที่เป็นอยู่ทุกวันเอาไว้แล้วหันไปสวมบทบาทเจ้าหน้าที่สวนสัตว์มือใหม่กันเป็นครั้งแรก โดยมีรุ่นพี่อย่าง ป่าน-อานุภาพ แย้มดี ผู้ชำนาญการ 7 สถาบันจัดการสวนสัตว์ และ หมออัม-สพ.ญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี ผู้เชี่ยวชาญ 8 สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ มาชวนพูดคุยเกี่ยวกับสวนสัตว์ ตั้งแต่กฎหมายสวัสดิภาพสัตว์และมาตรฐานควบคุมของสมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) และสมาคมสวนสัตว์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAZA) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด อาหารต้องมีนักโภชนาการดูแล มีวิธีป้องกันโรคอย่างถูกต้อง จนถึงการส่งเสริมพฤติกรรมผ่านกิจกรรมและของเล่นต่าง ๆ

คุณป่านและหมออัมยังร่วมตอบคำถามสำคัญว่า สวนสัตว์มีไว้ทำไม โดยเล่าผ่านช่วงเวลาที่สมันตัวสุดท้ายสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยและหายไปจากโลก ต่อด้วยการตามล่าหนังเสือโคร่ง ซึ่งส่งผลให้พญาแร้งฝูงสุดท้ายถูกวางยาตายยกฝูง ก่อนปิดท้ายด้วยลิสต์รายชื่อสัตว์อีกหลายชนิดที่รอรับบัตรคิวเตรียมสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะละมั่งหรือแมวป่าหัวแบน

แต่ด้วยแรงกายแรงใจและความทุ่มเทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ความหวังยังปรากฏบนโลก คุณป่านและหมออัมบอกว่า แม้สัตว์หลายชนิดจะหายไปจากป่า แต่ปัจจุบันพวกมันกลับมาอีกครั้งด้วยการเพาะเลี้ยงในสวนสัตว์และสถานีเพาะเลี้ยงต่าง ๆ ทั้งนกกระเรียน ละมั่ง กวางผา จนถึงพญาแร้ง 

นี่คือการกลับมาของสัตว์ป่าสงวนที่ต้องการแรงสนับสนุนอีกมากจากประชาชนทุกคน โดยสวนสัตว์รับหน้าที่สำคัญในการส่งคืนพวกเขากลับสู่อ้อมอกของธรรมชาติและรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมเอาไว้

หลังจบคอร์สความรู้พื้นฐาน เจ้าหน้าที่มือใหม่ทั้ง 40 ชีวิตก็กระโดดขึ้นรถรางทัวร์สวนสัตว์เปิดเขาเขียวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของเจ้าหน้าที่ที่เคยประจำการอยู่ ณ สวนสัตว์ดุสิต 

ต่อด้วยการแบ่งกลุ่มเข้ากรงแรดขาว ฮิปโปโปเตมัส สิงโตขาว และหมีหมา ไปกับ Zookeeper ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์ชนิดนั้น ๆ มานานนับสิบปี

พี่แก้ว ผู้ดูแลแรดขาวชวนเราสัมผัสน้อง ‘พาวเวอร์’ ลูกแรดขาวตัวแรกขององค์การสวนสัตว์ฯ และน้อง ‘ท็อป’ ลูกแรดขาวตัวที่ 2 พร้อมเล่าให้ฟังว่าช่วงที่ลูกแรดขาวตัวแรกคลอด เขาและสมาชิกใหม่เหมือนเติบโตไปด้วยกัน เพราะองค์ความรู้พื้นฐานก็ไม่สู้การนั่งจ้องตาและเรียนรู้พฤติกรรมไปเรื่อย ๆ จนวันนี้แม้พาวเวอร์และท็อปจะตัวใหญ่กว่าเดิมจนเล่นงัด-ชนด้วยกันไม่ได้อีก แต่ความผูกพันและความรู้ใจก็ลึกซึ้งจนห่างกันไม่ได้เลย

ช่วงบ่าย พวกเราใช้เวลา 3 ชั่วโมงร่วมกับเจ้าหน้าที่จากงานส่งเสริมพฤติกรรมและสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Enrichment เพื่อทำอุปกรณ์ส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกให้กับหมีหมา หมีควาย สิงโตขาว และลีเมอร์ โดย Animal Enrichment รับหน้าที่สำคัญในการศึกษาพฤติกรรมและหาวิธีสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี ลดความเครียด ลดความเบื่อหน่ายจำเจ ให้สัตว์อยู่ดีมีสุข และมีชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด หรือแม้กระทั่งตัวไหนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ฝ่าย Animal Enrichment ก็ต้องพยายามคำตอบให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร จนถึงหาวิธีลด ละ เลิก พฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้น

เจ้าหน้าที่ Animal Enrichment เล่าให้ฟังว่าพวกเขาต้องส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์กว่า 2,000 ตัวในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว โดยการส่งเสริมพฤติกรรมทำได้ตั้งแต่การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เช่น เปลี่ยนดิน หิน ทราย ย้ายกิ่งไม้ หรือที่หลบภัยให้สัตว์เลื้อยคลาน จนถึงทำขาหมูหวานเย็นให้นักล่ากัดแทะคลายร้อน หรือหาของจากธรรมชาติมาเสริมมื้ออาหารให้ชะนี ทั้งลูกไทร ลูกตะขบ หรือลูกหว้า

แค่ฟังก็สนุกแล้ว รุ่นน้องอย่างพวกเรากระจายตัวขึ้นรถกระบะเข้าป่าไปขุดปลวกเพื่อนำมาให้หมีควายกินเหมือนที่เขามักทำในธรรมชาติ อีกกลุ่มจัดแจงทำกล่องสุ่มซ่อนใบกระท้อน แคร์รอต สับปะรด และสมุนไพรอื่น ๆ ในกล่องกระดาษ แข่งกันว่าหมีหมาจะถูกใจและเลือกแกะกล่องไหนก่อน ไม่ต้องห่วงนะ หมีหมาไม่กินกล่องกระดาษ แต่ใช้มันเป็นที่ลับเล็บอย่างสนุกสนานเลยล่ะ

ทีมขุดปลวก

กลุ่มถัดไปใช้ความประณีตสุด ๆ ในการเย็บถุงกระสอบยัดไส้หญ้าแห้งจากกรงม้าลายให้กลายเป็นรูปกวาง (เราคิดว่าน่าจะเป็นกวางนะ) กลิ่นของม้าลายจะกระตุ้นให้สิงโตขาวแสดงพฤติกรรมผู้ล่าออกมาอย่างเต็มที่ รุ่นพี่บอกว่า หากการตอบสนองดี บางที 5 นาทีก็เล่นกันจนพังแล้ว

กลุ่มสุดท้ายง่วนอยู่กับการทำบันไดให้ลีเมอร์ปีนป่าย หลังนั่งแพข้ามไปบนเกาะลีเมอร์ ยังไม่ทันติดตั้งจนเสร็จดี เจ้าของเกาะก็กระโดดขึ้นไปยืนเล่นกันแล้ว รุ่นพี่บอกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ค่อนข้างตอบสนองดีภายใน 5 – 15 นาที แต่ถ้าไม่มีการตอบสนอง ก็ต้องติดตามพฤติกรรมและหาทางปรับเปลี่ยนกันไป โดยพวกเขามีแผนงานแน่นตลอดทั้งเดือน ทั้งยังต้องเปลี่ยนวิธีการอยู่เรื่อย ๆ เรียกว่าคนไม่เบื่อ สัตว์ก็ต้องไม่เบื่อเหมือนกัน

ช่วงเย็นฝนโปรย พวกเราไปกันที่กรงฮิปโปโปเตมัส ทักทาย ‘แม่มะลิ’ ฮิปโปฯ วัย 58 ปี อายุยืนสุดในประเทศไทย พร้อมพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับ น้าเขียด-สมพงษ์ สวัสดิ์นำ ผู้ดูแลแม่มะลิมานานกว่า 30 ปี จนนิยามตนเองว่าเป็น ‘พี่ชาย’ ของ ‘น้องสาว’ ที่อายุห่างกันเพียง 2 ปี 

เราฟังน้าเขียดเล่าถึงวันที่เขาบาดเจ็บในบ่อฮิปโปฯ ระหว่างคิดในใจว่าต้องโดนเหยียบตายแน่ ก็เป็นแม่มะลิที่เดินเข้ามาปกป้องเขาจากฮิปโปฯ ตัวอื่นที่ดุร้ายกว่า น้าเขียดพาเราย้อนอดีตยาวไปจนถึงตอนเริ่มงานที่เขาดิน เล่าที่มาของรอยแผลเป็นบนตัวที่ได้มาจากงู นาก จนถึงจระเข้ ปิดท้ายด้วยคำถามอัปเดตความรู้สึกของเขา 

“เกษียณมาแล้ว 5 เดือน รู้สึกอย่างไรที่ได้กลับมาเจอแม่มะลิอีกครั้ง”

คำตอบของน้าเขียดยังบรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้เหมือนเช่นเคย เขาน้ำตาคลอ แต่มีผู้ร่วมกิจกรรมช่วยสรุปความรู้สึกเหล่านั้นให้แล้วว่า ‘มันคือรักแท้’ และเป็นรักแท้ที่เราทุกคนรู้สึกได้เช่นกัน

Zookeeper ไม่ได้มีหน้าที่แค่เปิด-ปิดกรง ให้อาหาร หรือสังเกตพฤติกรรม แต่พวกเขาดูแลทั้งกายใจของกันและกัน ผูกพันและห่วงใยเสมอไม่ต่างจากสมาชิกในครอบครัว 

ไม่มีใครรักสัตว์ป่าเหล่านี้มากกว่าพวกเขาแล้ว

ก่อนจบวัน พวกเราแยกย้ายรับภารกิจปิดกรงกับรุ่นพี่ Zookeeper ที่กรงหมีหมา หมีควาย สิงโตขาว แรดขาว คาปิบาร่า และฮิปโปโปเตมัส บอกเลยว่าเดินเข้าหลังกรงกันด้วยความตื่นเต้น เพราะไม่มีใครเคยมีโอกาสเข้าไปมาก่อน เราเห็นทุกการทำงานของพี่ ๆ แถมยังได้ช่วยหยิบจับอุปกรณ์ เปิด-ปิดกรงด้วย

พี่เส จากกรงหมีควายและหมีหมาจับคันโยกเหล็กยกประตูบ้านขึ้น หมีหมาและหมีควายเลิกงานมารออยู่ที่หน้าประตูเรียบร้อย ก่อนจะเดินตรงเข้าไปยังถาดอาหารเย็นที่พี่เสเตรียมให้ จากนั้นจึงนั่งเล่นพักผ่อนบนเตียงประจำตัวอย่างสำราญใจ 

พี่เสบอกว่าต้องเก็บนักล่าทุกตัวเข้ากรงด้านใน เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในยามค่ำคืน ส่วนประเภทกินพืช ส่วนใหญ่อยู่ในโซนพวกเขาอยู่แล้ว เช่น ยีราฟ ม้าลาย ในโซนแอฟริกา แต่ที่ต้องระวังสุด ๆ ย่อมหนีไม่พ้นสัตว์เล็กหรือกรงนกที่อาจมีงูป่าหลุดรอดเข้าไปได้

ค่ำคืนนี้ยังอีกยาวไกล จบจากโลกของสัตว์ใหญ่ ไม้เอก-สมนึก ซันประสิทธิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิโลกสีเขียว และ เจท-อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อและกิจกรรมพิเศษ มูลนิธิโลกสีเขียว ชวนเราจับกลุ่มสำรวจโลกของแมลงด้วยอุปกรณ์ Light Trap (กับดักแสงไฟ) สังเกตและเรียนรู้แมลงอย่างใกล้ชิด ทั้งแมลงทับ ด้วงดีด มอธเหยี่ยว มอธหนอนคืบ มอธลายเสือ มอธมะเดื่อ มอธชี ต่อนอนเว็น ผึ้งหลวง มวน จีนูน แตนเบียน แมงโหย่ง เรไร ฯลฯ 

เรียกว่าได้พินิจพิจารณาสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามอย่างใกล้ชิด และได้เรียนรู้ว่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีเหตุผลในการมีอยู่ แมลงตัวเล็ก ๆ เองก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศอันยิ่งใหญ่ด้วย

ปิดท้ายวันด้วยการพูดคุยกับทีมแพทย์และทีมงานสวนสัตว์ ทั้ง กฤษณ์-มงคล ส่งเสริมเจริญโชติ นักการศึกษาสวนสัตว์ สถาบันจัดการสวนสัตว์ หมออัม กบ-ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน 6 สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ และ หมอใหญ่-สพ.ญ.เสาวภางค์ สนั่นหนู หัวหน้าศูนย์เนื้อเยื่อสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ ถึงเรื่องราวตั้งแต่ครั้งยังทำงานกันที่สวนสัตว์ดุสิต ความทรงจำในวันที่ต้องส่งสมาชิกเขาดินไปทั่วไทย ทั้งการทำทางลาดอำนวยความสะดวกให้แม่มะลิฝึกเข้ากล่องขนย้าย ข้อจำกัดในการพาฮิปโปฯ ขึ้นทางด่วนก่อน 9 โมงเช้า จนถึงการทำลังขนย้ายพิเศษให้ยีราฟก้มหลบสะพานลอยและสายไฟรายทางตั้งแต่เขาดินจนถึงเขาเขียว รวมถึงตอบคำถามสำหรับคนที่อยากมีสวนสัตว์ของตัวเอง การซื้อขายสัตว์ถูกกฎหมายหรือไม่ ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง จนถึงเล่าเรื่องอาชีพเฉพาะที่คนทั่วไปไม่รู้อย่างจักษุสัตวแพทย์

จบวันด้วยการฟังดนตรีสดจาก แว่น-ไพโรจน์ วิสุทธิวงศ์รัตน์ ผู้เชี่ยวชาญการจัดกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บรรเลงเพลงซึ่งครั้งหนึ่งเคยเปิดวนอยู่ในเขาดิน แต่ปัจจุบันหาฟังแบบสมบูรณ์จากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว นั่นคือเพลงที่ระลึกถึงชายผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักอนุรักษ์ทั่วไทยอย่าง สืบ นาคะเสถียร ซึ่งบริเวณผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ เคยเป็นสถานที่ทำงานแรกของเขามาก่อน

วันที่ 2
สำรวจคลังอาหารและโรงพยาบาล

เริ่มวันด้วยการบุกคลังอาหาร ฝ่ายโภชนาการสัตว์ ตั้งแต่เช้าตรู่ เจ้าหน้าที่กำลังชั่งผักผลไม้แล้วแยกใส่ตามตะกร้าที่มีชื่อสัตว์แต่ละชนิดเขียนติดไว้ 

อาหารถือเป็นหนึ่งในสวัสดิภาพสัตว์ที่ต้องดูแลอย่างดี โดยทุกเช้าจะมีการตรวจรับอาหารเพื่อนำไปเตรียมและเก็บไว้ใช้สำหรับวันถัดไป ที่เป็นเช่นนั้นเพราะถ้าตรวจ ล้าง เตรียมอาหารในเช้าวันเดียวกัน จะทำให้กินอาหารไม่ตรงเวลา โดยวัตถุดิบทุกอย่างต้องได้รับการเก็บและเตรียมตามมาตรฐาน มีการสุ่มตรวจคุณภาพอย่างเสม่ำเสมอเดือนละครั้งโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หากมีปัญหาหรือไม่ได้มาตรฐานจะมีการส่งคืน

ภายในตะกร้านอกจากมีหญ้าเนเปียร์ หญ้าขน กล้วย ผักบุ้ง แคร์รอต ฟักทอง อะโวคาโด ส้ม ยังมีเนื้อหมู ไก่ ปลา จนถึงโยเกิร์ตและอาหารเสริมต่าง ๆ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน

รถขนอาหารกำลังจะขับออกไป พวกเรารีบแยกย้ายขึ้นรถตู้ไปรอตามจุดต่าง ๆ ทั้งกรงนกใหญ่ นกน้ำ เสือ ชะนี คาปิบาร่า แรด สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ในโซนแอฟริกา เพราะต่อจากนี้เราจะรับบทบาท Zookeeper เต็มตัว!

เดินเข้าหลังกรงไป สิ่งแรกที่ต้องทำคือนับจำนวนสมาชิกในกรงว่าอยู่กันครบไหม และอย่าลืมสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาด้วยว่าปกติดีหรือเปล่า ซึมเศร้าหรือไม่ ร่าเริงไหม มีบาดแผลอะไรหรือเปล่า จากนั้นก็เป็นการเตรียมอาหาร ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิด

เพื่อน ๆ จากกรงนกบอกว่าพวกเขาต้องหั่นผักผลไม้มากถึง 30 ถาด เพื่อให้เพียงพอต่อนกทั้งหมด ทางคาปิบาร่าก็ฟินกับการให้หญ้ายามเช้า ส่วนเราที่ไปโซนสัตว์เลื้อยคลาน ได้ลงมือกวาดบ่อเต่าอย่างแข็งขัน เอาอาหารที่เหลือจากเมื่อวานมาทิ้ง แวะเล่นกับเต่ายักษ์อัลดาบร้า เต่าบกขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เสร็จแล้วเข้าไปพูดคุยกับ พี่เอก ผู้ดูแลและกูรูประจำโซน พี่เขารักสัตว์เหล่านี้มากถึงขั้นเลี้ยงไว้ที่บ้าน มีบางส่วนที่นำมามอบให้สวนสัตว์ด้วย เท่านั้นยังไม่พอ พี่เอกศึกษาและเลี้ยงแมลงสาบดูเบียด้วยตัวเอง เพื่อนำมาเป็นอาหารเสริมให้กิ้งก่าเครา 

สำหรับงู พี่เอกบอกว่าจะมีการป้อนหนูและลูกเจี๊ยบอาทิตย์ละครั้ง แถมเขายังต้องพาเต่า งู ไปอาบแดดตอนเช้า และพากิ้งก่าไปอาบน้ำด้วย

ช่วงบ่ายยังมีแรงเหลือ เราไปกันต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ป่า หมอใหญ่พาเดินดูโซนอนุรักษ์ละมั่งพันธุ์ไทยและพันธุ์พม่า ซึ่งแยกเป็นกรงตัวผู้และกรงตัวเมีย มีทั้งลานออกกำลังกาย จนถึงส่วนที่ทำงานด้านการผสมพันธุ์ ปัจจุบันเรามีละมั่งพันธุ์ไทยเพียง 150 ตัวเท่านั้น มีการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว แต่ยังคงต้องปรับปรุงพันธุ์เพื่อคงความหลากหลายเอาไว้

เรากลับไปที่โรงพยาบาล ทีมแพทย์นำทางเราสำรวจตั้งแต่ห้องผ่าตัดที่มีทั้งเครื่องดมยา เครื่องเอกซเรย์ เครื่องอัลตราซาวนด์ จนถึงปืนยิงยาสลบและอุปกรณ์ทำเองอื่น ๆ เช่น ท่อเป่ายาสลบ แท่งช่วยสอดท่อช่วยหายใจซึ่งดัดแปลงมาจากของมนุษย์

ภายในอาคารยังมีห้องพักสัตว์ปีก ห้องตรวจรักษา และห้องสังเกตอาการสัตว์ป่วย เราเห็นลิงตัวหนึ่งอยู่ในกรงของห้องสังเกตอาการ ภายในกรงมีอุปกรณ์ส่งเสริมพฤติกรรมใส่ไว้ให้ตามความต้องการ เช่น อ่างน้ำหรือท่อนไม้สำหรับห้อยโหน ใกล้ ๆ กันคืออาคารชันสูตรโรคสัตว์ ภายในมีกลิ่นค่อนข้างแรง เพราะซากสัตว์ที่ตายในพื้นที่เขาเขียวทั้งหมดจะส่งมาชันสูตรที่นี่ ตั้งแต่สัตว์ในกรงจนถึงลิงแสมหรือลิงกังจากป่า เนื่องจากต้องดูว่าตายเพราะสาเหตุอะไร มีโรคติดต่อหรือไม่ และแน่นอนว่าที่นี่ต้องมีห้องเย็นเก็บซากและเตาเผาด้วย

ในส่วนงานใกล้กันคือศูนย์นวัตกรรมทางการสืบพันธุ์สัตว์ป่า หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า ‘แล็บฮอร์โมน’ จะมีการตรวจฮอร์โมนสัตว์เพื่อดูผลว่าสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร เป็นโรคหรือไม่ ระบบสืบพันธุ์สมบูรณ์ไหม ไปจนถึงตรวจฮอร์โมนความเครียดด้วย

จบวันที่ 2 ด้วยกิจกรรม ‘Zoo Night Walk’ เดินสวนสัตว์ยามค่ำคืนกับทีมมูลนิธิโลกสีเขียวและเจ้าหน้าที่จากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เป็นประสบการณ์สุดพิเศษที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว พวกเราก้าวขาให้เบาที่สุด ส่งเสียงให้เบาที่สุด และรบกวนสิ่งมีชีวิตให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ผลคือเราได้เจอเจ้าบ้านนอนหลับ ทั้งลิงบนต้นไม้ ยีราฟในโซนแอฟริกา แต่ก็มีบ้างที่ออกมาต้อนรับเราอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นงูดิน ตุ๊กแก กบ เขียด คางคก ปู่แฟลช หรืองูกะปะเจ้าถิ่น

วันที่ 3
ทำโพรงรังเทียมให้นกเงือก

เราเดินสูดอากาศสดชื่นขึ้นเขาไปยังพื้นที่โครงการเพาะขยายพันธุ์นกเงือกเพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ไทยเรามีนกเงือก 13 ชนิด และมีหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ วันนี้เรามาเห็นทั้งนกแก๊ก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกกาฮัง มีทั้งส่วนเพาะขยายพันธุ์และเตรียมปล่อยคืนสู่ป่า 

พวกเราช่วยกันเตรียมอาหารสำหรับนกเงือก หั่นมะละกอ กล้วย เนื้อ องุ่น แอปเปิล สาลี่ ใส่ในถาดพร้อมลูกเดือยและอาหารเสริม แต่เพื่อให้นกเงือกกินอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด วัตถุดิบครึ่งหนึ่งจึงนำไปปักไว้บนกิ่งของต้นแก้วป่า ซึ่งตัดมาจากบริเวณใกล้เคียงอาคารเลี้ยง รับรองว่าไม่มียาฆ่าแมลง เพราะเกิดและเติบโตจากป่าของจริง หากฝนไม่ตกชะล้างฝุ่น ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำความสะอาดให้

หลังจบภารกิจให้อาหาร เราก็หันมาทำโพรงรังเทียม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือนกเงือกบางชนิดมองหาที่ทำรัง-สร้างครอบครัวที่เหมาะสมไม่ได้ โพรงไม้บางต้นผุพังลึกลงไป จนนกเงือกตัวเมียเอาจะงอยปากมารับอาหารจากนกเงือกตัวผู้ที่ปากโพรงไม่ได้ ภารกิจของเราในวันนี้จึงเป็นการเพิ่มจำนวนบ้านนกเงือก โดยส่วนหนึ่งอาจใช้ในศูนย์เพาะขยายพันธุ์ฯ บางส่วนอาจแบกเข้าป่าลึกไปติดตามต้นไม้ในธรรมชาติ

ต้องเล่าก่อนว่านกเงือกตัวเมียจะกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่ในโพรงโดยไม่ออกไปไหน มีเพียงตัวผู้เท่านั้นที่บินหาอาหารและนำมาป้อนถึงจะงอยปากคู่รัก ดังนั้นแม่นกเงือกจึงใช้ดินและเศษอาหารปิดปากโพรงให้เล็กสุดจากภายใน สาเหตุก็เพื่อป้องกันงูหรือสัตว์อื่นเข้ามาทำร้าย เมื่อไหร่ที่ลูกนกเงือกพร้อมโบยบิน แม่นกจะกระเทาะปากโพรงให้เปิดจนบินออกไปได้ 

เราเคยได้ยินว่า หากใครยิงนกเงือกตาย นั่นอาจเป็นพ่อนกที่ต้องหาอาหารเลี้ยงอีก 2 ชีวิตก็ได้ การฆ่านกเงือกเพียง 1 ตัวอาจหมายถึงการสังหารนักปลูกป่าทั้งครอบครัว เพราะแม่นกเองก็กลัวว่าทิ้งลูกในรังไปอาจมีงูมาทำร้ายลูกของมันก็ได้

กลับมาที่การสร้างโพรงรังเทียม บางโพรงทำจากถังเหล็กเคลือบสีกันสนิม บางโพรงสร้างจากแผ่นไม้ ซึ่งวัสดุและขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดนกเงือก ส่วนหน้าที่ของเราคือการผสมปูนมาโบกทับขอบปากโพรง โดยบริเวณนั้นจะมีเหล็กที่ถูกติดไว้เพื่อเสริมความแข็งแรง แม้จะถูกกระทบหรือกระเทาะบ่อย ๆ ก็ไม่พัง

เราใช้เวลาครึ่งวันเช้ากับโพรงรังเทียมทั้ง 6 รัง หลังถ่ายรูปร่วมกันด้วยความภูมิใจ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลนกเงือกก็ส่งพวกเรากลับที่พักด้วยคำพูดแสนสั้นแต่เปี่ยมไปด้วยความหมาย 

เขาบอกว่า “ขอฝากนกเงือกไว้กับทุกคนด้วย” 

ทุกคนในที่นี่เป็นชาวเมืองผู้ห่างไกลจากป่า ห่างไกลจากธรรมชาติ แม้ใกล้ชิดก็ไม่เหมือนเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานในสวนสัตว์แห่งนี้ แต่ถึงแม้ตัวจะห่างไกล วันนี้เรากลับรู้สึกได้เข้าใกล้ธรรมชาติมากยิ่งขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในแง่ความเข้าใจ 

คำถามว่า สวนสัตว์มีไว้ทำไม ได้คำตอบผ่านทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น

แสงสว่างและคำขอบคุณส่งถึงคนทำงานผู้อยู่เบื้องหลัง เรื่องราวของพวกเขาจะเป็นที่จดจำ เช่นเดียวกับสัตว์มากมายที่พวกเขาเลี้ยงดูอย่างแข็งขันด้วยใจรักจริง

ไม่จำเป็นต้องเป็นสัตวแพทย์หรือ Zookeeper โดยตรง ขอเพียงเข้าใจและมีใจรัก เมื่อใดที่ทัศนคติของคนเปลี่ยน การอนุรักษ์จะเริ่มต้น

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographers

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Avatar

ศวิตา ศีลตระกูล

อดีตนักเรียนภาพยนตร์ ชอบมองภาพผ่านหลังกล้อง ชอบเล่าเรื่องผ่านภาพมากกว่าพูดเอง ชอบกินชาไทยตอนเช้า และกินชาเขียวตอนกลางคืน