หากให้คนในวงการศิลปะเอ่ยชื่อบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางด้านศิลปะ ต้องไม่พ้นที่จะเอ่ยถึงชื่อของ เสริมคุณ คุณาวงศ์ นักสะสมผู้มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะไทย 

เขาผู้นี้มีความสุขอยู่กับบ้านที่เต็มไปด้วยงานศิลปะนับพันชิ้นที่สะสม และมีศิลปะเป็นส่วนประกอบสำคัญของวิถีชีวิตตั้งแต่ตื่นนอน จนนำมาสู่การเพิ่มฟังก์ชันบ้านที่ยังใช้อยู่กินให้เป็นพิพิธภัณฑ์ นาม Kunawong House Museum เพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางศิลปะให้กับผู้มาเยือน

วันนี้เราได้รับโอกาสให้เข้าไปคุยกันในบ้านซึ่งกำลังจะเปิดให้ผู้ชมทั่วไปเข้าชมเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และเรากำลังเริ่มต้นบทสนทนาภายในโถงที่เจ้าของบ้านตั้งชื่อให้ว่า ‘บทสนทนาของยุคสมัย’ 

บ้าน-พิพิธภัณฑ์

สายตาชวนให้เราสนใจงานศิลปะที่ประดับอยู่แทบทุกที่ในบ้าน ก่อนที่เราจะเอ่ยถามคุณเสริมคุณถึงที่มาของบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ 

ในวันแรกที่คุณเสริมคุณก้าวเท้าเข้ามาเหยียบที่ดินผืนนี้ ต้องถอยหลังกลับไปในวันที่เขายังเป็นเด็ก บริเวณนี้คือตำแหน่งบ้านจัดสรรที่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพฯ สมัยนั้นคุณพ่อและคุณแม่มาซื้อไว้ และมีบ้านของน้าที่ซื้อไว้พร้อมกันอยู่ข้าง ๆ

“ผมซื้อบ้านของน้าไว้ จากนั้นก็รื้อบ้านน้าเพื่อสร้างหลังนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว” เขาชี้ลงในตำแหน่งที่เรานั่งคุย ก่อนจะชี้ต่อและเล่าว่าส่วนที่เลยสวนหน้าบ้านไป เมื่อก่อนคือตำแหน่งบ้านของคุณแม่

ก่อนเดินเข้ามาในตัวบ้าน เราสังเกตเห็นตัวอาคารด้านนอกเป็นทรงลักษณะเหลี่ยม 3 ชั้น เล่นเส้นสายของตัวอาคารอย่างชัดเจน พร้อมตำแหน่งพื้นที่ว่างด้านหน้า

“เมื่อก่อนตึกนี้ก็หน้าตาแบบนี้ โครงสร้างแบบนี้ แต่ไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่มีของมีค่าใส่ไว้เยอะขนาดนี้” 

เขาเล่าถึงสมัยที่บ้านยังคงเป็นเพียงสถานที่ที่คนในครอบครัวใช้อยู่อาศัย ก่อนที่แนวคิดการเปลี่ยนบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์จะเกิดขึ้นผ่านคำแนะนำจาก อภินันท์ โปษยานนท์ ภัณฑารักษ์คนสำคัญท่านหนึ่งในเอเชีย แนะนำให้คุณเสริมคุณไปเยือนพิพิธภัณฑ์เซอร์ จอห์น โซน (Sir John Soane Museum) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยพิพิธภัณฑ์เก่าแก่แห่งศตวรรษที่ 19 นี้ใช้แนวคิดการจัดวางบ้านที่อยู่อาศัยเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะไปพร้อม ๆ กับนำเสนอกิจวัตรประจำวันของเจ้าของบ้าน 

“ในพิพิธภัณฑ์เซอร์ จอห์น โซน มีห้องที่แสดงถึงการใช้งานในบ้าน มีห้องอาหาร ห้องเขียนงานศิลปะ และเก็บงานศิลปะอยู่ในนั้น ผมรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจมากก็เลยใช้วิธีนี้บ้าง” คุณเสริมคุณกล่าว

หลังจากนั้น เขาก็นำงานศิลปะที่สะสมด้วยความหลงใหลตั้งแต่ชิ้นแรกในชีวิต จนถึงชิ้นที่เริ่มสะสมอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2535 มาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ก่อนเปิดให้บุคคลภายในเข้าชม ซึ่งนั่นถือเป็นการเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ในส่วนแรกเมื่อ พ.ศ. 2562 ต่อเนื่องจากการเกิดขึ้นของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะสมัยใหม่แห่งใหญ่ของเขาที่เปิดเมื่อ พ.ศ. 2547

5 ปีถัดมา (จาก พ.ศ. 2562) เมื่อคุณแม่เสียชีวิตลง คุณเสริมคุณจึงรื้อบ้านหลังเดิมของท่าน แล้วขยายพื้นที่บ้านพิพิธภัณฑ์ไปสู่โซนที่ 2 ส่วนที่เราเดินผ่านมาตลอดทาง ทั้งอาคารคิวบิกและสวนแห่งชีวิตนั้นคือส่วนที่ต่อขยาย

ก่อจะเกิดเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์โฉมใหม่ที่เรากำลังจะเล่าพื้นที่ 3 โซน ทั้งบ้าพำนัก (The Residence) สวนแห่งชีวิต (The Garden of Life) และอาคารคิวบิค (Cubic Building) ให้ฟังต่อจากนี้ 

คุณเสริมคุณเล่าต่อถึงรายละเอียดของ บ้านพำนัก (The Residence) หลังนี้ให้ฟังว่าออกแบบโดย ดร.ชเล คุณาวงศ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของเขา ส่วนแนวคิดการออกแบบเเลือกตามความคิดของเจ้าของบ้าน คือให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้อยู่อาศัย อันได้แก่ตัวเขาเอง ภรรยาอย่าง คุณจิ๊บ-ยุพเรศ คุณาวงศ์ และ ดรีม-เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ และ อาย-วาดฝัน คุณาวงศ์ ลูกสาวทั้ง 2 คน จึงเกิดการแบ่งโซนเป็นอิสระแก่กัน

ทางซ้ายของบ้านเป็นพื้นที่ของลูก ๆ ซึ่งเขาบอกว่าสาว ๆ มีห้องส่วนตัวมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ส่วนทางฝั่งขวาของบ้านเป็นที่ใช้งานหลักของคุณเสริมคุณ 

ในที่ที่เรานั่งกันอยู่คือตำแหน่งห้องโถงกลางของบ้าน จากตรงนี้จึงมองเห็นการแบ่งพื้นที่ภายในหลัก ๆ เป็นซีกซ้ายและขวาแยกห่างจากกันอย่างชัดเจน โดยมีชานเชื่อมต่อกัน ส่วนสถานที่ส่วนตัวถูกผลักให้อยู่ด้านหลัง อย่างสระว่ายน้ำและยิมออกกำลังกาย

แม้บ้านจะถือว่าเป็นการให้ความส่วนตัวแก่ผู้อยู่อาศัย แต่ด้วยแนวคิดและความฝันอยากทำบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ของคุณเสริมคุณ เขาจึงได้ยกวันเสาร์-อาทิตย์ให้กับผู้ชมที่สนใจชมที่พำนักของเขา

“บ้านเราเป็นที่ส่วนตัวนะ หมายถึงเราอยู่โดยคนอื่นไม่ต้องมายุ่ง ซึ่งผมคิดว่ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ว่าเราแบ่งปันบรรยากาศ เพื่อให้แรงบันดาลใจแก่คนอื่นในบางวันได้”

ทำไมถึงอยากให้แรงบันดาลใจคน – เราถาม

“มันเป็นวิธีที่ส่งเสริมให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์”

ศิลปะกับไลฟ์สไตล์ที่ว่า เห็นได้จากกิจวัตรของคุณเสริมคุณที่ทำเป็นประจำตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

หลังจากตื่นนอนในห้องที่อยู่หลังประตูลับและอยู่ใต้เพดานที่พับแบบโอริกามิ (Origami) เขาจะทานโยเกิร์ตผลไม้ตรงพื้นที่เตรียมอาหารเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกับห้องนอน ก่อนเดินผ่านงานศิลปะนับร้อยชิ้นที่ตั้งเรียงอยู่ตลอดแนวทางเดิน เดินผ่านโถงบันไดที่มีภาพเขียนบุคคลนับสิบภาพ ทั้งภาพเขียนโบราณและภาพผลงานศิลปินมีชื่อของไทย ก่อนที่จะเดินเข้าสู่ห้องอาหารสีเหลืองโคโลเนียลที่อยู่ด้านล่างเพื่อรับประทานอาหารเช้า โดยมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ตั้งเป็นประธานของห้อง รายล้อมด้วยภาพงานศิลปะสมัยใหม่ในไทย และหากมองลอดหน้าต่าง จะเห็นบรรยากาศของสวนประติมากรรมที่อยู่ด้านหน้าด้วย 

หากต้องการความสงบในเวลาเขียนงานและอ่านหนังสือ เขาต้องเดินผ่านโถงที่เราคุยกันเข้าสู่ห้องอ่านหนังสือที่ตกแต่งด้วยสไตล์ไทย ๆ ด้านในมีงานศิลปะชิ้นเอกของไทยอยู่หลายชิ้น เช่น ตู้หุ่นละคร หัวโขน เครื่องถมและชุดน้ำชาสมัยสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 และภาพเขียนของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และ วัลลภิศร์ สดประเสริฐ

“ห้องนี้เป็นห้องที่ผมใช้งานเยอะ” เขาเปรย 

ตรงข้ามกันมีห้องทานน้ำชาทาสีเขียว จัดแสดงงานที่เป็นมรดกและงานประณีตศิลป์ไทยไว้หลายแขนง เขาตั้งชื่อให้ว่า ‘ห้องมรดกไทย’

วันไหนที่ไม่ไปทำงานข้างนอก เขามักเลือกอยู่บนชั้น 2 ที่ห้องจักรพันธุ์ ตามนามของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อาจารย์ที่เขาเคารพมากท่านหนึ่ง ซึ่งภายในห้องนี้เก็บรวบรวมผลงานของอาจารย์เอาไว้ 

“ห้องนี้เป็นห้องที่ผมจะอยู่คนเดียว ห้องที่ผมอยู่ทุกวัน”

บางวันเขาก็จะลงมานั่งรอรับประทานอาหารมื้อเย็นในโถงที่เรากำลังนั่งสนทนา พร้อมเปิดเพลงของ เอนยา พาทริเซีย นี วรีไนน์ (Enya) คลอไปด้วย 

“นอกจากคนสนทนากันแล้ว เก้าอี้ก็สนทนากันด้วย” เขากล่าวขึ้น ท่ามกลางสายตาของเราที่มองไปยังเก้าอี้รอบ ๆ วงที่นั่ง

ทั้งเก้าอี้สมัยวิกตอเรียสไตล์กอธิก เก้าอี้กระโปรงสุ่มยุคเอ็มไพร์ เก้าอี้ไม้อัด Red and Blue และอีกหลายตัวประชุมกันอยู่ที่นี่

“มันสบายเกินกว่าที่ท่านจะจินตนาการ” เขาชี้ไปที่เก้าไม้อัด Red and Blue สไตล์ Mondrian ชวนให้เราลองนั่ง

“ในตู้ Mondrian ตู้นี้ใส่ชีวิตผมไว้” คุณเสริมคุณกล่าว พร้อมผายมือไปยังตู้ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเลียนแบบงานของ Piet Mondrian ศิลปินนามธรรมชาวดัตช์ที่เขาชื่นชอบ ตั้งเป็นฉากหลังในโถงสนทนา ก่อนที่เขาจะเล่าชีวิตผ่านตู้ Mondrian ตู้นี้

คุณเสริมคุณเล่าว่าเขาเติบโตในตระกูลชาวจีน โดยมี โค้งเงี๊ยมจือ ปู่ที่ย้ายจากเมืองจีนมาตั้งรกรากขายผ้าอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ 

เขาชี้ไปยังภาพบุคคลที่ตั้งอยู่ทางด้านล่างขวาของตู้ 

ค้งเงี๊ยมจือ มีบุตรชายชื่อ คุณเยี่ยม คุณาวงศ์ เป็นผู้สืบทอดกิจการผ้าและพัฒนาจนเป็นห้างเสริมแสง ห้างใหญ่ที่อยู่คู่นครสวรรค์ซึ่งในสมัยนั้นเทียบเท่าห้างไนติงเกลในกรุงเทพฯ คุณเยี่ยมมีลูก 5 คน หนึ่งในนั้นคือคุณเสริมคุณ เด็กตัวเล็กสุดในภาพขาวดำที่ตั้งอยู่ตำแหน่งกลางตู้ Mondrian

เด็กชายเสริมคุณเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนหัวเฉียว จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะย้ายมาเรียนโรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์จนถึงประถมศึกษาปีที่ 7 และเข้ามาเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และเป็นช่วงเวลาที่เขาเข้ามาอาศัยในบ้านคุณาวงศ์ที่เรานั่งอยู่

เขาชี้ไปที่ข้าง ๆ ของภาพถ่ายพี่น้องแล้วเอ่ยขึ้นว่า “ชิ้นนี้เป็นภาพสเกตช์บรรยากาศที่​โรงเรียนลาซาลโชติรวีฯ เขียนโดยครูศิลปะคนแรกของผม”

ก่อนที่เขาจะชี้ไปทางซ้ายของตู้ในตำแหน่งของหนังสือสีแดงที่ซ้อนกันหลายเล่ม สันหนังสือเขียนว่า สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง 

“ผมสนใจ เหมาเจ๋อตุง สนใจกระแสความเป็น Liberal ในยุคนั้น นี่คือหนังสือที่ผมอ่าน” 

ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย เขาเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ ด้วยความฝันอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาชี้ไปที่กล้องถ่ายภาพซึ่งตั้งอยู่บนหนังสือที่เล่าไปเมื่อครู่

“ผมเริ่มถ่ายรูปโดยนี่เป็นกล้องตัวแรกที่พ่อให้ใช้ แล้วในที่สุดการถ่ายรูปก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” ช่างภาพอาชีพว่าแบบนั้น 

เขาชี้ต่อไปที่ภาพด้านขวาบนสุดของตู้ เป็นหนึ่งในผลงานใหญ่ในชีวิต คือการถ่ายภาพให้ราชสำนักไทยในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ถัดลงมาเป็นภาพลูกสาวทั้งสอง และภาพแต่งงานกับคุณจิ๊บ

เขาเดินไปหยิบภาพงานแกะไม้ที่ตั้งอยู่หน้าตู้ชีวิตมาให้ชม เพื่อโชว์ผลงานที่เด็กชายเสริมคุณทำขึ้นสมัยอยู่ ป.6

“ผมสะสมมาเสมอ ก่อนที่จะสะสมอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2535” เขาชวนให้เราคิดต่อถึงการเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักสะสมที่ถือว่าอยู่ติดตัวมาตลอด

ตู้ชีวิตที่อยู่เบื้องหลังผสานกลายเป็นเรื่องราวชีวิตของชายผู้กลายเป็นนักสะสมคนสำคัญของประเทศ

“หลังจากคุณแม่จากไป ผมก็มีแนวคิดที่จะหาวิธีสร้างสวนประติมากรรมตามที่ใฝ่ฝัน” คุณเสริมคุณเล่าสารตั้งต้นถึงการเกิดขึ้นของสวนมีชีวิต ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า The Residence เชื่อมไปถึงพื้นที่หอพระที่ตั้งอยู่ห่างออกไป ภายใต้แนวคิดวิถีชีวิตและการหลุดพ้น

แรงบันดาลใจของเขาเกิดจากการได้ไปเห็นสวนประติมากรรมมาแล้วทั่วโลก อย่าง The Vigeland Park สวนประติมากรรมที่ใหญ่ที่สุด ณ ประเทศนอร์เวย์ 

“เรามีความฝันเกี่ยวกับสวนประเภทนี้มาก แต่ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ไม่ใช่สวนประติมากรรม” เขาย้อนกลับไปเล่าถึงศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพที่เคยจัดตั้งและปิดตัวลงไป ของส่วนใหญ่ย้ายมาจัดแสดง ณ สวนแห่งความฝันของเขาในครั้งนี้

“ผมได้พาคอลเลกชันนั้นมาอยู่ในที่อันควร เป็นเกียรติแก่เรา และสมศักดิ์ศรีศิลปิน” 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พบกับงานประติมากรรมนับสิบชิ้นที่วางเรียงรายอย่างสวยงาม หนึ่งในนั้นคือสิงโตตัวใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดกับหน้าบ้าน

“ผมขอฟันธงเลยว่าสิงโตตัวนี้เป็นตัวที่สวยที่สุดตัวหนึ่งในโลกใบนี้” เขาว่าพลางชี้ชวนให้ดูประติมากรรมสิงโตตัวเบิ้ม ผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของ ช่วง มูลพินิจ

อีกชิ้นเป็นเป็นงานประติมากรรมชิ้นโตในชื่อ ต้นไม้แห่งจินตนาการ ลักษณะเป็นหัวมนุษย์มีต้นไม้เติบโตสูงใหญ่ขึ้นไป เสริมคุณเล่าว่างานชิ้นนี้เขาทำงานร่วมกับศิลปิน โดยปรับมาจากงานศิลปะคอลลาจที่ทำขึ้นสมัยเรียน ม.2

เชื่อมต่อกับสวนแห่งชีวิตหน้าบ้าน ต่อไปคือหอพระประจำบ้านพิพิธภัณฑ์ที่แสดงสถาปัตยกรรมเรียบง่ายตั้งเป็นศูนย์กลางของสวน

“เราสร้างขึ้นมาจากที่เราได้ครอบครองพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยองค์หนึ่ง จึงพยายามหาที่อันควรให้ท่าน ตอนแรกพยายามจะสร้างหอพระให้เป็นเหมือนการปั้นแบบบาโรก และปั้นแบบศิลปะไทยที่รุ่มรวยมาก ๆ แต่ในที่สุดก็เลือกที่มินิมอล และเป็นอาคารที่ได้แรงบันดาลใจทางสถาปัตยกรรมของ Ando Tadao ที่เป็นคอนกรีตหล่อ”

ทั้งสวนในบ้านและหอพระเริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งยังคงมี ดร.ชเล พี่ชายเป็นผู้ออกแบบเหมือนเดิม

ก่อนเข้ามาอยู่ในโถงบทสนทนา เราได้เดินไปชมหอพระมาแล้ว สิ่งที่สัมผัสได้คือความเรียบง่าย เงียบ และความสงบ ทั้งสถาปัตยกรรมที่ใช้หลังคาคอนกรีตทรงจั่ว พร้อมการจัดองค์ประกอบทางอารมณ์ที่อยู่ในตัวอาคาร โดยมีแสงและเวลาเป็นองค์ประกอบหลัก

เมื่อเปิดประตูประติมากรรมซึ่งเป็นผลงานของ ฉัตรมงคล อินสว่าง เข้าสู่ข้างใน จะเห็นตำแหน่งแสงที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลา พร้อมกับการจัดวางพระพุทธรูป 3 องค์ โดยมีพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยตั้งเป็นประธาน พร้อมกับพระพุทธรูปผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า โดยมีฉากหลังเป็นช่องแสงโปร่ง 3 ช่อง ในลักษณะหมุนต่อเนื่องกันคล้ายธรรมจักร

“ธรรมจักรแบบผม คือการหมุนไปของชีวิต” คุณเสริมคุณกล่าวเปรียบ

ผนังตรงข้ามมีประติมากรรมนูนสูง เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่หล่อคัดลอกมาจากประติมากรรมปูนปั้นในซุ้มจระนำมณฑป วัดตระพังทองหลาง จังหวัดสุโขทัย

เดินออกมาจากหอพระ ข้างกันมีลานประติมากรรมที่จัดแสดงงาน 3 ชิ้นของ แดง บัวแสน, นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ และ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ตามแนวคิดเรื่องเกี่ยวความตาย จิตวิญญาณ และฌาน

หากสวนนี้เป็นสวนแห่งชีวิต ก็คงเปรียบได้กับชีวิตของคุณเสริมคุณนั่นแหละ

“ขอเรียนเชิญแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน” คือคำกล่าวต้อนรับจากปากของเจ้าของบ้าน ท่ามกลางผู้คนที่มาในวันเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดขึ้นช่วงเช้าภายใต้ตึกคิวบิก ตึกทรงเหลี่ยมที่บิดไปบิดมา ก่อนเราจะมาคุยกันในตอนนี้

“แนวคิดด้านสถาปัตยกรรมของตึกนี้คือใช้รูปเหลี่ยมทรงเรขาคณิต เหมือนกับลูกบาศก์คิวบิกหมุนไปหมุนมา ซึ่งก็เป็นชื่อกลุ่มบริษัทที่ผมตั้งไว้ตอนวัยรุ่นว่า คิวบิก กรุ๊ป”

อาคารหลังนี้เป็นอาคารจัดแสดงงานศิลปะ 5 ชั้น กว้างใหญ่ที่สุดในบ้านพิพิธภัณฑ์ ภายในเก็บรวบรวมงานศิลปะไว้มากมาย แต่เจ้าของบ้านยังคงใช้การในชีวิตประจำวันอยู่

เดินเข้ามาเราพบกับบันไดเหล็กเวียนสูง 21 เมตร เมื่อมองจากด้านล่างขึ้นไปจะเห็นสูงเอนขึ้นรองรับด้วยเสารูปตัว X สูงเลยเลยชั้น 5 ขึ้นไป

“เราตั้งใจทำงานเหล็กในตึกหลังนี้ให้มันพิศดารมาก เรียกว่าทำเอามันสุด ๆ ไปเลย ถ้าสถาปนิกมาเขาก็จะบอกกันว่าเห็นใจผู้รับเหมามาก เพราะมันสุดจริง ๆ” เขากล่าวพลางหัวเราะ

สีสันในตัวเขาแสดงให้เราเห็นผ่านการจัดแสดงของแต่ละห้องที่อยู่ในตึกนี้แล้ว

ชั้น 1 เราพบกับประติมากรรมครุฑตัวใหญ่ที่เสมือนมีชีวิต ติดกับผนังของห้องสีแดงในห้องที่ชื่อว่าห้องครุฑ 

ครุฑตัวนี้เป็นการถอดพิมพ์มาจากผลงานประติมากรรมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์ ซึ่งอาจคุ้นตากันจากบนอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ข้างกันมีเสาไม้แกะสลักผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี พร้อมกับภาพตำนานครุฑ ผลงานของ พัฒน์ดนู เตมีกุล อยู่ไม่ไกล คุณเสริมคุณเลือกให้ห้องนี้เป็นห้องรับประทานอาหาร

ส่วนห้องพาร์เลอร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามจัดให้เป็นห้องรับแขกสไตล์โมเดิร์น ผ่านการเลือกใช้แชนเดอเลียร์สีขาวที่ออกแบบโดย Marcel Wanders ในปี 2005 ประกอบกับผลงานของศิลปินชั้นครูของไทยที่สำคัญ เช่น คอลเลกชันของ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2552

เดินขึ้นบันไดสู่ชั้น 2 เข้าสู่ห้องทำงานประจำตึกคิวบิกของคุณเสริมคุณ หากเขาไม่ได้อาศัยอยู่ที่ตึก The Residence เขาก็จะมาอยู่ที่นี่ 

เปิดประตูเข้ามาจะเห็นการออกแบบให้เป็นห้องอ่านหนังสือที่ถอดแบบมาจากสไตล์วิกตอเรียน เรียบหรู เพดานและพื้นกระเบื้องทำเป็นตารางสะท้อนกันอย่างพอดี ตรงกลางห้องเป็นโต๊ะทำงานที่โอบล้อมด้วยวัตถุจัดแสดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นของศิลปินไทย

เรามองไปเห็นงานประติมากรรมและจิตรกรรมหลาย ๆ ชิ้น ทั้งของ สมโภชน์ อุปอินทร์ ศิลปิน Cubism คนสำคัญของไทยและเอเชีย และผลงานของ มณเฑียร บุญมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาวางเรียงอยู่ติดกับผนังห้อง

ก่อนที่จะเดินเข้าทางลับที่อยู่ในห้อง ทะลุไปยังอีกห้องที่อยู่ข้างกัน ก็ได้พบกับ ‘คชาเลานจ์’ ห้องสังสรรค์ของบ้าน

ทำไมถึงชอบประตูลับ – เราถาม

“เป็นความประทับใจจากตอนไปพระราชวังแวร์ซาย ห้องพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีประตูลับเยอะ”  ภายในห้องคชาเลานจ์ วางกระจกเป็นเพดานสะท้อน ห้องจึงมีความโอ่โถง ยิ่งประกอบกับประติมากรรมสเตนเลสขนาดใหญ่ของ ถนอมจิตร์ ชุ่มวงศ์ ด้วยแล้ว ยิ่งส่งเสริมให้อาณาจักรนี้ยิ่งใหญ่ขึ้น 

ความยิ่งใหญ่ต่อมาแสดงความอลังการผ่านช้างไม้ตัวโตวางเด่นเป็นประธานอยู่กลางห้อง

จากนั้นเราออกไปสู่ห้องสตูดิโอ ห้องทำงานศิลปะของคุณเสริมคุณ ซึ่งแสดงให้เห็นอีกด้านของเจ้าของบ้านว่า นอกเหนือไปจากสะสมงานศิลปะแล้ว ในตัวเขายังมีความเป็นศิลปินอยู่มาก

ทั้งภาพพิมพ์แกะไม้ ภาพถ่ายร่วมสมัยตามสไตล์ พร้อมกับแบบสเกตช์บ้านพิพิธภัณฑ์ที่เขาใช้ความคิด ล้วนแต่อยู่ในห้องนี้

ตึกนี้จะไปสิ้นสุดที่ชั้น 5 เรียกว่าแกลเลอรี จัดแสดงงานร่วมสมัยของศิลปินไทยหลายท่าน เราขึ้นมาเจองานคุ้นตาของ ไมเคิล เชาวนาศัย อย่างภาพหลวงเจ๊ เดินไปอีกก็จะเจอกับงาน Crybaby ของ มอลลี่ (มด-นิสา ศรีคำดี) หรืองานของ ก้องกาน-กันตภณ เมธีกุล ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และชั้นนี้ยังมีห้องของ Bangkok Art Conservation Center บริษัทในเครือของคุณเสริมคุณ ทำหน้าที่คอยอนุรักษ์งานศิลปกรรมและของสะสมภายในบ้านอยู่ด้วย

ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่เราจะมานั่งคุยกันในห้องบทสนทนา พร้อมกับบทสนทนาที่สลับเปลี่ยนเล่ากันไปในแต่ละเรื่อง 

ศิลปะสำคัญกับชีวิตอย่างไร

ศิลปะสำคัญกับชีวิตอย่างไร – เราเอ่ยคำถามท้าย ๆ กับนักสะสมผู้ครอบครองงานศิลปะนับพันชิ้น “ศิลปะเป็นสุนทรียภาพ ซึ่งคำนี้มีความลึกซึ้งและเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ถ้าคุณเป็นเกษตรกร คุณนั่งอยู่ในเพิงเล็ก ๆ ริมเถียงนาแล้วมีลมยามเย็นพัดมา นั่นคือสุนทรียภาพ ทุกคนมีสุนทรียภาพ และสุนทรียภาพไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นคนรวยหรือคนจน

“เกษตรกรไม่ได้มีภาพเขียน ดังนั้นท้องนาอันกว้างใหญ่ก็คือภาพเขียนโดยที่เขาไม่รู้ตัว จริง ๆ มันยิ่งกว่าภาพเขียนอีก เพราะมันคือบรรยากาศ ถ้ามนุษย์ไม่มีสุนทรียภาพ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้”

หากท้องนาคือสุนทรียภาพของเกษตรกร คุณเสริมคุณก็มองว่าบรรยากาศทั้งหมดในบ้านพิพิธภัณฑ์หลังนี้เป็นอีกมิติหนึ่งของสุนทรียภาพสำหรับเขา 

“รู้สึกดี รู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เราได้อยู่ในสิ่งที่เรารัก” คุณเสริมคุณเอ่ยขึ้นกลางวงสนทนา

ก่อนที่บทสนทนาจะจบลง เราลุกขึ้นร่ำลา หากแต่เก้าอี้ยังคงนั่งสนทนากัน พร้อมกับสิ่งของในบ้านที่ยังคงมีชีวิตผ่านการเปิดเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์ รอต้อนรับผู้มาเยือนหน้าใหม่ให้เข้ามาฟังเรื่องราวของบ้านพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ 
  • 33 ในซอยลาดพร้าว 54 เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • เปิดให้เข้าชมวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.00 น.
  • บัตรเข้าชมราคา 450 บาท
    จองรอบเข้าชมล่วงหน้าผ่านทาง zipeventapp.com (ไม่มีการจำหน่ายบัตรหน้าพิพิธภัณฑ์)
  • 06 1626 4241

Writer

นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา

นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา

เกิดและโตที่ประจวบฯ ชอบเดินตลาด ชอบสัมภาษณ์ผู้คน ชอบค้นเอกสารเก่า ชอบเข้าวัดวา ตามหาพระและแมวที่จริงใจ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์