2 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

พจน์-สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ คือแขกรับเชิญคนแรกในคอลัมน์ The Collector ของ The Cloud เมื่อ 7 ปีก่อน

ยิ่งกว่านั้น เรื่องราวของเขาเป็นเนื้อหาชุดแรกที่ The Cloud ปล่อยในวันเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

เขาคือนักเขียน ล่าม นักจัดรายการวิทยุ และเราสัมภาษณ์เขาในฐานะ ‘นักสะสมหนังสือ เจ้าชายน้อย

7 ปีผ่านไป จากนักสะสม เขากลายมาเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ เจ้าชายน้อยภาษาถิ่น แจกให้ห้องสมุดในภูมิภาค The Cloud เห็นเขาจัดเทศกาลเจ้าชายน้อยในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เลยชวนเขาร่วมกันจัด ‘Talk of The Cloud : The Little Prince Planet’ ที่หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

งานนี้เขาคัดสรรหนังสือ เจ้าชายน้อย ส่วนหนึ่งจากจำนวนเกือบ 500 เล่มที่สะสมมาตลอด 10 กว่าปีมาจัดแสดง ประกอบด้วยหนังสือหลากภาษา และหนังสือเกี่ยวกับเจ้าชายน้อยที่หายากจากทั่วโลก

“ผมได้หนังสือเหล่านี้มาจากการเดินทาง จุดหนึ่งที่เราคล้ายกับวรรณกรรมเล่มนี้คือ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ให้ความสำคัญกับการเดินทาง เพราะเขาก็เป็นนักเดินทาง เขาสร้างเจ้าชายน้อยให้เป็นนักเดินทาง การสะสมจากการเดินทางก็เชื่อมโยงกับวรรณกรรมเรื่องนี้” พจน์พูดถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสม

สมัยที่ยังทำงานสายการบิน ทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ เขาต้องแวะร้านหนังสือเพื่อหาซื้อฉบับภาษาของประเทศนั้น ๆ จากนั้นก็ขยับสู่ร้านหนังสือเก่า แล้วก็เริ่มซื้อออนไลน์ เข้ากลุ่มคนสะสม เจ้าชายน้อย เพื่อแลกเปลี่ยนกับนักสะสมจากทั่วโลก

“แรก ๆ ผมเอาฉบับภาษาไทยไปแลก หลัง ๆ พบว่าเวลาเราซื้อเล่มใหม่ ให้ซื้อเผื่อไว้ 2 – 3 เล่มเอาไว้แลก” เขาบอกว่าหนังสือหายากหลายเล่มของเขาไม่ได้ซื้อมาในราคาแพงระยับอย่างที่ทุกคนคิด มันอยู่ที่ดวง เขาได้หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกของโลกมาในราคาไม่ถึง 10 ยูโรด้วยซ้ำ

เขาเก็บหนังสือทั้งหมดไว้ในตู้หนังสือโบราณที่บ้าน แยกเก็บตามทวีป

“ตอนสะสมแรก ๆ ก็สนุกดี การหา เจ้าชายน้อย ของประเทศต่าง ๆ ได้เหมือนทำภารกิจสำเร็จ หลัง ๆ หลังพบว่าภารกิจของผมควรจะเป็น ทำยังไงไม่ให้หนังสือพวกนี้มากองอยู่เฉย ๆ ผมเริ่มจัดพิมพ์หนังสือ เจ้าชายน้อยภาษาถิ่น เอาไปแจก ความสุขของการได้หนังสือมา กับการส่งหนังสือออกไป มันต่างกันโดยสิ้นเชิง”

พจน์เล่าว่าหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษามลายูตัวอักษรยาวีของเขาขายดีมาก เพราะยังเป็นภาษาที่คนยังใช้อยู่ เขาได้เงินจากการขายหนังสือเยอะมาก จึงนำไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมอบให้แผนกโรคมะเร็งในเด็กของโรงพยาบาลที่นครศรีธรรมราช

“มันมากกว่าการสะสมแล้ว มันคือการส่งต่อความสุข” พจน์เล่าด้วยรอยยิ้ม

เขาว่าหลายมหาวิทยาลัยติดต่อขอยืมคอลเลกชันหนังสือ เจ้าชายน้อย ของเขาไปจัดแสดง ซึ่งเขาก็ยินดีมอบให้ แต่เขาไม่อยากให้แค่เอาหนังสือไปวาง ควรจัดกิจกรรมดี ๆ ประกอบด้วย คนจะได้เข้าถึงวรรณกรรมเรื่องนี้มากขึ้น

เจ้าชายน้อย เป็นวรรณกรรมที่ไม่ได้ให้คำตอบ แต่ให้คำถามกับสิ่งที่เราพบเจออยู่ทุกวัน ชวนให้เราคิดว่ามันเป็นอย่างที่เราคุ้นเคยจริงหรือเปล่า ประสบการณ์ของแต่ละคนจะทำการตีความไม่เหมือนกัน ทำไมถึงต้องอ่านเล่มนี้เหรอ” เขาหยุดคิด “ทำไมถึงจะไม่อ่านล่ะ” พจน์หัวเราะ 

เขาเดินวนไปมาในนิทรรศการหลายรอบ เมื่อเราขอให้เขาเลือก หนังสือเกี่ยวกับเจ้าชายน้อย 20 เล่มที่คุณควรรู้จัก ไม่ว่าคุณจะเคยอ่าน เจ้าชายน้อย หรือไม่

และนี่คือหนังสือ 20 เล่มนั้น

#01

ທ້າວນ້ອຍ

ฉบับภาษาลาว


ผู้แปล :
Sisaliao Svèngsuksa
ภาษา : ลาว
ปีที่พิมพ์ : 2002
สำนักพิมพ์ : ASPB
สถานที่พิมพ์ : เวียงจันทน์, สปป. ลาว
ISBN :

“เจอตอนเดินทางไปเมืองหลวงพระบาง เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปกหลังเขียนว่าห้ามขาย เพราะได้ทุนจากญี่ปุ่นมาพิมพ์แจกนักเรียน แต่ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ไม่มีคำว่าห้ามขายแล้ว นี่คือเล่มแรกที่เป็นแรงบันดาลใจให้สะสม เจ้าชายน้อย เดินทางไปไหนก็จะไปหาร้านหนังสือเพื่อหาซื้อ เจ้าชายน้อย เหมือนเป็นบันทึกการเดินทางว่าเราเคยไปประเทศนี้มาแล้ว”

#02

Le Petit Prince

ฉบับภาษาฝรั่งเศส พิมพ์ครั้งแรกในโลก


ภาษา :
ฝรั่งเศส
ปีที่พิมพ์ : 1943
สำนักพิมพ์ : Reynal & Hitchcock
สถานที่พิมพ์ : นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
ISBN :

The Little Prince

ฉบับภาษาอังกฤษ พิมพ์ครั้งแรกในโลก


ผู้แปล :
Katherine Woods
ภาษา : อังกฤษ
ปีที่พิมพ์ : 1943
สำนักพิมพ์ : Reynal & Hitchcock
สถานที่พิมพ์ : นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
ISBN :

“2 เล่มนี้เป็นหนังสือที่หายากมาก ทุกคนที่สะสมหนังสือต้องหาฉบับพิมพ์ครั้งแรก นี่คือฉบับพิมพ์ครั้งแรก เจ้าชายน้อย พิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ฝรั่งเศส ออกภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษพร้อมกัน ได้มาจากร้านหนังสือเก่าริมแม่น้ำแซนในปารีสในราคาแบบหนังสือปกติที่ไม่แพงเลย”

#03

Le Petit Prince

ฉบับภาษาฝรั่งเศส พิมพ์ครั้งแรกในฝรั่งเศส


ภาษา : ฝรั่งเศส
ปีที่พิมพ์ : 1945
สำนักพิมพ์ : Gallimard
สถานที่พิมพ์ : ปารีส, ฝรั่งเศส
ISBN :

เจ้าชายน้อย พิมพ์ครั้งแรกปี 1943 แซ็งเต็กซูเปรีเสียชีวิตปี 1944 เล่มนี้พิมพ์ปี 1945 หมายความว่าเขาไม่ทันได้เห็น เจ้าชายน้อย พิมพ์ในบ้านเกิด เนื้อหาข้างในไม่ต่างจากฉบับที่พิมพ์ในนิวยอร์ก ความสำคัญของเล่มนี้คือใช้เป็นเล่มอ้างอิงได้ เพราะฉบับต่อ ๆ มาสำนักพิมพ์ Gallimard ทำต้นฉบับผิดพลาด มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หายไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือบทที่ 6 บนดาวดวงจิ๋วที่ดูพระอาทิตย์ตกได้วันละ ‘44’ ครั้ง ภายหลังสำนักพิมพ์ทำต้นฉบับผิดเป็น ‘43’ ครั้ง จนฉบับต่าง ๆ ที่นำไปแปลต่อต่างแปลว่า ‘43’ กันหมด”

#04

Le Petit Prince

หนังสือรวมผลงานของ อ็องตวน แซ็งเต็กซูเปรี


ภาษา : ฝรั่งเศส
ปีที่พิมพ์ : 1959
สำนักพิมพ์ : Gallimard
สถานที่พิมพ์ : ปารีส, ฝรั่งเศส
ISBN :

“ตลอดชีวิตของอ็องตวน แซ็งเต็กซูเปรี เขาเขียนหนังสือทั้งหมด 7 เรื่อง มีการจัดพิมพ์หนังสือทั้งหมดเป็นชุดเดียวกันประมาณ 7 – 8 ครั้ง นี่เป็นการพิมพ์ครั้งที่สวยที่สุด ทำปกหนังสีน้ำเงิน ภาพประกอบข้างใน 4 สีสวยงาม ชุดนี้มีทั้งหมด 5 เล่ม เจอครั้งแรกที่ร้านหนังสือในเจนีวา เข้าไปถามหา เจ้าชายน้อย กับเจ้าของร้าน เขาบอกว่ามีเล่มที่เด็ดกว่า ก็คือเล่มนี้ รอบแรกยังไม่ได้ซื้อเพราะรีบ และมันหนักมาก จนกลับไปอีกรอบมันก็ยังอยู่ เลยซื้อทันที”

#05

Le Petit Prince

เจ้าชายน้อย ฉบับอักษรเบรลล์


ภาษา : ฝรั่งเศส อักษรเบรลล์
ปีที่พิมพ์ : 2014
สำนักพิมพ์ : Editions Claude Garrandes
สถานที่พิมพ์ : นีซ, ฝรั่งเศส
ISBN : 978-2-909770-07-9

โคลด กาคอง เป็นนักประพันธ์ตาบอด ผู้คิดค้นเทคนิคการสร้างภาพวาดให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสภาพวาดในหนังสือได้แบบเดียวกับคนทั่วไป เขาเคยมาบรรยายและจัดเวิร์กช็อปที่ไทยด้วย เจ้าชายน้อย ของเขาหน้าหนึ่งเป็นการพิมพ์แบบปกติ อีกด้านเป็นอักษรเบรลล์เทียบกันหน้าต่อหน้า ภาพประกอบก็เป็นภาพปั๊มนูนให้คลำได้ เล่มนี้ซื้อมาจากปารีส ราคาแพงมาก หมื่นกว่าบาทเลย”

#06

Le Petit Prince: Educational Edition, with Introduction, Notes, Vocabulary, and Bibliography

ฉบับภาษาฝรั่งเศส สำหรับนักเรียนในสหรัฐอเมริกา


ภาษา : ฝรั่งเศส
ปีที่พิมพ์ : 1946
สำนักพิมพ์ : Houghton Mifflin Company
สถานที่พิมพ์ : สหรัฐอเมริกา
ISBN :

“นี่เป็นฉบับภาษาฝรั่งเศสที่พิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้คนอเมริกันได้เรียนภาษาฝรั่งเศส ท้ายเล่มมีการแปลคำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษให้ ในเล่มมีลายมือเจ้าของเดิมเขียนคำแปลไว้ด้วย เจ้าชายน้อย ไม่ใช่แค่วรรณกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อการศึกษาด้วย”

#07

The Little Prince

ฉบับภาษา Star Wars


ผู้แปล : Nadine Sauer
ภาษา : Aurebesh แปลจากภาษาอังกฤษ
ปีที่พิมพ์ : 2016
สำนักพิมพ์ : Edition Tintenfaß
สถานที่พิมพ์ : สหรัฐอเมริกา
ISBN : 978-3-946190-41-7

Ta’puq mach

ฉบับภาษา Star Trek


ผู้แปล : Lieven L. Litaer
ภาษา : Klingon แปลจากภาษาเยอรมัน
ปีที่พิมพ์ : 2018
สำนักพิมพ์ : In Farbe und Bunt
สถานที่พิมพ์ : เยอรมนี
ISBN : 978-3959361224

“นอกจากภาษาของชาติต่าง ๆ แล้ว เจ้าชายน้อย ยังถูกแปลเป็นภาษาแปลก ๆ เช่น ในหนังเรื่อง Star Wars มีภาษาที่เรียกว่า Aurebesh มีการบัญญัติว่าตัวอักษร A B C D เท่ากับอักษรอะไรในภาษา Aurebesh คนก็เลยแปลเป็นภาษานี้ได้ พอแฟนหนังเรื่อง Star Trek รู้ก็ไม่ยอมน้อยหน้า แปลเป็นภาษา Klingon ในเรื่อง Star Trek ด้วย แต่เป็นการแปลจากภาษาเยอรมัน 2 เล่มนี้ได้มาจากการแลกกับคนต่างชาติ”

#08

Le manuscrit du Petit Prince – Fac-similé et transcription

หนังสือรวมต้นฉบับเจ้าชายน้อย


ภาษา : ฝรั่งเศส
ปีที่พิมพ์ : 2013
สำนักพิมพ์ : Gallimard
สถานที่พิมพ์ : ปารีส, ฝรั่งเศส
ISBN : 978-2-07-014261-3

“เล่มนี้ค่อนข้างหายาก ฌอง-มาร์ก พร็อพสต์ ให้มา เป็นหนังสือที่นำต้นฉบับลายมือมาพิมพ์ ต้นฉบับตัวจริงอยู่ที่ห้องสมุด Morgan ในนิวยอร์ก ไปขอดูได้ เจ้าของต้นฉบับคือ Silvia Hamilton Reinhardt เป็นกิ๊กของแซ็งเต็กซูเปรี เขานำต้นฉบับใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาลไปมอบให้เธอ ในวันที่ยังไม่มีใครคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะโด่งดังระดับโลก จากต้นฉบับเราจะเห็นว่ามีการขีดฆ่าเยอะมาก ภาพประกอบในเล่มหลายภาพก็ไม่ถูกนำไปตีพิมพ์จริง หนังสือเล่มนี้พยายามพิมพ์ให้เหมือนต้นฉบับที่สุดด้วยการใช้กระดาษที่ค่อนข้างบางแบบเดียวกัน ท้ายเล่มมีการพิมพ์เนื้อหาทั้งหมดด้วยตัวพิมพ์เพื่อให้อ่านง่าย แต่ก็ทำให้เห็นว่าประโยคที่ถูกขีดฆ่าไปคืออะไร”

#09

El Petit Princep

ที่อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกับ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล


ผู้แปล : Joan Xancó
ภาษา : กาตาลัน
ปีที่พิมพ์ : 1980
สำนักพิมพ์ : Editorial Laia
สถานที่พิมพ์ : บาร์เซโลนา, สเปน
ISBN : 84-7222-780-4

“หนังสือเล่มนี้แปลกตรง นำเรื่อง เจ้าชายน้อย กับ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ของ ริชาร์ด บาร์ก มาพิมพ์ต่อกันในหนังเล่มเดียวกัน ทั้ง 2 เรื่องแปลเป็นภาษากาตาลัน ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของสเปน”

#10

15 24 38

ฉบับเขียนด้วยตัวเลขพีทาโกรัส (Pythagorean Numerology)


ผู้แปล : Gül Ezgi Karaman
ภาษา : ตัวเลขพีทาโกรัส แปลจากภาษาอังกฤษ
ปีที่พิมพ์ : 2021
สำนักพิมพ์ : Gül Ezgi Karaman
สถานที่พิมพ์ : อิสตันบูล, ตุรกี
ISBN : 978-605-184-307-0

“เป็น เจ้าชายน้อย ที่เขียนด้วยตัวเลขพีทาโกรัส คือกำหนดให้ตัวหนังสือแต่ละตัวเท่ากับเลข 1 – 9 เช่น T = 2, H = 8, E = 5, L = 3, I = 9, T = 2, T = 2, L = 3, E = 5, P = 7, R = 9, I = 9, N = 5, C = 3, E = 5 เมื่อรวมตัวเลขในแต่ละคำจะได้ The =15, Little = 24, Prince = 38 The Little Prince เท่ากับ 15, 24 และ 38”

#11

53 73848 774623

เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาปุ่มโทรศัพท์ (T9)


ผู้แปล :
ภาษา : T9
ปีที่พิมพ์ : 2018
สำนักพิมพ์ :
สถานที่พิมพ์ : ฝรั่งเศส
ISBN :

“ถ้าใครเคยสังเกตปุ่มเลขที่โทรศัพท์จะเห็นว่าตัวเลขแต่ละตัวจะมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษพิมพ์อยู่ประมาณ 3 – 4 ตัว ภาษา T9 คือการส่งข้อความด้วยรหัสตัวเลข ซึ่งผู้รับต้องแปลกลับเป็นตัวอักษรโดยต้องเดาว่าตัวเลขนั้นจะแทนตัวอักษรใด เพราะตัวเลขเดียวแทน 3 – 4 ตัวอักษร อย่างเช่น 4663 เป็นได้ทั้ง Good และ Home เลยต้องดูบริบทประกอบ เจ้าชายน้อย เล่มนี้คือการเปลี่ยนตัวหนังสือให้กลายเป็นภาษา T9”

#12

Küçük Prens Tenimde

หนังสือรวมภาพถ่าย คนที่มีรอยสักรูปเจ้าชายน้อย


ผู้เขียนและช่างภาพ : Melissa Mey
ภาษา : ตุรกี
ปีที่พิมพ์ : 2016
สำนักพิมพ์ : İnkılâp Kitabevi
สถานที่พิมพ์ : อิสตันบูล, ตุรกี
ISBN : 978-975-10-3681-0

เมลิซซา เมย์ เป็นช่างภาพและนักแปล เขารับสมัครคนที่มีรอยสักรูปเจ้าชายน้อยมาถ่ายภาพและเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อ เจ้าชายน้อย เป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก เขาส่งมาให้ผมพร้อมลายเซ็นจากตุรกี”

#13

TIME

นิตยสาร TIME ฉบับรีวิวหนังสือเจ้าชายน้อย


ภาษา : อังกฤษ
ปีที่พิมพ์ : 1943
สำนักพิมพ์ : TIME
สถานที่พิมพ์ : สหรัฐอเมริกา
ISBN :

“แซ็งเต็กซูเปรีเป็นนักเขียนที่โด่งดังในสหรัฐฯ อยู่แล้ว งานเขียนเล่มก่อน ๆ ของเขาก็ได้รับรางวัล เมื่อเขาออก เจ้าชายน้อย ในเดือนมกราคม ปี 1943 เดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น นิตยสาร TIME ก็เขียนถึง เจ้าชายน้อย ในคอลัมน์วิจารณ์หนังสือ โดยมองว่านี่คือ ‘เทพนิยายของผู้ใหญ่’ ผมค้นเจอว่ามีนิตยสารเล่มนี้ เลยขอให้เพื่อนช่วยซื้อให้จากร้านขายหนังสือเก่าในสหรัฐฯ”

#14

Chi Pichi Ülmen

ฉบับภาษาที่เคยห้ามใช้ของชิลี


ผู้แปล : Margarita Llamün Neculhual
ภาษา : Mapuche
ปีที่พิมพ์ : 2018
สำนักพิมพ์ : Ediciones Llüfkentue
สถานที่พิมพ์ : ชิลี
ISBN : 978-956-09148-0-4

“ภาษามาพุช เป็นภาษาของคนท้องถิ่นในชิลี คล้ายชาวอินเดียนในอเมริกาใต้ ครั้งหนึ่งรัฐบาลพยายามกวาดล้างยกเลิกการใช้ภาษานี้ ถ้าฝ่าฝืนถือว่าผิดกฎหมาย จนตอนหลังมีการรื้อฟื้นกลับมาใช้อีกครั้ง จึงมีการแปลเป็นภาษามาพุช”

#15

ছোট্ট রাজপুত্তুর (Choto Rajkumar)

ฉบับภาษาเบงกอล


ผู้แปล : Father Detienne
ภาษา : เบงกอล
ปีที่พิมพ์ : 2020
สำนักพิมพ์ : Lalmati Prakashan
สถานที่พิมพ์ : อินเดีย
ISBN :

খুদে রাজকুমার (Khude Rajkumar)

ฉบับภาษาเบงกอล


ผู้แปล : Esha Dey
ภาษา : เบงกอล
ปีที่พิมพ์ : 2020
สำนักพิมพ์ : Dey’s Publishing
สถานที่พิมพ์ : โกลกาตา, อินเดีย
ISBN : 978-81-295-2094-4

“ที่โกลกาตาในอินเดียวมีตลาดหนังสือขนาดใหญ่มาก เดินเกือบชั่วโมงกว่าจะเจอ ซื้อมา 2 ปก เป็นภาษาเบงกอล ไม่ใช่ภาษาหลักอย่างฮินดี เป็นหนังสือปกแข็งแต่พิมพ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

#16

Hoàng Tử Bé

ฉบับภาษาเวียดนาม


ผู้แปล :
ภาษา : เวียดนาม
ปีที่พิมพ์ : 1994
สำนักพิมพ์ :
สถานที่พิมพ์ : อินเดีย
ISBN :

“เจอเล่มนี้ในตลาดหนังสือเก่าที่โฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม เป็น เจ้าชายน้อย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ๆ ของเวียดนาม พิมพ์ด้วยรูปเล่มที่เล็กภาษาอื่น ๆ มาก”

#17

เจ้าชายน้อย

ฉบับของชำร่วยงานแต่งงาน


ผู้แปล : อำพรรณ โอตระกูล
ภาษา : ไทย
ปีที่พิมพ์ : 1997
สำนักพิมพ์ : สามัญชน
สถานที่พิมพ์ : กรุงเทพฯ
ISBN :

เจ้าชายน้อย เล่มนี้เป็นของชำร่วยงานแต่งงานของ คุณคำนูณ สิทธิสมาน กับ คุณสรวงมณฑ์ งามประเสริฐสิทธิ์ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 คุณคำนูณถือว่าเป็นนักสะสม เจ้าชายน้อย อีกคนของไทย เขาจีบภรรยาด้วย เจ้าชายน้อย งานแต่งงานก็แจกของชำร่วยเป็น เจ้าชายน้อย โดยเลือกสำนวนแปลของ อำพรรณ โอตระกูล ซึ่งเป็นการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. 2512 เขาเคยตั้งชื่อคอลัมน์ที่เขียนว่า ‘คนจุดโคม’ ก่อนจะรวมเล่มในชื่อเดียวกัน ลูกชายของคุณคำนูณ ชื่อ สรวง สิทธิสมาน ก็มาเป็นอาสาสมัครอ่าน เจ้าชายน้อย ภาษาจีน ในงาน The Little Prince Planet”

#18

Ar Priñs Bihan

ฉบับภาษา Bretón


ผู้แปล : Pierrette Kermoal
ภาษา : Bretón
ปีที่พิมพ์ : 2012
สำนักพิมพ์ : Preder
สถานที่พิมพ์ : ฝรั่งเศส
ISBN : 978-2-901383-78-9

“เล่มนี้เป็นภาษาเบรอตง ซึ่งพูดกันในแคว้นเบรอตาญ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ได้มาตอนที่ไปเมืองแบร็สต์ ประเทศฝรั่งเศส ผมโพสต์เฟซบุ๊กว่ามาที่นี่ก็มีคนเอาหนังสือเล่มนี้มาฝากให้ที่รีเซปชันโรงแรม เป็นเรื่องที่ประทับใจมาก”

#19

เจ้าชายน้อย

ฉบับภาษาล้านนา


ผู้แปล : วิลักษณ์ ศรีป่าซาง และ ดิเรก อินจันทร์
ภาษา : ล้านนา
ปีที่พิมพ์ : 2018
สำนักพิมพ์ : สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ
สถานที่พิมพ์ : เชียงใหม่, ไทย
ISBN :

စီၤပၤအဖိခွါဆံး

ฉบับภาษาปกาเกอะญอ


ผู้แปล : จอนิ โอ่โดเชา
ภาษา : ปกาเกอะญอ
ปีที่พิมพ์ : 2018
สำนักพิมพ์ : สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ
สถานที่พิมพ์ : เชียงใหม่, ไทย
ISBN : 978-616-478-514-4

فوتراكجيل

ฉบับภาษามลายูอักษรยาวี


ผู้แปล : แวมายิ ปารามัล
ภาษา : มลายูอักษรยาวี
ปีที่พิมพ์ : 2020
สำนักพิมพ์ : สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ
สถานที่พิมพ์ : ปัตตานี, ไทย
ISBN : 978-616-56881-3-0

ปเรีย็ฮ-อ็อฺง มจัฮ ตู๊จ

ฉบับภาษาเขมรถิ่นไทย หรือ เขมรสุรินทร์


ผู้แปล : อัษฎางค์ ชมดี และ ดร.ดิเรก หงษ์ทอง
ภาษา : เขมรถิ่นไทย หรือ เขมรสุรินทร์
ปีที่พิมพ์ : 2022
สำนักพิมพ์ : สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ
สถานที่พิมพ์ : สุรินทร์, ไทย
ISBN : 978-616-586-948-5

“ฌอง-มาร์ก พร็อพสต์ เล่าให้ฟังว่าเขาเคยให้การสนับสนุนการแปลเป็นภาษาอัฟกัน แปลเสร็จแล้วปรากฏว่าบ้านโดนระเบิดไฟไหม้หมดเลย ประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามยังเห็นความสำคัญของวรรณกรรมเล่มนี้ บ้านเรามีภาษาถิ่นตั้งเยอะแยะ ทำไมถึงไม่แปลบ้าง เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น เมื่อ พ.ศ. 2559 โดยมูลนิธิฌอง-มาร์ก พร็อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย สนับสนุนค่าแปลและค่าพิมพ์ เริ่มต้นจากภาษาล้านนา เราไม่ได้เน้นแค่การอ่านอย่างเดียว แต่อยากให้คนท้องถิ่นได้รับแรงบันดาลใจจาก เจ้าชายน้อย ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการชวนทอผ้าลายเจ้าชายน้อย หรือการวาดปกด้วยศิลปินท้องถิ่น ชิ (ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์) บรรณาธิการฉบับภาษาปกาเกอะญอ เขาภูมิใจมาก ปกติเผ่าของเขามักจะถูกลืม แต่คราวนี้ถูกเลือกให้ได้แปลวรรณกรรมระดับโลก

“การแปลภาษามลายูด้วยอักษายาวี ทีแรกก็กลัวว่าจะมีคนค้านว่าไม่เหมาะสม แต่ก็มีคนบอกว่า เป็นการเปิดโลกภาษา ต่อไปควรเอาภาษามลายูอักษรยาวีไปพิมพ์วรรณกรรมคลาสสิกอื่น ๆ อีก เราทำร่วมกับ ม.อ. ปัตตานี แจกให้โรงเรียนปอเนาะ 120 โรงเรียนในสามจังหวัดภาคใต้ ส่วนภาษาเขมรถิ่นไทย เราได้ทำงานกับ ททท. โปรโมตจังหวัดผ่านวรรณกรรม เราเอาปราสาทศีขรภูมิมาเป็นปก และจัดงานเปิดตัวที่นั่น อลังการมาก และเรากำลังแปลภาษามอแกนกับภาษาบาลีอยู่”

#20

เจ้าชายน้อย

เจ้าชายน้อย ฉบับปกดอกแก้วกัลยา


ผู้แปล : สมศักดิ์ ธนาศุภวัฒน์
ภาษา : ไทย
ปีที่พิมพ์ : 2024
สำนักพิมพ์ : สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ
สถานที่พิมพ์ : กรุงเทพฯ, ไทย
ISBN :

“ผมไปเจอต้นฉบับงานแปลชิ้นนี้ของ คุณสมศักดิ์ ธนาศุภวัฒน์ ที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นต้นฉบับพิมพ์ดีดที่ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อน ในคำนำเขียนว่า ขอถวายให้สมเด็จพระพี่นางฯ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของเขา ผู้แปลเสียชีวิตไปแล้ว แต่ผมอยากทำให้ต้นฉบับนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก็ตามหาจนเจอ ศ.ดร.สมบูรณ์ ธนาศุภวัฒน์ ซึ่งเป็นน้องชาย เขายินดีให้พิมพ์เผยแพร่ โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนดนตรีคลาสสิกของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และองค์กรที่สนับสนุนการเรียนภาษาฝรั่งเศสในอุปถัมภ์ของพระพี่นางฯ อาร์ตเวิร์กด้านในเป็นต้นฉบับพิมพ์ดีดเหมือนเดิม ขนาดเท่าเดิม แต่เพิ่มภาพประกอบสี่สีลงไป หน้าปกเป็นภาพดอกแก้วกัลยาซึ่งเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ จึงเกิดเป็น เจ้าชายน้อย ที่น้อมรำลึกวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ‘สมเด็จอาจารย์ภาษาฝรั่งเศส’ ของปวงชนชาวไทย”

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล