6 กันยายน 2023
854

เสือเป็นศักดิ์ศรีของป่า ป่าไหนไม่มีเสือ ป่านั้นไม่ควรจะเรียกว่าป่า

พนมเทียน

ในบรรดาเสือที่พบในประเทศไทย 9 ชนิด คือเสือปลา แมวดาว แมวลายหินอ่อน แมวป่าหัวแบน แมวป่า เสือโคร่ง (สายพันธุ์อินโดจีน) เสือไฟ เสือดาว นั้น ‘เสือโคร่ง’ หรือ ‘เสือลายพาดกลอน’ จัดว่าขนาดใหญ่ที่สุด ลำตัวสีเทาอมเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง น้ำหนัก 200 กว่ากิโลกรัม แต่มีความปราดเปรียวในการล่า เป็นสัตว์ผู้ล่าที่สง่างามที่สุด จนได้ฉายาว่า ‘ราชันแห่งป่าดงดิบ’

ในอดีต ป่าเมืองไทยเคยมีเสือโคร่งเดินท่องไพรล่าสัตว์อยู่หลายแห่งกระจัดกระจายไปในป่าทั่วประเทศ แต่เสือโคร่งถูกไล่ล่าเป็นจำนวนมาก ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว แม้แต่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เสือโคร่งที่เคยมีและปรากฏตัวให้นักท่องเที่ยวเห็นบ่อย ๆ ก็หายไปจากป่าใหญ่ผืนนั้น จากการถูกล่าอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เพื่อส่งไปเป็นยาแผนโบราณขายในเมืองจีน 

เมื่อ 400 ปีก่อน ตำราแพทย์แผนโบราณของจีนเคยบันทึกไว้ว่ากระดูกเสือแก้โรคไทฟอยด์และมาลาเรีย เนื้อเสือแก้และบำรุงโรคไต อวัยวะเพศของเสือช่วยกามตายด้านของผู้ชายและประจำเดือนมาไม่ปกติของผู้หญิง เสือโคร่งจึงมีมูลค่าสูงถึงตัวละ 60,000 ดอลลาร์ฯ ในตลาดเมืองจีน ใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัว ตั้งแต่หนังเสือ เนื้อ กระดูก ไปจนถึงอวัยวะเพศ สร้างแรงจูงใจให้ขบวนการค้าสัตว์ป่าอย่างไม่หมดสิ้น และทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดซื้อขายสัตว์ป่าที่เติบโตเร็วสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เสือโคร่งจำนวนมากในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็หนีไม่พ้นเป้าหมายการไล่ล่าตามใบสั่งของพ่อค้ามาตลอด แต่ภายหลังการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตฯ แห่งนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 ได้สร้างความตื่นตัวให้ผู้คนและรัฐบาลหันมาสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติมากขึ้น 

33 ปี สืบ นาคะเสถียร จากเสียงปืนที่ดังก้องป่า สู่การทวงพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งให้เสือโคร่ง

และต่อมา จากรายงานความสมบูรณ์ของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าห้วยขาแข้งที่คุณสืบจัดทำขึ้นก่อนเสียชีวิต เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้ง 2 แห่งได้รับการประกาศเป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งแรกในประเทศใน พ.ศ. 2534 พร้อมทั้งการเสนอแนวทางจัดการพื้นที่โดยรอบผืนป่ามรดกโลก นั่นคือผืนป่าตะวันตก เพื่อเป็นผืนป่ากันชนในการปกป้องมรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

การดูแลและใส่ใจการอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้งพื้นที่ 1,737,587 ไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร 2 เท่าจากทุกภาคส่วนจึงค่อย ๆ เกิดขึ้น ตั้งแต่การเพิ่มงบประมาณ การเพิ่มเจ้าหน้าที่ การส่งหัวหน้าเขตฯ ที่เข้าใจปัญหาและทุ่มเทอย่างเต็มที่มาดำรงตำแหน่ง ไปจนถึงความร่วมมือกับภาคสังคม ภาคประชาชน อาทิ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคนทำงานในพื้นที่ เกิดแผนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ การจัดการพื้นที่แนวกันชนและป่าชุมชน ทำให้ปัญหาต่าง ๆ การล่าสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่าในป่าใหญ่แห่งนี้ค่อย ๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ใน พ.ศ. 2541 รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของขนาดและการกระจายตัวของประชากรกระทิงและวัวแดงในป่าห้วยขาแข้ง เป็นเวลาต่อเนื่องกันกว่า 10 ปี เปิดเผยผลการวิจัยจากการเก็บข้อมูลด้วยการเดินเท้าและนับกองมูลของสัตว์ทั้ง 2 ชนิดที่พบใน พ.ศ. 2531, 2535, 2538, 2541 ผลการวิจัยพบว่า ความหนาแน่นของวัวแดงและกระทิง (ตัว / ตารางกิโลเมตร) คือ 1.6, 12, 1.4 และ 1.2 ตามลำดับ แม้จะมีนัยว่า ภายหลังการตายของคุณสืบ จำนวนวัวแดงและกระทิงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทว่าข้อมูลนี้บอกอะไร

ดร.สมโภชน์ กล่าวว่า ตัวการที่ทำให้ปริมาณของกระทิงและวัวแดงไม่เพิ่มขึ้นคือผู้ล่า ซึ่งได้แก่ เสือโคร่งและเสือดาว เพราะในมูลของเสือโคร่งและเสือดาวพบขนของวัวแดงบ่อยขึ้นจากเมื่อก่อนที่มักเป็นขนของเก้งและกวางเท่านั้น

เป็นการพิสูจน์ว่าเสือโคร่งเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงเป็นการควบคุมสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ และมีเหยื่อให้ล่าอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังมีอาณาเขตกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าอนุรักษ์ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ไม่ด้อยไปกว่ากัน

ใน พ.ศ. 2565 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่าผืนป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรมีเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนอาศัยอยู่ประมาณ 100 ตัว เกินกว่าครึ่งของจำนวนเสือโคร่งที่มีอยู่ในป่าธรรมชาติของประเทศไทย – ประมาณ 140 – 180 ตัว 

กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีข่าวแม่เสือโคร่งตัวหนึ่งให้กำเนิดลูกน้อยกลางป่าห้วยขาแข้งจำนวน 2 ตัว เป็นเสือโคร่งชื่อ ‘อภิญญา’ ซึ่งนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียม คอยเฝ้าติดตามชีวิตและศึกษาเรื่องราวความเป็นอยู่ของเธอมาโดยตลอด นับตั้งแต่วันท้องย้วยจนถึงวันท้องยุบ เช่นเดียวกับเสือโคร่งอีกหลาย ๆ ตัวในป่าห้วยขาแข้ง 

33 ปี สืบ นาคะเสถียร จากเสียงปืนที่ดังก้องป่า สู่การทวงพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งให้เสือโคร่ง

กล่าวได้ว่าห้วยขาแข้งคือแหล่งพันธุกรรมเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนแห่งสุดท้ายของโลก เพราะหากมองไปที่อื่น เสือโคร่งชนิดนี้ในประเทศเวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา นับวันมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่บางแห่งก็สูญพันธุ์ไปแล้ว

จากข้อมูลงานวิจัยของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้ตรวจวัดประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าสัตว์หลัก ๆ ที่เสือโคร่งชอบกิน 5 อันดับ ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง และหมูป่า ซึ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบสัตว์ทั้ง 5 ชนิด โดยมีความหนาแน่น 6 ตัว / ตารางกิโลเมตร 

คำนวณได้ว่าเสือโคร่งตัวหนึ่งใช้พื้นที่หากินประมาณ 200 – 300 ตารางกิโลเมตร หรือโดยใน 1 ปี เสือโคร่ง 1 ตัวจะล่าเหยื่อประมาณ 54 ตัวเพื่อเป็นอาหาร ในป่าห้วยขาแข้งจึงมีปริมาณอาหารเพียงพอ จากการเพิ่มจำนวนของสัตว์กีบกินพืช เช่น มีกระทิงประมาณ 1,000 ตัว และวัวแดง 450 ตัว

เสือโคร่ง ในฐานะสัตว์ผู้ล่าขั้นสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร จึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่อย่างชัดเจน การมีถิ่นอาศัยอย่างเพียงพอ และมีพื้นที่ปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เสือโคร่งยังขยายพื้นที่การล่าสัตว์กระจายจากห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน ต่อเนื่องถึงอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าทางตอนเหนือ และกระจายตัวลงมาถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระทางตอนใต้ ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของป่าตะวันตก ป่าอนุรักษ์ที่มีความต่อเนื่องขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ พื้นที่รวม 11.7 ล้านไร่ หรือ 18,727 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่งและอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด คือตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

เสือโคร่งถูกระบุในบัญชีสัตว์ชนิดใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น คาดว่าประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลือเพียง 3,062 – 3,948 ตัว ในปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งมากที่สุด สาเหตุหลักที่ทำให้พวกมันลดจำนวนลงอย่างมาก ได้แก่ การรุกล้ำและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการล่าโดยมนุษย์

33 ปี สืบ นาคะเสถียร จากเสียงปืนที่ดังก้องป่า สู่การทวงพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งให้เสือโคร่ง

ดร.เดวิด สมิธ (J. L. David Smith Professor) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งเปิดเผยข้อมูลว่า ทั่วโลกอาจเหลือพื้นที่ที่รองรับการกระจายพันธุ์เสือโคร่งได้เพียง 4 แห่งเท่านั้น โดยกลุ่มป่าตะวันตกของประเทศไทยคือหนึ่งในพื้นที่ตรงนั้น

โดยในกลุ่มป่าตะวันตกนั้นมีป่าห้วยขาแข้งเป็นเมืองหลวง เป็นบ้าน และเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญของเสือโคร่ง

33 ปีผ่านไป เสียงปืนนัดนั้นของ สืบ นาคะเสถียร ยังดังกึกก้องส่งเสียงสะเทือนถึงวันนี้จริง ๆ

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว