สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ ผู้ที่กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding 

คือคำนิยามตัวตนของของ ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คอลัมนิสต์ผู้บันทึกเรื่องราวธรรมชาติผ่านคอลัมน์ Rewilding 101 ใน The Cloud และเป็นเจ้าของบ้านไม้ 2 ชั้นท่ามกลางธรรมชาติ ทุ่ง นา ป่า และเขา ในหมู่บ้านแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ บ้านหลังนี้เป็นเสมือนพื้นที่ทดลองความเชื่อในการทำงานและการใช้ชีวิต และเปรียบได้กับโรงเรียนที่ให้ความรู้ทั้งเรื่องธรรมชาติและเรื่องจิตใจที่เขาค้นคว้าได้ไม่มีวันจบ 

บ้านที่สร้างจากความทรงจำและความหลงใหล 

เรานั่งห้อยขาตรงชานบ้าน มองภูเขาผ่านทุ่งนาฝั่งตรงข้าม นาน ๆ ครั้งมีมอเตอร์ไซค์ขี่ผ่านไปพร้อมเสียงทักทายมาตามลม เรวา ลูกชายวิ่งเข้า-ออกระหว่างในบ้านและชานไม้ตรงนี้ เข้ามากอดพ่อบ้าง วิ่งไปหาแม่บ้าง แม่ นุ่น-บุพพรรณ บุญมหาธนากร กำลังง่วนอยู่ในครัว เพื่อเตรียมวัตถุดิบเพื่อให้ตี๋ลงมือปรุงมื้อเที่ยงต้อนรับพวกเรา บางครั้งเรวาก็เดินไปบันไดเวียนขึ้นชั้น 2 เพื่อไปดูช่างภาพของเราทำงาน ได้ยินเสียงหยอกล้อกันระหว่างช่างภาพและเด็กชาย จนอดไม่ได้ที่จะมองผ่าน Double Space ที่เชื่อมระหว่างชั้น 1 กับชั้น 2 ไปยังเสียงรื่นเริงนั้น 

ทุกสิ่งในบ้านดูมีชีวิตชีวา โต๊ะกลาง ม้านั่ง ครัวกว้าง โถงและทางเข้าที่ออกแบบให้เป็นที่วางและถอดรองเท้าสะดวกสบาย ด้านหลังเปิดเป็นอ่างล้างมือและห้องน้ำ เชื่อมต่อไปยังสวนหลังบ้าน ชั้นบนมีห้องนอน 1 ห้องที่เปิดหน้าต่างกว้างมองสวนหน้าบ้านและท้องฟ้าได้อย่างเต็มตา ห้องน้ำมีอ่างอาบน้ำขนาดกะทัดรัดเพื่อตอบโจทย์ของเรวา และฝ้าเพดานบุด้วยแผ่นไม้เรียบง่ายที่เต็มไปด้วยความทรงจำ 

ที่นี่คือบ้านของสถาปนิกผู้ก่อตั้ง ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ สร้างมาจากภาพจำในวัยเยาว์ ผสมผสานกับอารมณ์ของบ้านไม้ในอานิเมะของ Studio Ghibli และภาพยนตร์ญี่ปุ่นอารมณ์ละเมียดหลายต่อหลายเรื่องที่เขาหลงใหล 

“บ้านหลังนี้คิดมาจากความทรงจำวัยเด็กล้วน ๆ เลยครับ ผมโตมาที่แม่วาง เป็นบ้านค้าขาย พ่อขายสินค้าเกี่ยวกับการเกษตร ตอนเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ ต้องไปส่งของตามไร่ตามทุ่งกับพ่อ ผมชอบไปเล่นที่ลำเหมือง ลำห้วย มีครั้งหนึ่งที่ไปเล่นบ้านของเพื่อนพี่สาว เป็นบ้านเคบินไม้บนเนิน ผมจำภาพเหล่านั้น จำอารมณ์ความรู้สึกที่เห็นบ้านนั้นได้เลยว่าชอบมาก ๆ ตอนนั้นพอวันเสาร์-อาทิตย์ พ่อแม่ให้เราไปเล่นบ้านเพื่อนได้ ผมก็ได้ไปกินปลาช่อนที่ลุงของเพื่อนจับมาหมกโคลนเผากินกัน ได้ไปจับปูในลำเหมือง นั่นเป็นความทรงจำที่ไม่เคยลืม 

“ผมคิดว่านี่เป็นส่วนที่ทำให้ชอบธรรมชาติ พอตอนจะทำบ้านที่แม่ทาก็อยากได้บ้านแบบนั้น ทีแรกที่อยากมีบ้าน ตอนนั้นยังไม่มีเรวา คิดว่าจะทำแค่กระท่อมไม้หลังเล็ก ๆ แต่พอมีลูกก็ปรับให้เหมาะกับอยู่กัน 3 คน และพอมีลูก รู้สึกว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เขาเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ง่าย ถ้าโตเป็นวัยรุ่น เขาก็จะไม่เป็นแบบนี้แล้ว เขาจะมีความคิดเชิงเหตุผล คือจะเริ่มมีคำถามว่าอันนี้อันตรายมั้ย แต่ช่วงที่เขายังเล็กอย่างนี้ ถ้าเราพามาช่วยปลูกต้นไม้ เขาจะได้เรียนรู้และใกล้ธรรมชาติมากขึ้น 

“เราอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้ลูก แต่ไม่ได้ยัดเยียดให้เขาคิดเหมือนเรานะครับ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา แต่อยากให้เขาได้มีพื้นที่อยู่ข้างนอกเมืองบ้าง ได้มีเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างนอกบ้าง ให้เขาได้เห็นโลกหลายแบบ เห็นป่าต้นน้ำ มีชวนกันไปเดินป่าบ้างครับ”

ตี๋พาชมบ้านพร้อมอธิบายงานดีไซน์แบบกระชับ ๆ อาทิ เลือกฝ้าเป็นไม้เพราะอยากให้ดูเป็นบ้านเคบิน เลือกใช้บันไดเวียนเพื่อประหยัดพื้นที่ สเกลบ้านมีขนาดไม่ต่างจากบ้านของคนท้องถิ่นแม่ทา เพราะไม้ที่ได้ก็เป็นสเกลบ้านของชาวบ้าน 

“เราได้เสาไม้เก่ามาจากบ้านของชาวบ้าน เสาจะกำหนดโครงสร้างการรับน้ำหนักของบ้านอยู่แล้ว ดังนั้น สเกลจึงไม่เพี้ยนจากบ้านชาวบ้าน แต่สเปซต่างหากที่ไม่เหมือน เพราะวิถีชีวิตเราไม่ได้อยู่แบบบ้านชาวบ้าน ไม่ได้ทำการเกษตร ไม่ได้ใช้ใต้ถุน เลยปรับหน้าตาให้ฟังก์ชันและอยู่สบาย อย่างบ้านชาวบ้านบันไดอยู่ข้างนอก เราก็ปรับบันไดมาอยู่ด้านใน บ้านเป็นทรงกล่องง่าย ๆ กับสิ่งที่ชอบ คือชอบหนังของ Studio Ghibli ก็เอาบางมุมที่ชอบมาผสม อย่างทางเข้าบ้าน เป็นการออกแบบที่เรียกว่า Doma ของญี่ปุ่นสำหรับวางรองเท้า แขวนข้าวของเลอะ ๆ ก่อนเดินขึ้นอีกสเตปเพื่อเข้าสู่ตัวบ้าน”

นอกจาก Doma แล้ว เขายังเก็บอารมณ์ระเบียงหรือชานไม้มาจากความชอบในการดูภาพยนตร์ญี่ปุ่น และครัวก็มาจากความประทับใจจากญี่ปุ่นเช่นกัน 

“จริง ๆ บ้านไทยก็มีนะครับ แต่ชานไทยจะอยู่ชั้น 2 ใช้งานได้น้อย ผมว่าชานบ้านเป็นตัวทำให้บ้าน Flow ผมชอบสเปซระหว่างในกับนอก (เหมือน Inside Out, Outside In ใช่ไหม) ใช่ ๆๆ ผมคิดว่าบ้านทำหน้าที่แบบนั้นเลย บ้านไม่ได้เป็นกล่องที่เรามองจากข้างนอกแล้วเท่ เก๋ หรือสวย แต่เราใช้ข้างในเพื่อมองไปข้างนอก และอากาศข้างนอกห่อหุ้มเรา” 

ถามตี๋ว่าออกแบบบ้านตัวเองต้องคุยกับนุ่นอย่างไร เขาเล่าว่า 

“ผมสเกตซ์แบบแล้วตัดเป็นโมเดลขึ้นมาและเอาให้นุ่นดู (หัวเราะ) อธิบายเขาว่าจะมีห้องนอน 1 ห้องนะ ไม่อยากให้มีหลายห้อง อาจไม่อยู่แบบสบายมาก แต่ก็สบายในระดับหนึ่ง เพราะอยู่ในเมืองเราอยู่บ้านชั้นเดียวเนอะ แต่นี่เป็นบ้าน 2 ชั้น นุ่นก็แล้วแต่ผมครับ แต่เรวาขออ่างอาบน้ำในห้องน้ำ เพราะจะได้รู้สึกว่ามาพักผ่อน มาเที่ยว และที่เราทำบ้าน 2 ชั้นเพราะไม่อยากให้บ้านใหญ่แผ่ออกไป และเราอยากขึ้นบ้านชั้น 2 เพราะเห็นดอย 3 เลเยอร์ มีดอยขุนตาลอยู่ด้านหลัง เห็นวิวไปไกล ๆ ได้ อ้อ! อีกอย่าง เรวาก็ชอบบ้าน 2 ชั้นด้วย เวลาไปบ้านเพื่อนชอบวิ่งขึ้นวิ่งลง (ยิ้ม)”

สร้างบ้านให้สนุกผ่านกระบวนการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

“บ้านคือความอบอุ่น คือความสัมพันธ์ คือการอยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ภาพความเท่ เก๋ เรื่องสเปซทางสถาปัตยกรรมที่ใหญ่โต เพราะพอเราเข้าไปอยู่ เรื่องเหล่านี้จะเบาลงไป ผมว่าบ้านที่จะทำให้อยู่แล้วมีความสุข คือเรื่องของคอนเนกชันมากกว่า

“ตอนทำบ้านให้ลูกค้า เรื่องที่เราพูดมีอยู่เรื่องเดียวนั่นแหละ คือการหาสมดุลระหว่างความต้องการของคนกับความต้องการของธรรมชาติ เวลารับโจทย์จากลูกค้า มักเป็นเรื่องความต้องการของคน อยากได้บ้านแบบนั้นแบบนี้ 2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ที่จอดรถ 

“อีกข้างหนึ่งที่มีเสียงแต่ไม่ได้ยิน คือเวลาเราไปที่ดิน มันไม่ได้โล่งหรือว่างเปล่า แม้โฉนดเป็นของเรา แต่เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้นเลย ที่ดินนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนา นิเวศ เหมือง ฝาย เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นแหล่งที่อยู่ของพืชและสัตว์ ผมว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และผมคิดว่าต้องพูดแทนสิ่งนี้ ยืนยันว่าเขาก็อยู่ร่วมกันในที่ดินของเรา หน้าที่ของเราคือหาสมดุล ความต้องการของธรรมชาติก็อยู่ได้ ความต้องการของคนก็โอเค ยิ่งความต้องการของคนส่งเสริมความต้องการของเขาได้ก็ดียิ่งขึ้น เช่น พืชพรรณท้องถิ่น ดอกไม้ มีที่รกชัฏ ให้มันฟื้นฟูด้วยตัวเอง

“พอมาทำบ้านตัวเอง เราทำได้เต็มที่และพูดได้เต็มปากว่า เอ้ย ดีจริง ๆ นะ มันไม่ใช่แค่แนวคิดข้างนอกแล้วเอามาบอกว่าคนนั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่นี่เราทำเอง ผมว่าสนุกนะ 

“ยกตัวอย่าง อย่างไก่ ผมไม่มีทางกันไก่ได้เลย จะล้อมรั้วปิดทึบเหรอ ชาวบ้านแถวนี้ก็เลี้ยงไก่กันหมด ดังนั้น เราก็อนุญาตให้ไก่เข้ามา ทำบ้านไม้ ไก่กินปลวกใช่ไหม เรายกใต้ถุนให้ไก่กินปลวกใต้บ้านได้ 

หรืออย่าง น้าทิพย์ เพื่อนบ้าน เรารู้ว่าเขาทำนาแต่ไม่มีที่ตากข้าว เราก็เว้นพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นที่ตากข้าวของน้าทิพย์ 

“ผมคิดว่าต้องมีกระบวนการ เหมือนผมเรียนรู้ ชุมชนแถวนั้นเขาเป็นอะไร เขามีอะไรที่ให้เราได้ เรามีอะไรที่ให้เขาได้ ธรรมชาติตรงนั้นเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของสิ่งไหนมาก่อน ที่ดินของเราเป็นคอนเนกชันของลำน้ำ เหมือง หรือฝายอะไรหรือเปล่า เวลาไปทำเราต้องไม่ทำให้สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นไปตัดคอนเนกชันเดิมที่มีอยู่ หรือมากที่สุด ถ้าเราไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นมันได้ไหม หรือเก็บบางอย่างไว้ ผมตกตะกอนได้จากการทำบ้านหลังนี้ และถ้าอยากบอกเล่าเรื่องบ้านหลังนี้ คงไม่ได้พูดถึงเรื่องรูปแบบ แต่พูดถึงกระบวนการในการหาถิ่นที่ของคำว่า ‘บ้าน’ มากกว่า”

เราถามเขาว่าการทำบ้านหลังนี้เหมือนได้เรียนรู้มากขึ้นไปอีกใช่ไหม คำตอบของตี๋มาพร้อมรอยยิ้ม

“มันไม่ได้แค่จริงกับเรา แต่จริงกับลูก กับนุ่น และจริงกับแม่ของนุ่นที่เคยอยู่แต่ในตึกแถวด้วย พอได้มาอยู่ แม่สัมผัสได้ เขาชอบ แสดงว่านี่ไม่ใช่แนวคิดอุดมการณ์ (Ideology) แต่สัมผัสได้” 

อย่างนั้น ถ้าคนจะทำบ้าน เขาควรเริ่มกระบวนการนี้อย่างไร – เราถามตี๋ต่อ

“เอาตั้งแต่เริ่ม ถ้าผมทำกับลูกค้า ซึ่งก็ทำกับบ้านผมด้วย คือให้หยุดภาพบ้านที่มีไว้ก่อนว่าจะสร้างอะไร แต่มาถึงแล้วดูว่ามีอะไรเชื่อมโยงกับเราบ้าง มาอยู่ในที่ดิน สัมผัสผ่านทางตา หู กาย จมูก ลิ้น ใจ อะไรคือสิ่งที่เราชอบในที่ดินผืนนี้ ในฤดูนี้ที่เรามา มาบ่อย ๆ แล้วสังเกต ร้อน ฝน หนาว ไม่เหมือนกัน เจ้าของเก่าเป็นใคร อย่างอันนี้เป็นของ น้ายอด จริง ๆ เป็นที่ที่แกรัก แต่ขายเพราะจำเป็น ผมบอกน้ายอดว่าไม่ต้องห่วงนะ ผมจะดูแลให้ดี ผมไม่อยากให้แกต้องเศร้าทุกครั้งที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านไปสวน 

“นี่ก็ส่วนหนึ่งเนอะ ถ้าทำกับลูกค้า ผมก็จะพาไปรู้จักต้นไม้ รู้จักว่าลำเหมืองนี้เค้าใช้น้ำยังไง พอเป็นบ้านเรา เรารู้ได้โดยธรรมชาติ แล้วค่อย ๆ หาตำแหน่งของบ้านว่าจะตั้งมุมไหน ทิศไหนจะเปิดรั้วไปบ้านน้าทิพย์ รถเข้ามาจะเข้าตรงไหน ตากผ้าฝั่งไหน” 

แม้ภาพบ้านและแนวคิดจะชัด แต่ความสนุกของการสร้างบ้านยังอยู่ที่การด้นสดในหลาย ๆ ส่วน 

ตี๋อธิบายว่า “เรารู้ว่าต้องการอะไร ที่เหลือค่อยมาโม่หน้างานกับช่าง แต่แบบต้องชัดเจน โครง กว้าง ยาว สูง รูปตัด ชัดเจน แต่ดีเทลมาดูกัน เพราะผมอยากให้มีภาษาของช่างที่นี่ ผมมีรุ่นน้องมาเป็นผู้รับเหมาช่วยคุมก่อสร้างให้ แต่สล่าหรือช่างเป็นคนที่นี่ ต่างคนก็ได้เรียนรู้กัน บางอย่างช่างก็ได้เรียนรู้ เช่น ผนังฉาบดินที่สล่าไม่เคยทำ คือเป็นผนังปูนแหละครับ แต่ฉาบด้วยดิน ตอนแรกผมอยากได้สีของดินในนี้แต่ไม่ได้ เพราะดินต้องเป็นดินฝุ่น แต่ที่นี่เป็นดินทราย เลยเอาดินที่หางดงมา เขาทำเสร็จก็ภูมิใจ หรืออย่างเสาต้นนี้ ไม้โครงสร้างเก่าชิ้นไม่ยาวพอ แต่เราอยากใช้ สล่าก็เสริมด้วยเสานี้ ผมชอบมากเลย รู้สึกว่านี่เป็นสปิริตของงานช่างกับพื้นที่ หรือตรงนี้ (ตี๋ชี้ตรงหน้าต่างข้างโต๊ะยาว) ผมได้หน้าต่างเก่า 2 บานจาก อาจารย์จุลพร นันทพานิช แกไปซื้อมาจากพม่าแล้วแบ่งให้ผม เป็นบานเกล็ดกระดก เราก็มาดูหน้างานว่าจะวางตรงไหนดี ตรงนี้ก็เหมาะเพราะทำให้ลมไหลผ่านได้และยังสกรีนความเป็นส่วนตัวกับเพื่อนบ้านได้ด้วย 

“ตอนออกแบบ เราคิดถึงเรื่องความสวยงามเป็นเรื่องแรก แต่พอมาอยู่ มันกลับเป็นเรี่องหลังที่เราจะมอง 

“ผมว่าบ้านมันเชื่อมในกับนอก นอกคือธรรมชาติ แต่สุดท้ายต้องมีสเปซบางอย่างที่ทำให้เรากลับมาอยู่ข้างใน 

“ทุกคนรักธรรมชาติแหละ แต่มันเป็นคำใหญ่มาก ถ้าเราแปลงมาเป็นการออกแบบได้ มันคือการหาสมดุล การออกแบบว่าคนกับธรรมชาติจะอยู่กันแบบไหนโดยไม่ทำร้ายกัน”

ห้องเรียน Rewilding

“ตรงนี้เหมือนสวนทดลอง” 

ตอนเดินเข้ารั้วบ้าน นี่คือคำทักทายแรก ๆ ที่ตี๋กล่าวพร้อมพาเดินชมสวนก่อนเข้าถึงตัวบ้านด้วยซ้ำไป เราเดินไปที่หนองน้ำเล็ก ๆ ข้างบ้าน เดินชมดอกไม้ และมองภาพบ้านในมุมกว้างก่อนเดินเข้าสู่ด้านใน 

“อันนี้คือทดลอง Rewilding ที่เราสนใจ จะแตกต่างกับงานของลูกค้า คือเราค่อย ๆ ปลูก ได้อะไรมาก็วาง แล้วคิดเรื่องภาพ โดยคิดทางเดินหลัก ตรงไหนจะเป็นทางเดิน ส่วนที่เหลือพอโตขึ้น เราก็ค่อย ๆ ดูว่าอันนี้จะอยู่ใต้ และผมก็เก็บดอกไม้แถวนี้มาปลูก เพราะดอกไม้แถวนี้สวยมาก อันนี้ดอกหิ่งเม่น สวย (ดอกเหลือง) โสน ส่วนอันนี้ก็ไม้ไทย กล้วยไม้ดิน พนมฉัตร สีนี้ไม่ค่อยเห็น”

“หลัง ๆ สนใจดอกไม้ที่ในเมืองมีจำกัดมาก อยากปลูกให้หลากหลาย ตามที่เราได้ทดลองว่านี่เวิร์กไม่เวิร์ก ต้นนี้เข้ากับต้นนี้ ต้นนี้ปลูกไม่ยากเวลาเอาไปใช้งาน เราได้ทดลองจริงครับ” เสียงตี๋เต็มไปด้วยความสุข 

“อย่างหนองตรงนี้ เราอยากให้มีที่ Wilderness แบบที่เราไม่ไปยุ่ง แค่ปลูกฝั่งนี้แต่อีกฝั่งปล่อย ปู ปลา งู อนุญาตให้เขาอยู่ และอยากให้ลูกเห็นด้วย เพื่อให้ลูกรู้ว่าตอนกลางคืน ถ้าออกไปต้องใส่รองเท้าบูต จะไม่ใช่แบบ… งูมาแล้วตี ถ้าให้ลูกเห็นตั้งแต่เด็ก เขาจะรู้ว่าควรวางตัว วางความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ยังไง ตะขาบ แมงป่อง มีแน่ ๆ เรากันสิ่งเหล่านี้ออกไปจากชีวิตไม่ได้หรอก

“และมีองค์ประกอบที่เกิดขึ้นเอง เมื่อเช้ามีปู ก็พาเรวาไปดู มีหอยก้นแหลมที่ อั๋น (เพื่อนบ้าน) บอกว่าอร่อยนะ เขาก็เอามาปล่อยให้ รู้สึกว่าองค์ประกอบแบบนี้ทำให้บ้านเรามีความสุข ไม่ใช่มีแต่บ้าน เราอยู่แต่ในบ้าน ดูทีวี แต่มาที่นี่ ทุกที่ ขอบเขตของบ้านเราไม่ใช่แค่ที่เห็น แต่ไปถึงห้วยฝั่งโน้นเลย” 

นอกจากพืชพรรณไม้เล็กและหนองน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูธรรมชาติแล้ว เขายังพูดถึงการปลูกต้นไม้ใหญ่ได้อย่างน่าฟังว่า ไม้ใหญ่ที่เห็นอายุราว 8 ปี ปลูกบนที่ดินซึ่งเดิมเป็นนา ปลูกแล้วปล่อยให้เติบโต เขาใช้คำว่า “ให้เวลามันทำงาน” 

“ตอนนั้นยังไม่ได้ออกแบบบ้าน ก็จะปลูกคละ ๆ พอทำบ้านก็มาเล็งให้สัมพันธ์กับต้นไม้ใหญ่ 

“ตรงนี้ต้นหว้าขี้กวาง ผมตั้งใจเอามาปลูกกลางที่เลย เพราะดึงดูดนก และผลก็อร่อยด้วย อย่างนี่ชอบดอก 3 ต้นนี้ คือพะยอม อยากให้เป็นก้อนป่าตรงกลาง มีสารภี ส่วนด้านหน้ามีเสลา ตะแบก เสี้ยว แล้วก็มีพฤกษ์ดอกเขียว มีทองกวาว สมอพิเภก ต้นแหนต้นใหญ่ ๆ ที่เขาไปเข้ายา ซ้อก็ดอกหอมมาก ต้นสูง ๆ ตรง ๆ นี้ครับ 

“ส่วนใหญ่คนจะทำบ้านสวนแต่ก็กลัวยุง จากประสบการณ์ ผมพบว่ายุงก็มีนะ แต่จะไม่เยอะ คือถ้าพื้นที่มีลมโกรกและมีแมลงปอ ยุงจะน้อยลง และถ้าที่นั่นมีค้างคาวด้วย มันก็ช่วยกิน” 

บ้านคือบทกวี

The world is full
of magic things
patiently waiting
for your senses to grow sharper

W. B. Yeats 

บนเสาด้านหนึ่งของทางเข้าตัวบ้านมีบทกวีเล็ก ๆ สะท้อนความเชื่อบางส่วนของตี๋ติดอยู่ เขาเล่าว่าเคยไปบ้านในป่าแม่เงาของ ยอด-วีระศักดิ์ ยอดระบำ และเห็นบทกวีติดอยู่ในบ้าน เป็นส่วนที่เขาประทับใจมาก 

“ผมเคยไปบ้านพี่ยอด แกเขียนบทกวีไว้ ชอบมาก เลยหาบทกวีที่ชอบมาติด” 

บทกวีไม่เพียงแค่ติดอยู่บนผนังบ้านเท่านั้น แต่ทุกถ้อยคำของเขา และสัมผัสในอารมณ์ของบ้านเองก็ราวบทกวี

 “ตอนเช้ามีหมอก หน้าหนาวเป็นทะเลหมอกเลย แล้วแดดจะเข้าตรงนี้ครับ บ้านจะฉาบไปด้วยแดด ถ้าหน้าร้อนจะอีกอารมณ์หนึ่ง มีลมร้อน ๆ ท้องทุ่งเป็นสีน้ำตาล และมีวัวมากินหญ้า 

“ด้านหน้านี้คือเหลืองอินเดีย สีเหลืองของดอกสะท้อนเข้าห้อง มลังเมลืองมาก 

“บางจังหวะจากที่นอนจะมองเห็นดาว เห็นพระจันทร์จากหน้าต่าง”​ 

ไจ / ใจ … ในบ้าน / ในเรา

สถาปนิกใจบ้าน พูดถึงความหมายของคำว่า ‘ใจ และ ไจ’ ในภาษาเหนือให้เราฟัง

“ไจ ภาษาเหนือ คือไปดูแล ไปไจ ไปกอย ไปเยี่ยมเยือน ส่วนคำว่า ใจบ้าน คือความหมายทาง Spiritual เป็นหัวใจ เป็นแก่นแกนของบ้าน เราก็ชอบอะไรอย่างนี้ คือก่อนจะสร้างสิ่งก่อสร้าง เหมือนมี Spiritual ที่เราเชื่อมโยงกับพื้นที่นั้น” 

ถามตี๋ว่า ‘ใจบ้าน’ ของเขาคืออะไร คำตอบนั้นคล้ายคำสรุปรวมชีวิต ความคิด และความเชื่อที่เป็นตัวตนทั้งหมดของเขา 

“สำหรับผมเลยนะ มีอัลบัมหนึ่งในเฟซบุ๊กที่ผมตั้งชื่อว่า ‘สวนอธิษฐาน’ ผมชอบคำนี้มาก ตอนเด็ก ๆ ก่อนนอนต้องสวดมนต์ อธิษฐาน เพราะป๊ากับแม่ออกไปซื้อของในตัวเมือง กว่าจะกลับก็ 4 – 5 ทุ่ม ผมต้องนอนก่อน แต่นอนไม่ค่อยหลับ เป็นห่วงป๊ากับแม่ อยากให้กลับมาไว ๆ กลับมาปลอดภัย ก็จะสวดมนต์อ้อนวอนร้องขอ เป็นอย่างนี้จนโตเลยนะ พอได้ไปเรียนปริญญาโทที่อินเดีย มีเพื่อนเป็นคนซิกข์บอกว่าคำว่า อธิษฐาน ในทางสันสกฤตไม่ใช่ Asking นะ แต่คือการตั้งจิตให้มั่น 

“ทุกครั้งที่มาที่นี่ ผมรู้สึกว่าได้ออกจากในเมือง ได้ปลูกต้นไม้ ได้อยู่กับตัวเองตั้งแต่ตอนซื้อที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าไม่ว่าข้างนอกจะเป็นยังไง เข้ามาที่นี่แล้วเราได้กลับมาอยู่กับตัวเอง งานออกแบบบ้าน ออกแบบพื้นที่ คือการสร้างสเปซให้คนอยู่ข้างใน คือการเข้าไปอยู่ในที่สุด นอกจากกินข้าว อาบน้ำ นอน ยังเป็นการได้กลับมาอยู่กับข้างใน ถ้าภาษาจิตวิญญาณจะเรียกว่า Inner Soul ผมว่างานออกแบบที่ดีในมุมของผมโดยเฉพาะบ้าน ต้องทำให้คนหา Soul ของตัวเองเจอ และผมคิดว่านี่ก็คือ ‘ใจ’ ของบ้าน ของเรา”

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ