27 กุมภาพันธ์ 2020
5 K

ล้อมวงมาฟังเรื่องเล่าชีวิตของแพทย์ชาวไอริชที่หันเหไปสำรวจพืชพรรณ และใช้เวลากว่า 30 ปีในประเทศไทย ค้นหาว่าเพราะเหตุใดแผ่นหินฝังร่างในวาระสุดท้าย จึงสลักบทสรุปผลงานของชีวิตทรงคุณค่าว่า ‘นักพฤกษศาสตร์ในเมืองไทย’

ในชีวิตสั้นๆ ของคนคนหนึ่ง เราทำอะไรได้มากมายเพียงใด 

วันเวลาในแต่ละวันของเรานับได้ 24 ชั่วโมงเท่ากันทุกคน บางคนก็ปล่อยให้มันผ่านไปแบบไร้จุดหมาย แต่ใครบางคนใช้เวลาชีวิตของเขา ทำสิ่งที่จะมีผู้คนกล่าวถึง รำลึกถึงตราบนานเท่านานหลังจากเขาจากโลกนี้ไป 

วันนี้ เราชวนมาสัมผัสกับชีวิตนายแพทย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาถึง 30 ปีในประเทศไทย ในยุคสมัยที่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ต้องใช้รถไฟ ต่อด้วยล่อล่องเรือแรมเดือน

วันเวลาที่มีไข้ป่า สัตว์ผู้ล่า และโจรผู้ร้าย ในป่าทึบทุกทิศทางที่ออกจากรัศมีเมือง

นายแพทย์ผู้เปลี่ยนทิศชีวิตตนเองไปเป็นนักพฤกษศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมเพาะปลูก ได้เป็นพระยาแรกนา ดั้นด้นสำรวจพรรณพืชของประเทศไทยทั่วทุกภาค จากยอดดอยสูงถึงชายฝั่งทะเลทางใต้สุด จดบันทึกทุกการเดินทางในสมุดบันทึกกว่า 4,000 หน้า ถ่ายภาพกว่า 3,000 ภาพ วาดแผนที่ และเก็บตัวอย่างพรรณพืชกว่า 25,000 ชิ้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็น ‘ตำรา’ ที่ประเมินค่าไม่ได้ และเป็นรากฐานของการศึกษาพรรณพืชของประเทศไทย

นักพฤกษศาสตร์ ดร.อาเธอร์ คาร์ (Dr.Arthur Kerr) 

หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘หมอคาร์’ ใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตสร้างผลงานมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ท่านใช้ชีวิตที่พวกเราอาจใช้เป็นแรงบันดาลใจยามเกิดความรู้สึก ‘หมดไฟ’ ที่เป็นโรคฮิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน

มาดูกันว่าการใช้ชีวิตที่ล้ำค่า สร้างผลงานให้เป็นที่จดจำและน่าเคารพยกย่องนั้นทำอย่างไร

ผู้คนทั่วไปแม้แต่คนไทยอาจไม่เคยได้ยินชื่อของ นายแพทย์ อาเธอร์ คาร์ แต่นักพฤกษศาสตร์ไทยนับถือท่านเป็นบูรพาจารย์ และนักพฤกษศาสตร์ทั่วโลกที่ศึกษาพรรณพืชในประเทศไทยต่างก็ยกย่องให้ท่านเป็น ‘บิดาแห่งวงการพฤกษศาสตร์ไทย’

Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และ บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
หมอคาร์ขณะเป็นแพทย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาพ : บทความของจาค็อบ (1962)

“ศาสตราจารย์พาร์เนลล์และชาวต่างชาติรุ่นหลังหลายคนมีข้อกังขาว่า เหตุใดคนไทยจึงเรียก Dr. Arthur Kerr ว่า ‘หมอคาร์’ ทั้งๆ ที่ตัวสะกดเขียนว่า ‘เคอร์’ ศาสตราจารย์พาร์เนลล์กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินคนสกอต คนไอริช หรือคนอังกฤษ อ่านนามสกุลนี้ว่า ‘คา’

อย่างไรก็ตาม นักพฤกษศาสตร์ไทยซึ่งเป็นรุ่นศิษย์ของศิษย์ที่ใกล้ชิดกับหมอคาร์ ทั้งจากหอพรรณไม้และพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ ยืนยันตรงกันว่า หมอคาร์เขียนภาษาไทยได้ พูดภาษาไทยได้ และท่านให้ใครๆ เรียกท่านว่า ‘หมอคาร์’ มาตั้งแต่ต้น

แม้แต่จาค็อบผู้รวบรวมชีวประวัติของหมอคาร์ และได้พบปะพูดคุยกับบุตรสาวทั้งสามคนของ ดร.คาร์ ยังใส่เชิงอรรถไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า นามสกุลนี้อ่านว่า ‘car’

สกุล Kerr นี้เป็นคนพื้นเมืองอังกฤษเขตรอยต่อกับสกอตแลนด์ และอ่านออกเสียงคำนี้ว่า car นอกจากนั้นในบางแห่งในอังกฤษยังสะกดคำนี้ว่า Carr อีกด้วย”

ศาสตราจารย์ ดร.จอห์น พาร์เนลล์ (Professor Dr. John Parnell)

บทความชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากบทความหลายชิ้น และการบรรยายหลายครั้งของ ศาสตราจารย์ ดร.จอห์น พาร์เนลล์ (Professor Dr. John Parnell) ศาสตราจารย์จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ Trinity College เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่จัดเป็นซีรีส์ใน 3 จังหวัดของประเทศไทย ในชื่อ ‘A life well lived: the pioneering Irish doctor, AFG Kerr – the Father of Thai Botany’ ภายใต้การสนับสนุนหลักของสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งข้อมูลจากบทความยาว 67 หน้าของนักพฤกษศาสตร์ มาเรียส จาค็อบ (Marius Jacobs, 1929 – 1983) ซึ่งสืบค้นชีวประวัติของหมอคาร์อย่างละเอียดละออ ตีพิมพ์ในวารสาร Blumea ตั้งแต่ ค.ศ. 1962

ที่สำคัญที่สุดนอกจากนั้น คือความเห็นและคำแนะนำจากนักพฤกษศาสตร์ไทย ดร.สมราน สุดดี จากหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์พืชที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเคยสืบค้นเรื่องราวของหมอคาร์ขณะดำรงตำแหน่งนักพฤกษศาสตร์ ณ พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์พืชที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย ‘หมอคาร์’ และมีอายุครบรอบ 100 ปีในปีนี้

ศาสตราจารย์พาร์เนลล์เป็นชาวสกอตที่ข้ามทะเลมาเรียนพฤกษศาสตร์ที่ทรินิตี คอลเลจ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและมีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี กลางเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ณ ตึกพฤกษศาสตร์แห่งนั้น อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความรู้และพืชพรรณจากทุกมุมโลก ที่เก็บด้วยมือของนักธรรมชาติวิทยาระดับตำนาน ทั้ง ชาร์ลส์ ดาร์วิน, เซอร์โจเซฟ ฮุกเกอร์, จอห์น ลินด์ลี่ และคนอื่นๆ รวมทั้งผลงานการสำรวจที่เดินทางมาจากโพ้นทะเลของนายแพทย์อาร์เธอร์ คาร์

หลายสิบปีต่อจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์พาร์เนลล์ก็ได้เดินทางกลับไปกลับมาหลายสิบครั้ง สู่ต้นทางของตัวอย่างมากมายมหาศาล ย้อนรอยการเดินทางของหมอคาร์ สู่ป่าเขาของประเทศเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าสู่ประเทศไทย

ศาสตราจารย์พาร์เนลล์กลายเป็นแฟนคลับของพรรณไม้ในเมืองไทย เขาเดินทางสำรวจพรรณพืชไปในทุกภูมิภาคของไทย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนานาชาติในโครงการ ‘พรรณพฤกษชาติประเทศไทย’  หรือ ‘Flora of Thailand’ ซึ่งมีเป้าหมายรวบรวมข้อมูลพรรณพืชมากกว่า 10,000 ชนิดที่พบในเมืองไทย ด้วยความร่วมมือของนักพฤกษศาสตร์ไทยและจากทั่วโลกให้ครบถ้วนสมบูรณ์ภายใน ค.ศ. 2024 

ศาสตราจารย์พาร์เนลล์เริ่มการบรรยายของท่าน โดยย้อนไปว่าเหตุใดท่านจึงเริ่มสนใจค้นคว้าเรื่องราวชีวิตของหมอคาร์

“ผมได้รับมอบหมายให้เป็น Keynote Speaker บรรยายเรื่องเกี่ยวกับ ดร.คาร์ ใน Flora of Thailand Conference ในปีนั้นเป็นการฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีความร่วมมือของชาวยุโรปกับประเทศไทยในการสำรวจพรรณพืชในเมืองไทย” 

ศาสตราจารย์พาร์เนลล์หมายถึงการประชุมนานาชาติโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปี ในแต่ละครั้งมีนักพฤกษศาสตร์ไทยและจากทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 200 คน ใน ค.ศ. 2014 จัดขึ้นที่สวนพฤกษศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ

“ในตอนนั้นที่เริ่มคิดจะหาข้อมูลเกี่ยวกับ ดร.คาร์ ได้อ่านชีวประวัติที่จาค็อบเขียนไว้ยาวถึงหกสิบเจ็ดหน้า แล้วก็คิดว่าไม่น่าจะมีข้อมูลอะไรใหม่ แต่พอได้ค้นมากขึ้น ได้เห็นผลงานมากขึ้น ได้วิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น ก็รู้สึกทึ่งมากว่า ดร.คาร์ เป็นคนที่เรียกได้ว่า Superactive เลยทีเดียว”

ในการบรรยายครั้งนั้น ศาสตราจารย์พาร์เนลล์สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง ด้วยภาพหินบนหลุมฝังศพของ ดร.คาร์ ที่สลักบรรทัดสุดท้ายไว้ว่า

‘Botanist in Thailand’

และหากจะเอ่ยถึง ‘จุดเริ่มต้น’ ของ ‘บทสรุป’ ชีวิตของ ‘นักพฤกษศาสตร์ในเมืองไทย’ ท่านนี้ คงต้องย้อนกลับไปถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในวันที่นายแพทย์หนุ่มจบใหม่ชาวไอริช ดร.อาร์เธอร์ คาร์ เดินทางถึงประเทศไทย

เปิดตำนาน

Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และ บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และบิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
หินสลักบนหลุมฝังศพของหมอคาร์มีข้อความว่า “อาเธอร์ ฟรานซิส จอร์จ คาร์ บุตรชายคนโตของอีเลียส วิลเลียม และแฟนนี่ คาร์ ถึงแก่กรรมที่เมืองเฮส์ ในมณฑลเคนท์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1942 อายุ 65 ปี นักพฤกษศาสตร์ในเมืองไทย” 

อาร์เธอร์ ฟรานซิส จอร์จ คาร์ (Arthur Francis George Kerr) เกิดที่เมือง Kinlough ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1877 หลังจากนั้นครอบครัวได้ย้ายลงไปทางใต้ และเด็กชายคาร์ก็ได้เข้าโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของที่นั่น คือ Dorchester Grammar School ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1567 และต่อมาก็เข้าเรียนที่ทรินิตี คอลเลจ ซึ่งเก่าแก่ไม่แพ้กัน (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1592) ท่านได้รับปริญญาหลายใบ รวมทั้งปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Arts) สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในค.ศ. 1897 และจบแพทย์ (Bachelor of Medicine และ Doctor of Medicine) ในเวลาต่อมา

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งจากวัยเยาว์ของ ดร.คาร์ ก็คือโรควัณโรคในกระดูกที่แขนขวา ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในการเขียนและมีลายมืออ่านยากระดับตำนาน นักพฤกษศาสตร์รุ่นหลังพากันอ่อนใจที่ต้องช่วยกันเดาลายมือในบันทึกและคำบรรยายประกอบตัวอย่างพืช แต่ด้วยว่าบันทึกเหล่านั้นมีจำนวนมาก ครอบคลุมพืชแทบทุกกลุ่ม จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย และละเอียดละอออย่างยิ่ง จึงไม่มีใครมองข้ามไปได้

 การผจญภัยของหมอหนุ่มชาวไอริช

ในระหว่างการเรียนที่ทรินิตี คอลเลจ ในช่วงปีแรกๆ นักศึกษาคาร์สนใจการศึกษาพฤกษศาสตร์เป็นอย่างมาก จึงสนิทสนมกับ ศาสตราจารย์ เอช. เอช. ดิกซ์สัน (Professor H. H. Dixon) นักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของโลก (จากการศึกษาเซลล์วิทยาและสรีรวิทยาการลำเลียงน้ำในพืช) นักศึกษาคาร์ได้รับปริญญาตรีด้านธรรมชาติวิทยาใน ค.ศ. 1897 และทันทีที่จบแพทย์ใน ค.ศ. 1901 ศาสตราจารย์ดิกซ์สันจึงช่วยให้ ดร.คาร์ ได้เริ่มงานเป็นแพทย์ครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าสยาม และทั้งที่การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้ลา ล่อ หรือใช้เรือทวนกระแสน้ำขึ้นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำปิงเป็นเวลาถึง 4 สัปดาห์ กว่าจะถึงตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ ดร.คาร์ ก็ยังเดินทางไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา และเก็บตัวอย่างพืชจำนวนมากมายมหาศาลในช่วงเวลา 30 ปีที่อยู่ในประเทศไทย

ดร.คาร์ แพทย์หนุ่มอายุ 25 ปี ออกเดินทางใน ค.ศ. 1902 เพื่อทำงานในตำแหน่งแพทย์ผู้ช่วยของ ดร.ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต (Dr.Hugh Campbell Highet) แพทย์ผู้นำวัคซีนไข้ทรพิษหรือฝีดาษเข้ามาใช้ในเมืองไทยเป็นคนแรก ระหว่างการเดินทางยาวนานในเรือข้ามทวีป ดร.คาร์ ได้พบกับเดซี่ จัดด์ (Daisy Muriel Judd) สาวน้อยอายุ 18 ปี น้องสาวของแมรี่ จัดด์ ภรรยาของนายแพทย์ไฮเอตซึ่งร่วมเดินทางมาสยามด้วย และในปีต่อมาทั้งคู่ก็แต่งงานกันที่จังหวัดเชียงใหม่ คงเป็นที่นี่ที่ ดร.คาร์ ชาวไอริช กลายเป็น ‘หมอคาร์’ ของคนสยาม 

ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติในจังหวัดเชียงใหม่ทำให้หมอคาร์หันมาสนใจกล้วยไม้ ในระยะแรกก็เพียงท่องเที่ยวไปในป่ารอบๆ เมืองเชียงใหม่ เก็บกล้วยไม้ป่ามาปลูกไว้ที่บ้านจนกระทั่งมันพากันออกดอกบานสะพรั่ง จากนั้นไม่นาน หมอคาร์ก็เริ่มวาดรูปกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก โดยร่างภาพกล้วยไม้ด้วยดินสอบนกระดาษ ซึ่งปัจจุบันเย็บไว้เป็นสมุดภาพขนาดใหญ่ 2 เล่ม และเก็บรักษาอยู่ที่สวนพฤกษศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ ภาพแรกที่หมอคาร์วาดเป็นภาพของกล้วยไม้นวลผ่อง ลงวันที่ไว้ว่า 15 มกราคม ค.ศ. 1904 หลังจากนั้นท่านก็วาดรูปอย่างจริงจังและลงลำดับของทุกภาพต่อเนื่อง นับถึงต้น ค.ศ. 1908 เพียง 4 ปีนับจากที่วาดภาพแรกก็มีผลงานที่มีรายละเอียดน่าทึ่งของกล้วยไม้มากถึง 215 ชนิดเลยทีเดียว

กล้วยไม้ไทย
กล้วยไม้นวลผ่อง หรือ Eria pulchella Lindl ภาพ : www.orchidspecies.com

หมอคาร์ฝึกการเป็นนักสำรวจด้วยตนเอง ท่านวาดแผนที่การสำรวจอย่างประณีตโดยใช้หมึก บันทึกแม่น้ำและเส้นทางเดิน รวมทั้งเนินเขา หมู่บ้าน และยังจดวันที่ที่สำรวจไว้ตลอด บางส่วนของแผนที่ก็เว้นว่างไว้ ทำให้ทราบได้ว่า ท่านจะไม่บันทึกสิ่งที่ไม่ได้เห็นเองกับตา พิกัดที่ละเอียดลออบนแผนที่เหล่านี้ได้จากการใช้เข็มทิศและบารอมิเตอร์วัดระดับความสูงจากน้ำทะเล

ในเวลานั้น หนังสือ พรรณพืชของบริติชอินเดีย ตีพิมพ์ครบถ้วนเรียบร้อยหลายปีแล้ว แต่การศึกษาพรรณพืชของสยามเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลย ดังนั้น การศึกษาของหมอคาร์จึงมีคุณค่าอย่างสูง เมื่อหมอคาร์เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรก ท่านได้นำภาพวาดดอกกล้วยไม้กลับไปยังสวนพฤกษศาสตร์คิว และเมื่อนักพฤกษศาสตร์ที่นั่นได้เห็น ก็สนใจพรรณพืชจากสยามเป็นอย่างมาก พวกเขาจึงแนะนำให้หมอคาร์เก็บตัวอย่างสำหรับพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium Specimen) ตัวอย่างเหล่านี้มักเป็นชิ้นส่วนกิ่งทับแห้ง ยาวประมาณ 30 ซม. มีใบ ดอก ผล และเมล็ด เย็บติดบนกระดาษแข็ง มีชื่อพืช ชื่อผู้เก็บ วันที่ สถานที่เก็บตัวอย่าง และคำบรรยายลักษณะโดยย่อของพรรณพืชชิ้นนั้น โดยมักเก็บมากกว่า 1 ซ้ำ (Duplicate) ส่งไปเก็บรักษาเพื่อการศึกษาในพิพิธภัณฑ์พืชมากกว่า 1 แห่งในประเทศต่างๆ

Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และบิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และบิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
แผนที่เกาะเต่า ตีพิมพ์โดยหมอคาร์ จากภาพร่างในสมุดโน้ตที่บันทึกระหว่างการเดินทาง ภาพ : บทความของศาสตราจารย์พาร์เนลล์ และคณะ (2015)

ทันทีที่หมอคาร์กลับมาถึงสยามอีกครั้ง ท่านก็ได้เก็บตัวอย่างพืชชิ้นแรกในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1908 ที่ปากน้ำโพ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นปลายทางสุดท้ายของรถไฟจากกรุงเทพฯ จากนั้นต้องลงเรือล่องไปตามลำน้ำแม่ปิง เมื่อท่านเดินทางถึงเชียงใหม่ใน 2 สัปดาห์ต่อมา ก็ได้เก็บตัวอย่างไปแล้ว 8 ชิ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจมากมายมหาศาลในเวลาต่อมา

แม้ว่าหมอคาร์จะบ่นในจดหมายที่ส่งไปยังนักพฤกษศาสตร์ที่สวนพฤกษศาสตร์คิวว่า ท่านมีเวลาเก็บตัวอย่างเพียงเดือนละ 1 วัน แต่ในภายหลังก็พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด ศาสตราจารย์วิลเลียม จี. เครบ (Professor W. G. Craib, 1882 – 1933) นักพฤกษศาสตร์ที่สวนพฤกษศาสตร์คิวได้รับมอบหมายให้ศึกษาตัวอย่างที่หมอคาร์ส่งมาจากสยามอย่างจริงจัง และตีพิมพ์รายงานเรื่องพรรณพืชของสยาม Contributions to the Flora of Siam ในวารสารวิชาการคิว (Kew Bulletin) เมื่อค.ศ. 1911 ต่อจากบทความของหมอคาร์เรื่อง พรรณพืชดอยสุเทพ ในฉบับเดียวกัน และศาสตราจารย์เครบได้ตีพิมพ์ชื่อพืชชนิดใหม่เมื่อได้รับตัวอย่างจากหมอคาร์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

หมอคาร์สร้างกระท่อมไว้บนดอยขุนช่างเคี่ยนและแวะค้างแรมเมื่อขึ้นไปสำรวจดอยสุเทพในวันว่าง 2 – 3 วัน เรียกว่าท่านได้สำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณพืชทั่วทั้งดอย ท่านเก็บตัวอย่างอย่างพิถีพิถัน ลงหมายเลขและรายละเอียดไม่ตกหล่น แม้ว่าหมอคาร์จะตาบอดสี แต่ท่านก็ขอให้คนอื่นช่วยดูให้เพื่อเขียนชื่อสีให้ถูกต้องกำกับไปกับตัวอย่าง หากตัวอย่างไม่สมบูรณ์ ท่านก็จะกลับไปเก็บดอก ผล เมล็ด ให้ครบถ้วน มีครั้งหนึ่งที่ตัวอย่างจากสยามหายไปทั้งกล่องระหว่างการจัดส่งข้ามทวีป ท่านก็มีมานะเก็บตัวอย่างใหม่มาทดแทนอย่างครบถ้วน 

ควรต้องเอ่ยถึง ณ ที่นี้ว่าก่อนการสำรวจของหมอคาร์ มีรายงานการสำรวจพืชในเมืองไทยมาก่อนบ้างแล้ว แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น การศึกษาโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ดร.คาร์ล ซี. ฮอสซีอุส (Dr. Carl C. Hosséus) เมื่อ ค.ศ. 1904 และ 1906 ซึ่งศาสตราจารย์เครบได้อ้างอิงไว้ในรายงานด้วย

ด้วยอาชีพแล้ว หมอคาร์มีหน้าที่ดูแลรักษาข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และยังเข้าไปดูแลคนป่วย ให้วัคซีนตามหมู่บ้านนอกเขตเมือง กล่าวกันว่าท่านเป็นหมอมีฝีมือคนหนึ่ง และแม้จะมีปัญหาเรื่องแขน แต่ก็ผ่าตัดได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นหมอคาร์ยังสนใจการทำวิจัย เช่นที่ได้ศึกษาเรื่องพยาธิในลำไส้อย่างจริงจัง หมอคาร์เป็นหมอที่ใส่ใจคนไข้ ถึงกับมีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า เมื่ออายุ 11 ปี เธอป่วยเป็นไทฟอยด์และได้รับการรักษาจากหมอคาร์ หลังจากนั้น เธอได้รับโปสการ์ดภาพถ่ายกล้วยไม้จากหมอคาร์ ที่ส่งมาให้กำลังใจเธอครั้งละ 1 รูป ภาพถ่ายเหล่านี้หมอคาร์เป็นผู้ถ่ายภาพด้วยตัวเอง

 หมอคาร์กลับไปอังกฤษช่วง ค.ศ. 1913 และเกิดสงครามขึ้นพอดี เมื่อท่านกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ท่านก็ได้ทราบว่าตำแหน่งเดิมที่เชียงใหม่ไม่ว่างเสียแล้ว ดังนั้นท่านจึงอยู่รองานตำแหน่งถาวรในกรุงเทพฯ ช่วงนั้นท่านถูกส่งตัวไปช่วยรักษาโรคระบาดในภูมิภาคต่างๆ และเป็นครั้งแรกที่ได้ลงใต้ จึงถือโอกาสสำรวจเก็บตัวอย่างพรรณไม้ระหว่างทาง

เจ้ากรมเพาะปลูก

ในช่วงนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริขยายงานการสำรวจพรรณพืชในประเทศไทย หมอคาร์จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ร่างแผนการดำเนินงาน และทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมตรวจพันธุ์รุกขชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) เพื่อทำหน้าที่สำรวจและตรวจสอบงานที่เกี่ยวข้องกับงานพฤกษศาสตร์ โดยมีพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ (Bangkok Herbarium: BK) เป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ที่สำรวจพบและการจัดเก็บตัวอย่างพืชตามหลักสากล เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำหรับการตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ตั้งแต่นั้นมาหมอคาร์ก็ทำงานเป็นนักพฤกษศาสตร์เต็มตัว และไม่ได้เป็นแพทย์ออกตรวจรักษาอีกต่อไป

Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และ บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
ตัวอย่างต้นแบบเหง้าน้ำทิพย์ Agapeter saxicola Craib หมายเลข Kerr 8696 เก็บในประเทศสยามโดยหมอคาร์ ตั้งชื่อโดยศาสตราจารย์เครบ สังเกตลายมือที่อ่านยากของหมอคาร์ ภาพ : http://plants.istore.org 

หมอคาร์และกองตรวจพันธุ์รุกขชาติได้รับมอบหมายให้สำรวจพรรณพืชในประเทศไทย โดยเฉพาะที่มีมูลค่าในทางการพาณิชย์ในขณะนั้น งานนี้เป็นภาระที่ใหญ่หลวงไม่น้อย เพราะต้องสำรวจให้ทั่วพื้นที่ประเทศไทยซึ่งมีขนาดใหญ่มากและสำรวจมาแล้วน้อยมาก ดังนั้น การวางแผนการออกสำรวจจึงเป็นงานใหญ่ ต้องเดินทางกันยาวนานครั้งละ 2 – 3 เดือนในแต่ละปี ในเวลานั้น ถนนหนทางในสยามแทบไม่มีและที่มีอยู่ก็ใช้งานไม่ได้ในฤดูฝน การออกสำรวจจึงต้องทำในฤดูแล้ง

หมอคาร์ขอประทานพระอนุญาตจากพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ รองเสนาบดีกระทรวงฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง เพื่อเริ่มต้นการทำงาน โดยพำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่คุ้นเคย ในปลายปีนั้นทั้งครอบครัวจึงเดินทางกลับขึ้นไปโดยรถไฟ และล่องแม่น้ำปิงจนถึงจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง

หมอคาร์ออกเดินทางสำรวจพืชพรรณในภาคเหนือยาวนานครั้งแรกเมื่อต้น ค.ศ. 1921 ใช้เวลาเกือบครึ่งปี โดยมีผู้ช่วยคนไทยหลายคน เช่น นายเนย อิศรางกูร ณ อยุธยา, นายระบิล บุนนาค, นายพุด ไพรสุรินทร์ และ หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์ รวมทั้งพ่อครัวและลูกหาบ น้องชายของท่าน วูดแฮม คาร์ (F. H. W. (Woodhams) Kerr) ก็เดินทางจากอังกฤษมาร่วมสำรวจในครั้งนี้ด้วย 

เรื่องเศร้าเกิดขึ้นในปีนั้น หลังจากหมอคาร์กลับจากการสำรวจ ภรรยาของท่านเกิดล้มป่วยและเสียชีวิตไม่กี่วันต่อมา ทั้งครอบครัวรวมทั้งน้องชายจึงเดินทางกลับไปยังอังกฤษและฝากฝังบุตรสาวทั้งสามคนไว้กับพี่สาว จากนั้นหมอคาร์ก็เดินทางกลับมายังเชียงใหม่เพียงลำพัง และเริ่มทำงานที่ท่านได้รับมอบหมายต่อไป

หมอคาร์ออกเดินทางสำรวจทั่วประเทศอย่างจริงจัง โดยมักโดยสารรถไฟไปจนสุดเส้นทาง ต่อด้วยรถยนต์จนสุดถนน จากนั้นก็ใช้เกวียน บางช่วงก็นั่งบนหลังช้าง ถ้ามีเส้นทางแม่น้ำ คณะสำรวจของท่านก็จะใช้เรือหรือแพไม้ไผ่ ต่อด้วยการเดินเท้าระยะไกล พร้อมกับลูกหาบและล่อบรรทุกของ นับรวมการเดินทางทั่วทุกภาคของประเทศได้หลายพันกิโลเมตร 

หมอคาร์เก็บตัวอย่างพรรณไม้อย่างพิถีพิถัน ถ้าอยู่บนกิ่งไม้สูง บางครั้งก็ต้องใช้ปืนยิงตกลงมา คณะของท่านมีอุปกรณ์จำนวนมาก มีแม้กระทั่งกล้องจุลทรรศน์ไปด้วย ด้วยข้าวของที่มากมายนี่เองทำให้เสี่ยงถูกปล้น ซึ่งก็เกิดขึ้นหลายครั้ง หมอคาร์จดบันทึกการเดินทางอย่างละเอียด แม้แต่การได้พบสวนทางกับพ่อค้าขายสินค้าต่างๆ ท่านก็จดบันทึกชนิดและปริมาณสินค้า จำนวนหมูไก่ที่เลี้ยงกันตามหมู่บ้าน เหมือง พืชผล และการผลิตแปรรูปในท้องถิ่นต่างๆ ต่อมา บันทึกเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารรายไตรมาสของกระทรวงพาณิชย์ ชื่อ ‘The Record’

 “…ในวันที่ 10 มิถุนายน พวกเราก็ไปถึงบ้านอุ้มผางที่นายอำเภอประจำการอยู่ หมู่บ้านตั้งอยู่ริมลำน้ำสาขาของแม่กลอง (แม่น้ำสายเดียวกับแม่กลองที่สมุทรสาคร ต้นน้ำอยู่ที่บ้านแม่กลองคี อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก-ผู้เขียน) เหนือที่ราบนาข้าวเล็กๆ…” หมอคาร์บันทึกไว้ในรายงานเมื่อ ค.ศ. 1922

“…ขณะที่อยู่ที่อุ้มผาง เราได้ขึ้นไปสำรวจดอยหัวหมด เนินเขาหินปูนสลับซับซ้อนที่ทอดตัวทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน สูงขึ้นไปประมาณ 1,000 เมตร เนินเขาเหล่านี้มีลักษณะสมกับชื่อที่แปลว่า ‘หัวล้าน’ เพราะมียอดโล่งเตียนตรงกันข้ามกับพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ที่ล้อมรอบอยู่ บนเนินเต็มไปด้วยหญ้าและพืชล้มลุก แทนที่จะมีไม้ใหญ่…” 

ดร.สมราน สุดดี ศึกษาตัวอย่างพรรณไม้ของหมอคาร์ที่เก็บไว้ในประเทศไทยและที่ส่งไปเก็บรักษาในประเทศอื่น เล่าว่า ตัวอย่างที่หมอคาร์เก็บจากดอยหัวหมด มีหลายชิ้นที่กลายเป็นตัวอย่างต้นแบบ เพราะเป็นตัวอย่างทางวิชาการที่เก็บเป็นครั้งแรก เช่น ฮ่อมดอยหัวหมด พืชในวงศ์ต้อยติ่ง (Acanthaceae) และเทียนปีกผีเสื้อ พืชในวงศ์เทียน ซึ่งพบมากเต็มดอยในช่วงฤดูฝน

สิ้น ค.ศ. 1922 หมอคาร์ก็ย้ายลงมาประจำที่กรุงเทพฯ อย่างถาวร และในค.ศ. 1931 กรมตรวจพันธุ์รุกขชาติได้ผนวกรวมกับกรมเพาะปลูกและเปลี่ยนชื่อเป็นกรมตรวจกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) โดยให้หมอคาร์รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม ในระหว่างนี้หมอคาร์ได้รับเกียรติให้เป็นพระยาแรกนา โดยมีภาพวาดการ์ตูนเป็นรูปของท่านในพื้นที่พระราชพิธี นับว่าดูเท่ไม่น้อย หลังจากนั้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญก็ห่างหายไปถึง 30 ปี

 งานแห่งชีวิต

Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และบิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
ฮ่อมดอยหัวหมด (Strobilanthe graminea J. B. Imlay) ตั้งชื่อจากตัวอย่างหมายเลจ Kerr 6188
Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และบิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
เทียนปีกผีเสื้อ (Impatiens patula Craib) ตั้งชื่อจากตัวอย่างหมายเลจ Kerr 6128 ซึ่งหมอคาร์เป็นผู้เก็บจากดอยหัวหมดในการเดินทางสำรวจเมื่อ ค.ศ. 1921

แม้ว่าหมอคาร์จะเคยปรารภว่า ดร. ดิกซ์สันทำให้ท่านชอบงานพฤกษศาสตร์ แต่หมอคาร์ก็ไม่ได้คิดจะศึกษาต้นไม้รอบตัวในประเทศอังกฤษ จาค็อบผู้ศึกษาอัตชีวประวัติของหมอคาร์สันนิษฐานว่า หมอคาร์ตั้งใจศึกษาพืชพรรณทั่วเมืองไทยไม่ใช่เพราะเสพติดงานด้านพฤกษศาสตร์ แต่เป็นเพราะรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่ท่านทำได้ดีกว่าใครๆ ด้วยว่ายังไม่เคยมีใครศึกษาพืชพรรณในเมืองไทยอย่างจริงจังมาก่อน ยังมีเรื่องให้ค้นพบใหม่อีกมากและการสำรวจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ท่านจึงได้พากเพียรพยายามอย่างหนัก

 วิธีการสำรวจของหมอคาร์มีเอกลักษณ์ คือท่านศึกษาพืชพรรณสองข้างทางที่ผ่านไป จดบันทึกสภาพแวดล้อมทุกอย่างที่เห็น และเขียนแผนที่การเดินทางอย่างละเอียด ศาสตราจารย์พาร์เนลล์ยกตัวอย่างข้อความจากสมุดบันทึกของหมอคาร์ช่วงหนึ่ง ดังนี้ 

“…ณ เวลา 7.15 เรามุ่งไปทาง ตอ. เฉียง ต. 7.35 ข้ามลำน้ำเล็กๆ ที่ไหลไปทาง ตต. 7.53 เราเลี้ยวไปทาง ตอ. อ้อมหุบจากนั้นลงใต้ไปอีก พอ 2 ทุ่ม ทาง ตอ. เฉียง ต. ค่อนไปทาง ต. มีกลุ่มสน เราค่อยๆ เดินขึ้นเขาไม่สูงชันนักอย่างช้าๆ 8.20 เราอยู่ในทิศ ตอ. เฉียง ต. 8.30 ถึงยอดสูงสุด…” 

ด้วยการบันทึกที่ละเอียดระดับนี้อย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่เดินเท้า ปีนก้อนหิน ข้ามตอไม้ ลุยลำห้วย เก็บตัวอย่างพืช วาดแผนที่ และถ่ายภาพไปด้วย ศาสตราจารย์พาร์เนลล์กล่าวในฐานะนักพฤกษศาสตร์ภาคสนามที่มีประสบการณ์เดินทางสำรวจว่า เป็นความสามารถมหัศจรรย์ที่น่าทึ่งสุดประมาณของหมอคาร์ ทำให้ข้อมูลที่พวกเราได้เป็นมรดกตกทอดมา บ่งบอกความหลากหลายของพรรณพืชจากทุกท้องถิ่น และมีความสำคัญมากในการศึกษาพรรณพฤกษชาติในประเทศไทยจนกระทั่งในทุกวันนี้

ตลอดระยะเวลาการสำรวจ เมื่อหมอคาร์เก็บตัวอย่างพืชและทับแห้งดีแล้วได้ 30 – 40 ตัวอย่าง ท่านก็ทยอยส่งตัวอย่างไปยังพิพิธภัณฑ์พืชที่สวนพฤกษศาสตร์คิว ประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์เครบศึกษาตัวอย่างพืชเหล่านี้ และในที่สุดก็ตีพิมพ์บทความเรื่อง Florae Siamensis Enumeratio หรือ ดัชนีพรรณพฤกษชาติในสยาม เมื่อ ค.ศ. 1925 บทความนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘พรรณพฤกษชาติประเทศไทย หรือ Flora of Thailand’ ซึ่งดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลความรู้ของพืชกว่า 10,000 ชนิดในประเทศไทย และตั้งเป้าหมายให้จบครบสมบูรณ์ในอีก 4 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2024)

ในการบรรยายและในบทความ ดร.พาร์เนลล์เล่าว่า หมอคาร์เป็นช่างภาพฝีมือดีคนหนึ่ง ในบรรดาข้าวของของหมอคาร์ที่ขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่สวนพฤกษศาสตร์คิว มีภาพถ่ายด้วยฟิล์มขาว-ดำ ล้างและพิมพ์ลงบนกระดาษถึง 17 อัลบั้ม ราว 4,200 ภาพ เกือบทั้งหมดเป็นภาพที่หมอคาร์ถ่ายในสยามระหว่าง ค.ศ. 1909 – 1933

เรื่องน่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้น คือในระหว่าง ค.ศ. 1901 – 1913 ก่อนเปลี่ยนมาใช้ฟิล์มขาว-ดำ หมอคาร์ถ่ายภาพโดยใช้ฟิล์มกระจกขนาดกว้างยาว 3 ¼ นิ้ว เก็บไว้ถึง 11 กล่อง นึกถึงการรอนแรมไปพร้อมกับกล้องตัวใหญ่และฟิล์มกระจกที่บอบบางแต่หนักมาก และบันทึกได้ครั้งละ 1 ภาพ เข้าในป่ารกทึบครั้งละหลายร้อยกิโลเมตร เป็นเวลาหลายเดือน เรียกได้ว่าเป็น ‘ความอุตสาหะ’ ขั้นสุดที่หาได้ยากยิ่ง

หมอคาร์นับเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนตลอดเวลา นอกเหนือจากเรื่องพืชพรรณ ท่านยังรวบรวมและศึกษาตัวอย่างผีเสื้อ สนใจโบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา ทั้งยังมีความสามารถด้านภาษา พูดได้ทั้งภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน รวมทั้งภาษาไทย และภาษาถิ่นหลายภาษา จาค็อบให้ความเห็นในบทความของเขาว่า .(หมอคาร์) ฝึกภาษาไทยจนใช้การได้ดี นอกจากเพราะท่านมีพรสวรรค์ด้านภาษาแล้ว ยังเป็นเพราะว่าท่านชอบคนไทยมาก เมื่อกลับมาอยู่ที่อังกฤษแล้ว ยังติดต่อและไปมาหาสู่เพื่อนชาวสยามในอังกฤษอย่างใกล้ชิด…”

Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และ บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
ภาพการ์ตูนหมอคาร์เป็นพระยาแรกนาในฐานะเจ้ากรมเพาะปลูก ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในสยาม ภาพ : บทความของจาค็อบ (1962)

หมอคาร์กระตือรือร้นสนใจเรื่องพืชพรรณในสยามเป็นอย่างมาก และเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนฝูงหลายคนหันมาสนใจเก็บและสะสมต้นไม้ชนิดต่างๆ ทั้งชาวสยาม ได้แก่ พระยาวินิจวนันดร นายพุด รวมทั้งนายเนย ซึ่งเป็นผู้ช่วยของหมอคาร์ตั้งแต่ในการเดินทางครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย และชาวยุโรป เช่น เอช. บี. จี. การ์เร็ต (H. B. G. Garrett) เพื่อนสนิทของหมอคาร์ เอ. มาร์แคน (A. Marcan) วู้ดแฮม คาร์ น้องชาย อีริล สมิธ (Eryl Smith) พันเอกอีริก ไซเดนฟาเดน (Major Erik Seidenfaden) เป็นต้น ปัจจุบันมีตัวอย่างพรรณพืชที่เก็บโดยท่านเหล่านี้มากมายกว่า 15,000 ชิ้น อยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์พืชในประเทศไทยและในต่างประเทศ ทั้งหมดล้วนริเริ่มมาจากการได้รับแรงบันดาลใจจากหมอคาร์

คนแรกๆ ที่เริ่มสนใจกล้วยไม้จากการชักชวนของหมอคาร์ คือเพื่อนรุ่นพี่ เอมิลี อี. คอลลินส์ (Emily E. Collins) ซึ่งเข้ามาในสยามพร้อมกับสามีตั้งแต่ ค.ศ. 1877 ในภายหลังมีตัวอย่างพรรณไม้ที่คุณนายคอลลินส์เก็บในสยามจำนวนมากถึง 2501 หมายเลข และอย่างน้อย 18 ชนิดได้รับคำระบุชนิด collinsae เพื่อเป็นเกียรติกับคุณนายคอลลินส์ เช่น ผักบุ้งช้าง Argyreia collinsae (Craib) Na Songkhla & Traiperm 

Arthur Kerr คุณหมอชาวไอริชผู้เป็นเจ้ากรมเพาะปลูก พระยาแรกนา และ บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ไทย
ฟิล์มกระจกหมายเลขที่ 4005 ของหมอคาร์ที่ศาสตราจารย์พาร์เนลล์นำมาให้ชมเป็นตัวอย่าง เขียนอธิบายไว้ว่า “พืชสกุลว่านไก่แดงและพืชอิงอาศัยชนิดอื่นๆ”

บั้นปลายชีวิต

หมอคาร์เกษียณอายุราชการเมื่อทำงานมาครบ 25 ปี ท่านออกเดินทางไปปีนังและลงเรือกลับประเทศอังกฤษใน ค.ศ. 1932 จนถึงวันนั้น หมอคาร์เก็บตัวอย่างที่ยังคงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พืชหลายแห่ง เป็นมอสราว 600 หมายเลข กล้วยไม้ประมาณ 2,000 หมายเลข และพืชมีท่อลำเลียงอื่นอีกราว 23,000 หมายเลข 

หมอคาร์ใช้ 10 ปีสุดท้ายของชีวิตทำงานที่สวนพฤกษศาสตร์คิวเพื่อสะสางข้อมูลตัวอย่างพืชที่เก็บจากสยาม ศาสตราจารย์เครบเดินทางมาพบในปีถัดมาและได้ร่วมกันทำงาน แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์ ศาสตราจารย์เครบก็ป่วยและเสียชีวิตที่สวนพฤกษศาสตร์คิวเนื่องจากเนื้องอกในสมอง นับเป็นการสูญเสียเพื่อนและผู้ร่วมงานเก่าแก่คนสำคัญของหมอคาร์ แต่โชคดีที่รายงานเรื่องพรรณพืชจากสยามก้าวหน้าไปมากแล้ว และ Florae Siamensis Enumeratio ฉบับที่ 2 บทที่ 1 – 2 ก็ส่งเข้าโรงพิมพ์ไปแล้ว หลังจากนั้นหมอคาร์จึงรับช่วงทำข้อมูลต่อจากศาสตราจารย์เครบ

หมอคาร์ย้ายไปอยู่ที่เมืองเฮส์กับพี่สาวและลูกสาวทั้งสามคน ที่นั่นมีกระท่อมแยกออกมาจากบ้านหลังใหญ่ที่ท่านใช้ทำงานพฤกษศาสตร์ ศึกษาดอกไม้จากตัวอย่างและจดบันทึก หมอคาร์ร่วมกับบุคคลอื่นตั้งชื่อและแก้ไขชื่อพืชราว 200 ชนิด ในปีหลังๆ หมอคาร์เข้าไปที่สวนพฤกษศาสตร์คิวสัปดาห์ละ 2 – 3 วัน และส่งต้นฉบับบทความ Florae Siamensis Enumeratio ฉบับที่ 2 บทที่ 3 – 4 เข้าโรงพิมพ์ ดังที่กล่าวแล้ว ผลงานชิ้นสำคัญนี้ของศาสตราจารย์เครบและหมอคาร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาพรรณพืชในประเทศไทย และเป็นที่มาของโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทยในปัจจุบัน

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต อาการหอบหืดกำเริบมาก หมอคาร์ทำงานจนถึงวาระสุดท้าย ท่านเสียชีวิตในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1942 ที่บ้านในเมืองเฮส์นั่นเอง

ผู้คนจดจำหมอคาร์ในฐานะผู้ชายที่มีรูปร่างผอม สูง ผมสีเข้ม ตาสดใสสีเทา พูดน้อย สุขุมเยือกเย็น รักเด็ก เป็นมิตร โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือผู้อื่นเสมอในทุกโอกาส ในแวดวงพฤกษศาสตร์ มีพรรณไม้หลายชนิดที่ได้รับชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงหมอคาร์ เช่น ชื่อสกุลกันภัย Afgekia ตั้งโดยศาสตราจารย์เครบจากชื่อย่อ A. F. G. K. รวมเข้าเป็นคำ ชื่อสกุลปาล์มเจ้าเมืองถลาง Kerriodoxa elegans J. Dransf. ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวในสกุล ตั้งชื่อโดย ดร. จอห์น แดรนส์ฟิลด์ (Dr. John Dransfield) รวมทั้งคำระบุชนิด kerrii ของพืชต่างๆ อีกกว่า 200 ชนิด เช่น ว่านเปรี้ยวหมอคาร์ Boesenbergia kerrii Mood, L.M.Prince & Triboun พืชสกุลกระชายในวงศ์ขิง ตั้งร่วมชื่อโดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ เพื่อเป็นเกียรติแก่หมอคาร์ซึ่งเป็นผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ

มีตัวอย่างผู้คนมากมายที่เคยใช้ชีวิตของตนอย่าง ‘ดีงาม’ ให้ผู้คนกล่าวรำลึกถึงอย่างชื่นชม 

ชีวิต 65 ปีของหมอคาร์ แม้ไม่ได้ยาวนานมากนัก แต่ดูเหมือนว่าท่านเลือกจะใช้ชีวิต 40 ปีหลัง ไปกับการทำงานที่ท่านทราบดีว่าไม่มีวันเสร็จ งานที่มีคุณูปการต่อโลกนี้ ดังเพชรที่เพียงรอการเจียระไน เพชรเม็ดนี้เป็นผลึกเม็ดใหญ่ที่สั่งสมผ่านกาลเวลา แม้ยังไม่ฉายแสงวาววับ แต่ช่างงดงามแท้จากภายใน

ชีวิตของเราหลายคนเพิ่งเริ่มต้น 

จะใช้ชีวิตเพียงผ่านแต่ละวัน ดังถ่านที่ถูกเผาไหม้ในเตาไฟ แปดเปื้อนเขรอะดำ กลายเป็นฝุ่นธุลี 

หรือจะครองตนอยู่ในทำนองคลองธรรมและสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อผู้อื่นในทุกวัน 

เป็นเพชรที่ค่อยๆ สั่งสมตัวเองช้าๆ จนสวยงาม แข็งแกร่ง ทรงคุณค่า น่าจดจำ 

ดังชีวิตล้ำค่าที่กลายเป็นตำนานของ ‘หมอคาร์’

อยู่ที่เราเลือกเอง

ขอขอบคุณ : สถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์

ภาพ : Arthur Kerr, John A. N. Parnell, สมราน สุดดี

แหล่งที่มาของข้อมูล

Jacob (1962). Reliquiae Kerrianae. Blumea 11: 427–493. https://www.repository.naturalis.nl/record/526109.

Parnell (2019) Previously unrecorded facets of the life of the ‘Father of Thai Botany’ A.F.G. Kerr including further information on his distribution of plant material Thai Forest Bulletin (Botany) 47(1): 73-81. https://doi.org/10.20531/tfb.2019.47.1.11

Somprasong & Triboun (eds) (2014) Botanical Reports of Siam (1922–1933). Reprinted Ed., Bangkok Herbarium Publication No. 9. Agricultural cooperatives Association of ThailandParnell, Pilla & The Thai Biogeography Group (2015). A re-examination of the life and work of A.F.G. Kerr and of his colleagues and friends. Thai Forest Bulletin (Botany) 43: 111–131. https://li01.tci-thaijo.org/index.php/ThaiForestBulletin/article/view/44243/36614.

Writer

Avatar

ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล

อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักพฤกษศาสตร์ด้านอนุกรมวิธานและวิวัฒนาการ ทำงานวิจัยสำรวจความหลากหลายของพรรณพืช และพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน สนใจศิลปะ ดนตรี ภาษา วัฒนธรรม พฤกษศิลป์ และเป็นหนึ่งในผู้แปลหนังสือด้านธรรมชาติวิทยาที่สำคัญของศตวรรษ คือ กำเนิดสปีชีส์ ของชาร์ลส์ ดาร์วิน และ หมู่เกาะมาเลย์ ของอัลเฟรด วอลเลซ