23 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

ย่านหัวลำโพงในภาพจำของคุณคืออะไร

ย่านหัวลำโพงในภาพจำของเรา คือรถไฟและชุมชนแออัด

ทว่าหลังจากเราได้พูดคุยกับพวกเขาเหล่านี้ ทำให้เรามองย่านหัวลำโพงในอีกมิติหนึ่งที่ต่างไป

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ จับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์, มิว-ญาณิน ธัญกิจจานุกิจ และ รวงข้าว-อภิสรา เฮียงสา

พวกเขาคือ ‘เยาวชนริทัศน์บางกอก’ และเป็นผู้สานสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนย่านหัวลำโพงกับคนภายนอกที่เข้ามาเยี่ยมเยือน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายใต้ชื่อ ริทัศน์บางกอก’

ริทัศน์บางกอก เป็นหนึ่งในโครงการริทัศน์ (RTUS-ReThink Urban Spaces) ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เป็นการร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อพลเมืองไทย และมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจนถึงผู้คนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมือง สร้างสรรค์พื้นที่เมืองในประเทศไทยด้วยมุมมองใหม่ พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ประกอบไปด้วยพื้นที่ทำงาน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี และหาดใหญ่

เมื่อ 3 ปีก่อน ริทัศน์บางกอกเริ่มทำกิจกรรมพัฒนาเมืองโดยปักหมุดที่ย่านหัวลำโพงเป็นหลัก เพราะพวกเขาเชื่อว่าหัวลำโพงมีเรื่องราวน่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย เกินกว่าจะเป็นแค่สถานีรถไฟ สถานที่แห่งนี้มีทั้งประวัติศาสตร์ ผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมแทรกซึมอยู่ทุกตรอกซอกซอย

ปีนี้ริทัศน์บางกอกร่วมงานกับ Bangkok Design Week 2024 ในฐานะผู้จัดงาน และเป็นจุดเชื่อมสำคัญของย่านหัวลำโพง ทั้งยังได้รับคำชมจากผู้คนอย่างล้นหลาม 

Little Big People คราวนี้ เราจะพาคุณไปดูกันว่าเขาครองใจผู้คนทั้งในและนอกชุมชนได้อย่างไร และพาไปดูเยาวชนลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองในประเด็นต่าง ๆ เช่น พื้นที่สาธารณะ การพัฒนาชุมชน หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคน ฯลฯ ทั้งยังสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้กับผู้คนในการพัฒนาเมืองอย่างเท่าเทียม เพื่อสิทธิและเสรีภาพการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย

เยาวชนย่านหัวลำโพง

พวกเขาเล่าว่าตอนแรกเริ่มของริทัศน์บางกอกแบ่งเยาวชนออกเป็น 4 กลุ่ม ทำ 4 โปรเจกต์ โดยในแต่ละโปรเจกต์มีระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมด 1 ปี หลังจากเสร็จสิ้นแล้ว บ้างก็แยกย้ายกันไปเรียน ไปทำงาน บ้างก็ยังคงร่วมพัฒนาเมืองต่อในนามเยาวชนริทัศน์บางกอก

มิว จับอิก รวงข้าว เป็นส่วนหนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมพัฒนาเมืองจวบจนปัจจุบัน

ทำไมถึงสนใจย่านหัวลำโพงคะ – เราถามด้วยความสงสัย

“ตั้งแต่เขาเริ่มย้ายสถานีรถไฟไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ทำให้สถานีหัวลำโพงมีรถไฟวิ่งน้อยลง ผู้คนที่เคยเดินเข้ามาในซอยเพื่อกินข้าวก่อนขึ้นรถไฟหรือหลังลงจากรถไฟก็ลดลง ชุมชนเริ่มเงียบลง พอรถไฟหายไป รายได้ของคนในชุมชนก็หายไปด้วย” รวงข้าวตอบ

“พวกเราเริ่มคิดว่าจะทำยังไงได้บ้างให้ชุมชนยังมีชีวิต มีสีสัน และมีเรื่องราวของตนเอง เพื่อที่วันหนึ่งเขาจะไม่ถูกลืม”

พ.ศ. 2564 ข่าวการรื้อ ยุบ ทุบ ถอนหัวลำโพงเล่าลือกันอื้ออึง ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น เรื่องราวของพื้นที่ตรงนี้คงหายดับสิ้น ปากท้องของคนในชุมชนคงลำบากยากขึ้นเป็นเท่าตัว

พวกเขาเชื่อว่าคนในชุมชนตั้งแต่เด็กเล็กยันคนเฒ่าคนแก่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนเมืองที่มีส่วนช่วยให้เมืองน่าอยู่ มั่นคง และยั่งยืนได้

“เราทำงานกับชุมชนตรอกสลักหิน มองว่าทุกคนทุกเจเนอเรชันมีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ น้องมาเข้ากิจกรรมที่เราทำ มาร่วมออกแบบชุมชนไปด้วยกัน เป็นเยาวชนที่เหมือนตัวกลางมาขับเคลื่อนไปพร้อมกับเรา ต้องขอบคุณจากใจจริง ถ้าขาดคนในชุมชน ขาดเยาวชนไป โปรเจกต์ที่อยากทำเรื่องเมืองก็คงไม่เกิดขึ้นเหมือนกัน” รวงข้าวเสริม

ชุบชีวิตหัวลำโพง

มิว รวงข้าว เล่าถึงโปรเจกต์ที่ทำร่วมกันมีชื่อว่า ‘Inclusafe’ เป็นโปรเจกต์พัฒนาเรื่องความปลอดภัยในมิติของเด็ก ชุมชนตรอกสลักหิน ย่านหัวลำโพง

“เราเคยให้เด็ก ๆ คิดฮีโร่ของเขาขึ้นมา ฮีโร่ที่จะมาปกป้องชุมชน เขาบอกว่าอยากได้ฮีโร่ที่แปลงร่างเป็นหลอดไฟได้ แสดงว่าเขาต้องการแสงสว่างในชุมชน เขามองว่าความมืดคือความไม่ปลอดภัย

 “บางคนอยากได้ฮีโร่ที่แปลงร่างเป็นเก้าอี้ได้ แสดงว่าเขารู้สึกว่าในชุมชนมีที่นั่งเล่นน้อย ไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะในชุมชน

“จากกิจกรรมนี้ทำให้เรารู้จักทั้งตัวเด็ก พ่อแม่เด็ก และคณะกรรมการชุมชน กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนได้” รวงข้าวเล่า

ต่อมาจับอิกได้ทำกิจกรรมเดินเมืองสำรวจเส้นทางอาหารในย่านหัวลำโพง 2 วัน 1 คืน โปรเจกต์นี้คือ ‘หัวลําโพง ไม่หิวลําพัง : Taste of Hualamphong’ ซึ่งปัจจุบันจัดเป็น Half-day Tour มา 5 ครั้งแล้ว และจะจัดต่อไปเรื่อย ๆ ในช่วง Bangkok Design Week หากใครสนใจรอติดตามได้เลย

“พวกเราเริ่มมองหาโอกาสพาคนเข้ามาในชุมชน พาคนมานอนที่ ‘Tamni Hostel’ ตอนแรกที่ทำพาไปเดินตลาดมหานาคเลย ไปดูว่าเขาซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารตรงนั้นนะ แล้วมาทำยังไงบ้างถึงออกมาเป็นอาหารหนึ่งจาน เป็นเหมือนการเรียนรู้ย่านหัวลำโพงผ่านมิติของอาหาร” จับอิกบอก

ภาพ : จิรัฏฐ์ วรรัตนวงศ์

มิวเล่าต่อว่าชุมชนตรอกสลักหินถูกทางด่วนตัดผ่าน คนในชุมชนจึงขาดการเชื่อมต่อสื่อสาร เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนกลางในการนั่งพูดคุยพบปะกัน เกิดเป็นโปรเจกต์ ‘Trok Salak Hin Common Ground’

“เป็นโปรเจกต์ส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะ เปลี่ยนจากพื้นที่ร้างเป็นพื้นที่สร้าง ซึ่งพื้นที่ใต้ทางด่วนไม่ได้เป็นพื้นที่ร้างแต่เป็นพื้นที่รก เลยเกิดกระบวนการหารือกับคณะกรรมการชุมชนว่าจะทำยังไงได้บ้าง ทำให้มีการจัดโซนที่ชัดเจนขึ้นและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้

“เราชวนเด็ก ๆ และชาวชุมชนตรอกสลักหินมาฟื้นฟูพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ผ่านการทาสีและวาดภาพลวดลายของดีในย่านหัวลำโพง จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในชุมชน อย่างปฏิทินน่ำเอี๊ยง โคมจีนเต็งลั้ง กระดาษไหว้เจ้า หน้ากากงิ้ว การทำเทียนกระดุมจีน และอื่น ๆ อีกมากมายเลย” จับอิกเล่า

“บางลายที่เกิดขึ้นเราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีของดีอย่างนี้อยู่ในชุมชนด้วย มันว้าวมาก แล้วก็รู้สึกว่าพื้นที่แห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนุกมากมายซ่อนอยู่ เขามีเรื่องเล่าในตัวเขาเอง” มิวเสริม

ระหว่างเราเดินเข้าไปในชุมชนตรอกสลักหิน ชาวบ้านต่างก็ส่งยิ้มจริงใจ พร้อมเอ่ยปากถามไถ่ ต้องการไปที่ไหนเขาพร้อมช่วยเหลือ หากที่นี่คือชุมชนแออัด ก็คงแออัดไปด้วยความอบอุ่นจากผู้คนจริง ๆ

Bottom-up, not Top-down

พวกเราเยาวชนริทัศน์บางกอก เชื่อว่าเมืองที่ดีต้องพัฒนาจาก Bottom-up, not Top-down

แคปชันในเฟซบุ๊ก RTUS-Bangkok ริทัศน์บางกอก ทำเราสนใจขึ้นมาในทันทีที่ได้อ่าน ซึ่งรวงข้าวก็บอกกับเราเมื่อได้เจอกันว่า “เราเองก็คือหนึ่งในชาว Bottom เช่นเดียวกัน”

เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้คืออะไรคะ – เราถาม

“เป้าหมายเราก็ฟังมาจากคนในชุมชนอีกที แม้อดีตอาจเคยเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงและอันตราย อย่างปัญหายาเสพติด บ่อนการพนัน การค้าแรงงานเด็ก ถึงอย่างนั้นเขาก็อยากสื่อสารเรื่องราวของตรอกสลักหินในภาพจำและภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น

“เราเคยฟังจากปากคนที่เกิดและโตอยู่ที่หัวลำโพง เขาอยากนำเสนอว่า ฉันนี่แหละคนในตรอกสลักหิน ฉันเติบโตมาอย่างดีและอบอุ่น สิ่งที่เขาต้องการสื่อสารรวมถึงต้นทุนวัฒนธรรมในชุมชนที่อาจจะเลือนหายไปพร้อมกับทางด่วน เขาก็อยากจะนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะว่านั่นคือเรื่องราวที่เป็นจุดแข็งของชุมชนตรอกสลักหิน” จับอิกตอบ

“เรามองว่าการพัฒนาที่มาจากคนในพื้นที่นั้นยั่งยืนกว่า และชุมชนตรอกสลักหินเขามีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ตัวเองอยู่ต่อไปได้” มิวเสริม

เป้าหมายได้กลายมาเป็นโจทย์ของ Bangkok Design Week 2024 อย่างโปรเจกต์ Made in Hualamphong พวกเขาต้องการส่งเสียงให้คนนอกได้ยินชัดขึ้นว่าหัวลำโพงเป็นมากกว่าสถานีรถไฟ 

เราลองไปเดินเล่นก็เห็นหลากหลายธุรกิจเก่าแก่ที่เข้าร่วมโปรเจกต์

‘เบ๊โอชา’ ร้านน้ำที่อยู่มากว่า 50 ปี ร่วมกับนักออกแบบ หยิบเอาเรื่องราวอาหารและเครื่องดื่มมาสื่อสารบนพื้นที่หน้าร้าน

‘บ้านอิตาลี’ กิจการร้านเหล็กดัดที่ดำเนินธุรกิจมาถึงรุ่นที่ 3 ร่วมงานกับนักออกแบบ หยิบยกจุดเด่นของกิจการมาสื่อสารในรูปแบบใหม่ เพื่อให้คนหันมามองร้านค้าท้องถิ่นมากขึ้น

‘โรงงานกระดาษชัยกิจ’ โรงผลิตกระดาษสีน้ำเงินที่ใช้ห่อสำลี จัดนิทรรศการภาพถ่ายและสร้างสรรค์เมนูพิเศษ

รวมไปถึงกิจการอื่น ๆ อย่าง ‘ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง’ ขนมโบราณสูตรแต้จิ๋ว, ‘ร้านศิลป์เมือง’ ร้านผลิตร่มแม่ค้ากว่า 60 ปี หรือ ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ ปฏิทินจีนสีแดงที่คุ้นหน้าคร่าตา ก็มากับเขาด้วยเหมือนกัน

หากใครเป็นสายเสพงานศิลปะ ลานใต้ทางด่วนชุมชนตรอกสลักหินก็มีนิทรรศการ ‘Engraving Hua Lampong’ แสดงงานที่ศิลปินตีความมาจากการพูดคุยกับคนในท้องที่

“เราไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ไม่มีอำนาจที่จะช่วยพวกเขาอย่างเต็มรูปแบบ เราคือผู้ประสานงาน ไม่ใช่แกนกลาง เรามองว่าคนในชุมชนต่างหากที่เป็นแกนกลางของเรา หน้าที่ของเราคือทำให้เกิดขึ้นจริงตามความต้องการของคนในชุมชน” รวงข้าวพูด

“ซึ่งสุดท้ายแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายมีผลที่ทำให้เกิดความรวดเร็วในการพัฒนา จึงต้องทำควบคู่กันไป แต่จะทำยังไงให้การพัฒนานั้นยั่งยืน นั่นก็คือการพัฒนาที่รับฟังเสียงจากคนในชุมชน” จับอิกเสริม

สัปดาห์ของ Bangkok Design Week 2024 เป็นการเดินย่านหัวลำโพงครั้งแรกของเรา ทันทีที่ก้าวเข้าซอยถึงกับตาลุกวาว เพราะบรรยากาศครึกครื้นกว่าที่คิดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่ทั่วทั้งซอย

ระหว่างยืนพักเหนื่อย เราสงสัยจึงดูว่าคนเขามาทำอะไรกัน พบว่าทุกคนเข้ามาอย่างมีเป้าหมาย บ้างมากินส้มตำ มาวาดภาพที่คาเฟ่ใต้บ้าน ควงแขนแฟนมาถ่ายรูปตู้สติกเกอร์ลายปฏิทินน่ำเอี๊ยง หรือไม่ก็เข้ามาเดินเล่นกินลมชมวิว เรารู้สึกได้ทันที นี่สินะ ชีวิตชีวาของย่านหัวลำโพง

หัวลำโพงยังคงอยู่เสมอมาและหวังว่าจะตลอดไป

คิดเห็นยังไงกับกระแสสังคมที่กำลังพูดถึงเรื่องการทำให้ย่านกลายเป็นย่านเก๋ – เราถาม ตอนนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการเปลี่ยนแปลงชนชั้นของย่านให้กลายเป็นเมืองยุคใหม่ (Gentrification) กำลังมาแรงในโลกโซเชียล

“ถ้าการพัฒนาเกิดจากคนในชุมชนจริง ๆ คงไม่ใช่คำว่า Gentrification เพราะท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ก็เป็นของคนในชุมชน” มิวตอบ

พวกเขาถามเรากลับว่า ถ้าหากการพัฒนาเมืองเป็น Gentrification แล้วใช้เกณฑ์อะไรในการวัดผลการเปลี่ยนแปลง 

“เราไม่ได้วัดที่ผลงานว่ามีคนชมเรากี่คน อย่างจับอิกเป็นคนพาศิลปินไปคุย จับอิกก็ได้คุยกับคนในชุมชน คนในชุมชนเองก็ได้เล่าเรื่องของตัวเองที่ไม่เคยคิดว่าจะมีคนมาถาม ศิลปินเองก็ได้ใช้ความสามารถของเขาในการถ่ายทอดเรื่องราวออกมา เราวัดตรงนี้มากกว่าว่าคนในชุมชนได้เล่าเรื่องราวอะไรบ้าง

“อย่างการเกิด Bangkok Design Week เราอยากให้มองถึงกระบวนการทำงานก่อนที่จะมาถึงตรงนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการทดลอง ซึ่งทดลองทั้งศิลปิน เรา และชุมชนด้วย” รวงข้าวเสริม

คิดยังไงกับการวิพากษ์วิจารณ์งาน Bangkok Design Week ในปีนี้ ที่หลาย ๆ คนพูดกันว่าคนทำงานเมืองและเหล่าดีไซเนอร์เพียงแต่หาที่ปล่อยของ ไม่ได้ทำสิ่งที่ช่วยพัฒนาย่านหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านจริง ๆ

“เรามองว่าเทศกาลนี้เป็นเพียงแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทำให้เกิดการทดลองทำอะไรบางอย่าง ถ้ามันเวิร์กก็จะไปต่อในระยะยาวได้ ถ้าไม่เวิร์กก็จะสูญหายไป

“ในฐานะผู้จัดงาน มองว่าการที่ดีไซเนอร์หรือคนนอกที่เข้ามาทำอะไรในพื้นที่ ถ้าผ่านตัวกลางอย่างคนในชุมชน เขาจะรับรู้ได้ว่าความต้องการของคนในคืออะไร สิ่งเหล่านั้นจะไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ภาพลักษณ์ หรือวิถีชีวิต แต่คือการส่งเสริมสิ่งที่เขามีอยู่ให้ดีขึ้นไปอีก” จับอิกตอบ

“การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้คนหันมาสนใจงานเมืองมากขึ้น แต่อยากให้มองแบบมีหวังมากกว่า เพราะว่าถ้าไม่มีหวัง งานเมืองก็จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย การที่เมืองเหงามันแย่กว่า

จริง ๆ ตอนแรกคนในชุมชนไม่เชื่อว่าเขามีของดี ทุกวันนี้เขาเริ่มเชื่อแล้วมีคนเดินเข้ามาในชุมชนวันละ 20 – 30 คน ทำให้ความรู้สึกรักและอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกิดจากตรงนี้ ถ้าวันหนึ่งไม่มีพวกเรา เขาก็อยู่ด้วยเรื่องเล่าของเขาได้” รวงข้าวตอบด้วยแววตามีความหวัง

“อีกอย่าง คนรุ่นเก่าแก่ที่เล่าเรื่องราวของย่านได้ก็กำลังจะหมดไปทีละนิด ถ้าหากไม่รีบถ่ายทอดให้เด็ก ๆ เจเนอเรชันถัดไปได้รับรู้ พื้นที่ตรงนี้จะเหลืออะไร” มิวบอก

Case Study อยู่ที่สหภาพยุโรป เขามีเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า European Youth Capital ซึ่งก็คือเมืองหลวงเยาวชนยุโรป มีทั้งหมด 4 เมือง ได้แก่ เบอร์ลิน (เยอรมนี), ไคลเปดา (ลิทัวเนีย), คลูช-นาโปกา (โรมาเนีย) และเทสซาโลนีกี (กรีซ)

“เขาใช้เครื่องมือนี้เป็นกุศลโลบายให้แต่ละเมืองแข่งขันกัน สมมติว่าจับอิกอยู่เมืองไคลเปดา เมืองฉันมีปัญหามากเลยกับการที่วัยรุ่นย้ายออกไปเรียนเมืองหลวง เขาก็จะมาวิเคราะห์ว่า ทำยังไงให้เด็ก ๆ อยากเรียนในเมืองไคลเปดาต่อ

“กลายเป็นว่าเมืองนี้ขาดพื้นที่สาธารณะ ขาดพื้นที่สำหรับเยาวชน กิจกรรมน้อย เด็ก ๆ เลยเริ่มต้นจากกลุ่ม 5 คนเอาตัวเองไปเสนอกับท้องถิ่นแล้วก็ร่วมมือกันเสนอชื่อโครงการ

“เขาใช้กระบวนการที่เรียกว่า ‘เยาวชน’ เข้ามาโดยให้เด็กลองค้นหาและลงมือทำด้วยตัวเองอย่างไม่มีข้อกำหนดว่าผิดหรือถูก หลังจากนั้นผู้ใหญ่จะเป็นคนสนับสนุนต่อไปถึงปลายทางให้ได้

“ซึ่งคุณค่าความเชื่อมัน Eye to Eye Level เขามองเด็กเป็นคนเท่ากัน แล้วมองเป็นการแลกเปลี่ยนแบบอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดบทสนทนาที่ช่วยเหลือเมืองได้จริง

“สุดท้ายแล้วถ้าเด็กได้เข้ามา Take Action มันก็ตอบโจทย์กับคนรุ่นเขาในอนาคตว่าอยากเห็นภาพเมืองของเขาเป็นแบบไหน ซึ่งพวกเขาคือตัวกลางสำคัญที่คุ้มค่าต่อการเข้ามาร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลง” เขาบอกเราอย่างหนักแน่น และเราเองก็เชื่อด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยค คนสร้างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้สร้าง

ในวันนี้ริทัศน์บางกอกกลายเป็นจุดเชื่อมสำคัญที่ทำให้คนสร้างและคนใช้เป็นคนเดียวกัน

Writer

ชนิสรา ไชยจะแสนสุข

ชนิสรา ไชยจะแสนสุข

นักสำรวจความคิดมนุษย์ฉบับฝึกหัด ถนัดฟังทุกเรื่องที่มนุษย์เล่า เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือ เข้าใจมนุษย์ที่เรียกว่า ตนเอง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ