9 พฤศจิกายน 2023
2 K

“เห็นโลมาบ้างไหมคร้าบบบ” 

เสียงชายคนหนึ่งตะโกนถามจากเรือหางยาวที่เต็มไปด้วยกล้อง เลนส์ซูมตัวใหญ่ และโดรน 

ประโยคนี้ของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่ออยากรู้ตำแหน่งโลมาเท่านั้น แต่เขายังตั้งใจถามคำถามนี้เพื่อให้คำว่า ‘โลมาอิรวดี’ ได้กลับมาสู่ความคิดผู้คนรอบทะเลสาบสงขลา

เจ้าของคำถามคือ แดง-ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์วาฬไทย (ThaiWhales) ซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ใช้ความสามารถด้านสื่อของตนเองเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้วาฬและสัตว์ทะเลหายากของไทย ผ่านการถ่ายทอดความรู้ในเว็บไซต์ การจัดนิทรรศการ และการทำหนังสารคดี

มาวันนี้พวกเขาเดินทางมาถึงภารกิจใหม่ในชื่อ The Last 14 : วิกฤตโลมา วิกฤตทะเลสาบ ที่เป็นการเล่าเรื่องราวโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายแห่งทะเลสาบสงขลา และถือเป็นโลมาอิรวดีน้ำจืด 14 ตัวสุดท้ายของไทย

“สำหรับเรา The Last 14 เป็นมากกว่าหนัง แต่เหมือนภารกิจที่เราตั้งใจจะทำต่อเนื่องเพื่อช่วยรักษาโลมา 14 ตัวนี้เอาไว้ให้ได้ แม้ตอนนี้จะปิดกล้องแล้ว แต่เราก็พยายามจะลงพื้นที่อีกเรื่อย ๆ” แพง-คมฉาย ธนะพานิช อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง ThaiWhales กล่าวถึงความตั้งใจ 

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับทีม ThaiWhales ในวันนี้ คือนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของโลมาสปีชีส์หนึ่ง แต่คือภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และการจัดการธรรมชาติที่ไปผิดทิศผิดทาง 

“สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่โลมา แต่คือทั้งระบบนิเวศกำลังหายไป เราพัฒนาด้านเดียวจนทำให้ระบบนิเวศดั้งเดิมเปลี่ยนไป ซึ่งปัญหาของระบบนิเวศทะเลสาบคือคนมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง อย่างป่าบก ถ้าต้นไม้แห้งโกร๋น ดินแห้งแตก เราก็จะรู้ว่าป่ามีปัญหา แต่สิ่งที่เกิดใต้น้ำในทะเลสาบ เรามองไม่เห็นอย่างนั้น” 

แดงเล่าถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วิกฤตครั้งนี้ไม่เป็นที่รับรู้ของผู้คน ซึ่งการหายไปของโลมาอิรวดีในทะเลสาบคือสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าทะเลสาบกำลังวิกฤต และถ้าทะเลสาบวิกฤต มนุษย์เราก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

“นี่คือโอกาสสุดท้ายที่เราจะช่วยพวกเขาแล้ว ด้วยจำนวนที่เหลือแค่ 14 ตัว ถ้าไม่ใช้โอกาสนี้ก็ไม่น่าจะมีโอกาสอีกแล้ว” แพงกล่าว

จากวาฬบรูด้า ถึงโลมาอิรวดี

ย้อนกลับไปราว ๆ พ.ศ. 2553 ในช่วงที่วาฬบรูด้าเริ่มปรากฏตัวในอ่าวไทยยุคแรก ๆ แดงในฐานะช่างภาพกองถ่ายภาพยนตร์และแพงในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม ‘ThaiWhales’ เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องวาฬไทยสู่ผู้คน งานแรกของพวกเขาคือการทำเว็บไซต์ thaiwhales.org ซึ่งมีบทความสนุก ๆ เกี่ยวกับวาฬมากมาย เช่น 50 คำถามวาฬไทย ตามมาด้วยการต่อยอดเป็นนิทรรศการ ‘ห้องเรียนวาฬไทย’ ในหัวข้อ ‘วาฬ = ฅน’ รวมถึงภาพยนตร์สารคดี วาฬบอกที 

แต่นอกเหนือจากงานด้านสื่อแล้ว พวกเขายังทำงานเชิงพื้นที่ ทั้งออกสำรวจ เก็บข้อมูล อีกทั้งยังเป็นหน่วยสนับสนุนเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ในวันที่ลูกพะยูนมาเรียมเกยตื้นและต้องการกำลังเสริม พวกเขาก็ช่วยรับหน้าที่ประสานงานหาอาสาสมัคร ทั้งในกรณีน้องมาเรียม น้องยามีล ไปจนถึงน้องภาระดอนที่เป็นลูกโลมาอิรวดีน้ำเค็มมาเกยตื้นในหลายปีถัดมา 

“เรื่องโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาก็อยู่ในใจเรามาตลอด ตั้งแต่สมัยลงพื้นที่ถ่ายทำ วาฬบอกที แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปใส่ในหนัง จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2564 เราจัดงานเสวนาเรื่อง ‘วิกฤตวาฬ วิกฤตคน’ แล้วก็ชวน อาจารย์ธรณ์ (ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) มาคุย ซึ่งอาจารย์บอกว่าตอนนี้วาฬบรูด้าไม่ค่อยวิกฤตแล้ว เพราะมีคนรู้จักเยอะขึ้น คนแคร์เยอะขึ้นแล้ว อยากให้มาช่วยเรื่องโลมาทะเลสาบสงขลาดีกว่า” 

แพงเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้กระดิ่งในใจของเธอดังขึ้นอีกครั้ง ทั้งแพงและแดงจึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ ThaiWhales จะลงมาทำเรื่องโลมาอิรวดี 

“โลมา 14 ตัวนี้คือโจทย์ใหญ่ที่สุดและยากที่สุดในการแก้ปัญหาสัตว์ทะเลหายากของไทย ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามแก้มาตลอด แต่มันก็ยากมาก เหมือนเราทำโจทย์เลขแล้วเจอข้อยาก เรามักข้ามไปก่อน แต่พออาจารย์พูด เลยคิดว่าถึงเวลาแล้ว เราข้ามไปก่อนไม่ได้แล้ว”

นั่นเองที่โปรเจกต์ภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ถือกำเนิดขึ้น โดยแดงเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า The Last 14 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากการประเมินของนักวิจัยจากข้อมูลเครื่องบันทึกเสียงใต้น้ำ เนื่องจากไม่มีใครถ่ายภาพโลมาเหล่านี้ได้นานแล้ว 

และจากการลงพื้นที่ถ่ายทำ พวกเขาก็ได้พบว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของโลมา แต่มันคือเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น – มันคือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทะเลสาบที่กำลังเปลี่ยนไป 

จากโลมาอิรวดีถึงทะเลสาบ

ทำไมโลมาถึงหายไป… 

นี่คือคำถามใหญ่ที่หนังสารคดีเรื่องนี้จะพาไปหาคำตอบ โดยจะพาเราไปฟังจากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญ เช่น ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพสายอนุรักษ์ โดยมี สายป่าน อภิญญา เป็นตัวแทนของคนทั่วไปมาช่วยตั้งคำถาม 

“หัวใจหลักของหนังเรื่องนี้คือพาไปหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งตอบสั้น ๆ คือเกิดจากน้ำมือมนุษย์” แดงกล่าว

การกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อโลมามีหลายด้าน แต่สาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา คือการติดอวน โดยเฉพาะอวนปลาบึก

“ถ้าเป็นคนที่พอรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมก็อาจตั้งคำถามว่าปลาบึกมาอยู่ที่นี่ได้ยังไง เพราะปลาบึกไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นทะเลสาบสงขลา แต่เป็นปลาแม่น้ำโขง คำตอบคือมันถูกนำมาปล่อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นความตั้งใจที่ดีแหละ แต่คงลืมนึกไปว่าทะเลสาบแห่งนี้มีสัตว์พื้นถิ่นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน อวนที่จับปลาบึกเลยทำให้โลมาอิรวดีไปติดด้วย”

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าอวนจับปลาบึกคือปัญหา คือตัวเลขสถิติที่บอกว่าในอดีตก่อนที่กรมประมงจะเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาบึก โลมาที่นี่มีอัตราการตายเฉลี่ยปีละ 4 – 5 ตัว แต่เมื่อปลาบึกที่นำมาปล่อยเริ่มโตจนคนเริ่มจับ อัตราการตายของโลมาก็เพิ่มเป็น 10 ตัวต่อปี 

ข่าวร้ายคือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อมยังไม่จบแค่นั้น เพราะนอกจากปัญหาอวนปลาบึกแล้ว ยังมีเรื่องการสร้างประตูระบายน้ำปากระวะเพื่อกั้นน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในทะเลสาบ เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดเพื่อการเกษตร แต่ผลกระทบที่คนออกนโยบายอาจไม่ทันได้คิดคือมันเป็นการเปลี่ยนระบบนิเวศทะเลสาบ 3 น้ำ ให้กลายเป็นแค่บ่อน้ำนิ่ง ๆ 

“จุดเด่นของทะเลสาบสงขลาคือการเป็นทะเลสาบ 3 น้ำ มีน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ความหลากหลายของน้ำนำมาสู่ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ลองนึกถึงป่าเขาใหญ่ก็ได้ ความเป็นป่าเขาใหญ่คือมีต้นไม้หลากหลาย แต่ถ้ามีคนบอกว่าต้นสักมีประโยชน์ แล้วเปลี่ยนต้นไม้ทั้งหมดให้เป็นต้นสักอย่างเดียว ป่าเขาใหญ่ก็คงไม่เหมือนเดิม ซึ่งเรากำลังทำแบบนั้นกับทะเลสาบ” แดงเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพ

“แต่ก่อนทะเลสาบสงขลาจะมีคลองย่อย ๆ เชื่อมออกสู่ทะเลมากมาย แต่ทุกวันนี้คลองส่วนใหญ่ตื้นเขินหมดแล้ว ตรงปากน้ำที่ออกสู่ทะเลก็กลายเป็นบ้านเรือน เป็นสวนปาล์ม คลองที่พอเหลืออยู่ก็มีประตูน้ำกั้นแทบทั้งหมด” แพงกล่าวเสริม

ผลกระทบอย่างแรกจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ 3 น้ำให้กลายเป็นแค่บ่อน้ำนิ่ง ๆ คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจากการประเมินคร่าว ๆ ของผู้เชี่ยวชาญด้านปลาและชาวบ้านก็พอจะกล่าวได้ว่าปลาในทะเลสาบแห่งนี้น่าจะหายไปแล้ว 200 – 300 ชนิด โดยยังไม่นับรวมพืชน้ำหรือแมลงน้ำอีกมากมายที่หลายชนิดอาจหายไปโดยที่ยังไม่เคยถูกค้นพบ 

“ผลกระทบข้อต่อมาคือการรุกรานของพืชน้ำและสาหร่าย เพราะปกติเวลาที่น้ำเค็มหนุนเข้า พืชน้ำจืดบางส่วนจะตาย แล้วพอถึงฤดูที่น้ำจืดหลากมา ซากพวกนี้ก็ถูกถ่ายเทออก แต่พอมีทำนบมากั้น น้ำไม่มีการหมุนเวียน ซากพืชที่ตายก็ทับถมจนทะเลสาบตื้นเขิน บางพื้นที่น้ำก็เริ่มเน่า จนทุกวันนี้แทบไม่มีจุดไหนของทะเลสาบลึกเกิน 3 เมตรแล้ว” 

นี่ยังไม่นับรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบนชายฝั่ง ผืนป่าหายไป ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรที่เต็มไปด้วยสารเคมี และเมื่อฝนมา สารเคมีเหล่านั้นก็ถูกชะลงทะเลสาบ รวมกับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ทะเลสาบที่เคยเป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตจึงถูกทำให้กลายเป็นเพียงแหล่งรองรับของเสีย โลมาซึ่งต้องอาศัยในทะเลสาบที่อุดมสมบูรณ์จึงลดจำนวนลง 

“โลมาคือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบ ถ้าโลมาอยู่ได้ ก็แปลว่าทะเลสาบยังสุขภาพดี แต่ถ้าวันไหนเรารักษาโลมาไว้ไม่ได้ ก็เท่ากับว่าเรารักษาแหล่งน้ำไว้ไม่ได้” แดงเล่าถึงบทบาทของโลมาในฐานะสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังพัฒนามาผิดทาง 

“ในการลงพื้นที่ เราทั้งประทับใจทะเลสาบสงขลาและสงสารทะเลสาบไปพร้อม ๆ กัน ระบบนิเวศทะเลสาบคือสิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่เรากำลังทำให้มันหายไปเรื่อย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่โลมา แต่คืออีกหลายสปีชีส์ที่อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง” แพงเล่าบ้าง

ข่าวร้ายคือภัยคุกคามของโลมา 14 ตัวสุดท้ายยังไม่จบแค่นั้น เพราะล่าสุด ครม. ไฟเขียวให้กับโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบที่จะเชื่อมระหว่างฝั่งพัทลุงกับสงขลา ซึ่งความเสี่ยงมีตั้งแต่เรื่องมลพิษจากการก่อสร้าง ไปจนถึงมลภาวะทางเสียง ซึ่งส่งผลต่อโลมาในฐานะสัตว์ที่ใช้เสียงเป็นประสาทสัมผัสหลักในการเดินทาง หาอาหาร และสื่อสารกันในฝูง ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลกันว่านี่อาจเป็นการไปปิดสวิตช์โลมาฝูงสุดท้ายของทะเลสาบสงขลา 

“แต่ก็ไม่รู้เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายนะที่ประเทศเรามีเงินไม่พอสำหรับโครงการนี้ เลยต้องไปกู้จากธนาคารโลก ซึ่งธนาคารโลกเขามีกติกาชัดเจนว่าโครงการที่จะกู้ต้องไม่กระทบต่อธรรมชาติ ยิ่งถ้ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อาศัยในพื้นที่ ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและวัดผลได้ในการควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะขณะก่อสร้างหรือหลังก่อสร้างเสร็จ และต้องมีแผนฟื้นฟูและคุ้มครองที่เป็นรูปธรรม” แดงอธิบาย

ด้วยเงื่อนไขจากกติกาสากลนี่เอง จึงกลายเป็นโอกาสให้เกิดการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนคุ้มครองโลมาฝูงสุดท้ายนี้ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งมีการวางแผนเพื่อเพื่อเก็บข้อมูลแหล่งหากินที่แน่ชัดของโลมา การจัดตั้งเขตคุ้มครองโลมา การกำหนดโซนจับปลาของชาวบ้านไม่ให้รบกวนโลมา มีการซื้อคืนอวนปลาบึกและยกเลิกการปล่อยปลาบึกลงทะเลสาบสงขลา เป็นต้น 

“การทำหนังก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากช่วยกระตุ้นให้ทุกคนไม่ลืม ไม่ว่าจะพวกเราเองหรือภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบ เราหวังว่าถ้ามีคนสนใจมากขึ้น สื่อและคนทั่วไปพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ประเด็นนี้ก็จะได้รับการดูแล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ต้องจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะด้วยจำนวนที่เหลืออยู่แค่นี้ ถ้าเราไม่สนใจ มันหายไปแน่ ๆ” 

แดงพูดถึงความหวังที่อยากเห็น ขณะที่แพงเสริมว่าสิ่งที่คนเมืองทำได้ดีที่สุดคือช่วยกันส่งเสียงเพื่อให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสังคม ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดแรงผลักดันต่อเนื่องไปถึงระดับนโยบาย

“หนังเรื่องนี้จะบอกกับคนว่า ถ้าเราปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรมจนโลมาอยู่ไม่ได้และหายไปในที่สุด วันหนึ่งทะเลสาบจะอยู่ไม่ได้และหายไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเรา และในที่สุดมนุษย์ก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน”

ในทางตรงกันข้าม หากเรารักษาโลมาไว้ได้ ก็แปลว่าเราจัดการพื้นที่ทะเลสาบสงขลาได้ถูกทาง 

“วาฬเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของทะเล โลมาอิรวดีก็เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของทะเลสาบ คนกับสายน้ำพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งโลมา-สายน้ำ-คน คือ 3 สิ่งที่เชื่อมร้อยกัน” แดงสรุป

จากทะเลสาบถึงมนุษย์

ท่ามกลางทะเลสาบเวิ้งว้าง ทีมงาน ThaiWhales นั่งอยู่บนเรือหางยาว 2 ลำที่แล่นเคียงข้างกัน โดยมีไม้กระดานวางเชื่อมระหว่างเรือทั้งสองเพื่อเป็นฐานสำหรับตั้งกล้องตัวใหญ่ พวกเขาเรียกเรือหางยาวคู่สำหรับถ่ายทำนี้ว่า Catamaran DIY 

แม้พวกเขาจะอยู่กลางผืนน้ำมาหลายชั่วโมงแล้วตั้งแต่เช้ามืด แต่ก็ยังไร้วี่แววของโลมาอิรวดี

“ตอนแรกคิดว่าไม่น่ายาก อ่าวไทยตั้งกว้าง เรายังเจอวาฬบรูด้าได้ ทะเลสาบสงขลาแค่นี้เอง แต่ปรากฏพอลงไปจริง ๆ ยากกว่าที่คิดมาก ด้วยทั้งสภาพอากาศ ด้วยจำนวนที่เหลือแค่ 14 ตัว” แพงเล่า

จากการลงพื้นที่ราว ๆ 6 ทริป ทริปละ 4 – 5 วัน รวมระยะเวลาแล้ว 20 – 30 วัน พวกเขาเจอโลมาแค่เพียง 3 ครั้ง โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่กลายมาเป็นฟุตเทจโลมาอิรวดีน้ำจืดดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี 

“ตอนเจอคือดีใจมาก เหมือนได้เจอตำนาน วันนั้นเราไปจอดเรือรอตรงจุดที่ชาวบ้านแนะนำ สักพักก็ได้ยินเสียงหายใจของโลมา แล้ววันนั้นเขาอยู่กับเราเป็นชั่วโมงเลย จากภาพถ่ายโดรนนับได้ 10 – 12 ตัว” แพงเล่าถึงความประทับใจ

ส่วนแดงก็เล่าว่า นอกเหนือจากได้เห็นโลมาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความประทับใจ คือการได้เห็นแววตาของชาวบ้านเวลาที่เขาถามถึงโลมา 

“บางคนเราจะเห็นความกระตือรือร้นในแววตาเลย บอกว่าวันนั้นเจอตรงนั้นตรงนี้ คือมันยังมีความหวังอยู่ในแววตาเหล่านั้น ทำให้รู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว” 

แม้จะไม่ใช่ชาวประมงทุกคนที่สนใจและรักโลมา บางคนเมื่อได้ยินคำถามว่าเห็นโลมาบ้างไหม ก็แค่บอกปัดและส่ายหน้า ส่วนบางคนถึงขั้นมีอคติกับโลมา และมองว่าโลมามาแย่งปลาที่เหลือน้อยอยู่แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงโลมาแค่ 14 ตัว ไม่ได้กินมากมายเลยเมื่อเทียบกับการจับของมนุษย์

“ความรู้สึกของคนมักขึ้นกับผลประโยชน์ อะไรที่เราได้ประโยชน์ เราก็รัก ความรู้สึกที่คนมีต่อโลมาในสมัยก่อนไม่เหมือนวันนี้ ในวันที่โลมายังมีเยอะ มีนักท่องเที่ยวมาล่องเรือดู ชาวบ้านเขาก็ชอบ จนเมื่อมันตายไปเรื่อย ๆ ออกเรือไม่เจอ ทัวร์ดูโลมาก็หมดไป ความรู้สึกของคนต่อโลมาก็เปลี่ยนไป”

คำถามที่ว่า “เห็นโลมาไหมครับ” จึงเป็นคำถามที่แดงหวังว่าจะทำให้ความคิดถึงโลมากลับมาในพื้นที่อีกครั้ง 

“ถ้าคำว่าโลมาอิรวดีในทะเลสาบกลับมาได้ ความรู้สึกทั้งหมดก็จะกลับมา และนำมาสู่คำถามที่ว่า เราจะช่วยมันยังไง”

และคำว่าที่ว่าจะช่วยโลมาอย่างไร ก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการจัดการที่ผ่านมาและการกลับมาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาถกกันว่าจะทำอย่างไรให้ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ แน่นอนว่าคงไม่ง่ายขนาดปล่อยน้ำเค็มเข้ามา ผมเองก็ไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น แต่นี่เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายต้องมาคุยกัน” 

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์อย่าง ดร.เพชร มโนปวิตร เคยเสนอคำหนึ่งที่เป็นหัวใจของการฟื้นฟูทะเลสาบ นั่นคือคำว่า ‘Rewilding’ หรือการฟื้นคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังหันมาสนใจ 

“ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเราไม่เคยมีคำว่าสิ่งแวดล้อมรวมอยู่เลย ทำให้เราพัฒนามาผิดทาง แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคำนึงถึงธรรมชาติในการพัฒนา โดยที่คนก็ต้องอยู่ในสมการด้วย แล้วถ้าคำว่า Rewilding เกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่กลับมาจะไม่ใช่แค่โลมา แต่คือระบบนิเวศทั้งหมด แล้วสิ่งนี้จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ไม่ว่าคนหรือโลมา” แดงสรุป

ความหวัง

ณ ชั้น 2 ของบ้านไม้หลังหนึ่งที่ชื่อบ้านเขียนเจริญ ริมถนนนางงาม จังหวัดสงขลา 

ทีม ThaiWhlaes มีโอกาสไปจัดนิทรรศการเล็ก ๆ ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีงาน Pakk Taii Design Week 2023 ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อสื่อสารเรื่องราวของโลมาอิรวดีให้คนพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ทั้งคู่ได้ค้นพบคือคนพื้นที่หลายคนไม่รู้แม้กระทั่งว่าทะเลสาบสงขลามีโลมาอิรวดีอยู่ ทั้งที่บ้านจัดงานก็อยู่ติดกับทะเลสาบ 

“มันเป็นคำถามในนิทรรศการด้วยนะว่าทำไมคนถึงไม่รู้จักโลมาอิรวดี เพราะการสื่อสารของรัฐไปไม่ถึงประชาชน หรือคนในสังคมไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม” แดงตั้งคำถามชวนคิด 

ความไม่รู้จักธรรมชาติของคนมากถึงขนาดที่ว่า ในนิทรรศการนั้นมีโมเดลโลมาตัวเล็ก ๆ อยู่ในถุงน้ำเกลือเพื่อสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ก็มีคนมาถามว่า นั่นใช่โลมาตัวจริงไหม ซึ่งแดงต้องอธิบายว่าโลมาตัวจริงที่คลอดออกมาวันแรกก็มีขนาดใหญ่กว่านี้หลายเท่าแล้ว 

“อย่างน้อยการจัดงานนี้น่าจะเป็นการจุดประกายให้คนเข้าใจมากขึ้น เราหวังว่าสิ่งนี้จะไปสะกิดใจเขาบางอย่าง เช่น ใครที่กำลังคิดจะถมที่ก็อาจคิดใหม่ หรือใครที่จะปล่อยน้ำเสียลงทะเลสาบก็อาจฉุกใจคิด เราเลยคิดว่างานเปิดตัวหนังต้องมาที่นี่ เพราะคือสิ่งที่มีผลโดยตรงต่อเขา อยากให้พอจบงาน เขารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องของเขาด้วย”

ส่วนแพงก็เล่าความประทับใจจากงานว่ามีคุณป้าคนหนึ่งเดินเข้ามาคุย และเมื่อเธอได้รับรู้ว่าโลมาอิรวดีที่นี่เหลืออยู่แค่ 14 ตัว เธอก็ถึงขั้นน้ำตาซึม พร้อมเปรยว่าอยู่มาจนอายุเท่านี้แต่ไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย และจบท้ายด้วยคำพูดที่ว่า ขอบคุณมากนะที่มาช่วย 

“ส่วนผมชอบคำถามของเด็ก เขาจะถามเยอะมาก แล้วส่วนใหญ่ก็จะปิดท้ายว่า แล้วเขาจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งผมก็บอกว่าเราต้องช่วยกันตั้งคำถาม เริ่มจากถามพ่อแม่ก่อนเลย หรือเจอข้าราชการในพื้นที่ก็เข้าไปถามว่าคุณรับผิดชอบเรื่องโลมาไหม โลมาเป็นยังไงบ้าง ถ้าทุกคนช่วยกันถามทำให้เรื่องไม่เงียบ โลมาก็จะอยู่ได้” แดงฝากถึงสิ่งที่อยากให้ทุกคนช่วยกัน

แม้ปลายทางของการเพิ่มจำนวนโลมาจะไม่ง่าย แต่เขาก็มองว่ายังพอมีความหวัง

“อาจารย์คนหนึ่งพูดไว้ว่า ถ้าเราช่วยโลมา 14 ตัวนี้และฟื้นฟูให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ ประเทศไทยในสายตาโลกจะต่างไปเลยนะ เพราะถ้าเราทำสำเร็จ แปลว่าจิตสำนึกหรือความเข้าใจในธรรมชาติของเราดีพอ นั่นหมายความว่าพวกเราพัฒนามาถูกทาง… บางทีก็แอบคิดว่าเราน่าจะตื่นตัวตั้งแต่ก่อนที่จะเหลือ 14 ตัวแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สาย” 

ในฐานะคนทำสื่อ แพงบอกว่าสิ่งที่ ThaiWhales กำลังทำคือการเป็นตัวกลางระหว่างโลมาและคน เป็นตัวกลางระหว่างราชการและชาวบ้าน 

“สำหรับเรา The Last 14 เป็นมากกว่าหนัง แต่เป็นเหมือนภารกิจที่เราจะทำต่อเนื่อง หลังจากนี้ก็พยายามลงพื้นที่ช่วยสำรวจ เก็บข้อมูล ส่วนในมุมของความเป็นสื่อ เราจะทำหน้าที่กระตุ้นความสนใจของผู้คน อยากให้หนังเรื่องนี้มาจุดประกายให้คนหันมาสนใจเรื่องโลมาและทะเลสาบมากขึ้น” 

แพงกล่าวว่าหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ใจฟูเสมอ คือเวลาที่เธอโพสต์ความคืบหน้าของโปรเจกต์ The Last 14 ลงเพจ ก็จะมีกลุ่มเฟซบุ๊กหรือเพจของคนพื้นที่ช่วยแชร์เรื่องนี้เสมอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีคนในพื้นที่อีกหลายคนมองเห็นความสำคัญและรอคอยด้วยความหวังให้ประเด็นนี้เป็นที่ใส่ใจของสังคมมากขึ้น ซึ่งทางทีม ThaiWhales ก็กำลังหาทุนเพื่อทำสารคดีต่อเนื่อง โดยวางแผนจะไปศึกษาการจัดการของทะเลสาบที่อินเดียว่าเขาทำอย่างไรถึงรักษาโลมาอิรวดีกว่าร้อยตัวไว้ได้ 

“เราหวังว่าคนที่เกี่ยวข้องจะกลับมาสนใจมันจริง ๆ และพยายามแก้ไขในสิ่งที่อาจทำพลาดไป ให้โลมาได้มีโอกาสมีชีวิตในพื้นที่นี้ต่อ เพราะนี่คือโอกาสสุดท้ายแล้ว ด้วยจำนวนที่เหลือแค่นี้ ถ้าไม่ใช้โอกาสนี้ ก็ไม่น่าจะมีโอกาสอีกแล้ว” แพงสรุปปิดท้าย 

จากในตัวอย่างหนังที่เธอเปิดให้ดู เราสะดุดใจกับคำพูดหนึ่งของอาจารย์ธรณ์ที่บอกไว้ว่า 

บางอย่างก็ไม่ควรให้จบที่รุ่นเรา

ชวนร่วมงานเปิดตัวสารคดี The Last 14 ได้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่บ้านเขียนเจริญ ถนนนางงาม จังหวัดสงขลา และติดตามสารคดีได้ในวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 21.10 น. ที่ช่อง Thai PBS หรือติดตามข่าวคราวอื่น ๆ ได้ทาง Facebook : ThaiWhales

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’