On Project Training ‘Reclaim & Reconnect เปลี่ยนพื้นที่ร้าง ให้เป็นพื้นที่สร้าง…’ คือโปรเจกต์ในเฟสที่ผ่านมาของ Healthy Space Alliance (HSA) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), บริษัท ฉมา จำกัด, we!park, Yunus Sports Hub และ The Cloud

โปรเจกต์ในครั้งนี้จัดขึ้นมาเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากทำงานด้านเมืองและมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว ซึ่งต่างจาก ‘Summer Course: Future’s City System for Resilient and Healthy City’ โปรเจกต์ก่อนหน้าที่ร่วมมือกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเน้นไปที่นัก (อยาก) พัฒนาเมืองมือใหม่

On Project Training ครั้งนี้ เริ่มด้วยการที่คนรุ่นใหม่ไฟแรง รวมกลุ่มกันมาสมัครไม่เกินกลุ่มละ 5 คน พร้อมเสนอแผนว่าจะเปลี่ยน ‘พื้นที่ร้าง’ ในกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือที่เรียกว่า ‘พื้นที่สร้าง’ ได้อย่างไร ด้วยทุนจำนวน 50,000 บาทที่ HSA สนับสนุน

ซึ่งพื้นที่ร้างใน Proposal ที่ทีมงานช่วยกันอ่านก็มีหลากหลายประเภทด้วยกัน ตั้งแต่พื้นที่ในชุมชน พื้นที่นิเวศ พื้นป่ารกร้างกลางกรุง พื้นที่ที่เต็มไปด้วยขยะ ไปจนถึงโรงหนังร้าง

ทำไมถึงอยากได้คนมีพื้นฐานแล้ว – เราถาม ยศพล บุญสม จาก HSA ต้นคิดโปรเจกต์หาทำแบบนี้

“คนที่มีพื้นฐานและประสบการณ์แล้วน่าจะอยากได้โอกาสในการทดลองกับพื้นที่จริง เราเลยทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเพื่อให้เขาได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เขาเห็นว่าจะต่อยอดกับสายอาชีพเรื่องเมืองได้ยังไง” ยศพลตอบ 

ยศพลจะมาสรุปให้ฟังถึงความพิเศษของการเดินทางในครั้งนี้ เหตุผลที่พวกเขาจัดกิจกรรม และสิ่งที่คนทำงานเมืองคาดหวังอย่างแท้จริง

“ลองนึกดู ถ้าเป็นเราจะหาทุนทำพื้นที่สาธารณะจากที่ไหน เราก็ไม่รู้เหมือนกัน” ยศพลตอบ เมื่อเราถามว่าปกติคนทำงานด้านนี้เขาหาทุนจากที่ไหนกันบ้าง “คุยกับน้อง ๆ ว่าอาจจะมีทุน สกสว., สสส. หรือ AIA มันมีหลากหลาย แต่เราว่าทุนเหล่านั้นไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อเรื่องพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะ

“เราเลยอยากให้มีสักที่หนึ่งในประเทศที่ให้การสนับสนุนประเด็นนี้อย่างแข็งขันจริงจัง เพื่อที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะได้หันมาทำงานด้านนี้ ไม่ใช่ไปทำงานด้านอื่น ตอนนี้บริษัทออกแบบทำรีสอร์ตกับคอนโดกันเป็นหลักนะ แต่สิ่งที่เราขาดอยู่คือพื้นที่สาธารณะดี ๆ”

และโจทย์ ‘พื้นที่ร้าง’ ในครั้งนี้ก็ไม่ได้ผุดขึ้นมาเฉย ๆ แต่เป็นประเด็นร่วมที่ HSA พยายามผลักดันตลอดปีที่ผ่านมา

กรุงเทพฯ มีทรัพยากรในเมืองเยอะมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ บ้างก็เกิดจากการวางผังที่ไม่มีประสิทธิภาพ บ้างเกิดจากการที่เปลี่ยนจากเมืองน้ำเป็นเมืองถนน หรือบางทีก็เกิดจากสร้าง Infrastructure ขนาดใหญ่อย่างทางด่วน รถไฟ แล้วมีพื้นที่ที่คิดกันไม่จบว่าจะนำไปทำอะไรดี

จริง ๆ แล้วพื้นที่รกร้างเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาสุขภาวะของคนและเมืองได้

เมื่อครั้ง Summer Course ก็ทำเรื่องพื้นที่ร้างเหมือนกัน แต่คิดในเชิงระบบของเมือง ส่วนในครั้งนี้เน้นไปที่การลงมือทำกับพื้นที่จริง ๆ ในกรุง โดยมี HSA ส่งเสริมทักษะการออกแบบ Yunus Sports Hub ส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการธุรกิจ The Cloud ส่งเสริมทักษะการสื่อสาร และมีเหล่าแขกรับเชิญพิเศษมากประสบการณ์มาแบ่งปันความรู้

เราไปดูงานของแต่ละกลุ่มกันดีกว่า

01 Trok Salak Hin Common Ground

จากที่เยาวชนริทัศน์บางกอกฝังตัวทำงานในพื้นที่ตรอกสลักหิน ชุมชนเล็ก ๆ ใกล้หัวลำโพงกันมาหลายปีแล้ว คราวนี้พวกเขาใช้ทุนไปทำ Common Ground หรือพื้นที่ให้ผู้คนในย่านใช้ร่วมกัน พร้อมจัดกิจกรรมชวนคนเข้ามาทำความรู้จักชุมชน ฟังชาวตรอกเล่าถึงความทรงจำในบ้านเกิด นั่งทำงานคราฟต์อย่างโคมเต็งลั้งร่วมกับคนในชุมชน

“ข้อดีของทีมนี้คือเขาทำมาอย่างต่อเนื่อง เขาเลยมีความเข้าใจในพื้นที่และรู้ว่าจะต้องกระตุ้นพื้นที่ยังไง คิดว่าในปีต่อ ๆ ไป ย่านนี้ก็น่าจะมีอะไรน่าสนใจมากขึ้นอีก” ยศพลว่า

02 สวนสร้าง

กลุ่มนี้มาพร้อมกับแผนพัฒนาพื้นที่สีเขียวริมคลองบางกอกน้อย หลังจากศึกษาความเป็นย่านจากผู้รู้ ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจความต้องการของชาวบ้าน ก็เริ่มปรับปรุงให้ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะชั่วคราว และจัดกิจกรรม Bike Trip ปั่นจักรยานจากวัดสุวรรณาราม ผ่านบ้านบุ ผ่านมัสยิดสันติชน มาถึงพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ และมี Bingo Eco Walk แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพื้นที่ระหว่างนักปั่นและคนในชุมชน

“เนื่องจากเป็นพื้นที่ธรรมชาติ จึงมีประเด็นเรื่องระบบนิเวศชัดเจนมาก สิ่งที่น้องทำก็ง่าย ๆ แต่อิมแพกต์ อย่างการทำป้าย ชวนเดิน ชวนขี่จักรยาน ซึ่งไปคิดต่อเพื่อพัฒนาสวนในอนาคตได้

03 Informal Green Space

พวกเขาเรียกพื้นที่เตรียมพัฒนาในซอยอ่อนนุช 46 ว่า ‘สวนโดยบังเอิญ’ ที่นี่เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวบรรยากาศดีในกรุงที่ไม่มีใครลงมือปลูกสร้าง แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีคุณค่าทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการใช้ชีวิตของผู้คน โดยหลังจากเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัยแล้ว จะจัดกิจกรรมในพื้นที่หลายอย่าง ตั้งแต่การเดินชมธรรมชาติ สเกตช์ภาพธรรมชาติ เต้นแอโรบิก และ Outdoor Gallery ของเหล่าศิลปิน

“สวนโดยบังเอิญน่าสนใจมาก มันเปิดมุมมองแบบใหม่ อาจเป็นสวน 15 นาทีอีกรูปแบบ แค่นี้ก็อาจจะพอแล้วนะกับการทำ” ยศพลชื่นชม “อาจไม่ต้องลงทุนเยอะ เพราะนั่นคือสิ่งที่ กทม. ไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนที่ต้องช่วยกันดายหญ้าและดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง”

04 Revival Standalone Theater

อดีตโรงหนังสแตนด์อโลนและโรงงิ้วแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไร้คนสนใจอยู่ใจกลางเยาวราช เมื่อสมาชิกกลุ่มนี้บังเอิญไปรู้จักกับสถานที่แห่งนี้เข้าก็เห็นศักยภาพความเป็น ‘พื้นที่สร้าง’ แล้วเริ่มทำความสะอาด ปัดฝุ่นยกใหญ่ แล้วจัดกิจกรรมพาเดินทัวร์เพื่อร่วมชมความงามของสถาปัตยกรรม ชมผลงานของเหล่าศิลปิน และเรียนรู้ประวัติศาสตร์เยาวราชไปพร้อมกัน

“เราไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้มาก่อนเลย น่าสนใจเหมือนกัน ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือเปิดให้คนรู้จัก แต่นี่เป็นที่เอกชน มันจะเกิด Business Model ที่ยั่งยืนยังไงก็ยังคงเป็นคำถาม คิดว่าถ้าจะไปต่อต้องเชื่อมกับ กทม. อาจจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องย่านได้”

05 Parkerhood

เนื่องจากเคยสำรวจแล้วพบปัญหาขยะกองสุมในย่านมักกะสัน กลุ่มนี้จึงมุ่งเป้าไปที่การขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในย่าน จับมือกับพาร์ตเนอร์ที่ส่งเสริมเรื่องการจัดการขยะ ไปจนถึงการ Upcycling ได้ ทั้งยังเชิญชวนคนมาตลาดนัดแลกเปลี่ยนสินค้า ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ชมการปลูกผักสวนครัวของชาวมักกะสัน และร่วมทำแผนที่ความทรงจำด้วย

“จริง ๆ นี่เป็นพื้นที่ที่เราทำอยู่แล้วด้วย ตอนนี้กำลังอยู่ในระดับการทำให้เห็นความเป็นไปได้ แต่ถ้าจะไปต่อ จะต้องเชื่อมผู้ประกอบการกับพื้นที่ให้มาทำด้วยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความยากเหมือนกัน”

เขาบอกว่า โดยสารตั้งต้น หลักสูตรคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีประเด็นสาธารณะเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่มีตลาดงานให้เข้าไปทำ ทักษะเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการพัฒนาต่อ คงจะดีถ้าทำให้มีตลาดรองรับจริง ๆ

“ตอนนี้ทุนเราเป็นก้อนเล็ก ๆ เนอะ แต่ Ecosystem จริง ๆ ยังไม่เกิดขึ้น” ยศพลกลับมาพูดเรื่องทุนอีกครั้ง “ถ้ารัฐมองเห็นว่าอยากเป็นเมืองสีเขียว เมืองยั่งยืน และอาชีพนักออกแบบ นักพัฒนาเมือง เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ เขาจะต้องเอาพลังของเราไปใช้ อย่างน้อยเวลาเอกชนหรือรัฐท้องถิ่นพัฒนาสวน ก็ต้องมีแรงจูงใจและไกด์ไลน์ที่ดีให้ นักออกแบบก็จะถูกจ้างงานได้ง่ายขึ้น”

ว่าแล้วยศพลก็พูดถึงในกรณีของต่างประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนให้เอกชนทำพื้นที่สาธารณะ เช่น ญี่ปุ่น แทนที่เอกชนจะออกค่าแบบทั้งหมด รัฐก็ช่วย หรือสิงคโปร์ก็เชี่ยวชาญด้านนี้จนผู้ประกอบการในประเทศมีตลาดนอกประเทศ

“ทั้งหมดทั้งปวงคนที่ได้ก็คือเมือง ซึ่งเมืองที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีเกิดจากการการลงทุน ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ”

ภาพ : Healthy Space Alliance (HSA)

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน