10 พฤษภาคม 2018
10 K

แม้เราแทบจะอ่านประโยคของภาษาแปลกตาที่ปรากฏเป็นครั้งแรกในการวางกราฟิกไม่ออกเลย แต่วลีเด็ดของ อองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) นี้ก็จุดประกายความหวังอันเจิดจ้าขึ้นมาในหัวใจ ให้ความหวังแล้วว่าหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนาจะเป็นจริงขึ้นมาได้

เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนา

…นี่คือความลับของฉัน มันเป็นเรื่องธรรมดามาก เราจะเห็นอะไรได้ก็ด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา…

คงจริงอย่างว่า การเอาหัวใจเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่สายตาไม่อาจสื่อความหมาย นับเป็นคุณค่าอันลึกซึ้งที่ไม่อาจเปรียบมาเป็นอักขระใดๆได้ อุปสรรคและปัญหานานาที่เราร่วมฝ่าฟันมาเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ก็ด้วยจากน้ำมือและน้ำใจของเหล่ากัลยาณมิตรที่ต่างก็ใช้หัวใจและความรู้สึกร่วมสร้างมันขึ้นมา จนได้ เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนา ตามที่เราตั้งใจไว้

โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นนี้เริ่มจากความรู้สึกรักและเชื่อในความรักที่มนุษย์ควรมอบให้แก่กัน โดยมิได้แบ่งชนชาติ ศาสนา หรือแม้แต่วรรณะใดๆ โดยมีวรรณกรรมอย่าง เจ้าชายน้อย ของแซง-เต็กซูเปรี นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้ถ่ายทอดมุมมองของความรัก มิตรภาพ และทุกสิ่งทุกเรื่องที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ทุกเผ่าพันธุ์ บนดาวโลกดวงนี้ควรจะตระหนักว่าสิ่งใดสำคัญหรือสิ่งใดมีค่ามีความหมายในอันที่จะยึดโยงชีวิตให้อบอุ่นอย่างแท้จริง

เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนา เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนา

การดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย โดยมีตัวละครอย่างเจ้าชายน้อย และการใช้สัญญลักษณ์อย่างดอกกุหลาบ หมาจิ้งจอก งู อีกทั้งผู้คนในแบบต่างๆ ซึ่งความเป็นไปของนิสัยใจคอและการดำรงชีวิตของตัวละครเป็นบุคลาธิษฐานให้เราใคร่ครวญ เป็นสื่อการเข้าถึงความหมายของความรัก ความอ่อนโยน มิตรภาพ ที่ทั้งตั้งคำถามและให้คำตอบแก่ผู้อ่านตามแต่จิตใจใครจะหยั่งรู้และตีความได้อย่างน่ามหัศจรรย์

หนังสือเล่มนี้ได้ชื่อว่าเป็นอภิปรัชญาที่ถ่ายทอดผ่านวรรณกรรม จนได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางจากนักอ่านทั่วโลก และเป็นหนังสือที่ถูกนำไปแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก แม้แต่ประเทศที่ไม่เคยว่างเว้นจากภาวะสงครามอย่างอัฟกานิสถานก็ยังเห็นคุณค่าของวรรณกรรมดีๆ เล่มนี้ โดยมีการแปลภาษาอัฟกันออกมาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน

เจตนาเบื้องต้นคือการเผยแพร่คุณค่าของวรรณกรรมเล่มนี้เป็นภาษาล้านนา เพื่อประโยชน์อันเกิดแก่กลุ่มชาติพันธุ์บางท้องถิ่น และผู้ที่ต้องการศึกษาภาษาไทยและตัวอักษรล้านนา เราจึงพูดคุย ทำความเข้าใจ และสรุปตรงกันว่าจะเลือกใช้วิธี ‘การปริวรรต’ ซึ่งหมายถึง ‘การแทนคำ’ ในการทำ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาล้านนาเป็นครั้งแรก

เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนา

และเมื่อแซ็ง-เต็กซูเปรีให้ความสำคัญกับเรื่องคุณค่าของความรักและความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อกัน ผู้ที่มาปริวรรต เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนาจึงต้องเป็นผู้เข้าใจในวรรณกรรมและเข้าถึงความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเราก็ได้รับเกียรติจากกวีล้านนา อย่างอาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง มาเป็นผู้ตรวจทานความหมาย พร้อมกับอาจารย์ดิเรก อินจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาล้านนาแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เข้ามาช่วยในเรื่องการปริวรรตเนื้อหาตามวัตถุประสงค์หลักของการทำงานครั้งนี้ โดยเราเลือกการปริวรรตหรือการแทนคำในสำนวนของ พี่เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ ซึ่งยังคงความหมายของผู้เขียนและผู้แปลเป็นภาษาไทยอย่างครบถ้วน

เมื่อต้นฉบับภาษาไทยถึงมืออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองแล้ว ดูเหมือนงานชิ้นนี้ก็ปราศจากปัญหาใดๆ แต่เมื่อถึงขั้นตอนการพิมพ์เป็นตัวเมือง อุปสรรคที่เรามิได้คาดไว้ก็เกิดขึ้น เนื่องจากตัวเมืองหรืออักษรล้านนานั้นต้องถูกสร้างขึ้น มิได้มีแป้นพิมพ์มาตรฐานอย่างภาษาหลักๆ ทั่วไป อาจารย์ดิเรกจึงต้องวางตัวอักษรเมืองทีละตัวจนประกอบเป็นคำ จากนั้นจึงต่อแต่ละคำให้เป็นประโยค จนรวมความเป็นเรื่องราวอย่างที่เราได้เห็น

การวางแต่ละคำอย่างประณีตบรรจง ลงรายละเอียดอย่างช้าๆ จนจบเรื่อง แต่เรื่องกลับไม่จบ… เมื่อถึงขั้นตอนการวางกราฟิกเพื่อให้เรื่องราวสอดคล้องกับภาพประกอบตามต้นฉบับของผู้เขียน ตัวอักษรเมืองที่วางไว้อย่างสวยงามก็เกิดสลับที่สลับทาง เว้นช่องว่างไม่ได้อย่างที่วางไว้ ทำให้ต้องกลับมาแก้ไขทั้งหมดอีกรอบ เหมือนกับต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่

เหล่านี้คือข้อจำกัดที่ทำให้เกิดความยุ่งยากและล่าช้า  แต่ด้วยความปรารถนา ความตั้งใจ ของทุกคน (โดยเฉพาะอาจารย์ดิเรกและทางทีมผู้รับผิดชอบการจัดอาร์ตเวิร์ก) ทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคจึงผ่านพ้นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนในการทำงานร่วมกัน วรรณกรรมเล่มนี้จึงเสร็จสิ้นอย่างสวยงาม อีกทั้งยังซ่อนนัยความเป็นล้านนาไว้ในการออกแบบ เลือกปกที่เป็นภาพภูเขาสูง และการใช้สีแดงอย่างสีจิตรกรรมฝาผนังของช่างแต้มแบบล้านนาเป็นลายเส้น

นอกจากมิตรหน้าใหม่ที่มาพร้อมกับ เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนา มิตรผู้อารีที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการเจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นนี้ให้เกิดขึ้นได้คือ ฌอง-มาร์ค พร๊อพสต์ กงสุลกิตติมศักดิ์แห่งประเทศเยอรมนี ประจำเมืองโลซานน์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิฌอง-มาร์ค พร๊อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) ที่สนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือฉบับนี้เพื่อนำไปแจกสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย และยังร่วมให้การสนับสนุนต่อเนื่องไปถึงภาษาถิ่นต่อๆ ไปคือภาษากะเหรี่ยงและภาษายาวี เพื่อแจกเด็กๆ ตามภูมิภาคต่างๆ

เจ้าชายน้อย

เจ้าชายน้อย

ยังมีนักสะสมหนังสือ เจ้าชายน้อย จำนวนหนึ่งที่ได้ข่าวสารการแปลภาษาล้านนาที่กระจายไปทั่ว ส่งข้อความผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อขอซื้อหนังสือ ซึ่งเราต้องปฏิเสธไปว่าเราจัดทำขึ้นเพื่อแจกสถานศึกษาต่างๆ ในภาคเหนือเท่านั้น ไม่ได้มีจำหน่ายแต่อย่างใด นักสะสมบางคนจึงเสนอจะส่ง เจ้าชายน้อย ในคอลเลกชันส่วนตัวมาแลกเปลี่ยนกับฉบับล้านนา ซึ่งในฐานะผู้สะสมคนหนึ่ง ผมยินดีที่จะนำหนังสือส่วนหนึ่งส่งไปแลกเปลี่ยนกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมิตรภาพที่ไม่เคยพบหน้าค่าตากันมาก่อนเริ่มปรากฏขึ้นในรูปแบบพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากหลายประเทศ ทั้งสเปน โปรตุเกส อเมริกาใต้ พร้อมกับหนังสือ เจ้าชายน้อย หลากเวอร์ชัน แปลกตาและน่าสนใจยิ่งนัก หลายคนส่งคอลเลกชันฉบับเด็ดของตัวเองมาแลกเปลี่ยน อย่างฉบับภาษาออเรอเบช (Aurebesh) ภาษาเฉพาะที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ในภาพยนตร์อมตะอย่าง Star Wars เป็นต้น

และสุดท้าย หากภารกิจจากการแปลและการอ่านวรรณกรรมเล่มนี้ของทุกคนสามารถแปรเปลี่ยนหวนความรู้สึกอันดำมืดที่เป็นความอคติใดๆ ต่อกัน มาตระหนักในคุณค่าของความรักและมิตรภาพที่แท้จริง  ก็อาจนับได้ว่าการเดินทางของวรรณกรรมเล่มนี้ได้ส่งผ่านดวงใจของผู้นั้นให้บรรลุถึงความหมายที่ซ่อนอยู่อย่างงดงาม และอาจกล่าวด้วยความสง่างามว่า…

“สำหรับเธอ ฉันเป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกอื่นนับร้อยพัน แต่ถ้าเธอฝึกฉันให้เชื่อง เราก็จะต้องการกันและกัน”

Writer & Photographer

Avatar

สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ

อดีตพนักงานสายการบิน Swiss Air ที่ผันตัวมาเป็นนักเดินทางช่างเขียน นอกจากหนังสือท่องเที่ยวหลายเล่มที่เขาเขียนพร้อมกับการเดินทาง เขายังได้หนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาต่างประเทศจากเกือบทั่วโลกมาเป็นของสะสมที่เขารัก และได้นำสิ่งนี้มาเผยแพร่เป็นภาษาถิ่นเพื่อแจกจ่ายเด็กต่างภูมิภาคต่างๆ ของไทยอีกด้วย