วันนี้ท่าเตียนครึกครื้นและมีชีวิตชีวา ด้วยเทศกาลท้องถิ่น ‘ท่าเตียนเฟส (Tha Tien Fest)’ งานที่ทำให้คุณรู้จักท่าเตียนมากขึ้น ทั้งเอกลักษณ์และตัวตนของย่าน ผ่านคำว่า ‘คิดถึง สืบสาน เสน่ห์’ 

นี่ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมรวมพลความสามัคคีของคนในย่าน แต่เป็นการสร้างแบรนด์ชุมชนให้กับท่าเตียน เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาแบรนด์เพื่อสืบทอดอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างยั่งยืน

ท่าเตียนเฟส (Tha Tien Fest) เริ่มต้นมาจากความคิดของ Find Folk ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และเครือข่ายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เรานัดหมาย จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ก่อตั้ง Find Folk สนทนาถึงสิ่งที่เขาทำมาตลอด 5 ปี ในฐานะคนตัวเล็กที่ฝันอยากเป็น ‘ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Changemaker)’ ให้อุตสากรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมถึงโปรเจกต์ใหม่ล่าสุดอย่างการขยับจากการพัฒนา-สร้างแบรนด์ชุมชนจากทั่วประเทศไทย มาสร้าง-พัฒนาแบรนด์ชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งจักรพงษ์ในเสื้อแจ็กเก็ตสีครามบุผ้าทออีสานนั่งรอเราอย่างยิ้มแย้มบนชั้น 2 ของ ฮาเตียน หนึ่งในคาเฟ่บรรยากาศคลาสสิกของท่าเตียน

นี่คือเรื่องราวของชายชาวโคราชที่กำลังพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

Find Folk : ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ผู้จัด Tha Tien Fest โมเดลสร้างแบรนด์ชุมชนเมือง

“เราเลือกเรียนท่องเที่ยว เพราะอยากเที่ยว”

“เราเป็นเด็กต่างจังหวัด มาจากชนบทของโคราช หมู่บ้านเราห่างไกลความเจริญมาก ๆ”

จักรพงษ์เกิด เติบโต และเล่าเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เขาตัดสินใจเรียนสาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ด้วยเหตุผลธรรมดาแต่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กคนหนึ่งที่มาจากชนบท ปัดความคิดที่เขาอยากเป็นไกด์ออกไปก่อนนะ

“เราเลือกเรียนท่องเที่ยว เพราะอยากเที่ยว” เขาเฉลยเหตุผลที่ว่า แต่การเป็นเด็กท่องเที่ยวก็ยังถูกมองว่า ‘ง่าย’ ทั้งที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ค่อนข้างสูง ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับจักรพงษ์อยู่มาก

เขาเล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยน เมื่อครั้นเรียนปี 2 เขาตัดสินใจไปช่วยอาจารย์ท่านหนึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว 20 ชุมชนของภาคอีสาน นั่นทำให้เขาเห็นลู่ทางในวิชาชีพว่า หากเรียนจบการท่องเที่ยว ก็ไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพไกด์หรือทำงานในโรงแรม-ภัตตาคาร เสมอไป แต่ยังมีอาชีพนักวิจัย นักพัฒนา และนักสร้างแบรนด์ที่คนเรียนการท่องเที่ยวประยุกต์เพื่อประกอบอาชีพได้

หลังเรียบจบ เขาทำงานในบริษัททัวร์ที่ประกอบกิจการเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง ทำงานจนครบขวบปีก็ตัดสินใจลาออกในปี 2018 ซึ่งปีนั้นเป็นปีทองของการท่องเที่ยวไทย รุ่งเรืองขนาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยติดอันดับ 4 ของโลก ซึ่งสวนทางกับขีดความสามารถในการจัดการการท่องเที่ยว

Find Folk : ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ผู้จัด Tha Tien Fest โมเดลสร้างแบรนด์ชุมชนเมือง

“ทำไมเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของเราเติบโต แต่ด้านการจัดการกับอยู่อันดับ 33 ของโลก แสดงว่าการจัดการของเรามีปัญหา ซึ่งมีปัญหาจริง ๆ นั่นเลยเป็นหนึ่งเหตุผลที่เราก่อตั้ง Find Folk ขึ้นมา เพราะเราอยากเห็นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทยขยับลำดับขึ้น

“เราอยากเห็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนเรียนการท่องเที่ยวว่าจบมาไม่ต้องเป็นไกด์หรือทำงานโรงแรมเพียงอย่างเดียว”

จักรพงษ์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรียนจบการท่องเที่ยวเป็นอะไรได้บ้าง

Find Folk : ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ผู้จัด Tha Tien Fest โมเดลสร้างแบรนด์ชุมชนเมือง

“ที่ปรึกษาย่อมทำงานบนปัญหา แต่ไม่สร้างปัญหา”

ทวนกันอีกรอบ Find Folk เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่วางตัวอย่างเป็นมิตรและมืออาชีพ ถ้านึกอะไรไม่ออกเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โปรดนึกถึงพวกเขา 

“เราไม่ได้จะบอกว่าเราเก่งทุกอย่างนะ แต่หน้าที่ของเราคือการเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการพัฒนา เพราะเรามีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เพียงแต่หาคน หาสีสันมาเติมให้สนุกขึ้น เหมือนเราคอยแก้โจทย์ให้ลูกค้า แน่นอนว่าที่ปรึกษาย่อมทำงานบนปัญหา แต่ไม่สร้างปัญหา”

การทำงานของ Find Folk คือการพัฒนาคน พัฒนาทรัพยากร และพัฒนาแนวความคิดของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่เขาเคยลงพื้นที่ชุมชนอีสานเมื่อครั้นทำวิจัยร่วมกับอาจารย์

“เราทำงานกับชุมชน เราไม่ได้เลือกชุมชน แต่ชุมชนเลือกเรา เราเลือกกันและกันจึงทำงานด้วยกันได้ หลังจากเลือกชุมชนแล้ว หน้าที่ของนักพัฒนาคือการประเมินและเติมเต็มในสิ่งที่ชุมชนยังขาด แล้วเลือกใช้เครื่องมือพัฒนาให้เหมาะกับความพร้อมและบริบทของพื้นที่ เราเป็นเหมือนโค้ชและเมนเทอร์

“วิธีคิดงานของเรา เราพยายามสร้างโมเดล ไม่เน้นการสร้าง One Stop Events หรือ One Stop Projects เพราะเมื่อโมเดลนั้นสำเร็จ ชุมชนก็เป็นเมนเทอร์ให้ชุมชนอื่น ๆ ต่อได้เช่นกัน

“การทำงานของ Find Folk เราไม่ได้เข้าไปช่วยเขา แต่มองว่าเราเป็นผู้มีประโยชน์ที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน ตลอด 5 ปีเราสร้างชุมชนท่องเที่ยวใหม่น้อยมาก เพราะก่อน Find Folk เกิด มีคนพัฒนาเป็นหมื่นชุมชนแล้ว เราเพียงเข้าไปต่อยอด โดยจุดมุ่งหมายของเรา คือเมื่อถอยออกมา ชุมชนยังทำการท่องเที่ยวต่อได้ด้วยตนเอง ซึ่งเรายังเป็นที่ปรึกษาให้เขานะ เพื่อให้เขาไปต่อได้” จักรพงษ์ตอบพร้อมรอยยิ้ม

Find Folk : ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ผู้จัด Tha Tien Fest โมเดลสร้างแบรนด์ชุมชนเมือง

“หัวใจของท่าเตียนเฟส (Tha Tien Fest) คือการสร้างแบรนด์ชุมชน”

Find Folk ทำงานพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาแล้วหลายจังหวัด จักรพงษ์จึงคิดอยากลองทำการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกับชุมชนเมืองดูบ้าง เขาเรียกมันว่า Local Destination Branding หรือ กระบวนการการสร้างแบรนด์ชุมชน เป็นการดึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่แท้จริงของย่านมานำเสนอสู่ผู้คน ขณะเดียวกันก็เป็นการอนุรักษ์ความเป็นย่าน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต

ท่าเตียนเฟส (Tha Tien Fest) เกิดจากความร่วมมือกันของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, Find Folk, GreaterGood, TRAWELL, Go Green Booking, MuvMi, WISHULADA และ ชุมชนย่านท่าเตียน

“หัวใจของท่าเตียนเฟส (Tha Tien Fest) คือการสร้างแบรนด์ชุมชน เราคาดหวังว่าท่าเตียนเฟสจะเป็นโมเดลในการทำแบรนด์ย่าน และเป็นเครื่องมือให้กับหลาย ๆ ชุมชมได้ เราคาดหวังให้ชุมชนรู้จักตัวเอง รู้ว่านักท่องเที่ยวที่มาท่าเตียนเป็นใคร รู้ว่าท่าเตียนมีอะไร และรู้ว่าท่าเตียนจะมอบอะไรให้นักท่องเที่ยวได้บ้าง แล้วชุมชนก็ทำสิ่งนั้นได้เองโดยไม่ต้องมี Find Folk สุดท้ายเราคาดหวังว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ย่านเมือง ชุมชนต่างจังหวัด หรือคนทำธุรกิจ ว่าถ้าคุณมีแบรนด์ที่ชัดเจน คุณจะทำธุรกิจได้อย่างมีตัวตน

“เราเชื่อเรื่องแบรนด์มากนะ แบรนด์ทำให้รู้ว่าเราเป็นใคร รู้ว่าเราเหมาะกับใคร เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของเรา เพราะเราเป็นทุกอย่างให้ทุกคนไม่ได้ เราจึงเป็นบางอย่างเพื่อคนที่ต้องการเรา”

Find Folk : ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ผู้จัด Tha Tien Fest โมเดลสร้างแบรนด์ชุมชนเมือง

กระบวนการสร้างแบรนด์ให้ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่จักรพงษ์ว่า ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน นั่นคือ การวางแผนสร้างแบรนด์กับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญ การสำรวจชุมชนทุกซอกทุกมุม เพื่อรับรู้ถึงบริบทและบรรยากาศอย่างเข้าใจและรู้จริง การพูดคุยกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ การชิมเมนูอร่อยจากร้านเด็ดประจำย่าน การสำรวจย่านยามค่ำคืนเพื่อสัมผัสบรรยกาศทุกรูปแบบ การทดลองเป็นนักท่องเที่ยวตัวจริง เพื่อทดสอบเส้นทางการเดินและการเชื่อมโยงภายในย่าน และการสนทนาเชิงลึก (Focus Group) กับผู้คนในชุมชน

หลังลงพื้นที่และวางแผนอย่างเข้มข้นราว 3 เดือน พวกเขาก็สกัด 3 คำที่เป็นตัวแทนย่านท่าเตียนออกมา นั่นคือ ‘คิดถึง สืบสาน เสน่ห์’ เป็น 3 คำที่บ่งบอกเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของย่าน ซึ่งชุดคำนี้คือคำที่ผู้มาเยือนจะได้รับจากท่าเตียน และเป็นชุดคำที่คนในย่านท่าเตียนเห็นพ้องต้องกัน

คิดถึง – สื่อถึงความคิดถึงวันวานของวิถีชีวิตชุมชนท่าน้ำและย่านการค้า

สืบสาน – สื่อถึงการสืบสานวิถีชีวิตและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของย่าน เช่น อาหารแห้ง ยาหม่อง ยาหอมแผนโบราณ ศาสตร์การนวดวัดโพธิ์ และ วัด-วัง ที่รายล้อมรอบย่านท่าเตียน

เสน่ห์ – สื่อถึงเสน่ห์ของความหลากหลายในย่าน ตั้งแต่ผู้คน วัฒนธรรม ยันอาหาร

เราถามจักรพงษ์ว่า ถ้าโมเดลที่เขาตั้งใจทำนี้สำเร็จ มันจะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง

“แน่นอนว่าเป็นประโยชน์กับชุมชน เขาจะเห็นมิติการทำงาน Collaboration อย่างจริงจัง ฝึกฝนทักษะการเชื่อมโยงเพื่อนำเสนอย่านและสินค้า เป็นประโยชน์กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่พิสูจน์แล้วว่า Meaningful Travel เกิดขึ้นได้ทุกที และเฟสติวัลที่เป็นหนึ่งใน Soft Power ไม่ใช่แค่คำพูด แต่คือสิ่งที่ทำได้จริง แถมสร้างมูลค่าด้วย ส่วน Find Folk ได้องค์ความรู้จากโมเดลการสร้างแบรนด์ชุมชน

สนทนากับ จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ก่อตั้ง Find Folk ถึง ท่าเตียนเฟสและ เป้าหมายสู่ผู้นำด้านบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

“เราอยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเดินงานนี้ได้รับประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมด้วยความหมาย ดื่มด่ำกับเทศกาลท้องถิ่น และร่วมพิสูจน์ว่าท่าเตียนมอบความรู้สึก ‘คิดถึง สืบสาน เสน่ห์’ จริง ๆ หรือเปล่า”

กลิ่นอายทั้งหมดเกิดขึ้นให้คุณสัมผัสตั้งแต่วันนี้ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

“ความยั่งยืน คือความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

“การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีมานานแล้ว มีคนพูดถึง แต่ไม่มีใครทำ” เขาเปรย

“เอาเข้าจริง การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอาจไม่มีจริงด้วยซ้ำ เพราะโลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน แต่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีจริง เรามองว่าความยั่งยืนคือความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“เราเปรียบเหมือนเก้าอี้ 3 ขา ถ้าขาดขาใดขาหนึ่งเก้าอี้ก็ล้ม ซึ่งทุกวันนี้เรื่องความยั่งยืนถูกทำมากขึ้นนะ เพราะถ้าใครไม่ทำเท่ากับตกขบวน และนักพัฒนาอย่างเราก็ต้องกินวุ้นแปลภาษา เพื่อแปลความความยั่งยืนให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย เห็นภาพ และใกล้ตัว ตอนนี้ Find Folk เป็นนักพัฒนามาสักพักแล้ว เราต้องการพิสูจน์ว่าเราจะเป็นนักการตลาดที่ดีด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ก่อนจะก้าวสู่ปีที่ 10”

ไม่เพียงตั้งเป้าพิสูจน์ตนเอง Find Folk ยังมีแผนที่ต้องไปให้ถึง คือการเป็นผู้นำด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตอนนี้มีบริการครอบคลุมทั้งบริการที่ปรึกษา บริการทัวร์ และบริการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เหมือนตอนต้นที่บอกไว้ ถ้านึกอะไรไม่ออกเกี่ยวกับการท่องเที่ยว นึกถึง Find Folk 

ในฐานะคนทำงานท่องเที่ยว สิ่งที่เขาอยากให้เกิดกับการท่องเที่ยวประเทศไทย คืออะไร

“อยากเห็น New Destination Branding ของการท่องเที่ยวไทย นั่นคือ Sustainable Destination ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีและยั่งยืน สังคมและวัฒนธรรมดี สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมีการจัดการดีตามบริบทประเทศ เพราะปัจจุบันเกิดภาพจำในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ Value Money ถูกมองว่าคุ้มค่าคุ้มราคา แต่นักท่องเที่ยวไม่เห็นคุณค่า ซึ่งการเปลี่ยนภาพจำสู่จุดหมายยั่งยืนเกิดขึ้นได้นะ”

สนทนากับ จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ก่อตั้ง Find Folk ถึง ท่าเตียนเฟสและ เป้าหมายสู่ผู้นำด้านบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

“วันนี้เราตื่นมาเพื่ออะไร” 

“ตอนเรียบจบ เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักพัฒนา เราอยากพาครอบครัวออกจากความยากลำบาก และอยากทำอะไรก็ได้ที่ไม่ได้พาแค่ตัวเองร่ำรวยหรือยั่งยืน เราอยากทำงานที่มีคุณค่า เหมือนมีคนจ้างเราทำความดี

“เราอยากเห็นอาชีพนั้นในชีวิตของเรา และนั่นทำให้เราสร้าง Find Folk ขึ้นมา” เขาเล่า

วันนี้คุณบรรลุเป้าประสงค์ 2 ข้อที่เป็นแรงขับเคลื่อนของคุณแล้วหรือยัง – เราถาม

“บรรลุตั้งแต่เราตัดสินใจทำ Find Folk แล้วครับ” เขายิ้ม “เรามอง Find Folk เป็นความโชคดีที่เราสร้างขึ้นเอง ซึ่งมันเกิดจากความพร้อมและโอกาส ที่สำคัญ การทำ Find Folk มาเกือบปี 6 ทำให้เราเรียนรู้ว่า ทุกคนเป็น Changemaker ได้ เพียงหาสิ่งที่คุณรัก สิ่งคุณทำได้ดี และสิ่งที่โลกต้องการ ให้เจอ” 

การเกิดขึ้นของ Find Folk ก่อร่างสร้างขึ้นจากสิ่งที่เขารัก (อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว) สิ่งที่เขาทำได้ดี (การสื่อสารกับชุมชน) และสิ่งที่โลกต้องการ (มอบคุณค่าและประโยชน์ให้กับสังคม) 

เมื่อเจอ 3 ข้อนี้ วงล้อชีวิตของจักรพงษ์ก็หมุนเป็นฟันเฟืองโดยปราศจากคำถามที่ว่า

“วันนี้เราตื่นมาเพื่ออะไร” – เพราะ Find Folk ตอบคำถามข้อนั้นของเขาหมดแล้ว

สนทนากับ จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ก่อตั้ง Find Folk ถึง ท่าเตียนเฟสและ เป้าหมายสู่ผู้นำด้านบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

Facebook : Find Folk

ขอบคุณสถานที่ ฮาเตียน คาเฟ่

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ