ในบรรดาคอลัมน์กว่าครึ่งร้อยที่ออนไลน์อยู่บนหน้าเว็บของ The Cloud ทุกวันนี้ คงมีแค่คอลัมน์เดียวที่เหล่าบรรณาธิการต้องพลิกปฏิทินจันทรคติหลายตลบ เพื่อค้นหาวันลงให้เหมาะสมกับเนื้อหา นั่นคือคอลัมน์ อารามบอย ที่มีกำหนดเผยแพร่ทุกวันพระ

นอกจากจะได้เห็นพระจันทร์เต็มดวงในค่ำคืนนั้น ถ้าคุณคลิกเข้ามาอ่านเว็บไซต์ของเราในวันเดียวกัน คุณก็จะพบกับบทความเกี่ยวกับวัดใดวัดหนึ่ง ซึ่ง ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล เป็นทั้งผู้เขียนและผู้ถ่ายภาพ ครบจนในตัวเขาคนเดียว

ต้าออกตัวว่าเขายังไม่ใช่กูรูเรื่องวัด ไม่ใช่คนชอบวัด แถมยังเป็นคนไกลวัด จากพื้นฐานครอบครัวจีนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตผูกพันกับวัดเหมือนอย่างคนไทยแท้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตก็ย่างกรายเข้ามา เมื่อต้าเลือกเรียนภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปวงความรู้ที่สั่งสมจากห้องเรียนได้บ่มเพาะความสนใจใหม่แก่เขาให้กลายเป็นคนชอบดู หมั่นสังเกต เพียรศึกษาศิลปกรรมภายในวัด

จะเป็นวัดใหญ่ที่มีสัญลักษณ์สำคัญประจำจังหวัดอย่างวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดร้างแสนงามกลางกรุงที่น้อยคนจะรู้จักเยี่ยงวัดภุมรินทร์ราชปักษี หรือวัดในนิกายมหายานแบบวัดอุภัยราชบำรุง รวมไปถึงวัดเล็กวัดน้อยอันมีองค์ประกอบยิบย่อยน่าทึ่งมากมาย ซึ่งเร้นกายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วไทย ต้า อารามบอย รับประกันได้ว่าสองเท้าของเขาเคยเหยียบย่างไปเยือนมาหมด ก่อนจะกลับมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวให้พวกเราได้อ่านเดือนละเรื่องทุก ๆ เดือน

เจ้าของรางวัลแฟนพันธุ์แท้วัดไทย รายการ แฟนพันธุ์แท้ SUPER FAN ปรารถนาจะให้เราทุกคนเห็นว่าวัดมิได้เป็นแค่ศาสนสถานสำหรับสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือขอพร หากยังมีคุณค่าอีกอเนกอนันต์ที่แฝงอยู่ในองค์พระ หน้าบัน ภาพเขียนฝาผนัง ไปจนกระทั่งซอกมุมเล็ก ๆ ที่หลายคนคงไม่สังเกต

วันนี้ที่บทความแรกในคอลัมน์ ‘อารามบอย’ เผยโฉมสู่ผู้อ่าน The Cloud มานานครบ 5 ปีบริบูรณ์ เราจึงชวนนักศึกษาปริญญาเอกแห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มาสนทนาถึงที่มาความสนใจ ความคิด และความฝันที่เขามีต่อวัดไทย ณ วัดราชโอรสาราม ที่เขาชื่นชอบและเลือกจะเขียนบทความถึงเป็นที่แรก ๆ

ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

บ้านคุณอยู่ใกล้วัดอะไรที่สุด

ผมอยู่ กม.9 เขตราษฎร์บูรณะ จะใกล้อยู่ 2 วัด คือวัดสนกับวัดสารอด แต่ต่อให้เป็นวัดใกล้บ้านก็ไม่ค่อยได้ไปนะ อาจด้วยความที่เราเป็นบ้านคนจีน ไม่ได้ผูกพันกับวัดขนาดนั้น อากงผมเคยไปร่วมสร้างโบสถ์ใหม่ที่วัดสารอด แต่ก็ไม่ได้ไปวัดพวกนี้บ่อย

ถ้าอย่างนั้นคุณเริ่มสนใจวัดวาอารามได้อย่างไร

น่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่ป๊าพาไปเที่ยวต่างจังหวัด คือบ้านผมเป็นครอบครัวคนจีน เป็นร้านค้าขายข้าวสาร อากงมีลูกชาย 2 คน ทั้ง 2 คนก็แต่งงาน มีลูกของตัวเอง เพราะงั้นเราไปพร้อมกันไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีแบ่งกันไป อย่างฝั่งบ้านผมจะไปช่วงตรุษจีน บ้านอาเจ็กเขาจะไปช่วงสงกรานต์ ผมก็จะได้ไปเที่ยวช่วงตรุษจีนทุก ๆ ปี ตั้งแต่ประมาณสัก 6 – 7 ขวบ

ป๊าเป็นคนขับรถ ก็จะหาดูว่าจังหวัดนี้มีอะไร พอเราเที่ยวในเมืองไทย ถ้าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ก็จะมีแต่วัด โบราณสถานบ้าง บางทีก็ไปอุทยานประวัติศาสตร์ พอเราไปจังหวัดนี้ เราก็ต้องไปวัดนี้ จังหวัดนั้นก็ต้องไปวัดนั้น สมัยก่อนป๊าจะให้เขียนไดอารี่ด้วย น่าจะเริ่มสนใจตั้งแต่ตอนนั้น

พอคนรอบข้างรู้ว่าเด็กอย่างคุณชอบวัด เขาทักหรือถามอะไรไหม

ไม่ได้ทักอะไรนะ เพราะสมัยนู้นก็ไม่ได้เที่ยววัดเป็นบ้าเป็นบอ เราไม่ค่อยได้ออกไปไหนเท่าไหร่ จะไปก็ต่อเมื่อป๊าพาไป ไม่ได้ขวนขวายว่าฉันจะไปวัดนั้นให้ได้ ตั้งใจไปวัดนี้ให้ได้ ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรก็จะประมาณนี้ เราก็ไม่ได้เที่ยววัดอย่างเดียว เที่ยวอย่างอื่นด้วย เดินห้างบ้าง ดูธรรมชาติบ้าง ภูเขา น้ำตกก็ไป ทะเลเคยไปบ้าง ไม่ได้ถึงกับจะประกาศตัวเองว่าฉันเป็นคนชอบวัด จนถึงวินาทีนี้ก็ไม่เคยพูดว่าตัวเองเป็นคนชอบวัดครับ

ได้ยินว่าตอนนี้คุณเรียนปริญญาเอกอยู่ ยังเรียนที่เดิมอยู่หรือไม่

ผมเรียนคณะเดียว ใช้คำว่าภาคเดียวมาตลอดตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงตอนนี้ เพราะตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ผมเรียนภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากรมาตลอด อาจมีช่วงที่เว้นว่างไปบ้าง ไม่ได้เรียนรวดเดียวตลอด มีช่วงพัก ๆ ไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยคิดจะไปเรียนอย่างอื่นนะ มีช่วงหนึ่งเคยคิดจะไปเรียนต่อต่างประเทศ สาขาก็ไม่ได้หนีไปจากพวกนี้เท่าไหร่

ในแต่ละปริญญา ทำวิทยานิพนธ์เรื่องใดมาบ้าง

ปริญญาตรีกับปริญญาโทจะทำเรื่องคล้าย ๆ กัน คือเป็นเรื่องจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเป็นความชอบส่วนตัว เราชอบดูจิตรกรรมและลายต่าง ๆ ตอนปริญญาตรีผมเลือกจะทำสารนิพนธ์เรื่อง ชาดกนอกทศชาติในจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 เพราะว่าทศชาติเป็นเรื่องที่ถ้าดูจิตรกรรมมาบ่อย ๆ เราจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องมาตรฐานที่เราเจอค่อนข้างบ่อย แต่เราพบว่าช่วงนี้เราพบจิตรกรรมที่เป็นชาดกเรื่องอื่น เพราะพระพุทธเจ้าที่เราคุ้นเคย นอกจาก 10 ชาติ ยังมีอีก 537 ชาติ รวมเป็น 547 ชาติ ในช่วงนี้ก็จะมีบางวัดที่เลือกเขียน ตอนนั้นก็เลยสนใจว่าทำไมวัดเหล่านี้ถึงเลือกเขียนจิตรกรรมเรื่องพวกนี้

วิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโท ผมเห็นว่าจิตรกรรมวัดนางนองเขียนเรื่องแปลก คือเรื่อง ชมพูบดีสูตร ก็เลยไปตามว่ามีวัดไหนเขียนเรื่อง ชมพูบดีสูตร บ้าง กลายเป็นธีสิสปริญญาโทเรื่อง ชมพูบดีสูตรในจิตรกรรมฝาผนัง

ส่วนตอนนี้เรียนปริญญาเอกอยู่ ผมทำเรื่อง รูปแบบและความเชื่อของรอยพระพุทธบาทในศิลปะไทย รอบนี้จากจิตรกรรมฝาผนังที่เรามีอยู่แล้ว ก็เพิ่มเรื่องการศึกษาเรื่องรูปแบบ พัฒนาการของความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทที่เป็นวัตถุจริง ๆ ด้วย ทั้งพระพุทธบาทธรรมชาติที่เราอาจไม่ได้ทำเยอะ แต่ว่าเราก็ต้องทำพระบาทสำคัญ เช่น พระพุทธบาทสระบุรี พระพุทธบาทสี่รอย แต่ก็จะมีพระพุทธบาทจำลองต่าง ๆ ที่ทำในที่อื่น ๆ ในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ทวารวดี ที่ศรีมโหสถ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การทำงานวิชาการพวกนี้ช่วยให้คุณได้เห็นอะไรในวัดบ้าง

ได้ทุกอย่าง ได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น

ต้องบอกว่าการมาเรียนที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดโลกมากนะ ก่อนหน้านี้คำว่า ‘โบราณคดี’ ในหัวเรามีแต่ไดโนเสาร์ เนื่องจากตอนเด็ก ๆ เราก็มี จูราสสิค พาร์ค โตมาหน่อยก็จะมีปกรณัมอียิปต์ ปกรณัมกรีก-โรมัน ผมไม่เคยที่จะมามองรูปแบบศิลปะ ความเชื่อในพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู สมัยนั้นไม่รู้จักเลย

พอเราเข้ามาเรียน มันเหมือนได้เปิดหูเปิดตา ทำให้เราเห็นว่าการมาวัดมีอะไรเยอะกว่าแค่การไหว้พระ เราเริ่มมองรายละเอียดเยอะขึ้น ไม่ใช่ว่ามาปุ๊บแล้วเราเดินตรงดิ่งเข้าโบสถ์เลย เราต้องมองว่า เอ๊ะ! อาคารหน้าตาเป็นยังไง นี่ของคนยุคสมัยไหน ภาพนี้เขียนเรื่องอะไร ปัจจุบันนี้ต่อให้เราไปวัดเดิม ๆ ที่เราไป มันก็ยังมีอะไรพวกนี้อยู่ในหัวตลอดเวลา ทุกครั้งที่เราไปวัดเราก็จะได้เรื่องราวใหม่ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวัดเดิม วัดใหม่ วัดใหม่ก็น่าสนใจ เพราะเราไม่เคยเห็น แต่วัดเดิมเราอาจได้เห็นในมุมที่เราไม่ได้เห็นมาก่อนซึ่งมี การมาเรียนในคณะโบราณคดีนี่แหละที่น่าจะเป็นส่วนประกอบใหญ่ ๆ ที่ทำให้เกิดตัวผมในตอนนี้

คุยเฟื่องเรื่องวัดกับ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล คอลัมนิสต์ ‘อารามบอย’ ผู้ฝันอยากให้คนไทยสนใจวัดในมิติอื่น ๆ มากกว่าแค่สถานที่ขอพร

‘วัด’ คืออะไรสำหรับคุณ

วัดคือศาสนสถานครับ ไม่จำกัดศาสนาไหนด้วย ถ้าเราไปดูคำสมัยก่อนจะเห็นว่าเราเรียกวัดแขก เราเรียกวัดคริสต์ เพราะงั้นหมายความว่า ‘วัด’ ในมุมผมเป็นแค่ศาสนสถาน ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นวัดพุทธอย่างเดียว ไม่ต้องจำกัดว่าเป็นเถรวาทด้วย เพราะวัดพุทธในบ้านเราก็มีทั้งเถรวาททั้งมหายาน เรามีทั้งศาสนาคริสต์ ฮินดู ซิกข์ ศาสนสถานของซิกข์เรายังเรียก ‘วัดซิกข์’ เลยถูกมั้ย เราไม่ได้มาเรียก ‘คุรุทวารา’ ศาสนสถานเนื่องในศาสนาอื่นเราก็เรียกวัด เพราะงั้นวัดจะเป็นศาสนสถานของศาสนาอะไรก็ได้ ถ้าเขาพอใจจะเรียก

ปัจจุบันคุณคิดว่าประเทศไทยมีวัดในพุทธศาสนาทั้งหมดกี่แห่ง

ผมจำจำนวนชัวร์ ๆ ไม่ได้ แต่ทะลุ 40,000 ไปแล้ว เรื่องจำนวนวัดเป็นที่พูดยาก เพราะมันเพิ่มขึ้นทุกปี ทุก ๆ ปีบ้านเราจะมีการตั้งวัดใหม่ขึ้นมา เราอาจจะมองวัดเป็นวัด แต่จริง ๆ พวกสถานปฏิบัติธรรม สำนักปฏิบัติธรรม หรือวัดป่าที่ยังไม่ได้ฟอร์มตัวเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าวัด มันก็เหมือนจุดเริ่มต้นของการที่จะเป็นวัดในอนาคตอยู่ดี เพียงแต่ ณ วันนี้สถานะยังไม่ถึง แต่โดยคำเรียก เวลากรมศาสนาในบางทะเบียนที่ผมไปดู เขาก็นับพวกนี้เป็นวัดด้วย เพราะงั้นปริมาณก็จะเพิ่มขึ้น

40,000 วัดที่ผมพูด ยังไม่รวมวัดร้างนะ ถ้าเอาวัดร้างใส่เข้าไป จำนวนก็จะทวีขึ้นไปอีก ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีวัดร้างอีกเท่าไหร่ ต่อให้มีการสำรวจโดยกรมศิลปากร ก็ยังมีวัดร้างที่ยังตกสำรวจอยู่บ้าง วัดร้างบางที่กลายสภาพไปแล้ว พอเราจะบอกถึงจำนวนวัด เราจำเป็นต้องใส่เงื่อนไขไปก่อนว่าเรานับด้วยเงื่อนไขแบบไหน วัดที่มีการใช้งาน วัดร้าง วัดที่สิ้นสภาพไปแล้วอย่างงี้ บางทีอาจอยู่ที่ว่าเอาตามเงื่อนไขไหน ถ้ายึดตามที่ผมไปดูมาที่เขาสำรวจกันไว้ ก็ประมาณ 40,000 นิดหน่อยครับ

คุยเฟื่องเรื่องวัดกับ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล คอลัมนิสต์ ‘อารามบอย’ ผู้ฝันอยากให้คนไทยสนใจวัดในมิติอื่น ๆ มากกว่าแค่สถานที่ขอพร

คุณพอจะประมาณได้ไหมว่าเคยไปมาทั้งหมดกี่วัดแล้ว

ถ้าผมไล่นับ ผมคงเสียเวลาเป็นชั่วโมงแน่เลย 

ณ วันที่ผมไปแข่งรายการ แฟนพันธุ์แท้ ในหัวข้อวัดไทย พ.ศ. 2559 ผมบอกว่าผมไปมามากกว่า 1,000 วัด ถ้านับตอนนี้ ผมว่าผมน่าจะเข้าใกล้ 2,000 แล้ว แต่อยู่ที่ห่าง 2,000 เท่าไหร่ ถ้ากะคร่าว ๆ ผมเกิน 1,500 มาสักพักแล้ว

ในจำนวนนี้นับเฉพาะวัดในไทยหรือเปล่า

แค่ในไทยนี่แหละ ไม่ต้องไปนับถึงต่างประเทศเลย

สปป.ลาว ผมน่าจะไปถึง 30 – 40 วัดแล้ว เมียนมา ถ้ารวมโบราณสถานในพุกามไว้ด้วย ผมน่าจะไปถึง 40 – 50 ส่วนกัมพูชา ถ้าเป็นปราสาทเขมรที่เป็นพุทธ ผมไม่ค่อยได้ไปเท่าไหร่ เว้นแต่จะนับนครวัดว่าเป็นพุทธหรือเปล่านะ เพราะว่านครวัดช่วงนี้เป็นวัดพุทธ กัมพูชาน่าจะ 10 – 20 วัด ส่วนมาเลเซีย-สิงคโปร์ ถ้ารวมวัดทางจีนนิกายเข้าไปด้วย ก็น่าจะได้ 10 – 20 วัด ไม่เยอะ ส่วนอินเดียเราก็ไปแต่วัดถ้ำ ไม่รู้จะเรียกมันว่าวัดได้รึเปล่า

อุปสรรคในการไปเก็บข้อมูลตามวัดแต่ละแห่งที่พอยกตัวอย่างได้มีอะไรบ้าง

อุปสรรคใหญ่สุดเลยคือผมเป็นคนขับรถไม่เป็น จนถึงวินาทีนี้ก็ยังขับไม่ได้ (หัวเราะ)

เพราะฉะนั้นแล้วจะไปไหนมาไหน เราเลยต้องอาศัยขนส่งสาธารณะอย่างเดียว ถ้าไม่มีคนขับรถอย่างป๊าหรือเพื่อนขับไปให้นะ บางวัดที่ไปด้วยการคมนาคมปกติจะไปลำบากมาก พวกที่รถไฟไปไม่ถึง รถยนต์ไปไม่ถึง ผมเคยลงทุนเดินเป็นเกือบ ๆ ครึ่งชั่วโมงเพื่อไปวัดวัดหนึ่งมาแล้ว อยู่ที่อำเภอไชยา วัดนั้นเหมือนอยู่ห่างไปในทุ่ง หามอเตอร์ไซค์ไม่ได้ ก็ต้องเดินเตาะแตะไปถึงวัดนั้น

คุยเฟื่องเรื่องวัดกับ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล คอลัมนิสต์ ‘อารามบอย’ ผู้ฝันอยากให้คนไทยสนใจวัดในมิติอื่น ๆ มากกว่าแค่สถานที่ขอพร

อย่างนี้ถ้าเป็นวัดที่อยู่ลึกมาก คุณต้องพึ่งพาคนขับรถได้ให้พาไปเสมอเลยเหรอ

ใช่ หรือไม่บางทีถ้ารู้สึกว่าฉันต้องไปให้ถึง แล้วฉันจะต้องไปให้ได้ ก็ต้องเดินเข้าไป เป็นพาหนะที่ง่ายที่สุดที่ผมใช้เป็นประจำ ก็เลยเป็นคนค่อนข้างเดินบ่อย เดินจนชิน

แล้วอุปสรรคอื่น ๆ ล่ะ

อุปสรรคอื่น ๆ คือไม่ใช่วัดทุกวัดจะเปิดให้เราเข้าไปชมได้เป็นปกติ ถ้าไม่ใช่วัดใหญ่อย่างวัดโพธิ์ วัดอรุณฯ วัดราชโอรสฯ ฯลฯ ที่อาคารส่วนใหญ่จะเปิด วัดเล็ก ๆ บางทีไม่เปิด 

เพราะงั้นการที่เราจะเข้าไปชมได้ บางทีก็ต้องหาพระ บางวัดพระไม่อยู่ก็ไม่ได้เข้า บางวัดพระท่านไม่สะดวกด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เราก็ไม่ได้เข้า จะมีปัญหาว่าบางวัดที่เราอยากไปดูมาก ๆ ไปยืนอยู่ตรงหน้าวัดแล้วแต่เข้าไปดูไม่ได้ก็เยอะ บางวัดผมต้องใช้วิธีไปซ้ำ 2 ครั้ง 3 ครั้ง หรือ 4 ครั้งถึงจะได้เข้าก็มี เราเห็นรูปที่คนอื่นเขาถ่ายมา มันควรค่าแก่การที่เราจะต้องไปดูให้ได้ด้วยตาตัวเองสักครั้งหนึ่ง

บางวัดผมเคยดิ้นรนไปเพื่อจะคุยกับพระ รูปนี้ไม่ให้ ไปรูปนู้น ซิกแซ็กไปเรื่อยจนสุดท้ายได้เข้าก็มี อุปสรรคก็ไม่มีเกินนี้หรอก

คุยเฟื่องเรื่องวัดกับ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล คอลัมนิสต์ ‘อารามบอย’ ผู้ฝันอยากให้คนไทยสนใจวัดในมิติอื่น ๆ มากกว่าแค่สถานที่ขอพร

คุณมาเขียนคอลัมน์ ‘อารามบอย’ ใน The Cloud ได้อย่างไร

เป็นคุณูปการของ พี่แฮม-วันวิสข์ เนียมปาน พี่แฮมเป็นคนชวนมา เหมือนตอนนั้น พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน กำลังหาคนเขียนเรื่องประมาณนี้ เขาเลยติดต่อมาที่ผม ด้วยความที่เรารู้จักกันอยู่แล้วจากการไปแข่ง แฟนพันธุ์แท้ ปีเดียวกัน ช่วงปีนั้นเราเพิ่งจบปริญญาโทมาใหม่ ๆ เป็นช่วงที่เราอยากรู้อยากลองไปหมด ใครจ้างงาน ใครมีอะไรให้ทำ ทำหมด พอพี่แฮมชวนเราก็อยากลอง

จากที่เขียนงานวิชาการมาตลอด มาเขียนบทความให้ที่นี่ต้องปรับวิธีการเขียนเยอะไหม

เราเคยเขียนบทความมาบ้าง แต่เวลาเราเขียนก็เหมือนกึ่ง ๆ รายงาน พอให้เราทำบทความของ The Cloud เราก็ไปแอบดูคาแรกเตอร์ว่าสมัยนั้นเขาเขียนงานกันแบบไหน งานมันมีความยูนีกในตัวเองประมาณหนึ่ง เป็นงานที่สื่อสารในทุกประเด็นในมุมที่ดูร่วมสมัย ดูไม่ได้เป็นเรื่องเก่า ๆ ภาษาดั้งเดิม มีการเอาภาษาพูดกับภาษาเขียนมาปนกันบ้างนิดหน่อยแล้วแต่นักเขียนแต่ละคน เราก็เลยลองเขียนดู

จำได้ว่า ณ วันที่เขียนบทความชิ้นแรก วัดประเสริฐสุทธาวาส เราก็ยังเขียนในแบบเป็นนักวิชาการอยู่เยอะนะ ด้วยความที่ตอนนั้นเราใหม่มากกับการเขียนงาน เราก็ไม่รู้จะเขียนยังไง เราก็ติดกับการเขียนรายงานมา ตอนแรกก็ส่งไปตั้งนานมาก แล้วมันก็หายไปเลย จนวันหนึ่งก็มีติดต่อมาว่าอยากให้เป็นนักเขียนของ The Cloud ก็เลยได้เกิดคอลัมน์ ‘อารามบอย’ ขึ้นมา เลยมีวัดราชโอรสารามเป็นวัดแรก เพราะเป็นวัดที่ชอบ เราก็เลือกวัดนี้ก่อนเลย

เพราะอะไรถึงตั้งชื่อคอลัมน์ของตัวเองว่า ‘อารามบอย’

เนื่องจากเป็นคนตั้งชื่อไม่เก่ง ถ้าจะเขียนเรื่องวัดต้องมีชื่ออะไรดี แวบแรกสาบานได้เลยว่าผมนึกถึง โก๊ะตี๋ อารามบอย ก็เลยคิดว่าชื่อนี้มันดูเก๋ดีนะ ดูเหมือนเด็กวัด ตอนนั้นคุยกับพี่ก้อง เสนอไปหลายชื่อเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าชื่อนี้มันโอเค

คุยเฟื่องเรื่องวัดกับ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล คอลัมนิสต์ ‘อารามบอย’ ผู้ฝันอยากให้คนไทยสนใจวัดในมิติอื่น ๆ มากกว่าแค่สถานที่ขอพร

ในการเขียนคอลัมน์นี้แต่ละเดือน คุณเตรียมตัวยังไง

ก่อนอื่นต้องคิดก่อนว่าเราจะเอาวัดไหน อย่างบางปีมีคุมโทนของงาน ปีแรก ๆ เราก็จะดูว่าเดือนนั้นมีวันสำคัญอะไร เราก็เขียนวัดอ้างอิงตามวันสำคัญ ช่วงหนึ่งพี่ก้องอยากให้เขียนวัดเล็ก ๆ เราก็ขยับไปเขียนวัดเล็ก ๆ อย่างตอนนี้ผมพยายามคุมวัดเล็ก ๆ ด้วยการทำให้มันเป็นวัดเล็กที่มีความพิเศษ แต่ว่าอยู่ในแต่ละภูมิภาค ถ้าสังเกตตั้งแต่ช่วงต้นปีมา ผมมีวัดทางเหนือ ทางอีสาน ภาคกลาง ปีนี้เราน่าจะได้เห็นวัดในภาคใต้ด้วย

ส่วนตัวผมตอนเขียน The Cloud แค่เขียนก็กังวลแล้ว ถ้าเราเขียนวัดใหญ่ วัดดัง ยอดคนอ่านอาจจะเยอะ แต่ว่ามันอาจไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นเขียน ผมชอบเขียนวัดเล็ก ผมรู้สึกว่าวัดที่ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีอะไรน่าดูมากกว่าวัดที่เป็นวัดใหญ่เยอะ แล้วเรารู้สึกว่าเขาถูกมองเห็นน้อยไปหน่อย ทุก ๆ ครั้งจะพยายามหาวัดเล็ก ๆ วัดที่มีจุดเด่นอะไรบางอย่างให้เห็นว่ามีวัดนี้อยู่นะ มันมีของน่าสนใจอย่างนี้นะ อยากจะชวนให้ไปดู ต้องบอกว่าโชคดีด้วยที่คอนเซปต์ตรงนี้ตรงกับที่ The Cloud ต้องการพอดี เพราะพี่ก้องก็อยากให้เขียนวัดเล็ก ๆ เหมือนกัน

พอเลือกวัดได้แล้ว คุณทำอะไรต่อ

พอเราคิดเสร็จแล้ว ที่ต้องเตรียมต่อมาคือข้อมูล และยากที่สุดคือเขียนวัดเล็กเหมือนกัน เพราะข้อมูลน้อยมาก เพราะประวัติเอย อะไรเอยก็ไม่มี

สิ่งหนึ่งที่ผมพูดได้คือวัดที่เขียนใน The Cloud ทั้งหมดคือวัดที่ผมไปมาหมดแล้ว เพียงแต่ในบางจุดผมอาจไม่ได้ไปดู แต่ทุกวัดผมเคยไปมาหมดแล้วแน่นอน ผมจะไม่เขียนวัดที่ผมไม่เคยไปเด็ดขาด เพราะผมรู้สึกว่าการเขียนวัดที่เราไม่เคยไปดูมาก่อน เราเขียนไม่ได้ เราบอกไม่ได้เลยว่าเดินเข้าไปแล้วเราเห็นอะไร ซ้ายมีอะไร ขวามีอะไร เราจะพูดไม่ได้เลย รูปคือสิ่งที่มี 2 มิติ บอกแค่ว่าสิ่งที่เราจะเสนอมีอะไร แต่รูปจะไม่บอกว่ารอบ ๆ นั้นมีอะไรบ้าง รูปที่ผมใช้เกือบทั้งหมดคือเคยไปมาหมดแล้วแน่นอน ถ้าพี่ก้องโอเค เราก็จะเอาวัดนั้นมาเขียน

อยากให้ผู้อ่านได้อะไรจากการอ่านคอลัมน์นี้

อยากให้เขาได้เปิดมุมมอง โอเคแหละ ยุคนี้สายมูกำลังแรง ทุกคนไปวัดเพื่อที่จะไปมู ไปขออะไรบางอย่าง แต่ผมรู้สึกว่าวัดเรามีมากกว่านั้น ประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์ยาวนาน แล้วแต่ว่าใครจะนับนะว่าคุณจะนับถอยหลังถึงกรุงศรีอยุธยา สุโขทัย ทวารวดี สุดแท้แต่ละคนจะถอยนับ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คนสมัยก่อนหรือแม้แต่คนยุคนี้ก็สร้างสรรค์ผลงานมาให้เราเห็นเป็นรูปธรรม ทั้งภาพวาด ประติมากรรม พระพุทธรูป โบสถ์ วิหาร เจดีย์อย่างนี้ โห! มันสวย มันมีมากกว่าการเป็นของที่ไว้ใช้ถ่ายรูปเพื่อเช็กอิน ถ่ายรูปว่าฉันมาวัดนี้แล้ว แต่ว่าไม่ได้อะไรกลับไปเลย

ผมอยากให้ทุกคนที่ได้มาอ่าน อย่างน้อยได้เปิดมุมมองในการดูวัด ได้ดูวัดช้าลงสักนาทีก็ดี ไม่ใช่เดินเข้าไปยกมือกราบไหว้ ขอพร เดินออก อยากให้เข้าไปแล้วยืนมองสักหน่อยว่าพระพุทธรูปสวยจังเลย พระพักตร์ท่านเป็นยังไงนะ จิตรกรรมนี้สวยจัง เขียนเรื่องอะไรเอ่ย หรือฝาผนังภาพนี้ไม่เคยเห็น มีรูปคนต่างชาติด้วย เพราะงั้นเวลาผมเขียนก็พยายามเสาะหาลูกเล่นพวกนี้ใส่ไปในงานตลอดเวลา แล้วผมมักจะไม่บอกตำแหน่ง อาจบอกคร่าว ๆ ว่าอยู่ทางฝั่งซ้าย ฝั่งขวา แต่จะไม่บอกว่าอยู่ตรงไหนชัด ๆ เพื่อให้เขาไปหาเอง

ผมไม่ได้หวังอะไรสูงหรอก แค่อยากให้คนไปวัดมากขึ้น ไปวัดที่ไม่จำเป็นต้องไปวัดดัง วัดข้างบ้านก็ได้ คุณอยู่ใกล้วัดไหนก็ไปวัดนั้น ไม่ต้องไปเพื่อทำบุญ แต่ไปเพื่อไปดู ผ่อนคลาย

คุยเฟื่องเรื่องวัดกับ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล คอลัมนิสต์ ‘อารามบอย’ ผู้ฝันอยากให้คนไทยสนใจวัดในมิติอื่น ๆ มากกว่าแค่สถานที่ขอพร

จากที่ไม่ได้สนใจเรื่องวัด คุณไปวัดมาเยอะขนาดนี้ กล้าเรียกตัวเองว่า ‘กูรูวัดไทย’ หรือยัง

ไม่เคยพูดและไม่เคยคิดด้วย จนถึง ณ วินาทีนี้ ผมเชื่อว่ายังมีของที่ผมไม่รู้อีกเยอะเลย ถ้าเราพูดให้ดูสมัยใหม่หน่อย วัดไทยเหมือนกล่องสุ่ม ถ้าวัดที่เราไม่เคยไป เราไม่รู้จักมาก่อน ไม่มีข้อมูลมาก่อน เราไม่มีทางรู้เลยว่าวัดนั้นมีอะไร วัดนั้นอาจมีเพชรซ่อนอยู่ในจุดที่เราไม่รู้ก็ได้ เพราะงั้นวัดในมุมของผมเหมือนกล่องสุ่มที่เราต้องใช้โชคไปดูว่าวัดนี้จะได้ไปเจออะไรนะ 

บางวัดข้างนอกอาจสวยมาก แต่ข้างในอาจไม่สวยเลยก็ได้ หรือข้างในมันอาจโคตรว้าวเลยก็ได้ ผมเลยไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นกูรู โอเค ผมอาจจะรู้เรื่องวัดมากกว่าหลาย ๆ คน แต่ถ้าถึงจะประกาศตัวเองเป็นกูรูเรื่องวัด ผมก็ยังเชื่อว่ามีคนรู้เยอะกว่า 

ผมไปวัดเดิมบางครั้งก็รู้สึกตัวเองรู้ไม่เหมือนเดิม ได้ฟังคนนั้นคนนี้เล่าให้ฟัง ได้ฟังพระ ฟังอาจารย์ผมเล่าก็ยังรู้มากขึ้น หรืออย่างล่าสุดผมเพิ่งไปออกภาคสนามกับอาจารย์ ยังมีเรื่องที่ผมยังไม่รู้ ทำให้ผมไปวัดที่ไปมาแล้วซ้ำไปซ้ำมาตั้งเป็น 10 หน ก็ยังมีของที่ผมพลาดไปโดยที่ไม่เฉลียวใจ รู้สึกว่าตัวเองยังต้องใช้เวลาสั่งสมอีกเยอะเหมือนกัน

‘คนนั้นคนนี้’ มีใครบ้างที่ชี้ให้คุณได้รู้อะไรใหม่ ๆ ได้

บางคนเขาอาจจบแพทย์มา จบด้านธรรมชาติมา เป็นนักพฤกษศาสตร์ ดูนก หรืออย่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน พอเราไปวัดที่มีของพวกนี้ เขาจะดูได้มากกว่าเราด้วยซ้ำ สมมติเขาเชี่ยวชาญเรื่องนก เขาก็ชี้ให้เราดูว่านี่คือนกอะไร หรือลายมงคลแบบจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนก็ชี้ให้เราดูว่านั่นคือลายมงคลที่มีความหมายแบบไหน เขารู้เยอะกว่าเราแน่ ๆ ในประเด็นพวกนี้

เพราะงั้นการไปดูกับคนอื่นก็เปิดโลกให้เราในการมองวัด เพราะวัดเป็นมากกว่าแค่ที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอื่น ๆ อีกที่เราอาจคาดไม่ถึง เมื่อก่อนผมชอบไปวัดคนเดียว เรารู้สึกว่าอยากไปเอนจอยเงียบ ๆ ภาษาผมจะเรียกว่าการ ‘คุยกับวัด’ หรือ ‘คุยกับโบราณสถาน’ เหมือนที่อาจารย์ชอบสอนว่าเวลาไปโบราณสถาน ให้ไปคุยกับโบราณสถาน แล้วดูว่าโบราณสถานคุยอะไรให้เราฟัง

แต่ตอนนี้รู้สึกว่าผมชอบไปกับคนอื่นมากกว่า แต่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่นะ ผมอาจขอแค่กลุ่มเล็ก ๆ 2 – 3 คน หรือ 4 – 5 คน เพราะผมพบว่าเวลาเราไปกับคนอื่นมันเหมือนการเพิ่มจำนวนตา เขาอาจเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ครับ

คนชอบไปวัดจำเป็นต้องเป็นคนธรรมะธัมโมมั้ย

ไม่เลย เพราะผมคนหนึ่งที่ไม่ใช่ ผมเคยโดนค่อนขอดสมัยแข่ง แฟนพันธุ์แท้ รอบแรกที่ต้องพรีเซนต์ตัวเอง ผมก็บอกว่าผมไปมากกว่า 1,000 วัด ผมมีสถิติเที่ยววัดสูงสุดซึ่งตอนนี้ก็ยังสูงสุด ผมไม่เคยลบตัวเองได้เหมือนกันว่าผมเคยเที่ยว 43 วัดในวันเดียวที่เชียงใหม่

พอคลิปนั้นลงยูทูบไปปุ๊บ คนคอมเมนต์ชมมีไม่เยอะ ผมโดนด่าเยอะเหมือนกันว่าไปวัดทำไมเยอะแยะ คุณไปวัดคุณต้องไปนั่งสมาธิสวดมนต์ คุณไปเยอะแยะคุณได้อะไร ศาสนาไม่สอนอะไรคุณหรอก หรือเวลาคุณจะไปวัด สิ่งที่คุณควรทำคือ 1 2 3 4 5 …

หูย ตอนนั้นเฟลเหมือนกันนะ เราก็พูดในสิ่งที่เป็นเรา ตอนนั้นเราก็สงสัยว่าฉันต้องเป็นคนเที่ยววัดอย่างนั้นจริง ๆ เหรอ แต่พอย้อนกลับมาถามตัวเองก็พบว่านั่นไม่ใช่วิถีของเรา วัดเป็นสถานที่ทางศาสนา เป็นสถานที่ที่คนเคารพ ใช่ ข้อนี้ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่ถ้าให้ผมไปวัดแค่เพื่อนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล นั่นไม่ใช่วิสัย ผมเข้าวัดเพื่อที่เรียนรู้ เข้าใจ ในสิ่งที่วัดกำลังจะบอก เพราะทุกวัดมีภาษาของตัวเอง มีคำพูดที่เขาอยากจะบอกไม่เหมือนกัน 

เพราะงั้นทุกวัดมีเรื่องราวของตัวเองเสมอ ผมไปเพื่อเรียนรู้เรื่องราวพวกนั้น แล้วถ้ามีโอกาส ผมก็จะพยายามนำเรื่องราวพวกนี้มาแบ่ง ทางโซเชียลมีเดียของผมเองบ้าง หรือทาง The Cloud ก็เป็นช่องทางที่ผมได้แบ่งปันเรื่องราวซึ่งผมได้ไปสัมผัส ไปรู้สึกที่วัดเหล่านี้มาได้

ถ้าไม่ได้เรียนศิลปากร คุณคิดว่าตอนนี้จะสนใจเรื่องวัดหรือเปล่า

ก็อาจเป็นแค่คนปกติธรรมดาที่สนใจในอะไรสักอย่าง เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์จะถูกสร้างให้สนใจอะไรสักอย่างอยู่ดี เราจะอยู่อย่างไร้จุดหมายกับคนวัย 20 – 30 ไม่ได้ ในวัยที่เรายังมีความฝัน มีความต้องการ ต่อให้วันนี้ผมยังไม่สนใจเรื่องวัด ไม่ได้ทำไกด์ ไม่ได้เขียนบทความกึ่งสารคดี ผมก็ต้องสนใจในอะไรสักอย่าง

ถ้าถอยหลังกลับไปหาตัวเอง อาจจะสนใจไดโนเสาร์มั้ง เพราะเราเริ่มสนใจของพวกนี้จากการดู จูราสสิก พาร์ค นั่นแหละ

คุณไปวัดมาเยอะขนาดนี้ ยังมีความฝันเกี่ยวกับวัดหรือศาสตร์ที่คุณเรียนซึ่งยังทำไม่สำเร็จอยู่ไหม

ผมอยากทำให้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผมเรียนมาเป็นเรื่องง่าย เข้าถึงได้ทุกคน ผมเชื่อว่าศิลปะเป็นสิ่งอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะมาทางตรง ทางอ้อม ทางวัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยว ผมอยากให้มันง่ายขึ้น จับต้องได้มากขึ้น เข้าถึงได้ในคนทุกกลุ่ม เด็กควรจะรู้ในแบบที่เด็กควรรู้ ผู้ใหญ่ควรรู้ในแบบที่ผู้ใหญ่ควรรู้ มันควรจะมีสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเบสิกที่ทำให้ทุกคนจะเข้าไปรับรู้และสนุกไปกับมันได้ ไม่ใช่ว่าคุณไปวัดเพื่อถ่ายรูป ไปหอศิลป์เพื่อถ่ายรูป แต่คุณควรเข้าไปแล้วเสพในอะไรบางอย่างที่ของเหล่านั้นจะให้เราเสพได้

ถ้าจะทำความฝันข้อนี้ให้เป็นจริง ผมเชื่อว่าผมต้องทำหลายทาง ทำสื่อในหลายวิธี เป็นหนังสือบ้าง วิดีโอบ้าง เป็นเสียงบ้าง มันเหมือนเราพูดเรื่องความฝันที่ไม่รู้จะเป็นจริงรึเปล่าเลยเนอะ เหมือนเป็นฝันที่ไกลมาก ทุกวันนี้ก็ยังอยากให้มันเป็นจริง ตั้งแต่จบปริญญาโทมา

คุณตั้งเป้าว่าจะไปวัดอีกสักกี่แห่งดี

ผมก็อยากจะไปเที่ยววัดให้ครบ ซึ่งยากมาก 40,000 กว่าวัดนี่ผมจะต้องใช้เวลาชั่วชีวิตรึเปล่าในการไปดูให้ครบ แต่ผมอยากไปให้ครบจริง ๆ เพราะผมรู้สึกว่าการดูวัดเก่าจะทำให้เราเข้าใจคนสมัยก่อน การดูวัดใหม่ เราก็เข้าใจคนในปัจจุบัน ฉะนั้นถ้าทำได้ ความฝันก้อนใหญ่ ๆ ของผมก็จะมีอยู่แค่นี้แหละ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล