16 เมษายน 2022
10 K

‘วัดร้าง’ เป็นคำที่เราใช้เรียกวัดที่ไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งพอพูดถึงวัดร้าง เรามักนึกถึงวัดที่เป็นซากอิฐพัง ๆ พระพุทธรูปหัก ๆ วิหารไม่มีหลังคาแบบที่เราเห็นตามอุทยานประวัติศาสตร์ อย่างที่อยุธยาหรือสุโขทัย ซึ่งถามว่าคำอธิบายนี้ผิดไหม ก็ไม่ผิด แต่ไม่ได้ถูกทั้งหมด เพราะยังมีวัดร้างอีกจำนวนหนึ่งที่ยังรักษาโครงสร้างอาคารหรือความเป็นวัดเอาไว้ได้ เพียงแค่ไม่มีพระจำพรรษาแค่นั้น

และวัดร้างไม่จำเป็นต้องอยู่ในป่าหรือในอุทยานประวัติศาสตร์เสมอไป มีวัดร้างหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในเมือง แถมเป็นเมืองใหญ่ด้วย โดยเฉพาะเมืองที่มีประวัติศาสตร์และมีคนอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง กรุงเทพมหานครก็เป็นหนึ่งในนั้น วันนี้เลยจะชวนไปชมวัดร้างในเมืองบางกอกของเรา แต่ถ้าจะพาไปชมทั้งหมดก็คงจะเยอะไป เลยจะพาไปชมวัดร้างที่อยู่ในสภาพดีที่สุด และเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ คือ วัดภุมรินทร์ราชปักษี และ วัดน้อยทองอยู่

ประวัติศาสตร์วัดร้าง : ประวัติวัดตัวเองในวัดคนอื่น

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ
ภาพ : กรมแผนที่ทหาร, แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๔๗๔ (กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, 2530).

ปัญหาแรกในการทำความรู้จักวัดร้างคือ ตามหาประวัติของวัดได้ลำบากกว่าวัดทั่วไป ถ้าไม่โชคดีเป็นวัดขนาดใหญ่หรือมีจารึกพบในบริเวณวัด เราจะแทบไม่มีทางรู้จักวัดเหล่านั้นได้เลย ดังนั้น การจะตามหาเรื่องราวของวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ จึงต้องไปส่องจากประวัติวัดที่อยู่ใกล้เคียง ก็คือ วัดดุสิดารามวรวิหาร

ในประวัติของวัดดุสิดารามวรวิหารเล่าว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโณรส ทรงตรวจตรากิจการสงฆ์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ และพบว่า วัดภุมรินทร์ราชปักษีมีพระสงฆ์จำพรรษาเพียงรูปเดียว จึงโปรดฯ ให้ยุบรวมเข้ากับวัดดุสิดาราม เป็นอันจบสถานะความเป็นวัดของวัดแห่งนี้เอาไว้เพียงเท่านี้ ซึ่งเหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในราว พ.ศ. 2458 – 2460 ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้รับพระราชกรณียกิจให้จัดระเบียบวัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งยกวัดขึ้นและยุบรวมวัดใหม่

ส่วนวัดน้อยทองอยู่มีประวัติมากกว่าวัดภุมรินทร์ราชปักษีอยู่หน่อยหนึ่ง เพราะในงานศึกษาของคาร์ล เดอห์ริง (Karl Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมันได้บันทึกไว้ว่า วัดน้อยทองอยู่สร้างขึ้นโดยนายน้อยและนางทองอยู่ สองสามีภรรยา ซึ่งยังมีเจดีย์ทรงระฆังบรรจุอัฐิของทั้งสองอยู่คู่กันบริเวณหน้าวัด ดังนั้นวัดแห่งนี้ก็เลยเอาชื่อของสามีภรรยามารวมกัน กลายเป็นวัดน้อยทองอยู่ 

แต่ความน่าเสียดายของวัดนี้ก็คือ วัดแห่งนี้เสียหายอย่างหนักจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะวัดตั้งอยู่ใกล้กับปากคลองบางกอกน้อย ที่ตั้งของสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ตัววัดถูกทำลายอย่างหนัก จนสุดท้ายก็ต้องยุบรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัดดุสิดารามเมื่อ พ.ศ. 2488 ในที่สุด

เห็นไหมครับ ขนาดเรามีประวัติแบบนี้แล้ว ก็ยังประวัติแค่ผิว ๆ เท่านั้น แถมส่วนใหญ่ยังหนักไปทางช่วงเวลาที่รวมกับวัดดุสิดารามซะอีก แต่ในทางกลับกัน นี่ก็คือเสน่ห์ของวัดร้างเหมือนกัน การที่ไม่ค่อยมีประวัติ ไม่ค่อยมีที่มา ทำให้ความสนุกในการเที่ยววัดร้างก็คือการไปดูของจริงเลย เพราะสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในวัดนั่นแหละ จะบ่งบอกว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อไหร่

วัดภุมรินทร์ราชปักษี : เมื่อการบูรณะวัดเผยความจริง

อาคารหลักของวัดภุมรินทร์ราชปักษีคืออุโบสถและวิหารที่ตั้งขนานกัน ซึ่งตามปกติแล้ว เวลาเราจะแยกแยะว่าอาคารหลังไหนเป็นอุโบสถ หลังไหนเป็นวิหาร เราต้องดูที่ใบเสมาใช่ไหมครับ แต่ว่าก่อนจะมีการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดแห่งนี้ในระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2558 เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าหลังไหนเป็นอะไร เพราะโดยรอบอาคารไม่มีอะไรเลย ราบเรียบไปหมดจากการถมพื้นในสมัยหลัง

สิ่งนี้แสดงถึงความสำคัญของการขุดค้นทางโบราณคดี ที่เผยให้เราเห็นหลักฐานที่แอบซ่อนอยู่ในดิน ทำให้เราได้รู้ว่าอาคารที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกคืออุโบสถของวัด (หันหน้าเข้าหาวัดจะอยู่ฝั่งขวามือ) ดังนั้น อาคารอีกหลังจึงต้องเป็นวิหารไปโดยปริยาย แต่สิ่งที่การขุดค้นครั้งนั้นเผยให้เห็นไม่ใช่แค่ฐานใบเสมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจดีย์ประธานของวัดนี้ด้วย ซึ่งเหลือเพียงส่วนฐานที่เห็นแค่เอ็นรูปแฉกอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถเท่านั้น

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

วัดภุมรินทร์ราชปักษี : ปริศนาแห่งราชปักษีบนหน้าบัน

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

อุโบสถของวัดแห่งนี้เป็นอาคารทรงไทยประเพณีทรงสูง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่สิ่งที่ทำให้อุโบสถหลังดูแปลกกว่าชาวบ้านเขาก็คือประตูทางเข้าครับ ตามปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถหรือวิหารก็จะมีประตูทางเข้าอยู่บริเวณด้านหน้าหรือด้านหลังของอาคาร แต่อาคารหลังนี้มีทางเข้าอยู่ด้านข้าง โดยปล่อยด้านหน้าให้เป็นประตูทึบหลอกแทน

แต่สิ่งที่ถือเป็นงานระดับ Masterpiece ของวัดนี้คือหน้าบันของอุโบสถหลังนี้ครับ งานปูนปั้นประดับกระจกบนหน้าบันอุโบสถหลังนี้ด้านบนเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่พบได้ทั่วไปตามพระอารามหลวง แต่ด้านล่างรูปพระนารายณ์ทรงครุฑนี้เป็นรูปนกยูงรำแพนหางขนาดใหญ่ ซึ่งหาชมได้ยากมาก จนชวนให้คิดว่าทำไมถึงเป็นรูปนกยูง

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

บางคนสันนิษฐานว่ารูปนกยูงนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับชื่อวัด ‘ภุมรินทร์ราชปักษี’ หรือเปล่า แต่บ้างก็ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับผู้บูรณะวัดนี้ เพราะในบรรดาพระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระองค์หนึ่งชื่อพระองค์เจ้าภุมริน (ต้นราชสกุลภุมรินทร) ซึ่งท่านอาจจะเป็นผู้บูรณะหรือผู้อุปถัมภ์วัดนี้หรือเปล่า เพราะอย่าลืมนะครับว่า พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้านั้นตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดนี้พอดี แล้ววิธีการสะกดวัดนี้ในแผนที่เก่าก็สะกดว่า ‘วัดภุมริน’ ซะด้วย แต่บอกก่อนนะว่าผมไม่การันตีว่าใช่ไหมนะครับ ตอนนี้ก็ปล่อยให้นกยูงตัวนี้เป็นปริศนาไปก่อน

วัดภุมรินทร์ราชปักษี : เมื่อกาลเวลาพรากความงามไป

พอเราเข้าไปในอุโบสถของวัด ก็พบกับพระพุทธรูปยืน 3 องค์อยู่ภายในซุ้ม พอลองดูดี ๆ จะเห็นว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้เป็นพระพุทธรูปใหม่เลยครับ เพิ่งนำมาประดิษฐานหลังการบูรณะวัดนี้เอง เพราะตอนที่ผมไปชมวัดนี้ครั้งแรก สิ่งที่ผมพบคือซุ้มเปล่า 3 ซุ้มเท่านั้น ไม่มีพระพุทธรูปสักองค์

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

พอมองไปรอบ ๆ พบว่าบนฝาผนังมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งผนังส่วนบนยังพอเห็นภาพเทพชุมนุมอยู่บ้าง ผนังสกัดหน้าฝั่งตรงข้ามพระประธาน พอจะเห็นภาพว่าเป็นเรื่องมารผจญอยู่แต่ก็ลบเลือนเอาเรื่อง แต่ผนังด้านข้างนี่สิ ลบเลือนจนเหลือแค่ท่อนบนของผนังเท่านั้น ความลบเลือนนี้ทำให้ดูไม่ออกว่าเขียนเรื่องอะไรเลย เพราะจากลักษณะของภาพที่มีความสมจริงมากขึ้น เริ่มมีความพยายามในการผลักระยะใกล้ไกลและจำนวนสีที่มากขึ้น ทำให้เราพอจะประมาณได้ว่าจิตรกรรมเหล่านี้น่าจะเขียนอยู่ไม่รัชกาลที่ 3 ก็รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ความหลากหลายของจิตรกรรมฝาผนังพุ่งสู่จุดสูงสุด ดังนั้นก็ให้เป็นปริศนาที่รอคนมาไขต่อไป

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

วัดภุมรินทร์ราชปักษี : พระเจ้ายืนศักดิ์สิทธิ์หลังวิหาร

วิหารนั้นต้องบอกว่า เหมือนถอดพิมพ์จากอุโบสถมาเลย หน้าตาคล้ายกันมาก ย้ำว่าคล้ายกันมากเพราะสิ่งที่ทำให้วิหารหลังนี้ต่างจากอุโบสถ คือการมีมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพียงแต่ว่าในตอนนี้ มุขด้านหน้าพังทลายไปเลย เลยเหลือเพียงแต่มุขด้านหลัง นอกจากนี้หน้าบันของวิหารหลังนี้ แม้ว่าจะมีรูปของพระนารายณ์ทรงครุฑเหมือนอุโบสถ แต่ที่นี่ไม่มีรูปนกยูงนะครับ

ส่วนมุขหลังวิหารนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่นาม ‘หลวงพ่อดำ’ หนึ่งในชื่อยอดฮิตของพระพุทธรูป ที่ชาวบ้านมักใช้เรียกกับพระพุทธรูปที่ทองคำเปลวหลุดไปหมดคงเหลือเพียงรักสีดำเท่านั้น ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่เคารพของชาวบ้านในย่านนี้ แต่โดยรอบพระพุทธรูปเหมือนเป็นรังผึ้ง เพราะมีการเจาะเป็นช่องวงโค้งยอดแหลมเล็ก ๆ ที่ว่างเปล่า ซึ่งในอดีตอาจเคยมีพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ อยู่ก็ได้ แต่หายไปหมดแล้วเรียบร้อย

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

วัดภุมรินทร์ราชปักษี : ความอลังการในวิหารและปริศนาบนฝาผนัง

ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างระหว่างอุโบสถกับวิหาร ก็คือความสมบูรณ์ของสิ่งที่เหลือภายในนี่แหละ ภายในวิหารหลังนี้ถือว่าอยู่ในสภาพดีกว่ามาก พระประธานภายในเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหินทรายแดงขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะเก่าไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้นหรือกลางเลยก็ได้นะครับ น่าเสียดายที่พอบูรณะในสมัยหลังทำให้สังเกตยากไปสักหน่อย ขนาบสองข้างด้วยรูปพระสาวกปูนปั้น ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิม เพราะก่อนการบูรณะ พื้นที่ตรงนั้นมีช่องว่างสีขาวบนผนังขนาดพอดีกับรูปพระสาวกเลยครับ

สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

แต่ความงดงามของอาคารหลังนี้อยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังนี่ล่ะครับ แม้จะมีส่วนลบเลือนอยู่แต่ก็เหลือครบทั้ง 4 ด้าน โดยผนังสกัดหลังพระประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นฉากมาตรฐานที่พบได้ทั่วไปที่ผนังฝั่งนี้ โดยพระพุทธเจ้าในฉากนี้ครองจีวรลายดอกพิกุล แบบเดียวกันกับพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เลยครับ ในขณะที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมแบบเดียวกับที่พบในอุโบสถ

ส่วนผนังระหว่างช่องหน้าต่าง แม้สภาพไม่ได้แตกต่างจากในอุโบสถที่ลบเลือนไปเกินครึ่งผนัง แต่โชคดีว่าเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องที่คุ้นเคยและพบได้ทั่วไปอย่าง ทศชาติชาดก ฉากเหล่านี้แม้ลบเลือนไปเยอะ บางผนังแทบจะดูไม่ออก บางผนังหายไปหมด แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังพอดูออกว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ส่วนที่น่าเสียดายจริง ๆ คือบานหน้าต่างมากกว่า เพราะก่อนบูรณะยังมีหน้าต่างที่หลงเหลือภาพผ้าม่านแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่บ้าง แต่ปัจจุบันกลายเป็นบานหน้าต่างสีดำเรียบ ๆ ไปหมดแล้ว

แกะรอยวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ สองวัดร้างชั้นยอดกลางกรุง ในความดูแลของวัดดุสิดารามวรวิหาร ปิ่นเกล้า

ปริศนาที่แท้จริงภายในวิหารหลังนี้คือจิตรกรรมที่ผนังสกัดหน้า เพราะเขียนภาพเมืองขนาดใหญ่ที่มีกำแพงทรงแปดเหลี่ยมล้อมอยู่ 7 ชั้นเต็มพื้นที่เลยครับ น่าจะเป็นภาพเล่าเรื่องทางพุทธศาสนาสักเรื่องหนึ่ง บ้างก็ว่าเขียนเรื่อง ชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นตำนานว่าด้วยการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าแสดงเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าชมพูบดี ผู้เชื่อว่าตัวเองคือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังขาดฉากสำคัญอย่างการเทศนาสั่งสอนพระเจ้าชมพูบดีของพระพุทธเจ้าอยู่

แกะรอยวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ สองวัดร้างชั้นยอดกลางกรุง ในความดูแลของวัดดุสิดารามวรวิหาร ปิ่นเกล้า

ล่าสุดอาจารย์เฉลิมพล โตสารเดช เสนอแนวคิดว่าด้วยเรื่องราวที่อยู่บนผนังเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า น่าจะเขียนเรื่องจาก สุทัสสนสูตร ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนไม่เคยได้ยินชื่อพระสูตร บอกตรง ๆ ผมเองก็ไม่ทราบ แต่พออ่านเรื่องย่อของพระสูตรนี้แล้ว ก็คิดว่าพระสูตรนี้น่าสนใจ อาจจะช่วยไขถึงเรื่องราวที่แท้จริงของผนังปริศนานี้ก็ได้ครับ

สุทัสสนสูตร เล่าถึงเมืองกุสาวดี เมืองที่พระมหาจักพรรดิชื่อพระมหาสุทัสสนะเป็นผู้ปกครอง เมืองนี้มีกำแพงและต้นตาลล้อมเอาไว้ 7 ชั้น เหตุการณ์สำคัญของพระสูตรนี้เกิดตอนที่พระมหาสุทัสสนะจะสวรรคต พระราชเทวีนามสุภัททาเข้าเฝ้า และขอให้ทรงเห็นแก่ราชสมบัติและชีวิต แต่พระองค์กลับตรัสขอให้กลับคำขอเป็นตรงข้าม เพราะการพลัดพรากจากของรักของหวงเป็นเรื่องธรรมดา จนทำให้พระราชเทวีทรงฝืนพระหฤทัยขอตามที่พระมหาสุทัสสนะแนะนำ จนเมื่อพระมหาสุทัสสนะสวรรคตก็เข้าถึงพรหมโลกได้

ทีนี้ ลองมาดูฝาผนังจริงบ้าง เมืองในจิตรกรรมเป็นเมืองที่มีกำแพง 7 ชั้น ซึ่งตรงกับในพระสูตร ด้านบนมีปราสาท โดยบริเวณด้านหน้าปราสาทมีรูปกษัตริย์กำลังไสยาสน์บนพระแท่นบัลลังก์ ขนาบสองข้างด้วยต้นตาล โดยมีจักรแขวนอยู่เหนือพระแท่น ด้านหน้ามีภาพเหล่านางอยู่ในอิริยาบถเสียใจ ซึ่งกำลังแสดงฉากที่พระมหาสุทัสสนะกำลังจะสวรรคต โดยที่ด้านหน้ามีนางสุภัททาราชเทวีและบรรดาข้าราชบริพารกำลังเสียใจ ซึ่งก็ดูแล้วเข้าเค้าอยู่นะครับ ว่าไหม แต่จะใช่เรื่องบนฝาผนังหรือไม่ ก็ต้องเอาไปขบคิดกันต่อไป

วัดน้อยทองอยู่ : หนึ่งเดียวที่เหลือคือมณฑป

คราวนี้ลองมาที่วัดน้อยทองอยู่บ้าง แต่วัดนี้ถือว่าหนักครับ อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าวัดน้อยทองอยู่ถูกระเบิดทำลายอย่างหนักหน่วงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเทียบกับวัดภุมรินทร์ราชปักษีแล้ว วัดน้อยทองอยู่จึงเหลือหลักฐานมาถึงปัจจุบันน้อยกว่ามาก เพราะหนึ่งเดียวที่เป็นหลักฐานของวัดนี้คือมณฑปยอดเจดีย์ 5 ยอด ซึ่งเป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่ มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้านพร้อมคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปและรูขุดเจาะเพื่อหาสมบัติ โดยส่วนยอดเหลือเพียงร่องรอยของฐานเจดีย์บนยอด เพราะที่สูงไปกว่านั้นหักหายไปหมดแล้ว เลยไม่รู้ว่ายอดเจดีย์ทั้ง 5 จะหน้าตาเป็นเช่นไร

แกะรอยวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ สองวัดร้างชั้นยอดกลางกรุง ในความดูแลของวัดดุสิดารามวรวิหาร ปิ่นเกล้า

แต่เป็นความโชคดีที่คาร์ล เดอห์ริง ได้บันทึกภาพถ่ายของมณฑปหลังนี้เอาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่บุบสลาย ทำให้เรารู้ว่ายอดกลางของมณฑปนี้เป็นเจดีย์ทรงเครื่อง ในขณะที่อีก 4 ยอดบนหลังคามุขแต่ละทิศเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งปัจจุบันวัดได้ใช้ภาพถ่ายของเดอห์ริ่งนี่ในการสร้างมณฑป 5 ยอดองค์จำลองขึ้นมา และยังช่วยให้เรารู้ว่าวัดน้อยทองอยู่น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

แกะรอยวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ สองวัดร้างชั้นยอดกลางกรุง ในความดูแลของวัดดุสิดารามวรวิหาร ปิ่นเกล้า
ภาพ : Karl Döhring, Buddhist Stupa (Phra Chedi) Architecture of Thailand (Bangkok: White Lotus, 2000), 140

วัดน้อยทองอยู่ : ความทรงจำบนภาพถ่าย

นั่นคือทั้งหมดของวัดน้อยทองอยู่ครับ คือมณฑปยอดเจดีย์ 5 ยอดองค์เล็กองค์เดียวเท่านั้น ไม่เหลืออะไรอื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ วิหาร เจดีย์ กำแพงแก้ว แต่ความโชคดีของวัดน้อยทองอยู่ยังไม่จบนะครับ เพราะภาพถ่ายของวัดแห่งนี้ที่เดอห์ริงยังมีอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพของซุ้มเสมายอดเจดีย์สุดอลังการ เป็นซุ้มเสมาที่มีช่องประดับยักษ์ถือกระบอง มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงเครื่องแบบดียวกับยอดของมณฑปเลย เป็นเครื่องยืนยันว่า ภาพนี้ถ่ายมาจากวัดน้อยทองอยู่จริง ๆ ในภาพยังแสดงบันไดทางขึ้นอุโบสถและศาลาริมกำแพงแก้ว

แกะรอยวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ สองวัดร้างชั้นยอดกลางกรุง ในความดูแลของวัดดุสิดารามวรวิหาร ปิ่นเกล้า
ภาพ : Karl Döhring, Buddhist Stupa (Phra Chedi) Architecture of Thailand (Bangkok: White Lotus, 2000), 127

คิดว่ารูปเก่าหมดหรือยังครับ คำตอบก็คือยังครับ แต่คราวนี้ไม่ใช่รูปของคาร์ล เดอห์ริง แล้วนะครับ เป็นรูปภาพที่ชาวบ้านถ่ายเอาไว้เอง เป็นภาพของอุโบสถหลังเดิม ฟังไม่ผิดครับ อุโบสถหลังเดิม ซึ่งแม้จะเห็นเพียงแค่ผนังสกัดหลังและพระประธาน แต่พระประธานนี่แหละคือความน่าเสียดายที่สุดสำหรับผมเลย

แกะรอยวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ สองวัดร้างชั้นยอดกลางกรุง ในความดูแลของวัดดุสิดารามวรวิหาร ปิ่นเกล้า
ภาพ : มาลี นันท์โคนนท์

สิ่งที่เราเห็นจากภาพถ่ายเก่านี้คือพระประธาน เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องอย่างมหาจักรพรรดิ ซึ่งพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เป็นพระประธานเราอาจจะพอเคยเห็นมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปนั่ง ไม่ใช่พระพุทธรูปยืนแบบที่วัดน้อยทองอยู่ แถมพระสาวกที่ขนาบข้างอยู่ก็ทรงเครื่องแบบเดียวกับพระประธานเลยครับ บอกเลยว่าสิ่งนี้ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน ถ้าไม่นับผ้าพระบฏที่พอมีอยู่บ้าง ก็ไม่เคยมีที่ไหนเลย ช่างน่าเสียดายจริง ๆ ที่เราไม่มีทางได้เห็นสิ่งนี้ด้วยตาตัวเอง

แล้วอุโบสถหลังนี้หายไปไหนล่ะ จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ ทำให้เรารู้ว่าอุโบสถหลังนี้พังทลายเพราะฝนตกหนัก ทำให้ผนังสกัดหลังฟาดลงมาจนพังทลายไปนานแล้ว ก่อนที่ต่อมาใน พ.ศ. 2516 จะมีการสร้างสะพานพระปิ่นเกล้าและเชิงสะพานฝั่งธนบุรีได้สร้างทับตรงอุโบสถหลังนี้พอดี ทำให้เราตรวจสอบอะไรไม่ได้แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็พอจะรู้ว่าอุโบสถของวัดน้อยทองอยู่นี้น่าจะพังทลายลง ก่อนการสร้างสะพานพระปิ่นเกล้านั่นเอง

วัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ : ความทรงจำที่ชวนให้บันทึก

สุดท้ายแล้ว วัดร้างก็คือวัดร้างครับ ถ้าไม่มีพระเข้าไปใช้งานพื้นที่ วัดก็ยังร้างอยู่อย่างนั้น วัดร้างแต่ละแห่งก็โชคดีโชคร้ายไม่เท่ากัน ถ้าโชคดีถูกผนวกเข้ากับวัดที่ยังมีการใช้งานอยู่ มีชาวบ้านช่วยดูแล หรือกรมศิลปากรเข้าไปบูรณปฏิสังขรณ์บ้าง วัดร้างเหล่านั้นก็อาจพอมีอะไรให้ได้ดูกันบ้าง ไม่ได้พังทลายไปมากนัก แต่ถ้าไม่อยู่ในกรณีเหล่านี้ วัดร้างเหล่านั้นก็จะขาดการดูแลและจะค่อย ๆ โทรมลง ๆ ซึ่งแม้ตามหลักพุทธศาสนาจะบอกว่าทุกสิ่งล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ยังไงก็น่าเสียดายอยู่ดี

สิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้ก็คือการไปดู ไปบันทึกความทรงจำ จากผ่านตัวหนังสือ ผ่านภาพถ่าย ผ่านวิดีโอ ผ่านอะไรก็ได้ครับ สิ่งเหล่านี้แหละครับที่จะกลายเป็นหลักฐานว่า วัดนั้น เจดีย์องค์นั้น อุโบสถหลังนั้น พระพุทธรูปองค์นั้น เคยมีอยู่ เคยงดงามขนาดไหน ไม่ใช่แค่วัดร้างนะครับ ผมหมายถึงวัดที่ยังใช้งานอยู่ด้วย อย่างน้อยที่สุด ถ้าวันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นจะหายไป ทุกอย่างที่เราทำนี่แหละจะกลายเป็นทุกสิ่งของวัดนั้น ๆ

เกร็ดแถมท้าย

1. เนื่องจากวัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของวัดดุสิดารามวรวิหาร ดังนั้น หากสนใจเข้าไปชมวัดทั้งสอง ก็ต้องเข้าไปในซอยวัดดุสิดาราม โดยวัดน้อยทองอยู่อยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างของวัดดุสิดารามวรวิหาร พอเข้าไปในซอยจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ส่วนวัดภุมรินทร์ราชปักษีตั้งอยู่ริมถนนภายในซอยวัดดุสิดารามทางฝั่งขวามือ ถ้าจะชมภายในอุโบสถและวิหารของวัด ต้องไปติดต่อที่วัดดุสิดารามวรวิหารก่อนครับ

2. นอกจากโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ยังอยู่ที่เดิม หลักฐานจากวัดน้อยทองอยู่ยังเหลืออยู่ 1 อย่างนะครับ นั่นก็คือตู้ลายทอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งได้มาจากวัดแห่งนี้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2464 แต่ก็อาจจะไปดูของจริงยากสักหน่อยนะครับ แต่ใครสนใจ ดูได้ในหนังสือ ตู้ลายทอง เล่ม 1 ครับ

3. หรือถ้าใครสนใจเรื่องราวของวัดร้างในกรุงเทพมหานคร ขอแนะนำหนังสือชื่อ วัดร้างในบางกอก โดย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ซึ่งมีวัดร้างอีกหลายแห่งในกรุงเทพมหานครที่น่าสนใจ ทั้งวัดที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ วัดที่ถูกบูรณปฏิสังขรณ์ไปมาก และวัดที่เหลือแต่ชื่อและร่องรอยบางอย่างเท่านั้น ใครสนใจลองหามาจับจองกันได้นะครับ

4. นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ก็ยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีวัดร้างในลักษณะเดียวกัน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ถ้าใครอยากดูแบบเยอะ ๆ แบบชนิดที่แค่เดินเลยไปนิดเดียวก็เจออีกวัดร้างแล้ว ขอแนะนำจังหวัดเชียงใหม่ครับ อาจจะเจอทั้งวัดร้างริมถนน วัดร้างหลังบ้านชาวบ้าน วัดร้างในลานจอดรถ และอีกหลากหลายแนวเลยครับ ซึ่งก็มีหนังสือชื่อ วัดร้างในเวียงเชียงใหม่ โดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว แต่หนังสือเล่มนี้อาจหายากสักหน่อย เพราะหนังสือค่อนข้างเก่าแล้ว

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ