คุณเคยอยู่ในที่มืดสนิทไหม ความมืดชนิดที่ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตาก็ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน ความมืดแบบที่คนตาบอดสัมผัสอยู่ทุกวี่วัน

เมื่อมองไม่เห็น เหล่าผู้พิการทางสายตาจึงต้องใช้ส่วนอื่นของร่างกายในการ ‘ดู’ แทนดวงตา

ก่อนหน้าปีค.ศ. 1824 ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถอ่านหนังสือเองได้ ต้องอาศัยคนอื่นอ่านให้ฟัง จนกระทั่ง หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ผู้ตาบอดสนิททั้ง 2 ข้างประดิษฐ์ ‘เบรลล์’ อักษรสำหรับผู้พิการทางสายตาซึ่งประกอบไปด้วยจุด 6 ตำแหน่งเรียงสนับไปมา ทำให้ผู้สูญเสียประสาทสัมผัสทางการมองเห็นสามารถอ่านหนังสือเองได้เป็นครั้งแรกของโลก

ผู้พิการทางสายตาจึง ‘อ่าน’ ด้วยการสัมผัส

The Little Prince In The Dark
By Arnaud Nazare-Aga

โลกเรามีหนังสืออักษรเบรลล์มากมายหลายล้านเล่มเป็นเครื่องการันตีว่ากำแพงการอ่านของผู้พิการทางสายตาถูกทลายไปตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน

“เพื่อนของผมที่ตาบอดมาตั้งแต่เกิด ไม่เคยรู้มาก่อนว่าหนังสือเจ้าชายน้อยมีภาพประกอบด้วย” คำพูดของ Claude Garrandes สะกิดให้ฉันเหลียวหลังไปดูกำแพงที่คิดว่าถูกทลายไปแล้วอีกครั้ง

ในเมื่อภาพวาดตั้งอยู่ในระนาบ 2 มิติ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การสัมผัส จะทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงมันได้

‘นี่คือความลับของฉัน มันเป็นเรื่องธรรมดามาก เราจะเห็นอะไรได้ก็ด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา’ เจ้าชายน้อยเอ่ยไว้เช่นนั้น

Invisible Essence : The Little Prince
By Charles Officer

Le Petit Prince En Braille คือหนังสือเจ้าชายน้อยเล่มแรกของโลก จากกว่า 270 ภาษาที่มีภาพนูนต่ำของเจ้าชายน้อย หมาจิ้งจอก ดอกกุหลาบ และดวงดาวที่เขาค้นพบ ประกอบมาพร้อมเนื้อเรื่องที่ตีพิมพ์ด้วยอักษรเบรลล์ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสและจินตนาการภาพวาดของ อองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี (Antoine De Saint-Exupery) ที่คนทั่วโลกตกหลุมรักได้

หนังสือเล่มนี้ทำขึ้นโดย โคลด กาคอง (Claude Garrandes) ศิลปินและศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นเทคนิคในการสร้างภาพวาดที่ผู้พิการทางสายตาสามารถรับชมและสร้างสรรค์เองได้อย่างคนทั่วไป

“ผมสูญเสียการมองเห็น กลายเป็นคนตาบอดสนิทตอนอายุ 12 ปี ก่อนหน้านั้นผมชอบวาดรูปมาก หลังตาบอดผมไม่กล้าคิดถึงการวาดรูปอยู่นานหลายปี เพราะคิดถึงทีไร ผมจะร้องไห้ออกมาทุกครั้งเมื่อตระหนักว่าผมจะไม่สามารถวาดรูปได้อีกต่อไปแล้ว”   

โคลดหยิบรูปปั้นลอยตัวเจ้าชายน้อยขึ้นมา พร้อมบอกให้ฉันหลับตาขณะส่งรูปปั้นมาให้ลองสัมผัส  

นี่คือเจ้าชายน้อยที่ผู้พิการทางสายตามองเห็น ฉันลูบไล้ไปตามรอยคดโค้งของรูปปั้น บอกไม่ได้หรอกว่าเขามีเส้นผมหรือใส่เสื้อผ้าสีอะไร สิ่งที่สัมผัสได้คือเด็กชายตัวเล็กคนนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง

“ภาพวาดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเจ้าชายน้อยสำคัญต่อการตีความเนื้อเรื่องมาก ผมยังจำได้ดีแม้ครั้งสุดท้ายที่ผมเห็นภาพวาดเหล่านั้นคือ 50 กว่าปีก่อนตอนผมยังมองเห็นได้ปกติ เจ้าชายน้อยฉบับภาษาเบรลล์เป็นหนังสือเบรลล์เล่มแรกที่ผมอ่าน และอารมณ์ขณะอ่านก็แตกต่างกันมากเมื่อไม่มีภาพวาดอีกแล้ว”

เมื่อโคลดเติบโตขึ้น นอกเหนือจากความสามารถทางวิชาการ ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมและจิตวิทยาแล้ว เขาก็ได้เรียนรู้ว่าคนตาบอดสามารถสร้างสรรค์ภาพวาดและงานศิลปะได้อย่างไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

งานที่โคลดถนัดและสนใจคือการวาดรูป ปั้นเซรามิค สร้างประติมากรรมลอยตัวด้วยลวดเหล็กที่สร้างเงาเป็นรูปภาพ เขาคิดค้นเทคนิคในการสร้างภาพนูนต่ำสำหรับประกอบหนังสืออักษรเบรลล์ และทุ่มเททั้งชีวิตในการสอนศิลปะให้กับผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ ซึ่งเขาเดินทางไปสอนมาแล้วทั่วโลก

ก่อนจะมานั่งคุยกัน ฉันเองก็ไปร่วมเวิร์คช็อปสอนผู้พิการทางสายตาวาดรูปกับโคลดที่ Dialogue In The Dark Bangkok ด้วย นักเรียนเฉพาะกิจที่มานั่งเรียนกันอย่างสนุกสนาน คือเหล่าไกด์ผู้พิการทางสายตา ที่ช่วยนำทางคนตาดีนับพันเรียนรู้บทเรียนในความมืดที่นิทรรศการแห่งนี้มาแล้ว

“เราใช้บอร์ดที่ยืดหยุ่นเป็นพิเศษรองเป็นฐานชั้นล่าง นำกระดาษหนาที่มีลักษณะคล้ายกระดาษไขวางชั้นบน จากนั้นใช้ปากกาหัวมนไร้หมึกลากเส้นในลักษณะเดียวกับการวาดรูปปกติได้เลย ผู้พิการทางสายตาแต่ละคนจะมีจินตนาการของสิ่งต่างๆ รอบตัวที่แตกต่างกันไปตามการสัมผัส”

ระหว่างเวิร์คช็อป โคลดให้นักเรียนลูบใบหน้าจากนั้นสเก็ชต์ภาพพอร์ตเทรต ซึ่งต้องบอกเลยว่าฝีไม้ลายมือของพี่ๆ ไกด์ผู้พิการทางสายตาดูดีไม่หยอกเลย แต่ละภาพสวยงามและเต็มไปด้วยความหมายในตัว

“ตอนที่มูลนิธิ Antoine De Saint-Exupery ติดต่อมาหาผม ว่าอยากให้ช่วยทำภาพนูนต่ำประกอบหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาเบรลล์ ผมดีใจมากที่จะได้ทำสิ่งนี้ เพราะผมอยากให้ผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ ได้สัมผัสรูปภาพของ อองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี อย่างที่ผมได้สัมผัสเมื่อ 50 ปีก่อนด้วย”

ในการทำ Le Petit Prince En Braille เริ่มจากการปั้นรูปนูนต่ำของแต่ละภาพในหนังสือเจ้าชายน้อย ออกมาเป็นแบบ จากนั้นนำแบบไปปั้มนูนลงบนกระดาษแบบพิเศษที่มีความหนาและยืดหยุ่น ภาพปั้มนูนต่ำแสดงรายละเอียดได้อย่างครบสมบูรณ์ แม้แต่เส้นผมและผ้าพันคอเล็กๆ ของเจ้าชายน้อย

ฉันมองไปรอบๆ เห็นพี่ๆ ไกด์ผู้พิการทางสายตายังคงลูบคลำอ่านหนังสือเจ้าชายน้อย และภาพนูนต่ำกันอยู่ด้วยร้อยยิ้ม

หาก หลุยส์ เบรลล์ คือผู้ทลายกำแพงแห่งการอ่าน โคลด กาคอง ก็คือผู้ทลายกำแพงในการเสพงานศิลป์ของผู้พิการทางสายตาไม่ต่างกัน

ภาพ: Arrimage Association และ The Antoine de Saint Exupéry Foundation

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน