‘แขก’ นอกจากแปลว่าผู้มาหาหรือผู้มาเยือน ยังเป็นคำที่คนไทยใช้เรียกชาวมุสลิมตลอดจนผู้คนที่เดินทางมาจากเอเชียใต้หรือเอเชียตะวันตกมาแต่โบราณ

สลัดแขก’ นอกจากเป็นชื่อเรียกอาหารยอดนิยมที่พบได้ตามร้านอาหารมุสลิมแล้ว ยังเป็นชื่อคอลัมน์ของ The Cloud ที่มีไว้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาวมุสลิมอีกด้วย

คอลัมน์นี้มีอายุมากกว่า 5 ปีตั้งแต่วันเผยแพร่เป็นครั้งแรก มีคอลัมนิสต์หรือผู้เขียนบทความ 2 คนคอยสลับสับเปลี่ยนกันทำหน้าที่สร้างสรรค์บทความเชิงสารคดีสู่สายตาผู้อ่าน ได้แก่ ซี-สุนิติ จุฑามาศ และ อาจารย์เอม-อ.ดร.วสมน สาณะเสน

คนหนึ่งเป็นผู้ชาย คนหนึ่งเป็นผู้หญิง

คนหนึ่งเป็นนักวิจัย อีกคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

คนหนึ่งนับถือศาสนาอิสลามมาแต่เกิด ส่วนอีกคนนับถือศาสนาอื่นแต่มาหลงใหลในอารยธรรมของชาวมุสลิมเมื่อเติบใหญ่

คนหนึ่งชำนาญด้านโบราณคดี การอ่านจารึกและสืบค้นหลักฐานเก่าขณะที่อีกคนชำนาญทางศิลปะ โดยเฉพาะจิตรกรรม ภาพวาด ภาพเขียนทั้งหลาย

แม้แตกต่างทั้งเพศ เชื้อสาย ศาสนา สาขาวิชาเรียน และความถนัดทางวิชาการส่วนตัว หากว่าทั้งสองต่างก็มีความสนใจร่วมกันคืออารยธรรมที่ถือกำเนิดและสืบสานในกรอบของศาสนาแห่งองค์อัลลอฮ์

เย็นวันที่ฟ้าฉ่ำฝน เรานัดพบกับพวกเขา 2 คนภายในมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานครอย่างมัสยิดต้นสน – สถานที่ซึ่งคุณซีเคยเขียนบทความเล่าเรื่อง กุโบร์ หรือสุสานที่ใช้ฝังร่างวายชนม์ของมุสลิมคนสำคัญในอดีต และอาจารย์เอมก็เคยทำวิจัยเรื่องงานศิลปะไว้ละเอียดยิบจนกรรมการมัสยิดต้องนำเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเธอมาจัดแสดงไว้เป็นความรู้แก่คนทั่วไป

หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมละหมาดรอบบ่าย บทสนทนาที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวชีวิต มุมมองความคิด และประสบการณ์ที่คนทั้งคู่มีต่อสังคมมุสลิมทั้งไทยและเทศก็เริ่มต้นขึ้น และเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์นี้ที่จะพาทุกคนไปรู้จักสองคอลัมนิสต์ผู้ปรุงสลัดแขกจานใหญ่แก่เว็บไซต์ก้อนเมฆไปพร้อม ๆ กัน

ปัจจุบันพวกคุณทำหน้าที่อะไรกันอยู่

สุนิติ : เป็นนักวิจัยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ครับ

วสมน : ตอนนี้เป็นอาจารย์อยู่สำนักบริหารหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ สหวิทยาการนานาชาติ เรียกง่าย ๆ ก็คือ ‘สถาปัตยฯ อินเตอร์’ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังค่ะ

พื้นเพของตัวคุณมีความเกี่ยวข้องกับมุสลิมอย่างไร

สุนิติ : ของผมเรียกว่าเป็น ‘คนในวัฒนธรรม’ ครับ เพราะเป็นคนมุสลิม เกิดและโตที่เขตสาทรในชุมชนมัสยิดยะวา ที่บ้านจะเรียก ‘กำปงยะวา’ จะเป็นมุสลิมเชื้อสายยะวา (ชวา) เป็นหลัก แต่ในชุมชนเองก็ครึ่ง ๆ ระหว่างคนชวากับมลายู บ้านผมเป็นคนมลายู ก็จะมีคำถามของตัวเองว่าทำไมบ้านเรามีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเพื่อนบ้าน เลยเริ่มรู้สึกว่าความเป็นมุสลิมมีความหลากหลาย

วสมน : ส่วนตัวเราแทบจะไม่มีเลย เพียงแต่บ้านอยู่ในเขตบางกะปิ ตื่นมาก็ได้ยินเสียงอะซาน (เสียงเรียกบอกเวลาละหมาด) ตอนเช้ามืดจากมัสยิดใกล้คลองแสนแสบ ได้ยินจนชิน คุณพ่อคุณแม่ก็มีเพื่อนร่วมงานเป็นคนมุสลิม แล้วมีรุ่นน้องของคุณแม่คนหนึ่งทำมัสมั่นมาให้เสมอ ตอนนั้นเราก็ได้สัมผัส ‘แกงแขก’ ก็คุ้นเคยกับเสียงอะซานและอาหารมุสลิมแค่นั้น จนกระทั่งอายุ 14 ปี

เริ่มสนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม’ ตั้งแต่เมื่อไหร่

สุนิติ : แต่เดิมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์โลก ประมาณ ม.4 มีโอกาสได้ไปทำพิธีอุมเราะห์ที่ซาอุดีอาระเบียครับ กรุ๊ปที่พาไปเขาได้พาเราไปพิพิธภัณฑ์ 2 มัสยิดศักดิ์สิทธิ์ คือที่มัสยิดฮะรอมและมัสยิดอันนะบะวีย์ เราก็เห็นพวกโบราณวัตถุที่ตกทอดมาจากยุคต่าง ๆ ของอารยธรรมอิสลาม 

แล้วพอกลับมาจากอุมเราะห์ ก็ ม.ปลาย พอดี ต้องเลือกว่าจะเรียนต่ออะไรในมหาวิทยาลัยดี เราชอบประวัติศาสตร์ แต่อีกใจเรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์เราก็อ่านแต่ตัว Text เป็นหลัก ทีนี้เราอยากเห็นของ เราก็เลยอยากไปจับตัวที่เป็น Material Culture ก็เลือกยื่นคะแนน A-NET สอบตรงคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรครับ

พอติดไปปุ๊บ เข้าไปเรียนก็ช็อกอยู่ เพราะมันไม่ใช่อย่างที่คิด เราเรียนประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านใน Southeast Asia ส่วนมากเป็นเรื่องอารยธรรมที่มาจากอินเดีย เป็นพราหมณ์-ฮินดู เป็นพุทธ มันก็สนุกแหละ เราเรียนแล้วก็ชอบ แต่พอมาถึงช่วงจะทำสารนิพนธ์ เราก็มาคิดว่ามันไม่ค่อยมีโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับคนมุสลิมเลย เราอยากจะรู้รากเหง้าของเราว่าเราเป็นใคร มีหลักฐานทางโบราณคดียังไงที่เล่าสังคมวัฒนธรรมมุสลิมสมัยโบราณในบ้านเราได้บ้าง

พอไปเสิร์ชดูในต่างประเทศมีวิชา Islamic Archeology แต่บ้านเราคณะโบราณคดีไม่มี เราเลยอยากจะเนียต (ตั้งใจ) ว่าอนาคตอยากให้มีองค์ความรู้ทางด้านโบราณคดีอิสลามในประเทศไทย

วสมน : ก่อนอายุ 14 ปี ไม่ได้สนใจอะไรมาก่อนเลย คุณพ่อเป็นชาวพุทธ คุณแม่เป็นชาวคาทอลิกจากจันทบุรี จนกระทั่งอายุ 14 คุณแม่ได้เงินโบนัสก้อนใหญ่ เลยซื้อทัวร์ให้เรากับพี่สาวอีก 2 คนไปเที่ยวต่างประเทศกันสักครั้งหนึ่ง ก็ไม่ทราบว่าทำไมเขาถึงเลือกให้ไปสเปน แต่ในทริปสเปนเขาก็พาไปมัสยิดกลางแห่งกอร์โดบา (Great Mosque of Córdoba) ซึ่งที่อื่นไม่ได้มีอะไรกระแทกใจเท่ากับที่นั่น

ตอนไปก็ไม่ได้มีความรู้อะไร เพราะเราเด็กมาก และไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์มาก่อน จังหวะที่เรามองขึ้นไปบนเพดานที่มัสยิดกลางที่กอร์โดบา เป็นโครงสร้างรวงผึ้งที่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่ามันเรียก ‘มุก็อรนัส (Muqarnas)’ มันสลับซับซ้อนมากจนเราทึ่ง เราไปโบสถ์มาเยอะ ก็รู้สึกว่าโบสถ์เขาทำได้สวยงาม มีรูปปั้น มีอะไรต่าง ๆ ที่เราเห็นเป็นรูปธรรม แต่อันนี้เป็นลายนามธรรมที่เราดูไม่ออก แต่เรารู้สึกว่ามันมี Impact กับเรามาก บอกเลยว่าจังหวะนั้นรู้สึกเหมือนฉันเคยอยู่ในที่แห่งนี้มาก่อน 

เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจมาเรื่อย ๆ จนจบปริญญาเอก เราเก็บคำถามมาในใจว่าเขาทำยังไง ให้ไม่ต้องมีรูปปั้นหรือรูปคนอะไรเลย แต่เขาทำให้เราประทับใจ แล้วรู้สึกว่ามันตรึงใจเรามาก

ในแวดวงวิชาการของไทยเรา มีคนที่ศึกษาเรื่องอารยธรรมมุสลิมเยอะมั้ย

วสมน : นับคนได้เลย น้อยมาก

สุนิติ : ถ้าในวงวิชาการ ณ รุ่นปัจจุบันก็มี ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ และ ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี เรื่องสถาปัตยกรรมอิสลาม แล้วก็ อ.อณัส อมาตยกุล แกศึกษาในเชิงวัฒนธรรม ปรัชญาอิสลาม ถ้าเกิดเป็นรุ่นเก่าหน่อยก็มี อ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด ทำเรื่องวัฒนธรรมอิสลาม คนที่เกี่ยวข้องกับมัสยิดต้นสนก็มี คุณประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ เขียนเรื่องมุสลิมในไทย

วสมน : อ.ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ ก็แปล สำเภากษัตริย์สุลัยมาน ศ.ดร.กุสุมา รักษมณี ก็พูดเรื่องสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม อาหารของมุสลิมในชุมชนมุสลิม

สุนิติ : อีกคนหนึ่งคือ อ.อาลี เสือสมิง เป็นนักการศาสนาที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ฉะนั้นมุมมองของแกจะมีศาสนามาครอบด้วย ซึ่งเป็นอีกคนที่เด่นคนหนึ่ง แต่ภาพรวมของสังคมมุสลิมไม่ค่อยสนใจเรื่องประวัติศาสตร์กันเท่าไหร่ อาจเพราะเห็นอยู่ตลอด ไม่ได้อินกับมัน ถ้าเกิดเรามองในมุมอื่น ๆ ในมุมคนนอก เราอาจได้เห็นกันคนละมุม ซึ่งถ้ามาผสมกันได้ มันก็น่าจะเกิดความรู้ดี ๆ ขึ้นมา

การเป็นนักวิชาการด้านนี้ ทำให้ได้เข้าใจมุสลิมในแง่ใดมากขึ้นบ้าง

สุนิติ : อย่างของผม หนึ่งเลยนะ เอาใกล้ตัวก่อน เราเริ่มเห็นว่าในสังคมมุสลิมเอง มันก็มีที่มาที่ไป มีปูมหลังเหมือนกัน อย่างถ้ามองแบบใกล้ตัวสุด บ้านตัวเองเป็นมลายู แต่คนอีกส่วนของชุมชนเราเองเป็นคนยะวา ซึ่งเขามีวัฒนธรรมการแต่งตัวไม่เหมือนเรา ทำไมเขามีอาหารไม่เหมือนเรา เรื่องของสถาปัตยกรรมมัสยิดไม่เหมือนที่อื่นเลย

ยิ่งช่วงที่ได้มาทำงานวิจัยเรื่องชุมชนชาติพันธุ์ ความหลากหลายของชุมชนชาติพันธุ์มุสลิมในกรุงเทพฯ ยิ่งเห็นชัดเลยว่าพอเราไปชุมชนนี้ เขามีอะไร เขามาจากไหน เขามีวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่มันหลากหลายมาก มีตั้งกี่กลุ่ม มีมลายู ชวา จาม เปอร์เซีย อาหรับ จีน อินเดีย ซึ่งมีหลายกลุ่มเลย มลายูเองก็มาจากหลายที่ มันทำให้เรามองกลับไปเห็นภาพหนึ่งที่แม้กระทั่งในมุมศาสนา พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ มีความหลากหลาย เพื่อที่จะรู้จักกัน อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน ในความหลากหลายก็มีความสวยงามอยู่ อันนี้ก็เป็นมุมมองใกล้ตัว

ถ้าเกิดมองขยับออกมาอีกนิด ในมุมของวิชาการ ส่วนตัวก็พยายามตอบคำถามว่าปฏิสัมพันธ์แรกระหว่างแถบบ้านเรากับมุสลิมจากตะวันออกกลางเริ่มเมื่อไหร่ แล้วมีปัจจัยอะไรทำให้เกิดการพบเจอกัน ที่ตั้งเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของตัวเองคือ Islamization of Southeast Asia มีกระบวนการยังไง มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง พอศึกษาโบราณคดีก็เห็นตัววัตถุ พอศึกษาเอกสารก็ได้เห็นบันทึกว่าคนแถวนู้นเขามองเรายังไง เขาเข้าใจเรายังไง แล้วมาติดต่อกันเมื่อไหร่ อันนี้เป็นมุมมองของผมนะ

วสมน : พอศึกษาเรื่องศิลปะอิสลาม ก็ต้องศึกษาเรื่องศาสนาอิสลามไปด้วย เพราะเป็นพื้นฐาน เริ่มไปมัสยิด ประกอบกับเราเคยไปเห็นที่สเปนมาบ้าง และก่อนที่จะมาศึกษาจริง ๆ ก็บินไปอิหร่านมาครั้งหนึ่ง อิหร่านก็เป็นอีกที่ที่ทำให้ก้าวกระโดดไปว่าฉันจะต้องมาทางนี้ เหมือนเราได้เห็นความหลากหลายว่าวัฒนธรรมอิสลามไม่ได้มีแค่คนขี่อูฐ อยู่ในทะเลทราย กินอินทผลัม กินข้าวหมก อาหารไทยฮาลาลก็มี 

ถ้าจะสรุปเป็นประโยคเดียวคือความประทับใจที่ศาสนาอิสลามคือ เขายืดหยุ่นกับวัฒนธรรมที่ที่เขาอยู่ได้โดยที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา อันนี้เราเรียนรู้ผ่านการศึกษาสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม เพราะเราจะเห็นลวดลายที่ Adapt มา ทำให้เรารู้สึกว่าอิสลามนี่จริง ๆ Flexible นะ ไม่ใช่ศาสนาที่เข้มงวด ตาต่อตาฟันต่อฟัน บอกตรง ๆ ว่าสำหรับคนที่ไม่ใช่มุสลิม อิสลามก็ยังเป็นอะไรที่ลี้ลับอยู่

เมื่อครั้งยังศึกษาในระดับปริญญาโท อาจารย์เอมได้ทำวิจัยเรื่องศิลปะบน ‘เมียะห์ร็อบ’ หลังเก่าของมัสยิดต้นสนไว้อย่างละเอียด

คอลัมน์ ‘สลัดแขก’ เกิดขึ้นมาได้ยังไง

สุนิติ : ต้องให้เครดิตกับสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย ตอนนั้นมีกิจกรรม Walk with The Cloud เกิดขึ้นตอนที่ผมกลับมาจากเรียนปริญญาโทที่จอร์แดน ครูอิ๊น-วรพจน์ ไวยเวทา ชวนไปจอยที่สถาบัน พอดีกับว่าอยู่ที่สมาคมอันยุมันอิสลามตรงบางรัก ข้าง ๆ กันในอดีตคือสำนักจุฬาราชมนตรี คือบ้านของจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ ในเมื่อเราอยู่ตรงนี้ เราก็อยากให้มีเรื่องเล่าของบ้าน

แล้วตรงกับช่วงที่มีงาน Bangkok Design Week 2018 ทาง TCDC เขาก็มาเห็นหมุดในกูเกิล เลยเข้ามาคุยกับพวกทีมงานว่าอยากเข้ามาแวะ ใช้พื้นที่สถาบันเป็นจุดหมายปลายทางของ Walking Tour ด้วย เราก็เปิดบ้าน แล้วมาเจอกับทีมงานของ The Cloud อย่าง พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน และ พี่สตางค์-ภัทรียา พัวพงศกร 

ตอนนั้นจัด Walking Tour ขึ้นมาก่อน เป็นทัวร์ตามรอยศิลปะอิสลามในเจริญกรุง พอหลังจากเสร็จงานนั้นพี่ก้องก็มาชวนว่าอยากให้สถาบันช่วยเขียนบทความ เราก็โอเค

แล้วทำไมต้องใช้ชื่อว่า ‘สลัดแขก’ ไม่เป็นอาหารมุสลิมอื่น ๆ อย่างข้าวหมกไก่หรือแกงมัสมั่น

สุนิติ : เขาก็ให้โจทย์มาว่าให้คิดชื่อคอลัมน์ด้วย พวกเรามันก็สายกิน คิดว่าอะไรที่แสดงเรื่องราวความเป็นมาของมุสลิมในไทย อยากจะเล่าเรื่องตรงนี้ให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อจะได้เข้าใจหรือเปลี่ยนมุมมองที่ไม่ได้มีแค่ทางศาสนาอย่างเดียว เลยประชุมกันว่าเอา ‘สลัดแขก’ แล้วกัน เพราะว่า ‘สลัด’ ก็รวม ๆ รวมทุกอย่าง ‘แขก’ คือคำนิยามที่คนไทยเรียกคนมุสลิม เลยเป็นที่มาของคอลัมน์นี้

ตอนแรกผมเขียนก่อน แต่บางช่วงก็เขียนไม่ได้ ติดงาน ผมเลยทักไปหาพี่เอมว่าชวนมาเขียนด้วย ก็เป็นที่มาของคอลัมน์ครับ

หมายความว่าคุณ 2 คนรู้จักกันดีตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

วสมน : ลืมบอกไปว่าเรารู้จักกันมาก่อน ตั้งแต่เรียนที่ ม.ศิลปากรค่ะ ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด ซีช่วยเราเยอะมาก ต่อมาได้เป็นนักเขียนในคอลัมน์เดียวกันก็รู้สึกดีใจนะ เพราะเขาเก่ง ดีใจที่ได้เขียนคู่ไปกับเขา แล้วก็บังเอิญมากที่แฟนของซีเป็นคนตุรกี ซีเลยฝากให้แฟนเขาช่วยดูแลเราตอนเราเรียนอยู่ตุรกี เขาก็น่ารัก สอนภาษาให้เรา ดูแลเราดีมาก นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกโชคดีที่ได้ซีกับคอนเนกชันของเขาช่วยเราไว้ในชีวิตการศึกษาด้านศิลปะอิสลามค่ะ

แล้วตอนที่เขียนบทความแรก ๆ อาจารย์เอมยังเรียนอยู่ที่ตุรกีใช่หรือเปล่า

วสมน : ค่ะ ส่งบทความมาจากตุรกีเลย เรื่องแรกที่เขียนน่าจะเป็นเรื่องสัญลักษณ์ ดาวกับจันทร์เสี้ยว ของอิสลาม เพราะเรามองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่คนทั่วไปรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับความเป็นมุสลิม จะเห็นได้ทุกที่ อะไรที่บอกความเป็นมุสลิมจะมีสัญลักษณ์นี้อยู่ เลยคิดว่าเดี๋ยวเราเริ่มจากตรงนี้แล้วกัน

บางครั้งคุณซีเป็นคนเขียน บางครั้งอาจารย์เอมเป็นคนเขียน พวกคุณมีข้อตกลงแบ่งหน้าที่กันเขียนไหม หรือว่าใครสะดวกเขียนก็ค่อยมาเขียน

สุนิติ : ใครว่างก็เขียน ตอนนั้นอยากให้มีความเคลื่อนไหว แต่เดี๋ยวคนนั้นไม่ว่าง คนนี้ไม่ว่าง ก็ทักกันว่าแล้วแต่แล้วกัน ใครว่างเมื่อไหร่ก็เขียนนำไปก่อนเลย อะไรอย่างนี้

วสมน : บางอารมณ์ เช้าไหนตื่นมาหัวโล่ง ๆ ก็คิดจะเขียนให้นะ แต่มันต้องใช้เวลาทั้งวันน่ะค่ะ ถ้ามีเรื่องและมี Power จริง ๆ เขียนวันเดียวก็เสร็จ แต่ก็มีความเหนื่อยล้าหลาย ๆ อย่าง

สุนิติ : อย่างผมช่วงหลังที่งานมันเบียดมาก ช่วงทำงานอาสากับสถาบัน นี่เราได้ไปตรงนั้นตรงนี้ ได้ไปเก็บเรื่องราว แต่พอเข้าศูนย์มานุษยฯ ปุ๊บ งานนี่เยอะมาก เหมือนปีหนึ่งต้องทำธีสิสตลอดเลย เสร็จแล้วบางทีก็หมดแรงกับการเขียน พอเจองานวิจัยหนัก ๆ ปุ๊บ สมองมันล้า เลยซา ๆ ไปครับ

วสมน : แต่ยังไงจะพยายามเขียนนะคะ

สุนิติ : หวังว่ามาคุยกันวันนี้จะช่วยให้มีแรงบันดาลใจขึ้นมาใหม่ครับ (หัวเราะ)

 เลือกประเด็นเนื้อหาที่จะเขียนแต่ละบทความยังไงบ้าง

สุนิติ : ถ้าเวลาและโอกาสอำนวยให้เราเขียน บางทีเราจะเขียนจากข้อสังเกตที่เราไปลงพื้นที่ของตัวเอง เราก็ลองดูอะไรรอบ ๆ ตัวเราก่อน ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมกรุงเทพฯ เราเห็นอะไรรอบ ๆ ตัวเราบ้างที่เราเดาว่าคนอื่นไม่รู้ เลยลองหาเรื่องที่มันเป็นกิมมิกมาเล่าให้ฟังเฉย ๆ

อย่างเรื่องขนมจอร้อ ตอนนั้นมันได้จังหวะ คุยกับเพื่อนที่ทำงานว่าเราอยากจัด Food Culture Trip เลยได้ไปถามคนแถวมัสยิดยะวา ที่เลือกเขียนเรื่องจอร้อเพราะเขียนง่าย เราอยู่ในชุมชนยะวาแล้วเราไม่รู้จักขนมครกสิงคโปร์ แต่เรารู้จักจอร้อก่อน จะว่าคล้ายก็คล้าย คนละอันก็คนละอัน เลยอยากหยิบประเด็นตรงนี้มาเล่าให้ฟังกันว่ามันพิเศษนะ เป็นวัฒนธรรมอาหารของคนมุสลิมเชื้อสายยะวาในไทยที่ยังมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมตัวเองที่สืบทอดมา 100 ปีกว่า ๆ แล้วยังหลงเหลืออยู่ในอาหาร ทั้งที่วันนี้คนพูดภาษายะวาไม่ได้แล้ว แต่คำศัพท์อยู่ในอาหาร เรียกสิ่งของ เรียกญาติ แต่ตัวอาหารยังอยู่ เลยเป็นเรื่องที่อยากเอามาเล่า ถ้าพูดภาพรวมคือเราอยากจะเล่าในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้

วสมน : ส่วนเราก็หลากหลายเหมือนกัน แต่ส่วนตัวคืออยากให้คนทั่วไปรู้จักมุสลิมเหมือนให้เขาตามรอยตัวเราเอง เราที่เคยอยากจะรู้จักยังไง เพราะเราก็ไม่ใช่มุสลิม คนทั่วไปเขาก็น่าจะเหมือนเรา เราไม่รู้ยังไง อยากรู้อะไร คนอ่านก็น่าจะอยากรู้เหมือนกัน แต่หลัก ๆ ก็ออกมาในรูปศิลปกรรม เพราะเราศึกษามาด้านนี้ เรารู้สึกว่ามันคือซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเสพง่าย คนที่ไม่ขยันอ่านหรือรู้สึกว่าท่องจำยาก ก็ดูจากศิลปะจะเห็นภาพ มันบอกอยู่เลย 

อะไรคืออุปสรรคที่พบบ่อยในการปรุง ‘สลัดแขก’ แต่ละครั้ง

สุนิติ : มันเยอะไปหมดจนไม่รู้จะดึงตรงไหนมา (หัวเราะเสียงดัง)

จริง ๆ เป็นเรื่องเวลา พอเราทำงานหลักของเราเยอะ ๆ เข้า มันหาเวลาคิดคอนเทนต์ไม่ออก แต่ช่วงที่ลงชุมชนไปเก็บข้อมูล เดินไปนู่นไปนี่ อันนั้นช่วยมากเลยนะ เห็นตรงนั้นตรงนี้ สมองแล่น แล้วพอมานั่งจมอยู่กับคอม มันนึกไม่ออก หมดไฟไปซะอย่างงั้นก็มี

วสมน : เรื่องเวลานี่เป็นปัญหากับทุกคน แต่สำหรับเราเป็นเรื่องรอง ของเราอันดับแรกเลยคือเรื่องความถูกต้อง เขียนผิดไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่มุสลิม ถ้าจะเขียนอะไรที่เฉียดหลักศาสนาคือต้องเช็กเลย เราต้องมีอาจารย์ฝั่งซุนนีคนหนึ่ง ฝั่งชีอะห์คนหนึ่งที่เป็นนักวิชาการที่ไว้ใจได้ ไม่ Biased ก่อนส่งบทความให้ The Cloud ก็ส่งให้เขาปรู๊ฟก่อน เพราะบางอย่างเราก็อาจผิดพลาดไป ปล่อยไปไม่ได้ อะไรที่ไปสัมผัสกับความเชื่อก็จะหวาด ๆ แต่กล้าเขียนนะ เพียงแต่เราต้องเช็ก

ยังไงศิลปะวัฒนธรรมอิสลามมันผูกโยงกับความเชื่ออยู่แล้วค่ะ เราต้องเช็กดี ๆ ย้อนกลับไปดูตัวบท บางทีต้องไปถามซีนะว่าใช่มั้ย อ่านแล้วเป็นยังไงมั้ย

ดูเหมือนในโลกมุสลิมจะมีประเด็นละเอียดอ่อนเยอะมากเลย

สุนิติ : บางเรื่องเราก็ยอมรับว่ามัน Sensitive คนบางกลุ่มเขาไม่ยอมรับ ในโลกมุสลิมก็มีความหลากหลายเรื่องความคิดอยู่ การที่เรานำเสนอมุมหนึ่ง โดยที่อาจไปกระทบกับกลุ่มหนึ่ง บางคนเขาอาจแยกไม่ได้ระหว่างเรื่องหลักศาสนา เรื่องวัฒนธรรมบางอัน พอแยกไม่ได้ ไปเข้าใจอีกแบบโดยที่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะสื่อ อันนี้ต้องระวังเหมือนกัน อะไรที่เกี่ยวข้องกับหลักการ เพื่อความชัวร์ เราก็ถามผู้รู้สักหน่อยว่ามันถูกต้องมั้ย ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมนะ ความเชื่อของคนศาสนาอื่นก็ด้วย

อย่างพี่เอมไม่ใช่มุสลิม แต่ได้เรียนรู้จากผู้รู้ ได้ศึกษามามาก เลยเข้าใจมากขนาดที่บางคนก็ โอ้ นึกว่าพี่เอมเป็นมุสลิมซะด้วยซ้ำ นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เลยพยายามจะเลี่ยง

วสมน : มีอีกหลายประเด็นที่เราอยากเขียน แต่เรากลัว อย่างเช่นเรื่องดนตรีที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน บางสายเขาก็ไม่ให้มีการเล่นดนตรีหรือฟังดนตรีเลย

ถ้าเป็นอย่างนี้ ในมุมของนักวิชาการและนักเขียนที่ต้องเผยแพร่งานของตัวเองออกไปให้สาธารณะได้อ่าน มีวิธีการแก้ปัญหานี้อย่างไร

สุนิติ : การจะไปเขียนอะไรโดยที่มีอคติหรือความลำเอียงกับเขา เป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ในความเป็นนักวิชาการก็มีช่องที่เราจะถอยออกมา เพื่อที่จะมองมันเป็นข้อมูลมากกว่ามองเป็นอัตตาของเรา อย่างตัวผมเอง เวลาไปเก็บข้อมูลก็เจอบ่อยครับ ถึงแม้เป็นคนในวัฒนธรรมเดียวกัน แต่พอเราจะเข้าไปแต่ละชุมชน เก็บข้อสังเกตอะไรบางอย่าง เราก็เป็นคนนอกของเขา ไม่เอาตัวเองไปตัดสินเขา เรารู้แหละว่าบางอย่างเราไม่เห็นด้วย เป็นสิ่งที่ตามแนวทางของเรามันไม่ใช่ แต่การที่เราไปคุยกับเขา เราพยายามจะเข้าใจเขา เราถอยจากความเป็นตัวเราก่อน

นั่นคือมุมมองของเรา แต่เวลามาเขียนให้ The Cloud เราพยายามเลือกเรื่องที่มันกลางที่สุด 

วสมน : ความเป็นคนในอาจยากกว่าด้วยรึเปล่าไม่รู้นะ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าเรามองเป็นข้อมูลได้โดยไม่รู้สึกอะไร แต่ที่ซีพูดว่าเรามองเป็นข้อมูล นี่ใช่เลย เป็นคำขวัญที่เรายึดไว้เลย

สุนิติ : พูดถึงว่ามันเป็น Combination ที่ดีนะ การที่มีคนนอกวัฒนธรรมกับคนในวัฒนธรรมมาเขียนในคอลัมน์เดียวกัน มีความหลากหลาย แล้วมองคนละมุม เราควรเปิดใจรับมากขึ้น แล้วได้ทดสอบตัวเองไปด้วยว่าเวลาเราเขียน เราวางตัวเราไว้ตรงไหนครับ

ถ้าจะต้องแนะนำให้ผู้อ่านได้ลองอ่านผลงานของพวกคุณสัก 1 เรื่อง คุณจะเลือกเรื่องไหน เลือกจากความชอบส่วนตัวที่คุณมีต่องานชิ้นนั้นก็ได้

สุนิติ : ผมชอบเรื่องข้าวต้มสุเหร่า เพราะเขียนจากความทรงจำวัยเด็กของตัวเอง คือเราเกิดมาก็ได้กินข้าวต้มนี้ในเดือนรอมฎอนทุกครั้ง ไม่เคยขาดเลย เราไปชุมชนอื่นแล้วไม่มีว่ะ รู้สึกภูมิใจ 

ต้องบอกอย่างนี้ว่าบ้านผมอยู่ชุมชนยะวา แต่ชุมชนมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน (ตรอกจันทน์) คือบ้านแม่ สมัยที่คุณตายังอยู่ วันอีดผมไม่ได้ละหมาดที่ยะวา แต่จะไปละหมาดที่ดารุ้ลอาบิดีน ช่วงเดือนบวชก็จะได้กินข้าวต้มสุเหร่า ที่ตรอกจันทน์นั่นถึงไม่ใช่มุสลิมก็เข้าไปได้นะ ไปขอเขาได้ เพราะถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ผมก็อยากแนะนำว่าตรงนี้มีขุมทรัพย์ทางอาหารอยู่ อยากให้เขาได้ลองชิมดูว่าในรสชาติวัยเด็กของเรา คนอื่นรู้สึกยังไงบ้าง

เป็นบทความที่ภูมิใจเพราะมีคนทักมาหาเยอะ มาถามนู่นนี่นั่น ผมก็รู้สึกว่าดีจังเลย

วสมน : เราชอบเรื่องคริสต์มาสในมุมมองมุสลิม เพราะมีสักกี่คนที่รู้ว่าอิสลามก็มีพระเยซู (นบีอีซา) กับพระแม่มารีย์ (มัรยัม) อยู่เหมือนกัน แล้วประวัติก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องสถานะของ ‘นบีอีซา’ แล้วก็ถูกพาขึ้นไปสวรรค์ ไม่ได้ถูกตรึงกางเขน ดีใจที่ได้นำเสนอข้อมูลทั้ง 2 ฝั่งค่ะ คือคุณแม่เป็นคาทอลิก ส่วนตัวก็เรียนโรงเรียนคาทอลิกมา 15 ปี 

พยายามดึงจุด Common กันมา เพื่อให้เห็นว่ารากเดียวกัน แล้วก็แอบให้ดูงานจิตรกรรม เพราะอิสลามมีหลักฐานภาพน้อยหน่อย แต่มีภาพพวกหนังสือวรรณกรรมอยู่ในโลกที่เป็นทางโลก เราอยากให้รู้ว่าศิลปะอิสลาม ไม่ได้มีแค่มัสยิดนะ จิตรกรรมก็ทำได้ แอบเล่าเรื่องนี้ประกอบภาพไปด้วย

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียน ‘สลัดแขก’ อยากบอกอะไรให้กับผู้อ่านถึงบทความของพวกคุณ

สุนิติ : ผมอยากใช้พื้นที่นี้เป็นการแชร์ประสบการณ์ แชร์ความทรงจำของตัวเองมากกว่า ในฐานะที่ผมเป็นศาสนิกด้วย ผมอยากเล่าสู่กันฟังว่าตัวเราไปตรงนี้มา ไปเจออันนี้มา อยากให้เพื่อนมองคนมุสลิมหรือวัฒนธรรมของมุสลิมในมุมมองที่ไม่ใช่อะไรที่เหมารวมอย่างเดียว ผมอยากจะเล่า อยากจะแชร์ให้เพื่อนฟังว่าบ้านผมมีขนมอร่อย ถ้าเกิดมีโอกาสก็อยากให้เขามาเห็นที่นั่นจริง ๆ หรือเดือนรอมฎอน แอบไปดูซิว่ามัสยิดดารุ้ลอาบิดีนเขายังทำข้าวต้มมั้ย

อยากให้เขาไปสัมผัส พวกเราเป็นสื่อกลางที่จะพาเขาไปสัมผัส แล้วก็อยากให้มุมมองของคนอ่านให้เขารู้สึกว่าวัฒนธรรมความเป็นมุสลิมก็เหมือนคนอื่นแหละ เหมือนคนไทยทั่ว ๆ ไป แค่รู้สึกเข้าถึงง่าย ให้เขารู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว ลองสังเกตดูสิครับ

วสมน : คนอ่าน ‘สลัดแขก’ ก็คือคนทั่วไปที่อยากรู้เรื่องอะไรสนุก ๆ แบบไม่ต้องอ่านยาว ไม่จำเป็นต้องศึกษาวัฒนธรรมอิสลามในเชิงวิชาการหรอก เราย่อยมาให้คุณแล้ว ตามรอยอย่างที่เราเดิน เรามีโมเดลมาแล้วว่าเราประทับใจอิสลามยังไง โมเดลนี้คิดว่าคุณน่าจะได้รู้จัก คุณจะเข้าใจอิสลามได้มากขึ้น เรารู้ว่ายังมีคนที่อยากรู้อีกเยอะมาก แต่ยังไม่รู้จะเริ่มยังไง นี่แหละค่ะจุดประสงค์ของพวกเรา

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์