26 กรกฎาคม 2023
52 K

เชื่อว่าในแวดวงคนเล่นอาร์ตทอยตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘Crybaby’ และยังเชื่อด้วยว่าคนที่ไม่เล่นอาร์ตทอยหลายคนก็น่าจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง 

Crybaby เป็นอาร์ตทอยฝีมือคนไทย อย่าง มอลลี่ หรือ มด-นิสา ศรีคำดี ที่ดังระดับภูมิภาคเอเชีย จะคนไทย คนจีน คนไต้หวัน คนฮ่องกง คนสิงคโปร์ ไม่ว่ามอลลี่ออกสินค้าใด ๆ มาผู้คนก็แย่งกันซื้อทุกครั้ง ทั้งนี้เธอยังเป็นศิลปินไทยคนเดียวที่ได้เซ็นสัญญาและออกผลงานกับ POP MART จึงทำให้อาร์ตทอยของเธออยู่ในสายตานักสะสมทั่วโลกด้วย

Crybaby เกิดขึ้นจากความสนใจในน้ำตาของศิลปิน เธอมองว่าการร้องไห้เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ แต่คนเรามักพยายามกดทับมันไว้ด้วยความสุข เพราะอยากให้คนเห็นว่าเรา ‘โอเค’

Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยผู้หลงใหลในน้ำตา และเป็นคนแรกที่พางานไทยไปวางขายบน POP MART

คราวนี้เรามาคุยกับเธอในวาระนิทรรศการครั้งใหม่ Everybody/Cries/Sometimes ซึ่งจัดที่ River City Bangkok โดยมีแฟน ๆ มหาศาลยืนต่อแถวเข้าชมตั้งแต่ยังไม่เปิดให้เข้า

“นิทรรศการคราวก่อนคือการพูดกับตัวเอง แต่คราวนี้ไม่ใช่แค่เราแล้ว เราจะสื่อว่าใคร ๆ ก็ร้องไห้ได้” เธอเล่าถึงความพิเศษของงานคราวนี้ “เราอยากพูดกับทุกคนว่า มันโอเคที่คุณจะมีมุมอ่อนไหว ในวันที่คุณรู้สึกว่าเข้มแข็งไม่ไหว ก็ควรมีช่วงเวลาหนึ่งที่ได้หยุดและศึกษาความรู้สึกตัวเอง”

เรารู้ ทุกคนรู้ งานของมอลลี่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก บางคอลเลกชันก็รีเซลกันหลักแสนบาท แต่วันนี้เราไม่ได้คุยกับเธอเรื่องนั้น มอลลี่จะมาเล่าถึงแพสชันในการสร้างสรรค์ Crybaby ทัศนคติของเธอที่มีต่อการร้องไห้ แนวคิดที่อยากส่งต่อผ่านผลงานแต่ละชิ้นในนิทรรศการ และกล่าวถึงสิ่งที่เธออยากทิ้งไว้ให้โลกมนุษย์เมื่อจากไป

ถ้าได้อ่านบทความก่อนไปชมของจริง อาจแตะถึงใจศิลปินมากขึ้นก็เป็นได้

Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยผู้หลงใหลในน้ำตา และเป็นคนแรกที่พางานไทยไปวางขายบน POP MART

ไดอารีแสนอ่อนไหวในสายตาคนทั้งโลก

“เราค่อนข้างหลงใหลน้ำตาที่อยู่บนใบหน้าตั้งแต่เด็ก” มอลลี่ว่า

เด็กแบบไหนกันนะที่หลงใหลเรื่องแบบนี้ – เราคิด

“เวลาพ่อแม่สั่งว่า ‘อย่าร้องไห้!’ หรือ ‘หยุดร้อง! ถ้าไม่หยุดจะตีซ้ำ’ เราก็จะรู้สึกว่า อะไรอะ ทำไมเราถึงร้องไห้ไม่ได้ ทำไมการร้องไห้ถึงเป็นสิ่งต้องห้าม ห้ามทำในที่สาธารณะ ทำไมการร้องไห้ถึงเป็นสัญลักษณ์ของคนอ่อนแอไปได้”

มอลลี่เคยเป็นเด็กที่ชอบศิลปะ รักงานประดิษฐ์ และแอบฝันเล็ก ๆ ว่าวันหนึ่งจะได้เป็นนักออกแบบของเล่น แต่เธอไม่รู้ตัวหรอกว่าวันหนึ่งจะได้เป็นดังหวังเข้าจริง ๆ (และทำได้ดีด้วย)

เธอชอบวาดรูปคาแรกเตอร์ร้องไห้มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาออกแบบนิเทศศิลป์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา “วาดเป็นกึ่ง ๆ ไดอารี เล่าเรื่องราวสะเทือนอารมณ์หรือมุมอ่อนไหวของเราในแต่ละวัน” มอลลี่ว่าอย่างนั้น เธอไม่เคยฝืนวาด ไม่เคยตั้งใจออกแบบไปเพื่ออะไรเป็นพิเศษ แต่นั่นคือตัวตนของเธอ – เด็กสาวผู้ละเอียดลออกับอารมณ์ความรู้สึก

Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยผู้หลงใหลในน้ำตา และเป็นคนแรกที่พางานไทยไปวางขายบน POP MART
Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยผู้หลงใหลในน้ำตา และเป็นคนแรกที่พางานไทยไปวางขายบน POP MART

อาชีพที่เธอทำเมื่อเรียนจบคือนักออกแบบอีเวนต์ ปาร์ตี้ งานแต่งงาน ควบด้วยกราฟิกดีไซเนอร์ ซึ่งเธอก็ประสบกับความลำบากสาหัสสากรรจ์เมื่อรัชกาลที่ 9 สวรรคต แล้วทุกงานรื่นเริงถูกยกเลิก

ไม่มีงาน-ไม่มีเงิน-ดูเหมือนไม่มีอะไรดี 

แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่มีก็คือ ‘เวลา’ เธอได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น

“เช้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า ทำไมเราไม่ทำคาแรกเตอร์ร้องไห้ขึ้นมาเป็นอาร์ตทอย ในเมื่อเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว” ศิลปินดังเล่าถึงเช้าวันที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

มอลลี่ไม่ได้หยิบกระดาษขึ้นมาสเกตช์ภาพร้องไห้เหมือนตอนเป็นนักศึกษา คราวนี้เธอหยิบดินขึ้นมาปั้น ๆๆ ปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกพาไป สักพักหนึ่งก็เริ่มรู้สึกได้ถึงแพสชันที่ก่อตัวขึ้นมาจนหยุดมือไม่ได้ ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงตี 2 ของทุกวัน

2 เดือนผ่านไปก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เราเห็น และตอนนี้ Crybaby ก็จัดว่าดังมาก ชนิดที่ว่าถ้าเด็กหญิงมดผู้หลงใหลในน้ำตาคนนั้นรู้เข้าก็คงตกใจ

“มันเหมือนดีดนิ้วเลยค่ะ เหมือนเราตื่นขึ้นมาก็ บู้ม! ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง”

ซึ่งนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 นี้เป็นนิทรรศการครั้งสำคัญที่จะทำให้คนรู้จักมอลลี่มากขึ้น เข้าใจว่า Crybaby อยากสื่อสารอะไร และรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของตัวเอง

Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยผู้หลงใหลในน้ำตา และเป็นคนแรกที่พางานไทยไปวางขายบน POP MART
Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยผู้หลงใหลในน้ำตา และเป็นคนแรกที่พางานไทยไปวางขายบน POP MART

4 ชิ้นสำคัญในนิทรรศการที่มอลลี่อยากให้คุณยืนดู

ข้อควรรู้ : แต่ละชิ้นมีชื่อขึ้นต้นด้วย The… แสดงถึงอัตลักษณ์บางอย่างของคนร้องไห้ (ซึ่งคนนั้นอาจเป็นคุณก็ได้)

01 The Insomniac 

นี่เป็นผลงานเดียวที่จัดแสดงอยู่ที่ชั้น 1 และเป็นผลงานใหญ่ที่สุดในนิทรรศการ น้อง Crybaby ตัวเบ้อเริ่มตัวนี้กำลังนอนร้องไห้อยู่บนเตียงขนาดใหญ่

Crybaby สื่อถึงการร้องไห้หลายแบบ สำหรับ The Insomniac มอลลี่วางคอนเซปต์เป็นการนอนไม่หลับ เพราะต้องเก็บกลั้นความรู้สึกเอาไว้ตลอดวันอันยาวนาน เมื่อถึงเวลากลางคืนที่ได้อยู่กับตัวเองก็ยังวนเวียนคิดอยู่อย่างนั้น จนนอนร้องไห้ถึงเช้า

“น้องเป็นตัวนุ่ม ๆ ขนนิ่ม ๆ น่ากอด อยู่ในโซนพิเศษที่คนเข้าไปนอนร้องไห้บนเตียงด้วยได้” มอลลี่เล่าเชิงเชิญชวน 

หลังจากคุยกันเสร็จ เราก็ได้เดินเข้าไปนอนร้องไห้กับน้อง Crybaby ด้วย พูดตรง ๆ ว่าตอนแรกรู้สึกขี้เกียจนิด ๆ ที่จะต้องใส่ชุดคลุมสีขาวทับก่อนเข้า แต่ก็ขอบคุณตัวเองที่สลัดความขี้เกียจนั้นทิ้ง ปรากฏว่านี่เป็นประสบการณ์ที่พิเศษอย่างน่าเหลือเชื่อ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เท้าสัมผัสพื้นนิ่ม ๆ ยวบ ๆ ซึ่งใช้แทนเตียง ตอนนั่งพิงหลังเด็กยักษ์ และตอนหยิบยกหยดน้ำตาเดินไปเดินมารอบ ๆ

ถ้าเรารู้สึกสบาย ๆ กับการร้องไห้ในชีวิตจริงได้เหมือนกับบรรยากาศของ The Insomniac ก็คงดี

02 The Broken One

Crybaby ชิ้นนี้เป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้แตกสลายไม่มีชิ้นดี

“ในวันที่เราดิ่งสู่จุดที่เสียใจที่สุด ตัวตนของเรามันแหลกสลายอยู่ภายใน ที่ใช้คำว่าแหลกสลายเพราะว่าต้องพยายามประกอบตัวเราขึ้นมาใหม่ เราว่าหลายคนผ่านห้วงอารมณ์แบบนี้มาเหมือนกันนะ” มอลลี่อธิบายเนิบช้า

The Broken One กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่จัดนิทรรศการชั้น 2 หัวอยู่ที่หนึ่ง แขนอยู่ที่หนึ่ง ขาอยู่ที่หนึ่ง ซึ่งแต่ละส่วนก็… ไม่มีชิ้นดีจริง ๆ จะประกอบกลับมาดังเดิมได้คงไม่ง่ายนัก แต่เราเชื่อว่ามันก็คงไม่ยากเกินไป

“อารมณ์ความรู้สึกมันซับซ้อน เราพยายามสื่อสารออกมาอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา แต่ก็ทำให้ดูง่าย อินง่ายด้วย คนจะรู้เลยว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่”

03 The Good One

อาจจะดูแปลกตาหน่อย เพราะประติมากรรมสัมฤทธิ์ชิ้นใหญ่นี้เป็น Crybaby ที่กำลังสูบบุหรี่ ก็เด็กที่ไหนเขาสูบบุหรี่กันล่ะ

“The Good One พูดแทนคนที่ถูกตัดสิน การสูบบุหรี่อาจดูเป็นสัญลักษณ์ของคนไม่ดี แต่ถ้าให้พูดจริง ๆ คือคนไม่ดีก็มีหัวใจ” ศิลปินสาวหัวเราะเบา ๆ “ที่เราเห็นมันเป็นสิ่งฉาบหน้า เราไม่มีวันรู้ว่าเขาผ่านอะไรมา อย่าไปตัดสินเขาแค่ตรงนั้น”

มอลลี่บอกว่า Crybaby ไม่ใช่แค่เด็ก หากเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรมด้วยซ้ำ

Crybaby ไม่มีเพศ อาจเป็นเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย เป็นหมา เป็นแมวก็ได้ เป็นได้ทุกคนและทุกอย่าง เห็นได้ว่าไม่มีแม้กระทั่งการใช้คำสรรพนามแทนเหมือนมนุษย์ปกติด้วย

“ที่เราใช้คำว่า Crybaby หรือรูปลักษณ์ที่ดูเป็นเด็ก อาจเป็นเพราะคนเราตอนเด็กร้องไห้ได้จริงใจที่สุด ซื่อสัตย์ที่สุดแล้ว เลยใช้ตรงนั้นเป็นโครงสร้างภายนอก”

04 The Angry

และนี่คือ Crybaby แห่งความโกรธ!

เซต The Angry นี้มีอยู่ 3 ตัว ได้แก่ The Angry Brown เป็นสีผิวออริจินอลของน้อง The Angry Blond น้องผมเหลือง และ The Angry Bunny น้องกระต่าย

ทั้ง 3 ตัวยืนจังก้าราวโกรธขึ้ง แต่จริง ๆ แล้วมีประโยคขยายความว่า I’m not angry, I’m in pain. อยู่ด้วย

“บางคนอาจแสดงออกเหมือนว่าโกรธมาก โมโหมาก บ้าคลั่ง แต่ลึก ๆ แล้วเขาเจ็บปวด เขาไม่รู้จะแสดงออกมายังไง ไม่รู้วิธีขอความช่วยเหลือ ก็เลยกลบด้วยความโกรธ”

Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยผู้หลงใหลในน้ำตา และเป็นคนแรกที่พางานไทยไปวางขายบน POP MART

ความหมายของหยดน้ำตา

“ตอนเป็นเด็ก เราร้องไห้เวลาที่เราเสียใจหรือโดนแม่ตี มันก็มีอารมณ์พื้นฐานแค่นั้นเอง แต่พอยิ่งโตขึ้น อารมณ์เราก็ซับซ้อนมากขึ้น เราได้เรียนรู้ว่าการร้องไห้ไม่ได้เป็นเรื่องความเสียใจอย่างเดียว แต่มีอารมณ์ที่ท่วมท้นหลากหลายมากกว่านั้น กระทั่งการร้องไห้ด้วยความปีติยินดี”

อย่างที่เห็นใน 4 งานที่เธอยกตัวอย่างให้ดู เธอนำประสบการณ์สะเทือนอารมณ์ของตัวเองและผู้คนที่พบเจอมาเป็นหัวข้อของงาน และตีความออกมาเป็น Visual ในแบบของตัวเอง

ด้วยงานที่ทำ เราคิดว่ามอลลี่เป็นหนึ่งในคนที่มีโอกาสสำรวจความหมายของการร้องไห้มากกว่าคนอื่น ๆ มาก ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีการทำความรู้จักกับความเป็นมนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและทำได้ไม่มีวันสิ้นสุด ต่อให้คุณจะใช้ชีวิตมานานเท่าไหร่ ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจทุกหยดน้ำตาหรอกจริงไหม

“นิทรรศการครั้งที่แล้ว เรามีกิจกรรมให้ผู้เข้าชมเขียนเรื่องราวที่เคยร้องไห้” มอลลี่ย้อนให้ฟัง “เขาเขียนเล่าให้เราฟังเยอะมาก เราก็อินไปด้วย เหมือนเราร้องไห้ไปด้วยกันในวันที่เราอ่อนแอ”

Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ POP MART กับผลงานที่ตั้งใจไม่ปล่อยให้ใครต้องร้องไห้อย่างโดดเดี่ยว
Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ POP MART กับผลงานที่ตั้งใจไม่ปล่อยให้ใครต้องร้องไห้อย่างโดดเดี่ยว

จากสมัยก่อนที่การร้องไห้เป็นเรื่องต้องห้าม และโรคซึมเศร้าก็เป็นสิ่งที่ต้องแอบซ่อนไม่ให้ใครรู้ ปัจจุบันก็ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว มอลลี่มองว่าทุกวันนี้โลกหมุนไปไกล เพราะความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม

คุณรู้สึกยังไงบ้างที่ Crybaby เป็นที่รู้จักขนาดนี้ – เราถาม

“รู้สึกยังไงเหรอคะ…” เจ้าของคาแรกเตอร์หยุดคิด ก่อนหัวเราะออกมาพร้อมคำตอบ “ดีใจค่ะ! ดีใจที่ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของใครหลาย ๆ คนเกี่ยวกับการร้องไห้ให้ดีขึ้นได้บ้าง”

มอลลี่ยังบอกอีกว่าเธอดีใจที่ตอนนี้วงการอาร์ตทอยคึกคัก ให้ความรู้สึกว่าศิลปะเข้าถึงง่ายมากขึ้นในทุกวัน เธอดีใจที่มีคนชื่นชอบผลงาน และดีใจที่มีคนเห็นเธอเป็นแรงบันดาลใจ ใฝ่ฝันจะออกแบบอาร์ตทอยเหมือนเธอ

“อยากให้ Crybaby ไปไกลที่สุดและกลายเป็นมรดกอะไรบางอย่าง ในวันที่เราไม่อยู่แล้วก็ยังอยากให้มีคนเห็นมันเป็นสัญลักษณ์ของการร้องไห้ที่น่ารักน่าเอ็นดูอยู่” เธอทิ้งท้ายยิ้ม ๆ

“อยากให้เป็นสากล ครอบคลุมทั่วโลก ที่ใดมีมนุษย์ ก็ขอให้มี Crybaby อยู่ที่นั่น คอยตบไหล่ทุกคนเบา ๆ ว่าการเสียน้ำตาเป็นเรื่องโอเคนะ”

Crybaby Molly ศิลปินอาร์ตทอยไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ POP MART กับผลงานที่ตั้งใจไม่ปล่อยให้ใครต้องร้องไห้อย่างโดดเดี่ยว

นิทรรศการ Everybody/Cries/Sometimes

เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ RCB Galleria 1 – 3 ชั้น 2 (ไม่มีค่าเข้าชม) และ RCB Artery ชั้น 1 (ค่าเข้าชม 450 บาท) River City Bangkok

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ rivercitybangkok.com

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์