25 มกราคม 2022
17 K

เมื่อปลายปีก่อน มีผู้อ่านชื่อ ‘พี่ลูกศร’ ส่งข้อความถึง The Cloud เล่าเรื่องคลินิกกายภาพบำบัดแห่งหนึ่งให้ฟัง

พี่ศรบอกว่า ตัวเองมีปัญหาเอ็นขาอักเสบ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการผ่าตัดเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตัดสินใจไปรักษาที่ ‘กันยาคลินิกกายภาพบำบัด’ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา จึงได้รู้แนวคิดในการทำธุรกิจของที่นี่

แนวคิดแบบที่นักธุรกิจก็ทำไม่ได้ ต้องเป็นนักกายภาพบำบัดเท่านั้น

เจ้าของคลินิกคือ รศ.กันยา ปาละวิวัธน์ อดีตอาจารย์กายภาพบำบัดอายุ 70 ปีที่ต้องการให้สุขภาพดีเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้

กันยา : คลินิกกายภาพบำบัดที่ใช้การตลาดแบบบอกต่อ และตั้งใจรักษาคนไข้จนหายขาดมา 40 ปี

อาจารย์กันยาสร้างคลินิกกายภาพบำบัดแห่งนี้เมื่อ 40 ปีก่อน มีค่ารักษาเริ่มต้นแค่ 200 บาท ผ่านมาหลายปีราคาก็เพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะกลัวคนไข้จะรักษาไม่ไหว

การรักษาของที่นี่เป็นแบบ Patient-centric มีระบบเทรนนักกายภาพบำบัดที่เข้มงวดทั้งความเชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดและความช่ำชองเรื่องจิตใจของผู้คน โดยตั้งใจให้การรักษาไม่จบแค่ในห้องตรวจ เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาการทางกายหายขาดคือ คนไข้ต้องกลับไปดูแลชีวิตตัวเองให้ได้

คลินิกใช้กลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปากโดยลูกค้า ความสำเร็จของธุรกิจนี้จึงไม่ใช่การมาใช้บริการซ้ำ แต่หวังว่าเขาจะหายดีและไม่ต้องเจอกันเพราะโรคอีก

“พี่ลูกศรเป็นแฟน The Cloud มาตลอด เลยอยากลองเสนอหัวข้อสัมภาษณ์นี้ เพราะอยากให้เจตนารมณ์ดี ๆ ของผู้ก่อตั้งที่มีต่อคนไข้ได้สืบต่อ”

พี่ลูกศรพิมพ์ข้อความทิ้งท้ายไว้

ในฐานะคนหนึ่งที่มีปัญหา Office Syndrome ผู้ผ่านการรักษามาแล้วหลายแขนง ทั้งไทย จีน ฝรั่ง และยอมแพ้รับชะตากรรมอาการปวดเรื้อรังมาหลายครั้ง (จนวาดฝันว่าอยากเปิดร้านนวดของตัวเอง หรือมีเครื่องอัลตร้าซาวด์ไว้ที่บ้าน) เรากดเบอร์โทรศัพท์ของ กภ.นันท์ อุดมเฉลิมภัทร หรือที่คนไข้เรียกกันจนติดปากว่า หมอนัน ผู้บริหารในเครือบริษัท กันยาคลินิกกายภาพบำบัด ที่พี่ลูกศรให้มาเพื่อนัดคุยกันในบ่ายวันหนึ่ง 

01

ย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน ศาสตร์ทางกายภาพบำบัดยังไม่ได้รับความนิยมในเมืองไทย เมื่อพูดถึง ‘การกายภาพ’ หลายคนมักคิดว่าเป็นวิธีการรักษาหลังประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ หรือเมื่อร่างกายเป็นอัมพฤตหรืออัมพาต

อาจารย์กันยาจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับวิชาชีพของตัวเองว่า จริง ๆ แล้วจะสามารถช่วยคนมากกว่านั้นได้หรือไม่
กันยาคลินิกสาขาแรกเป็นห้องแถวเล็ก ๆ บริเวณสามแยกไฟฉาย และเปิดเฉพาะช่วงนอกเวลางานประจำ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกายภาพบำบัดให้คนทั่วไป จนมีคนไข้ขาประจำแวะเวียนมาไม่ขาดสาย

เป็นตอนนั้นเองที่อาจารย์กันยาได้คำตอบว่า กายภาพบำบัดช่วยคนไข้ให้อาการดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งยาใด ๆ และยังสามารถดูแลตัวเองต่อได้

เวลาผ่านไปมีลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาร่วมงานด้วย พร้อมนักลงทุนที่ยื่นข้อเสนอทางธุรกิจในการขยายกิจการหลายรูปแบบ

แต่อาจารย์กันยาปฏิเสธ เพราะมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างไป ท่านตั้งมั่นว่าทีมบริหารทั้งหมดต้องเป็นแพทย์ ไม่ใช่นักธุรกิจ เพราะไม่อยากให้แนวทางที่ตั้งใจเดินแต่แรกหล่นหาย

ประกอบกับที่อาจารย์อยากให้คนทำงานมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงเริ่มขยายสาขาและชวนเข้ามาเป็นหุ้นส่วน จาก 1 เป็น 2  จาก 2 เป็น 3 จนปัจจุบันมีทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ สิรินธร เหม่งจ๋าย อุดมสุข พญาไท และประชาชื่น พร้อม ‘ซีเนียร์กันยา’ ให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้านสำหรับคนที่ไม่สามารถเดินทางมาที่คลินิก

กันยา : คลินิกกายภาพบำบัดที่ใช้การตลาดแบบบอกต่อ และตั้งใจรักษาคนไข้จนหายขาดมา 40 ปี
กันยา : คลินิกกายภาพบำบัดที่ใช้การตลาดแบบบอกต่อ และตั้งใจรักษาคนไข้จนหายขาดมา 40 ปี

02

เรานัดคุณนันที่คลินิกประชาชื่น สาขาใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดได้หมาด ๆ

พนักงานต้อนรับหน้าตายิ้มแย้ม สถานที่สะอาดสะอ้านเป็นสัดเป็นส่วน นักกายภาพบำบัดใจดีที่ค่อย ๆ อธิบายอาการอย่างใจเย็น รายการการรักษาที่ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ป่วยระดับแรกเริ่มอย่างกระดูกกล้ามเนื้อ กลุ่มนักกีฬา ผู้ป่วยระบบประสาท จนถึงกระดูกสันหลังคด

ถ้าคิดว่านั่นทำให้กันยาคลินิกแตกต่างแล้ว คุณคิดผิด

สิ่งที่ทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งในใจคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาอย่างพี่ลูกศร ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ในห้องตรวจ แต่รวมไปถึงเมื่อเขากลับบ้าน กลับไปใช้ชีวิต และผลลัพธ์ที่ได้หลังจากนั้น

ละเอียดลออในสิ่งที่ทำ

การรักษาหนึ่งครั้งใช้เวลาเฉลี่ย 1 ชั่วโมงครึ่ง เพราะหนึ่งสิ่งสำคัญของกระบวนการรักษาคือ การพูดคุย คนไข้จะอยู่กับนักกายภาพบำบัดแค่ 1 – 2 ชั่วโมง ที่เหลือต้องกลับไปอยู่กับตัวเองและดูแลตัวเองให้ได้

“เราต้องให้เวลากับเขา คุยกับเขาให้เข้าใจก่อนว่า หนึ่ง เป้าหมายของเขาที่มาหาเราคืออะไร และสอง เราสามารถทำให้ถึงตามเป้าที่เขาหวังไว้ได้ไหม อย่างไร เมื่อเป้าหมายตรงกันแล้วก็พากันเดินไปให้ถึง”

แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ที่นี่รักษาแบบองค์รวม โดยไม่ได้มองคนไข้เป็นส่วน ๆ หากคนไข้มาเพราะอาการปวดคอ ก็จะไม่ดูแค่คอ บ่า ไหล่ หรือมีอาการปวดหลัง ก็จะไม่ดูแค่หลัง

“อย่าลืมว่าคนไข้ 1 คนก็คือมนุษย์ 1 คนนะครับ เวลาจะรักษามนุษย์ 1 คน เราต้องตรวจทั้งร่างกายว่าปัญหาจริง ๆ เกิดจากอะไร”

เราถึงกับคิดเรื่องการนวดแผนไทยครั้งล่าสุดของตัวเอง ที่อยากแก้อาการปวดสะบักจากการนั่งทำงานนาน รู้ทั้งรู้ว่าอาการไม่ได้เกิดจากสะบัก ก็ยังไม่วายเลือกโปรแกรม ‘คอ บ่า ไหล่’ แถมขอเน้นสะบักเป็นพิเศษ

“ยกตัวอย่างว่า สมมติคนไข้เจ็บเท้าซ้าย เขาจะไม่ลงน้ำหนักเท้าข้างซ้ายแน่นอน แต่จะลงข้างขวา พอเป็นแบบนี้ไปสักพัก ก็จะติดพฤติกรรมลงน้ำหนักเท้าข้างขวา แม้เท้าซ้ายจะไม่เจ็บแล้ว เขาอาจจะมาหาด้วยอาการปวดเข่าขวานี่แหละ ถ้ารักษาเป็นส่วน ๆ เราก็ดูแค่เข่าขวา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ต้นเหตุมันมาจากข้อเท้าซ้ายที่เคยเจ็บจนทำให้ข้างขวาทำงานหนัก ถ้าเราดูแค่จุดจุดเดียว เป็นตรงไหนกดตรงนั้น อัลตร้าซาวด์ช่วย เขาอาจจะไม่ได้กลับไปฝึกให้ลงน้ำหนักขาซ้ายอย่างถูกต้องอีกเลย อาการปวดลงขาขวาก็ไม่มีทางหายเจ็บ

“บางคนตึงบ่าเพราะหายใจไม่เป็น ไปใช้กล้ามเนื้อบ่าแทน เราก็ต้องแก้ที่วิธีการหายใจ การตรวจรักษาคนไข้แบบนี้จึงมีแนวโน้มทำให้คนไข้หายขาดในระยะยาวมากกว่า”

40 ปีของ ‘กันยาคลินิก’ ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ใช้การตลาดแบบบอกต่อ โดยมีเป้าหมายรักษาคนไข้ให้หายขาดและสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้

เป็นโค้ชที่เข้าใจนักกีฬา (= ธุรกิจที่เห็นใจลูกค้า)

ต่อเนื่องจากการใช้เวลากับคนไข้ให้คุ้มค่า นักกายภาพบำบัดที่กันยาคลินิกมองตัวเองเป็นโค้ช คอยสอนและให้กำลังใจคนไข้ในการทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองต่อ โดยยึดธรรมชาติพฤติกรรมเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญคือเอาใจใส่กับความสุขของแต่ละคน

“แต่ละคนไม่เหมือนกัน ถึงเขาจะมีอาการปวดเหมือนกันก็ตาม เรารู้อยู่แล้วว่าอาการแบบนี้ ทำท่าไหนถึงมีประโยชน์

“การรักษาช่วงแรก ๆ เป็นการเรียนรู้ลักษณะนิสัย เราจะลองให้การบ้านเขาไปสัก 2 ท่า ดูว่าขยันทำไหม ถ้าเขาไม่ชอบออกกำลังกายเป็นทุนเดิมอาจจะไม่ค่อยทำ ซึ่งเราตรวจได้จากความแข็งแรงของร่างกาย ครั้งต่อไปก็ให้การบ้านน้อยหน่อย ไม่ต้องไปบังคับ เพราะเดี๋ยวสุดท้ายจะไม่ทำเลย แต่เกิดเขาชอบมาก ขยันมาก เราก็ให้การบ้านเพิ่ม”

คุณนันเล่าว่า การกายภาพบำบัดในเมืองไทยแตกต่างจากต่างประเทศ ที่สหรัฐอเมริกาแทบไม่มีการใช้เครื่องมือ แต่เน้นการออกกำลังกายเป็นหลัก หน้าที่ของนักกายภาพบำบัดคือพยายามเข้าใจธรรมชาติและการใช้ชีวิตของคนไข้ เพื่อออกแบบการรักษาที่นอกจากตอบโจทย์แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะสำเร็จลุล่วง ที่สำคัญต้องทำให้คนไข้เห็นผลลัพธ์ เขาจะได้มีแรงใจที่จะพยายามทำต่อ ไม่ได้มองมันแค่เป็นการบ้านที่ทำให้แล้ว ๆ ไป

หรือในบางเคส คนไข้ชอบเดินออกกำลัง นักกายภาพบำบัดที่นี่จะไม่สั่งห้ามกิจกรรมเขาทันที เพราะรู้ว่ามีผลต่อความสุขในชีวิต บางคนกระทบไปถึงสภาพจิตใจ จึงจะประเมินอาการก่อน ช่วงแรกอาจจะยังทำไม่ได้ พอเวลาผ่านไป ค่อย ๆ ปล่อยให้ทำทีละน้อย

เลือกคนที่ ‘ใช่’ มาเป็นตัวแทนธุรกิจ

สิ่งที่ทำให้คลินิกดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืนจนถึงวันนี้คือ บุคลากร ที่นี่คัดเลือกคนเข้าทำงานอย่างละเอียด ทั้งในส่วนของนักกายภาพบำบัดและเจ้าหน้าที่ เฟ้นหาจนเจอคนที่ ‘ใช่’ หรือที่คุณนันเรียกว่า ‘คนกันยา’

“เวลาคัดเลือกจะลองจินตนาการว่า ถ้าเราเป็นคนไข้แล้วมาเจอนักกายภาพบำบัดหรือเจ้าหน้าที่คนนี้ เราจะอยากคุยกับเขาไหม แล้วจะรู้เลยว่าคนไหน ‘ใช่’”

ภาพย้อนกลับไปเมื่อ 20 นาทีก่อนที่เราเปิดประตูคลินิกเข้ามา พนักงานด้านหน้าต้อนรับและให้ข้อมูลอย่างอบอุ่น ถ่ายทอดความตั้งใจของอาจารย์กันยาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

“เราสัมภาษณ์กันจริงจัง และไม่ได้คัดด้วยเกรด แต่ดูว่าสื่อสารกันรู้เรื่องไหม ทำงานจริงได้ไหม อย่างตำแหน่งพนักงานต้อนรับ เราดูที่ความใจเย็น เขาต้องอารมณ์ดีและใจเย็น เพราะคนไข้มีหลายรูปแบบ ส่วนพนักงานอื่น ๆ เช่น แม่บ้าน ก็อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องการพูดคุย แต่ดูความซื่อสัตย์และความละเอียด เช่น ถ้ามีน้ำหกตรงนั้น เขาพร้อมจะไปดูแลไหม

ที่กันยาคลินิก นักกายภาพบำบัดต้องเข้ารับการอบรมนานถึง 3 เดือนก่อนจะเริ่มรักษาคนไข้จริง

“มีทั้งชั่วโมงเลกเชอร์และชั่วโมงปฏิบัติ เพื่อทบทวนเนื้อหาสำคัญจากมหาวิทยาลัย สิ่งที่เขาต้องตอบหรือนำไปประยุกต์ใช้ต่อให้ได้ นักกายภาพบางคนยังไม่มีประสบการณ์ในการเจอคนไข้ ทุกคนจะมี CI หรือ Clinical Instructor เป็นนักกายภาพรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยง อบรมเสร็จต้องสอบให้ผ่าน”

ที่น่าสนใจคือ ที่นี่ไม่มีนักกายภาพบำบัดพาร์ตไทม์ จะมีก็เป็นนักกายภาพบำบัดที่เคยผ่านอบรมกับเราแล้วมีเงื่อนไขบางอย่างจึงไม่สามารถทำเต็มเวลาได้ คุณนันบอกว่า บุคลากรคือตัวแทนในการดูแลคนไข้ องค์กรจำเป็นต้องสร้างคนที่เข้มแข็งและมีเป้าหมายเดียวกันคือรักษาคนไข้ให้หาย

ซื่อสัตย์ต่อคนไข้

เมื่อฝ่ายบริหารทั้งหมดเป็นนักกายภาพบำบัด ยอดกำไรจึงไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของธุรกิจนี้ ความสำเร็จที่แท้จริงคือ คนไข้ต้องหายจากอาการ หรือดีขึ้นเท่าที่จะดีขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขของแต่ละคน

‘อย่าตั้งราคาแพง’ นักกายภาพบำบัดผู้ก่อตั้งเน้นย้ำเรื่องนี้เสมอ

เดิมทีค่ารักษาเริ่มต้นแค่ 200 บาท เพราะกายภาพบำบัดไม่ใช่การรักษาแบบครั้งเดียวหาย แต่ต้องการความต่อเนื่อง

“ถ้าเขาต้องมาหลายครั้ง เราต้องทำให้ราคาไม่แพง อาจารย์กันยามองว่า เราไม่ได้ทำการตลาด จึงไม่จำเป็นต้องตั้งราคาสูง ๆ เพื่อแบกรับต้นทุน ”

ตลอด 40 ปี คลินิกนี้ขึ้นค่าใช้จ่ายในการรักษานับครั้งได้ ครั้งล่าสุดคือช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะรับคนไข้ได้น้อยลงตามนโนบายรักษาระยะห่าง พร้อมรักษาพนักงานทุกคนเอาไว้โดยไม่ปลดออกหรือลดเงินเดือน

“เราตัดสินใจขึ้นราคาเล็กน้อย แต่กว่าจะตกลงกันได้ประชุมกันเยอะมาก เพื่อให้ทีมบริหารทุกคนเห็นพ้องต้องกัน พอตกลงกันได้แล้วก็ไปคุยกับพนักงาน หลายคนเขาอยู่หน้างาน ก็ไม่อยากให้คนไข้จ่ายเยอะ แต่เราจำเป็นต้องทำจริง ๆ”

นอกจากนี้ กันยาคลินิกก็ไม่มีระบบขายเป็นคอร์ส

“เราเคยคุยเหมือนกันว่าทำไมไม่ขายเป็นคอร์ส แบบ 10 ครั้งในราคาถูกลง อาจารย์กันยาให้เหตุผลว่า หลาย ๆ ครั้งคนไข้ไม่จำเป็นต้องรักษามากขนาดนั้น ถ้าเขาเข้ามาพร้อมอาการหนึ่ง รักษาออกไปแล้วไม่ดีขึ้น เขาอาจจะต้องไปรักษาด้วยวิธีการอื่น บางคนเป็นนิด ๆ หน่อย ๆ ทำครั้งสองครั้งก็ดีขึ้นแล้ว การซื้อคอร์สเลยเหมือนเราเอาเงินเขามา ทั้ง ๆ ที่เขาจะไม่ได้ใช้ หรือไม่จำเป็นต้องใช้”

40 ปีของ ‘กันยาคลินิก’ ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ใช้การตลาดแบบบอกต่อ โดยมีเป้าหมายรักษาคนไข้ให้หายขาดและสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้
40 ปีของ ‘กันยาคลินิก’ ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ใช้การตลาดแบบบอกต่อ โดยมีเป้าหมายรักษาคนไข้ให้หายขาดและสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้

03

ธุรกิจนี้ไม่ได้ทำการตลาดมากมาย

กลยุทธ์ทางธุรกิจหลักที่มีคือ ความตั้งใจในการรักษาที่น่าประทับใจจนลูกค้าบอกต่อ (Word of Mouth)
การรักษาจนลูกไข้หายขาดก็ไม่ได้แปลว่าลูกค้าจะน้อยลงทุกวัน เพราะ 1 คนที่หายดี อาจไปแนะนำเพื่อนและครอบครัวอีก 5

วันนี้ สาขาสิรินธรมีคนไข้ใหม่ต่อเดือนราว ๆ 200 คน สาขาเหม่งจ๋าย 150 คน อุดมสุข 100 คน พญาไท 60 คน และสาขาใหม่ที่ประชาชื่นประมาณ 80 คน

หลักสำคัญของกายภาพบำบัดคือการทำให้คนได้ใช้ชีวิต ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง วิ่ง อย่างปกติสุข เท่าที่เงื่อนไขร่างกายของเขาจะทำได้

ในฐานะนักกายภาพบำบัด กันยาคลินิกได้คืนชีวิตให้คนมากมาย

ในฐานะธุรกิจ ได้เป็นแบบอย่างให้บุคลากรและกิจการทางการแพทย์มากมาย พร้อมมีเป้าหมายอยากสร้างคนทำงานด้านกายภาพบำบัดผ่าน Kanya Academy ที่ตั้งขึ้นเพื่ออบรมนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ โดยไม่กังวลว่าจะเกิดคู่แข่งทางธุรกิจขึ้นในอนาคต

คุณนัน ผู้ทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์กันยามาตลอดกว่าสิบปี บอกว่าการเป็นนักกายภาพบำบัดที่ต้องทำธุรกิจเป็นเรื่องยากที่สุดในชีวิต ความจริงใจอยากช่วยเหลือผู้คนในบางครั้งก็เดินสวนกับความสำเร็จทางธุรกิจ แต่สิ่งที่กันยาคลินิกเชื่อไม่เคยเปลี่ยนตลอด 40 ปีนี้ คือการยกคนไข้เป็นที่ตั้ง แล้วทุกอย่างจะคืนกลับมาเอง

ธุรกิจจะเป็นที่รักของคนได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการที่เลือกทำ

ที่เราได้นั่งคุยกับคุณนันตอนนี้ก็จากคำบอกต่อของพี่ลูกศร ที่เราขอนามบัตรคลินิกกลับมาเพื่อนัดคิวรักษาก็เพราะสิ่งที่คุณนันเล่า หรืออย่างที่อาจารย์กันยาสอนนักกายภาพทุกคนที่นี่เสมอ

“คุณอย่าไปหวังอะไรจากคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง ไม่ต้องสนใจสิ่งเหล่านั้น แค่ทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุดก็พอ”

40 ปีของ ‘กันยาคลินิก’ ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ใช้การตลาดแบบบอกต่อ โดยมีเป้าหมายรักษาคนไข้ให้หายขาดและสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้

Lessons Learned

  • ยึดมั่นในหัวใจของธุรกิจและจิตใจของลูกค้า ตั้งใจทำในสิ่งที่ทำให้ดีที่สุด แล้วผลลัพธ์หรือความสำเร็จจะเกิดขึ้นจริงจากสิ่งที่ทำโดยไม่ต้องเรียกร้อง
  • เลือกคนทำงานและลงทุนกับบุคลากร โดยคิดเสมอว่าเขาจะมาเป็นตัวแทนเรา เป็นตัวแทนธุรกิจ เป็นคนที่จะส่งต่อเรื่องราวทั้งหมดไปยังลูกค้า
  • การตลาดที่มีค่าโดยไม่ต้องเสียเงินคือ การตลาดแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าสัมผัสได้ถึงความตั้งใจดีของธุรกิจ
  • ทำธุรกิจแบบเอาใจเขาใส่ใจเรา คิดเผื่อใจคนอื่นมาก ๆ ทั้งพนักงานและลูกค้า เพื่อออกแบบสินค้าหรือบริการที่เข้าใจเขาเหล่านั้นมากที่สุด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Website : kanyapt.com 

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ