ก่อนตัวละครในโลกแอนิเมชันอันโด่งดังจาก Studio Ghibli จะมาปรากฏจริงตรงหน้าชาวไทยในงานนิทรรศการ ‘The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023’ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน พ.ศ. 2566 เราเดินทางไปยัง Ghibli Museum, Mitaka ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเก็บความสนุกเรียกน้ำย่อยมาให้ทุกคนได้ดื่มด่ำกันก่อน
ว่าแต่ ได้ยินเสียงนั้นไหม กริ๊ง ๆๆๆ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เริ่มสั่นกระดิ่งแล้ว เธอหันหน้าไปทางแถวยาวเหยียดของแขกผู้มาเยือนในรอบเช้า เสียงกระดิ่งดังเป็นสัญญาณของการต้อนรับทุกคน และจะดังไปตลอดจนกว่าเธอจะเดินทั่วพิพิธภัณฑ์ เอาล่ะ! ยินดีต้อนรับสู่โลกของ Ghibli ที่ทุกคนรอคอย
Kazuki Anzai, Managing Director Ghibli Museum, Mitaka
A museum that is interesting and which relaxes the soul.
(อาจารย์ฮายาโอะ มิยาซากิ อธิบายถึงการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เอาไว้ใน This is the Kind of Museum I Want to Make)
เคยสงสัยไหม ทำไมตัวละครเดิม ๆ อย่างเพื่อนตัวโตสีเทากับรอยยิ้มกว้าง แม่มดน้อยโบแดงกับแมวสีดำ ปราสาทเดินได้ เด็กชายกับน้องสาวและขนม 1 กระป๋อง ที่อยู่ในหนังเรื่องเก่าถึงยังไม่เก่าเกินจะลืม
ทำไมผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ถึงยังตื่นเต้นกับการไป Ghibli Museum, Mitaka ทั้งที่ชื่อของสตูดิโอมีมายาวนานชนิดที่ไม่ว่าคุณจะเป็นชาวยุค 80 หรือวัยรุ่นยุค 2000 ก็ยังรู้จัก ไม่ใช่เพราะความน่ารักเพียงอย่างเดียว แต่เพราะ อาจารย์ฮายาโอะ มิยาซากิ 1 ใน 3 ผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli รู้ดีกว่าใครว่า ‘ความเป็นเด็ก’ ฝังแน่นอยู่ในตัวทุกคน และนี่คือช่วงวัยที่สำคัญที่สุด

อาจารย์ฮายาโอะต้องการให้เด็ก ๆ ดื่มด่ำกับช่วงชีวิตที่สนุกสนาน ณ ปัจจุบัน และปลดปล่อยผู้ใหญ่ให้หวนคืนสู่ช่วงวัยไร้กรอบที่เก็บซ่อนเอาไว้ในส่วนลึกของหัวใจอีกครั้ง
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีกฎระเบียบใด ๆ มีเพียงคำแนะนำจากเราอยู่ 2 – 3 ข้อ ถ้าผู้ใหญ่ทำได้ คุณจะสัมผัสถึงเป้าหมายอันแท้จริงของผู้สร้าง รวมถึงค้นพบ ‘ความลับ’ ที่ถ้าไม่คิดแบบเด็ก จะไม่มีวันได้เจอ
- คิดแบบเด็ก
- ทำแบบเด็ก
- จงเป็นเด็กอีกครั้ง

A building that has a warm feel and touch,
where the breeze and sunlight can freely flow through.
คาซึเฮะ ชิซึคุอิชิ (Kazuhei Shizukuishi) คือไกด์ของเราในวันนี้ เขาทำงานที่ Ghibli Museum มานานถึง 7 ปี เป็นพี่ชายแสนดีที่ชื่นชอบ Ghibli มาตั้งแต่เด็ก พร้อมกันนั้นเรายังได้รู้จักกับ มินมิน จาก Studio Ghibli เธอคือคุณแม่ผู้น่ารักที่ทำให้เราหัวเราะและเอนจอยกับการชมพิพิธภัณฑ์แบบสุด ๆ
แต่บอกก่อนว่า ปกติแล้วภายใน Ghibli Museum, Mitaka จะไม่มีทัวร์และไม่มีเส้นทาง คุณจะเริ่มเดินจากทางไหนก่อนก็ได้ และเดินจนหลงไปจบที่ส่วนไหนก็ไม่มีใครว่า แต่หากต้องการความช่วยเหลือ พวกเขามีสตาฟประจำการทุกจุด เพื่อดูแลเด็ก ๆ อยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ
ทักทายโตโตโร่จาก My Neighbor Totoro เสร็จ เราก็เดินท่ามกลางบรรยากาศฝนตก ชมวิวต้นไม้เขียวชอุ่มที่ปกคลุมอาคารและพื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อเข้าสู่โถงต้อนรับ ภายในห้องอบอวลไปด้วยแสงนวลจากดวงอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง ตรงกลางห้องคือภาพวาดฝาผนังของต้นไม้ที่ออกดอกออกผลมาหลากหลายสายพันธุ์
สังเกตดี ๆ มีน้องซัตสึกิกับน้องเมวิ่งเล่นอยู่ด้วย! และนั่นโตโตโร่กับกิกิ!
ในจุดนี้ สตาฟจะเริ่มแจกตั๋วสำหรับชมหนังสั้นในห้องฉายภาพยนตร์ ‘Saturn Theater’ ตัวตั๋วทำจากฟิล์ม 35 มม. ของจริง แถมแต่ละคนยังได้ลายไม่ซ้ำ เพราะเป็นการสุ่มแจก เราได้น้องโปเนียวจาก Ponyo

ลงบันไดไปที่ชั้นล่าง สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าคือโถงขนาดใหญ่ เพดานกระจกใสรับแสงสูงขึ้นไปถึงชั้น 2 กลางอาคารมีสะพานเชื่อมสองฝั่ง ศิลปะบนกระจกสีทั่วพิพิธภัณฑ์ต่างมีตัวละครดังซ่อนอยู่ ทุกการตกแต่งภายในช่างให้ความรู้สึกคุ้นตา เพราะทั้งหมดมาจากภาพยนตร์ของอาจารย์ฮายาโอะที่เราเคยดู และตอนนี้ ผู้มาเยือนทุกคนก็ได้กลายเป็นตัวละครในโลกแห่งแอนิเมชันแล้ว
“เข้ามาแล้วคุณรู้สึกยังไงบ้างครับ” คาซึเฮะถาม แน่นอน คำตอบคือ อบอุ่น
“จะเห็นว่าเกือบทั้งหมดทำจากไม้ ไม่ว่าจะพื้น ประตู หน้าต่าง ตู้โชว์ หรือของตกแต่ง เพราะเราอยากให้คุณสัมผัสถึงความอบอุ่นจากไม้ คุณจะรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน โดยเฉพาะตอนที่คนไม่เยอะ” เขาบอก แต่ด้วยความน่าชมของตัวพิพิธภัณฑ์เอง ใน 1 วัน พวกเขาจึงมีแขกมาเยือนเต็มทั้ง 4 รอบ รวมกว่า 2,000 คนจากทั่วโลก ตั้งแต่ 10.00 – 18.00 น. ของทุกวัน (ปิดบริการวันอังคาร)


A museum where those seeking enjoyment can enjoy,
those seeking to ponder can ponder,
and those seeking to feel can feel.
“ผมเลือกไม่ได้เลยว่าชอบหนังเรื่องไหนเป็นพิเศษ” คาซึเฮะตอบหลังจากที่เราถามถึงหนังเรื่องโปรดของเขา
“ของฉันคือ My Neighbor Totoro เพราะฉันนั่งดูกับลูก ๆ อีก 2 คน หนังของ Ghibli ทำให้ฉันทึ่งทุกครั้งแม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว พวกเขามีข้อความบางอย่างสอดแทรก นอกจากแค่ความงดงามและความน่ารักของตัวละคร” มินมินบอกกับเรา เธอคือคุณแม่ช่างสังเกต และสาเหตุที่เธอชอบหนังเรื่องนี้ก็เพราะมีเนื้อหาเชื่อมโยงไปถึงครอบครัว รวมถึงชีวิตของเด็ก ๆ ที่ดูแลโดยคุณพ่อที่ต้องทำงาน ขณะที่คุณแม่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล
ก่อนขึ้นไปชั้นบน เราเห็นเก้าอี้ตัวหนึ่งตั้งอยู่หน้าบันได ทำไมมันถึงตั้งอยู่ตรงนี้ มีอะไรพิเศษ เราถามคาซึเฮะ แต่เขาตอบไม่ตรงคำถาม
“ถ้าคุณสงสัย ทำไมไม่ลองเข้าไปนั่งดูล่ะครับ” อีกฝ่ายตอบอย่างสุภาพ ส่วนเราลังเลก่อนจะเดินเข้าไปนั่ง

เราจะไม่บอกคุณว่ามีอะไรอยู่ตรงเก้าอี้ คุณจะค้นพบก็ต่อเมื่อได้นั่ง และลองจินตนาการดูว่าเด็ก ๆ จะทำอะไร พวกเขาจะหันหัวหันตัวไปรอบทิศด้วยความอยากรู้ และเมื่อนั้นคุณจะร้องว้าว! เหมือนที่เราเป็น
“ดีใช่ไหมครับ ที่นี่ออกแบบมาเหมือนเขาวงกต เพราะเด็ก ๆ จะได้วิ่งไปทุกที่ พวกเขาจะค้นพบความลับของพิพิธภัณฑ์ และเห็นสิ่งน่าสนใจที่พวกเราไม่เห็น ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้ชีวิตในช่วงวัยของเขาอย่างเต็มที่ ลืมกรอบที่สังคมกำหนด ลืมว่าคุณเป็นผู้ใหญ่ แล้วมาสนุกกับที่นี่ให้เต็มที่ดีกว่า
“สำหรับผม อาจารย์ฮายาโอะสร้างหนังเพื่อเด็ก ดูหนังของอาจารย์ให้เห็นชีวิต แล้วปล่อยให้เด็ก ๆ ออกไปใช้ชีวิต Let’s lose our ways together กันครับ” คาซึเฮะบอก
เช่นเดียวกับสะพานที่พาดผ่านอยู่บนหัว อาจารย์ไม่ได้สร้างสะพานเพื่อผู้ใหญ่ แต่เขาสร้างเพื่อให้เด็กได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ ทุกอย่างในนี้ออกแบบมาด้วยมุมมองอันซุกซนเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง


สิ่งที่อยู่ใกล้กันคือลานหินที่ทำให้เรานึกถึงลานสเกต คงน่าสนุกถ้าได้วิ่งตรงนี้ เอาล่ะ เราเริ่มคิดแบบเด็ก แล้วก็ลองออกวิ่งเบา ๆ ดู พื้นไม่เท่ากัน แต่ไม่อันตราย ทั้งยังเย็นจนน่าลงไปนอนแผ่
“ตรงนี้คือห้องฉายหนัง Saturn Theater ก่อนเข้าชมต้องเอาตั๋วที่แจกตอนแรกมาแสตมป์ เรามีหนังสั้นฉายทั้งหมด 10 เรื่อง ของเดือนนี้คือเรื่อง House Hunting ส่วน Mei and the cat bus จะมีรอบฉายตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน” คาซึเฮะอธิบาย
แปลว่าแต่ละเดือนจะฉายไม่ซ้ำกันเหรอ – เราถาม
“ถูกต้อง ถ้าอยากดูให้ครบก็ต้องมาทุกเดือนจนครบ 10 เดือน แล้วเราก็มี Studio Ghibli Park ที่นาโกยาอีกที่ อาจจะใช้เวลาสัก 1 ปีคงจะครบนะคะ” มินมินตอบพร้อมเสียงหัวเราะ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำเช่นนั้น


A museum where much can be discovered.
Visitors are not controlled with predetermined courses and fixed directions
เราเดินขึ้นลงอย่างไม่มีแผนจนมาถึงห้องจัดแสดงถาวรที่ชั้นล่าง นี่เป็นอีกห้องที่สนุกและ ‘ต้องซน’ อีกแล้ว มีตู้โชว์มากมายตั้งอยู่ภายในห้อง ส่วนใหญ่เป็นการแสดงเทคนิควิธีการสร้างภาพเคลื่อนไหว แต่ความสนุกไม่ใช่เรื่องของการยืนดู เอื้อมมือไปหมุนซะ!


“เป็นผมจะลองเปิดมันดูนะ” คาซึเฮะยั่วเราอีกครั้งเมื่อเดินมาถึงตู้แสดง Ghibli House ซึ่งทำเป็นรูปบ้านที่มีทั้งบานประตูและหน้าต่างรอให้ใครสักคนเปิดเล่น
“น่ารักที่สุดเลย!” มีอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน เราให้คุณดูนิดเดียวพอ หนึ่งในนั้นคือตุ๊กตาจำลองการทำงานในอดีต เดาว่าชายคนนั้นคืออาจารย์ฮายาโอะ และแน่นอนว่าอีกคนคงจะเป็น อาจารย์มิชิโยะ ยาสึดะ แอนิเมเตอร์และปรมาจารย์ผู้ออกแบบสีทั้งหมดให้สตูดิโอ ส่วนที่เหลือลองเปิดชมเอง
ไปต่อกันที่ชั้นบน คาซึเฮะไม่ปล่อยให้เราขึ้นลิฟต์ เพราะเขารู้ว่าเรากำลังสนใจกรงนกขนาดใหญ่ที่ด้านในเป็นบันไดวนสูงจากชั้น 1 ขึ้นไปถึงชั้น 2 เราเดินขึ้นและค้นพบว่า เราอาจจะอายุมากไปหน่อยกับอะไรที่เวียนหัวแบบนี้ แต่มันก็สนุกดีนะ


ที่นี่คือ ‘Cat Bus Room’ ห้องสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ขวบ สถานที่ที่จะได้สัมผัสและลองนั่งรถบัสแมวขนปุยที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด หรือใครอยากลองเล่นกับน้องฝุ่นหรือภูติเขม่าก็ได้ มีให้เล่นเต็มหลุมเลย

สำหรับผู้ใหญ่ที่เข้าไม่ได้ ไม่ต้องเศร้าใจไป เราไปเดินเล่นกันบนดาดฟ้าที่อิงจากเรื่อง Castle in the Sky กันต่อ มีหุ่นยนต์ตัวใหญ่ยืนรออยู่ตรงนั้น


A place where visitors can enjoy by just looking,
can understand the artists’ spirits,
and can gain new insights into animation.
คาซึเฮะนำเราขึ้นไปยังห้องจัดนิทรรศการถาวรที่ชั้น 2 ซึ่งบอกเล่าประวัติและขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่อง โซนนี้มีชื่อว่า ‘Where a Film is Born’


ส่วนแรก ‘Where a Film Begins – Preproduction Room’ เป็นห้องของเด็กชายผู้หยิบจับสิ่งรอบกายมาผสมผสานกับจินตนาการจนกลายเป็นภาพวาดบนแผ่นกระดาษ เขาแปะมันไว้บนกำแพงจนเต็ม พร้อมด้วยหนังสือและส่วนประกอบเครื่องบินมากมายที่วางกระจายอยู่ทั่วห้อง ทั้งหมดคือบรรยากาศซึ่งสะท้อนชีวิตของผู้ที่เติบโตมาเป็นหัวเรือใหญ่ของสตูดิโอ
“ของทั้งหมดทำขึ้นมาภายหลัง รวมไปถึงภาพสเกตช์ทั่วห้อง ห้องเขาไม่ได้รกแบบนี้หรอกครับ เพียงแต่เราเอาสิ่งของมาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจินตนาการของเขามาจากไหนบ้าง และเขาวาดคาแรกเตอร์ตัวละครอย่างไร
“อ้อ! แต่จะมีของจริงอยู่บ้างก็คือรองเท้าคู่นี้” คาซึเฮะชี้ไปที่พื้น นี่คือรองเท้าของอาจารย์ฮายาโอะ

ส่วนที่สอง ‘A Place Where the World is Made – Background Art’ เป็นส่วนที่โชว์การออกแบบและสร้างพื้นหลัง 2 มิติด้วยมือ บนโต๊ะคือสีจริงที่ใช้จนหมดแล้ว


ส่วนที่สาม ‘A Place Where Stories are Told – The Glorious Staging Department’ คือส่วนของการวาดสตอรี่บอร์ด ซึ่งมีแบบก๊อปปี้ให้เราดูทั้งเล่มด้วย


ส่วนที่สี่ ‘Animation Room – Key Animation and Inbetween Drawing’ คือการทำแอนิเมชัน ซึ่งที่ผนังก็มีบรรยากาศการทำงานของพวกเขาวาดเอาไว้

ส่วนที่ห้า ‘Ink and Paint’ คาซึเฮะบอกว่าสีที่ใช้สำหรับระบายตัวคาแรกเตอร์และสีที่ใช้ระบายฉากหลังเป็นสีคนละแบบกัน เนื่องจากตัวละครมีการขยับเยอะทำให้พวกเขาต้องเลือกสีที่ใช่เพียงไม่กี่สีเท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน และผู้รับหน้าที่สำคัญในการเลือกสีมาใช้ในทุกเรื่องก็คืออาจารย์มิชิโยะ ยาสึดะ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว
ความสำคัญและความเคารพที่ทุกคนมีต่อเธอสะท้อนผ่านภาพวาดบนผนังที่เราคาดว่าน่าจะเป็นอาจารย์มิชิโยะในวัยสาว

Studio Ghibli ไม่ใช่แค่ผู้สร้างภาพยนตร์อย่างประณีต พร้อมเนื้อหาลึกซึ้งกินใจตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ที่นี่คือแหล่งรวมนักสร้างสรรค์ผู้ผลิตภาพยนตร์ได้งดงามอย่างงานศิลปะชิ้นโบแดง
ก่อนออกจากห้องนิทรรศการ มีเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กให้หมุนเล่นอยู่ และมินมินก็กำลังหมุนอย่างสนุกพร้อมชวนให้เราเข้าไปเล่นบ้าง

หลังจากนั้น เราได้เข้าไปชมหนังสั้น สำรวจห้องสมุด ออกไปช้อปปิ้งที่ ‘MAMMA AIUTO!’ และหาอะไรทานกันที่ ‘Straw Hat Café’ บอกเลยว่าความสนุกยังไม่หมด แต่ก็หมดเวลาเสียก่อน เราบอกลาคาซึเฮะและมินมิน
“ผมเจอคนจากทั่วโลกมาที่นี่ทุกวัน พวกเขามาด้วยความสุข อยู่ด้วยความสนุกสนาน และกลับไปแบบที่มีความสุขยิ่งกว่าเดิม มันทำให้ผมดีใจมาก และแน่นอนว่าผมดีใจที่ได้เจอคุณ” คาซึเฮะทิ้งท้าย เขาหวังว่าเราจะได้เจอกันอีก ส่วนใครอื่นที่จะมา คาซึเฮะยินดีต้อนรับทุกคนอยู่ที่ Ghibli Museum

A museum that makes you feel more enriched
when you leave than when you entered
ความประทับใจที่มีต่อ Ghibli Museum ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เราได้สนทนากับ ชินสุเกะ โนนากะ (Shinsuke Nonaka) Vice President, Business & Legal Affairs แห่ง Studio Ghibli เกี่ยวกับงานที่เขาทำและความพิเศษของ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 ที่จะจัดขึ้น ณ centralwOrld Live ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์
อย่างที่เราเห็นกันว่า หนังเด็ก ๆ ของ Ghibli ล้วนไม่ธรรมดาสักเรื่อง นั่นเป็นเพราะทางสตูดิโอเองพยายามสร้างสรรค์เรื่องใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สุดในการสร้างภาพยนตร์แต่ละครั้งตามความเห็นของชินสุเกะ

สำหรับตัวเขาเองที่มีส่วนร่วมเป็น Production Office Work ทั้งในเรื่อง Pom Poko, Whisper of the Heart, Princess Mononoke, My Neighbors the Yamadas, Spirited Away และ Howl’s Moving Castle ภาพยนตร์ที่เขาประทับใจและมีอารมณ์ร่วมมากที่สุดคือ Princess Mononoke เพราะเป็นเรื่องเดียวที่ได้ร่วมงานตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งหนังเรื่องนี้ยังใช้ทั้งทุนและเวลาในการสร้างมากกว่าเรื่องอื่น ๆ อีก 2 เท่า รวมไปถึงธีมหนังก็แตกต่างจากที่ผ่านมา แต่การได้ร่วมงานกับอาจารย์ฮายาโอะถือเป็นความภูมิใจและความทรงจำที่ตราตรึงใจของชินสุเกะมากที่สุด
“จริง ๆ ผมมีหนังที่ชอบเยอะ แต่นิทรรศการที่จะนำไปจัดแสดงที่ไทยจะมีความแตกต่างจากในพิพิธภัณฑ์อยู่ เด่นที่สุดและชอบที่สุดคือ Castle in the Sky เราจะมีโซนสำหรับปราสาทอยู่บนท้องฟ้า ไซซ์ใหญ่มาก รายละเอียดเยอะ และเป็นครั้งแรกของโลกที่จะมีการแสดงสิ่งนี้ อยากให้ไปชมกันนะครับ โดยเฉพาะแฟน ๆ เรื่อง Castle in the Sky จะต้องชอบแน่ ๆ” ชินสุเกะเล่าปิดท้าย

หลังออกจากพิพิธภัณฑ์ ความเป็นเด็กในตัวเรายังพลุ่งพล่าน รู้สึกว่าเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงช่วยบรรเทาความรู้สึกอยากปลดปล่อยได้ แต่ก็ยังไม่สาแก่ใจที่ต้องการ
หากคุณมีโอกาส เราอยากชวนให้ลองมาสัมผัสความสนุกและเอนจอยกับช่วงเวลาปัจจุบันโดยไม่มีโทรศัพท์ดูสักครั้ง (เพราะเขาห้ามถ่ายภาพ) หรือถ้าใครยังหาโอกาสมาญี่ปุ่นไม่ได้ กรกฎาคมนี้ Live Nation Tero จับมือกับ Studio Ghibli ยกนิทรรศการและหนังในวันวานมาให้ถึงใจกลางกรุงเทพฯ แล้ว จองบัตรเข้าชมและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก Live Nation Tero
แล้วมาเป็นหนึ่งในโลกของ Ghibli กัน
